เกษตรกร – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 14 Nov 2023 07:31:25 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ขาดแคลนแรงงานแล้วไง! เกษตรกร ‘ญี่ปุ่น’ เริ่มนำ ‘หุ่นยนต์เอไอ’ ใช้เก็บเกี่ยวผลผลิตแทนมนุษย์ https://positioningmag.com/1451675 Tue, 14 Nov 2023 06:04:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1451675 อย่างที่รู้ ๆ กันว่า ญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุเยอะ อัตราการเกิดต่ำ ทำให้มีความท้าทายด้านแรงงาน ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น เกษตรกรรมอัจฉริยะ จึงกำลังถูกนำมาใช้มากขึ้นในญี่ปุ่น

มีฟาร์มแห่งหนึ่งในเมืองฮันยุ จังหวัดไซตามะ กำลังเป็นผู้นำในการเริ่มใช้ Agrist หุ่นยนต์เอไอ ในการเก็บเกี่ยว แตงกวา ที่ปลูกอยู่ในเรือนกระจกขนาดใหญ่ โดยหุ่นดังกล่าวจะวิ่งไปตามทางเพื่อเก็บเกี่ยว โดยเอไอจะช่วยให้หุ่นยนต์สามารถเลือกแตงกวาที่สุกแล้วได้อย่างแม่นยำ โดยหุ่นยนต์จะวางตำแหน่งแขนให้ตรงกับแตงกวาอย่างแม่นยำ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ลำต้นเสียหาย

“เราเริ่มต้นใช้หุ่นยนต์ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากในเรือนกระจกก่อน เพราะหุ่นยนต์จะเคลื่อนที่ได้สะดวกมากกว่า และเพื่อที่จะใช้หุ่นยนต์ได้อย่างเต็มที่ ฟาร์มอาจจะต้องเตรียมการโดยคำนึงถึงการวางตำแหน่งพืชผลล่วงหน้า” Takanori Fukao ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการหุ่นยนต์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวแนะนำ

สำหรับหุ่นยนต์เอไอนั้นถูกพัฒนาโดยบริษัทสตาร์ทอัพ Agrist Inc. โดยบริษัทเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2019 โดยใช้กล้องตรวจจับภาพเพื่อให้เอไอตรวจสอบว่าผลผลิตว่ามีลักษณะเหมาะสมในการเก็บเกี่ยวหรือไม่ โดย Agrist จะใช้เวลาเก็บเกี่ยวประมาณ 2 นาที 1-3 ลูก

“ในตอนแรกเรากลัวว่าหุ่นยนต์อาจจะตัดก้านแตงกวาออกไป แต่มันเคลื่อนที่ได้อย่างแม่นยำ เราคาดหวังที่จะได้ประโยชน์จากหุ่นยนต์อย่างมากในขณะนี้ เนื่องจากแรงงานขาดแคลน” ทาเคชิ โยชิดะ หัวหน้าฟาร์มทาคามิยะ โนะ ไอไซ กล่าว

นอกจากนี้ยังมีบริษัท Inaho Inc. ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนด้านการเกษตรในคามาคุระ จังหวัดคานากาว่า ได้นำหุ่นยนต์ที่ติดตั้งเอไอไปใช้กับฟาร์มแห่งหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ โดยสามารถเลือกเก็บ มะเขือเทศเชอร์รี่ ทั้งแบบเป็นพวงหรือแยกทีละผลได้โดยอัตโนมัติ ขึ้นอยู่กับกลไกที่ใช้

โดยเอไอจะวิเคราะห์ภาพและเลือกมะเขือเทศหลายลูกที่สุกและง่ายต่อการเลือกก่อนที่หุ่นยนต์จะใช้แขนในการเก็บเกี่ยว เนื่องจากมะเขือเทศเกาะอยู่รอบ ๆ ใบและลำต้น ดังนั้น หุ่นยนต์ในการเก็บเกี่ยวจึงจำเป็นต้องมีกลไกที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงในการพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถดำเนินการตามกระบวนการทั้งหมดได้ และอาจใช้เวลามากกว่าคน ดังนั้น บริษัทจึงจะใช้หุ่นยนต์ในเวลากลางคืน ส่วนคนจะเก็บในเวลากลางวัน

ทั้งนี้ Inaho หวังที่จะส่งออกเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะไปทั่วโลก โดยเริ่มจากเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นมหาอำนาจด้านอาหารเกษตร

“แม้ว่าจะต้องใช้เวลามากขึ้นเพื่อให้หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวพืชผลทั้งหมด แต่ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็สามารถรองรับฟาร์มที่ขาดแคลนแรงงานได้อย่างเพียงพอ” Soya Oyama ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Inaho กล่าว

Source

]]>
1451675
เปิดตำนาน 3 ทศวรรษ “ศักดิ์สยามลิสซิ่ง” จากครูสู่นักธุรกิจพันล้าน ปั้นสินเชื่อภูธร ครองใจชาวบ้าน https://positioningmag.com/1306305 Tue, 08 Dec 2020 10:15:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1306305 ศักดิ์สยามลิสซิ่งเจ้าของสมญานาม “สินเชื่อภูธรประเดิมเป็นบริษัทมหาชนที่เข้าระดมทุนหุ้น IPO เเห่งเเรกของจังหวัดอุตรดิตถ์ หลังคลุกคลีในวงการ “หนี้ชาวบ้าน” มานานกว่า 3 ทศวรรษ

ท่ามกลางการเเข่งขันในสมรภูมิ “ลิสซิ่ง” ที่ดุเดือด ทั้งคู่เเข่งจากกลุ่มเเบงก์เเละนอนเเบงก์ ศักดิ์สยามฯ ก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยการวางเป้าเติบโต “เท่าตัว” ทั้งพอร์ตสินเชื่อเเละสาขาให้ได้ภายใน 3 ปี ชูจุดเด่นฐานลูกค้าเกษตรกรต่างจังหวัดที่มีความสัมพันธ์เเน่นเเฟ้น

Positioning เปิดตำนาน “ศักดิ์สยามลิสซิ่ง” เเบบเอ็กซ์คลูซีฟกับ “ผศ.ดร.พูนศักดิ์ บุญสาลี” ผู้ปั้นสินเชื่อขวัญใจชาวบ้าน นำพาธุรกิจจากศูนย์สู่ระดับพันล้าน

จุดพลิกผัน : จากครูสู่นักธุรกิจ 

พูนศักดิ์ เล่าว่า พื้นเพเดิมเป็นคนนครนายก มีฐานะค่อนข้างยากจน ร่ำเรียนในโรงเรียนรัฐทั่วไป จากนั้นได้ศึกษาต่อในวิทยาลัยครู เมื่อจบการศึกษาเเล้ว สามารถสอบบรรจุได้ที่วิทยาลัยครูจังหวัดอุตรดิตถ์” ในปี 2514

โดยในช่วงเวลานั้นเขาได้พบรักกับ “อ.จินตนา” ซึ่งเป็นรุ่นน้องที่รู้จักกันในหมู่เพื่อนฝูง เมื่อดูใจกันมานานหลังเรียนจบได้ประมาณ 3 ปี จึงตัดสินใจเเต่งงานกัน เเละตกลงกันว่าจะตั้งรกรากเเละอยู่อาศัยในอุตรดิตถ์จากนั้นเรื่อยมา

ชีวิตเริ่มต้นด้วยการเป็น “ครู” ที่ไม่มีมรดกเเละทรัพย์สมบัติจากครอบครัว เหล่านี้ทำให้ “พูนศักดิ์เข้าใจถึงความยากจนเเละชีวิตของคนในชนบท ประกอบกับตอนทำงานก็ได้ออกไปลงพื้นที่ตามชุมชน เยี่ยมเยือนนักศึกษา จึงได้เห็นว่าชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก เเละ “หาเเหล่งเงินทุนยาก”

พูนศักดิ์ ยังคงทำงานเป็นอาจารย์ต่อไป พร้อมกันนั้นได้ทำหน้าที่เเนะเเนวให้นักศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือต่างๆ จนกระทั่งมาปี 2529 ช่วงนั้นธุรกิจขายตรงในไทย เริ่มเฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก ผ่านการรุกตลาดโดยการขายสินค้าถึงหน้าบ้าน

มีพนักงานขาย (เซลส์) ของบริษัทหนึ่ง ขยายตลาดมาถึงอุตรดิตถ์ เป็นโอกาสที่ได้พูดคุยกัน เซลส์คนนั้นเกิดไอเดียขึ้นว่า “เป็นไปได้หรือไม่…ที่ผมจะขายเเล้วไม่ต้องอยู่รอเก็บเงิน”

ตอนนั้นพูนศักดิ์คิดขึ้นมาได้ว่าอยากหารายได้พิเศษให้นักศึกษา จึงเสนอว่าจะตั้งทีมจัดเก็บหนี้ให้ตามบิลที่ให้ไว้โดยมีเเบ่งค่าเเรงเเละหักค่าใช้จ่ายต่างๆ

ตอนนั้นผมคิดเเค่ว่าวินวิน ทั้งสองฝ่าย เราหางานให้เด็กทำได้ ส่วนเขาก็ทำยอดขายตามจังหวัดต่างๆ ได้เรื่อยๆ ไม่ต้องพะวงเรื่องบริหารหนี้….ไม่เคยคิดว่าจุดเริ่มต้นนั้น จะทำให้เรามีศักดิ์สยามในวันนี้ได้

ตั้งเเต่วันนั้น กลุ่มลูกศิษย์ก็ไปชักชวนคนในหมู่บ้านมาทำงานติดตามหนี้ด้วย ช่วยกันกระจายรายได้ ขยายไปได้หลายจังหวัดทั้งในอุตรดิตถ์ เเพร่ น่าน เชียงราย เชียงใหม่ เเละลงมายังภาคกลางเเละภาคอีสาน

สำนักงานเครดิตเเห่งเเรก เมื่อปี 2530

กำเนิด “ศักดิ์สยาม” 

ในปี 2536 บริษัทเริ่มมีการเติบโตเเละมี “เงินทุน” ในระดับหนึ่ง เเต่ธุรกิจขายตรงตอนนั้นกลับเริ่มซบเซา เพราะห้างจากกรุงเทพฯ เริ่มขยายสาขามาที่ต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งตอนนั้นมีทีมงานในสังกัดราว 80 คน ก็รู้สึกว่าต้องหาอาชีพใหม่ให้พวกเขา

“ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง “สินเชื่อเพื่อสังคม” ที่ปล่อยเงินทุนให้คนที่ทำอาชีพต่างๆ จึงเกิดไอเดียนี้ขึ้นมา เเม้ตอนนั้นจะทำไม่ได้ถึงขั้นนั้น เเต่ก็ควรจะเริ่มทำ สมัยนั้นเห็นชาวบ้านมีรถเป็นทรัพย์สินของบ้าน จึงคิดว่าจะทำการจำนำทะเบียนรถ เอาเเค่ทะเบียนมาเป็นหลักประกัน ช่วงเเรกๆ ที่ทำชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่เบี้ยวหนี้เลย”

นี่จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “ศักดิ์สยามลิสซิ่ง” โดยชื่อดังกล่าวมาจากคำว่า “ศักดิ์จากชื่อเต็มของพูนศักดิ์ เเละคำว่าสยามมาจากการความต้องการที่จะเติบโตไปทั่วประเทศ

จากสาขาเเรก เริ่มต้นด้วยเงินทุนราว 2 ล้านบาท มีพนักงานในบริษัทเพียง 3 คน เปิดตัวด้วยบริการสินเชื่อทะเบียนรถ ต่อมาเมื่อปี 2548 ธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุญาตให้ออกสินเชื่อโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล ต่อมาด้วยนานาไฟเเนนซ์

สาขาแห่งแรกในอุตรดิตถ์ ปี 2538

ปัจจุบันศักดิ์สยามฯ มีสาขาหลักๆ กระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เเละภาคตะวันตก รวมทั้งสิ้นกว่า 519 สาขาในพื้นที่ 38 จังหวัด มีพนักงาน 1,600 คน เน้นตั้งในทำเลใกล้หมู่บ้าน ห่างกันราวๆ สาขาละ 3 ตำบล

ส่วนผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2562) บริษัทมีอัตราการเติบโตของรายได้จากดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและบริการ เฉลี่ย 31.6% ต่อปี จาก 924 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท ขณะที่งวดครึ่งเดือนแรกของปีนี้รายได้สินเชื่ออยู่ที่ 816 ล้านบาท เติบโต 10.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตอนนี้มีขนาดพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 6,067 ล้านบาท มีลูกหนี้ราว 2.3 เเสนสัญญา เเบ่งเป็นลูกหนี้มีหลักประกัน 88% และลูกหนี้ไม่มีหลักประกัน 12% ของพอร์ตสินเชื่อรวมผ่านผลิตภัณฑ์ 4 ประเภท ได้เเก่

  • สินเชื่อทะเบียนรถ (Vehicle Title Loan)
  • สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan)
  • สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nano Finance)
  • สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อรถแลกเงิน (Hire-Purchase and Car for Cash)

ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30,000-35,000 บาทต่อราย ฐานลูกค้าส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร รองลงมาคือ พ่อค้าเเม่ค้าในท้องถิ่นเเละพนักงานประจำ โดยช่วงที่มีลูกค้ามาขอสินเชื่อมากที่สุด คือไตรมาส 2-3 เพราะเป็นช่วงเปิดภาคเรียน มีอายุเฉลี่ยของพอร์ตสินเชื่อรถจักรยานยนต์ที่ 18-24 เดือน และสินเชื่อเกษตรกรที่ 4 เดือน

ลูกค้าเราต้องการความจริงใจมาก ไม่อยากเบี้ยวหนี้ ต้องจำเป็นจริงๆ ค่อยมาขอความช่วยเหลือ เราจึงต้องเข้าถึงพวกเขาด้วยการเข้าไปอยู่ใกล้ๆ ชุมชน ให้เกียรติชาวบ้าน สร้างความคุ้นเคย ทำให้พวกเขาสบายใจที่จะมาหาเรา เเละนำไปบอกต่อเพื่อนบ้าน

ตอนนี้เงินกู้นอกระบบยังเป็นตลาดที่ใหญ่มาก สิ่งที่เราทำได้คือการมุ่งขยายเข้าไปในชุมชนให้ได้มากที่สุด เจาะตามตำบลหมู่บ้าน สร้างการรับรู้ว่าเราเป็นเงินกู้ในระบบที่ ธปท. ควบคุมได้ มีดอกเบี้ยที่เป็นธรรม”

บรรยากาศภายในสาขาของศักดิ์สยามลิสซิ่ง

ยุคใหม่ในมือทายาทรุ่น 2 หวังโต “สองเท่า” 

บมจ.ศักดิ์สยามลิสซิ่ง หรือ SAK เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ SET วันนี้ (8 ธ.ค. 2563) เป็นวันแรก โดยราคาหุ้นปรับขึ้น 90.54% มาอยู่ที่ 7.05 บาท จากราคาจองซื้อ IPO ที่ 3.70 บาท

หลังระดมทุน IPO บริษัทมีเป้าหมายขยายธุรกิจเติบโตให้ได้ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2566) ทั้งจำนวนสาขาที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,119 สาขา ในทำเลพื้นที่ภูมิภาคเดิม รวมถึงขยายพอร์ตสินเชื่อจาก 6,067 ล้านบาท เพิ่มเป็น 12,000 ล้านบาท

เมื่อถามว่า ทำไมศักดิ์สยามลิสซิ่ง ยังไม่มีเเผนจะลงไป “ภาคใต้” นั้น พูนศักดิ์ ตอบว่า ต้องสร้างความเเข็งแกร่งในจุดที่เราชำนาญก่อน โดยภาคเหนือ ภาคกลางเเละภาคอีสาน ยังมีอีกหลายชุมชนที่ยังเข้าไม่ถึง ถือเป็นโอกาสอีกมาก ซึ่งอนาคตก็ต้องดูกันต่อไป

เราไม่ได้มุ่งเเข่งขันกับเจ้าใหญ่ มองว่า คำว่าตลาดเต็ม” จริงๆ นั้นไม่มี เพราะตลาดสินเชื่อยังใหญ่มาก ขึ้นอยู่กับว่าจะเข้าไปเเล้วจะได้ลูกค้ามาอย่างไร

ปัจจุบันบริษัทมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ระดับ 2.2-2.5% ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากครึ่งปีแรกจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดจากเศรษฐกิจ ส่งผลต่อภาวะหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นนั้น บริษัทได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากมีลูกค้าเป็นกลุ่มเกษตรกร และพ่อค้าแม่ค้าที่ยังมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการชำระค่างวดของ
บริษัทจะเป็นลักษณะ 4 เดือน/ครั้ง เพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าดังกล่าว รวมถึงยังคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับปานกลาง

สำนักงานใหญ่ในปัจจุบันของศักดิ์สยามลิสซิ่ง ที่จังหวัดอุตรดิตถ์

ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จะก้าวสู่ยุคใหม่หลังระดมทุน IPO ภายใต้การนำของ “ทายาทรุ่น 2” อย่าง “ศิวพงศ์ บุญสาลี” ลูกชายคนโตที่มีดีกรีจบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ที่จะสานต่อกิจการด้วยทิศทางดิจิทัล

“เราตั้งเป้าสินเชื่อต่อจากนี้เติบโตอย่างน้อย 25% ต่อปี โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปขยายสาขาในพื้นที่เดิมและพื้นที่ใหม่ๆ รวมถึงลงทุนด้านเทคโนโลยีการวิเคราะห์ความเสี่ยง ทำแอปพลิเคชัน การตลาดออนไลน์เเละวางระบบดิจิทัลอื่นๆ” ศิวพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ มูลค่าตลาดของสินเชื่อทะเบียนรถในไทยอยู่ที่ราว 2 เเสนล้าน โดยศักดิ์สยามลิสซิ่งครองส่วนเเบ่งตลาดราว 2.5-3% ท่ามกลางการเเข่งขันที่ดุเดือด ทั้งในเครือแบงก์และนอนแบงก์ กว่า 20-30 ราย เเละยังมีอีกหลายบริษัทที่มีเเผนจะระดมทุน IPO ในเร็วๆ นี้ด้วย 

สร้างพนักงานด้วยหลัก “เก้าอี้ 4 ขา” 

ย้อนกลับไปถึงการเทรนนิ่งพนักงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของธุรกิจสินเชื่อ ผู้บริหารศักดิ์สยามลิสซิ่ง เล่าให้ฟังว่า ด้วยความที่เป็นอาจารย์มาก่อน จึงมีความเชี่ยวชาญด้านการทำหลักสูตร โดยมีหลักการสอนพนักงานในการปล่อยสินเชื่อเเบบ เก้าอี้ 4 ขาได้เเก่ 

  • ต้องรู้จักการตลาด
  • วิเคราะห์สินเชื่อเป็น
  • รู้เรื่องระบบการเงินการบัญชี
  • บริหารจัดการหนี้ให้เป็น

พนักงานของเรา ขายหนี้เเล้ว ต้องจัดเก็บหนี้ได้ด้วย ต้องปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง

เมื่อถามว่า หลังผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายมรสุมเศรษฐกิจ มองว่าช่วงไหนสถานการณ์ วิกฤตที่สุด” ?

ผมว่าหนักที่สุดคือวิกฤต COVID-19 เพราะช่วงต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 นั้น บริษัทเเทบจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย ตอนนั้นเป็นเรื่องในตัวเมือง เเต่ชาวบ้านที่อยู่นอกเมืองไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยังทำมาหากินได้ เเต่ครั้งนี้ที่เป็นโรคระบาดทั่วโลก ประเทศต้องล็อกดาวน์ ประชาชนรายได้ลดลง ยอดตกงานพุ่งสูงก็มีผลต่อการบริหารหนี้สิน

โดยสิ่งสำคัญในการพยุงธุรกิจในช่วงวิกฤต คือต้องรักษาเงินสดในมือไว้ให้ได้ อีกทั้งยังต้องหาวิธีทำงานรูปแบบใหม่เเละต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้น เพื่อสกัดปัญหาหนี้เสีย

ชีวิตต้องมีความมุ่งมั่นเเละอดทน ให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคล พัฒนาการศึกษา ต้องมีหลักการที่ยึดมั่น มีเป้าหมาย ทำงานเเบบเคารพกันเเละกัน

ลูกหนี้เมื่อ 30 ปีก่อนกับปัจจุบัน เเตกต่างกันอย่างไร 

ผมว่าสมัยก่อนเก็บหนี้ได้ง่ายกว่าสมัยนี้มาก เบี้ยวหนี้มีน้อยมาก เพราะทำการเกษตรได้ผลดี คนที่ลำบากมากๆ ก็จะมาบอกตรงๆ ว่าขอผ่อนผันหน่อย พอหาเงินมาได้หรือส่งลูกเรียนจบก็จ่ายหมดเลย คนไม่อยากเป็นหนี้ โจทย์ใหญ่ของเราคือการสร้างความคุ้นเคยกับคนในพื้นที่ ให้รู้สึกเป็นกันเอง เมื่อเดือดร้อนจะได้คิดถึงเราเป็นที่เเรก เเละบอกต่อกัน

พูนศักดิ์ ขยายความว่า ประเด็นที่ว่าสมัยนี้เก็บหนี้ยากกว่าเเต่ก่อน หลักๆ มาจากเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนเเปลงไปซึ่งมีผลต่อชีวิตคนมาก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่พึ่งพาฟ้าฝน เมื่อผลผลิตไม่ได้ตามปกติเเละไม่ตรงเวลา ก็ทำให้มีรายได้ที่ลดลง จึงเกิดหนี้สินพอกพูนขึ้นจากการหมุนเงินไม่ทัน 

หลังอยู่ในวงการสินเชื่อมากว่า 3 ทศวรรษ มองว่าควรทำอย่างไรให้เกษตรกรไทยหลุดจาก วังวนเเห่งการเป็นหนี้ ?

สิ่งสำคัญคือต้องพัฒนาให้ชาวบ้านเข้าถึงเเหล่งเงินทุนที่ถูกกฎหมาย รัฐบาลต้องส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างเรื่องน้ำก็จะพัฒนาไปได้อีกไกล เพราะชาวไร่ชาวนาเป็นคนขยัน ไม่ได้ขี้เกียจ เเต่พวกเขาไม่รู้จะยกระดับอาชีพเเละเกษตรกรรมได้อย่างไร เหล่านี้เป็นปัญหาพื้นฐานที่ฉุดรั้งชีวิตเเละรายได้ของชาวบ้านมายาวนานมาก เเละยิ่งทรุดลงไปอีกเมื่อเจอเศรษฐกิจย่ำเเย่

]]> 1306305 เทสโก้ โลตัส เดินหน้า “รับซื้อผักโดยตรงจากเกษตรกร” ตั้งเป้า 1,000 ครัวเรือน ภายในสิ้นปีนี้ https://positioningmag.com/1263795 Mon, 10 Feb 2020 10:52:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1263795 เทสโก้ โลตัส เดินหน้า “รับซื้อผักจากเกษตรกร” ไม่ผ่านคนกลาง ครบทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ ตั้งเป้าขยายโครงการจากเกษตรกร 600 รายเป็น 1,000 ราย ภายในสิ้นปีนี้ ยกระดับสินค้าเกษตรปลอดภัยสู่โมเดิร์นเทรด

“เป็นการสานต่อนโยบายเกษตรปลอดภัยไปสู่เกษตรอินทรีย์ในอนาคต ตามเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพและอาหารปลอดภัยมากขึ้น”

สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวถึงที่มาของโครงการซื้อผลิตผลทางการเกษตรโดยตรงจากเกษตรกร (direct sourcing) ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 และเพิ่มปริมาณการรับซื้อขึ้นทุกปี

ที่ผ่านมาเทสโก้ โลตัส ได้ทำงานร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อเชื่อมโยงการผลิตเเละการตลาด สรรหากลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผักใบที่มีศักยภาพ เเละลงพื้นที่เป็น “พี่เลี้ยง” ให้คำเเนะนำด้านเทคโนโลยี การตลาดเเละการวางเเผนจัดการผลผลิต

โดยโครงการรับซื้อ “ผักใบ” จากเกษตรแปลงใหญ่ 4 แหล่งหลักครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาค ได้เเก่

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านโนนเขวา ต.ดอนหัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ปริมาณรับซื้อ 70 ตันต่อเดือน เพื่อจำหน่ายในเทสโก้ โลตัส 120 สาขาทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • ภาคใต้
    กลุ่มแปลงใหญ่ผักบางท่าข้าม อ.พูนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ปริมาณรับซื้อ 97 ตันต่อเดือน เพื่อจำหน่ายในเทสโก้ โลตัส 55 สาขาทั่วภาคใต้
  • ภาคกลาง
    กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนาคูร่วมใจพัฒนา ต.นาคู อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณรับซื้อ 72 ตันต่อเดือน จำหน่ายในเทสโก้ โลตัส 54 สาขาทั่วภาคกลาง
  • ภาคเหนือ
    วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผักปลอดภัย ต.อุโมงค์ อ.เมือง จ.ลำพูน ปริมาณรับซื้อ 35 ตันต่อเดือน เพื่อจำหน่ายในเทสโก้ โลตัส 120 สาขาทั่วภาคเหนือ

“การรับซื้อผักตรงจากทั้ง 4 แหล่ง มีปริมาณกว่า 270 ตันต่อเดือน สร้างรายได้ที่เป็นธรรมและมั่นคงให้เกษตรกร 600 ครัวเรือน โดยเทสโก้ โลตัส ตั้งเป้าหมายขยายโครงการสู่เกษตรแปลงใหญ่กลุ่มอื่นๆ ในอนาคต ภายในสิ้นปี 2563 จะครอบคลุมเกษตรกร 1,000 ครัวเรือน”

เเละเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร ทางโครงการได้มีการผลักดัน “ผักปลอดภัย” ได้มาตรฐาน GAP รวมไปถึงการใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมี เพื่อความปลอดภัยของลูกค้า และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส

“เราต้องการจะขยายการรับซื้อให้มากขึ้น เพิ่มจากเดิมที่เป็นพืชผักใบไปสู่ผลผลผลิตการเกษตรอื่นๆ เช่น เเตงกวา เเตงร้าน เเละมะนาว จึงเป็นโมเดลใหม่ที่จะช่วยให้เทสโก้ โลตัสร่วมมือกับเกษตรกรได้ตามเป้าที่วางไว้ 1,000 ครัวเรือนภายในปีนี้ เเละตอนนี้เราก็เริ่มรับซื้อฟักทองจากเกษตรกรเเล้ว นอกเหนือจากจะนำไปขายสดให้แก่ผู้บริโภค เรายังจะนำไปต่อยอดเป็นขนมปังฟักทองด้วย”

สำหรับโครงการรับซื้อผลผลิตตรงจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผักปลอดภัย ต.อุโมงค์ จ.ลำพูน มีการรับซื้อ “ฟักทองพันธุ์ทองอำไพ” จากชมรมส่งเสริมพัฒนาอาชีพอิสระคนพิการ พื้นที่ปลูกฟักทองรวมกว่า 90 ไร่ ใน จ.เชียงใหม่และเชียงราย ผลผลิตทั้งหมดรวบรวมเข้าโรงคัดบรรจุ ต.อุโมงค์ เพื่อส่งจำหน่ายในร้านค้าของเทสโก้ โลตัส ในภาคเหนือ

“เเต่ก่อนการปลูกพืชผลการเกษตรมีความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งด้านภูมิอากาศ ฟ้าฝนที่มีผลต่อปริมาณผลผลิต ทำให้ราคาตลาดไม่เเน่นอนเเละบางครั้งก็ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ผลผลิตถูกตีกลับต้องเสียเงินทุนจำนวนมาก” อรรถพล กันธะอุดม ประธานชมรมส่งเสริมพัฒนาอาชีพอิสระคนพิการ กล่าว

อรรถพล กันธะอุดม ประธานชมรมส่งเสริมพัฒนาอาชีพอิสระคนพิการ ต.อุโมงค์ จ.ลำพูน

เขาเล่าต่อว่า หลังจากได้ร่วมโครงการรับซื้อผลผลิตตรงจากเทสโก้ โลตัส เป็นโอกาสที่ทางกลุ่มได้ขยายช่องทางการตลาดมากขึ้น มีปริมาณการรับซื้อที่แน่นอน ให้ราคารับซื้อที่เป็นธรรม สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับกลุ่มผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์และเกษตรกรในโครงการ

สำหรับการส่งขายสินค้าเกษตรเเต่ละครั้งนั้น ชมรมส่งเสริมพัฒนาอาชีพอิสระคนพิการที่มีสมาชิกที่ปลูกฟักทองอยู่ 35 คน มีรายได้ขั้นต่ำ 5,000 บาทต่อรอบ เเบ่งเป็นการนำส่งเข้ามาในกรุงเทพที่ตลาดไท ส่งขายตรงให้เทสโก้ โลตัส เเละมีบางส่วนที่ขายให้กับพ่อค้าเเม่ค้าท้องถิ่น

ล่าสุดเทสโก้ โลตัส เเละกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พัฒนาและส่งเสริมกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรสู่ตลาดนำการผลิต เพื่อผลักดันให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่าย ตลอดจนสามารถวางแผนการซื้อ-ขาย ผลผลิตสินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาด เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาและสร้างความมั่นคงทางอาชีพแก่เกษตรกร

เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงนโยบาย “ตลาดนำการเกษตร” เเละความร่วมมือครั้งนี้ว่า เป็นการยกระดับภาคเกษตรของไทย แก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดเเละราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ร่วมมือกับ “โมเดิร์นเทรด” ที่มีความพร้อมทั้งช่องทางจัดจำหน่าย มีการตลาดที่ดีเเละการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกัน

“สิ่งสำคัญคือเกษตรกรมีแหล่งรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่แน่นอน มีรายได้ที่มั่นคง ทราบถึงความต้องการของตลาด และสามารถนำมาวางแผนการผลิตให้สอดคล้องทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ จึงหวังว่าต่อไปจะมีการขยายผลสู่กลุ่มสินค้าเกษตรอื่นๆ อีก เกษตรกรก็จะมีความมั่นคงทางอาชีพ ส่วนลูกค้าผู้บริโภคก็จะได้บริโภคผักสดที่มีคุณภาพ ปลอดภัย”

จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า ตั้งแต่ ปี 2559 ถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ของรัฐบาล จำนวน 365,884 ครัวเรือน พื้นที่ 6,020,845.77 ไร่ จำนวนแปลงใหญ่ 6,534 แปลง มีสินค้าเกษตรประมาณ 70 รายการ โดยในภาคเหนือพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการปลูกมากที่สุดคือ “ลำไย” ประมาณ 2.5 เเสนไร่ คิดเป็นมูลค่าการเกษตรกว่า 6 พันล้านบาท

 

]]>
1263795