ละเมิดลิขสิทธิ์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 21 Aug 2024 04:35:24 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เล่นกันเองแล้ว! ‘Shein’ แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นจีนฟ้อง ‘Temu’ ฐาน ‘ละเมิดลิขสิทธิ์’ https://positioningmag.com/1487034 Wed, 21 Aug 2024 04:19:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1487034 กลายเป็นประเด็นอีกครั้งสำหรับ Temu อีคอมเมิร์ซชื่อดังของจีนที่เพิ่งเข้าไทยหมาด ๆ เนื่องจากถูกบริษัทฟาสต์แฟชั่นร่วมชาติอย่าง Shein ออกมาฟ้องร้องข้อหา ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ Temu ถูกโจมตีมาโดยตลอด

Shein บริษัทฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ของจีน ได้ยื่นฟ้อง Temu ที่ศาลรัฐบาลกลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยกล่าวหาว่า Temu ได้ ขโมยการออกแบบ และสร้างแพลตฟอร์มขึ้นจาก การปลอมแปลง ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และช่อโกง โดยแพลตฟอร์ม Temu สนับสนุนและส่งเสริมให้ ผู้ขายขโมยการออกแบบของแบรนด์อื่น อีกทั้งยังป้องกัน ไม่ให้ผู้ขายลบสินค้าออกจากแพลตฟอร์ม แม้ว่าร้านค้าเหล่านั้นจะยอมรับว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ ก็ตาม

“Temu ดึงดูดผู้บริโภคในสหรัฐฯ ให้ดาวน์โหลดและใช้งานแอปพลิเคชันมือถือโดยให้ออฟเฟอร์สินค้าในราคาที่ต่ำมาก แต่ Temu ไม่ได้รับผลกำไรจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพราะ Temu ให้เงินอุดหนุนการขายแต่ละครั้ง ทำให้บริษัทขาดทุนในทุกธุรกรรม และ Temu หวังว่าจะลดความสูญเสียมหาศาลโดยการสนับสนุนให้ผู้ขายละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นและขายสินค้าลอกเลียนแบบหรือสินค้าต่ำกว่ามาตรฐานเท่านั้น” คำฟ้องระบุ

โดยในคำฟ้องร้อง Shein ความยาวกว่า 80 หน้ากระดาษ ได้ระบุว่า พนักงานของ Temu อย่างน้อย 1 คนได้ขโมยความลับทางการค้า หรือก็คือ ผลิตภัณฑ์ขายดีที่สุด ของ Shein พร้อมทั้งข้อมูลราคาภายใน พร้อมกับแนบตัวอย่างเสื้อผ้าและดีไซน์ กว่าสิบชิ้น ที่ Temu ถูกกล่าวหาว่าลอกเลียนแบบ 

นอกจากนี้ Shein ยังกล่าวหาว่า Temu ได้แอบอ้างเป็น Shein บนโซเชียลมีเดีย X เพื่อพยายาม หลอกลูกค้าให้ห่างจากแพลตฟอร์ม Shein และหันไปใช้แพลตฟอร์ม Temu แทน และได้จ้างให้อินฟลูเอนเซอร์โพสต์ข้อความเท็จว่าสินค้าของ Temu นั้นราคาถูกกว่าและมีคุณภาพสูงกว่าสินค้า Shein ของแท้

“ด้วยข้อมูลที่ขโมยมานี้ Temu ได้สั่งให้ร้านค้าคัดลอกผลิตภัณฑ์ Shein และผลิตภัณฑ์ขายดีอื่น ๆ และขายผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันมือถือของ Temu”

แม้ว่า Shein จะฟ้องร้อง Temu แต่ทั้ง 2 บริษัทก็ใช้วิธีคล้าย ๆ กันในการยึดครองตลาดก็คือ การเล่นเรื่อง สินค้าราคาถูก และความสามารถในการ ตอบสนองต่อกระแส ได้เร็วกว่าคู่แข่งมาก แต่นั่นก็ทำให้ทั้ง 2 บริษัทต้องเจอกับคำวิจารณ์มากมายเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้าน แรงงาน ความเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน และการกล่าวหาว่า ลอกการออกแบบของแบรนด์อื่น โดย Shein ก็เคยถูกกล่าวหาว่าก๊อบปี้ดีไซน์จากแบรนด์อย่างต่าง ๆ อาทิ Levi, Strauss และ H&M 

Source

]]>
1487034
แบรนด์เสื้อผ้า “SUPERDRY” ยื่นฟ้อง “แมนเชสเตอร์ ซิตี้” ละเมิดใช้ชื่อแบรนด์ขึ้นสปอนเซอร์บนชุดซ้อม https://positioningmag.com/1459620 Sat, 20 Jan 2024 12:57:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1459620 งานเข้าเฉย! เมื่อแบรนด์เสื้อผ้า “SUPERDRY” ยื่นฟ้องสโมสรฟุตบอล “แมนเชสเตอร์ ซิตี้” ข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ มีชื่อแบรนด์ไปปรากฏเป็นสปอนเซอร์บนอกเสื้อชุดซ้อมของสโมสร (training kit)

ต้นเหตุของการฟ้องร้องครั้งนี้เริ่มจาก “Asahi” เบียร์ดังจากญี่ปุ่น ตกลงดีลซื้อสปอนเซอร์บนชุดซ้อมฤดูกาล 2023/2024 ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ทั้งทีมชายและทีมหญิง โดยใส่ข้อความสปอนเซอร์บนอกเสื้อว่า SUPER “DRY” Asahi 0.0% สื่อถึงสินค้าเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ของแบรนด์

เสื้อผ้าแบรนด์ SUPERDRY

คำว่า SUPER “DRY” นี้เองที่เป็นปัญหา เพราะแบรนด์เสื้อผ้า “SUPERDRY” มองว่าความต่างในการเว้นวรรคนั้นไม่ได้แตกต่างชัดเจนมากพอที่จะป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคสับสน เกรงว่าจะทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าเสื้อผ้าชุดซ้อมของแมนฯ ซิตี้นั้นผลิตภายใต้แบรนด์ของตนเอง

เหตุนี้ทาง SUPERDRY จึงยื่นฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลระงับยับยั้งไม่ให้แมนฯ ซิตี้ใช้ข้อความนี้บนอกเสื้ออีก และยังคาดว่าจะมีการเรียกค่าเสียหายต่อไปด้วย

ชุดซ้อมใหม่แมนฯ ซิตี้ ตัดคำว่า SUPER “DRY” เจ้าปัญหาออกไปก่อน

แม้ว่าการฟ้องร้องยังไม่สิ้นสุด แต่ทางแมนฯ ซิตี้ก็ป้องกันความเสียหายไว้ก่อน ด้วยการเปลี่ยนข้อความบนอกเสื้อชุดซ้อมเหลือเพียง “Asashi 0.0%” แล้วเรียบร้อย

SUPERDRY นั้นเป็นแบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติอังกฤษ แต่ออกแบบในสไตล์อเมริกันวินเทจผสมผสานกับกราฟิกแบบญี่ปุ่น แบรนด์นี้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2001 ส่วน Asahi เป็นหนึ่งในสี่ยักษ์ใหญ่เบียร์ญี่ปุ่น ครองตลาดเบียร์ในญี่ปุ่นได้ถึง 40%

ที่มา: Independent
ขอบคุณภาพจาก: Manchester City Facebook Page

]]>
1459620
กรณีศึกษา: ดูทรงก่อนตามกระแส “แอป AI เปลี่ยนภาพเป็นอนิเมะ” งานนี้ KFC – Sprinkle วินสุด! https://positioningmag.com/1441684 Mon, 21 Aug 2023 11:15:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1441684 เป็นกระแสมาร่วมสัปดาห์สำหรับ “Loopsie” แอปฯ AI ที่ช่วยเปลี่ยนภาพปกติเป็นลายเส้นอนิเมะ ไม่ว่าจะบุคคลทั่วไปหรือหน้าเพจแบรนด์ต่างโพสต์ภาพอนิเมะฝีมือ AI ตามๆ กัน ขณะที่กลุ่ม “สายผลิต” หรือบรรดานักวาดออกมาโต้กลับว่า AI เหล่านี้อาจกำลังละเมิดลิขสิทธิ์พวกเขา ท่ามกลางการปะทะกันของกระแสสังคมกับนักวาด มีสองแบรนด์อย่าง “KFC” กับ “Sprinkle” ที่รอดูท่าทีก่อนเลือกเกาะกระแสในอีกรูปแบบหนึ่ง ดึงยอดเอนเกจเมนต์พุ่งเหนือใคร

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายคนน่าจะเจอไทม์ไลน์ Facebook ของตัวเองมีภาพแนวอนิเมะอยู่เต็มไปหมด ภาพเหล่านี้มาจากแอปพลิเคชัน “Loopsie” แอปฯ เทคโนโลยี AI ช่วยแปลงภาพถ่ายปกติเป็นภาพลายเส้นอนิเมะได้อัตโนมัติที่เป็นกระแสมากว่า 1 สัปดาห์

วันแรกๆ ที่เริ่มเป็นกระแสในกลุ่มคนทั่วไป หลายแบรนด์จึงรีบตามเทรนด์เหมือนกับทุกเทรนด์โซเชียลมีเดียที่เคยมีก่อนหน้านี้ เช่น MBK Center เปลี่ยนภาพศูนย์การค้าให้เหมือนออกมาจากการ์ตูน, ศุภาลัย (Supalai) ที่หยิบภาพโปรโมตโครงการบ้านมาเปลี่ยนเป็นภาพอนิเมะ หรือ The 1 ที่เปลี่ยนภาพในหนังโฆษณาให้เป็นอนิเมะภาพนิ่งหลายๆ ภาพ

AI อนิเมะ
ตัวอย่างภาพจริงแปลงเป็นภาพอนิเมะด้วย AI จาก MBK Center
ตัวอย่างภาพจริงแปลงเป็นภาพอนิเมะด้วย AI จากศุภาลัย

เสียงตอบรับต่อแบรนด์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นไปในทางบวก ต่างมองว่าภาพที่ออกมา ‘ว้าว’ ถ่ายทอดภาพจริงสู่ภาพอนิเมะได้อย่างมหัศจรรย์ สวย น่ารัก จนโพสต์เหล่านี้ได้ยอดไลก์-ยอดแชร์ที่ดีพอสมควร

AI อนิเมะ
ตัวอย่างภาพจริงแปลงเป็นภาพอนิเมะด้วย AI จาก The 1

 

“สายผลิต” เรียกร้องให้หยุดสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม หลังกระแสฮิตเกิดขึ้น 3-4 วัน เริ่มมีเสียงโต้กลับจากฝั่ง “สายผลิต” หรือ กลุ่มนักวาดการ์ตูน-อนิเมะออกมามากขึ้น โดยโพสต์ที่ถูกโจมตีมากที่สุดเกิดขึ้นกับเพจของ “คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร” ซึ่งนำภาพบรรยากาศในคณะมาใช้ Loopsie แปลงเป็นภาพอนิเมะ และเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566

โพสต์ต้นทางดราม่าจากคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร

โพสต์นี้ปลุกกระแสโจมตีให้ลุกโชนขึ้นมา เพราะในกลุ่มนักวาด/ศิลปินทั้งหลายมีความเห็นเป็นปฏิปักษ์กับเทคโนโลยี AI หรือแมชชีนเลิร์นนิ่ง เนื่องจากการเทรน AI ให้วาดภาพขึ้นมาได้นั้นต้องมีการป้อนข้อมูลภาพวาดเข้าไปจำนวนมาก และที่ผ่านมาแอปฯ ในลักษณะเดียวกันนี้มักจะดึงภาพที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ตไปใช้ฝึก AI และนำไปเป็นส่วนประกอบสร้างภาพชิ้นใหม่ โดยไม่มีการขออนุญาตเจ้าของภาพ และไม่มีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ใดๆ ในการนำบางส่วนของภาพไปใช้

สุดท้ายเมื่อ AI เก่งกาจพอที่จะวาดภาพอัตโนมัติได้ เทคโนโลยีเหล่านี้จะมากลืนกินอาชีพของนักวาดไปโดยปริยาย เพราะสามารถทำงานให้ลูกค้าได้เร็วกว่า ถูกกว่า และไม่มีขีดจำกัดทางร่างกายเหมือนมนุษย์

โพสต์ของคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร จึงทำให้กลุ่มศิลปินโกรธเคืองที่สถาบันการศึกษาด้านศิลปะโดยเฉพาะไม่ช่วยปกป้องวงการ และกลายเป็นเรื่องกระเพื่อมในสังคมบางส่วน

อย่างไรก็ตาม 2 วันต่อมา ทาง ผศ.ดร.วิชญ มุกดามณี คณบดีคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร มีแถลงการณ์ถึงกรณีดราม่าที่เกิดขึ้นว่า ตนเป็นผู้อนุมัติโพสต์เอง และมองว่าวงการศิลปะไม่สามารถปฏิเสธ AI ได้ วงการน่าจะเรียนรู้ความเป็นไปได้ที่ศิลปะจะได้รับประโยชน์จาก AI (อ่านแถลงการณ์จากคณบดีคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากรได้ที่นี่)

 

KFC – Sprinkle เกาะกระแสแต่ขอพลิกมุม!

กลับมาที่วงการแบรนด์และการตลาดอีกครั้ง มีบางแบรนด์เหมือนกันที่เลือกเกาะกระแสแต่ไม่ใช่การเข้าร่วมโดยตรง หลังจากเกิดดราม่าในแวดวงสายผลิตขึ้น

หนึ่งในแบรนด์ที่ ‘วิน’ ที่สุดจากกระแสนี้ ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นแบรนด์ที่ตามเทรนด์รวดเร็วอยู่เสมออย่าง “KFC”

KFC AI อนิเมะ
โพสต์แหวกกระแสภาพอนิเมะเป๊ะๆ ด้วยภาพวาดน่องไก่จาก KFC

KFC โพสต์ภาพวาดน่องไก่ 1 ชิ้นแบบวาดขึ้นเอง และเป็นการ(จงใจ)วาดลวกๆ ให้ดูคล้ายผลงานจากคนวาดรูปไม่เก่ง พร้อมแคปชันว่า POV แอดที่อยากเล่นเทรนด์ AI แต่ไม่มั่นใจเรื่องลิขสิทธิ์ ก็ขอวาดเองละกัน / แกว่าจะโดนมั้ยอะ เหมือนจัดเลยยย” ถือเป็นการแหวกกระแสที่เต็มไปด้วยภาพอนิเมะสุดเป๊ะจาก AI

ภาพน่องไก่ KFC นี้ได้รับการแชร์ไปมากกว่า 3,100 ครั้ง พร้อมด้วยความคิดเห็นเฮฮาแวะมาแซวภาพวาด และความเห็นชื่นชมที่ KFC ตระหนักถึงเรื่องลิขสิทธิ์เป็นสำคัญ

อนิเมะ AI Sprinkle
Sprinkle ได้โอกาสนำโฆษณาอนิเมชันที่ทำไว้ 2 ปีก่อนมาโปรโมตใหม่

ส่วนอีกแบรนด์ที่มาช้าแต่มาวิน คือ “น้ำดื่ม Sprinkle” ซึ่งเพิ่งจะตามกระแสเมื่อ 2 วันก่อน แต่มาด้วยการโพสต์ภาพจากหนังโฆษณาของแบรนด์ที่ทำขึ้นเมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นโฆษณาอนิเมชัน พร้อมกับแคปชันว่า เห็นเพื่อน ๆ เปลี่ยนภาพต่าง ๆ เป็นแนวอนิเมะด้วย app กันเยอะ Sprinkle เองก็อยากมีส่วนร่วมบ้าง แต่เราไม่ได้ใช้ app หรือ ai นะครับ เป็นงานโฆษณา original ที่ใช้คนวาด ทำไว้เมื่อปี 2021 ถือโอกาสนี้ขอร่วมสนุกกับเพื่อน ๆ ไปด้วยกันเลยย”

เช่นเดียวกับโพสต์ของ KFC คือ ความคิดเห็นเป็นไปในทางชื่นชมที่แบรนด์สนับสนุนศิลปินตัวจริงในการสร้างผลงาน และทำให้โพสต์มียอดแชร์ไปกว่า 1,100 ครั้ง ส่วนโฆษณาอนิเมชันชุด “Refresh your life” ของ Sprinkle ที่ลงใน YouTube ไว้ตั้งแต่ 2 ปีก่อน ปัจจุบันมียอดเข้าชม 3.8 ล้านครั้ง

เห็นได้ว่าท่ามกลางกระแสที่ไหลตามกันในโลกโซเชียล บางครั้งการหยุดรอดูท่าทีของกระแสสังคมและเลือกมุมมองที่แตกต่างในการเกาะเทรนด์ อาจจะเป็นวิธีที่ทำให้แบรนด์โดดเด่นได้มากกว่าเหมือนกัน!

]]>
1441684
ศิลปินในสหรัฐฯ ฟ้อง Shein ข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ นำผลงานไปดัดแปลงแล้วนำสินค้ามาวางจำหน่าย https://positioningmag.com/1437785 Sun, 16 Jul 2023 15:29:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1437785 3 ศิลปินในสหรัฐอเมริกาได้ฟ้อง Shein แบรนด์เสื้อผ้า Fast Fashion จากประเทศจีนในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ผลงาน โดยแบรนด์เสื้อผ้าจากจีนรายดังกล่าวได้นำผลงานของศิลปินไปดัดแปลงบางส่วนและนำมาวางขายใหม่บนแพลตฟอร์มของบริษัท

ศิลปินชาวสหรัฐฯ 3 ราย ได้แก่ Krista Perry และ Larissa Martinez รวมถึง Jay Baron ได้ฟ้องเรื่องดังกล่าวต่อศาลในแคลิฟอร์เนียว่า Shein ได้ใช้อัลกอริทึม เพื่อระบุงานศิลปะที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้นๆ และขโมยผลงานของศิลปินเหล่านี้มาดัดแปลงบางส่วนเพื่อทำเป็นสินค้ามาวางจำหน่าย (ดูได้จากรูป) ซึ่งการดัดแปลงผลงานบางส่วนนั้นจะถือว่าไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์

เอกสารการฟ้องดังกล่าวยังชี้ว่า “Shein ร่ำรวยขึ้นจากการละเมิดสิทธิรายบุคคลซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการฉ้อโกงที่ต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งไม่มีวี่แววว่าจะทุเลาลง”

ก่อนหน้านี้ศิลปิน 1 ใน 3 รายยังได้กล่าวว่าทาง Shein ได้ส่งอีเมลให้ข้อเสนอเงินเป็นมูลค่า 500 ดอลลาร์ เพื่อที่จะให้เรื่องดังกล่าวจบลงไป ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ศิลปินรายดังกล่าวโกรธเป็นอย่างมาก

และในเอกสารการฟ้องร้องดังกล่าว ศิลปินและทนายได้กล่าวว่า Shein ได้ผลิตสินค้าล็อตเล็กๆ เพียงแค่ 100-200 ชิ้น เพื่อป้องกันว่าจะมีศิลปินมาพบเห็นและฟ้องร้องในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งศิลปินอิสระเหล่านี้ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการปกป้องแบรนด์ของตัวเอง หรือแม้แต่การซื้อซอฟต์แวร์เพื่อตรวจจับว่าสินค้าของตัวเองถูกละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

ภาพจากเอกสารที่ฟ้องต่อศาล

ไม่เพียงเท่านี้ศิลปินทั้ง 3 คนและทนายของพวกเขาทราบดีว่าในคดีดังกล่าว โครงสร้างองค์กรของ Shein นั้นมีความสลับซับซ้อนทำให้ยากแก่การฟ้องร้อง และอาจทำให้คดีความดังดล่าวต้องใช้เวลายาวนานในการทำให้คดีสิ้นสุดลง

แบรนด์ Fast Fashion จากจีนรายนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2012 ด้วยโมเดลธุรกิจระดมซัพพลายเออร์ผลิตเสื้อผ้าต้นทุนต่ำ และเน้นขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์แบบไม่มีหน้าร้าน ทำให้ราคาสินค้าของ Shein มีราคาต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆ

ขณะที่ผลการดำเนินงานในปี 2022 ที่ผ่านมานั้นบริษัทมีรายได้ 22,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่ารายได้ของแบรนด์ Fast Fashion ในยุโรปอย่าง H&M รวมถึง Inditex ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์ดังอย่าง Zara รวมกันด้วยซ้ำ และมีแผนที่จะ IPO ในตลาดหุ้นด้วย

ก่อนหน้านี้ Shein เคยมีกรณีลอกเลียนแบบสินค้า โดยแบรนด์เสื้อผ้าที่ผลิตด้วยการถักมือในประเทศไนจีเรีย ได้วางขายสินค้าดังกล่าวด้วยราคา 300 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,500 บาท) แต่บริษัทจากจีนรายนี้ได้ลอกเลียนแบบและขายสินค้าในราคาเพียงแค่ 17 ดอลาร์สหรัฐเท่านั้น

ทางโฆษกของ Shein ได้กล่าวในแถลงการณ์ว่าบริษัทให้ความสำคัญกับการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง และบริษัทจะดำเนินการอย่างรวดเร็วเมื่อมีการร้องเรียนโดยผู้ถือสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาที่ถูกต้อง นอกจากนี้บริษัทจะปกป้องตัวเองอย่างจริงจังจากการฟ้องร้องและการเรียกร้องที่ไม่สมเหตุสมผล

ที่มา – CBS News, The Independent, CNN

]]>
1437785
Twitter อีกแล้ว! โดนค่ายเพลง 17 แห่งรวมตัวฟ้องฐาน “ละเมิดลิขสิทธิ์” มูลค่า 8.7 พันล้านบาท https://positioningmag.com/1434310 Thu, 15 Jun 2023 10:50:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1434310 นับตั้งแต่ที่ อีลอน มัสก์ เข้ามาเป็นเจ้าของ ทวิตเตอร์ (Twitter) ก็เหมือนจะมีแต่เรื่องไม่ดี ล่าสุด สมาคมผู้เผยแพร่เพลงแห่งชาติ (NMPA) ฟ้องแพลตฟอร์ม โดยกล่าวหาว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ ของนักแต่งเพลง โดยใช้เพลงของพวกเขาบนแพลตฟอร์มโดยไม่ได้รับอนุญาต

Twitter ได้กลายเป็น แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลักเพียงแห่งเดียวที่ไม่จ่ายลิขสิทธิ์เพลง ให้กับผู้ถือลิขสิทธิ์ในการทำงาน ขณะที่ YouTube, Facebook, Snap Chat และ TikTok ล้วนมีข้อตกลงที่ร่วมกันจ่ายให้กับอุตสาหกรรมเพลงหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี

ส่งผลให้ สมาคมผู้เผยแพร่เพลงแห่งชาติ หรือ NMPA ที่เป็นตัวแทนบริษัทเพลงที่ใหญ่ที่สุด 17 ราย อาทิ Sony Music และ Universal Music Publishing Group กำลังยื่นคำร้องต่อศาลว่า Twitter จงใจละเมิดผลงานเพลงประมาณ 1,700 เพลง โดยทางสมาคมได้เรียกร้องค่าเสียหายมูลค่ารวมมากกว่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 8,700 ล้านบาท

“แพลตฟอร์ม Twitter ซึ่ง Elon Musk ซื้อในปี 2022 ด้วยมูลค่า 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น เต็มไปด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์”

ที่ผ่านมา บรรดาค่ายเพลงต่างออกมาบ่นว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรวยขึ้นจากการทำงานของพวกเขา โดยดนตรีเป็นประเภทวิดีโอที่ได้รับความนิยมสูงสุดบน YouTube และเป็นรากฐานของการเติบโตของ TikTok ทำให้ค่ายเพลงต่าง ๆ ต้องต่อสู้กับแพลตฟอร์มโซเชียลฯ เกี่ยวกับการใช้งานที่เหมาะสมของผลงานเพลงของพวกเขา

จากการต่อสู้ดังกล่าว ส่งผลให้ Alphabet เจ้าของแพลตฟอร์ม YouTube ได้จ่ายเงิน 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ Meta เจ้าของ Facebook จ่ายเงิน หลายร้อยล้านดอลลาร์ต่อปี สำหรับสิทธิ์ที่อนุญาตให้ลูกค้าใช้เพลงในวิดีโอของพวกเขา

ทั้งนี้ Twitter ได้พูดคุยกับบริษัทเพลงเกี่ยวกับการลงนามในข้อตกลงลิขสิทธิ์ก่อนที่ อีลอน มัสก์ จะเข้ามาซื้อกิจการ ซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์มนั้นมีเรื่องแทบไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก, การหดหายของลูกค้าโฆษณา และล่าสุด แพลตฟอร์มก็เพิ่งจ้าง Linda Yaccarino มานั่งเป็น CEO คนใหม่ และพยายามสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า

Source

]]>
1434310
‘Tencent’ – ‘Alibaba’ ถูกสหรัฐฯ จับขึ้นบัญชี ‘ตลาดละเมิดลิขสิทธิ์’ https://positioningmag.com/1374645 Sun, 20 Feb 2022 04:46:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1374645 เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ดำเนินการโดย Tencent Holdings Ltd และ Alibaba Group Holding Ltd อาทิ AliExpress และ WeChat ได้ถูกรวมอยู่ในบัญชีกลุ่มตลาดที่มีการ ‘ละเมิดลิขสิทธิ์’ ล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (USTR) ได้ออกมาแถลงว่า ตลาดซื้อขายออนไลน์จำนวน 42 แห่งและตลาดออฟไลน์จำนวน 35 แห่งที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีว่า มีความเกี่ยวข้องกับการขายและการอำนวยความสะดวกสำหรับการขายสินค้าลอกเลียนแบบและละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วโลกในระดับสูง (Notorious Markets)

โดยในจำนวนดังกล่าวมีแพลตฟอร์มของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Tencent และ Alibaba ซึ่งก่อนหน้านี้ทางการสหรัฐฯ ได้มีการขึ้นบัญชีแพลตฟอร์มอย่าง Baidu Wangpan DHGate Pinduoduo และ Taobao ซึ่ง USTR ระบุว่า แพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นที่รู้จักในด้านการผลิต การจัดจำหน่าย และการขายสินค้าลอกเลียนแบบ

“แพลตฟอร์มอย่าง AliExpress และอีโคซิสเต็มส์ด้านอีคอมเมิร์ซของ WeChat ซึ่งเป็นตลาดออนไลน์ที่สำคัญสองแห่งในจีนซึ่งมีรายงานว่าอำนวยความสะดวกในการปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าจำนวนมาก” สำนักงาน USTR กล่าวในแถลงการณ์

อย่างไรก็ตาม Alibaba กล่าวว่า จะทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ขณะที่ Tencent กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจนี้อย่างยิ่ง” และมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยที่ผ่านมา แพลตฟอร์มได้ติดตามตรวจสอบ ขัดขวาง และดำเนินการกับการละเมิดข้ามแพลตฟอร์มอย่างแข็งขัน และได้ลงทุนทรัพยากรที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา

ทั้งนี้ การที่แบรนด์มีรายรายชื่ออยู่ในบัญชีกลุ่มตลาดที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ระดับสูง แม้ไม่มีบทลงโทษโดยตรง แต่ถือเป็นการทำลายชื่อเสียงของบริษัท ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาและจีนมีส่วนร่วมในความตึงเครียดทางการค้ามาหลายปีในประเด็นต่าง ๆ เช่น ภาษี เทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

Source

]]>
1374645