นายณ์ เอสเตท – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 07 Nov 2023 15:02:15 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “เดอะ เกรท รูม” ขยายสาขา 2 ที่ “พาร์ค สีลม” ชูโมเดลธุรกิจ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” ร่วมทุนเจ้าของอาคาร https://positioningmag.com/1450927 Tue, 07 Nov 2023 09:33:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1450927
  • “เดอะ เกรท รูม” (The Great Room) ขยายสาขาสองในไทยที่ “พาร์ค สีลม” โดยเป็นการร่วมทุนกับ “นายณ์ เอสเตท” และ “ไมเนอร์” บริษัทเจ้าของอาคาร ชูโมเดลธุรกิจนี้แข็งแรงและยั่งยืนกว่าในการพัฒนา “โคเวิร์กกิ้งสเปซ”
  • ชี้โอกาสในตลาดไทยยังมีอีกมาก เพราะออฟฟิศแบบยืดหยุ่นยังมีเพียง 1.5% ของตลาดรวม
  • “เดอะ เกรท รูม” (The Great Room) ประกาศเปิดตัวสาขาที่สองในไทยที่อาคาร “พาร์ค สีลม” โดยใช้พื้นที่รวม 3,500 ตารางเมตรบนชั้น 29-30 ของอาคารพาร์ค สีลม เริ่มให้บริการเดือนสิงหาคม 2566 หลังจากเปิดสาขาแรกที่อาคาร เกษร ทาวเวอร์ มาตั้งแต่ปี 2561

    แบรนด์โคเวิร์กกิ้งสเปซแห่งนี้ก่อตั้งครั้งแรกในสิงคโปร์ ก่อนที่บริษัท Industrious จากสหรัฐฯ (มีบริษัท CBRE เป็นผู้สนับสนุนการลงทุน) จะเข้าเทกโอเวอร์ เดอะ เกรท รูม ไปเมื่อปี 2565

    ปัจจุบันเดอะ เกรท รูม ขยายไป 10 สาขาใน 3 เขตการปกครอง ได้แก่ 6 สาขาในสิงคโปร์, 2 สาขาในฮ่องกง และ 2 สาขาในไทย และเตรียมเปิดตัวสาขาที่ 11 ในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ภายในปี 2567 ตามแผนการขยายตัวในเอเชียแปซิฟิกของบริษัท

     

    “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” ระดับพรีเมียม หรูสุดในตลาด

    เดอะ เกรท รูม
    บรรยากาศโซน The Drawing Room สามารถมานั่งจิบกาแฟพูดคุยธุรกิจกันได้

    ภายในตลาดที่แข่งขันสูงของธุรกิจ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” เดอะ เกรท รูมวางตำแหน่งทางการตลาดของตัวเองไว้ในกลุ่มพรีเมียม วัดได้จาก “ราคา” ที่สูงกว่าคู่แข่งมาก

    เปรียบเทียบราคา ‘Hot Desk’ หรือการสมัครสมาชิกเพื่อเข้ามาใช้งานส่วนตัวโดยไม่มีที่นั่งประจำ “เดอะ เกรท รูม” คิดราคา 8,000 บาทต่อเดือน เทียบกับ “จัสโค” คิดเพียง 5,200 บาทต่อเดือน หรือ “SPACES” ยิ่งถูกลงมาเหลือ 2,050 บาทต่อเดือนเท่านั้น

    เดอะ เกรท รูม

    “ซู แอน มี” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ The Great Room ชูจุดขายของแบรนด์ที่ทำให้พรีเมียมกว่า มาจากการเลือกโลเคชันใจกลางเมือง และเลือกอาคารเกรดเอเท่านั้น

    ตามด้วยการตกแต่งภายใน ดีไซน์แตกต่างจากที่อื่นด้วยสไตล์ลักชัวรี มีระดับ ให้ความเป็นผู้ใหญ่ ได้ฟีลลิ่งเหมือนเดินเข้ามาในเลาจน์ของโรงแรมระดับ 5 ดาว

    ปิดท้ายด้วยการบริการภายในด้วยฮอสพิทาลิตี้แบบโรงแรม และสำหรับสาขาใหม่นี้มีการดึง “Sarnies” คาเฟ่ชื่อดังเข้ามาเปิดสาขาบริการเครื่องดื่ม เบเกอรี และอาหารด้วย

    เดอะ เกรท รูม
    ห้องประชุมวิวตึกมหานคร

    “สิลีน เดมีร์” ผู้จัดการทั่วไป  เดอะ เกรท รูม กรุงเทพฯ ระบุว่าความแตกต่างในตลาดทำให้สาขาแรกที่เกษร ทาวเวอร์ ในส่วนพื้นที่ออฟฟิศส่วนตัว (Dedicated Offices) มีอัตราการเช่า 90-92% มาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยได้ผู้เช่าส่วนใหญ่จากกลุ่มแบรนด์สินค้าลักชัวรี และมีสมาชิก Hot Desk จากสาขานี้ 50 ราย

    ด้วยผลตอบรับที่ดีหลังผ่านช่วงโควิด-19 ทำให้บริษัทมองหาที่ตั้งสาขาต่อไป ก่อนจะมาจับมือเป็นพันธมิตรกับอาคารพาร์ค สีลม

    สิลีนกล่าวว่าเดอะ เกรท รูมสาขาใหม่ที่พาร์ค สีลม ปัจจุบันพื้นที่ออฟฟิศส่วนตัวมีการเช่าแล้ว 40% และวางเป้ามีอัตราเช่า 75% ภายในปี 2567 ส่วนใหญ่ในสาขานี้จะได้ผู้เช่าเป็นออฟฟิศ spin-off ของบริษัทใหญ่กลุ่มบริษัทยา, เวนเจอร์แคปปิตอล และเทคโนโลยี

     

    “ร่วมทุน” เพื่อให้ธุรกิจแข็งแรงกว่า

    สำหรับสาขาสองนี้ เดอะ เกรท รูม ใช้กลยุทธ์ร่วมทุนกับ “แลนด์ลอร์ด” เจ้าของอาคาร คือ บริษัท นายณ์ เอสเตท จำกัด และ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) โดยไม่เปิดเผยอัตราส่วนการร่วมทุน

    ถือเป็นกลยุทธ์ที่ต่างจากโคเวิร์กกิ้งสเปซทั่วไปที่มักจะทำสัญญาเช่าอาคารไปตามปกติ และนำมาปล่อยเช่าช่วงตามแนวทางธุรกิจของตนเอง แต่เดอะ เกรท รูม เลือกเฟ้นหาแลนด์ลอร์ดที่พร้อมจะร่วมลงทุน

    (จากซ้าย) สิลีน เดมีร์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ เกรท รูม กรุงเทพฯ, สุธี ลิมปนชัยพรกุล ประธานอำนวยการ บริษัท นายณ์ เอสเตท จำกัด และ ซู แอน มี ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ The Great Room

    “กลยุทธ์นี้เราจะทำต่อในสาขาต่อๆ ไปด้วย เพราะเราต้องการให้เดอะ เกรท รูมเป็นบริการที่มีให้กับผู้เช่าทั้งตึก ไม่ใช่เฉพาะสมาชิกของเรา ดังนั้น เราต้องมีการทำงานร่วมกันกับแลนด์ลอร์ด มองเห็นเป้าหมายเดียวกัน วิสัยทัศน์เดียวกัน ได้ประโยชน์ร่วมกัน” สิลีนกล่าว

    สิลีนยกตัวอย่างเดอะ เกรท รูมที่พาร์ค สีลม บนชั้น 29 จะถือเป็น ‘Amenities Floor’ สำหรับคนทั้งอาคาร เพราะผู้เช่าทุกรายในอาคารสามารถพาแขกของบริษัทมาแวะทานกาแฟที่ Sarnies พุดคุยธุรกิจในบรรยากาศสบายๆ หรือมาจองใช้ห้องประชุม/พื้นที่จัดอีเวนต์ที่รองรับได้สูงสุด 120 คน รวมถึงมาร่วมงานอีเวนต์ของทางเดอะ เกรท รูมได้

    การเปิดพื้นที่ของโคเวิร์กกิ้งสเปซให้คนทั้งอาคาร ไม่ใช่แค่ที่ปิดเฉพาะสมาชิก จะทำให้ผู้เช่าทั้งอาคารของแลนด์ลอร์ดได้ประโยชน์ในการใช้งาน และโคเวิร์กกิ้งสเปซก็ได้คุณค่ามากขึ้น เพราะเปิดให้การสร้างเครือข่าย (networking) กว้างขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการทำงานใกล้ชิดกับแลนด์ลอร์ด และดีที่สุดคือต้องร่วมทุนกันเพื่อแบ่งรายได้

    ตัวอย่างบรรยากาศอีเวนต์เวิร์กช็อประบายสีน้ำจากเดอะ เกรท รูมสาขาเกษร ทาวเวอร์

    ปัจจุบันเดอะ เกรท รูมในไทยกำลังมองหาทำเลสาขาต่อๆ ไปและมีการพูดคุยกับเจ้าของอาคารหลายราย

    “สมัยก่อนสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานในตึกต่างๆ ก็มักจะเป็นฟิตเนสหรือสวนสาธารณะ แต่ในสมัยนี้เราต้องสื่อสารกับแลนด์ลอร์ดให้ได้ว่า เราก็เปรียบเหมือนสิ่งอำนวยความสะดวกของอาคารอย่างหนึ่ง และการมีเราจะช่วยให้มีจำนวนคนเข้าออก (footfall) เยอะขึ้น รวมถึงสตาร์ทอัพหรือบริษัทขนาดเล็กหลายรายมาเริ่มตั้งสำนักงานกับเรา แต่เมื่อเขาโตขึ้นจนต้องการออฟฟิศแบบดั้งเดิม เขาก็มักจะเลือกอยู่ในอาคารเดิมนี่แหละ ซึ่งแลนด์ลอร์ดจะได้ประโยชน์ในอนาคต” ซู แอน กล่าวเสริม

     

    “กรุงเทพฯ” ยังขยายได้อีกมาก

    ซู แอนกล่าวเพิ่มถึงภาพรวมในตลาด “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” ในเอเชียแปซิฟิก (APAC) เธอระบุว่าเทรนด์ยังเป็นขาขึ้น เพราะในฝั่งดีมานด์นั้นมีบริษัทที่หันมาใช้ออฟฟิศแบบยืดหยุ่น (Flexible Offices) แล้ว 48% และมีบริษัท 52% ที่ต้องการจะเพิ่มปริมาณการใช้ออฟฟิศแบบยืดหยุ่น สะท้อนว่ายังมีความต้องการในอนาคต

    ส่วนฝั่งซัพพลายนั้น พบว่ามีเพียง 4% ในตลาดสำนักงานให้เช่าของ APAC ที่เป็นออฟฟิศแบบยืดหยุ่น เฉพาะของไทยยิ่งน้อยลงไปอีกเพราะมีเพียง 1.5%

    นั่นทำให้ซู แอนเชื่อว่า ตลาดไทยยังมีโอกาสอีกมาก เฉพาะแบรนด์เดอะ เกรท รูม เธอเชื่อว่าบริษัทสามารถขยายตัวในกรุงเทพฯ ได้อีกอย่างน้อย 10 สาขา!

    “จริงๆ แล้วโอกาสของโคเวิร์กกิ้งสเปซหลังผ่านโควิด-19 นั้นอยู่ในฝั่งเอเชียมากกว่า เพราะวัฒนธรรมบริษัทฝั่งเอเชียนิยมกลับเข้าออฟฟิศมากกว่าฝั่งตะวันตก” ซู แอนกล่าว “ในตะวันตกตอนนี้ยังเข้าออฟฟิศแค่ 50% ของชั่วโมงทำงาน แต่เอเชียเข้ากัน 65% ของชั่วโมงทำงาน และเราเชื่อว่าปี 2567 ตัวเลขของฝั่งเอเชียจะเพิ่มเป็น 75% และการใช้งานออฟฟิศที่สูงกว่าเป็นโอกาสของเดอะ เกรท รูมด้วยเช่นกัน”

    ]]>
    1450927
    “นายณ์ เอสเตท” พลิกโฉมตึกเก่าเป็น “บ้านพักผู้สูงอายุ” โมเดลใหม่ใช้ประโยชน์จากชุมชนเดิม https://positioningmag.com/1360880 Mon, 08 Nov 2021 09:05:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1360880 ธุรกิจ “บ้านพักผู้สูงอายุ” กำลังทวีความน่าสนใจ หลังจากประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยและวิถีชีวิตเปลี่ยน ล่าสุด “นายณ์ เอสเตท” จับมือ “ลิฟเวล” พัฒนาโครงการ “นายาเรสซิเดนซ์” ใช้วิธีรีโนเวตห้องชุดในอาคารเก่าให้เหมาะกับผู้สูงอายุ ผนวกบริการพยาบาลดูแลเหตุฉุกเฉิน ออกแบบกิจกรรมแก้เหงา ข้อดีของการรีโนเวตแทนการสร้างใหม่ คือการได้อยู่ท่ามกลางชุมชนเดิม มีคนหลากหลายวัย และฝั่งดีเวลอปเปอร์ประหยัดต้นทุนมากกว่า

    เมื่อพูดถึง “บ้านพักผู้สูงอายุ” ยุคก่อนหน้านี้อาจเป็นคำที่ให้ความรู้สึกในทางลบมากกว่าทางบวก แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตคนเริ่มเปลี่ยนไป คนวัยเกษียณที่เข้าไปพักไม่ใช่คนชราที่ถูกทอดทิ้ง แต่เป็นการ ‘เลือก’ สถานที่อยู่อาศัยในบั้นปลายชีวิตเอง เนื่องจากลูกหลานอาจแยกครอบครัวออกไป ไม่มีเวลาดูแล หรือหลายๆ คนเลือกเป็นโสด ไม่มีบุตรหลาน การมาอยู่ในบ้านพักผู้สูงอายุที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลจึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าอยู่คนเดียว

    บริษัท นายณ์ เอสเตท จำกัด เป็นหนึ่งในดีเวลอปเปอร์ที่หันมาจับธุรกิจนี้จากแพสชั่นส่วนตัวของ “อรฤดี ณ ระนอง” ซีอีโอวัย 62 ปีของบริษัท เธอเริ่มศึกษาลงลึกในการพัฒนาบ้านพักผู้สูงอายุตั้งแต่ 4 ปีก่อน ก่อนหน้านี้บริษัทเคยประกาศพัฒนาโครงการบ้านผู้สูงอายุที่ จ.ภูเก็ต แต่เนื่องจากเกิดโรคระบาด COVID-19 จึงชะลอโครงการไว้ก่อน และหันมาจับโครงการขนาดเล็กกว่าที่ “นายาเรสซิเดนซ์” จ.นนทบุรี แทนก่อน

    นายาเรสซิเดนซ์ ในพื้นที่เดียวกับริเวอร์ไรน์ วิลเลจ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้สะพานพระราม 5 พื้นที่รวม 14 ไร่

    โมเดลธุรกิจของที่นี่ใช้วิธีหยิบโครงการเก่าของนารายณ์ พร็อพเพอร์ตี้ คือ “ริเวอร์ไรน์ วิลเลจ” ทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีผู้อาศัยอยู่แล้ว มารีโนเวตบางส่วนให้เป็น “นายาเรสซิเดนซ์” จำนวน 70 ยูนิต

    เหตุที่สามารถทำได้ เพราะริเวอร์ไรน์เป็นโครงการเก่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ทำให้มียูนิตบางส่วนไม่สามารถขายได้ และบริษัทดัดแปลงพัฒนาเป็นโรงแรมแทน วันนี้จึงสามารถนำบางส่วนของโรงแรมมารีโนเวตใหม่ให้เป็นบ้านพักผู้สูงอายุ โดยจะอยู่บนชั้น 4-10 (รวม 7 ชั้น) ของอาคาร มีการทุบห้องบนชั้นที่จะรีโนเวตทั้งหมด เพื่อออกแบบใหม่เป็นห้อง Universal Design เหมาะกับผู้สูงอายุ

    การนำบ้านพักผู้สูงอายุมาอยู่ในพื้นที่เดียวกับโครงการปกติอาจจะฟังดูแปลก แต่ที่จริงแล้ว นายณ์ เอสเตท และลิฟเวล (Livwell) พันธมิตรซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพในโครงการ ชี้ให้เห็นว่า ข้อดีก็คือผู้สูงอายุจะได้อยู่ร่วมกับชุมชนเดิมกว่า 300 ครัวเรือนซึ่งมีคนหลากหลายวัย ทำให้บรรยากาศไม่น่าเบื่อ หดหู่ ไม่ต้องตื่นมาแล้วเจอแต่ลุงๆ ป้าๆ วัยเดียวกัน ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตและความสุขในการใช้ชีวิต

     

    ห้องใหญ่ ป้องกันอุบัติเหตุ มีทีมรับเหตุฉุกเฉิน

    นายาเรสซิเดนซ์ วางคอนเซ็ปต์เป็นบ้านให้เช่าพร้อมบริการ สำหรับผู้สูงอายุแบบ Independent Living คือสามารถดูแลตนเองได้ในระดับหนึ่ง มีห้องพักทั้งหมด 2 แบบ คือ 1 ห้องนอน (พื้นที่ใช้สอย 62-76 ตร.ม.) และ 2 ห้องนอน (พื้นที่ใช้สอย 105-120 ตร.ม.)

    ตัวอย่างห้องแบบ 1 ห้องนอน พื้นที่กว้างขวาง เหมาะกับวีลแชร์
    ห้องน้ำพื้นเรียบ มีราวจับและที่นั่ง

    การออกแบบแบบ Universal Design ประตูกว้างเพื่อให้วีลแชร์เข้าออกสะดวก พื้นลดแรงกระแทกเมื่อหกล้ม ห้องน้ำพื้นที่กว้าง มีราวจับ ที่นั่งอาบน้ำ เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นลบเหลี่ยมมุมป้องกันอุบัติเหตุ ติดไฟใต้ฐานเตียงในห้องนอนที่ใช้ระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว ลดอุบัติเหตุในความมืด

    นอกจากนี้ ยังใช้ระบบของ SCG DoCare มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีช่วยให้ความปลอดภัย เช่น อุปกรณ์วัดความดัน วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เซ็นเซอร์ตรวจจับการนอนหลับ เซ็นเซอร์ตรวจจับระยะเวลาและความถี่การเข้าห้องน้ำซึ่งอาจหมายถึงสุขภาพที่แย่ลง เซ็นเซอร์ตรวจจับการหกล้มในห้องน้ำ ปุ่มกดเรียกพยาบาลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

    อุปกรณ์ของ SCG DoCare มีเครื่องวัดความดัน ปุ่มกดเรียกพยาบาลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ฯลฯ

    ระบบของ SCG จะส่งข้อมูลไปให้ที่ทีมพยาบาลของลิฟเวลซึ่งคอยดูแล 24 ชั่วโมง (แบ่งเป็นกะกลางวัน 2 คน และกะกลางคืน 1 คน) หากเกิดเหตุฉุกเฉิน พยาบาลจะไปถึงภายใน 4 นาทีเพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้น และร่วมกับรพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น ในการจัดรับส่งรถพยาบาล

     

    มีกิจกรรมแก้ ‘ความเหงา’ ต้นเหตุสมองเสื่อม!

    ด้าน “พญ.นาฏ ฟองสมุทร” ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเกี่ยวกับผู้สูงอายุประสบการณ์ 23 ปี จาก ลิฟเวล กล่าวว่า นอกจากโครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเวลอปเปอร์ทุกแห่งสร้างขึ้นได้ สิ่งจำเป็นอีกประเด็นที่ละเอียดอ่อนกว่า คือ “การบริการ” หลังจากย้ายเข้ามาอยู่แล้ว

    นอกจากการอยู่ในชุมชนเก่าที่ทำให้บรรยากาศไม่เหงาแล้ว นายาเรสซิเดนซ์ มีกิจกรรมอีกมากเพื่อช่วยให้ “วัยอิสระ” หลังเกษียณ มีชีวิตแบบ ‘active aging’ ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่อยากทำ และยังคงสุขภาพดี ได้ออกกำลังกายตามวัย

    กิจกรรมออกกำลังกาย ส่งเสริมสุขภาพ และช่วยแก้เหงา

    ลิฟเวลจะมีนักกายภาพบำบัดที่ดีไซน์การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัยอิสระ เช่น ออกกำลังกายในน้ำ พิลาทีส จัดคลาสให้เข้าร่วมทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ และมีกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ เช่น งานฝีมือ ท่องเที่ยว ซึ่งทำให้คนสูงวัยยังมีเพื่อน ไม่ต้องเหงา

    “เราพบว่าถ้าวัยอิสระไม่มีสัมพันธ์กับคนรอบตัว จะทำให้สมองเสื่อมเร็ว อย่างที่หมอมักจะบอกมาตลอดว่าจริงๆ แล้ว ‘ความเหงาคือโรคอย่างหนึ่งของผู้สูงวัย’” พญ.นาฏกล่าว เป็นที่มาที่การสร้างชุมชนและกิจกรรมให้ผู้สูงวัยคือเรื่องสำคัญมาก

     

    ค่าเช่าเริ่มต้น 40,000 บาทต่อเดือน

    อรฤดีระบุว่า เป้าหมายของโครงการนี้เป็นผู้สูงวัยมีรายได้ระดับ B+ จนถึง A- เกรดวัสดุและการบริการจะยกระดับขึ้นกว่าโครงการของรัฐ โดยสามารถพูดคุยแพ็กเกจเช่าได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่เช่ารายเดือนจนถึงเช่ายาว 30 ปี ผู้ที่สนใจสามารถเจรจาแพ็กเกจเองได้ตามวัยของตนเอง และสามารถมาลองเช่ารายเดือนได้ก่อนที่จะตัดสินใจเช่ายาวกับโครงการ

    จ็อกกิ้งแทร็กในโครงการ พื้นนุ่มลดแรงกระแทก

    ขณะนี้มี แพ็กเกจราคารายเดือนคือ 1 ห้องนอน 40,000 บาทต่อเดือน (พักได้ 1 ท่าน หากพัก 2 ท่าน เพิ่ม 3,000 บาทต่อเดือน) ส่วนแบบ 2 ห้องนอน ราคา 50,000-60,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เข้าพัก ราคานี้จะได้รับบริการต่างๆ ดังนี้

    • ห้องพักพร้อมอุปกรณ์เครื่องใช้และดูแลสุขภาพครบ ลากกระเป๋าเข้าอยู่ได้เลย
    • พยาบาลดูแล 24 ชั่วโมง
    • บริการทำความสะอาด 1 ครั้งต่อสัปดาห์
    • คลาสออกกำลังกาย
    • ค่าส่วนกลาง สระว่ายน้ำ ฟิตเนส สวนและจ็อกกิ้งแทรก

    ถ้าผู้เช่าทำสัญญาเป็นรายปีหรือมากกว่านั้นจะมีส่วนลดเพิ่มเติม รวมถึงถ้าหากเกิดเหตุผู้สูงวัยเสียชีวิตก่อนครบสัญญา โครงการจะคืนส่วนต่างให้แก่ผู้รับมรดกตามพินัยกรรม เช่น ทำสัญญา 15 ปี แต่ยังเหลือเวลาเช่า 10 ปีหลังเสียชีวิต ผู้รับมรดกจะได้คืนส่วนต่างทั้งหมด

    ด้านการใช้สินเชื่อแบบ ‘Reverse Mortgage’ (การจำนองบ้านหรือสินทรัพย์ของตนเพื่อรับกระแสเงินสดรายเดือนจากธนาคาร เหมาะกับผู้สูงวัยที่ต้องการเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นรายได้ไว้ใช้ในช่วงบั้นปลาย) อรฤดีกล่าวว่า ขณะนี้กำลังเจรจากับธนาคารเพื่อให้ปล่อยสินเชื่อกับโครงการนี้ มีธนาคารที่สนใจคือ ธ.ออมสิน

     

    โอกาสธุรกิจโมเดลใหม่ในอนาคต

    ปัจจุบันโครงการนายาเรสซิเดนซ์มีผู้เช่าแวะเวียนเข้ามาทดลองแล้ว 2-3 ยูนิต จาก 10 ยูนิตที่รีโนเวตแล้ว และคาดว่าจะรีโนเวตครบทั้งหมดภายในต้นปี 2565

    (ซ้าย) “พญ.นาฏ ฟองสมุทร” ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเกี่ยวกับผู้สูงอายุประสบการณ์ 23 ปี จากลิฟเวล และ (ขวา) “อรฤดี ณ ระนอง” ซีอีโอ บริษัท นายณ์ เอสเตท จำกัด

    นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้นายณ์ เอสเตทนำไปพัฒนาโครงการแบบเดียวกันนี้ในโครงการอื่นๆ ไม่เฉพาะในเครือของนารายณ์ แต่อาจจะรับรีโนเวตอาคารอพาร์ตเมนต์ โรงแรม ที่เจ้าของต้องการเปลี่ยนธุรกิจ และใช้บริการจากลิฟเวลเข้าไปดูแล

    อรฤดีมองว่า การเลือกใช้โครงการแบบ ‘brownfield’ มารีโนเวตจะประหยัดต้นทุนมากกว่า ใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 บาทต่อตร.ม. และยังเหมาะกับตลาดกว่า เพราะโครงการลักษณะนี้ยังใหม่ในไทย ลูกค้ายังไม่เสี่ยงจองห้องหากยัง ‘ไม่เห็นของ’ ซึ่งจะทำให้การขอสินเชื่อพัฒนาโครงการใหม่แบบ ‘greenfield’ จากธนาคารทำได้ยากมาก

    ด้านลิฟเวลนั้น พญ.นาฏบอกเช่นกันว่า นายาเรสซิเดนซ์จะเป็นโครงการต้นแบบ ลิฟเวลเป็นพันธมิตรระยะยาวกับนายณ์ เอสเตท แต่ไม่ได้ปิดกั้นการพูดคุยและรับดูแลบริการให้กับโครงการบ้านผู้สูงอายุของดีเวลอปเปอร์เจ้าอื่น และเชื่อว่าอนาคตจะมีความสนใจสูงขึ้นเรื่อยๆ ในธุรกิจนี้

    ]]>
    1360880