บุรุษไปรษณีย์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 23 Aug 2024 07:44:28 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปลี่ยนจุดแข็งเป็นจุดขาย! กลยุทธ์ ‘ไปรษณีย์’ สร้างการเติบโตโดยไม่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ https://positioningmag.com/1487249 Fri, 23 Aug 2024 05:02:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1487249 กลายเป็นว่า ไปรษณีย์ไทย ถือเป็นผู้ให้บริการ โลจิสติกส์รายเดียวในตลาดที่มีกำไรสองปีซ้อน แต่นั่นก็ทำให้ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เอ่ยปากว่า กดดัน จากความคาดหวังที่สูงขึ้นเรื่อย ขณะที่ตลาดกลับมีความท้าทายใหม่ ๆ โดยเฉพาะการมาของ อีคอมเมิร์ซรายใหม่

ยืมจมูกคนอื่นหายใจมันเสี่ยง

ในปีที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทย มีรายได้รวม 20,934.47 ล้านบาท เติบโต +7.40% มี กำไร 78.54 ล้านบาท ขณะที่ปี 2567 ผ่านไปครึ่ง ไปรณีย์ไทยมีรายได้รวม 10,602.30 ล้านบาท มี กำไร 136.60 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ไปรษณีย์ไทยเติบโตและทำกำไรได้มาจากการบริหารต้นทุน และธุรกิจโลจิสติกส์ที่โตขึ้น เพราะปัจจุบัน รายได้จากธุรกิจโลจิสติกส์คิดเป็นสัดส่วนถึง 45%

แต่อย่างที่รู้กันว่า ธุรกิจโลจิสติกส์จะเติบโตหรือไม่นั้น ปัจจัยสำคัญ ๆ มาจากธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ ในวันที่กำลังซื้อของคนไทยลดลง จำนวนทรานแซ็คชั่นที่เกิดขึ้นก็ลดลงไปด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นใหม่อย่าง Temu เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของผู้เล่นดั้งเดิมซึ่งเป็น พันธมิตร กับไปรษณีย์ไทย ดังนั้น หากคำสั่งซื้อของแพลตฟอร์มเหล่านี้ลดลง ก็แปลว่ายอดของไปรษณีย์ไทยก็จะลดลงไปด้วย ทำให้ ดร.ดนันท์ ย้ำว่า ไปรษณีย์ไทยต้องไม่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ

“อ้างอิงจากปริมาณการจัดส่งพัสดุให้กับอีมาร์เก็ตเพลสของไปรษณีย์ไทย เราเห็นเลยว่าจำนวนลดลงตั้งแต่ Temu เข้ามา บางแพลตฟอร์มยอดลดลงถึง 10-20% ต่อวัน ดังนั้น อีมาร์เก็ตเพลสไทยถูกจีนครองตลาดหมด และเขาจะใช้ขนส่งเจ้าไหนก็ได้ นี่เป็นความเสี่ยงมหาศาล เพราะต่อให้คุณภาพดีแค่ไหน เขาไม่ใช้เราก็ได้” ดร.ดนันท์ เล่า

เปลี่ยนจุดแข็งเป็นจุดขาย

กลยุทธ์แรกของไปรษณีย์สำหรับสร้างการเติบโตก็คือ เปลี่ยนจุดแข็งให้เป็นจุดขาย ที่หมายความว่า ขายจริง ๆ เริ่มจากจุดแข็งที่สุดของไปรษณีย์ก็คือ บุรุษไปรษณีย์ หรือ พี่ไปร กว่า 25,000 คน ที่ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในพื้นที่ ความเชี่ยวชาญด้านเส้นทาง ทำให้มีความเข้าใจและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่

โดยไปรษณีย์จะค่อย ๆ เพิ่ม Job Value เช่น นำเสนอ ขายสินค้า หรือ ทำ Survey บริการเก็บข้อมูลและสำรวจทรัพย์ หรือแม้แต่บริการ รับ-ส่ง สิ่งของ แบบ Point to Point ตามความต้องการของลูกค้า/พันธมิตร ซึ่งส่วนนี้ก็จะช่วยสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับไปรษณีย์โดยที่ไม่มีต้นทุนเพิ่ม ลดการพึ่งพาอีคอมเมิร์ซ และบุรุษไปรษณีย์เองก็มีรายได้เสริม โดย ดร.ดนันท์ วางเป้าจะเพิ่มรายได้ให้บุรุษไปรษณีย์ที่ 20% จากเงินเดือน โดยในปีที่ผ่านมา บุรุษไปรษณีย์มีรายได้จากธุรกิจเสริมกว่า 2.2 ล้านบาท

“เพราะพี่ไปรรู้จักคนพื้นที่ดี สามารถ Matching ดีมานด์-ซัพพลาย รู้ว่าคนแต่ละบ้านอายุเท่าไหร่ สนใจอะไร และเราก็มี Sandbox สำหรับบริษัทที่สนใจทำธุรกิจร่วมกัน”

อีกจุดที่จะสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับไปรษณีย์ก็คือ ที่ทำการไปรษณีย์ โดยที่ผ่านมา ไปรษณีย์ใช้เป็นจุด กระจายสินค้าชุมชน เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้ชุมชน ขณะที่ไปรษณีย์เองจะได้ ค่าคอมมิชชั่น ซึ่ง ดร.ดนันท์ มองว่า นี่เป็นอีกกลยุทธ์ในการ สร้างทราฟฟิกของไปรษณีย์ โดยไม่ต้องพึ่งอีมาร์เก็ตเพลส ล่าสุด ไปรษณีย์ก็ได้นำร่องปรับโฉมสาขาสามเสนในเป็น โพสต์ คาเฟ่ ซึ่งก็จะเป็นอีกโมเดลในการใช้ประโยชน์จากที่ทำการไปรษณีย์ และใช้เป็นอีกช่องทางช่วยเกษตรกรผู้ผลิตกาแฟของไทย นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังมีเครื่องข่าย ไปรษณีย์อาเซียน ในการแลกเปลี่ยนสินค้า ดังนั้น มีโอกาสที่จะนำสินค้าของเกษตรกรไทยไปขายในตลาดต่างประเทศด้วย ปัจจุบัน รายได้จากการขายสินค้าชุมชนอยู่ที่ 600 ล้านบาท ตั้งเป้าแตะ 1,000 ล้านบาทใน 3 ปี

“เราทำตรงนี้แปลว่าชุมชนขายของได้มากขึ้น และระบบขนส่งเป็นของใครไม่ได้นอกจากเรา อีกสิ่งที่เราได้คือ จากการทำโพสต์ คาเฟ่ คือ พนักงานใกล้ชิดลูกค้าขึ้น ก็ยิ่งเข้าใจลูกค้า เป็นการสร้างความสัมพันธ์ และจะช่วยปรับบริการอย่างเข้าใจมากขึ้นกว่าคิดไปเอง”

สู่ยุค Information Logistics 

อีกบริการที่ค่อย ๆ หายไปก็คือ การส่งจดหมาย มีเพียงการส่งจากหน่วยงานหรือบริษัทต่าง ๆ ไม่ใช่การส่งจากคนถึงคนอีกต่อไป ดังนั้น ไปรษณีย์ไทยจึงหันมาทำบริการ บริหารจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร หรือ Prompt Post โดยแบ่งเป็น 4 บริการหลัก ได้แก่

  • Trust Service การรับรองและลงลายมือชื่อบนเอกสารดิจิทัลด้วยใบรับรองดิจิทัลและกุญแจส่วนบุคคล 
  • Digital Postbox การจัดเก็บเอกสารสำคัญได้อย่างรวดเร็วและมีความน่าเชื่อถือ 
  • One-stop service การสนับสนุนการให้บริการของภาครัฐและภาคเอกชนผ่านช่องทางดิจิทัล ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว 
  • Prompt pass บริการจัดเก็บเอกสารสำคัญส่วนบุคคล เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งข้อมูลระหว่างประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ยังมีบริการ D/ID (ดีไอดี) ซึ่งเป็น Digital Post ID ส่วนบุคคล ในรูปแบบการจ่าหน้าแบบใช้รหัส ช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างการจัดส่งสิ่งของ บอกพิกัดแนวดิ่งได้ทำให้สามารถระบุที่อยู่สำหรับผู้ที่อยู่ในอาคารสูง และเมื่อผู้ใช้งานมีการแก้ไขข้อมูลที่อยู่ในระบบ D/ID ข้อมูลที่อยู่ซึ่งเดิมไว้ใช้ติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ไปยังหน่วยงานปลายทางโดยอัตโนมัติ คาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการในไตรมาส 4

“พฤติกรรมคนเปลี่ยน เราทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น เราเลยทำเน็ตเวิร์กอิเล็กทรอนิกส์มาซับพอร์ตส่วนนี้ เพื่อรับกับพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป อย่างน้อยเราก็มีรายได้ดีกว่าหายไป แต่ต้องยอมรับว่าคงไม่ได้ไปชดเชยรายได้ทั้งหมด”

ใช้พลังงานทดแทน ดีต่อโลกและลดต้นทุน

เพราะธุรกิจโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูง ดังนั้น ไปรษณีย์ไทยวางเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2573 และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593 โดยภายในปี 2573 จะปรับไปใช้ ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ให้ได้ 85% และ ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ 60% ของการใช้พลังงาน นอกจากนี้ ศึกษาพลังงานทางเลือกอื่น และปรับเส้นทางให้มีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยได้ ลดการปล่อยคาร์บอน 400 ตัน ลดค่าใช้จ่ายน้ำมัน 18% โดยในปีนี้จะเริ่มใช้ รถอีวี 250 คัน และ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 200 คัน 

ต่อให้เป็นแค่ผู้รับก็คือ ลูกค้า

ดร.ดนันท์ ทิ้งท้ายว่า อีกความท้าทายของไปรษณีย์ไทยก็คือ รักษาคุณภาพของบริการ โดยไปรษณีย์ไทยพยายามจะบริหารระบบ CRM อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ลูกค้าที่ไม่เคยใช้บริการไปรษณีย์มาใช้บริการ รวมไปถึงผู้รับปลายทางด้วย

“ลูกค้าไปรษณีย์ไม่ใช่แค่คนจ่ายเงิน แต่คนรับปลายทางก็คือลูกค้า และเรากำลังเก็บข้อมูลเพื่อจะเปลี่ยนเขามาเป็นคนส่ง ตอนนี้เราสามารถเปลี่ยนมาได้ 1 ล้านคน ซึ่งทุกการเติบโตไม่ได้ประทานมาจากฟ้า แต่มาจากความพยายามในการปรับปรุงคุณภาพ”

]]>
1487249
‘ไปรษณีย์ไทย’ ไม่ขอเป็นแค่ Last-Mile ดัน ‘พี่ไปร’ ขายตรง Silver Gen ก่อนเตรียมอัพสกิลให้บริการ ‘Virtual Bank’ สร้างรายได้ใหม่ ๆ https://positioningmag.com/1484425 Tue, 30 Jul 2024 10:22:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1484425 คงไม่ต้องบอกว่าตลาด โลจิสติกส์ แข่งขันกันดุเดือดแค่ไหน ยิ่งผลประกอบการของผู้ให้บริการหลายเจ้าออกมา ขาดทุน ก็ยิ่งย้ำภาพให้ชัดยิ่งขึ้นไปอีก แต่ท่ามกลางผู้เล่นต่างชาติทุนหนาที่ตบเท้าเข้ามาในไทย ไปรษณีย์ไทย ก็ยังกลับสามารถพลิกกลับมา กำไร ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนถึงครึ่งปีแรกของปี 2567 ก็ยังกำไรอยู่

ไปรษณีย์โตไม่ใช่เพราะตลาดโต

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกไปรณีย์ไทยมีรายได้รวม 10,602.30 ล้านบาท กำไร 136.60 ล้านบาท โดยธุรกิจโลจิสติกส์มีสัดส่วนประมาณ 45% ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ไปรษณีย์ไทยเติบโตและทำกำไรได้มาจากการบริหารต้นทุน และธุรกิจโลจิสติกส์ที่โตขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดร.ดนันท์ มองว่า ภาพรวมของตลาดโลจิสติกส์ที่มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท อาจ เติบโตได้เล็กน้อย เพราะเนื่องจาก กำลังซื้อที่ลดลง ส่งผลต่อจำนวนทรานแซ็คชั่นที่เกิดขึ้น ดังนั้นเชื่อว่าตลาด อีคอมเมิร์ซ ปีนี้จะ เติบโตได้หลักเดียว

“สิ่งที่จะทำให้เราแต่งต่าง ไม่ใช่แค่เรื่องราคา เราต้องทำให้ลูกค้ารู้ว่าแวร์ลูเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ที่เราโตไม่ใช่เพราะตลาดโตขึ้น แต่ที่เราโตเพราะศักยภาพของเราที่ดีขึ้น ทำให้ดึงมาร์เก็ตแชร์จากคู่แข่งได้ ส่งผลให้ครึ่งปีแรกเราเติบโต”

ไม่ขอเป็นแค่ Last Mile

หนึ่งในกลยุทธ์ที่จะสร้างการเติบโตและรายได้ใหม่ ๆ ให้กับไปรษณีย์ไทยก็คือ การเพิ่ม Job Value ให้บุรุษไปรษณีย์ไทย โดย ดร.ดนันท์ มองว่า ไปรษณีย์ไทยไม่ควรเป็นแค่ Last Mile แต่ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น First Mile โดยใช้เครือข่ายของพี่ไปรกว่า 25,000 คน ซึ่งมีจุดแข็งที่ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในพื้นที่ ที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบและต่อยอดได้

โดยล่าสุดได้ทดลองให้พี่ไปร ขายของ เช่น แก้ปวดเมื่อย ช่วยคนที่นอนไม่หลับ เน้นจับกลุ่ม Silver Marketing กับกลุ่ม Gen X และ Baby Boomer ที่ไม่ถนัดใช้งานอีคอมเมิร์ซ เบื้องต้นได้ทดลองในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยพบว่าได้รับการตอบรับที่ดี มียอดคำสั่งซื้อเฉลี่ยถึง 3,000 บาท

“ที่เราเลือกภาคตะวันออกก่อนเพราะเป็นเขตเศรษฐกิจ และต่างจังหวัดก็มักมีความสัมพันธ์อันดีกับพี่ไปร และเราเห็นว่าคนกลุ่มนี้ไม่ชอบใช้อีคอมเมิร์ซ แต่เขาเจอกับพนักงานไปรษณีย์ไทยบ่อย ๆ เราก็จะเอาโบรชัวร์ที่มีตัวหนังสือใหญ่ ๆ ไปให้เขาเลือก”

วางเป้าเพิ่มรายได้พี่ไปร 20%

นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังสนใจจะ ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) คาดว่าจะความชัดเจนหลังเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ดในเดือน ส.ค. เพราะมองว่าจะเป็นอีกช่องทางในการหารายได้ จากสินทรัพย์ที่มีประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะเครือข่ายของบุรุษไปรษณีย์

“เรามั่นใจในเน็ตเวิร์ก กับตัวตนของบริษัทที่จะยิ่งทำให้คนมั่นใจ และเรายังเห็นเคสตัวอย่างจากประเทศอินเดียที่มี India Post International และมี India Post Payments Bank แปลว่าเราไม่ได้มโน มีคนทำแล้ว และไม่ได้ต่างจากที่เราคิด”

ทั้งนี้ ในอนาคตไปรษณีย์ไทยมีแผนจะแบ่งระดับทักษะความสามารถของพนักงานออกเป็น Tier ต่าง ๆ ด้วย โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ เพิ่มรายได้บุรุษไปรษณีย์ขึ้น 20%

ดันบริการระหว่างประเทศสู้ธุรกิจสีเทา

สำหรับธุรกิจ บริการระหว่างประเทศ ของไปรษณีย์ไทยมีรายได้ 1,293.31 ล้านบาท คิดเป็น 12.20% ของรายได้รวม โดย ดร.ดนันท์ ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ส่วนนี้เป็น 15% หรือ 1,800 ล้านบาท โดยความท้าทายของตลาดนี้ก็คือ ข้อกำหนดระหว่างประเทศในการนำเข้าสินค้า ซึ่งข้อกำหนดที่เปลี่ยนไป ทำให้ลูกค้าหันไปใช้ธุรกิจสีเทา ที่จะลักลอบนำสินค้าส่งไปยังประเทศปลายทาง

“ธุรกิจระหว่างประเทศเคยคิดเป็นสัดส่วนสูงสุด 20% แต่ก็ลดลงมาเรื่อย ๆ เพราะเมื่อประเทศปลายทางเปลี่ยนกฎ คนก็หันไปส่งกับผู้ให้บริการเทา เพราะว่าส่งได้เยอะ ได้สเกล และส่งของที่ผิดกฎได้ ดังนั้น ถ้าแต่ละประเทศไม่เปลี่ยนกฎ พวกสีเทาก็จะไม่เกิด ทำให้วอลลุ่มที่มหาศาลหลุดไป และปัจจุบันมีผู้ให้บริการเป็นร้อย ๆ เจ้า”

อย่างไรก็ตาม ไปรษณีย์ไทยมี 5 กลยุทธ์ ที่จะสู้ในตลาดระหว่างประเทศ ได้แก่

  • เพิ่มการขนส่งที่หลากหลาย ทั้งการขนส่งทางอากาศโดยสายการบินพาณิชย์, การขนส่งทางภาคพื้น และการขนส่งทางราง และการขนส่งทางเรือ
  • การเสริมสร้างความร่วมมือกับการไปรษณีย์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหภาพสากลไปรษณีย์ Universal Postal Union – UPU การไปรษณีย์สมาชิกอาเซียน ASEANPOST และ ASEANPOST++ (จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย) การไปรษณีย์กลุ่ม KPG (Kahala Posts Group) เพื่อปรับปรุงคุณภาพบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น
  • ดึงพันธมิตรร่วมปิดช่องว่างการขนส่งและนำจ่ายปลายทาง โดยร่วมมือกับกลุ่มผู้รับรวบรวม / บริษัทตัวแทนนำเข้าและส่งออก ซึ่งสามารถขนส่งในลักษณะสินค้า cargo พร้อมด้วยการจัดการเอกสาร Airway Bill และดำเนินพิธีการศุลกากรได้ที่ปลายทาง พร้อมด้วยการนำสิ่งของไปฝากส่งกับผู้ให้บริการนำจ่าย ซึ่งอาจเป็นผู้ให้บริการขนส่งเอกชน รวมทั้งผู้ให้บริการไปรษณีย์ด้วยอัตราค่าบริการในประเทศ ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนของการนำจ่ายในประเทศปลายทางถูกลง
  • สร้างพันธมิตรในกลุ่มแพลตฟอร์ม ได้แก่ eBay ซึ่งมีความร่วมมือด้านการจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศสำหรับ ผู้ค้าขายในเอเชียแปซิฟิกผ่านอีเบย์ ซีพาส อีกทั้งยังสนับสนุนผู้ขายไทยด้วยการจัดโปรโมชัน eBay Seller ที่เป็นสมาชิก POST Family ให้ได้รับค่าส่งพิเศษในบริการ ePacket และ EMS World สำหรับปลายทางยอดนิยม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ อิตาลี เยอรมนี และ Amazon FBA ที่กำลังพัฒนาบริการสำหรับผู้ขายสินค้าบนเว็บไซต์ที่ต้องการขนส่งข้ามพรมแดน เพื่อนำส่งสินค้าเข้าคลังในต่างประเทศ โดยจะสามารถฝากส่งผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ไทยที่มีครอบคลุมทั่วประเทศภายในไตรมาส 4 ปี 2567 นี้
  • เปิดเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศเพิ่มเติม ซึ่งได้ประสานงานกับพันธมิตรต่างประเทศ และสายการบินในการสร้างเครือข่ายการขนส่งและให้บริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศไปยังปลายทางต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และหาเส้นทางสำหรับปลายทางที่ยังไม่มีบริการเส้นทางบินไป โดยประสานงานกับการไปรษณีย์ที่เป็นประเทศกลางทางเพื่อขอขนส่งผ่าน ทั้งแบบ closed transit และ open transit

ปัจจุบัน ปลายทางที่ได้รับความนิยมในการส่งระหว่างประเทศ 5 อันดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สินค้าที่นิยมส่ง คือ เสื้อผ้า ขนมและอาหารแห้ง สินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม เอกสาร ของสะสม

“เป้าหมายทั้งปีวางไว้ที่ 22,000 ล้านบาท แต่จะ กำไรไหมต้องรอดู ซึ่งเราเชื่อว่าครึ่งปีหลังคิดว่าเป็นอะไรที่สนุก และต้องทำอะไรอีกเยอะ โดยเฉพาะการเพิ่มจุดให้บริการ เพื่อให้บริการอย่างทั่วถึง เพราะเราเข้าใจว่าการเพิ่มความสะดวกเป็นหัวใจของประสบการณ์ โดยตอนนี้ไปรษณีย์ไทยเรามีจุดให้บริการรวมกว่า 5 หมื่นจุด”

]]>
1484425
ถาม-ตอบ “ดร.ดนันท์” แม่ทัพ “ไปรษณีย์ไทย” กับน่านน้ำใหม่ที่จะใช้เครือข่าย “พี่ไปรฯ” ทำธุรกิจ https://positioningmag.com/1413815 Fri, 23 Dec 2022 08:58:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1413815 ปี 2564 ที่ผ่านมาถือว่าโหดร้ายกับ “ไปรษณีย์ไทย” เป็นอย่างมาก จากผลประกอบการที่ขาดทุน ขณะที่ปี 2565 นี้ “ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” แย้มๆ ว่าผลรวมทั้งปียัง ‘หนัก’ แต่เห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้หลังไปรษณีย์ไทยมีการปรับตัวชิงส่วนแบ่งตลาดสำเร็จ และองค์กรจะลุยต่อในปี 2566 เริ่มหา “น่านน้ำใหม่” ธุรกิจใหม่ที่ต่อยอดได้จากเครือข่าย “บุรุษไปรษณีย์” ที่เข้มแข็ง

สมรภูมิขนส่งพัสดุนั้นเป็นพื้นที่ที่ดุเดือดอย่างยิ่ง มองไปในตลาดมีทั้งสีเหลือง ส้ม แดง แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซก็มีบริษัทขนส่งของตนเอง ยังไม่นับฟลีทของบริษัทกระจายสินค้าต่างๆ ที่หันมาเปิดรับขนส่งให้รายย่อยเพิ่มอีก ตลาดแบบสุดยอด ‘เรดโอเชียน’ ท้าทายการดำเนินงานของ “ไปรษณีย์ไทย” มาตลอด จนปี 2564 เป็นปีที่องค์กรเห็นผลขาดทุน

ขณะที่ปี 2565 นั้น “ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด คาดว่าปีนี้ไปรษณีย์ไทยน่าจะมีการนำจ่ายพัสดุเฉลี่ย 4.5-5 ล้านชิ้นต่อวัน หรือคิดเป็นรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี เทียบกับในอดีตแล้ว ไปรษณีย์ไทยเคยนำส่งพัสดุได้ถึง 8 ล้านชิ้นต่อวันเมื่อปี 2562

เหตุที่ปีนี้จะค่อนข้างหนักเพราะนอกจากคู่แข่งเยอะมากแล้ว ยังเป็นปีที่กำลังซื้อในตลาดลดลง ผู้บริโภคสั่งสินค้าน้อยลงก็ทำให้ ‘เค้ก’ ของจำนวนชิ้นพัสดุลดลงตาม

ไปรษณีย์ไทย
“ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

อย่างไรก็ตาม ไปรษณีย์ไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่มีการปรับตัวสู้ไปหลายด้านในช่วงปี 2564-65 เช่น

  • ขยายบริการ “Pick-up Service” รับพัสดุถึงบ้านครอบคลุม “ทั่วประเทศ” นัดหมายได้ผ่านช่องทาง LINE
  • ปรับให้ ปณ. ทุกแห่งในกรุงเทพฯ และ ปณ. จังหวัดทุกจังหวัด ทำงานทุกวัน “ไม่มีวันหยุด” และ ปณ. ทั่วประเทศมีการ “ขยายเวลาปิดทำการ” ปิดเร็วที่สุดคือ 19:00 น. และบางแห่งขยายไปถึง 24:00 น.
  • ปรับมาตัดรอบขนส่งรอบสุดท้ายเวลา 20:00 น. เพื่อตอบโจทย์พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ซึ่งมักจะขายและแพ็กสินค้าในช่วงเย็น ให้สามารถมาส่งพัสดุทันตัดรอบในวันเดียวกัน

ไปรษณีย์ไทย

หากไม่นับเรื่องราคา ที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยมีจุดอ่อนคือเรื่องวันหยุดและเวลาทำการที่ปิดเร็วตามเวลาราชการ รวมถึงคู่แข่งรุกหนักด้วยบริการรับพัสดุถึงบ้าน/หน้าร้าน ทำให้การปรับของไปรษณีย์ไทยมาสู้ในจุดที่เคยเสียเปรียบ จึงทำให้ดึงลูกค้ากลุ่มอีคอมเมิร์ซได้ดีขึ้น

เมื่อประกอบกับชื่อเสียงของไปรษณีย์ไทยที่ยังมีคุณภาพดีกว่าในแง่ของการบริการ ส่งจริงไม่ทิ้งงาน ไม่ค้างจ่าย และรู้จักชุมชนอย่างละเอียด ส่งได้ถึงมือผู้รับตัวจริง ทำให้ลูกค้ากลับมาใช้งาน โดยดร.ดนันท์ระบุว่าปีนี้ไปรษณีย์ไทยสามารถดึง ‘ลูกค้าเก่า’ กลับมาได้ถึง 40%

“ไตรมาส 4 น่าจะเป็นช่วงที่ดีที่สุดของเราในปีนี้ โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมเราดีขึ้นชัดเจน จะเป็นไตรมาสที่ขาดทุนน้อยลงแน่นอน” ดร.ดนันท์กล่าว “เชื่อว่าเป็นเพราะบริการของเราดีขึ้น ขณะที่คู่แข่งอาจจะเพลี่ยงพล้ำด้านคุณภาพงาน”

 

2566 เสริมแกร่งธุรกิจหลัก และ สำรวจน่านน้ำใหม่

สำหรับปี 2566 จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? ดร.ดนันท์กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทย วางกลยุทธ์การทำงานออกเป็น 2 แกนคือ Fit the Core Business & Explore New Ocean นั่นคือจะมีทั้งการเสริมแกร่งธุรกิจหลัก และ การสำรวจหาน่านน้ำธุรกิจใหม่

ธุรกิจหลักของไปรษณีย์ไทยหมายถึงงานขนส่งไปรษณียภัณฑ์ทั้งหลาย ซึ่งปัจจุบันรายได้นั้นแบ่งครึ่งๆ มาจาก B2B 50% และ B2C 50%

การจะหารายได้เพิ่ม ชิงส่วนแบ่งมาให้ได้ เท่ากับไปรษณีย์ไทยต้องปรับปรุง “งานบริการ” ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก และปรับระบบ “งานขาย” ให้สอดคล้องกับตลาดปัจจุบัน

ในด้านการบริการ After Sales Service ไปรษณีย์ไทยมุ่งเป้าจะเป็น “Zero Complain Company” เน้นด้านคุณภาพการบริการ ให้มีข้อร้องเรียนน้อยที่สุด ลดพัสดุค้างจ่าย ลดจำนวนการเคลมพัสดุเสียหายลงอีก จากปัจจุบันมียอดเคลมราว 6,000 ชิ้นต่อปี

“เป้าหมายนี้ไม่ใช่ไม่ให้มีใครบ่นเลย แต่ถ้ามีการบ่นเกิดขึ้น เราต้องเข้าไปแก้ปัญหาได้ทันที ไม่ทิ้งลูกค้า โทรฯ มาต้องรับสาย มอนิเตอร์การบ่นทุกช่องทาง และต้องไปแก้ไขให้” ดร.ดนันท์กล่าว

ไปรษณีย์ไทย

ด้านงานขายนั้น “เซลส์” ไปรษณีย์ไทยทั้งประเทศจะถูกปรับโยกย้ายตามพอร์ตโฟลิโอที่เหมาะกับตลาด เพราะงานปัจจุบันมีทั้งกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ (Enterprise) จนถึงลูกค้าอีคอมเมิร์ซรายใหญ่-รายย่อย รวมถึงเซลส์จะต้องใช้ดาต้าให้เป็นประโยชน์ในการติดต่อหาลูกค้าเก่ามากขึ้น ทำความเข้าใจว่าทำไมลูกค้าจึงไม่เลือก และทำอย่างไรให้ลูกค้ากลับมา

 

ธุรกิจใหม่จากเครือข่าย ‘พี่ไปรฯ’

แกนที่สองคือการหาน่านน้ำใหม่นั้น จะเห็นว่าไปรษณีย์ไทยเริ่มต้นมาแล้วระยะหนึ่ง กับการเปิดธุรกิจค้าปลีก thailandpostmart.com ขายสินค้าของดีท้องถิ่น หรือการสร้างบริการ Post Next บริการด้านดิจิทัล เช่น บริการ e-Timestamp รับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์

ดร.ดนันท์มองว่า การหาน่านน้ำใหม่เป็นสิ่งที่ต้องเดินต่อ โดยต่อยอดมาจากจุดแข็งที่ไปรษณีย์ไทยมีนั่นคือ “บุรุษไปรษณีย์” ที่มีอยู่กว่า 20,000 คนทั่วประเทศ และมีการเดินทางนำจ่ายพัสดุรวมวันละกว่า 1 ล้านหลังคาเรือน

เครือข่ายเจ้าหน้าที่ที่ลงลึกถึงรากฝอยชุมชนขนาดนี้ ในปีหน้าจะได้เห็นไปรษณีย์ไทยนำมาใช้ให้บริการใหม่ในด้าน ‘Market Research’ ทำวิจัยด้านการตลาด รวมถึงจะเริ่มเปิดให้แบรนด์เป็นพันธมิตรในการขายสินค้าผ่านเครือข่ายบุรุษไปรษณีย์

“ยกตัวอย่าง สมมติว่าสินค้านั้นเป็นอาหารสุนัข บุรุษไปรษณีย์เรารู้อยู่แล้วว่าบ้านไหนในชุมชนที่เลี้ยงสุนัข และดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างดีด้วย น่าจะสนใจซื้ออาหารสุนัข บุรุษไปรษณีย์ก็สามารถนำเสนอได้ตรงเป้าหมาย” ดร.ดนันท์กล่าว

จะไปคาดหวังให้จำนวนงานกลับไปถึง 8 ล้านชิ้นต่อวันเหมือนเดิมไม่ได้ ไม่ควรคาดหวังอย่างนั้น เราควรมาหาทางทำตลาดที่เป็นของเราเองให้ได้มากกว่า อย่างบุรุษไปรษณีย์นี้จะเป็นกุญแจหลักในการต่อสู้ของเรา

การหาน่านน้ำใหม่นี้จะทำให้สถานการณ์ทำรายได้และกำไรของไปรษณีย์ไทยมั่นคงขึ้นในอนาคต “จะไปคาดหวังให้จำนวนงานกลับไปถึง 8 ล้านชิ้นต่อวันเหมือนเดิมไม่ได้ ไม่ควรคาดหวังอย่างนั้น เราควรมาหาทางทำตลาดที่เป็นของเราเองให้ได้มากกว่า อย่างบุรุษไปรษณีย์นี้จะเป็นกุญแจหลักในการต่อสู้ของเรา”

ที่น่าสนใจอีกส่วนคือ เมื่อเป้าหมายขององค์กรขยับ “โครงสร้างบุคลากร” ก็ขยับเช่นกัน โดยปีหน้าเจ้าหน้าที่ประจำ ปณ. จะได้ทำงานตำแหน่งอื่นที่เป็นการพัฒนาองค์กร เช่น เจ้าหน้าที่ Pick-up Service, เจ้าหน้าที่ดูแลบริการหลังการขาย และพนักงานไปรษณีย์ไทยรุ่นใหม่ที่รับเข้ามาก็จะทำหน้าที่ที่ช่วยขับเคลื่อนไปตามเป้าเช่นกัน เช่น งานด้านดิจิทัล จะเปิดรับมากขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า

]]>
1413815
“ไปรษณีย์ไทย” ยุค “ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” ต้อง Beyond Logistics ใช้พี่ไปรฯ เป็นจุดแข็งมากกว่าราคา https://positioningmag.com/1373454 Wed, 09 Feb 2022 15:25:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1373454 ไปรษณีย์ไทยหนึ่งในองค์กรเก่าแก่กว่า 140 ปี จนถึงทุกวันนี้ต้องทรานส์ฟอร์มเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย และการแข่งขันในตลาดโลจิสติกส์ที่สุดแสนจะดุเดือด เป็นความท้าทายรอบด้านสำหรับ “ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ขอย้ำว่าปีนี้ไปรษณีย์ไทยจะต้อง Beyond Logistics เป็นมากกว่าส่งพัสดุ แต่ไม่ลงเล่นสงครามราคา มีพี่บุรุษไปรษณีย์เป็นจุดแข็ง

ไม่เล่นราคา มี “พี่ไปรษณีย์” เป็นจุดแข็ง

ต้องบอกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มีการแข่งขันอันดุเดือดเลือดสาดแล้ว ตลาดโลจิสติกส์ และส่งพัสดุก็เป็นอีกหนึ่งตลาดที่เหมือนสมรภูมิสงครามย่อมๆ ได้เห็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศเริ่มเข้ามาทำตลาด รวมถึงแบรนด์ในประเทศก็เพิ่มบริการเพื่อที่จะจับตลาดด้วยเช่นกัน กลายเป็นว่าตอนนี้มีผู้ส่งพัสดุไม่ต่ำกว่า 10 ราย ทั้งรายใหญ่ รายย่อย รายโลคอลเฉพาะพื้นที่

มีการประเมินว่าภาพรวมตลาดโลจิสติกส์ในปี 2564 มีมูลค่า 100,000 ล้านบาท เป็นตลาดที่รวมผู้ส่งรายย่อย หรือขขนส่งแบบส่วนตัวขององค์กร ส่วนตลาดส่งพัสดุแบบด่วนมีมูลค่าราว 50,000 ล้านบาท เติบโต 19% เป็นอัตราเติบโตลดลงจากปี 2563 เนื่องด้วยสภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง อีกทั้งผู้เล่นในตลาดยังเล่นเรื่องราคากันหนักหน่วง

ถ้าพูดถึงตลาดส่งพัสดุแล้ว คงต้องนึกถึง “ไปรษณีย์ไทย” เป็นอันดับต้นๆ เรียกว่าเป็นพี่ใหญ่ในตลาด เฝ้ามองดูการตบเท้าเข้ามาของผู้เล่นใหม่ๆ ในทุกๆ ปี ไม่ว่าจะเป็น KERRY Express, Flash Express, SCG, J&T, Ninja, Best Express หรือแม้แต่ผู้เล่นในตลาด e-Marketplace อย่าง Shopee และ Lazada ก็ยังต้องมีโลจิสติกส์เป็นของตัวเอง

เนื่องด้วยความที่ไปรษณีย์ไทยเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ ทำให้ในช่วงหลังมีการเรียกการส่งพัสดุเป็น “ส่งปณ.” กับ “ส่งเอกชน” ไปโดยปริยาย

ในยุคแรกๆ การส่งพัสดุต่างชูจุดเด่นเรื่อง “ความเร็ว” และจุดรับสินค้าที่ครอบคลุม เข้ามาอุดช่องว่างในอดีตที่กว่าจะได้รับสินค้าใช้เวลา 2-3 วัน ใครเร็วกว่าก็ได้ใจกว่า ต่อมาเริ่มมีการสร้างแบรนด์ เริ่มเปิดตัว “พรีเซ็นเตอร์” กันแบบรัวๆ เพื่อสร้างการรับรู้ จากนั้นก็เข้าสู่ “สงครามราคา” แบบเต็มรูปแบบ จะเห็นว่ามีการดัมพ์ราคากันอย่างต่อเนื่อง จากเริ่มต้นที่ 25 บาท เริ่มลงมาที่ 23 บาท บ้าง 19 บาทบ้าง ตอนนี้ J&T ทุบราคาที่เริ่มต้น 15 บาท แต่ละเจ้ายอมเฉือนเนื้อตัวเอง เพื่อให้ได้ฐานลูกค้ามากขึ้น

กลยุทธ์ราคาสามารถดึงดูดผู้บริโภคได้พอสมควร เพราะในยุคนี้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ต่างต้องการลดต้นทุนในการส่งสินค้ามากขึ้น ต้องบอกว่าในตลาดนี้ลูกค้าอาจจะไม่มี Loyalty ที่แท้จริง นอกเสียจากจะเจอประสบการณ์ในการส่งที่แย่มากๆ จากเจ้าไหนก็ตาม จนไม่สามารถใช้เจ้านั้นได้อีก

ในการส่งพัสดุ ไปรษณีย์มีรูปแบบส่งแบบธรรมดา, ส่งแบบลงทะเบียน และส่ง EMS ถ้าให้เทียบกับเจ้าอื่นๆ คงต้องเป็นการส่ง EMS เพราะมีความไวพอๆ กัน แต่ราคาอาจจะสูงกว่า เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 30-50 บาท ในขณะที่เจ้าอื่นอยู่ที่ 15-25 บาท เมื่อปลายปีที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยได้จัดโปรเหมาค่าส่ง EMS ในราคา 25 บาทมาแล้ว หวังสู้ศึกในครั้งนี้

แต่ถ้าถามว่ามีแผนที่จะปรับราคาค่าส่ง EMS ในระยะยาวหรือไม่ “ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บอกว่า ไม่มองเกมสงครามราคาเป็นหลัก แต่เน้นการให้บริการที่เข้าถึงลูกค้า โดยมีพี่บุรุษไปรษณีย์เป็นคนสำคัญในการเชื่อม ที่เจ้าอื่นก็ไม่สามารถทำได้

“การแข่งขันเรื่องราคารุนแรงมาก ราคาเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดในการสร้างความแตกต่างที่ผู้ให้บริการเอามาเล่น เราไม่ได้มองว่าเกมนี้ไปรษณีย์ไทยจะไปเล่นแต่ราคา สิ่งที่สำคัญเราจะสร้างคุณภาพในการให้บริการ เข้าถึงลูกค้าให้ดีชึ้น ประสบการณ์ให้ดีขึ้น ราคาคุ้มค่า อีกทั้งไปรษณีย์ไทยก็มีความแข็งแกร่งในแง่ความเป็น Human Networking หรือการเข้าถึงเครือข่ายครัวเรือน ดังนั้นเราจึงใช้ความแข็งแกร่งตรงนี้ในการเป็นช่องทางในการให้บริการกับประชาชนเพิ่มเติม”

บุรุษไปรษณีย์ หรือพี่ไปรษณีย์ เป็นคีย์แมนคนสำคัญของไปรษณีย์ไทยก็ว่าได้ จุดเด่นที่สำคัญก็คือ พี่ไปรฯ สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ และสามารถจำรายละเอียดแต่ละบ้านได้ ชนิดที่ว่าถ้าใครจ่าหน้าจดหมาย หรือพัสดุผิด พี่ไปรฯ ก็สามารถส่งให้ถูกได้ เนื่องจากไปรษณีย์มีทั้งการส่งจดหมายแบบดั้งเดิม จดหมายใบแจ้งหนี้ต่างๆ ไปจนถึงพัสดุ ทำให้มีปริมาณการส่งเยอะ เข้าออกชุมชน ตรอกซอกซอยได้อย่างชำนาน

ไปรษณีย์ไทยมีพนักงานรวมทั้งหมด 40,000 คน แบ่งเป็นพี่บุรุษไปรษณีย์เป็นสัดส่วนถึง 50% หรือราว 20,000 คน นอกนั้นเป็นพนักงานที่สาขา 40% และที่สำนักงานใหญ่ 10%

ดร.ดนันท์บอกว่า อัตราการเทิร์นโอเวอร์ของพนักงานไปรษณีย์ไทยต่ำมาก พูดได้ว่าต่ำกว่าตลาดแน่นอน มีพนักงานที่อยู่ตั้งแต่ต้นจนเกษียณเยอะ อยู่มาเหมือนครอบครัว ยอดเทิร์นโอเวอร์ต่ำกว่าเอกชนแน่นอน

ขยับองค์กร 140 ปี มีแต่ความท้าทาย

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการบริษัท ไปรษณีย์ไทย ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา โดยการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีวาระ 4 ปี

ดร.ดนันท์ มีประสบการณ์การทำงานด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล มากว่า 25 ปี ได้รับการยอมรับในวงการสื่อสารโทรคมนาคม รวมถึงมีบทบาทด้านการพัฒนาและบริหารธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งก่อนเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด  ดร.ดนันท์ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและบริการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดูแลผลิตภัณฑ์ใน 6 กลุ่มหลัก ทั้ง Datacom, Voice, Internet, Cloud& Data Center, IT Security และ e-Business

การมาอยู่บริษัทที่มีอายุยาวนาน 140 ปี จึงมีความท้าทายอย่างมากที่จะทรานส์ฟอร์มเพื่อรับกับยุคสมัยใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านองค์กร และบริหารคน

ดร.ดนันท์บอกว่า “ความท้าทายหลักอยู่ที่ เป็นอุตสาหกรรมการแข่งขันสูง แต่เติบโต มีความสำคัญกับเศรษฐกิจประเทศ ความต้องการของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลง เราอยู่มานานแต่ไม่แก่ ต้องทำอย่างไรให้พัฒนาไปกับเทคโนโลยี และดิจิทัลเซอร์วิส เรื่องการบริการภายในก็ต้องได้ คนต้องมีความคุ้นเคยกับดิจิทัล เป็นปกติของธุรกิจโลจิสติกส์ที่มีคนเยอะ มีความซับซ้อนในการบริหารจัดการ ทำอย่างไรให้พนักงานเห็นเป้าหมายเดียวกัน

thailand post ไปรษณีย์

เราอยู่กับคนไทยมา 140 ปี เติบโตมากับสังคมไทย เป็นเพื่อน สิ่งนี้เป็น Positioning สำคัญ ปีนี้จะรีเฟรชแบรนด์สิ่งที่ทำชัดเจนขึ้น ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงไปรษณีย์ไทยกับสังคมไทย ไม่หยุดแค่โลจิสติกส์”

ล่าสุดไปรษณีย์ไทยยังเพิ่มบริการส่ง EMS แบบไม่มีวันหยุด โดยปกติแล้วจุดอ่อนของไปรษณีย์ไทยก็คือ “เวลาทำการ” แบบราชการ บางสาขาเปิดทำการตามเวลาราชการ มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ในช่วงหลังมีการปรับวันเวลาทำการใหม่ บางสาขามีเปิดเสาร์อาทิตย์ บางสาขาเปิดแค่ครึ่งวันเสาร์ หรือบางสาขาก็มีเปิดถึงดึก รวมไปถึงการส่งพัสดุก็มีวันหยุดก็คือวันอาทิตย์ ตอนนี้มีการนำจ่ายพัสดุทุกวัน เพราะพฤติกรรมคนซื้อของออนไลน์ต้องการได้ของเร็ว

พี่ไปรฯ เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว ส่งมากกว่าพัสดุ

สำหรับแผนในปี 2565 ไปรษณีย์ไทยเตรียมงบลงทุนอีก 3,000 ล้านบาท วางจุดยืนใหม่ Beyond Logistics จะเป็นมากกว่าผู้ให้บริการขนส่ง ดร.ดนันท์เปรียบว่า ธุรกิจขนส่งเหมือนคอมมูนิตี้แล้ว การแข่งขันอยู่ที่การพัฒนาประสิทธิภาพ สุดท้ายไปที่การเล่นราคา ถึงแม้ส่งพัสดุจะเป็นธุรกิจหลัก แต่ต้องต่อยอดไปน่านน้ำใหม่ๆ จะไปดิจิทัลแพลตฟอร์ม บุรุษไปรษณีย์จะไม่ใช่แค่ส่งของ แต่ให้บริการอื่นๆ แก่ประชาชน

“บุรุษไปรษณีย์เป็นจุดแข็งที่สร้างมานาน คนไทยรักบุรุษไปรษณีย์ รู้จักทุกครัวเรือน เป็นความคุ้นเคย ความเชื่อมั่น เป็นเหมือนเพื่อนกัน จากแค่ส่งจดหมาย ส่งพัสดุ จะเริ่มมีบริการถึงบ้านมากขึ้น”

เมื่อปี 2564 ไปรษณีย์ไทยมีเปิดตัวบริการใหม่ที่ต่อยอดจากการส่งพัสดุอย่างเดียว แต่ใช้จุดแข็งที่ตัวบุรุษไปรษณีย์เข้าถึงลูกค้าตามบ้าน มีทั้งเงินกู้ เติมเงิน ซื้อซิมมือถือ เป็นบริการที่มาจากความสัมพันธ์กับสังคมและชุมชน

  • จับมือ เอสซีบี อบาคัส ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่ใช้บริการส่งสินค้าเก็บเงินปลายทาง หรือ Cash on Delivery (COD) ด้วยสินเชื่อตั้งหลัก ผ่านแอปพลิเคชัน “เงินทันเด้อ” รู้ผลอนุมัติไวเพียง 15 นาที
  • จับมือกับ True และ AIS ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ และซื้อแพ็กเน็ตเสริม ผ่านบุรุษไปรษณีย์ทั่วประเทศ
  • ร่วมกับ AIS ในการฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ กับพี่ไปรฯ
  • ขยายบริการการเป็นตัวแทนธุรกรรมทางการเงิน หรือ Banking Agent ผ่านเครือข่ายที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ

ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยมีจุดให้บริการมากกว่า 10,000 จุด ตู้ไปรษณีย์ 20,000 จุด ดร.ดนันท์บอกว่า ในปีนี้จะมีการแปลงร่างตู้ปณ.ให้กลายเป้นจุด Touch Point ใหม่ เอามาบริหารจัดการให้ง่ายขึ้น และจะเน้นทำแฟรนไชส์มากขึ้น เพิ่มจุดรับส่งสินค้า และต้องจัดการให้ราคาหน้าบ้านเท่ากันหมด เพราะก่อนหน้านี้จุดให้บริการของไปรษณีย์ไทยจะมีปัญหา ถ้าเป็นจุดของเอกชนจะราคาสูงกว่า

ในปี 2564 คาดว่าจะปิดรายได้ที่ 22,000 ล้านบาท เป็นช่วงเวลาที่ไม่พูดถึงกำไร เพราะถือว่าเป็นปีที่เจ็บหนักกันทุกธุรกิจ

]]>
1373454
AIS เปิดโครงการ ฝากทิ้ง E-Waste ขยะอิเล็กทรอนิกส์ กับพี่ไปรษณีย์ได้ฟรี! https://positioningmag.com/1319766 Wed, 17 Feb 2021 06:01:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319766 ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ถือเป็นอีก 1 ประเด็นที่หลายภาคส่วนต่างออกมารณรงค์ให้คนไทยตระหนักและให้ความสำคัญกับการทิ้งอย่างถูกที่ และถูกวิธี เพราะขยะประเภทนี้นอกจากจะไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติแล้ว ยังปลดปล่อยสารพิษลงสู่สภาพแวดล้อม ซึ่งท้ายที่สุดก็จะย้อนกลับมาทำร้ายพวกเราได้อีกด้วย

ที่ผ่านมา แม้จะมีหลายหน่วยงานออกมาตั้งจุดรับทิ้ง E-Waste แต่ก็อาจจะยังไม่ทั่วถึงอยู่ดี รวมถึงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ที่แม้จะทำให้เราควรต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติกันมากขึ้น แต่บริการรับ/ส่ง จดหมายหรือพัสดุจากไปรษณีย์ไทยไม่เคยหยุด

จึงเป็นที่มาของบริการ “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์” กับพี่ๆ ไปรษณีย์ นับเป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่าง เอไอเอส กับ ไปรษณีย์ไทย หลังจากร่วมกันตั้งจุดรับทิ้ง E-Waste ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ในโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” มาก่อนหน้านี้ ดีเดย์วันแรก 15 กุมภาพันธ์

สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เล่าว่า

“เชื่อว่าวันนี้พวกเราตื่นตัวกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น แต่ Pain Point คือ ไม่สะดวกที่จะนำไปทิ้ง ณ จุดรับทิ้ง ดังนั้นการเข้าไปรับฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึงที่บ้านเพื่อส่งต่อให้เอไอเอส ทุกๆ คนสามารถมั่นใจได้ว่าเราจะนำไปกำจัด และ Recycle อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากลในรูปแบบของ Zero Landfill จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างดีที่สุด ซึ่งต้องขอขอบคุณทางไปรษณีย์ไทย ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกับเอไอเอส ในการรณรงค์ และเป็นช่องทาง “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ผ่านบุรุษไปรษณีย์กว่า 20,000 คนทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์จากที่บ้านได้ง่ายๆ สะดวก และที่สำคัญไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสามารถฝากทิ้งได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

2 ขั้นตอนง่ายๆ “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์” กับบุรุษไปรษณีย์

  1. เตรียม E-Waste ทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, สายชาร์จ, หูฟัง, พาวเวอร์แบงก์ และแบตเตอรี่มือถือ ให้พร้อม และนำใส่กล่อง พร้อมเขียนหน้ากล่อง “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์”
  2. ฝากทิ้ง กับพี่ไปรษณีย์ ที่มาส่งจดหมาย หรือพัสดุ ที่บ้านได้เลย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
]]>
1319766