มาร์เก็ตติ้ง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 13 May 2024 12:37:47 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิด 4 กลยุทธ์พิชิตใจ ในยุคที่คนไทยเกินครึ่ง ‘ขี้เบื่อ’ https://positioningmag.com/1473089 Fri, 10 May 2024 10:26:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1473089 เคยคิดไหมว่าทำไม ผู้บริโภค ยุคนี้ทำไม เบื่อง่าย กันจัง คำตอบง่าย ๆ ก็คือ ตัวเลือกที่มากขึ้น ทั้งจากจำนวนแบรนด์ ช่องทางการจำหน่าย และช่องทางการรับข้อมูล ที่มีมากขึ้น เมื่อผู้บริโภคพบเห็นได้ง่ายมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคก็อยากจะลองอะไรใหม่ ๆ ไม่สิ้นสุด

คนไทย 50% ขี้เบื่อ!

จากการวิจัย การตลาดของคนขี้เบื่อ “Turn Bore To Beat เจาะลึกอินไซต์พิชิตใจคนขี้เบื่อ” โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,019 คน ใน 4 ช่วงอายุ ได้แก่ Gen Z, Gen Y, Gen X และ Baby Boomers พบว่า

กว่า 50% ของคนไทยขี้เบื่อ และมีกลุ่มคนที่เบื่อมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ที่เรียกว่า เบื่อเท่าจักรวาล (10.5%) ส่วนมากเป็นเพศผู้หญิง และ เบื่อเท่าฟ้า (41.6%) ส่วนมากเป็นเพศชาย และเมื่อแบ่งตามเจนเนอเรชั่นพบว่า Gen Z ขี้เบื่อมากที่สุด ตามด้วย Gen Y และ Gen X 

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า 1 ใน 3 หรือ 31.1% ของคนไทยเป็นคน แสวงหาความหลากหลายสูง (High Variety Seeking) โดย เพศชาย และ Gen X เป็นกลุ่มที่หามองความหลากหลายมากที่สุด ตามด้วย Baby boomer และ Gen Y

จากทั้งความขี้เบื่อและพฤติกรรมแสวงหาความหลากหลายสูง ส่งผลให้การ เปลี่ยนแบรนด์ (Brand Switching) ของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม แต่ละ Gen ก็มีพฤติกรรมการเปลี่ยนแบรนด์ที่ต่างกัน โดย 43% จะเลือกเปลี่ยนไปใช้ แบรนด์ที่คุ้นเคย หรือแบรนด์ที่รู้จัก คุ้นตา มั่นใจ เชื่อถือได้ ส่วนใหญ่จะเป็น Gen Z และเป็น เพศชาย มากที่สุด 

อีก 37% เลือกเปลี่ยนไปใช้ แบรนด์ใหม่ที่ไม่เคยรู้จัก โดยอาจจะเลือกจากการตลาดที่น่าสนใจ และมีสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการแม้จะไม่เคยรู้จักกับแบรนด์มาก่อน ส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้เป็น Gen X และเป็น เพศหญิง มากที่สุด ที่เหลืออีก 20% เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเปลี่ยในทิศทางไหน

“Gen Z มักจะเปลี่ยนแบรนด์ไปตามกระแส ดังนั้น จึงไม่แปลกหากจะเปลี่ยนไปหาแบรนด์ที่เคยได้ยินชื่อหรือรู้จัก แต่ Gen X จะเน้นที่ความคุ้มค่าเป็นหลัก ดังนั้น อาจไม่เคยรู้จักแบรนด์ แต่ถ้าตอบโจทย์ความต้องการได้ก็พร้อมเปลี่ยน”

แต่ละเพศมีกิจกรรมแก้เบื่อที่ต่างกัน

กิจกรรมแก้เบื่อหลัก ๆ จะมี 4 กิจกรรม ได้แก่

  • ดูสื่อบันเทิง : ส่วนใหญ่ชอบดูหนังแอคชั่น ซีรีส์ และการ์ตูน เฉลี่ยการรับชม 4 วัน/สัปดาห์ วันละ 2 ชั่วโมง แพลตฟอร์มยอดนิยมคือ Netflix 
  • เล่นโซเชียลฯ : เพราะเสพง่าย ได้รู้ข้อมูลใหม่ ๆ ไม่ตกเทรนด์ เน้นเสพคอนเทนต์บันเทิง ไม่ชอบความรุนแรงหรือหยาบคาย ใช้งานเฉลี่ยวันละ 1 ชั่วโมง แพลตฟอร์มยอดนิยม ได้แก่ TikTok, YouTube และ Instagram
  • หาของกิน : เพราะรู้สึกว่าทานของอร่อยแล้วมีความสุข ส่วนใหญ่ชอบทานของหวาน เช่น ชานมไข่มุก ช็อกโกแลต และชา กาแฟ มักหารีวิวจาก TikTok และ Twitter
  • ฟังเพลง : ทำให้ผ่อนคลาย เหมือนได้ทำกิจกรรมไปในตัว และ 67% ยอมจ่ายพรีเมียม นิยมฟังผ่าน YouTube และ Spotify เฉลี่ยใช้เวลาวันละ 15 นาที – 1 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกตามเพศพบว่าจะมีวิธีการแก้เบื่อที่แตกต่างจาก 4 วิธียอดนิยม ได้แก่

  • ผู้ชาย : จะชอบ ออกกำลังกาย แก้เบื่อ
  • ผู้หญิง : จะ ช้อปปิ้ง เพื่อแก้เบื่อ 
  • LGBTQ+ : จะชอบ พบปะสังสรรค์เพื่อน เพื่อพูดคุย อัปเดตชีวิต คลายความเบื่อ

4 กลยุทธ์ รับมือรับความขี้เบื่อคนไทย

การที่ผู้บริโภคขี้เบื่อและไม่ยึดติดกับแบรนด์ เป็นได้ทั้งความเสี่ยงและโอกาส เสี่ยงที่จะเสียลูกค้า และเป็นโอกาสของแบรนด์ที่จะแย่งลูกค้า ดังนั้น ทาง CMMU ได้แนะนำกลยุทธ์ BEAT สำหรับรับมือผู้บริโภคไทยที่หน่ายเร็ว ดังนี้

  • Be Specific : ลงลึกศึกษาพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสื่อสารให้ตรงจุด รวมทั้งต้องสร้างการรับรู้ว่าสินค้าของเราสามารถเชื่อมโยงกับกิจกรรมที่กลุ่มเป้าหมายนิยมทำบ่อย ๆ ในเวลาเบื่อ
  • Extremely appealing : เพราะผู้บริโภคไม่ชอบให้ยัดเยียด ดังนั้น ต้องทำแบรนด์ให้เป็นเหมือนเพื่อนสนิท และต้องชูจุดเด่น สร้างเอกลักษณ์ เพื่อดึงดูดและเป็นที่จดจำของผู้บริโภค
  • Amazed emotion : สร้างกิจกรรมให้ลูกค้ามีส่วนร่วมกับแบรนด์ เช่น ทำ challenge ให้เกิด User – Generated Content (UGC) หรือ Personalize Marketing เช่น ให้ลูกค้าออกแบบสินค้าที่เฉพาะตัวลูกค้า
  • Too fun to stop : แบรนด์ต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ขยันออกสินค้าใหม่ ๆ ตามเทรนด์เสมอ มีการคอลแลปกับแบรนด์อื่น ๆ สื่อสารอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ แบรนด์ควรดูแลลูกค้าโดยการทำ CRM เพราะข้อมูลลูกค้าสำคัญมาก เพื่อใช้ในการทำการตลาด

สำหรับตัวอย่างของกลยุทธ์ที่น่าสนใจที่แต่ละแบรนด์ใช้มัดใจคนขี้เบื่อ อาทิ แบรนด์รองเท้า Croc ที่ให้ลูกค้าเลือกเปลี่ยน Jibbitz ได้ตามใจชอบ ทำให้ได้รองเท้าที่มีเฉพาะของเราคนเดียว หรืออย่าง กำไลข้อมือ Pandora ที่สามารถเลือก Charm มาตกแต่งได้ตามสไตล์ที่ต้องการ ก็ทำให้ลูกค้ารู้สึกไม่เบื่อ เพราะปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ตามต้องการ

หรืออย่างบางแบรนด์ก็เพิ่มกิจกรรมให้กับลูกค้าเพื่อใช้เวลากับแบรนด์มากขึ้น เช่น H&M ที่เปิดห้องคาราโอเกะ หรือ ไทยกูลิโกะ ที่เปิด Pocky Cafe เพื่อเพิ่มยอดขาย เปิดไอเดียในการทานใหม่ ๆ และใกล้ชิดผู้บริโภคมากขึ้น ดังนั้น ร้านอาจเพิ่มกิจกรรมเพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น 

อย่าไงรก็ตาม แม้ผู้บริโภคจะขี้เบื่อหรือมักเปลี่ยนไปลองใช้แบรนด์ใหม่ ๆ แต่ถ้าแบรนด์ มีสินค้าหรือบริการที่ดีพอ ผู้บริโภคก็พร้อมจะใช้แบรนด์เดิม ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ การรักษาและควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการให้ดีอยู่เสมอ

]]>
1473089
จับเทรนด์ Micro Moments ความสุขเล็กๆ สู่ ‘Musicumentary’ กลยุทธ์ประกันยุคใหม่ของ FWD https://positioningmag.com/1330799 Fri, 07 May 2021 11:30:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1330799 ธุรกิจประกันเร่งพลิกโฉมภาพลักษณ์ สื่อสารเเบรนด์ให้เข้าถึงไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่มากขึ้น ผ่านการจับ ‘Micro Moments’ ความสุขเล็กๆ ใกล้ตัว เปลี่ยนจากความกลัว สิ่งที่ถูกมองว่ายุ่งยาก มาสร้างเเรงบันดาลใจ ให้ดูทันสมัยเเละน่าเชื่อถือ

ในอดีตเมื่อถามว่าความสุขของคุณคืออะไร หลายคนอาจมองไปถึงเป้าหมายใหญ่อย่างการมีบ้าน มีรถ เเต่งงาน มีการงานมั่นคง เเต่ทุกวันนี้ผู้คนเริ่มหาความสุขจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น อย่างการได้กินอาหารอร่อย ได้ดูซีรีส์ที่ชอบ นอนพักสบายๆ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ฯลฯ นี่จึงเป็นเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่เเบรนด์ทั้งหลายต้องเชื่อมโยงให้ได้

FWD บริษัทประกันชีวิตที่เข้ามาทำในตลาดไทยได้ราว 8 ปีเเละเพิ่งควบรวมกับ SCB Life ไปเมื่อปีที่ผ่านมา ขยับมูฟใหม่สร้าง brand awareness ด้วยการปล่อยแคมเปญเเรกของปี 2021 อย่าง ‘Celebrate living” ที่นำอินไซต์ของคนยุค New Normal มาสื่อสารให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

Micro moments เทรนด์ความสุขของผู้บริโภค 

FWD ได้ทำวิจัยทางการตลาดทั้งแบบเชิงคุณภาพและปริมาณกับกลุ่มตัวอย่างราวพันคน ในช่วงอายุระหว่าง 25 – 50 ปีทั่วประเทศไทย เพื่อหาคำตอบว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสุข เเละมุมมองที่พวกเขามีต่อประกันชีวิตเป็นอย่างไรในยุคโควิด-19

ผลวิจัยพบว่าสิ่งที่ทำให้คนในยุคนี้ มีความสุขและเดินหน้าต่อไปได้ คือความสุขเล็กๆ รอบตัวที่เรียกว่า ‘Micro moments’ ซึ่งเป็นความสุขจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำได้ทุกวัน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าเพลง เเละ ‘วิดีโอ’ ยังคงเป็นหนึ่งในสื่อ Entertainment ความบันเทิงหลักที่ผู้บริโภคคนไทยชื่นชอบและเข้าถึงได้ง่าย จึงเป็นที่มาของการนำเพลงมาเป็นสื่อกลางในการสื่อสารแบรนด์แคมเปญในครั้งนี้

-กว่า 70% ของคนที่สตรีมเพลงในไทย มีอายุเฉลี่ย 18-35 ปี เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของเเบรนด์ FWD
คนไทยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 9 ใน 10 คนชอบดูวิดีโอในเเพลตฟอร์มยูทูบ โดยใช้เวลารัชมสูงสุดเป็นอันดับ 8 ของโลก เเละครองอันดับ 1 ในอาเซียน

โดย FWD เลือกสื่อสารเเคมเปญผ่านรูปแบบ ‘Musicumentary’ นำเพลงและสารคดี มารวมกันถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของผู้คนจริงๆ เพื่อให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วม เเละรู้จักแบรนด์ได้ดียิ่งขึ้น

จดจำเเบรนด์ผ่าน ‘Musicumentary’ 

ปวริศา ชุมวิกรานต์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชนเล่าให้ฟังถึงการนำกลยุทธ์ ‘Musicumentary’ ที่มาจากคำว่า Music + Documentary มาสร้างเป็นภาพยนตร์โฆษณาที่เล่าเรื่องในรูปแบบสารคดี เชื่อมโยงกับ ‘Celebrate living’ เเละ ‘Micro moments’ ความสุขใกล้ตัว

เเคมเปญนี้ไม่มีการ casting นักแสดง เเต่เลือกเอาเรื่องราวจากผู้บริโภคตัวจริงมานำเสนอ เพราะปัจจุบันคนอยากเห็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริงของพวกเขา ถ่ายทอดเรื่องราวความสุข ผ่านความชอบที่หลากหลายและแตกต่างกัน เช่น สายกิน สายเที่ยว สายรักสุขภาพ ผสมกับการใช้บทเพลง เพื่อดึงความสนใจร่วมของคนไทย เชื่อมต่อระหว่างคนดูกับภาพยนตร์โฆษณาให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น

โดยในภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ ใช้เทคนิค Storytelling ที่เผยให้เห็นตั้งเเต่เบื้องหลังของการทำเพลง เส้นทางการพบเจอกันระหว่างทีมงานกับเจ้าของเรื่อง ที่มีทั้งครอบครัวที่เลี้ยงน้องหมา 16 ตัว เชฟหนุ่มผู้ชื่นชอบการนวด คุณป้าผู้หลงใหลในเสียงดนตรี คุณพ่อที่มีความสุขในการเลี้ยงลูก ฯลฯ

GEO Fencing ส่ง ads สู่กลุ่มเป้าหมายตามไลฟ์สไตล์

นอกเหนือจากการทำโฆษณาให้เชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ผู้คนเเล้ว ‘ช่องทางการสื่อสารการตลาดก็สำคัญไม่เเพ้กัน FWD เน้นไปยังสื่อออฟไลน์และออนไลน์ ทั้งสื่อโทรทัศน์, วิทยุ, Out of Home, ป้ายโฆษณาดิจิทัล ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างจังหวัด รวมไปถึง Entertainment Platform อย่าง LINE TV และ Viu เป็นต้น 

สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการนำเทคโนโลยี ‘GEO Fencing’ มาใช้เป็นกลยุทธ์โฆษณาแบบใหม่ โดยเลือกป้ายโฆษณาดิจิทัลใน Strategic location กว่า 31 จุดทั่วกรุงเทพฯ ‘แบ่งตามความสนใจของคนเพื่อส่ง Online ads ที่ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายนั้น เป็นการตลาดเเบบ Personalized ที่เชื่อมต่อไลฟ์สไตล์ของผู้คนจากออฟไลน์สู่ออนไลน์

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่าน KOL และ Influencer เพื่อร่วมกันถ่ายทอดมุมมองความชอบในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

สำหรับตลาดประกันในช่วงนี้ การเเพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 มีส่วนทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพเเละตัดสินใจซื้อประกันมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้ามองหามากที่สุด คือกลุ่มสุขภาพ

โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อจับตลาดนี้โดยเฉพาะ อย่าง OPD คุ้มครบ จบหายห่วง เเละ FWD Precious CARE แผนคุ้มครองสุขภาพเหมาจ่าย พร้อมขยายความคุ้มครองลูกค้าที่แพ้วัคซีนโควิด-19 ด้วย

ในช่วงที่ผู้คนมีกังวลในความไม่เเน่นอนของโรคระบาด เราหวังว่าเเคมเปญ Celebrate living จะเป็นการส่งต่อพลังบวกให้มีความสุขกับ Micro moments เล็กๆ น้อยๆ ควบคู่ไปกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งในปีนี้จะมีเเคมเปญอื่นๆ ตามมาอีกเเน่นอน เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายการเปลี่ยนมุมมองของผู้คนมีต่อธุรกิจประกันชีวิต

 

 

]]>
1330799
กรณีศึกษา : ทำการตลาด CRM เชื่อมใจด้วย Virtual Concert อย่างไร เมื่อลูกค้ากลุ่มใหญ่เป็นวัย 40+ https://positioningmag.com/1304439 Tue, 10 Nov 2020 16:30:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1304439 การสร้างเเละรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) ในช่วงวิกฤต COVID-19 กลายเป็นความท้าทายใหม่” ในการทำตลาดของเเบรนด์ต่างๆ ไปเเล้ว เมื่อโรคระบาดทำให้เกิดการเว้นระยะห่าง” จากกลุ่มผู้บริโภค

ผู้คนใช้ชีวิตประจำวันบนโลกออนไลน์มากขึ้น ทั้งการช้อปปิ้ง สั่งอาหารเดลิเวอรี่ ทำงานเเบบ Work from Home รวมไปถึงการดูหนัง ฟังเพลง ชมคอนเสิร์ตเเบบเสมือนจริง หรือ Virtual Concert

เราได้เห็นหลายเเบรนด์ ปรับรับการตลาดยุคใหม่ด้วย “คอนเสิร์ตออนไลน์สร้างเเคมเปญต่างๆ เพื่อสื่อสารกับลูกค้ามีทั้งเเบบชมฟรีและเสียเงินบ้าง เเต่ก็ได้รับเสียงตอบรับดี เพราะผู้คนต้องการความบันเทิงเพื่อคลายเครียดจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่

การที่เเบรนด์ทำ Virtual Concert กับลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่นั้นทำได้ง่ายเเละเข้าถึงไม่ยากนัก เพราะมีความคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีเเละโซเชียลมีเดียอยู่เเล้ว เเต่ถ้าคุณเป็นเเบรนด์ที่มีฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นวัย “40+” เเล้วล่ะก็…อาจจะต้องคิดหลายตลบทีเดียว

เมื่อเร็วๆ นี้ “อลิอันซ์ อยุธยา” เพิ่งจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งเเรกของบริษัท หลังให้บริการในไทยมากว่า 69 ปี (เริ่มปีพ.ศ. 2494) ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า ลูกค้าประกันชีวิตมักจะเป็นวัยทำงานเเละชาวสูงวัยทั้งหลาย การที่เเบรนด์อยู่มานานมาก อายุเฉลี่ยของลูกค้าที่เติบโตไปด้วยกันจึงทะลุ 40 อัพ

ความท้าทายในการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ เพื่อเชื่อมใจลูกค้าครั้งนี้ “ไม่ง่าย” อย่างไร…เรามาหาคำตอบกัน

พัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารงานลูกค้าประจำประเทศไทยของ อลิอันซ์ อยุธยา บอกเล่าถึงประสบการณ์การจัด Virtual Concert ครั้งนี้ให้ฟังว่า

“พอมี COVID-19 ผู้คนต้องทำงานที่บ้านกัน 2-3 เดือน เรารู้สึกว่าเราห่างจากลูกค้าพอสมควร จึงน่าจะมีกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนานเเละความใกล้ชิดกับลูกค้า เเม้จะอยู่ที่บ้านกันได้” 

โดยก่อนที่จะมีการจัด Virtual Concert ครั้งนี้ บริษัทก็มีการจัดส่งบัตรกำนัลต่างๆ รวมไปถึงส่วนลดค่าจัดส่งฟู้ดเดลิเวอรี่ให้ลูกค้าเป็นระยะๆ เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ในช่วงเวลานั้น โดยสิ่งสำคัญคือทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า…

อยู่กับพวกเขาตลอดเวลา” 

เราเป็นมากกว่าคนขายประกัน ไม่ได้เจอกันเเค่ตอนเก็บเบี้ย

การตัดสินใจจัด Virtual Concert เป็นครั้งเเรกของอลิอันซ์ฯ เกิดขึ้นจากโจทย์ที่ว่า นอกจากจะจัดเเคมเปญทำให้ลูกค้าเรามีความสุขเเล้ว จะทำอย่างไรให้พวกเขามีความสุขกันทั้งบ้านได้

ทางบริษัทจึงได้ไปปรึกษากับพล หุยประเสริฐ นักออกแบบคอนเสิร์ตชื่อดังว่า จะมีการจัดเเสดงเเบบไหนได้บ้างที่เข้าถึงผู้คนได้ทั้งครอบครัว

เหล่านี้นำมาสู่เหตุผลของการเลือกศิลปินที่จะมาเล่นในคอนเสิร์ตออนไลน์ Together Sunday โดยจะต้องเป็นไลน์อัพที่ดึงดูดคน “หลากหลายเจเนอเรชั่นที่มีทั้งพ่อเเม่ ลูกเเละญาติผู้ใหญ่ในบ้านไว้ได้

ในที่สุดก็ได้ 5 ศิลปินที่มีฐานเเฟนคลับของเเต่ละช่วงวัยมารวมกันในคอนเสิร์ตเดียว ได้แก่ แสตมป์ อภิวัชร์
นนท์ ธนนท์ , ปาล์มมี่ , เจ เจตรินและเจ้านาย โดยมีการคุยรายละเอียดเเละเตรียมงานกันถึง 2 เดือน

กลุ่มลูกค้าหลักๆ ของอลิอันซ์ อยุธยา มีอายุระหว่าง 35-44 ปี จะอยู่ที่ราว 25% เเละกลุ่มอายุ 45-54 ปีจะอยู่ที่ราว 24% รวมกันเเล้วจะเห็นว่ากว่าครึ่งหนึ่งของลูกค้าทั้งหมดมีอายุอยู่ในช่วง 35-54 ปี เพราะบริษัทดำเนินกิจการมากว่า 60 ปี มีลูกค้าราว 1 ล้านกว่ารายลูกค้าส่วนใหญ่จึงเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาพร้อมๆ กับบริษัทนั่นเอง

ความท้าทายจึงเกิดขึ้นในกระบวนการกิจกรรมการตลาดเนื่องจากกลุ่มคนอายุ 40+ อาจจะไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีการชมคอนเสิร์ตแบบ Virtual มากนัก

บริษัทจึงต้องงัดกลเม็ดต่างๆ มาใช้ในการเชิญชวนให้เกิดการลงทะเบียน และการเข้าชมในวันจริง โดยมีการชวนทำ Challenge ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าชมช่วยเหลือ เเละอธิบายขั้นตอนอย่างละเอียด เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ารู้สึกอยากเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ

การสื่อสารกับลูกค้าสำคัญมาก ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนวันจริง ต้องตั้งทีมไว้ดูเเลโดยเฉพาะ หากลูกค้าไม่เข้าใจระบบต่างๆ สามารถส่งคำถามเข้ามาได้ทันที ทั้งช่องทางคอลเซ็นเตอร์ อีเมลเเละ Facebook ซึ่งทีมจะได้รับการเทรนนิ่งอย่างดีให้อธิบายกับลูกค้าได้ สอนวิธีการใช้ได้ รวมถึงมีการให้ตัวเเทนมาลองเทสต์การใช้ก่อนเเล้วนำไปบอกต่อกับลูกค้าในเครือข่ายของเขา

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับศิลปินใน Virtual Concert ยังเป็นหัวใจสำคัญ ที่นำมาสู่การตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ทั้งเเอปพลิเคชันในการถ่ายทอด เเละการเลือก AR, VR ที่เหมาะสม เพื่อการมีส่วนร่วมของคนดูมากที่สุด

สิ่งที่เรากังวลคือ ทำอย่างไรคนจะนั่งดูผ่านหน้าจอได้ยาวถึง 3 ชั่วโมง โดยที่ไม่เบื่อไปเสียก่อน จึงการมีคิดกิมมิกเป็นคอนเสิร์ตแบบ Interactive ให้นักร้องกับแฟนเพลงโต้ตอบกันได้ เสมือนอยู่ในคอนเสิร์ตจริงๆ การได้เห็นท่าทางสีหน้าระหว่างกันจึงสำคัญมาก เราจึงเลือกการจัดผ่าน Zoom มากกว่า Facebook Live”

โดยใน Together Sunday Live Online Concert มีการเเสดงสดผ่านแอปพลิเคชัน ZOOM เป็นหลัก (เเต่ก็มีช่องทาง Facebook Live ในกรุ๊ป Private รองรับกรณีที่ลูกค้ามีปัญหาเข้าไม่ได้) นำเสนอการทำงานของเทคโนโลยี AR สร้างกราฟิกคอนเสิร์ตในรูปแบบ 3 มิติสุดล้ำ มาพร้อมใส่ลูกเล่นการชูป้ายไฟแบบเวอร์ชวล การพูดคุย ร่วมร้องเพลงด้วยกัน มีกิจกรรมเเจกเสื้อของขวัญส่งกำลังใจให้กันเเละกันในทุกช่วงศิลปิน

ศิลปินเเต่ละคนก็จะมีลูกเล่นของตัวเอง อย่างเช่นคุณแสตมป์ ก็จะมีการแปลงเนื้อเพลงสร้างเสียงฮา เเละให้ผู้ชมร่วมวาดรูปครอบครัวตัวเองมาโชว์ให้ดู เเม้คอนเสิร์ตจะยาวเกือบ 3 ชั่วโมง เเต่เราไม่รู้สึกว่ามันมีช่วงเบื่อเลย เพราะศิลปินทั้ง 5 คนก็จัดโชว์ได้หลากสไตล์ มีการดึงดูดใจคนดูได้เเตกต่างกัน

สำหรับการจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ มีการใช้เครื่องมือดิจิทัลความบันเทิงอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้ระหว่างศิลปินและผู้ชมมี “Engagement” รู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น ทั้งการใส่ลูกเล่นหรือ Gadget ต่าง ๆ เช่น การแพนกล้องเข้าหาศิลปินหลายหลายมุม การสร้างฉากด้วยกราฟิกภาพสามมิติ เน้นให้ผู้ชมได้พูดคุยกับศิลปินที่ชื่นชอบ

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ชมสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเฉพาะงาน อย่าง Together Sunday เพื่อร่วมส่งสติกเกอร์รูปหัวใจ ส่งกำลังใจผ่านป้ายไฟชื่อศิลปินหรือส่งข้อความไปให้ศิลปิน ที่กำลังแสดงอยู่ผ่านหน้าจอแบบเรียลไทม์

โดยจะมีทีมงานคอยเชียร์และไกด์ผู้ชมให้ร่วมสนุกอยู่เรื่อยๆ ให้คำแนะนำปรึกษาการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าสู่เครื่องมือในการชมคอนเสิร์ต โดยไม่สะดุดเตรียมพร้อมรับคำถามที่จะเกิดขึ้นระหว่างการรับชม

แสตมป์อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุขเล่าถึงการเตรียมตัวเพื่อมาโชว์ใน Together Sunday Live Online Concert ครั้งนี้ว่า มีการเตรียมตัวเป็นพิเศษทั้งการจับจังหวะการเคลื่อนตัวบนเวทีเพื่อให้รองรับกับมุมกล้องและลูกเล่นต่าง ๆ ที่ออกแบบไว้ การเล่นกับ Gadget ต่าง ๆ เพื่อมีสมาธิกับการโชว์เพิ่มมากขึ้น ได้ใช้จินตนาการในการคาดการณ์ปฏิกิริยาของผู้ชม และถึงแม้จะไม่ได้เห็นคนดูแบบคอนเสิร์ตปกติ แต่การมีเทคโนโลยี AR ก็ทำให้ศิลปินเห็นปฏิกิริยาคนดูผ่านจอได้ เกิดความรู้สึกอบอุ่นไม่ต่างกัน กลับเป็นความรู้สึกสนุกและท้าทายที่ได้ทำสิ่งใหม่

นับเป็นการเปิดประสบการณ์เเละเรียนรู้สิ่งใหม่ๆในการชมคอนเสิร์ตยุค New Normal ไปด้วยกันทั้งผู้จัดผู้ชมทีมงานเเละศิลปิน

อีกหนึ่งสิ่งที่นับว่าเป็นบทเรียน ที่ได้จากการจัด Virtual Concert ครั้งเเรกของอลิอันซ์ฯ คือ ยอดผู้ลงทะเบียนก่อนเข้างานมีสูงถึง 7 พันคน เเต่วันจริงมีผู้เข้าร่วมราว  2 พันกว่าคน

“Virtual Concert ใช้เวลาเตรียมการเยอะกว่าที่คิด เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้เหมือนกันว่า การคอนเสิร์ตเเบบเสมือนจัดในวันอาทิตย์ตอนบ่ายมีผู้คนส่วนหนึ่งต้องเดินทาง ไม่ได้อยู่บ้าน หรือเลือกไปทำกิจกรรมพักผ่อนอย่างอื่นเเทน บางส่วนมีความตั้งใจอยากดูจึงลงทะเบียนไว้ก่อน เเต่พอไม่ใช่คอนเสิร์ตเเบบปกติที่ต้องตั้งใจดูมากๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายของเรา

อลิอันซ์ฯ มองว่าการจัด Virtual Concert ได้ผลลัพธ์ที่เกินคาดในด้านการสร้าง Awareness การขยายการรับรู้ไปยังครอบครัวเเละคนใกล้ชิดของกลุ่มลูกค้า ส่วนคนดูมีส่วนร่วมเเละพึงพอใจ โดยมีการให้คะเเนนถึง 4.8 จากเต็ม 5 คะเเนนเเละส่วนใหญ่มีข้อเสนอเเนะให้มีการจัดกิจกรรมเช่นนี้อีก

โดยกลยุทธ์ CRM ต่อไป เมื่อสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยคลี่คลายลงเเล้ว ผู้บริหารอลิอันซ์ฯ บอกว่า จะเป็นในรูปแบบผสมออฟไลน์ออนไลน์เเบ่งไปตามกลุ่มเป้าหมายที่เเตกต่างกัน หากเป็นการจัดเเสดงคอนเสิร์ตก็ต้องมีทั้ง 2 อย่างคือ ให้ผู้คนได้ดูในโชว์จริงเเต่ต้องมีการจัดการที่ดีเเละเว้นระยะห่าง ส่วนใครที่สะดวกทาง Virtual Concert ก็ดูได้ทันทีไปพร้อมๆ กัน

การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้คนตื่นตัวมาซื้อประกันสุขภาพกันมากขึ้น ตัวเเทนฯ ก็ต้องมีการปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีเร็วขึ้นเช่นกัน ทั้งการขายผ่านวิดีโอคอล ใช้เเอปพลิเคชัน กรอกใบสมัครออนไลน์ โดยกว่า 85% ของตัวเเทนผู้ขายประกันทั้งหมดของอลิอันซ์ฯ ใช้ iPad เเละเเท็บเล็ตในการนำเสนอขายกับลูกค้า

พฤติกรรมของผู้ซื้อประกันก็เปลี่ยนไป หันมาชอบการทำกิจกรรมโดยผ่านเเอปพลิเคชันมากขึ้น ไม่อยากมาที่สำนักงานเเล้ว

เมื่อผู้บริโภคปรับ…เเบรนด์ต้องเปลี่ยน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาของการตลาดเเบบ CRM เพื่อเข้าหาลูกค้าทางออนไลน์ ไม่ให้รู้สึก “ห่างกัน” เเม้ในยามที่เราต้อง “เว้นระยะห่าง” ได้ดีทีเดียว 

 

 

]]>
1304439