ย้ายฐานการผลิต – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sun, 06 Aug 2023 08:46:49 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 อินเดียประกาศควบคุมการนำเข้า PC และ Laptop รวมถึง Tablet เพื่อผลักดันการผลิตในประเทศ https://positioningmag.com/1439741 Thu, 03 Aug 2023 14:56:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1439741 รัฐบาลอินเดียส่งมาตรการยาแรงออกมา โดยล่าสุดประกาศควบคุมการนำเข้า PC และ Laptop รวมถึง Tablet เพื่อผลักดันการผลิตในประเทศ และต่อยอดแผนการที่จะเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตสินค้าสำคัญของโลกหลังจากนี้ และยังรวมถึงเหตุผลด้านความมั่นคงด้วย

สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวว่า รัฐบาลอินเดียเตรียมที่จะควบคุมการนำเข้า PC และ Laptop รวมถึง Tablet โดยที่ผู้นำเข้าจะต้องขออนุญาตกับรัฐบาล โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลทันที ซึ่งจะกระทบกับผู้ผลิตหลายรายไม่ว่าจะเป็น Samsung หรือแม้แต่ Apple รวมถึง Dell เป็นต้น

มาตรการดังกล่าวนี้จุดประสงค์สำคัญคือรัฐบาลอินเดียต้องการที่จะผลักดันให้มีการผลิตสินค้าอย่าง PC และ Laptop รวมถึง Tablet ภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น

แผนการนี้ยังเป็นกุญแจสำคัญสู่ความทะเยอทะยานของอินเดียที่ต้องการจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าสำคัญ รวมถึงเป็นแหล่ง Supply Chain ของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในระดับโลก โดยอินเดียตั้งเป้าหมายการผลิตต่อปีที่มีมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2026

ขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าวนี้รัฐบาลอินเดียยังให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีรวมกันมากถึง 2,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าหากผู้ผลิตย้ายกำลังการผลิตมาภายในประเทศก่อนวันที่ 30 สิงหาคมนี้

กฎระเบียบปัจจุบันของอินเดียนั้นอนุญาตให้บริษัทต่างๆ นำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าวข้างต้นได้อย่างอิสระ แต่กฎใหม่กำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ซึ่งข้อกำหนดนี้คล้ายคลึงกับข้อจำกัดที่อินเดียบังคับใช้ในปี 2020 สำหรับการนำเข้าโทรทัศน์

ตัวเลขการนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของอินเดีย ซึ่งรวมถึง PC และ Laptop รวมถึง Tablet อยู่ที่ 19,700 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขดังกล่าวเติบโต 6.25% เมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ผ่านมา

ในช่วงที่ผ่านมาอินเดียได้ผลักดันการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ สอดคล้องกับผู้ผลิตสินค้าไม่ว่าจะเป็น Apple ที่เริ่มย้ายกำลังการผลิตจากประเทศจีนออกมา เนื่องจากต้องการความยืดหยุ่นด้าน Supply Chain หลังจากที่ประสบปัญหาการผลิตหยุดชะงักในแดนมังกรช่วงที่ผ่านมา

มาตรการดังกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่มากนัก ก่อนหน้านี้อินเดียเคยได้กำหนดอัตราภาษีศุลกากรสูงสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ เพื่อที่จะกระตุ้นการผลิตในประเทศมาแล้ว

นอกจากนี้ Reuters ยังรายงานว่ามาตรการดังกล่าวยังเกี่ยวยังกับประเด็นด้านความมั่นคงเนื่องจากสินค้าอย่าง PC และ Laptop รวมถึง Tablet นั้นผลิตในประเทศจีนเป็นสัดส่วนที่สูง ทำให้อินเดียต้องออกมาตรการดังกล่าวออกมาเพื่อที่จะสร้างความปลอดภัยจากสินค้าต่างๆ

อย่างไรก็ดีการประกาศมาตรการดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบต่อผู้นำเข้าสินค้า เนื่องจากถ้าหากผู้นำเข้าจะต้องใช้เวลาที่หน่วยงานรัฐจะไฟเขียวให้สามารถนำเข้าสินค้าเข้าในประเทศได้ โดยอินเดียจะไฟเขียวให้ผู้นำเข้าสินค้าไม่ต้องขออนุญาตกับรัฐบาลจนถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้เท่านั้น

Note: ล่าสุดอินเดียประกาศเลื่อนการขออนุญาตนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าวออกไปเป็นเดือนตุลาคมแล้ว

]]>
1439741
‘Foxconn’ ทุ่มงบเพิ่ม 1.75 หมื่นล้าน สร้าง 2 โรงงานผลิตชิ้นส่วนสินค้า Apple ใน ‘อินเดีย’ https://positioningmag.com/1439479 Wed, 02 Aug 2023 02:31:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1439479 ถึงจะแม้ว่าดีลการร่วมทุนมูลค่า 1.95 หมื่นล้านบาท ของ Foxconn ซัพพลายเออร์เจ้าใหญ่ของ Apple กับ Vedanta บริษัทผู้ผลิตน้ำมันและเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่จากอินเดีย เพื่อสร้าง โรงงานผลิตชิปและจอแสดงผล ในอินเดียจะต้องพับไป แต่ Foxconn ก็ยังมุ่งมั่นจะย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วน Apple จากจีนไปยังอินเดีย

ล่าสุด Foxconn กำลังวางแผนที่จะลงทุนเกือบ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.75 หมื่นล้านบาท) เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนประกอบ 2 แห่งในอินเดีย โดยโรงงานอย่างน้อยหนึ่งแห่งที่บริษัทไต้หวันมีแผนจะก่อสร้างอยู่ในรัฐกรณาฏกะทางตอนใต้ โดยจะผลิตชิ้นส่วนสินค้าของ Apple โดยเฉพาะสำหรับ iPhone

นอกจากนี้ Foxconn ยังได้ลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นกับ รัฐบาลรัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้เพื่อจัดตั้งโรงงานส่วนประกอบด้วยเงินลงทุน 195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.8 พันล้านบาท) โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมของรัฐคาดว่า โรงงานดังกล่าวอาจสร้างงานได้ถึง 6,000 ตำแหน่ง

สำหรับการลงทุนครั้งนี้ ถือเป็นการลงทุนเพิ่มเติมจากที่ Foxconn เคยลงทุน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างโรงงานบนพื้นที่ 300 เอเคอร์ใกล้กับสนามบินในเบงกาลูรู เมืองหลวงของรัฐกรณาฏกะ โดยโรงงานดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะประกอบ iPhone และคาดว่าจะสร้างงานประมาณ 100,000 ตำแหน่ง

ความเคลื่อนไหวของ Foxconn ในอินเดีย เน้นให้เห็นว่าประเทศอินเดียกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอย่างรวดเร็วสำหรับ บริษัทผู้ผลิตที่มองหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากจีน ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในซัพพลายเชนทั่วโลกที่เร่งตัวขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ฝันสลาย! ‘Foxconn’ ถอนการลงทุน ‘โรงงานผลิตชิป’ มูลค่า 1.9 หมื่นล้านใน ‘อินเดีย’

ปัจจุบัน ศูนย์ประกอบ iPhone ขนาดใหญ่ของ Foxconn ตั้งอยู่ในเมืองเจิ้งโจว เมืองเอกของมณฑลเหอหนานตอนกลาง และปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตอุปกรณ์แกดเจ็ตของ Apple ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพนักงานประมาณ 200,000 คน แต่ในปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิดในจีนนั้นยังรุนแรง ส่งผลให้การผลิตต้องหยุดชะงัก จึงส่งผลให้ Apple เริ่มมีความคิดที่จะไม่พึ่งพาจีนอีกต่อไป

โดยการตัดสินใจของ Foxconn ชี้ให้เห็นว่าเหล่าซัพพลายเออร์อาจย้ายกำลังการผลิตออกจากประเทศจีนเร็วกว่าที่คาดไว้มาก โดยปัจจัยหนุนมาจากการที่รัฐบาลอินเดียมองเห็นโอกาสที่จะใช้ช่วงที่จีนกำลังมีปัญหากับชาติตะวันตก เนื่องจากนักลงทุนและบริษัทจากชาติตะวันตกไม่พอใจต่อกฎระเบียบที่ผันผวนของรัฐบาลจีน เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และข้อจำกัดทางการค้าของสหรัฐฯ

Source

]]>
1439479
HP เตรียมย้ายกำลังการผลิตคอมพิวเตอร์บางส่วนออกจากจีนมายังไทย เวียดนาม เม็กซิโก https://positioningmag.com/1438039 Tue, 18 Jul 2023 06:16:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1438039 ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่จากสหรัฐอเมริกาอย่าง HP ล่าสุดได้เตรียมย้ายกำลังการผลิตสินค้าบางส่วนออกนอกประเทศจีน โดยย้ายมายังประเทศไทย เม็กซิโก เวียดนาม เนื่องจากต้องการให้ห่วงโซ่การผลิตของบริษัทไม่สะดุด

Nikkei Asia รายงานข่าวว่า HP ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ได้เตรียมย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย และประเทศเม็กซิโก และบริษัทยังเตรียมขยายกำลังการผลิตในประเทศอื่นๆ ในอาเซียน รวมถึงทั่วโลกหลังจากนี้

สื่อธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่นได้รายงานว่า HP ได้ทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ในการย้ายฐานการผลิตมายัง 2 ประเทศนี้ โดยในประเทศไทย HP เตรียมที่จะผลิต Laptop สำหรับตลาดผู้บริโภค ขณะที่ Laptop ที่จำหน่ายให้กับองค์กรต่างๆ จะใช้ฐานการผลิตที่เม็กซิโก นอกจากประเทศไทยแล้ว HP ยังเตรียมย้ายกำลังการผลิตมายังเวียดนามในช่วงปีหน้าด้วย

ในปีที่ผ่านมา HP ได้ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไปมากถึง 55.2 ล้านเครื่อง และในจำนวนดังกล่าวมีเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ผลิตนอกประเทศจีนอยู่ราวๆ 3 ถึง 5 ล้านเครื่อง

สำหรับประเทศไทยนั้นมีซัพพลายเออร์ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่หลากหลาย ทำให้ HP ตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานการผลิตอีกแห่ง ขณะที่เม็กซิโกถือเป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญในอเมริกาเหนือ และยังมีข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐอเมริกาและแคนาดา

ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดสำคัญของ HP เนื่องจากคำสั่งซื้อราวๆ 31% ขณะที่ตลาดในประเทศจีนนั้นมีสัดส่วนไม่ถึง 8% ของยอดขายของบริษัท เนื่องจากคู่แข่งอย่าง Lenovo รวมถึง Huawei ครองตลาดในประเทศจีนแทบเบ็ดเสร็จ

สาเหตุที่ทำให้ HP ต้องย้ายกำลังการผลิตบางส่วนออกนอกประเทศจีน บริษัทได้ให้เหตุผลเนื่องจากต้องการให้ห่วงโซ่การผลิตสินค้าของบริษัทมีความยืดหยุ่น เพื่อป้องกันการหยุดชะงักของภาคการผลิต และต้องการที่จะตอบสนองลูกค้าที่มีอยู่ทั่วโลก

นอกจากผู้ผลิตอย่าง HP แล้ว Dell ซึ่งเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่อีกรายก็ได้เตรียมที่จะย้ายกำลังการผลิต 20% ของสัดส่วนการผลิตทั้งหมดมายังประเทศเวียดนาม รวมถึงเปลี่ยนผ่านการผลิตสินค้าที่พึ่งพาชิปจากประเทศจีนด้วย ขณะที่ผู้ผลิตรายอื่น เช่น Apple เองก็ตั้งเป้าที่จะกระจายกำลังการผลิตไปยังเวียดนามหรืออินเดียด้วย

อย่างไรก็ดีบริษัทได้กล่าวว่ายังให้ความสำคัญกับฐานการผลิตในเมืองฉงชิ่งของจีนอยู่ โดยฐานการผลิตนี้เปิดตัวในช่วงปี 2008 และเป็นฮับในการผลิต Laptop สำคัญของบริษัทด้วย

ในช่วงทีผ่านมาบริษัทหลายแห่งได้เตรียมการที่จะย้ายฐานการผลิต หรือแม้แต่ย้ายกำลังการผลิตออกนอกประเทศจีน  หลังจากที่จีนได้ใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าทั่วโลก ตั้งแต่รถยนต์ ไปจนถึงของใช้ในชีวิตประจำวัน และยังรวมถึงความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจกระทบกับการทำธุรกิจหลังจากนี้ได้

]]>
1438039
‘Apple’ เร่งย้ายฐานผลิต MacBook ไป ‘เวียดนาม’ ให้ทันปีหน้า https://positioningmag.com/1413238 Tue, 20 Dec 2022 09:30:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1413238 ท่ามกลางความตึงเครียดด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และจีน บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสหรัฐฯ อย่าง Apple เลยต้องรีบเร่งย้ายฐานการผลิตสินค้าจากจีนไปยังประเทศอื่น ๆ โดยล่าสุด มีแหล่งข่าวได้เปิดเผยว่า Apple พยายามเร่งย้ายฐานการผลิตให้ทันปีหน้า

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า Apple ได้เร่งให้ Foxconn ซัพพลายเออร์สัญชาติไต้หวันเริ่มผลิต MacBook ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเร็วที่สุดภายในเดือนพฤษภาคม โดย Apple กำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มไซต์การผลิตนอกประเทศจีนสำหรับสายผลิตภัณฑ์หลักทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สำหรับ MacBook อาจต้องใช้เวลานานกว่าสินค้าอื่น ๆ เนื่องจากการผลิตคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปนั้นค่อนข้างมีความซับซ้อน

“สิ่งที่ Apple ต้องการในตอนนี้คือตัวเลือกในการออกจากประเทศจีน สำหรับการผลิตอย่างน้อยบางส่วนสำหรับผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัท อาทิ iPhones ที่ในอินเดียและ MacBook, Apple Watch และ iPad ที่ผลิตในเวียดนาม”

ที่ผ่านมา Apple ผลิต MacBook ได้ระหว่าง 20-24 ล้านเครื่องต่อปี โดยมีฐานการผลิตกระจายอยู่ในเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน และเซี่ยงไฮ้ของจีน แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา Apple กำลังดำเนินการที่จะย้ายฐานการผลิต MacBook บางส่วนไปยังเวียดนาม โดยล่าสุด Apple ได้เริ่มติดตั้งสายการผลิตในเวียดนามแล้ว

สำหรับการย้ายไปยังเวียดนาม ไม่ได้มาจากปัจจัยความตึงเครียดของสหรัฐฯ และจีนที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการหยุดชะงักของการผลิตที่เกิดจากนโยบาย Zero Covid ของจีนและความไม่แน่นอนจากการผ่อนคลายมาตรการอย่างกะทันหันในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

หนึ่งในจุดวิกฤตของปีนี้คือการที่โรงงานผลิต MacBook และ iPhone ในเซี่ยงไฮ้ต้องหยุดชะงักเนื่องจากการล็อกดาวน์ส่งผลให้การส่งมอบ iPhone 14 Pro และ 14 Pro Max ในช่วงเดือนพฤศจิกายนต้องชะงักลง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน เนื่องจากการระบาดของโควิด

การสูญเสียการไลน์การผลิต MacBook กำลังสะท้อนว่าจีนกำลังจะเสียตำแหน่ง โรงงานของโลก และไม่ใช่แค่ Apple แต่ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำอื่น ๆ อาทิ HP, Dell, Google และ Meta ต่างก็มีแผนที่สุดที่จะย้ายการผลิตและจัดหาสินค้าจากจีน นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มทำสงครามภาษีกับจีน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเซิร์ฟเวอร์ศูนย์ Data Center ของ Google, Meta, Amazon และ Microsoft ได้ย้ายไปที่ไต้หวัน เม็กซิโก หรือไทยแล้ว

“ตอนนี้ลูกค้าในสหรัฐฯ จำนวนมากต้องการทางเลือกอื่นสำหรับสถานที่ผลิตนอกประเทศจีน นี่เป็นแนวโน้มที่เร่งตัวอยู่แล้วสำหรับแบรนด์ระดับโลกเกือบทั้งหมด และไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผู้บริหารของ Inventec ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์รายสำคัญของ HP และ Dell กล่าว

ไม่ใช่แค่ MacBook แต่ Apple ยังได้ย้ายการผลิต iPad และ Apple Watch บางรุ่นไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ และตั้งเป้าที่จะเพิ่มผลผลิต iPhone จากอินเดียในปีนี้และปีหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนประเทศอินเดียให้เป็นฐานการผลิตที่สำคัญอีกแห่งสำหรับ iPhone นอกจากนี้ยังมีแผนการผลิตหูฟัง AirPods และ Beats ไปยังอินเดียอีกด้วย

]]>
1413238
Apple จะลดการพึ่งพาซัพพลายเชน “จีน” …ไม่ใช่เรื่องง่าย อาจต้องใช้เวลา 8 ปีเพื่อย้ายฐานผลิต https://positioningmag.com/1402837 Mon, 03 Oct 2022 05:26:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1402837 หากเป็นอุตสาหกรรมอย่างเสื้อผ้าหรือของเล่น การจะลดซัพพลายเชนใน “จีน” และย้ายฐานไปประเทศอื่นนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่เมื่อเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีการลงทุนในจีนมามากกว่า 2 ทศวรรษ ลงเงินไปหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การจะถอนตัวออกมาจึง “ไม่ง่าย” โดย Bloomberg Intelligence ประเมินว่า กว่าที่ Apple จะย้ายกำลังผลิตออกจากจีนได้สัก 10% ของการผลิตทั้งหมด ยังต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8 ปี

บริษัทอเมริกันมีหลายเหตุผลให้ย้ายฐานผลิตออกจากจีน ตั้งแต่การตั้งกำแพงภาษีระหว่างกันมาตั้งแต่ยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จนถึงนโยบายล็อกดาวน์ Zero-Covid ของจีน และยังมีความกดดันทางการเมืองระหว่างกันเพราะเกาะไต้หวันเพิ่มเข้ามาอีก

แต่การจะเลิกคบค้าสมาคมกันไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

Apple Inc. กำลังพยายามจะลดการพึ่งพิงจีน โดยเริ่มขั้นแรกไปแล้วด้วยการย้ายการผลิต iPhone 14 บางส่วนไปผลิตในอินเดีย รวมถึงซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของ Apple อย่าง Foxconn Technology Group ก็ตกลงที่จะขยายฐานการผลิตมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 11,000 ล้านบาท) ในเวียดนามแล้ว

อย่างไรก็ตาม Bloomberg Intelligence (BI) รายงานบทวิเคราะห์ว่า กว่าที่ Apple จะย้ายกำลังผลิตออกจากจีนได้สัก 10% ของการผลิตทั้งหมด ยังต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8 ปี โดยปัจจุบัน 98% ของ iPhone ถูกผลิตขึ้นในจีน

Photo : Shutterstock

ความพร้อมของซัพพลายเออร์ท้องถิ่น การขนส่งทันสมัยและมีประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและโทรคมนาคมที่พร้อมสรรพ ซัพพลายเชนที่เลียนแบบได้ยากเหล่านี้ ร่วมกับการลงทุนลงแรงของบริษัทเทคฯ อเมริกันมานานกว่า 2 ทศวรรษกับเม็ดเงินหลายหมื่นล้านเหรียญ ทำให้การก้าวขาออกจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกไม่ใช่เรื่องง่าย

มีหลายบริษัทอเมริกันที่เข้าไปลงทุนสร้างฐานผลิตในจีน เช่น Amazon, HP, Microsoft, Cisco Systems หรือ Dell แต่บริษัทที่ลงทุนมากที่สุดก็หนีไม่พ้น Apple ทำให้เป็นบริษัทที่ลดการผลิตในจีนได้ยากที่สุด

สำหรับบริษัทอื่นๆ “กรณีส่วนใหญ่” นั้น BI คาดว่าจะสามารถลดการผลิตในจีนลงได้ 20-40% ภายในปี 2030

 

สหรัฐฯ ผลักดันเต็มที่ให้ย้ายฐานออกจากจีน

แน่นอนว่าเหตุไม่คาดฝันอย่างการคว่ำบาตรซึ่งกันและกันระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตก กลายเป็นเหตุย้ำเตือน “ความเสี่ยง” ที่จะเกิดขึ้นหากบริษัทใดทุ่มลงทุนไปกับแหล่งเศรษฐกิจเพียงแห่งเดียว

ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ยังสานต่อแนวทางการทำสงครามเย็นทางเศรษฐกิจกับจีน โดยมีแนวนโยบายส่งเสริมให้บริษัทอเมริกัน ‘friend-shoring’ คือ ถ้าไม่ย้ายฐานผลิตกลับบ้านเกิดที่สหรัฐฯ ก็ขอให้ย้ายไปอยู่ในประเทศที่เป็นมิตรทางการเมือง โดยใช้ทั้งแรงจูงใจทางภาษีและเงินสนับสนุนจากรัฐให้ย้ายฐาน และกดดันด้วยกำแพงภาษี โควตาการส่งออก-นำเข้ากับจีน นโยบายนี้จึงยิ่งเป็นแรงหนุนให้บริษัทอเมริกันย้ายออกจากจีน

(Photo by Chip Somodevilla/Getty Images)

แรงหนุนเหล่านี้ยังไม่เกิดผลจริงในทันที เม็ดเงินของบริษัทอเมริกันที่ลงทุนโดยตรงในจีนสะสมอยู่ที่ 9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท) ณ สิ้นปี 2020 และแม้จะพูดกันเรื่องกระจายความเสี่ยง ไม่ลงซัพพลายเชนหลักไว้ในประเทศเดียว แต่ในปี 2021 บริษัทอเมริกันก็ยังลงทุนโดยตรงในจีนอีก 2,500 ล้านเหรียญ (ประมาณ 95,000 ล้านบาท) ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์แห่งประเทศจีน ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงอาจจะสูงกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะบางธุรกิจอาจจะใช้วิธีลงทุนผ่านทางบริษัทในฮ่องกงเพื่อเลี่ยงภาษี

อีกทั้งมิตรของสหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้ตอบรับขันแข็งกับนโยบาย ‘friend-shoring’ พันธมิตรหลักอย่างสิงคโปร์ถึงกับเตือนรัฐบาลไบเดนว่า การแยกให้จีนไปอยู่อย่างโดดเดี่ยวอาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกผันผวนได้ และทำให้การเติบโต ความร่วมมือภายในภูมิภาคลดลง ทำให้ประเทศต่างๆ แตกแยกกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกของภาคเอกชนต่อการลงทุนในจีนก็เริ่มลดลงแล้ว โดยลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ US-China Business Council มีการสำรวจพบว่า ปัจจัยลบหลักๆ ที่ทำให้เอกชนลดความสนใจที่จะลงทุนในจีนต่อในอนาคต มาจากนโยบายล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 ของจีนซึ่งรวมถึงการจำกัดการเดินทางช่วงโควิด-19 ด้วย ตามด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แย่ลง และความกังวลเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์-ดาต้า

การสำรวจครั้งนี้พบด้วยว่า เกือบ 1 ใน 4 ของบริษัทที่สำรวจเริ่มย้ายฐานซัพพลายเชนบางส่วนออกจากจีนในปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังเป็นการย้ายแบบ “จีน+1” คือการผลิตหลักก็ยังคงอยู่ในจีน เพียงแต่เพิ่มกำลังเสริมในประเทศเขตเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย

Source

]]>
1402837
COVID-19 ไม่กระทบคลังสินค้า “พรอสเพค” พัฒนาเพิ่ม 150 ไร่รับธุรกิจจีนย้านฐานผลิต https://positioningmag.com/1279979 Thu, 21 May 2020 12:25:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1279979 ธุรกิจโรงงาน-คลังสินค้าเช่ายังแฮปปี้ท่ามกลาง COVID-19 “พรอสเพค” บริษัทลูกในเครือมั่นคงเคหะการ ขยายโครงการ Bangkok Free Trade Zone ต่ออีก 150 ไร่ ชี้สถานการณ์ไวรัสระบาดกระทบธุรกิจน้อย อัตราการเช่ายังอยู่ที่ 92% และยังเป็นปัจจัยบวกด้วย เพราะประเทศไทยได้อานิสงส์การย้ายฐานผลิต กระจายความเสี่ยงโรคระบาด ครึ่งปีหลังจัดตั้งกองรีทมูลค่า 2,200 ล้าน

“รัชนี มหัตเดชกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในเครือมั่นคงเคหะการ เปิดเผยความคืบหน้าโครงการ Bangkok Free Trade Zone (BFTZ) โครงการโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าบริเวณถนนบางนา-ตราด กม.23 ขณะนี้มีพื้นที่ให้เช่า 194,000 ตร.ม. และกำลังก่อสร้างเพิ่มอีก 100,000 ตร.ม. โดยคาดว่าจะทยอยเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 3-4 ปีนี้ ทำให้สิ้นปี 2563 โครงการ BFTZ จะมีพื้นที่เช่ารวม 294,000 ตร.ม. สูงขึ้นจากปีก่อน 52%

อัตราการเช่าพื้นที่ในขณะนี้อยู่ที่ 92% และมียอดจองพื้นที่ 100,000 ตร.ม.ที่กำลังจะสร้างเสร็จมาแล้วมากกว่า 30% บวกกับดีมานด์ตลาดที่ยังอยู่ในระดับสูง บริษัทจึงจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก 2 แปลงในบริเวณใกล้เคียงกันรวม 150 ไร่ เพื่อพัฒนาโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าเฟส 2-3 จะเริ่มพัฒนาปลายปี 2563 หากพัฒนาครบทั้งหมดจะทำให้บริษัทมีพื้นที่เช่ารวม 450,000 ตร.ม.

“รัชนี มหัตเดชกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด

สำหรับข้อมูล ณ สิ้นปี 2562 จากเน็กซัส พร็อพเพอร์ตี้ พบว่าดีมานด์ตลาดโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าเพิ่มขึ้นมากกว่าซัพพลาย เนื่องจากสงครามการค้าทำให้บริษัทต่างประเทศโดยเฉพาะ “จีน” มีการย้ายฐานผลิตสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้

  • โรงงานให้เช่า มีซัพพลาย 2.49 ล้านตร.ม. เติบโต 3.1% ดีมานด์ 1.9 ล้านตร.ม. เติบโต 5.4%
  • คลังสินค้า มีซัพพลาย 3.9 ล้านตร.ม. เติบโต 1.9% ดีมานด์ 3.6 ล้านตร.ม. เติบโต 10%

 

COVID-19 กระทบผิวๆ ระยะยาวเป็นบวกกับไทย

ด้านสถานการณ์เศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัส COVID-19 รัชนีกล่าวว่ากระทบกับ BFTZ น้อยมาก โดยยังไม่พบคู่ค้าที่ขอยกเลิกสัญญาหรือยกเลิกโครงการลงทุน แต่จะมีผลกระทบทางอ้อมเนื่องจากการปิดประเทศตามนโยบายรัฐ ทำให้ลูกค้าไม่สามารถเดินทางเข้ามาเพื่อตรวจสอบสถานที่ได้ การตัดสินใจเซ็นสัญญาบางส่วนจึงชะลอออกไปก่อนจนกว่าไทยจะเปิดประเทศ

แม้จะมีข่าวการปิดโรงงานหรือย้ายฐานผลิตเป็นระยะ แต่สำหรับ BFTZ อาจกระทบน้อยกว่าเนื่องจากกระจายผู้เช่าในหลายตลาดทั้งในแง่สัญชาติและกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้

“กลุ่มสัญชาติ”
– ญี่ปุ่น 25%
– ยุโรป 24%
– จีน 19%
– ไทย 19%
– อื่นๆ 13%

“กลุ่มอุตสาหกรรม”
– ชิ้นส่วนอุปกรณ์ 15%
– กระดาษ 15%
– โลจิสติกส์ 12%
– พลาสติก, รีไซเคิล, อาหารและเครื่องดื่ม อย่างละ 10%
– ชิ้นส่วนยานยนต์ 7%
– อื่นๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร แฟชั่น 41%

Bangkok Free Trade Zone (BFTZ) โครงการโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าบริเวณถนนบางนา-ตราด กม.23

รัชนีกล่าวด้วยว่า ในระยะยาวสถานการณ์ COVID-19 น่าจะเป็นบวกกับประเทศไทยด้วย เพราะหลายบริษัทอาจพิจารณาการกระจายฐานผลิตมากขึ้น ป้องกันความเสี่ยงจากโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ที่ผ่านมา ประเทศไทยพิสูจน์ความพร้อมเพราะไม่ได้ดำเนินนโยบายขั้นสูงสุดคือการปิดโรงงานผลิต อีกทั้งสามารถจัดหาวัตถุดิบผลิตในประเทศได้ บางอย่างไม่จำเป็นต้องนำเข้า ทำให้โรงงานส่วนใหญ่สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง ร่วมกับระบบสาธารณสุขที่ดีสามารถคุมการระบาดได้ ดังนั้นประเทศไทยน่าจะเป็นตัวเลือกหากมีการย้ายฐาน

 

รายได้เติบโต 38% ตั้งกองรีทครึ่งปีหลัง

ด้านผลประกอบการของพรอสเพคเอง ทำรายได้ไตรมาส 1/63 รวม 101 ล้านบาท เติบโต 38% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และผลกำไรสุทธิยังคิดเป็น 30% ของผลกำไรบริษัทแม่คือ บมจ.มั่นคงเคหะการ

จากผลการเติบโตสม่ำเสมอ บริษัทเตรียมจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (กองรีท) แบ่งสินทรัพย์เป็นพื้นที่เช่าขนาด 130,000 ตร.ม. ขายเข้ากองรีทดังกล่าวคิดเป็นมูลค่า 2,200 ล้านบาท คาดว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะอนุญาตให้จัดตั้งและเทรดได้ภายในครึ่งปีหลังปีนี้ โดยเงินทุนที่ได้จะนำมาหมุนเวียนก่อสร้างโครงการเฟส 2-3 และชำระหนี้

]]>
1279979
Panasonic เตรียมปิดโรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในไทย ย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม https://positioningmag.com/1279910 Thu, 21 May 2020 07:38:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1279910 Panasonic ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น เตรียมปิดโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในไทย ภายในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ (ราวเดือน ก.ย.) โดยตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปผนวกกับโรงงานในเวียดนาม เพื่อลดต้นทุนการจัดหาชิ้นส่วนเเละเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

Nikkei Asian Review สื่อใหญ่ญี่ปุ่น รายงานว่า โรงงานของ Panasonic ในไทยเตรียมจะหยุดการผลิตเครื่องซักผ้าในเดือน ก.ย. และหยุดการผลิตตู้เย็นในเดือน ต.ค. ส่วนตัวอาคารโรงงานผลิตจะปิดตัวในเดือน มี.ค. ปี 2021 พร้อมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ใกล้เคียงก็จะปิดตัวลงด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน Panasonic มีพนักงานประมาณ 800 คนที่ทำงานที่โรงงานในกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงที่จะเสียตำเเหน่งงานที่เคยทำอยู่เเต่จะได้รับการช่วยเหลือด้วยการหาตำแหน่งงานใหม่ภายในกลุ่มบริษัทให้

การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามครั้งนี้ เนื่องจากโรงงานของ Panasonic ที่ตั้งอยู่นอกกรุงฮานอย เป็นศูนย์กลางการผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้าที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนนี้ก็ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ ดังนั้นบริษัทจึงต้องการลดต้นทุนผ่านกระบวนการจัดหาจัดซื้อชิ้นส่วนประกอบที่ผนวกรวมของไทยเเละเวียดนามเข้าไปด้วยกัน

โดยโรงงานของ Panasonic ในเวียดนาม มีการจ้างงานราว 8,000 คน นอกจากจะเน้นผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่แล้ว ยังมีการผลิตสินค้าอย่าง ทีวี โทรศัพท์ไร้สาย เครื่องชำระเงินด้วยบัตร และอุปกรณ์เครื่องใช้ในอุตสาหกรรม เป็นต้น

Nikkei Asian Review มองว่าการย้ายฐานการผลิตดังกล่าว สะท้อนถึงบทใหม่ของอุตสาหกรรมภาคการผลิต
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งเเต่ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมาที่บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นได้โยกย้ายฐานการผลิตในประเทศ ไปยังสิงคโปร์เเละมาเลเซีย เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น
เเละการผลิตในญี่ปุ่นก็ไม่สามารถเเข่งขันด้านราคาได้

หลังจากนั้นฐานการผลิตก็มีการโยกย้ายเข้าสู่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น ประเทศไทย เนื่องจากค่าจ้างเเรงงาน
ของสิงคโปร์เเพงขึ้นอย่างมาก โดย Panasonic เริ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนขนาดใหญ่ในไทยมาตั้งแต่ปี 1979

เเละปัจจุบันบริษัทเหล่านี้ กำลังมองหาแหล่งผลิตใหม่ที่มีต้นทุนต่ำลงกว่านี้อีก ประกอบกับต้องการนำสินค้าประเภท
ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ เข้าเจาะตลาดประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรจำนวนมากในอาเซียน อย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เเละเวียดนาม ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเเละค่าเเรงต่ำ

ขณะเดียวกัน Panasonic กำลังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กร มีเป้าหมายพื่อลดค่าใช้จ่ายประมาณ 1 แสนล้านเยน (ราว 930 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ให้ได้ภายในปีการเงินที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. ปี 2022 โดยกำลังพิจารณาให้มีปรับเปลี่ยนเเละโยกย้ายฐานการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่อไป

 

ที่มา : Panasonic to move appliance production from Thailand to Vietnam

 

]]>
1279910