เพิ่งเจอหมัดสวนของ 2 คู่แข่งรายใหญ่ไปหมาด ๆ จากที่ ไปรษณีย์ไทย ประกาศขึ้นราคา จดหมายประเภทซอง แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับตลาด ขนส่งพัสดุ (Parcel Delivery) โดยเฉพาะกับตลาด ส่งด่วนหรือ EMS แต่ไปรษณีย์ไทยก็ได้ผลกระทบหนัก ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ถึงกับต้องรื้อกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง เพื่อหาทางสร้างรายได้ที่จากทางอื่นเพื่อมาอุดช่วงว่างที่ถูกแย่งชิงไป
ยกธงขาวแข่งราคา
ดร.ดนันท์ ยอมรับว่าสถานการณ์การแข่งขันของตลาดขนส่งพัสดุกลับมาดุเดือดอีกครั้ง หลังจากที่ตอนราคาน้ำมันปรับตัวสูงทำให้ผู้เล่นแต่ละรายต้องประคองราคาค่าส่งเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น อีกทั้งตลาดอีคอมเมิร์ซไม่ได้เติบโตเหมือนช่วงโควิด อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ไปรษณีย์ไทยมีการ ปรับขึ้นราคาจดหมายประเภทซอง ทำให้ผู้บริโภคคิดว่าไปรษณีย์ไทยปรับขึ้นราคาทั้งหมด ส่งผลให้คู่แข่งก็ถือโอกาสดัมพ์ราคาลงมาเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด
“เราขึ้นราคาส่งจดหมาย ส่งด่วนไม่เคยขึ้น ซึ่งคู่แข่งก็อาศัยช่วงที่ผู้บริโภคยังงง ๆ ดัมพ์ราคา ส่งผลให้ตลาดมีการแย่งชิ้นงานมากขึ้น และด้วยการแข่งขันที่รุนแรงทำให้ราคาต่อชิ้นลดลงอีก 10% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา ดังนั้น ต่อให้จำนวนชิ้นที่เพิ่มก็ยังชดเชยรายได้ที่หายไปไม่ได้ จะเห็นว่าทุกเจ้ากำไรลดลง แม้จำนวนชิ้นเพิ่ม”
โดยทิศทางของไปรษณีย์ไทยในครึ่งปีหลังนี้จะพยายามไม่แข่งด้านราคา แต่จะเน้นที่คุณภาพผ่านกลยุทธ์ Parcel Define Logistics หรือมีการปรับแต่งระบบการขนส่งให้สอดคล้องกับพัสดุ ตั้งแต่แพ็กเกจจิ้งจนถึงระบบการขนส่ง เช่น ส่งของชิ้นใหญ่, ส่งต้นไม้, ส่งของสด เป็นต้น รวมถึงปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน โดยช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมาเทียบกับไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ยอดงานสอบสวนกรณีของสูญหายหรือเสียหาย ลดลง 46% ขณะที่ปริมาณการจัดส่ง เพิ่มขึ้น 15%
“สิ่งที่สำคัญตอนนี้ไม่ใช่แค่ด่วน แต่เราให้ความสำคัญกับสิ่งของมากขึ้นเพื่อสร้างแวลูให้บริการ ไม่ใช้ราคาเป็นตัวแข่งขัน เพราะเชื่อว่าสุดท้ายผู้บริโภคต้องการให้ของถึงมือตรงเวลา ไม่เสียหาย แต่คงไม่ใช่ว่าจะไม่ลดราคาเลย ก็ต้องทำบ้างเพื่อให้รักษาส่วนแบ่งตลาด แต่ไม่ใช่ทั้งหมดอาจเป็นบางประเภท เช่น เสื้อผ้าที่น้ำหนักเบา เสียหายยาก”
‘Kerry-Flash’ สบโอกาส ‘ไปรษณีย์’ ขึ้นราคา จัดโปร ‘ดัมพ์ค่าส่ง’ หวังโกยลูกค้าเพิ่มมาร์เก็ตแชร์
ดันรายได้รีเทลอุดส่งด่วน
นอกจากเรื่องคุณภาพ ช่วงครึ่งปีหลังไปรษณีย์ไทยจะเริ่มดันในส่วนของ รีเทล ในลักษณะการ แมตช์ดีมานด์กับซัพพลาย โดยใช้ บุรุษไปรษณีย์ เป็นตัวขับเคลื่อน เนื่องจากบุรุษไปรษณีย์มีจุดแข็งที่ ความสัมพันธ์กับชุมชน นอกจากนี้ ไปรษณีย์มีแผนจะขยายจากปัจจุบันมี 11,000 สาขา เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น โดยจะเป็นพันธมิตรกับ โมเดิร์นเทรด ศูนย์บริการเอ็นที ซึ่งนำร่องไปแล้ว 60 แห่ง ไปจนถึง ตลาดสด โดยที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยเริ่มมีการเปิด Outlet ในตลาดสด เช่นที่พัทยาเพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถส่งของสดผ่านไปรษณีย์ไทยได้
“เราอยู่มานานจนเหมือนครอบครัว บางบ้านไม่เคยสั่งของออนไลน์เราก็รู้จักเพราะทุกบ้านต้องมีจดหมายหรือบิลค่าน้ำไฟไปส่ง เมื่อเรามีข้อมูลเยอะ เราก็มีมาร์เก็ตติ้งเน็ตเวิร์กขนาดใหญ่ รีเทลก็จะเติบโตได้”
สำหรับรายได้จากฝั่งรีเทลปีนี้ไปรษณีย์ไทยวางเป้าไว้ที่ 500 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาทำได้ 300 ล้านบาทโดยคาดว่ารายได้ 60% จะมาจากออฟไลน์ ทั้งสาขาไปรษณีย์และบุรุษไปรษณีย์ โดยรวมแล้วคาดว่าสัดส่วนรายได้จากรีเทลจะเพิ่มจาก 10% เป็น 15% ในปีนี้ ส่วนรายได้หลักอย่างธุรกิจส่งด่วนคาดว่าสัดส่วนจะลดลงจาก 43% เหลือ 40% เนื่องจากสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ส่วน จดหมาย และ การส่งข้ามประเทศ คาดว่าจะทรงตัวที่ 30% และ 20% ตามลำดับ
จับมือพันธมิตรฟู้ดเดลิเวอรี่
อีกกลยุทธ์ที่ไปรษณีย์ไทยใช้ในครึ่งปีหลังคือ พันธมิตรอีคอมเมิร์ซ ปัจจุบันเริ่มมีบางแพลตฟอร์มส่งชิ้นงานให้กับไปรษณีย์มาเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยก็เชื่อมต่อระบบหลังบ้านกับแพลตฟอร์มออนไลน์ของพ่อค้าแม่ค้า เพื่อเพิ่มความสะดวก ลดขั้นตอนในการป้อนเลขพัสดุ
“แพลตฟอร์มอีคอมเราให้ความสำคัญอยู่แล้ว แต่เรารู้ว่าสุดท้ายแล้วพอถึงจุดหนึ่งเขาก็ทำเอง เพราะว่าแพลตฟอร์มเกิดมาเพื่อสร้างดีมานด์ ต่างจากคนส่งที่สร้างซัพพลายรอดีมานด์เข้า ดังนั้น เราเลยต้องเน้นที่รีเทลเพื่อสร้างดีมานด์ของตัวเองด้วย”
นอกจากพันธมิตรกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแล้ว ไปรษณีย์ไทยกำลังร่วมกับ แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ในการซับพอร์ตด้าน Cloud Kitchen โดยจะเห็นรายละเอียดภายใน 2 เดือน
“แน่นอนว่าฟู้ดเดลิเวอรี่มันเรดโอเชี่ยนถ้าทำแพลตฟอร์ม แต่เราเข้าไปในฐานะส่วนหนึ่งของตลาดโดยใช้ประโยชน์จากธุรกิจรีเทลของเราในเรื่องฟูลฟิลเมนต์ นี่จะเป็นอีกแวลูเชนหนึ่งที่เราจะซัพพอร์ต Cloud Kitchen ของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่”
ใช้ทรัพยากรรัฐและมุ่งอีวีลดต้นทุน
จากปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของไปรษณีย์เพิ่มขึ้น 30% ที่ผ่านมาก็ใช้การปรับเส้นทางการเดินรถเพื่อให้ใช้ทรัพยากรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเริ่มใช้รถยนต์ไฟฟ้า 250 คันในปีนี้ ส่วนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีการทดลองใช้ประมาณ 30 คัน สาเหตุที่ยังน้อยเพราะต้องทดลองก่อนว่าสเป็คที่ใช้เหมาะกับการใช้งานของบุรุษไปรษณีย์หรือไม่ และนอกจากจะใช้รถอีวีแล้ว ไปรษณีย์ไทยมีแผนจะลงทุนในอีวีด้วย
“เราพยายามปรับไปใช้รถอีวีเพื่อลดต้นทุน ลดการปล่อยมลพิษ และเราก็ไม่ได้อยากเป็นแค่ผู้ซื้อหรือเช่า แต่ต้องการลงทุนด้วย”
นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยกำลังพูดคุยกับ บขส. และ การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นพันธมิตรในการส่วนของ First and Mid Mile เพื่อใช้ทรัพย์สินหน่วยงานรัฐให้เต็มประสิทธิภาพ ลดการทำงานซ้ำซ้อน ช่วยลดต้นทุน และทำให้ระยะเวลาการขนส่งลดลง โดยไปรษณีย์ไทยตั้งเป้าที่จะ ส่งของทั่งประเทศให้ได้ภายใน 3 วัน หรือ Next Day +1
“เราคิดว่าครึ่งปีหลังเราจะทำได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคุมต้นทุน ปรับระบบขนส่ง การให้ความสำคัญกับโปรดักส์เพื่อสร้างแวลูหลีกหนีสงครามราคา คงตอบยากว่ามันจะไปจบตรงไหน เพราะผู้เล่นบางรายให้ความสำคัญกับการชิงมาร์เก็ตแชร์ ดังนั้น เขาไม่สนเรื่องราคา ยิ่งมีรายใหม่ราคาก็ยิ่งลดลง คู่แข่งตอนนี้แค่รักษาการเติบโตได้ก็เหนื่อยแล้ว”