อิเล็กทรอนิกส์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 10 Sep 2021 10:22:58 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เตรียมตัว Mi งอก! “เสียวหมี่” ตั้งเป้าเปิดสโตร์ 100 จุดในไทย ดันยอดสมาร์ทโฟน-ของใช้ IoT https://positioningmag.com/1351317 Fri, 10 Sep 2021 08:37:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1351317 เสียวหมี่ (Xiaomi) เปิดแผนรุกหนักเปิด Mi Store เพิ่มเป็น 100 จุดในไทยภายในสิ้นปี 2564 เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสสินค้าง่ายขึ้น อนาคตโฟกัสมือถือ High-End มากขึ้น เตรียมนำเข้าของใช้ IoT อีกเพียบหลัง “เครื่องฟอกอากาศ” และ “Mi Band” ฮิตจัด

เป็นปีของ “เสียวหมี่” ทั้งในไทยและตลาดโลก เมื่อสมาร์ทโฟนของเสียวหมี่ปีนี้ขึ้นแท่นอันดับ 1 ในไทยเรียบร้อยแล้ว และขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ตามกลยุทธ์ของเสียวหมี่ไม่ได้จะครองตลาดเฉพาะสมาร์ทโฟน บริษัทยังมีสินค้า IoT อีกมากกว่า 1,000 SKUs ที่ตัองการเจาะเข้าไปอยู่ในบ้านผู้บริโภคทุกหลังคาเรือน

“โจนาธาน คัง” ผู้จัดการ เสียวหมี่ ประเทศไทย เปิดแผนการตลาดในไทย ปีนี้จะมีการเปิด “Mi Store” เพิ่มจากปัจจุบัน 38 จุด เป็น 100 จุดภายในสิ้นปี 2564

เป็นโจทย์ที่ท้าทายของบริษัทเพราะนั่นหมายถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วในเวลาไม่ถึง 4 เดือน แต่บริษัทจะเร่งขยายตัวให้เร็วที่สุดที่ทำได้ โดยมีพันธมิตรศูนย์การค้าติดต่อมาแล้วจำนวนมาก อยู่ระหว่างคัดเลือกพื้นที่

การขยายสโตร์จะแบ่งสัดส่วนเป็นสาขาในกรุงเทพฯ 40% และต่างจังหวัด 60% ส่วนขนาดร้านจะขึ้นอยู่กับหลายๆ ดัชนีชี้วัด เช่น จำนวนประชากร แต่โดยทั่วไปแล้วหัวเมืองจะลงร้านขนาดใหญ่แน่นอน เพื่อให้ลูกค้าได้ประสบการณ์สัมผัสอุปกรณ์ของเสียวหมี่ให้มากที่สุด

แม้ประเทศไทยเพิ่งคลายล็อกดาวน์ และสถานการณ์การระบาดยังไม่แน่นอน แต่บริษัทค่อนข้างมั่นใจเรื่องทิศทางการเปิดสโตร์ ผ่านการประเมินเสียงเรียกร้องของ “แฟนๆ” ที่ส่งข้อความผ่านโซเชียลมีเดียขอให้เสียวหมี่เปิดร้านใกล้บ้าน

 

บุกหนัก “สมาร์ทโฟนไฮเอนด์”

สำหรับสินค้าหลักของเสียวหมี่อย่าง “สมาร์ทโฟน” ที่ปีนี้เพิ่งแซงซัมซุงขึ้นมาครองเบอร์ 1 ได้ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา คังระบุว่า บริษัทจะพยายามคงโมเมนตัมยึดครองเบอร์ 1 ให้ได้ต่อไป

ปัจจุบันสัดส่วนตลาดมือถือในไทยแบ่งตามเซ็กเมนต์ แบ่งเป็น
– Entry-Level (ราคาไม่เกิน 200 USD) สัดส่วน 65%
– Mid-End (ราคา 200-500 USD) สัดส่วน 25%
– High-End (ราคามากกว่า 500 USD) สัดส่วน 10%

Mi Mix Fold สมาร์ทโฟนรุ่นเรือธง

สัดส่วนยอดขายของเสียวหมี่สอดคล้องกับตลาด อย่างไรก็ตาม ปีนี้จะเห็นได้ว่าบริษัทรุกหนักในตลาดบนมากขึ้น จากการออกสมาร์ทโฟนระดับ High-End 3 รุ่น คือ Mi Mix Fold, Mi 11 Ultra และ Mi 11

คังยังประเมินตลาดมือถือไทยด้วยว่า ปี 2564 มีการคาดการณ์จาก Canalys ว่าจะเติบโต 16% แต่เมื่อไตรมาส 2 ตลาดติดลบไป -9% อย่างไรก็ตาม คังเชื่อว่าจนถึงสิ้นปีตลาดไทยน่าจะยังพลิกเป็นบวกได้

โดยปีนี้เชื่อว่าตลาดที่ยังไปได้ดีคือกลุ่ม High-End และ Mid-End เพราะกลุ่มเป้าหมายมีกำลังซื้อ ยังต้องการตามนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีให้ในสมาร์ทโฟน

 

ดึงสินค้า IoT เข้าไทยอีกเพียบ

ด้านสินค้า IoT ที่เสียวหมี่ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน แม้ตอนนี้จะคิดเป็นเพียง 10% ในรายได้รวมของตลาดไทย แต่อนาคตจะมีการนำเข้าสินค้าชนิดใหม่เข้ามาอีกจำนวนมาก

คังมองว่าคนไทยจะให้การตอบรับที่ดีกับของใช้ IoT เหมือนกับทั่วโลกที่เสียวหมี่มองว่าสินค้าที่สามารถ ‘connect’ ได้นั้นจะตอบโจทย์โลกอนาคต

เครื่องฟอกอากาศ Mi สินค้าสุดฮิตในไทย

ปัจจุบัน Top 3 สินค้า IoT ที่ขายดีที่สุดของเสียวหมี่ในไทย คือ เครื่องฟอกอากาศ, Mi Band และ สมาร์ททีวี ที่เพิ่งเข้าไทยครั้งแรกปีนี้

โดยเฉพาะ Mi Band นั้น คังกล่าวว่าเป็นเบอร์ 1 ของตลาดสายรัดข้อมืออัจฉริยะ ครองส่วนแบ่งในไทย 35% และเติบโตได้ถึง 34% YoY

ต้องติดตามต่อว่าเสียวหมี่จะยืนระยะเบอร์ 1 ในตลาดสมาร์ทโฟนได้นานแค่ไหน และสินค้า IoT ที่จะเข้ามาบุกจะมีอะไรบ้าง!

]]>
1351317
วิเคราะห์ทางรอดอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และ IT ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 https://positioningmag.com/1280188 Fri, 29 May 2020 05:10:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1280188 ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เวฟเมคเกอร์ (สำนักงานใหญ่ – ลอนดอน) ได้ทำการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ของกลุ่มธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในระดับโลกผ่านบทความ Week In Review ทั้งนี้ เวฟเมคเกอร์ (ประเทศไทย) ได้จับมือกับ กรุ๊ปเอ็ม ร่วมกันศึกษาต่อและยอดการวิเคราะห์นี้ในบริบทของประเทศไทย

ตลาดทั่วโลกลดลง 30%

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจของโลกถดถอยลงไปมาก การดำเนินการทางธุรกิจของบริษัททั้งเล็กและใหญ่ในหลายๆ ประเทศมีการหยุดชะงัก เนื่องจากมาตรการในการควบคุมโรคระบาดของแต่ละประเทศที่เพิ่มความรัดกุม และเป็นสาเหตุที่ทำให้สายงานด้านการผลิตไม่สามารถที่จะนำเข้าชิ้นส่วนและเปิดโรงงานการผลิตได้อย่างปกติ

มีการคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีแรก ความสามารถในการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญอย่างสมาร์ทโฟนทั่วโลกจะลดลงไปถึง 30% ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงพฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคที่มีความระมัดระวังในเรื่องของการใช้จ่ายที่มากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงที่มาจากอุปสงค์ และอุปทานข้างต้นนี้มีผลโดยตรงต่อการวางแผนในอนาคตของแบรนด์และนักการตลาด โดย เวฟเมคเกอร์ ได้ทำการสำรวจการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคในระดับโลกในช่วงการแพร่ระบาดของสถานการณ์ COVID-19 รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะเน้นไปในเรื่องของใช้ส่วนตัว อย่างโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ณัฐดนัย ตระการวัฒนวงศ์ เจ้าหน้าที่แผนกพัฒนาและการตลาดของ กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) ได้รวบรวมข้อมูลและทำการสรุปผลสำรวจของ เวฟเมคเกอร์ ในบริบทของโลกออกมาได้เป็น 3 ส่วน คือ ด้านธุรกิจ ด้านผู้บริโภค และด้านแบรนด์ ดังนี้

ด้านธุรกิจ

การเลื่อนการจัดการแข่งขันของสปอร์ตอีเวนต์ หรือกีฬาต่างๆ ซึ่งรวมถึงมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างโอลิมปิก ที่มีการโฆษณา และสื่อสารว่าจะมาพร้อมการถ่ายทอดสดด้วยความละเอียดขั้นสูงในระบบ 8K โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจผู้ผลิตสินค้าประเภทนี้ในช่วงนี้ เนื่องจากผู้บริโภคขาดปัจจัยดึงดูดในการอัพเกรดสินค้าประเภทโทรทัศน์ หรือทีวีภายในบ้านขึ้นเป็นสินค้ารุ่นใหม่

ผลการวิเคราะห์จาก GSMA โดยสังเกตจากการที่บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือเลื่อนการเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นใหม่ที่รองรับระบบ 5G ออกไป ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ 5G ต้องเลื่อนเวลาการออกสู่ตลาดและมีผลทำให้ราคาของสินค้าอาจจะต้องถูกปรับลง ทำให้มีการคาดการณ์ว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะปรับการวางแผนการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่

ด้านผู้บริโภค

ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แพลตฟอร์มดิจิทัลได้แทบจะกลายเป็นหนทางเดียวที่ผู้บริโภคทั่วโลกจะสามารถทำงาน ได้รับความรู้ และความบันเทิง ในเวลาที่ถูกกักตัวอยู่กับบ้าน ส่งผลให้เส้นกั้นระหว่างความเชื่อและความเคยชินในเรื่องของ “ความเป็นที่ทำงาน” และ “การอยู่บ้าน” ค่อย ๆ แคบลง

จากข้อมูลของ BBC พบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ประเภทของใช้ส่วนตัวอย่างคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน เป็นสิ่งที่ทุกคนใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นจากการทำงานจากบ้าน แต่ว่าในสถานการณ์แบบนี้ผู้บริโภคยังมีความลังเลในการซื้อ

เนื่องจากความกลัวที่จะได้รับผลกระทบทางด้านการเงินทำให้ผู้บริโภคในประเทศต่างๆ (32% ในสหรัฐอเมริกา, 35% ในทวีปยุโรป และ 44% ในทวีปเอเชียแปซิฟิก) มีพฤติกรรมการวางแผนการใช้เงินที่รัดกุมมากขึ้น

ทั้งนี้พบว่านอกจากผู้บริโภคจะสามารถที่จะรอจนกว่าที่จะเจอโปรโมชั่นจากทางแบรนด์ที่ถูกใจแล้วผู้บริโภคยังหันมาให้ความสนใจกับสินค้าประเภท Wearable Device มากขึ้น เพราะสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่จะมีสุขภาพที่ดีผ่านการวัดค่า หรือจดจำข้อมูลเกี่ยวกับตนเองได้

ด้านแบรนด์

บริษัทยักษ์ใหญ่ในด้านเทคโนโลยีต่างพากันยื่นมือนำความรู้ รวมถึงความสามารถทางด้านเทคโนโลยี (และสิ่งของ) เข้ามาช่วยเหลือบุคคลากรทางการแพทย์และหน่วยงานของรัฐ โดยเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเหลือนั้นมีทั้งด้านการช่วยในการติดตาม ค้นหา หรือกระจายข่าวสารเกี่ยวกับไวรัส COVID-19 และเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถป้องกันตัวเองการติดเชื้ออีกด้วย

นอกจากนี้แบรนด์ยังสามารถปรับกลยุทธ์ในการโฆษณาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตต่างจากเดิม รวมไปถึงการนำเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อ ตัวอย่างเช่น แบรนด์ผู้จำหน่ายอุปกรณ์เกมต่างๆ ที่พากันลงทุนเพิ่มในการสื่อสารเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ตัวเองเพื่อเพิ่มความสนใจและกระตุ้นความอยากซื้อ

เพราะว่าในช่วงนี้ผู้บริโภคในหลาย ๆ ประเทศมีเวลาที่จะอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้แบรนด์สามารถนำเสนอสิ่งอำนวยความสะดวกหรือกิจกรรมสันทนาการให้กับผู้บริโภคเพื่อใช้ในช่วงเวลาที่ยังไม่สามารถออกไปข้างนอกได้อย่างเต็มที่

เครื่องใช้ไฟฟ้ายังโตในอีคอมเมิร์ซ

สำหรับในบริบทของประเทศไทย อธิราช หุตะสิงห์ ผู้อำนวยการแผนกนวัตกรรมและเทคโนโลยี เวฟเมคเกอร์ (ประเทศไทย) เผยว่าถึงคนไทยจะมีความกังวลในเรื่องการวางแผนค่าใช้จ่ายมากขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แต่ข้อมูลจากหน่วยงานด้านอีคอมเมิร์ซของเวฟเมคเกอร์และกรุ๊ปเอ็มกลับพบว่า “อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยกลับมีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 150%”

Female Runner Looking At Her Mobile And Smart Watch Heart Rate Monitor

แม้ว่ายอดขายสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ที่เคยเป็นสินค้ายอดนิยม 3 อันดับแรกบนอีคอมเมิร์ซจะตกอันดับลงไปเนื่องจากความตื่นตัวของผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาให้ความสนใจกับสินค้าประเภทสุขภาพ และการป้องกันตัวจากการติดเชื้อไวรัส

แต่ข้อมูลของกรุ๊ปเอ็มที่ทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มพาร์ตเนอร์อย่างใกล้ชิดทำให้เรายังสามารถสรุปได้ว่ายอดขายบนอีคอมเมิร์ซสำหรับสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยยังคงมีการเติบโตขึ้นซึ่งต่างจากบริบทในภาพรวมของโลก

โดย อธิราช ยังได้ขยายความถึงภาพรวมของอีคอมเมิร์ซในไทยเพิ่มเติมว่า

“ในยุคที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ผู้บริโภคชาวไทยมีการเข้าถึงข้อมูลบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงจำนวนของผู้ที่สามารถเข้าถึงสื่อโฆษณาที่มากขึ้น แต่ในทางกลับกันสังเกตได้ว่าจำนวนโฆษณากลับทำไม่เยอะขึ้นตามจำนวนคนดู จึงเป็นเหตุให้ต้นทุนในการลงโฆษณา (CPM) ลดลง และเป็นผลดีต่อแบรนด์ที่ต้องการเข้าหาผู้บริโภคในช่วงนี้”

อีกหนึ่งเทรนด์สำคัญที่สามารถช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าหาผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นก็คือการสร้างออนไลน์คอนเทนต์ผ่านสื่อบุคคล (Influencer) ที่แบรนด์เลือก เนื่องจาก Influencer ถือเป็นทั้งสื่อและคนที่สามารถสร้างความเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคได้โดยตรง ยิ่งแบรนด์สามารถใช้ Influencer ในการสร้างคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์จากผู้บริโภคโดยปรับไปตามสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นได้ดีเท่าไหร่ก็ยิ่งจะทำให้คอนเทนต์นั้นถูกแชร์และกระจายออกไปได้ง่ายขึ้นและเป็นโอกาสในการสร้างความต้องการ (Demand) ในการซื้อสินค้าได้

สุดท้ายนี้ไม่ว่าการระบาดของไวรัส COVID-19 จะหมดลงเมื่อใด สิ่งที่นักการตลาดจะต้องคำนึงถึงก็คือการเตรียมตัวที่จะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภค ด้านรูปแบบการดำเนินธุรกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่แนะนำว่าทุกคนต้องเร่งปรับตัว ปรับทัศนคติ รวมไปถึงการปรับแผนกลยุทธ์ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้าและสร้างประสิทธิภาพ (และประสิทธิผล) ในการการทำธุรกิจให้มากที่สุด โดยทั้งนี้นักการตลาดจะต้องไม่ลืมเรื่องของการสนับสนุนการทำงานร่วมกับสังคมที่สามารถต่อยอดโอกาสทางธุรกิจในอนาคตอีกด้วย

]]>
1280188
ส่อง 10 ผลิตภัณฑ์ “อิเล็กทรอนิกส์” สุดล้ำจากงานแสดงสินค้า CES 2020 https://positioningmag.com/1260138 Fri, 10 Jan 2020 17:16:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1260138 Positioning พาชมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เด่นๆ ที่น่าสนใจจากงาน Consumer Electronics Show 2020 (CES2020) งานแสดงสินค้าที่จัดขึ้น ณ เมืองลาส เวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 7-10 มกราคม 2020 ต้นกำเนิดการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ระดับโลกมากมาย ตัวอย่างเช่น iPhone รุ่นแรกสุดก็เคยถูกเปิดตัวครั้งแรกที่นี่เมื่อปี 2007 ส่วนปีนี้จะมีอะไรบ้าง ไปติดตามกันเลย!!

Samsung Ballie ผู้ช่วยอัจฉริยะในบ้านคุณ

Ballie จากค่าย Samsung เป็นส่วนผสมของอุปกรณ์สมาร์ทโฮมกับหุ่นยนต์คู่หู อุปกรณ์ทรงลูกบอลขนาดเท่าฝ่ามือนี้ติดตั้งกล้องและเซ็นเซอร์เอาไว้ ออกแบบมาให้กลิ้งไปทั่วบ้านเพื่อเป็นผู้ช่วยของคุณ คุณสมบัติของเจ้าสิ่งนี้คือสามารถออกคำสั่งอุปกรณ์สมาร์ทโฮมออโตเมชั่น ถ่ายรูปให้คุณ ส่งข้อมูลภายในบ้านให้คุณรับทราบเวลาที่ไม่อยู่บ้าน ไปจนถึงเป็นผู้ช่วยเทรนนิ่งออกกำลังกาย

คอนเซ็ปต์ของ Ballie คือการเป็น “คู่หูในทุกมุมของชีวิต” แถมยังน่ารักเหมือนมีสัตว์เลี้ยงในบ้านด้วย

 

LG OLED ZX Real 8K TV เพราะ 4K ยังชัดไม่พอ

ทีวีขนาด 77 นิ้ว กับ 88 นิ้วของ LG เครื่องนี้เรียกเสียงฮือฮาจากทุกคนที่ไปงาน CES2020 ด้วยการใช้เทคโนโลยี a9 Gen 3 AI Processor 8K ให้ความคมชัดทุกอณูภาพ ตัวเครื่องยังมีระบบสั่งงานด้วยเสียงเพื่อให้ค้นหาสิ่งที่ต้องการรับชมได้ง่าย

ก่อนหน้านี้ Samsung เคยออกทีวี QLED 8K ขนาด 98 นิ้วมาแล้ว แต่ถามว่ามีคอนเทนต์ภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ถ่ายด้วยเทคโนโลยี 8K ให้เราทดลองรับชมแบบอิ่มๆ กันหรือยัง? คำตอบก็คือยังไม่มีในตลาด แต่บางเรื่องนั้นกำลังถ่ายทำด้วยเทคโนโลยี 8K แล้ว เช่น Guardians of the Galaxy Vol.2, Mortal Engines, The New Mutants รวมถึงมหกรรมกีฬา โตเกียว โอลิมปิก 2020 ซึ่งสถานี NHK เป็นผู้ถ่ายทอดสด จะมีการแข่งขันบางส่วนที่ถ่ายด้วยกล้อง 8K

 

มีดโกนหนวด The Next Bic Thing ใช้ AI เก็บข้อมูลการโกน

มีดโกนหนวดของ Bic ชิ้นนี้ติดตั้ง GPS เข้าไปเพื่อติดตามทุกความเคลื่อนไหวในการโกนหนวด จากนั้นจะส่งผ่านบลูทูธนำข้อมูลไปเก็บและประมวลผลในแอปพลิเคชั่นบนมือถือ แอปจะบอกได้เลยว่าคุณโกนหนวดกี่ครั้งกว่าจะเกลี้ยง โกนช้าโกนเร็ว หนวดคุณหนาไหม ใช้น้ำไปมากเท่าไหร่ มีดเริ่มทื่อหรือยัง ฯลฯ

อุปกรณ์นี้ไม่ได้จะวางขายเป็นการทั่วไป Bic จะผลิตให้ลูกค้าเพียง 500 คนทดลองใช้ โดยเป็นมีดโกนหนวดสำหรับเก็บข้อมูลบิ๊กดาต้าเพื่อให้ Bic สามารถผลิตมีดโกนหนวดรุ่นต่อไปได้ดียิ่งขึ้น

 

Hydraloop เครื่องบำบัดน้ำในบ้าน

อุปกรณ์ที่เหมาะกับช่วงภัยแล้งสุดๆ เพราะ Hydraloop คือเครื่องบำบัดน้ำเสียสำหรับบ้านเรือน เครื่องนี้้จะนำน้ำใช้แล้วจากการอาบน้ำฝักบัว อ่างอาบน้ำ และเครื่องซักผ้า ไปบำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่ในจุดที่เหมาะสม เช่น โถสุขภัณฑ์ รดน้ำในสวน การกรอง 6 ขั้นตอนในเครื่องนี้สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ 85%

 

หมอนแก้กรน 10 Minds Motion

เรื่องกรนคือเรื่องใหญ่ ทำให้หมอนจาก 10 Minds Motion เป็นผู้ชนะรางวัลนวัตกรรมในหมวดสุขภาพที่งาน CES 2020

หมอนที่ทำจากเมมโมรี่โฟมใบนี้มีมอนิเตอร์ Solution Box และถุงลมอีก 4 ใบติดตั้งไว้ภายใน ตัวหมอนจะสามารถตรวจจับเสียงกรนและลักษณะการวางศีรษะของผู้นอนได้ เมื่อมีเสียงกรนขึ้นมา มอนิเตอร์จะวิเคราะห์และสั่งการให้ถุงลมพองหรือแฟบในจุดที่จะปรับลักษณะการเอียงศีรษะหรือลำคอเพื่อให้ผู้นอนหยุดกรนได้อัตโนมัติ สินค้านี้มีวางขายจริงแล้วใน Amazon ราคา 378 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 11,400 บาท)

 

Dell Alienware UFO จับเกมพีซีมาไว้ในสองมือ

บอกก่อนว่าเครื่องนี้ยังเป็นคอนเซ็ปต์อยู่และ Dell ก็ยังไม่บอกรายละเอียดมากนัก คอนเซ็ปต์ของเครื่องคือการผลิตอุปกรณ์ทรงพลังที่ทำให้เกมที่ต้องใช้สเปคเครื่องพีซีสามารถนำมาเล่นบนเครื่องนี้ ซึ่งมีขนาดเล็กเท่าๆ กับ Nintendo Switch ด้วยหน้าจอขนาด 8 นิ้ว และแป้นควบคุมที่ถอดแยกออกได้

 

ลูกได้นอนแม่ก็ได้นอน mamaRoo เปลเด็กแกว่งอัตโนมัติ

อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รางวัลนวัตกรรมในหมวดสุขภาพที่งาน CES 2020 เปลกล่อมเด็ก 4moms mamaRoo sleep เป็นเปลที่เคลื่อนไหวอัตโนมัติได้ 5 แบบ (รถยนต์ขณะวิ่ง, คลื่น, จิงโจ้กระโดด, แกว่งชิงช้า และแกว่งเปลปกติ) รวมถึงมีลำโพงติดตั้งเสียงผ่อนคลาย 4 แบบ (ฝนตก, ทะเล, พัดลม และเสียง “ชู่วว” ที่เราใช้ปลอบเด็กร้องไห้) ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยกล่อมเด็กทารกให้นอนหลับเร็วและหลับได้นานขึ้น มีจำหน่ายแล้วในราคา 328 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9,900 บาท)

 

โดรนแท็กซี่ HyundaixUber รถติดหรอ? บินไปเลย

เป็นหนึ่งในบูธที่ฮือฮากันมากภายในงาน CES2020 เพราะ Hyundai จากเกาหลีใต้เป็นผู้พัฒนาโดรนแท็กซี่สำหรับให้ Uber นำไปใช้บริการเชิงพาณิชย์ โดยภายในปีนี้จะเริ่มสาธิตการบิน และ Uber คาดว่าจะนำมาใช้จริงได้ภายในปี 2023 โดรนแท็กซี่ลำนี้สามารถลอยตัวสูง 1,000-2,000 ฟุตเหนือพื้นดิน และบินด้วยความเร็วสูงสุด 180 ไมล์/ชั่วโมง

 

Mercedes-Benz VISION AVTR แรงบันดาลใจจาก Avatar

คอนเซ็ปต์คาร์ที่สร้างมาจากแรงบันดาลใจจากชาว Na’Vi ในภาพยนตร์ Avatar (ทีมพัฒนาและออกแบบยังร่วมมือกับ James Cameron ผู้กำกับภาพยนตร์โดยตรงด้วย) รถยนต์คันนี้ต้องการเชื่อมต่อทางจิตวิญญาณระหว่างตัวรถ คนขับ และธรรมชาติ โดยแหล่งพลังงานจะใช้พลังงานไฟฟ้าและไม่มีการปล่อยคาร์บอนเลยระหว่างใช้งาน ออกแบบรูปทรงโค้งเข้ากับธรรมชาติ ภายในมีลักษณะมนเหมือนรังไหม และใช้วัสดุรีไซเคิลกับไม้โตไวในการผลิตเบาะและพื้นภายในรถยนต์

แผงคอนโซลตรงกลางที่ควรจะเป็นเกียร์จะเป็นแท่นสัมผัสให้คนขับแตะ และรถจะรับรู้ได้ว่าใครเป็นผู้ขับขี่ผ่านการตรวจการเต้นของหัวใจและการหายใจ ตัวรถยังสามารถปล่อยเสียงจากภายนอกรถเข้ามาด้านในเพื่อให้คนได้เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ มีระบบขับเคลื่อนไปด้านข้างเพื่อเลียนแบบการเดินของ “ปู” ส่วนตัวแบตเตอรี่กำลังไฟ 110 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ส่งให้รถสามารถขับขี่ได้ไกล 700 กิโลเมตร และยังเป็นแบตเตอรี่รักษ์โลกที่สามารถย่อยสลายได้ 100%

 

Damon Hypersport บิ๊กไบค์ไฟฟ้าปรับที่พักเท้าและแฮนด์ให้ถูกหลักสรีรศาสตร์

ปิดท้ายกันที่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ได้รางวัลนวัตกรรมในงาน CES2020 สาขายานพาหนะและการขนส่ง จุดเด่นของบิ๊กไบค์คันนี้คือ สามารถปรับที่พักเท้าและแฮนด์มอเตอร์ไซค์ให้เข้ากับผู้ขับขี่ เพื่อให้ร่างกายอยู่ในลักษณะที่ถูกหลักสรีรศาสตร์ หรือปรับตามใจเวลาอยากจะขับชิลๆ ในเมือง หรือเอนตัวไปกับมอเตอร์ไซค์เมื่อต้องการซิ่งอย่างรวดเร็ว

บิ๊กไบค์คันนี้ยังมีระบบความปลอดภัย CoPilot เซ็นเซอร์ตรวจจับวัตถุกีดขวางทั้งด้านหน้าและด้านหลังมอเตอร์ไซค์ที่คอยแจ้งเตือนให้เราทราบระหว่างขับขี่ โดยร่วมพัฒนาเทคโนโลยีนี้กับ BlackBerry QNX ส่วนแบตเตอรี่นั้นใช้เวลาชาร์จไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อครั้ง วิ่งได้ครั้งละมากกว่า 200 ไมล์ ทำความเร็วได้สูงสุด 200 ไมล์ต่อชั่วโมง โดยเร่งความเร็ว 0-60 ไมล์ต่อชั่วโมงได้ภายใน 3 วินาที มีจำหน่ายจริงแล้วในราคา 24,995 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 755,600 บาท)

 

Source: Time, CNet, Engadget, Digital Trends, Business Insider, Web Bike World

]]>
1260138
เศรษฐกิจ “สิงคโปร์” ปี 2019 ไม่สดใส…GDP โตเพียง 0.7% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี https://positioningmag.com/1259239 Thu, 02 Jan 2020 15:20:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1259239 Photo : Pixabay

เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยในปี 2019 เติบโตเพียง 0.7% ลดลงจาก 3.1% ในปี 2018 ด้วยพิษจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ เเละภาคการผลิตที่หดตัว

สิงคโปร์เป็นประเทศที่มุ่งเน้นการส่งออก จึงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ เเละจีน รวมถึงการชะลอตัวของภาคการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสิงคโปร์ขยายตัว 0.7% ในปี 2019 ซึ่งเป็นอัตราเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 (ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก) และลดลงจาก 3.1% ในปี 2018 โดยรัฐบาลคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตในช่วงระหว่าง 0.5 ถึง 2.5% ขณะที่ DBS ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.4%

Irvin Seah นักเศรษฐศาสตร์จาก DBS กล่าวว่า “เราเห็นการเติบโตที่ดีขึ้น แม้ว่าจะเป็นการฟื้นตัวที่อ่อนแอก็ตาม” เขามองว่า รัฐบาลสิงคโปร์กำลังจะประกาศงบการคลังออกมาในเดือนหน้า เพื่อรองรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในช่วงต้นปี 2021

ในไตรมาสที่สี่ของปี 2019 GDP ของสิงคโปร์ขยายตัวที่ 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เเต่ยังดีที่มีภาคบริการทางการเงินเเละภาคการก่อสร้างมาช่วยพยุงตัวเลข GDP ไม่ให้ตกต่ำไปมากกว่านี้

ในปี 2019 ภาคการผลิตหดตัว 1.5% ซึ่งลดลงอย่างมากจากการขยายตัวที่ 7% ในปี 2018 ส่วนภาคบริการขยายตัวเล็กน้อยที่ 1.1% เมื่อเทียบกับ 2.9% ในปี 2018 ขณะที่การฟื้นตัวของการก่อสร้างขยายตัวที่ 2.5%

Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ระบุในสารวันปีใหม่ว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงได้สร้างผลกระทบกับสิงคโปร์ โดยปี 2019 รัฐบาลได้พยายามหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเห็นว่าเศรษฐกิจในประเทศยังเติบโตได้ แต่เติบโตได้ช้ากว่าที่รัฐบาลอยากจะให้เป็น

สำหรับงบประมาณปีนี้จะมีมาตรการสนับสนุนธุรกิจและคนทำงาน ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือครัวเรือนเพื่อรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารกลางของสิงคโปร์ได้ผ่อนคลายนโยบายในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี

ด้านนักวิเคราะห์จาก OCBC หนึ่งในธนาคารใหญ่ของสิงคโปร์ มองว่าเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2020 ต้องเจอผล
กระทบจากสงครามการค้าต่อไป เเละคาดว่าตัวเลข GDP ปีนี้จะเติบโตอยู่ในช่วงระหว่าง 1-2% จากปัจจัยจากภาคการผลิตที่เริ่มฟื้นตัวในปีที่ผ่านมา

 

ที่มา : Reuters , channelnewsasia

]]>
1259239