‘ไปรษณีย์ไทย’ เผย ‘สินค้าต่างประเทศ’ เข้าไทยปีละกว่า 1 แสนล้านบาท 70% อยู่บนแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลส เร่งดัน ‘SMEs’ โกอินเตอร์ เพิ่มวอลลุ่มระหว่างประเทศ

แม้ว่าสหรัฐฯ และจีนได้เห็นพ้องที่จะระงับการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariffs) ระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นเวลา 90 วัน แต่ก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน และเพียงแค่สหรัฐฯ และจีนทำสงครามภาษีกัน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สินค้าจีนก็ทะลักเข้าไทยเพิ่มขึ้น 28%

จับตาสงครามภาษี

แม้ว่าไตรมาสแรก 1/2025 ไปรษณีย์ไทย จะมีรายได้รวม 5,945.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.83% กำไรสุทธิอยู่ที่ 534.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 227% แต่ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ก็ยังไม่กล้าฟันธงว่าปีนี้ ไปรษณีย์ไทยจะเติบโตมีกำไรหรือไม่ เนื่องจาก ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ

เพราะหากผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบจากไปรษณีย์ไทยก็มีความเสี่ยง โดยเฉพาะในส่วนของ CROSS BORDER ซึ่งปีที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยมีรายได้จากส่วนนี้ประมาณ 2,100 ล้านบาท แต่ปัจจุบันยอดการส่งออกไปต่างประเทศ ลดลง 10% และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่ารายได้ส่วนนี้จะเติบโตหรือลดลง

“เพราะภาษีจะทำให้ทราฟฟิกทั้งโลกเปลี่ยน จากเดิมไปอเมริกา 100 ชิ้น อาจไปอเมริกา 20 ชิ้น อีก 80 ชิ้นไปประเทศอื่น ดังนั้น ใครทำต้นทุนได้ดีสุดในอีก 80 ชิ้น ทำให้สินค้าจะไหลไปตรงนั้น ซึ่งเรามีการจับตาดูทุกเดือน ถ้าเรารีแอคไม่ทัน จำนวนสินค้าจะไหลออกไปหมด”

สินค้า CROSS BORDER 70% มาจากอีมาร์เก็ตเพลส

ดร.ดนันท์ เล่าว่า มูลค่าสินค้า CROSS BORDER ในไทยอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท โดย 70% เป็นสินค้าใน อีมาร์เก็ตเพลส ดังนั้น กลุ่มที่จะได้ผลกระทบก็คือ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย และสินค้าเหล่านี้ไม่ใช้บริการไปรษณีย์ไทย

“เราเห็นแล้วว่าจะมีการทะลักของสินค้า CROSS BORDER และอาจไม่ได้ใช้เรา เพราะมีขนส่งจากต่างประเทศที่คุยภาษาเดียวกัน ดังนั้น เราต้องการวอลลุ่มจากภายในประเทศส่งออกไปต่างประเทศ”

ปัจจุบัน ไปรษณีย์ไทยสามารถจัดส่งสินค้าได้ครอบคลุม 205 ปลายทาง 193 ประเทศ และกำลังเจรจากับพาร์ทเนอร์อีก 4-5 ราย เพื่อขยายไปในเส้นทางอื่น ๆ ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกา คือ 1 ใน 5 ประเทศปลายทางที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด ที่เหลือคือ ญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ และอิสราเอล

หนุน SMEs Go Inter ดันวอลลุ่ม

ดร.ดนันท์ ย้ำว่า ไปรษณีย์ไทยอยู่ได้หากมีการ ซื้อ-ขาย ดังนั้น ไปรษณีย์ไทยจึงต้อง ยกระดับ SMEs ไทย โดยร่วมมือกับ สภาเอสเอ็มอี เพื่อช่วยพัฒนาและยกระดับใน 8 ด้านหลัก ได้แก่

  • การเข้าถึงแหล่งทุน
  • ระบบชำระเงิน
  • ระบบขนส่ง
  • โครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ
  • กฎหมาย
  • ช่องทางอีคอมเมิร์ซ
  • การส่งเสริมองค์ความรู้และรวมกลุ่มผู้ประกอบการ

“บางทีไม่เกี่ยวกับเรา แค่เขาขายไม่ดี เขาก็ใช้เราลดลง ดังนั้น ธุรกิจเราอยู่ได้เมื่อเขาขายของได้ เราจึงต้องไปช่วย SMEs ให้เขามีศักยภาพในการขายของมากขึ้น เพราะเราไม่สามารถรอเป็นแค่คนรับของไปส่ง เราต้องขับเคลื่อน SMEs ให้สร้างวอลลุ่มให้ได้จริง”

ย้ำ สู้คู่แข่งด้วยคุณภาพ

แม้จะมีความไม่แน่นอนที่จะกระทบกับบริการส่งออกพัสดุไปต่างประเทศ แต่ไปรษณีย์ไทยยังเป็น เบอร์ 1 โดยมีส่วนแบ่งตลาด 30% รองลงมาคือ Flash Express (27%) และ J&T อยู่ที่ 23% โดย ดร.ดนันท์ ย้ำว่า ไปรษณีย์ไทยยังแข็งแรงเพราะแข่งที่คุณภาพ สะท้อนได้จากจำนวนพัสดุ และรายได้ โดย รายได้ต่อชิ้นสูงขึ้น 10% โดยเฉลี่ย ในขณะที่วอลลุ่มก็สูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าลูกค้ายินดีจะจ่ายแลกกับคุณค่าที่ได้

“ตอนแรกเรายังต้องลงราคาบ้างในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่เราก็ทำควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์ ซึ่งไม่ใช่แค่การเปลี่ยนโลโก้ ชุดยูนิฟอร์ม แต่เป็นเรื่องบริการ คุณภาพ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจ ไว้วางใจ ส่งผลให้ความไว้วางใจของแบรนด์สูงถึง 97% และยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อบริการที่มั่นใจได้”