สมพล ตรีภพนารถ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 21 Dec 2021 04:18:32 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เกมใหม่ MBK เปิดเช้าตรู่ยันท่องราตรี ใช้โมเดลค่าเช่าเเบบ GP ลุยถือหุ้นร้านอาหารดังต่างจังหวัด https://positioningmag.com/1367200 Mon, 20 Dec 2021 08:33:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1367200 การเปลี่ยนเเปลงครั้งใหญ่ของศูนย์การค้า MBK Center’ ในรอบ 36 ปี น่าจับตามองไม่น้อย หลังลูกค้าหลักชาวต่างชาติหายวับไปพร้อมมรสุมโควิด โจทย์ใหญ่ต่อไป คือจะทำอย่างไรให้เเปลงร่างมาเป็นห้างฯ สำหรับคนไทยที่จะมาใช้เวลาอยู่ได้ ‘ตลอดทั้งวัน’ เเละยังคงดึงดูดใจชาวต่างชาติเหมือนเดิม

สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) มาอัปเดตความคืบหน้าของเเผนโครงการใหม่ให้ฟังว่าอาหารและเครื่องดื่ม คือหัวใจสำคัญในการปรับโซนนิ่ง รีโนเวทเเละปรับภาพลักษณ์ห้างใหม่ครั้งนี้ เพื่อจับลูกค้าคนไทยโดยเฉพาะ

โดยจะมีบริการต่างๆ มาเสิร์ฟลูกค้าตั้งเเต่ 7 โมงเช้า ไปจนถึงเเฮงเอ้าท์ดึกๆ ยามค่ำคืน ปรับสัดส่วนร้านอาหารและเครื่องดื่ม จากเดิมที่ 16% ให้เป็น 25% พร้อมเปิดพื้นที่สร้างสรรค์กับซิกเนเจอร์อีเวนต์ (Signature Event) ที่จะมีจัดงาน Idol Exchange ทุกเดือน และการประกวด Cover Dance ด้วย 

พร้อมเสนอทางเลือกให้ผู้ประกอบการจากค่าเช่าพื้นที่เเบบ Fixed Rent สู่ระบบ GP เตรียมถือหุ้นใน “ร้านดังต่างจังหวัด” คุยไว้ 4-5 ร้านในปีหน้า เเละมุ่งขยายอาณาจักร ‘คอมมูนิตี้มอลล์’ บนที่ดินของตัวเอง

พระเอกคือร้านอาหาร อยู่ได้ทั้งวัน เช้าตรู่ยันท่องราตรี 

ศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ เริ่มปรับปรุงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท ทำการปรับโฉมและปรับพื้นที่ เพิ่มร้านค้าใหม่ๆ เข้ามาให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

วางโพสชั่นใหม่เป็น ‘All Day Dining’ ซึ่งจะมีร้านอาหารครอบคลุ่มทั้ง 4 ช่วงเวลา ทั้งเช้า เที่ยง บ่าย เย็นถึงดึก เพื่อรองรับคนทำงาน นักท่องเที่ยวเเละกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักเรียนนักศึกษาที่จะมาเรียนกวดวิชา ซึ่งได้วางกิมมิคสำคัญไว้ว่าห้างฯเเห่งนี้ จะมีติวเตอร์มากถึง 25 สถาบันชื่อดัง มารวมไว้ที่เดียว โดยเบื้องต้นเเบ่งจะมีการเปลี่ยนเเปลงเป็น 

  • ชั้น G จะเน้นเป็นโซนร้านอาหารเเละเครื่องดื่ม คาเฟ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ฟาสต์ฟู้ดเเบรนด์ต่างๆ รับกลุ่มลูกค้าตื่นเช้า เปิดทางเข้าใหม่เพื่อความสะดวก ตั้งเเต่ 07.00 น. เป็นต้นไป ขณะเดียวกันก็จะมีร้านค้าเเฟชั่นของไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล (เครือสหพัฒน์) ด้วย
  • ชั้น 2 เน้นร้านอาหารเเละเครื่องดื่มเหมือนกัน เเต่จะเเตกต่างด้วยการเป็น Bar & Restaurant เพิ่มพื้นที่ลาน Sky Walk รับกลุ่มลูกค้าที่จะมาสังสรรค์ยามราตรี เช่น ร้าน Cat on the roof , Secret Chamber , Shinkanzen Sushi , Tim Hortons , Oppa Daek, ลิ้มเหล่าโหงว , Hunter Village เเละหรือร้านสุกี้ตี๋น้อย ที่จะเปิดให้บริการถึงตี 5 รวมไปถึงซูเปอร์ญี่ปุ่นอย่าง DON DON DONKI ขนาด 3,000 ตร.ม. ที่จะมาเปิด 24 ชั่วโมง เป็นแฟลกชิปสโตร์สาขาใหญ่สุดในไทย (แทนโซนห้างโตคิว)
  • ชั้น 3 ยังคงคอนเซปต์เดิมเพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยจะมีโซนเครื่องประดับเพชร-ทอง สินค้าเเฟชั่นที่ชาวต่างชาตินิยมซื้อ ของฝาก ฯลฯ
  • ชั้น 4 อาณาจักรร้านตู้รายย่อยที่ขายมือถือ-แกดเจ็ต บวกกับร้านใหญ่ๆ ที่จะเข้ามาเพิ่มอย่าง Advice, Mi, JD Central, CSC ฯลฯ
  • ชั้น 5 สถาบันกวดวิชาติวเตอร์ 25 เเห่ง เป็น Learning Hub ที่เปลี่ยนเเปลงมาจากโซนเอ้าท์เล็ต
  • ชั้น 6 และ ชั้น 7 จะเป็นลานกิจกรรมใหม่ มีทั้งโซนร้านอาหารเเละช้อปปิ้งเดินเล่น สินค้าลดราคาจากโรงงาน เเละความบันเทิงอย่างโรงหนัง SF คาราโอเกะ โบว์ลิ่ง เธียเตอร์ BNK48 เเละร้าน Animate

อ่านเพิ่มเติม : โฉมใหม่ MBK “ดองกิ” มาแทนโตคิว ผุดโซนกินดื่มมัดใจคนทำงาน

โดยผู้บริหาร MBK มองว่า ในยุคโควิด ‘ร้านอาหาร’ เป็นกุญเเจสำคัญที่จะดึงให้คนมาที่ศูนย์การค้ามากขึ้น ส่วนสินค้าพวกเเฟชั่นจะเป็นตัวรอง เพราะว่ายามที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีนัก คนเราจะงดซื้อเสื้อผ้าได้ เเต่อาหารเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวัน ผู้คนยังต้องการมีประสบการณ์ทานข้าวนอกบ้าน อยากนั่งทานที่ร้านสลับกับเดลิเวอรี่ นี่จึงเป็นจุดที่จะดึงลูกค้าคนไทยเข้ามาใช้บริการมากขึ้น

การปรับปรุงใหม่ครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดึงทราฟฟิกปริมาณคนเข้าศูนย์การค้า ในปีหน้าได้ประมาณ 90,000 คนต่อวัน เเบ่งเป็นคนไทย 60% เเละต่างชาติเหลือแค่ 40% จากเดิมปีนี้ที่มีประมาณ 80,000 คนต่อวัน

ทั้งนี้ ช่วงก่อนโรคระบาดทราฟฟิกลูกค้าที่มาเดินมา MBK อยู่ที่ 80,000 คนต่อวัน (เคยไปถึง 120,000 คนต่อวัน) เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 60% เเละคนไทย 40%

– สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)

จาก Fixed Rent สู่ระบบ GP 

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ MBK นำมาใช้เกี่ยวกับการปรับค่าเช่าพื้นที่ใหม่ นั่นก็คือ การเสนอทางเลือกให้กับผู้ประกอบการ ว่าจะเลือก ระบบเก็บค่าเช่าแบบ “Fixed Rent” ตามจำนวนพื้นที่เช่าเท่าๆ กันในเเต่ละเดือน หรือจะหันมาลองใช้ระบบ ระบบ “GP” ที่คิดค่าเช่าตามสัดส่วนยอดขายของร้าน 

สำหรับข้อดีของระบบ GP คือทางร้านไม่ต้องรับความเสี่ยงหากมีลูกค้าน้อยหรือรายได้ไม่ค่อยดีในช่วงวิกฤตโควิดขายได้มากน้อยก็จ่ายตามเปอร์เซ็นต์ที่เจรจาตกลงกันไว้

โดยค่า GP ของศูนย์การค้า  MBK จะเริ่มตั้งแต่ 5 – 35% ของยอดขาย ขึ้นอยู่กับการเจรจา อิงตามหลายปัจจัย อย่างเช่น ชื่อเสียงของแบรนด์ ขนาดกิจการ ขนาดพื้นที่เเละทำเล

อย่างไรก็ตาม ระบบ GP อาจไม่เหมาะกับร้านที่ทำยอดขายได้ดีหรือคนเข้าร้านเยอะอยู่เเล้ว เพราะยอดที่ต้องจ่ายเเทนค่าเช่าตามสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่ตกลงนั้น อาจจะเเพงกว่าค่าเช่าแบบ Fixed Rent รายเดือนก็ได้

ดังนั้น หน้าที่ของศูนย์การค้า จึงจะต้องมุ่งทำการตลาด โปรโมทโปรโมชั่น ออกแคมเปญส่งเสริมการขาย รวมไปถึงจัดอีเวนท์ต่างๆ กระตุ้นให้ผู้บริโภคมาใช้บริการในพื้นที่มากขึ้น เพื่อเพิ่มยอดขายให้ร้านภายในห้างฯ เมื่อขายดีมากขึ้น ก็ยิ่งได้ค่า GP มากขึ้นนั่นเอง

MBK จะเริ่มนำระบบ GP มาใช้ครั้งเเรกกับกลุ่มร้านอาหารก่อน ทั้งร้านเดิมเเละร้านใหม่ ในสัญญาปี 2565 เเละวางเเผนว่าจะไปจะนำไปใช้กับกลุ่มธุรกิจแฟชั่นต่อไป โดยคาดว่า ไตรมาส 2 ปีหน้า อัตราการเช่าทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเป็น 96% จาก 76% ในปัจจุบัน

การที่เราหันมาเสนอทางเลือกให้ใช้ระบบ GP สัญญา 3 ปี ผู้ประกอบการจะรู้สึกว่าเราไปด้วยกันกับเขา ได้ก็ได้ด้วยกัน เสียก็เสียด้วยกัน ในฐานะ Landlord เราต้องทำมาร์เก็ตติ้งชวนให้คนมาดื่มมากินที่ MBK ได้ตลอดทั้งวัน พยายามหาร้านดังในต่างจังหวัดที่ไม่มีในกรุงเทพ ให้มาเปิดที่นี่ให้ได้

เตรียมถือหุ้นใน “ร้านอาหารดังต่างจังหวัด” 

MBK ต้องการเสริมพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มให้มีความแข็งแกร่งและหลากหลาย จากเดิมที่มีกลุ่มโรงแรม อสังหาฯ ค้าปลีกรีเทล โดยการเติมเต็มโครงการศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ที่เจาะกลุ่มครอบครัว ด้วยธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม นั้นก็เป็นทิศทางที่ดี

โดย MBK กำลังจะใช้โมเดล “ร่วมทุน” เป็นพันธมิตรเข้าไปถือหุ้นใน “ร้านอาหารดังในต่างจังหวัด” ที่มีชื่อเสียงอยู่เเล้ว โดยเบื้องต้นมีการศึกษาและเริ่มเจรจากับ 4-5 ร้านเเล้ว เช่น ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่เเละชานเมืองกรุงเทพ มีทั้งเมนูประเภทสเต็ก อาหารจีน ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ

คาดว่าในปีหน้า อาจจะเจรจาสำเร็จและเปิดตัวได้อย่างน้อยไตรมาสละ 1 ร้าน หรือทั้งปีอาจะจะดีลได้สำเร็จทั้ง 4 ร้าน เน้นเป็นร้านอาหารขนาดเล็กทั่วไป มาสร้างให้เติบโตไปด้วยกัน ทางห้างฯ ได้ Know-How จากผู้ประกอบการ ขณะที่ผู้ประกอบการก็ได้เงินทุน ได้ขยายสาขา

“เราอยากเปลี่ยนแปลง MBK ไม่อยากได้ร้านอาหารที่อยู่ในปั๊มน้ำมัน หรือไปเดินที่ไหนก็เจอ แต่อยากได้ร้านที่ทำให้รู้สึกว่าต้องมาที่นี่ ถึงจะได้ทานร้านนี้” 

ขยายอาณาจักร ‘คอมมูนิตี้มอลล์’ บนที่ดินของตัวเอง 

ล่าสุด บริษัทยังได้ขยายธุรกิจไปในทำเลฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ในโครงการ “เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์” ซึ่งเป็นโมเดิร์น ไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้มอลล์ บนพื้นที่กว่า 30,000 ตร.ม. ใกล้สนามกอล์ฟ ริเวอร์เดล กอล์ฟ คลับ และสนามกอล์ฟบางกอก กอล์ฟ คลับ

โดยมองว่า เป็น ‘ทำเลทอง’ ที่เหมาะจะเจาะกลุ่มครอบครัว เพราะโซนหมู่บ้านที่ผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมาก รวมไปถึงสำนักงานต่างๆ เเละ “การที่ไม่ต้องเช่าที่ ก็ทำให้เราได้ยืนอยู่บนขาของตัวเอง” 

สมพลบอกว่า เเม้ตอนนี้จะมีคอมมูนิตี้มอลล์ผุดขึ้นมามากมาย มีการเเข่งขันสูง เเต่คอมมูนิตี้มอลล์ที่จะอยู่รอดได้นั้น ต้องมีสามารถดึงดูดลูกค้าได้ทั้งวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) เน้นเป็นพนักงานออฟฟิศ เเละวันหยุดสุดสัปดาห์ (เสาร์-อาทิตย์) เน้นเป็นครอบครัว มีร้านอาหารที่คนจะมากินเป็นประจำ มีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจที่ให้คนมาใช้เวลาอยู่ได้นานๆ 

ปัจจุบัน ได้ย้ายพนักงานแอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ไทยแลนด์) บริษัทในเครือเอ็ม บี เค ย่านบางนา ซึ่งเป็นศูนย์ประมูลรถยนต์และรถจักรยานยนต์มือสองครบวงจร เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของบริษัทเป็นที่เรียบร้อย เเละจะทยอยเปิดพื้นที่ให้มีสำนักงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมี ‘โปรเจ็กต์ใหญ่’ ที่จะขยายคอมมูนิตี้เพื่อรองรับธุรกิจครบวงจร พร้อมจะสร้าง “ท่าเรือมารีน่า” ในอนาคตอันใกล้นี้ 

ผู้บริหาร MBK เเย้มว่า ทำเลของคอมมูนิตี้มอลล์เเห่งต่อไป กำลังดูๆ ไว้เเถว ‘จรัญสนิทวงศ์’ ซึ่งก็เป็นที่ดินของบริษัท เช่นเดียวกัน ตามโมเดลที่จะพยายามไม่ต้องเสียค่าเช่า เเละยืนอยู่บนขาของตัวเอง…

 

]]>
1367200
โฉมใหม่ MBK “ดองกิ” มาแทนโตคิว ผุดโซนกินดื่มมัดใจคนทำงาน https://positioningmag.com/1317279 Sun, 31 Jan 2021 16:55:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1317279 อัปเดตแผน MBK พลิกโฉมครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เปิดห้างฯ 40% ของศูนย์การค้าเตรียมปรับใหม่เพื่อดึงคนไทยมากขึ้น เปิดสารพัดแม่เหล็กสำคัญ ตั้งแต่ “ดองกิ” ที่จะเหมาชั้น 2 ของโตคิวเดิม เปิดแบบ 24 ชั่วโมง ฟากศูนย์การค้าชั้น 2 จะมีโซนแฮงก์เอาต์กินดื่ม อิซากายะ ข้าวต้มรอบดึก เพิ่มอาณาจักรไอทีอย่าง Advice, Mi, JD Central เปิดร้านรับยุค O2O พบกันไตรมาส 3 ปีนี้

MBK Center กำลังโยกย้ายปรับโซนนิ่งในศูนย์การค้าใหม่ มีโจทย์สำคัญคือการเปลี่ยนศูนย์ฯ ให้เป็น “ห้างฯ ของคนรุ่นใหม่” สำหรับคนไทย โดยไม่ทิ้งชาวต่างชาติ ด้วยร้านค้าที่ดึงดูดมากกว่าเดิม

“สมพล ตรีภพนารถ” กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ศูนย์ฯ อยู่ระหว่างปรับพลิกโฉมครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เปิดบริการเมื่อ 36 ปีก่อน โดย 40% ของพื้นที่ขายรวม 84,000 ตร.ม. จะมีการเปลี่ยนแปลง คอนเซ็ปต์ใหม่เป็นคำตอบของการตีโจทย์ “ดึงคนไทยเดินห้างฯ” ให้มากขึ้น จากปกติก่อน COVID-19 มีชาวต่างชาติ 70% คนไทย 30% หลังจากนี้จะปรับสัดส่วนให้เป็น 50 : 50

สมพลกล่าวว่า แผนการปรับศูนย์ฯ เริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว โดยบริษัทเล็งเห็นว่าศูนย์ฯ ควรจะต้องดึงดูดคนไทยให้ได้มากกว่านี้ หลังจากรอบข้างมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังที่เห็นว่าที่ผ่านมา MBK มีการใช้ “ไอดอล มาร์เก็ตติ้ง” มีเธียเตอร์ BNK48 เข้ามาเปิด

จากแผนที่ได้ศึกษาไว้แล้ว ประกอบกับ “โตคิว” ต้องการถอนการลงทุนด้านรีเทลในไทย ทำให้มีโอกาสรวบพื้นที่ส่วนนี้ 4 ชั้น 12,000 ตร.ม. มาปรับปรุงใหม่พร้อมๆ กัน และครั้งนี้ MBK จะปล่อยเช่าเองทั้งหมด ต่างจากเดิมที่เป็นห้างสรรพสินค้ารายใดรายหนึ่งเช่ารวมเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้ยิ่งเห็นแผนการสร้างบรรยากาศใหม่ที่ชัดขึ้น

สรุปแผนของ MBK สมพลแจกแจงไล่ไปทีละชั้น จะมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

ชั้น G – ฝั่งโตคิวเดิม จะมีร้านค้าแบรนด์ใหม่ลงทุนโดย ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล (เครือสหพัฒน์) เหมาทั้งชั้นสินค้าเป็นกลุ่มแฟชัน ส่วนฝั่ง MBK โซนด้านหน้าติดถนนพญาไททั้งหมดจะเป็นร้านอาหาร โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ที่เปิดเผยได้แล้วคือร้าน “ป้อน” จะเข้ามาเปิดในโซน B ส่วนบริเวณ Tops Supermarket จะมีการขยายพื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตให้ใหญ่ขึ้น และปรับปรุงทางเข้าออกจุด drop-off ให้กว้างขวางขึ้น

ร้านป้อน ชั้น G

ชั้น 2 – ฝั่งโตคิวเดิม จะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต DON DON DONKI หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “ดองกิ” ขนาด 3,000 ตร.ม. และเปิด 24 ชั่วโมง เป็นแฟลกชิปสโตร์สาขาใหญ่สุดในประเทศไทย ส่วนด้านนอกโตคิว จะเป็นโซนร้านอาหารอีกเช่นกันแต่เน้นจับกลุ่มวัยทำงาน มีไฮไลต์เป็นโซนกินดื่ม พร้อมด้วยร้านข้าวต้มรอบดึกตอบโจทย์การแฮงก์เอาต์ นอกจากจะมีร้านอาหาร เช่น Tim Hortons, ฮองมิน, Shinkanzen Sushi, S&P ซึ่งสองร้านหลังจะเปิดยาวถึงตี 1

DON DON DONKI หรือ ดองกิ เตรียมเปิดบนชั้น 2 และเป็นสาขาใหญ่ 3,000 ตร.ม.

ชั้น 3 – ฝั่งโตคิวเดิม ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาผู้เช่า โดยมีผู้เช่าติดต่อแล้วแยกเป็น 2 กลุ่ม ส่วนด้านนอกโตคิว จะเป็นโซน “ไทย-เทศ” ชั้นนี้จะร้านค้าขายของฝาก ของดีเมืองไทย

ชั้น 4 – ฝั่งโตคิวเดิมที่เคยเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต จะกลายเป็นอาณาจักรไอที เพื่อให้ต่อเนื่องกับพื้้นที่ชั้น 4 ของ MBK ที่ทุกคนรู้จักดีว่าเป็นดินแดนมือถือ-แกดเจ็ต มีร้านใหม่ๆ ที่จะเข้ามา เช่น Advice, Mi, JD Central, CSC ส่วนพื้นที่ขายมือถือจะปรับจำนวนตู้ขายลง 50% เพื่อเพิ่มพื้นที่ร้านแต่ละห้องให้ใหญ่ขึ้น และทางเดินโปร่งขึ้น พร้อมคอนเฟิร์มว่า “ร้านขนมเบื้อง” ซิกเนเจอร์ MBK จะยังอยู่ที่ชั้นนี้

ชั้น 5 – พลิกโฉมใหม่หมดจด จากเคยเป็น Outlet กลายเป็น Learning Hub และโซนธุรกิจบริการ มีสถาบันกวดวิชาที่เซ็นสัญญาแล้ว 24 ราย (บางส่วนเปิดที่ชั้น 4 และ 6 ด้วย) นำโดย “ออนดีมานด์” ที่ใช้พื้นที่มากกว่า 2,000 ตร.ม. และอีกหลายแห่ง เช่น DA’VANCE, Positive Learning, EP Focus, The BTS, Sup’K, Monkey Monkey, Math Logik และชั้นนี้มี ศูนย์บริการพาสปอร์ต เปิดแล้ว รวมถึงบริการอื่นๆ เช่น Kerry Express, ซ่อมคอมพิวเตอร์

สถาบันกวดวิชาออนดีมานด์ ชั้น 5

ชั้น 6 – เป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซและออฟฟิศ TTA Space by Draftboard ส่วนฝั่งฟู้ดคอร์ทและกลุ่มร้านอาหาร ยังคงไว้เช่นเดิม แต่จะมีการรีโนเวตให้สวยงามขึ้น

ชั้น 7โซนโรงหนัง SF และกิจกรรมความบันเทิง คาราโอเกะ โบว์ลิ่ง เธียเตอร์ BNK48 ร้าน Animate ตู้เกม โดยโรงหนัง SF จะมีการปรับโรงภาพยนตร์ VIP ใหม่

นอกจากมีร้านใหม่ลงจำนวนมากแล้ว MBK จะปรับสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มด้วย โดยมี “ลิฟต์แก้ว” ตัวใหม่บริเวณหน้าโตคิวเดิมวิ่งขึ้นลงชั้น 2-7 และจะปรับบันไดเลื่อนใหม่ 8 จุด ทั้งหมดนี้ใช้งบรวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

 

ไตรมาส 3 พร้อมเปิดตัว

สมพลกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้เช่าเซ็นสัญญาแล้ว 80% และวางเป้าไตรมาส 3 ปีนี้จะเปิดตัวแบบแกรนด์โอเพนนิ่ง และร้านต่างๆ จะเปิดครบ 100% ภายในสิ้นปีนี้

บรรยากาศปัจจุบันบนชั้น 5

ส่วนกรณีผู้เช่าเดิม สมพลกล่าวว่า หากยังไม่หมดสัญญาบริษัทจะมีการเจรจาว่าขณะนี้ศูนย์ฯ ต้องรีโนเวตใหม่ มีการจัดโซนนิ่ง เช่น ร้านขายของฝาก ช้อปปิ้ง จะย้ายไปรวมบนชั้น 3 ผู้เช่าที่ยินดีย้ายห้องตามการจัดโซนนิ่งมีการย้ายไปแล้ว ส่วนผู้เช่าที่ไม่ต้องการย้ายจะยังอยู่ที่เดิมไปจนกว่าจะหมดสัญญา และขณะนี้ MBK ยังคงให้ส่วนลดค่าเช่า 70% เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

สมพลยังระบุถึงบางร้านที่เป็นตำนานของ MBK เช่น กลุ่มร้านเฟอร์นิเจอร์บนชั้น 5 บางร้านยังต่อสัญญากับศูนย์ฯ หรือร้านอาหารฮองมินที่อยู่กับศูนย์ฯ มาหลายสิบปีก็ยังไปต่อ โดยยอมปรับย้ายไปอยู่บนชั้น 2 ที่จะเป็นโซนร้านอาหาร

 

ปี’64 เน้นคนไทย รอต่างชาติมาสมทบปีหน้า

“ปี’64 นี้จะยังเป็นกลุ่มลูกค้าคนไทย โดยเชื่อว่าจะเริ่มดีขึ้นในไตรมาส 3 เพราะตามแผนจะเริ่มมีวัคซีนเข้ามา ทำให้คนมั่นใจในการใช้ชีวิต ดังนั้น ถ้าเราพลิกโฉมให้ทันไตรมาส 3 เราจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้” สมพลกล่าว “ส่วนต่างชาติเป็นปี’65 ที่น่าจะเริ่มเข้ามาได้ประมาณ 50% ของตัวเลขก่อนเกิด COVID-19 โดยเป็นการทำวัคซีนพาสปอร์ต แสดงตนว่าได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจึงเข้ามาเที่ยวในไทยได้”

สมพลระบุว่า ก่อน COVID-19 มีทราฟฟิกเข้า MBK วันละ 80,000 คน แบ่งเป็นต่างชาติราว 50,000 คน และคนไทยราว 30,000 คน

แต่หลัง COVID-19 เกิดขึ้น ปัจจุบันลดเหลือทราฟฟิก 28,000-30,000 คน เพราะมีเฉพาะลูกค้าคนไทย เคยลงไปต่ำสุดคือวันละ 22,000 คน และเคยขึ้นมาดีที่สุดคือวันละ 40,000 คน เป็นช่วงก่อนจะเกิดการระบาดรอบใหม่และรัฐอนุญาตให้จัดอีเวนต์ได้

เมื่อปรับโฉมต่างๆ แล้ว ความคาดหวังคือต้องการดันยอดคนไทยไปถึงวันละ 50,000 คน และต่างชาติที่น่าจะกลับมาวันละ 50,000 คนได้อีกครั้งเมื่อเปิดประเทศ เพราะ MBK มีกลยุทธ์ในการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มทัวร์เข้ามาอยู่แล้ว และเชื่อว่าแม่เหล็กของ MBK ต่อชาวต่างชาติจะยังอยู่ จุดสำคัญนอกจากมาช้อปปิ้งแล้ว ยังมีพ่อค้าแม่ค้าชาวอินเดีย อินโดนีเซียรับหิ้วมือถือมือสองจากชั้น 4 ที่จะกลับมาอีกครั้ง

ความคาดหวังเมื่อไทยเปิดประเทศได้เต็มที่อีกครั้ง MBK จะมีทราฟฟิกไปแตะวันละ 100,000 คน

 

ดองกิ-โซนกินดื่ม-กวดวิชา แม่เหล็กดึงคนไทย

จากการปรับเปลี่ยนทั้งหมด สมพลกล่าวว่า “ดองกิ” คือแม่เหล็กสำคัญที่จะดึงคนได้ถึงวันละ 20,000 คน (เมื่อเปิดประเทศได้เต็มที่) ที่สำคัญก็คือคนไทยซึ่งรู้จักดองกิเป็นอย่างดี โดยดองกิสาขานี้จะใหญ่ที่สุด และจะชูจุดขายสินค้าสดนำเข้าจากญี่ปุ่นในราคาที่ถูกกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าอื่น

รวมถึงโซนกินดื่มบนชั้น 2 จะดึงคนทำงานได้จำนวนมาก หลักๆ คือกลุ่มหนุ่มสาวออฟฟิศจากสำนักงาน SIAMSCAPE ฝั่งสยามสแควร์ (โบนันซ่าเดิม) ซึ่งกำลังก่อสร้าง และ MBK จะเชื่อมสะพานลอยตรงเข้าไปที่ตึกด้วย เมื่อดูจากจำนวนคนที่ใช้บริการ Groove เซ็นทรัลเวิลด์ขณะนี้ จุดนี้มีสิทธิ์ “ฮิต” สูงมาก

นอกจากนี้ยังมีโซนกวดวิชา แค่เพียงออนดีมานด์เจ้าเดียวคาดว่าจะมีนักเรียนเข้ามาวันละ 1,500 คน ยังไม่รวมอีก 23 สถาบัน ซึ่งตรงนี้ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกประการคือ คอร์สเรียนหลายคอร์สเปิดสอนตั้งแต่เช้า ทำให้ร้านอาหารบางร้านสามารถจับจุดนี้และให้บริการเช้าได้

เมื่อมีทั้งแม่เหล็ก เช้าตรู่ ยามดึก และดองกิ 24 ชม. ทำให้ MBK จะเป็นศูนย์ฯ ที่แทบไม่มีเวลาหลับใหลเลยทีเดียว!

]]>
1317279