วินด์ เอนเนอยี โฮลดิ้ง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 25 Mar 2024 01:09:48 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘วินด์ เอนเนอร์ยี่’ เผยคดีความระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันเริ่มนิ่งแล้ว ชี้ไม่กระทบการดำเนินงานของบริษัทแต่อย่างใด https://positioningmag.com/1467423 Sun, 24 Mar 2024 10:50:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1467423 ผู้บริหารของ ‘วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง’ ได้กล่าวถึงในช่วงที่ผ่านคดีความที่เป็นข่าวดังนั้นเป็นเรื่องระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกัน และหลายคดีเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นไม่กระทบการดำเนินงานของบริษัทแต่อย่างใด

‘วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง’ (WEH) ได้เปิดเผยโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท และบริษัทยังได้ชี้ถึงข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นบริษัทนั้นเริ่มนิ่งหมดแล้ว และไม่กระทบกับการดำเนินงานของบริษัท ขณะเดียวกันหุ้นของบริษัทที่มีการโอนหุ้นระหว่างผู้ถือหุ้นทุกฉบับถือว่าชอบด้วยกฎหมาย

ณัฏฐ์ธฤต อยู่ดี ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ได้กล่าวถึงโครงสร้างของผู้ถือหุ้น WEH นั้นแยกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน

  • ผู้ถือหุ้น WEH กลุ่มแรก มีสัดส่วน 59.46% เดิมถือครองโดยบริษัท REC ของกลุ่มนายนพพร ศุภพิพัฒน์ เปลี่ยนมือมาเป็นบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KPNET ในปี 2558 และเปลี่ยนมือมายัง นายเกษม ณรงค์เดช ในปี 2559 และปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา) ถือครองโดยบริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด (GML) สัดส่วน 37.87% นายประเดช กิตติอิสรานนท์ สัดส่วน 11.81% กลุ่มอดีตผู้บริหารของ บริษัทฯ สัดส่วน 3.75% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 36 ราย รวมเป็นสัดส่วน 6.03% ซึ่งกลุ่มนี้เราจะเห็นเป็นข่าวบนหน้าสื่อบ่อยครั้ง
  • ผู้ถือหุ้น WEH กลุ่มที่สอง มีสัดส่วน 40.54% เดิมถือครองโดยกลุ่มกิตติอิสรานนท์ มีการเปลี่ยนมือกันตามปกติ ไม่มีข้อพิพาทใดๆ ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา) ถือครองโดยบริษัท ธนา พาวเวอร์ วัน จำกัด สัดส่วน 26.65% บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 7.12% บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 3.87% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 91 ราย ถือหุ้นรวมเป็นสัดส่วน 2.90%

ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ WEH กล่าวว่า ยอมรับว่าข้อพิพาทของบุคคลภายนอก ที่พาดพิงถึงบริษัทฯ อยู่บ่อยครั้ง เป็นข่าวใหญ่มาตลอด เพราะเป็นเรื่องของบุคคลผู้มีชื่อเสียง แต่เป็นประเด็นพาดพิงเฉพาะหุ้นกลุ่มที่ 1 เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ และไม่เกี่ยวข้องการดำเนินการหรือมีผลผูกพันใดๆ กับบริษัทฯ

โดยบริษัทได้ติดตามเหตุการณ์ข้อพิพาทของบุคคลภายนอกที่พาดพิงบริษัทฯ ทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มเหตุการณ์ และประเมินผลกระทบเป็นระยะ ขณะนี้ภาพรวมทุกกลุ่มเหตุการณ์นิ่งหมดแล้ว และไม่มีผลกระทบกับบริษัทฯ มีเพียงคำสั่งศาลให้ปฏิบัติตามในฐานะนายทะเบียนบ้างเท่านั้น โดยมีรายละเอียดกลุ่มเหตุการณ์ข้อพิพาทบุคคลภายนอก ต่อหุ้นกลุ่มที่ 1 ดังนี้

  • กลุ่มเหตุการณ์ที่ 1 ข้อพิพาทบุคคลภายนอก เรื่องการชำระเงินซื้อขายบริษัท REC โดยระหว่างปี 2558 – 2560 กลุ่มนายนพพรได้ขายบริษัท REC (ถือครองหุ้น WEH 59.46%) ให้กับกลุ่มนายณพ ณรงค์เดช และเปลี่ยนชื่อจาก REC เป็น KPNET แต่เกิดข้อพิพาทการชำระเงินซื้อขาย REC นำไปสู่คดีความระหว่าง 2 ฝ่าย ในฮ่องกง สิงคโปร์ อังกฤษ และไทย
  • กลุ่มเหตุการณ์ที่ 2 ข้อพิพาทบุคคลภายนอก คดีแพ่งและคดีอาญา ที่นายเกษม ณรงค์เดช เป็นโจทก์ในคดีแพ่ง และโจทก์ร่วมในคดีอาญา ฟ้องบุคคลภายนอกอื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ
    • คดีแพ่งที่ยังมีผลอยู่ปัจจุบัน คือ คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.978/2565 ที่นายกฤษณ์ ณรงค์เดช และนายกรณ์ ณรงค์เดช เป็นโจทก์ร่วมยื่นฟ้องเรียกหุ้น WEH คืนจาก GML จำนวน 31 ล้านหุ้น สถานะปัจจุบันนั้นศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอน และให้อายัดเงินปันผลหุ้น WEH ที่ GML ถือครองอยู่ 37.87% ทั้งหมด โดยศาลสั่งให้บริษัทฯ นำเงินปันผลทั้งหมดของ GML ไปวางไว้ที่ศาลตามคำสั่งคุ้มครองจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จนถึงปัจจุบันบริษัทฯ นำเงินปันผลส่วนนี้ไปวางไว้ที่ศาลแล้วรวมประมาณ 2,700 ล้านบาท
    • คดีสุดท้ายของกลุ่มนี้ คือ คดีอาญา ที่อัยการและนายเกษม เป็นโจทก์ร่วม ฟ้องคดีความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสาร คดีหมายเลขดำที่ อ.1708/2564 (หมายเลขแดงที่ อ.1753/2566) โดยยื่นฟ้องในปี 2564
      สถานะปัจจุบันศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยทั้งหมด แต่มีคำพิพากษาว่าลายเซ็นนายเกษมในเอกสาร 5 รายการ เป็นลายเซ็นปลอม จึงมีคำสั่งให้ริบเอกสารทั้ง 5 รายการ โดยมีเอกสารรายการเดียวเท่านั้น ที่กล่าวถึงบริษัทฯ คือ สัญญาซื้อขายหุ้น WEH ระหว่างนายเกษม กับ KPNET เป็นสัญญาระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นเอกสารคนละฉบับกับตราสารการโอนหุ้น ไม่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นการโอนหุ้นระหว่างนายเกษม กับ KPNET จึงมีผลสมบูรณ์ด้วยกฎหมาย
  • กลุ่มเหตุการณ์ที่ 3 ข้อพิพาทบุคคลภายนอก โดย KPNET อาศัยคำพิพากษาคดีอาญาปลอมแปลงเอกสาร หมายเลขแดงที่ อ.1753/2566 เพื่ออ้างตัวเป็นผู้ถือหุ้น WEH สำหรับ KPNET สถานะปัจจุบันเป็นบุคคลภายนอก ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัทฯ เพราะไม่มีรายชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น และในบอจ.5 แต่หลังคำตัดสินคดีอาญาปลอมเอกสาร KPNET ได้อาศัยคำพิพากษาคดีดังกล่าว อ้างตัวเป็นผู้ถือหุ้น WEH และไปจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น WEH เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการคัดค้านต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ขณะที่กรณีของผู้ถือหุ้นกลุ่มที่ 2 สัดส่วน 40.54% ในกรณี บมจ. ณุศาศิริ หรือ NUSA ถือครองในสัดส่วน 7.12% ได้มาจากการซื้อขายชำระเงินโดยวิธีการแลกหุ้น (Share Swap) จากผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ในกลุ่มที่ 2 ซึ่งไม่ได้มีปัญหาใดๆ การทำธุรกรรมสมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมาย บริษัทฯ จึงไม่มีความหนักใจใดๆ ในคดีที่ NUSA ยื่นต่อศาลขอเพิกถอนธุรกรรมแลกหุ้นทั้งหมด เพราะ NUSA ไปอ้างคำตัดสินคดีอาญา(คดีปลอมเอกสาร) ของหุ้นกลุ่มที่ 1 ที่ไม่เกี่ยวข้องกันแม้แต่น้อย ซึ่งข้อเท็จจริง และเอกสารหลักฐานทั้งหมดมีความชัดเจนในตัวเอง พร้อมนำเสนอต่อศาลอยู่แล้ว

ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ WEH ยังกล่าวว่า สำหรับกรณีการแต่งตั้งบอร์ดบริหารของบริษัทยังสามารถแต่งตั้งได้ เนื่องจากมีเสียงของผู้ถือหุ้นในการแต่งตั้งบอร์ดรวมกันเกิน 51%

ขณะที่ ณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ WEH ได้กล่าวว่า บริษัทยังมีการดำเนินงานปกติ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาปัญหานั้นเป็นปัญหาของผู้ถือหุ้นบริษัท โดยรายได้ในปีที่ผ่านมาเขากล่าวว่าอยู่ที่ราวๆ 10,000 ล้านบาท และมีกำไรอยู่ราวๆ 5,000 ล้านบาท

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ WEH ยังกล่าวว่า ในการขยายโครงการพลังงานลม หรือแม้แต่พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติมนั้นบริษัทจะใช้กระแสเงินสด รวมถึงกำไรของบริษัทในการลงทุนต่อไป

]]>
1467423
กฤษณ์-กรณ์ ณรงค์เดช แถลงคดี “หุ้นวินด์” ศาลตัดสินชัดบิดา “ถูกปลอมลายเซ็น” https://positioningmag.com/1448947 Fri, 20 Oct 2023 08:17:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1448947
  • ศึกสายเลือด “ณรงค์เดช” ที่ยืดเยื้อมาเกือบ 7 ปี มีความคืบหน้าแล้วหลังศาลอาญากรุงเทพใต้ตัดสินว่า นายเกษม ณรงค์เดช “ถูกปลอมลายเซ็น” เอกสาร 5 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับ “หุ้นวินด์” จริงตามที่ครอบครัวณรงค์เดชยืนยันมาตลอด
  • อย่างไรก็ตาม ศาลยกฟ้องในส่วนของผู้ปลอมแปลงเอกสาร เนื่องจากขาดหลักฐานพยานยืนยันว่าใครเป็นผู้กระทำ
  • ครอบครัวณรงค์เดชยืนยัน ปัจจุบันมีเพียงนายกฤษณ์ ลูกชายคนโต และนายกรณ์ ลูกชายคนเล็ก ทายาทครอบครัวเพียง 2 คนที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจ
  • นายกฤษณ์ ณรงค์เดช นายกรณ์ ณรงค์เดช ร่วมด้วย นายทิชา ป้อมค่าย ทนายครอบครัว จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงความคืบหน้าของคดีหมายเลขดำที่ 1708/2564 กรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายณพ ณรงค์เดช และคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา กับพวกในข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ตั้งแต่ปี 2564

    ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ1753/2566 โดยศาลมีคำสั่งพิพากษาว่า เอกสารจำนวน 5 ฉบับเป็นลายเซ็นปลอม กล่าวคือ

    1) สัญญาซื้อขายหุ้นวินด์ ที่นายเกษม ทำกับบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด

    2) หนังสือแต่งตั้งตัวแทน ที่นายเกษม รับเป็นตัวแทนของคุณหญิงกอแก้วในการซื้อหุ้นวินด์

    3) ตราสารการโอนหุ้น ที่นายเกษม โอนหุ้นของบริษัทโกลเด้นมิวสิค ให้แก่คุณหญิงกอแก้ว

    4) ใบซื้อขายหุ้น ที่นายเกษม ขายหุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิค ให้แก่คุณหญิงกอแก้ว

    5) คำประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นทรัสต์ ที่นายเกษมประกาศว่า หุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิคเป็นของคุณหญิงกอแก้ว และผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากหุ้นต้องตกเป็นของคุณหญิงกอแก้ว

    ณรงค์เดช หุ้นวินด์
    เอกสารหลักฐาน ใบซื้อขายหุ้น ที่นายเกษม ขายหุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิค ให้แก่คุณหญิงกอแก้ว ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นลายเซ็นปลอม (ภาพจาก: ครอบครัวณรงค์เดช)

    เมื่อเป็นเอกสารลงลายเซ็นปลอม ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ริบเอกสารทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว การถือเป็นทรัพย์ที่มีไว้จะเป็นความผิดหรือโดยนำไปใช้ก็จะมีความผิดเช่นกัน

    อย่างไรก็ตาม คดีนี้ศาลได้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากฝ่ายโจทก์ (นายเกษม) ไม่สามารถยืนยันระบุได้ว่าจำเลยคนใดเป็นผู้ทำเอกสารปลอม

    นายทิชา ทนายครอบครัวอธิบายเพิ่มเติมว่า ผลตัดสินนี้จึงถือได้ว่านายเกษมไม่เคยเป็นตัวแทนหรือนอมินีของคุณหญิงกอแก้วในการซื้อหุ้นวินด์ เอนเนอยี ตามที่นายณพ และคุณหญิงกอแก้วได้กล่าวอ้างมาตลอด และเมื่อเอกสารเกี่ยวกับการโอนหุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิคระหว่างนายเกษมและคุณหญิงกอแก้วเป็นเอกสารปลอม การโอนหุ้นจึงไม่มีผลทางกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ

    งานแถลงข่าวคำพิพากษาคดีปลอมลายเซ็นนายเกษม ณรงค์เดช ณ ตึก One City Centre

    หลังจากนี้ ครอบครัวณรงค์เดชจะใช้คำพิพากษาแจ้งต่อนายทะเบียนในเขตปกครองพิเศษฮ่องกงให้ทราบและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นในทะเบียนบริษัท เนื่องจากผลของคดีทำให้การโอนหุ้นของบริษัท โกลเด้นมิวสิค ลิมิเต็ดไปให้คุณหญิงกอแก้วเป็นโมฆะ นายเกษมยังคงเป็นผู้ถือหุ้น 99.99% ในโกลเด้นมิวสิค

    โดยนายกฤษณ์ ณรงค์เดชเสริมว่า ปัจจุบันบริษัท โกลเด้นมิวสิค ลิมิเต็ดถือหุ้นอยู่ในบริษัท วินด์ เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) เป็นสัดส่วน 38% ถือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด

    นอกจากการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้น นายทิชากล่าวว่า ผลพิพากษาคดีนี้จะมีผลเกี่ยวเนื่องกับคดีอื่นๆ อีกนับสิบคดีที่ยังอยู่ในชั้นศาลขณะนี้ด้วย

    จุดเริ่มต้นศึก “ณรงค์เดช”

    ศึกสายเลือดณรงค์เดชครั้งนี้เริ่มต้นในปี 2558 นายณพ ณรงค์เดช ลูกชายคนกลางของครอบครัว นำเสนอให้ครอบครัวซื้อหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด มูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ มาจากนายนพพร ศุภพิพัฒน์ ซึ่งทางครอบครัวนำโดยนายเกษม ณรงค์เดช ผู้เป็นบิดา เห็นชอบในการลงทุนนี้และให้นายณพเป็นแม่งานหลักในการซื้อหุ้น โดยตั้งใจให้วินด์ฯ เข้ามาเป็นธุรกิจใหม่ในอาณาจักรของครอบครัว พร้อมลงลายลักษณ์อักษรการจัดสรรแบ่งหุ้นกันในหมู่พี่น้อง

    การดำเนินการผ่านไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2561 นายเกษม ณรงค์เดชกลับได้รับหมายศาลจากนายนพพรว่ามีคดี “โกงค่าหุ้น” เกิดขึ้น โดยทางนายนพพรได้รับชำระค่าหุ้นมาเพียง 150 ล้านเหรียญสหรัฐ

    หลังจากนั้นครอบครัวณรงค์เดชฝั่งนายเกษมจึงสืบทราบว่า หุ้นของวินด์ เอนเนอยีถูกโอนไปอยู่ในมือบริษัท โกลเด้นมิวสิค ลิมิเต็ด ที่จดทะเบียนในฮ่องกง และนายเกษมกลายเป็น “นอมินี” ในการโอนหุ้นของวินด์ฯ ไปจนถึงมือคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา ซึ่งนายเกษมยืนยันมาตลอดว่า เอกสารที่เกี่ยวกับการเป็นนอมินีโอนหุ้นไปให้คุณหญิงกอแก้วนี้ตนไม่เคยได้เห็นและลายมือชื่อในเอกสารถูกปลอมขึ้น

    คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดานั้นมีศักดิ์เป็น “แม่ยาย” ของนายณพ ณรงค์เดช โดยนายณพแต่งงานกับนางพอฤทัย ณรงค์เดช (บุณยะจินดา) ลูกสาวของคุณหญิงกอแก้วกับพล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อดีตอธิบดีกรมตำรวจ (เสียชีวิตแล้ว)

    เมื่อความปรากฏเช่นนี้แล้ว จึงกลายเป็นว่าประเด็นนี้มีทั้ง “ศึกภายใน” คือ หุ้นวินด์ เอนเนอยีที่ทางนายเกษมยืนยันว่าเป็นธุรกิจของครอบครัว ขณะที่นายณพก็ยืนยันว่าเป็นธุรกิจส่วนตัวเฉพาะของตน รวมถึงมี “ศึกภายนอก” ที่นายนพพร ฟ้องร้องเรียกเงินค้างชำระค่าหุ้นวินด์ฯ

    พิสูจน์ความจริงเพื่อกู้ชื่อเสียง “คุณพ่อ”

    หลังมีคำพิพากษาเรื่องการปลอมลายเซ็นจากศาลอาญากรุงเทพใต้ นายกรณ์ ณรงค์เดชกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ดำเนินมาเกือบจะ 7 ปีนี้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่นำความทุกข์ใจมาให้ครอบครัวอย่างมาก

    “ตอนเกิดเรื่องพ่อผมอายุ 82 ปีแล้ว ผมรู้สึกสงสารคุณพ่อสุดหัวใจ” นายกรณ์กล่าว “การฟ้องร้องเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ก็จำเป็นต้องทำความจริงให้ปรากฏ ซึ่งวันนี้คุณพ่อได้พิสูจน์แล้วว่า พ่อไม่ได้เป็นคนกระทำผิด และคุณพ่อพูดความจริงมาตลอดว่าถูกปลอมลายเซ็น”

    ณรงค์เดช หุ้นวินด์
    (จากซ้าย) นายกรณ์ ณรงค์เดช ลูกชายคนเล็ก, นายกฤษณ์​ ณรงค์เดช ลูกชายคนโต และนายทิชา ป้อมค่าย ทนายความครอบครัว

    ที่ผ่านมานายเกษมได้ถูกเข้าใจผิดมาเป็นระยะเวลาหลายปีว่า การที่นายเกษมออกมาพูดเรื่องการถูกปลอมลายมือชื่อเพื่อโอนหุ้นของนายเกษมไปให้แก่คุณหญิงกอแก้วเป็นเรื่องไม่จริง ซึ่งครอบครัวณรงค์เดชได้ใช้ความอดทนเพื่อรอการพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรมเรื่อยมา

    จนกระทั่งวันนี้หลักฐานถูกพิสูจน์แล้วโดยหน่วยงานรัฐที่เชื่อถือได้ ได้แก่ กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ผลการตรวจสอบจากทั้ง 2 สถาบันล้วนยืนยันออกมาตรงกันว่าเป็นลายมือชื่อปลอม

    ทายาทเหลือแค่ 2 คน – ทำธรรมนูญครอบครัวป้องกันปัญหา

    ด้านการดูแลธุรกิจ “กงสี” ของครอบครัวณรงค์เดชที่มีนับสิบบริษัท นายกฤษณ์ ลูกชายคนโตระบุว่า ขณะนี้จะมีทายาทเพียง 2 คนเท่านั้นคือตนและนายกรณ์ที่เป็นผู้ดูแลบริหารทั้งหมด

    รวมถึงจะมีการจัดทำธรรมนูญครอบครัวเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อป้องกันไม่ให้มีศึกสายเลือดขึ้นอีก

    นายกฤษณ์และนายกรณ์เล่าถึงประวัติในครอบครัวว่า ครอบครัวโตมากับการมี “คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช (พรประภา)” เป็นผู้ดูแลจัดการระบบกงสีภายในบ้าน คุณหญิงพรทิพย์เปรียบเสมือน ‘ผู้คุมกฎ’ ซึ่งเป็นกฎที่พูดกันด้วยวาจา ไม่มีการลงลายลักษณ์อักษรไว้ เมื่อสิ้นคุณหญิงแล้วกฎจึงเกิดการอะลุ้มอะล่วยขึ้น

    “เราคุยกันในครอบครัวแล้วว่า ต่อไปเป็นหน้าที่ผมกับกรณ์ที่จะปกป้องตระกูลไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก” กฤษณ์กล่าว

    ]]>
    1448947