เมกาบางนา – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 07 Feb 2024 05:22:38 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เจาะแผน ‘เมกา บางนา’ จะเพิ่มทราฟฟิกอย่างไรหลังทำ New High และมี ‘ห้างฯ ใหม่’ มาท้าชน https://positioningmag.com/1461615 Tue, 06 Feb 2024 04:25:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1461615 นับตั้งแต่เปิดตัวไปครั้งแรกในช่วงเดือนพฤษภาคม 2555 ปัจจุบัน เมกา บางนา (Mega Bangna) ก็ให้บริการมา 11 ปีเต็ม โดยมีจำนวนลูกค้ามากกว่า 550 ล้านคน แม้ว่าโควิดจะทำให้เมกา บางนาสะดุดไปบ้าง แต่ในปีที่ผ่านมา ทางศูนย์ฯ ก็สามารถเพิ่มจำนวนทราฟฟิกสู่ระดับ New High ได้ คำถามคือ ไม่ใช่แค่รักษาระดับทราฟฟิก แต่จะดันให้เติบโตได้อย่างไร

New High 53 ล้านคน

ในช่วงก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 เมกาบางนา (Mega Bangna) มียอดทราฟฟิกปีละประมาณ 50 ล้านคน แต่ในปี 2566 นี้ วรรณวิมล อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ศูนย์การค้าเมกา บางนา เล่าว่า จำนวนทราฟฟิกเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ราว 10% อยู่ที่ 53 ล้านคน ซึ่งทำสถิติ New High โดยเฉลี่ยแล้วมีทราฟฟิกประมาณเดือนละ 4.4 ล้านคน โดยในวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) มีลูกค้าเฉลี่ยกว่า 1.2 แสนคนต่อวัน และมากกว่า 2.2 แสนคนต่อวัน ในวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยลูกค้า

  • 81% มาเพื่อทานอาหาร
  • 32% ช้อปปิ้งสินค้าไลฟ์สไตล์
  • 23% ซื้อของตกแต่งบ้าน

ที่น่าสนใจคือ 53% ของลูกค้ามาเป็น ครอบครัว นอกจากนี้ 40% ของลูกค้ายังมี สัตว์เลี้ยง อีกด้วย

เฟิร์สจ็อบเบอร์ เป้าหมายเพิ่มทราฟฟิก 10%

วรรณวิมล ยอมรับว่า การที่เมกา บางนาทำยอด New High ไปในปีที่ผ่านมา ปีนี้จึงถือเป็นความท้าทายว่าจะทำให้จำนวนทราฟฟิกของศูนย์ เติบโต 10% ตามเป้าอย่างไร อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ฯ มองว่า กลุ่มผู้สูงวัยและคนรักสัตว์ ถือเป็น 2 กลุ่มที่มีการเติบโตอย่างมาก อีกทั้งยังมีการใช้จ่ายที่สูง ทำให้ศูนย์ฯ ต้องการจะสร้างคอมมูนิตี้ของ 2 กลุ่มนี้เพื่อ สร้างความผูกพัน ทำให้มาบ่อยขึ้น และกลุ่มที่อยากเพิ่มจำนวนก็คือ นักศึกษา-เฟิร์สจ็อบเบอร์ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 22%

“กลุ่มผู้สูงวัยและคนรักสัตว์เราเห็นศักยภาพด้านกำลังการใช้จ่าย เพราะคนที่มีสัตว์เลี้ยงเขายอมจ่าย ส่วนกลุ่มผู้สูงวัยเขาไม่ได้มีภาระ แต่มีเงินพร้อมใช้จ่าย ซึ่งเราไม่ได้หวังว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้น แต่ต้องการเพิ่มความใกล้ชิด ส่วนที่เราอยากเพิ่มคือกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยและเฟิร์สจ็อบเบอร์”

ปัจจุบัน นอกเหนือจากเมกา บางนาแล้ว ฝั่งของ IKEA เป็น Pet friendly โดยอนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปได้

ทุ่มงบการตลาด 200 ล้านจัดอีเวนต์

หนึ่งในจุดที่ วรรณวิมล จะใช้สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าก็คือ งานอีเวนต์ ซึ่งแต่ละปีเมกา บางนาจะจัดอีเวนต์เฉลี่ย 13 ครั้ง หรือเฉลี่ยราวเดือนละครั้ง และในปีนี้ศูนย์ฯ วางงบส่วนนี้ไว้ 200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปีที่ผ่านมา โดยจำนวนอีเวนต์จะเท่าเดิมแต่จะจัดใหญ่ขึ้น ซึ่งภายใน 13 อีเวนต์นี้ จะเป็น 5 งานซิกเนอเจอร์ของทางศูนย์ฯ ที่เหลือจะเป็นอีเวนต์ตามเทศกาล

“แม้เราจะต้องการจับกลุ่มผู้สูงวัย แต่คาแรกเตอร์ของเราจะต้องมีความทันสมัยตลอดเวลา และมีความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น อย่างช่วงสงกรานต์เราจะใช้เป็นอีเวนต์สำหรับกลุ่มผู้สูงวัยหรือกลุ่มครอบครัว ในส่วนของกลุ่มคนรักสัตว์เราก็จะมีงาน Mega Pets Day และมีสวนให้พาน้อง ๆ เดินเล่น”

นอกจากนี้ การสื่อสารของเมกา บางนาจะยังทำทั้งภายในศูนย์ฯ และบนโซเชียลมีเดีย โดยปีนี้จะเพิ่มแพลตฟอร์ม TikTok ในการสื่อสารกับลูกค้า เพราะพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลของลูกค้าแพลตฟอร์มไม่เหมือนกัน

เพิ่มแบรนด์ไลฟ์สไตล์มากขึ้น

ในส่วนของร้านภายในเมกา บางนามีการเช่าเต็มพื้นที่รวมแล้ว 900 ร้าน โดยแบ่งเป็น ร้านอาหาร 30% สินค้าแฟชั่น 40% และร้านสินค้าไลฟ์สไตล์และเซอร์วิส 30% วรรณวิมล เล่าว่า ปีที่ผ่านมา ทางศูนย์ได้มีร้านที่ใหม่ อาทิ แฟลกชิปสโตร์ของ Nike, New Balance และร้าน Gentle Women มาเปิดใหม่ โดยทั้งหมดต่างเป็นแบรนด์ที่อยู่ในกระแสและเป็นที่นิยมของกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น ในส่วนของร้านอาหารก็มีแบรนด์ใหม่ ๆ เช่นกัน อาทิ Sushi Seki, Ampersand, Minimelts, Toro Fries และถ้วยถัง นอกจากนี้ ส่วนต่อขยายของเซ็นทรัลก็เพิ่งเปิดไปช่วงปลายเดือนที่แล้ว

โดยในปีนี้เมกา บางนาก็มีแผนจะดึงร้านเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และร้านอาหารมาเปิดใหม่ โดยจะเห็นความชัดเจนช่วงไตรมาส 2 ของปี

“เรามองว่าสัดส่วนของร้านในศูนย์ฯ จะไม่ได้เปลี่ยนแต่มีความวาไรตี้มากขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าเรามีสิ่งที่ตรงใจลูกค้า”

เพิ่มสมาชิก MEGA SMILE REWARDS 10%

สำหรับลอยัลตี้โปรแกรมของเมกา บางนา ก็คือ เมกา สไมล์ รีวอร์ดส (MEGA SMILE REWARDS) ที่เปิดตัวในปี 2019 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 3.6 แสนคน แอคทีฟประมาณ 35% โดยสมาชิกมียอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จอยู่ที่ 4,500 บาทขึ้นไป โดยในปีนี้ เมกาบางนาตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกและยอดใช้จ่ายอีก 10%

จุดที่จะดึงดูดให้ลูกค้าเป็นสมาชิกมากขึ้นก็คือ ได้แต้ม 2 ต่อ โดยนอกจากจะนำใบเสร็จสะสมคะแนนกับร้านค้าที่ซื้อ จากนี้จะสามารถนำมาสะสมกับ Mega Smile Reword ได้ด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถเปลี่ยนแต้มในแพลตฟอร์มพันธมิตรได้ ปัจจุบันมีเมกาบางนามีพาร์ตเนอร์ 2 ราย ได้แก่ ปตท. และ The 1

Mega Smile Reword ช่วยให้เรารู้ได้ว่ากลุ่มลูกค้าเราเป็นใคร อายุเท่าไหร่ ใช้จ่ายมากแค่ไหน ซื้ออะไร และชอบแลกแต้มกับอะไร โดยเรามีตั้งแต่ของกิน ส่วนลด หรือสิทธิประโยชน์จากร้านค้าที่ร่วมรายการ

ไม่เคยจำกัดว่าเป็น Mid-Tier!

วรรณวิมล ทิ้งท้ายว่า ศักยภาพของเมกาบางนายังไปได้อีกมาก โดยดูจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของพื้นที่แถบนี้ (โซนกรุงเทพฯ ตะวันออก) สะท้อนได้จากการเข้ามาของคู่แข่ง (แบงค็อก มอลล์ ของกลุ่มเดอะมอลล์) พร้อมย้ำว่า เมกา บางนาไม่เคยบอกว่าดีไซน์มาเป็น Mid-Tier หรือ Upper Tier และเชื่อว่าที่ศูนย์ฯ มีสินค้าที่หลากหลายและค่อนข้างครบ รวมถึงสินค้าแบรนด์ลักชัวรี่ ดังนั้น ต่อให้เป็นกลุ่มที่มี่กำลังซื้อสูงก็มีสินค้าที่ตอบโจทย์

“ตอนนี้เขามองว่าไม่ต้องเข้าเมืองก็ได้ เพราะที่นี่มีหมด และยอดใช้จ่ายก็ไม่น้อยหน้าในเมืองเลยแม้โลเคชั่นเราจะอยู่ในสมุทรปราการ และลูกค้าเราก็ไม่ได้มีแค่คนสมุทรปราการ แต่มีคนในเมืองด้วย”

]]>
1461615
อินไซต์ ‘เมกา บางนา’ หลังทำสถิติ New High ในปี 2566 https://positioningmag.com/1461610 Tue, 06 Feb 2024 03:40:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1461610 1461610 “เมกาบางนา” ผู้บุกเบิกศูนย์การค้า Low Rise กับการสยายปีกสู่อาณาจักร “เมกาซิตี้” https://positioningmag.com/1384893 Wed, 11 May 2022 08:44:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1384893 เมกาบางนากับการทำตลาดมาแล้ว 10 ปี ยึดครองหัวหาดศูนย์การค้าย่านบางนา-ตราด ผู้บุกเบิกศูนย์การค้าโมเดล Low Rise มีแค่ 2 ชั้น พร้อมอัปเดตแผนการพัฒนาสู่อาณาจักร “เมกาซิตี้” ภายใต้ผู้ถือหุ้นใหญ่คนใหม่ “เซ็นทรัลพัฒนา” ยืนยันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอะไร ปรับตามเทรนด์ของตลาด

เปิดตำนาน 10 ปี เมกาบางนา

ถ้าพูดถึงภาพจำของศูนย์การค้าในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็นตึกใหญ่ มีจำนวนหลายชั้น ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เพื่อเดินทางได้สะดวก มีร้านค้า และบริการที่ครบครัน จะเห็นว่าเจ้าของโครงการใหญ่ล้วนมีรูปแบบนี้ทั้งสิ้น หลังจากนั้นก็เริ่มมีเทรนด์ของ “คอมมูนิตี้ มอลล์” เป็นเหมือนไลฟ์สไตล์มอลล์ มีร้านอาหาร และบริการ เน้นโลเคชั่นในชุมชน ส่วนใหญ่มีรูปแบบเอาต์ดอร์ มีจำนวนชั้นไม่เยอะ และมีพื้นที่ไม่ใหญ่มาก

จนเมื่อโครงการ “เมกาบางนา” ได้เกิดขึ้นในปี 2555 ถือว่าเป็นศูนย์การค้าในโมเดล Low Rise แห่งแรกในไทย หรือเป็นศูนย์การค้าแนวราบ มีแค่ 2 ชั้น จากปกติศูนย์การค้าในไทยส่วนใหญ่จะเป็นแบบ High Rise มีจำนวนชั้นเฉลี่ย 4-7 ชั้น เพื่อให้มีบริการ และร้านค้าครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งยังก่อสร้างให้คุ้มทุนกับค่าที่อีกด้วย

megabangna

เมกาบางนาบริหารงานโดย บริษัท เอสเอฟ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด มี 3 ผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็คือ บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF ในเครือ เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN, บริษัท อิคาโน่ รีเทล เอเชีย จำกัด ผู้ถือสิทธิ์ IKEA ประเทศไทย และบริษัท เอส.พี.เอส. โกลเบิลเทรด จำกัด

โดยที่เมกาบางนามีพาร์ตเนอร์หลักที่อยู่ด้วยกันตั้งแต่ร่วมเปิดศูนย์ ได้แก่ อิเกีย, เซ็นทรัล, โฮมโปร, บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า และเมเจอร์ ซินีเพล็กซ์ ล้วนเป็นผู้เล่นค้าปลีกรายใหญ่ในไทย

ตอนแรก IKEA ได้เปิดให้บริการก่อนในเดือน พ.ย. 2554 และเมกาบางนาเปิดให้บริการในเดือน พ.ย. 2555 สร้างความฮือฮาด้วยความเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ แต่เดิมมีพื้นที่รวม 400,000 ตารางเมตร ปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 577,000 ตารางเมตร แต่ได้สร้างเป็นโมเดล Low Rise เพราะมีพื้นที่ใหญ่

พลินี คงชาญศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเอฟ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด

พลินี คงชาญศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเอฟ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด เริ่มเล่าให้ฟังว่า

“รูปแบบศูนย์การค้าแบบ Low Rise เริ่มมาจากทางยุโรป ส่วนใหญ่จะสร้างในโซนนอกเมือง ค่าที่ไม่แพงมาก เราก็เห็นว่าศูนย์การค้าในไทยมีแต่สูงๆ เดินขึ้นเรื่อยๆ มันไม่ค่อยสนุก แรกๆ ที่เริ่มเปิดหลายคนก็เดินแบบ Low Rise ไม่เป็น เพราะต้องเดินรอบๆ แต่เทรนด์ก็เริ่มเปลี่ยน การเดินรอบสนุกกว่า ไม่มีหลง และไม่มี Dead End ศูนย์การค้าตึกสูงๆ จะมีจุดที่ชั้นบนๆ คนจะเดินขึ้นไม่ถึง แต่เมกาบางนาสามารถเดินถึงทุกมุม”

ทิศทาง “เมกาซิตี้” หลัง CPN เข้าถือหุ้นใหญ่

การเปิดของเมกาบางนาเรียกว่าสร้างแรงกระเพื่อมในวงการค้าปลีกไม่น้อย ว้าวแรกคือการได้พาร์ตเนอร์ใหม่อย่าง IKEA ที่เปิดสาขาแรกในไทย ว้าวที่สองคือ ศูนย์ฯ นี้ตั้งอยู่ในทำเลที่รายล้อมด้วยหมู่บ้านจัดสรรมากมาย จับกลุ่มเป้าหมายที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้ได้อย่างดี เพราะในโซนนี้ยังไม่มีศูนย์การค้าใหญ่ขนาดนี้ มีเพียงแค่เซ็นทรัล บางนา ก็ต้องยอมรับว่ายังยิ่งใหญ่ไม่พอที่จะดึงดูดผู้บริโภคได้

แต่แค่เมกาบางนายังไม่อลังการมากพอ อีกทั้งยังมีพื้นที่เหลืออยู่ถมเถ พร้อมกับแผนการลงทุนของแบงค็อก มอลล์ (Bangkok Mall) ของเดอะมอลล์กรุ๊ป ที่จะมาตอกเสาเข็มย่านบางนา-ตราดเช่นกัน เตรียมสร้างเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในไทย ด้วยพื้นที่ 100 ไร่ งบลงทุนระดับ 50,000 ล้านบาท เป็นการหายใจรดต้นคอไม่น้อย

Megabangna foodwalk
Photo : Shutterstock

ทำให้เมกาบางนาอยู่นิ่งไม่ได้ จึงต้องขยายจากแค่ศูนย์การค้าอย่างเดียว เป็นบิ๊กโปรเจกต์ Mixed-use ด้วยชื่อ “เมกาซิตี้” ได้เริ่มเปิดตัวตั้งแต่ปี 2560 ด้วยงบลงทุน 67,000 ล้านบาท พร้อมกับลงทุนขยาย “เมกา ฟู้ดวอล์ค ศูนย์รวมร้านอาหารดัง มีพื้นที่รวม 10,000 ตารางเมตร ตึกสูง 4 ชั้น ใช้งบลงทุน 2,000 ล้านบาท

เมกาซิตี้มีเนื้อที่รวม 400 ไร่ เป็นโครงการระยะยาวแบ่งการพัฒนาเป็นหลายเฟส ปัจจุบันใช้ไปแล้ว 300 ไร่ เปิดให้บริการไปแล้วราว 40% เหลือพื้นที่อีก 100 ไร่ ตามแผนโครงการจะประกอบไปด้วย พื้นที่สำหรับอยู่อาศัย โรงแรม สำนักงาน แหล่งช้อปปิ้ง โรงเรียน และพื้นที่ไลฟ์สไตล์ โดยมีเมกาบางนาเป็นศูนย์กลาง

คาดว่าหากโครงการเสร็จสมบูรณ์จะทำให้มีผู้เข้ามาใช้บริการในโครงการเมกาซิตี้ และเมกาบางนาถึงวันละ 250,000 คน จากปกติมีทราฟฟิกเฉลี่ยวันละ 150,000 คน

ปัจจุบันเมกาซิตี้มีการพัฒนาไปแล้วกว่า 40% ได้แก่

  • ส่วนต่อขยายเมกา ฟู้ดวอล์ค มาพร้อมกับที่จอดรถ 1,200 คัน และร้านอาหารเพิ่มกว่า 30 ร้าน
  • อาคารจอดรถอิเกีย 8 ชั้น เชื่อมต่อกับตึกเดิมของอิเกียที่รองรับรถได้เพิ่มถึง 2,000 คัน ซึ่งทำให้ปัจจุบันเมกาบางนาสามารถรองรับรถได้ครั้งละถึง 12,000 คัน
  • ส่วนต่อขยายโซนเมกา สมาร์ท คิดส์ แหล่งรวมสถาบันสอนเสริมทักษะกว่า 20 แห่ง
  • Mega Harborland สนามเด็กเล่นในร่มขนาดใหญ่
  • สวนสาธารณะเมกาพาร์ค, โรงเรียนประถมศึกษานานาชาติ ดิษยะศริน กรุงเทพ และคอนโดมิเนียม 2 โครงการ
  • TOPGOLF (ท็อปกอล์ฟ) โครงการที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ พร้อมเปิดให้บริการในไตรมาส 3 ปี 2565

ท็อปกอล์ฟ

หลายคนก็สงสัยว่า หลังจากที่ทาง “เซ็นทรัลพัฒนา” หรือ CPN ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในสยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ หรือ SF ในสัดส่วนถึง 96.24% ซึ่งได้เพิ่งปิดดีลไปเมื่อเดือน ต.ค. 2564 จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างกับเมกาบางนา หรือเมกาซิตี้หรือไม่

พลินี บอกว่า ตอนนี้ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ทำให้รู้สึกกังวล CPN เข้ามาซัพพอร์ตไอเดีย เพื่อทำให้สำเร็จเร็วขึ้นด้วยซ้ำ ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงคงจะเป็นเรื่องของแผนการพัฒนาโครงการในเมกาซิตี้ จากเดิมจะมีสำนักงาน 2 ตึก แต่เทรนด์ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนไป หลายที่ Work from Home ไม่มาเช่าออฟฟิศ อาจจะมีการเปลี่ยนแผน หรือเปลี่ยนเป็นโครงการอื่นๆ แทน

Photo : Shutterstock

พลินี เสริมอีกว่า เมกาซิตี้ยังเหลือพื้นที่อีก 100 ไร่ คาดว่าจะเพิ่มโรงแรมได้ 3 โรงแรม จะเป็นอินเตอร์เชนทั้งหมด เป็น 3 เทียร์ เพื่อจับลูกค้าหลายกลุ่ม อาจจะเพิ่มพื้นที่รีเทลได้อีก จากที่มีอยู่ 200,000 ตารางเมตร

“สถานการณ์ COVID-19 ทำให้เมกาซิตี้ชะงักไปบ้าง เพราะพาร์ตเนอร์ต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาดูโครงการได้ ตอนนี้คุยเรื่องโรงแรมเป็นหลัก คาดจะเพิ่มอีก 3 โรงแรม แตกต่างกันหลายกลุ่ม ตอนนี้ก็ศึกษากลุ่มลักชัวรี่เพิ่มเติม เพราะยังเป็นส่วนที่ขาดในโครงการ แต่ต้องดูว่ามีโอกาสอย่างไร พร้อมหรือไม่ด้วย”

ขอเทียบเท่า “เซ็นทรัลเวิลด์” ดึงคนไม่ต้องเข้าเมือง

แม้ว่าการเป็นศูนย์การค้านอกเมืองของเมกาบางนา จะไม่ได้กลุ่มลูกค้าที่อยู่ในเมืองมากนัก เพราะกลุ่มเป้าหมายหลักก็คือชุมชนในละแวกบางนา-ตราด แต่ด้วยเทรนด์ของการขยายเมือง ทำให้ประชากรออกมาอยู่อาศัยนอกเมืองมากขึ้น ผู้คนในละแวกนี้จึงมีกำลังซื้อสูง

และด้วยความที่มีพื้นที่ใหญ่ ทำให้เป็นตัวเลือกเบอร์ต้นๆ ของการขยายสาขาในโมเดล “แฟลกชิพสโตร์” จะสังเกตได้ว่า ร้านอาหาร หรือสินค้าแฟชั่น บริการต่างๆ จะเลือกเปิดสาขาแฟลกชิพสโตร์ที่มีพื้นที่ใหญ่ ไปกับศูนย์การค้าใหญ่ๆ นอกเมืองทั้งสิ้น นอกจากจะได้พื้นที่เยอะแล้ว ยังจับกลุ่มลูกค้าละแวกนั้นด้วย

ikea megabangna
Photo : Shutterstock

“ย้อนไป 10 ปีก่อน เมกาบางนาคือศูนย์การค้าระดับแมส มีร้านอาหารแบบที่ทุกคนมี แต่ตอนนี้เป็นมอลล์ไลฟ์สไตล์มากขึ้น มีร้านอาหารใหม่ๆ แฟชั่น ความงามใหม่ๆ เพื่อดึงคนไม่ต้องเข้าเมืองแล้ว มีทุกอย่างให้ครบ เรามองโมเดลเทียบเท่าเซ็นทรัลเวิลด์ ลูกค้ามีกำลังซื้อ และอยากทำให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์ต่างๆ เหมือนกับที่เซ็นทรัลเวิลด์มี”  

ทางศูนย์ได้ทำผลสำรวจ พบว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของคนละแวกนี้อยู่ที่ 150,000 บาท เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยในการมาศูนย์ฯ แต่ละครั้ง มียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 3,500-4,000 บาท รวมทั้งร้านแฟชั่น และร้านอาหาร

ส่วนในช่วง COVID-19 มีรายได้ลดลงไป 30% มีทราฟฟิกผู้ใช้บริการลดลงนิดหน่อย แต่ยังดีที่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทย 90% จึงไม่ได้กระทบมากนัก ปัจจุบันเมกาบางนามีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 150,000-160,000 คน มีทราฟฟิกรถยนต์วันละ 35,000 คัน

]]>
1384893
“เมกาบางนา” เล็งปรับเวลาจอดรถฟรีเหลือ 6 ชั่วโมง ศึกษาเก็บค่าจอดรถเพิ่ม https://positioningmag.com/1383425 Fri, 29 Apr 2022 06:37:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383425 จุดแข็งของศูนย์การค้า “เมกาบางนา” นอกจากจะมีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีบริการ ร้านค้าต่างครบครันแล้ว ต้องบอกว่าเรื่อง “ที่จอดรถ” ก็เป็นจุดแข็งอย่างหนึ่ง เพราะที่นี่ให้จอดรถฟรีถึง 8 ชั่งโมง ส่วนถ้าใครจะจอดเกินกว่า 8 ชั่วโมง ก็แค่เอาใบเสร็จซื้อสินค้า และบริการไปแสตมป์บัตรจอดรถได้

แต่จุดแข็งนี้ก็มาพร้อมกับปัญหาใหญ่ของผู้ใช้บริการก็คือ การหาที่จอดรถยาก เพราะลูกค้าบางคนมาจอดรถแช่ทิ้งไว้ แล้วนั่งรถชัทเทิลบัสไปขึ้นรถไฟฟ้า BTS ก็มี ทำให้ทางศูนย์มองว่ามีแผนที่จะปรับเงื่อนไขการจอดรถภายในปีนี้เพิ่มเติม

พลินี คงชาญศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเอฟ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด บอกว่า

“ตอนนี้อยู่ในช่วงกำลังศึกษาในเรื่องการเก็บค่าที่จอดรถเพิ่มเติมหรือไม่ แต่จะเป็นแนวคิดง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่มีการเก็บเป็นขั้นบันได อาจจะเริ่มที่การปรับลดเวลาในการให้จอดรถฟรีจาก 8 ชั่วโมง เหลือ 6 ชั่วโมง ถ้าลูกค้านำใบเสร็จมาแสตมป์บัตรจอดรถก็จอดได้อีกทั้งวันเหมือนเดิม เพราะลูกค้าบอกว่าเจอปัญหาในการจอดรถเหมือนกัน บางคนจอดรถนาน เราต้องทำให้มีทราฟฟิกหมุนเวียนมากขึ้น มองว่าน่าจะเริ่มปรับภายในปีนี้”

ปัจจุบันเมกาบางนามีเงื่อนไขในการจอดรถฟรี 8 ชั่วโมง แต่ถ้าอยากจอดรถนานขึ้น นำใบเสร็จตั้งแต่ 800 บาทขึ้นไป (รวมใบเสร็จได้) และเป็นใบเสร็จที่มาใช้บริการในวันเดียวกัน มาแสตมป์บัตรจอดรถ หากจอดรถเกินกว่า 8 ชั่วโมง และไม่ได้แสตมป์บัตร จะคิดค่าบริการที่จอดรถ 500 บาท และสามารถจอดได้ไม่เกินตี 3 ของวันนั้น และหากจอดรถเกินกว่าตี 3 เป็นต้นไปถือเป็นการจอดรถข้ามคืน จะคิดค่าบริการจอดรถเพิ่ม 1,000 บาทต่อวัน พร้อมค่าบริการจอดรถตามอัตราปกติที่กำหนด

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2563 IKEA ได้เปิดให้บริการอาคารจอดรถ 8 ชั้นแห่งใหม่ ใช้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท สามารถรองรับรถได้กว่า 2,000 คัน และมีทางเชื่อมต่อเข้าไปที่ศูนย์การค้า และ IKEA โดยตรง ทำให้ปัจจุบันเมกาบางนามีที่จอรถรองรับได้สูงสุดถึง 12,000 คัน ถือว่าเป็นศูนย์การค้าที่มีที่จอดรถสูงที่สุดในประเทศไทย

ปัจจุบันเมกาบางนามีทราฟฟิกผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 150,000-160,000 คน โดยที่ 80% ของผู้ใช้บริการนิยมใช้รถส่วนตัวเดินทางมาศูนย์การค้า โดยมีทราฟฟิกของรถยนต์ที่เข้ามาจอดในศูนย์การค้าเฉลี่ยวันละ 35,000 คัน

เมกาบางนามีที่จอดรถหลายรูปแบบ ได้แก่

  • ที่จอดรถธรรมดาที่จอดได้ฟรี 8 ชั่วโมง
  • ที่จอดรถเร่งด่วน จอดฟรีได้นาน 90 นาที และคิดค่าบริการตั้งแต่นาทีที่ 91 เป็นต้นไป ในอัตราค่าบริการชั่วโมงละ 50 บาท (เศษของชั่วโมงจะถูกปัดเป็น 1 ชั่วโมง) ใกล้ Big C Extra เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น.
  • ที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ ให้บริการทุกวันเวลา 10.00-20.00 น.
  • ที่จอดรถสุภาพสตรี โซนสีชมพูเฉพาะคุณผู้หญิง สำหรับสุภาพสตรีที่ขับรถมาคนเดียว หรือมีผู้โดยสารเป็นผู้หญิง และมีเด็กมาด้วย
]]>
1383425
คุยกับ I Found Something Good มัลติแบรนด์กิฟต์ช็อป รันวงการ ‘สติกเกอร์’ นักวาดไทย https://positioningmag.com/1320454 Tue, 23 Feb 2021 12:20:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1320454 ภาพของวัยรุ่น ‘ต่อคิวยาว’ เพื่อรอซื้อ ‘สติกเกอร์’ ของนักวาดคนไทย สร้างความเเปลกใจให้ผู้ที่เดินผ่านไปมาไม่น้อย สะท้อนความนิยมของตลาดได้เป็นอย่างดี

ย่างเข้าปีที่ 2 กับการเดินทางของ ‘I Found Something Good’ ร้านมัลติแบรนด์ที่รวบรวมผลงานศิลปะน่ารักกุ๊กกิ๊ก ที่เข้าไปเเล้วต้องได้ของออกมาสักชิ้น เเม้จะเริ่มทำธุรกิจมาได้ไม่นาน เเต่กลับต้องเจอกับความท้าทายครั้งใหญ่อย่าง COVID-19

จาก ‘ความชอบ’ สู่ ‘ธุรกิจทำเงิน’ ของ 4 สาวเพื่อนซี้ วัย 24-25 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งที่หลงใหลในงานศิลปะ อย่าง เบลล์-อริยา สภานุรัตนา , นัตโตะ-ณัฐวดี กาญจนโกมล, โรล-นดี จรรยาประเสริฐ และ ร็อค-นดา จรรยาประเสริฐ

วันนี้เติบโตขึ้นไปอีกขั้น พร้อมหาโอกาสใหม่ ขยายสาขาจากสยามสเเควร์ สู่ศูนย์การค้าใหญ่ชานเมือง เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าให้กว้างกว่า ‘วัยรุ่น’

Positioning จะพามารู้จัก ‘I Found Something Good’ เสพงานศิลป์ให้เป็นไลฟ์สไตล์…ให้มากขึ้นกัน 

โอกาสธุรกิจจาก ‘ความชอบ’

I Found Something Good เกิดขึ้นจากความสนใจเเละชอบสะสมงานศิลปะของทั้ง 4 คน เวลาที่พวกเขาไปงาน Art Market ก็มักจะคิดเสมอว่า อยากให้มีร้านที่สามารถเเวะมาซื้อของเหล่านี้ได้ตลอด สร้าง community เล็กๆ เพื่อเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่ง ณ ตอนนั้นกระเเสงาน Art Market ในไทยก็เพิ่งเริ่มบูมมาได้ราว 1-2 ปีเท่านั้น 

หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ในช่วงปลายปี 2019 เริ่มคิดหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริงๆ เดิมที ‘เบลล์’ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ได้เปิดร้านขายสติกเกอร์น่ารักๆ ทางออนไลน์อยู่เเล้ว จึงได้มาพูดคุยกัน เเละเห็นตรงกันว่า 

“ทุกวันนี้เมืองไทยมีนักวาด นักศิลปะรุ่นใหม่เยอะมาก ความสามารถสูงไม่เเพ้ต่างชาติ เเต่ส่วนใหญ่กระจายตัวกันตามโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่าง ทวิตเตอร์ เราจึงเห็นโอกาสที่จะเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้มาโชว์ผลงาน”

อย่างในญี่ปุ่นจะมีร้านรวมงานศิลปะเยอะ เเต่ในไทยไม่ค่อยมีเเละหายากมาก ส่วนใหญ่จะเป็นงานของต่างชาติที่นำเข้ามา 

“ตอนนั้นในตลาดเเทบจะไม่มีร้านมัลติเเบรนด์ที่รวบรวมของคนไทยเลย เป็นช่องว่างธุรกิจที่เราเห็นว่าน่าจะโตไปได้ พร้อมไปกับการได้ช่วยขับเคลื่อนวงการนี้ด้วย” 

คนรุ่นใหม่ เสพศิลปะที่ ‘จับต้องได้’ 

พอตกลงกันได้ ก็เริ่มลงมือทำทันที…ไม่รอรีให้เสียเวลา โดยทั้ง 4 คนลงขันกันเพื่อเปิดสาขาเเรก ด้วยเงินราว 4-5 เเสนบาท จากเงินเก็บสะสมของทุกคน เเละบางส่วนจากการสนับสนุนจากครอบครัว ซึ่งยอมรับว่าต้อง ‘อธิบาย’ เกี่ยวกับธุรกิจนี้ให้ผู้ใหญ่เข้าใจกันเยอะทีเดียว 

ชื่อของ I Found Something Good มีความหมายถึงการพบเจอสิ่งที่ดีๆ เเละอยากเเบ่งปันให้ผู้อื่น เปิดตัวมาด้วยการเป็นร้านเล็กๆ ในย่านวัยรุ่น อย่างสยามสเเควร์ 

โดยเริ่มหาผลงานของศิลปินเเละเหล่านักวาดไทย จากกลุ่มเพื่อนที่รู้จักกัน ช่วงเเรกๆ ต้องอาศัย ‘ความเชื่อใจ’ กันมาก เพราะที่ร้านยังไม่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ

หลังเปิดร้านได้ไม่นาน ก็ได้รับเสียงตอบรับ ‘ดีเกินคาด’ ทำให้มองเห็นโอกาสอื่นๆ ที่จะนำมาต่อยอดไปได้อีก 

“สมัยก่อน เมื่อพูดถึงงาน Craft หรือ Art คนทั่วไปมักจะมองว่าต้องเป็นงานศิลปะยิ่งใหญ่ เป็นภาพวาดอลังการ เเต่เด็กๆ รุ่นนี้เสพงานศิลปะที่หลากหลายเเละเปิดกว้างมากขึ้น เน้นจับต้องได้จริงเเละใช้ในชีวิตประจำวันได้ กลายเป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของพวกเขา” 

สร้าง community รวมพลคนชอบ ‘สติกเกอร์’ 

เมื่อคนซื้ออยู่ในโลกออนไลน์ ก็ต้องโปรโมตผ่านโลกออนไลน์ I Found Something Good เลือกทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียเพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง ‘ทวิตเตอร์’ เพื่อโปรโมตร้าน 

โดยได้เเรงสนับสนุนจากศิลปิน-นักวาดที่มี ‘ฐานเเฟนคลับ’ อยู่เเล้ว ช่วยเเชร์เเละกระจายข่าว ค่อยๆ สร้าง community พูดคุยรวมกลุ่มคนที่ชอบเหมือนกันขึ้นมา ทำให้ร้านเป็นที่รู้จักได้รวดเร็ว มีคนต่อคิวซื้อเเถวยาวเหยียด

จากร้านเล็กๆ ห้องเดียว ตัดสินใจย้ายร้านขึ้นมาอยู่ชั้น 3 สยามสแควร์วัน เพื่อรองรับการเติบโต จากเริ่มเเรกกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นนักเรียนมัธยม จากนั้นขยับมาเป็นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย รวมถึงผู้ใหญ่วัยทำงานที่เข้ามามากขึ้น ปรับทาร์เก็ตให้เป็นผู้คนทุกช่วงวัย 

ทุกวันนี้ I Found Something Good เปิดให้บริการมาราว 2 ปี นับว่าเป็นร้าน ‘มัลติเเบรนด์’ ที่รวมงานสติกเกอร์ของคนไทยรายเเรกๆ โดยมีสินค้าในร้านกว่า 200 เเบรนด์ จำนวนมากกว่า 1 หมื่นชิ้น 

“พวกเรามองว่านี่เป็นเเค่ก้าวเเรกเท่านั้น ถ้าถามว่าสำเร็จเเล้วหรือยัง ก็ต้องบอกว่ายังไม่ถึงจุดวางไว้ เพราะยังต้องไปต่อได้อีกเยอะ ลึกๆ รู้สึก ‘ดีใจมาก’ ที่ได้เป็นจุดเล็กๆ ที่ได้ช่วยให้ศิลปินได้เติบโต สร้าง community เเละไลฟ์สไตล์ให้คนรุ่นใหม่ เป็นกำลังใจให้พวกเราได้สู้ต่อ” 

ปัจจุบัน มีศิลปินที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ I Found Something Good ราว 200 คนทั่วประเทศ โดยยังมีแผนขยายความร่วมมือไปเรื่อยๆ นักวาดคนไหนสนใจก็ติดต่อมาได้

พลิก ‘ขายออนไลน์’ พยุงรายได้ช่วง COVID-19 

เมื่อมองย้อนไปยังจุดเริ่มต้น ทุกคนยังไม่มีความรู้พื้นฐานธุรกิจ อีกทั้งยังอายุน้อย การ ‘ดีลงาน’ ก็ถือว่าเป็น ‘งานยาก’ ต้องเรียนรู้กันใหม่ โดยอาศัยการปรึกษาพ่อเเม่ ปรึกษาผู้รู้ทำธุรกิจมาก่อน เเละปรึกษากันเอง ค่อยๆ ทำเป็นระบบร้านขึ้นมา 

เเต่หลังเปิดร้านมาได้เพียง 5 เดือน ก็เจอมรุสมครั้งใหญ่ที่กระทบธุรกิจทั่วโลกอย่าง COVID-19 เเต่ในอีกมุมก็ทำให้เหล่านักธุรกิจรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้การก้าวผ่านอุปสรรค นั่นก็คือ การปรับตัวเพื่อรับมือกับ ‘วิกฤต’ 

“โชคดีที่ตอนนั้น เราเริ่มคุยกันว่าจะขยับไปทำเว็บไซต์เเละขายผ่านออนไลน์กันมากขึ้น ในวันที่ทางการประกาศล็อกดาวน์ ตรงกับวันเเรกที่เราเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ เมื่อต้องปิดร้านชั่วคราว เเต่เรายังสามารถขายของได้” 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนรายได้ ที่ ‘เคยได้’ ยอมรับว่าหายไปพอสมควร เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายหน้าร้าน เเต่ก็ถือว่าได้หาช่องทางพยุงรายได้ ไม่ได้ขาดช่วงเเละช่วยซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายได้ 

สำหรับช่องทางการขายในปัจจุบัน ลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นหน้าร้าน เนื่องจากมีจุดเด่นอยู่ที่ ‘การได้เห็นของจริง’ เพราะสติกเกอร์เเต่ละชิ้น จะมีรายละเอียดที่เเตกต่างกันออกไป อย่างเช่น บางอันมีลวดลายที่มีมิติ กันน้ำได้หรือไม่ได้ เป็นต้น 

ช่วงที่ขายดีที่สุดคือช่วงเทศกาลเเละวันหยุดยาว ส่วนเวลาที่ขายดีในเเต่ละวัน จะเป็นช่วงเย็นๆ หลังเลิกเรียน โดยสินค้าที่ขายดีที่สุด ได้เเก่ สติกเกอร์ , โปสการ์ด , พวงกุญเเจ เเละเทียนหอม 

จากเริ่มต้นที่ต้องทำทุกอย่าง ทุกหน้าที่ เเละมีทีมที่เป็นญาติมาช่วยอีกเเค่ 2 คน มาตอนนี้บริษัทขยายทีมงานให้ใหญ่ขึ้น มีออฟฟิศเเละจ้างพนักงานดูเเลหน้าร้าน มีผู้จัดการสาขา เเละเเอดมินคอยตอบลูกค้า รวมทั้งหมด 10 คน มีการเเบ่งหน้าที่การรับผิดชอบกันเเน่ชัด สื่อสารกันตลอดเวลา 

ขยายฐานลูกค้า ให้เข้าถึง ‘ผู้ใหญ่’

จุดเด่นของ I Found Something Good  อันดับหนึ่งคือการเป็น ‘Local Brand’ ที่มีผลงานศิลปะฝีมือคนไทย 100% รองลงมาคือ ‘ราคาที่จับต้องได้’ เด็กๆ สามารถซื้อได้ในราคา ‘หลักสิบหลักร้อย’  สินค้ามีความหลากหลาย โดยมีการใช้จ่ายเฉลี่ยราว 150-200 บาทต่อคน 

ตามมาด้วย ‘บรรยากาศของร้าน’ เมื่อมาเจอลูกค้าได้มาเจอคนที่ชอบในสิ่งเดียวกัน จึงมีความที่อยากซื้อไว้สะสมมากขึ้น รู้สึกเป็นพื้นที่ของเขา เป็น comfort zone ที่เดินดูของได้นานๆ

จากสาขาเเรกในสยามสเเควร์วัน ย่านวัยรุ่น สู่การขยายสาขามาที่ ‘เมกาบางนา’ ศูนย์การค้าใหญ่ชานเมืองที่ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกช่วงวัย เพื่อเจาะกลุ่มครอบครัวเเละวัยทำงาน 

โดยเหตุผลที่เลือก ‘เปิดสาขาใหม่’ ที่เมกาบางนา เพราะมองว่าเป็นศูนย์การค้าที่มีทราฟฟิกเยอะ บรรยากาศทันสมัย มีลูกค้าทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ มาเป็นครอบครัวเเละกลุ่มเพื่อน อีกทั้งเมกาบางนายังมีการเติบโตต่อเนื่อง เเม้จะอยู่ในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 

เมื่อถามว่า ทำไมจึงเลือกขยายสาขาในช่วงเวลานี้ เจ้าของร้าน I Found Something Good บอกว่าเป็นหนึ่งในแผนที่จะทำอยู่เเล้วในช่วงสิ้นปี 2020 โดยคิดไว้ว่าโรคระบาดน่าจะซาลงเเล้ว เเต่เมื่อต้องมาเจอ COVID-19 ระลอกใหม่ จึงต้องสู้กันใหม่ หาวิธีปรับตัวกันอีก เเต่ครั้งนี้มองว่าจะรับมือ ‘ได้ดีกว่าเดิม’ เพราะผ่านประสบการณ์เเบบนี้มาเเล้ว 

กลยุทธ์หลักๆ ของปีนี้ หลังขยายสาขาที่ 2 เรียบร้อยเเล้ว จึงจะเป็นการสร้าง ‘ระบบหลังบ้าน’ ให้เเข็งเเรง เรียกได้ว่า ‘กลับมาอยู่กับตัวเองมากขึ้น’ ทำความเข้าใจปัญหาที่มีเเละเตรียมตัวต่อยอดธุรกิจต่อไป 

‘ให้คุณค่า’ คือคีย์หลักของวงการ ‘สติกเกอร์’ ไทย

หลังจากที่อยู่ในวงการสติกเกอร์ไทยนาน  มองว่าปัญหาใหญ่ๆ ที่ต้องผลักดันคือเรื่อง ‘การให้คุณค่างานศิลปะ’ เพราะหลายคนยังตั้งคำถามว่า ทำไมราคาเท่านี้ อยากให้มองว่ากว่าจะสร้างสรรค์ผลงานออกมา 1 ชิ้น มันมี ‘ต้นทุน’ มากกว่าค่ากระดาษเเละค่าหมึกพิมพ์ ทั้งการฝึกฝน ทักษะเเละการเล่าเรียนต่างๆ ที่ต้องใช้เวลานานหลายปี 

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงปัญหาเรื่อง ‘ซัพพลายเออร์’ ที่มีในท้องตลาดจำนวนน้อย เวลาผลิตสติกเกอร์จึงไม่ค่อยมีความหลากหลายของวัตถุดิบ เนื้อสติกเกอร์ยังมีให้เลือกค่อนข้างจำกัด 

เหล่านี้เป็นปัญหาที่สอดคล้องกันว่า ถ้าสังคมให้ความสำคัญกับงานศิลปะมากขึ้น บรรดาซัพพลายเออร์ก็จะพัฒนาสินค้าให้มีมากขึ้นตามไปด้วย หาอะไรใหม่ๆ มาสู้กันบ้าง ซึ่งตอนนี้ก็มองว่าตลาดนี้เริ่มดีขึ้น มีการนำของใหม่ๆ มาให้ศิลปินมาลองใช้กัน เเต่ก็ยังถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับประเทศที่ให้การสนับสนุนด้านงานวาดการ์ตูนอย่างญี่ปุ่น 

ส่วนปัญหาเรื่อง ‘ลิขสิทธิ์’ ทางร้านก็พยายามคัดสรรสินค้าไม่เหมือนกัน ไม่นำของละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามาขาย โดยมีการพูดคุยข้อตกลงกับศิลปินที่เป็นพาร์ตเนอร์ด้วยอย่างจริงจัง  

“ไม่อยากให้มองว่าวงการสติกเกอร์ เป็นเเค่เทรนด์หรือกระเเสที่เกิดขึ้นชั่วคราว เเต่ให้มองว่าเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราจริงๆ เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ผู้คนนำมาปรับใช้ ทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้นในทุกๆ วัน” 

โดยปัจจุบัน มีทั้งการนำ ‘สติกเกอร์’ ไปตกเเต่งห้อง ตกเเต่งของใช้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เเละเครื่องเขียนต่างๆ นำไปใช้ตอนจดตารางการทำงาน จดสรุปการเรียน ช่วยให้มีกำลังใจในการอ่านหนังสือมากขึ้น ฯลฯ 

คงความเป็นตัวตน มีทีมเวิร์กเเละใส่ใจลูกค้า 

สำหรับการเเข่งขันในตลาด มองว่ามีความท้าทาย เพราะมีร้านลักษณะคล้ายกันมาเปิดมากขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นเจ้าเเรกๆ จึงทำให้ต้องเร่งพัฒนาให้ไม่หยุดนิ่ง 

“ถ้าถามว่าจะให้ขยายสาขาไปเยอะๆ เลยเราก็ทำได้ เเต่จะไม่ได้บรรยากาศเเบบที่เราต้องการ เพราะมันจะดูเป็นธุรกิจจ๋าเกินไป จึงจะพยายามคงความเป็นตัวตนของเรา ไปพร้อมๆ กับการเติบโตที่มากขึ้น” 

หลักการทำงานที่สำคัญที่สุด ที่ทั้ง 4 คนยึดถือ นั่นก็คือ ‘ทีมเวิร์ก’ เพราะไม่มีทางที่คนคนหนึ่งจะทำงานทุกอย่างได้ตั้งเเต่ต้นยันจบ การมีทีมที่ดีทำให้เราทำสิ่งที่คิดให้เกิดขึ้นจริงได้ เเละโตไปได้ด้วยประสิทธิภาพที่มากกว่า 

ต่อมาคือ ‘การดูเเลพนักงาน’ เเม้ว่าเราจะอายุยังน้อย เเต่เมื่อพนักงานในบริษัทเเล้ว ก็ต้องให้สวัสดิการที่ดี สร้างบรรยากาศการทำงานให้พูดคุยกันได้ อาศัยการไว้ใจจากคนทำงาน สบายใจเเละเปิดใจกับเรา 

‘ความพึงพอใจของลูกค้า’ คือสิ่งสำคัญโดยจะมีเช็กฟีดเเบ็กลูกค้าตลอด มีปัญหาอะไรก็เข้าไปเเก้ทันที  ขณะที่การดูเเลศิลปินนั้น จะมีการช่วยโปรโมตผลงานให้อย่างต่อเนื่อง หาโปรโมชันทำร่วมกับศิลปิน เพื่อส่งเสริมการขายให้กันเเละกัน 

เเม้จะเต็มไปด้วยพลังที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เเต่ทุกการทำงานต้องมี ‘ความเหนื่อย’ อย่างตอนที่เช็กสินค้าในสต๊อกไม่ทัน ต้องอดหลับอดนอน เเละมีช่วงที่เเพชชั่นมันลดลง เเต่พอมาเจอลูกค้าหรือได้รับฟีดเเบ็กดีๆ ก็มีส่วนช่วยได้เยอะ 

ส่วนมุมมองของการทำ ‘ธุรกิจกับเพื่อน’ นั้น ทั้ง 4 คนมองไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นความสัมพันธ์ที่มากกว่าการทำงาน ไม่ได้มองว่าเป็นเเค่เพื่อนร่วมงาน เเต่เป็นเพื่อนร่วมชีวิต ฟังความคิดเห็นกันเเละพยายามหาโซลูชันที่พอใจกันทุกฝ่าย 

สุดท้าย I Found Something Good ฝากเเนะนำถึง ผู้ประกอบการรุ่นใหม่’ ที่อยากจะลองทำธุรกิจว่า ถ้าตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มจากอะไร ให้สังเกตความชอบของตัวเองดีๆ เพราะการทำธุรกิจต้องใช้ชีวิตอยู่กับมันจริงๆ ทำงานตลอดเวลา ต้องทุ่มเทเเละวางเป้าหมายให้เเน่ชัด การเลือกพาร์ตเนอร์ที่ไว้ใจได้เป็นสิ่งสำคัญ หาความรู้เกี่ยวกับธุรกิจทั่วไปเเละเฉพาะธุรกิจของเรา ลงมือทำจริง เเละตั้งมั่นว่าจะ ‘ไม่ถอยกลางทาง’ 

 

]]>
1320454
พลิกโฉมโรบินสัน สู่ “ห้างเซ็นทรัล เมกาบางนา” ยึดทำเลทองบางนา-ตราด สวอปแบรนด์ในเครือ https://positioningmag.com/1284100 Thu, 18 Jun 2020 07:57:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1284100 “ห้างเซ็นทรัล” ควัก 50 ล้านบาท พลิกโฉมโรบินสันเป็นห้างเซ็นทรัลเมกาบางนา ยึดทำเลทองย่านบางนา-ตราด พร้อมเปิดให้บริการ 2 ก.ค. 63 เตรียมปรับโฉมใหญ่ เพิ่มพื้นที่ปลายปีหน้า

จัดพอร์ตรีเทลของ CRC สวอปแบรนด์ในเครือ

ใครที่อาศัยอยู่ทางฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก ย่านบางนา ศรีนครินทร์ ต้องคุ้นเคยกับศูนย์การค้า “เมกาบางนา” เป็นอย่างดี ด้วยไซส์ของศูนย์ที่มีขนาดใหญ่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกแทบจะครบ แถมยังมี IKEA เป็นแม็กเน็ต ทำให้เมกา บางนาเป็นอีกหนึ่งเดสติเนชั่นของคนละแวกนั้นได้

เมกาบางนาเปิดให้บริการได้ 8 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2555 บริหารงานโดย บริษัท เอสเอฟ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท อิคาโน่ รีเทล เอเชีย จำกัด และบริษัท เอส.พี.เอส. โกลเบิลเทรด จำกัด

ภายในนอกจากจะมี IKEA ที่เป็นพาร์ตเนอร์รายใหญ่แล้ว ยังมี “โรบินสัน” เป็นในส่วนของห้างสรรพสินค้า ที่เปิดพร้อมกับเมกาบางนาตั้งแต่เดย์วัน

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาทางกลุ่มเซ็นทรัลได้ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยได้รวมธุรกิจค้าปลีกอยู่ในบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC และเปิด IPO ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ รวมถึงได้เสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ ROBINS หรือห้างโรบินสัน เท่ากับว่าได้ควบรวมโรบินสันอยู่ภายใต้ CRC อย่างเป็นทางการ

ปัจจุบันภายใต้ CRC มีกลุ่มห้างสรรพสินค้า ได้แก่ ห้างเซ็นทรัล 23 สาขา และโรบินสัน 51 สาขา เท่ากับว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้กลุ่มเซ็นทรัล และ CRC ได้ทำการจัดพอร์ตฟอลิโอของตัวเองได้ง่ายขึ้น สามารถปรับสาขาของทั้ง 2 ได้ เพื่อให้เข้ากับสภาพตลาดและทำเล

ณัฐธีรา จิราธิวัฒน์ บุญศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ได้บอกถึงข้อดีของการควบรวมโรบินสันเข้ามาอยู่ใน CRC ว่า

“ทำให้ที่ผ่านมาได้กลับมารีวิวพอร์ตฟอลิโอในกลุ่มมากขึ้น ทำให้มีการปรับพื้นที่ให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้า ตอบโจทย์ทั้งเรื่องการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ตรงใจลูกค้า มีการแชร์ประสบการณ์ของกันและกันของธุรกิจในเครือมากขึ้น”

ใช้แบรนด์ “เซ็นทรัล” จับหัวหาดทำเลทอง

ทำให้ล่าสุดกลุ่ม CRC ได้ตัดสินใจเปลี่ยน “โรบินสัน เมกาบางนา” เป็น “ห้างเซ็นทรัล เมกาบางนา” เพื่อจับโซนทำเลศักยภาพย่านบางนา-ตราด เป็นทำเลทองที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงด้วย

โรบินสัน เมกาบางนามีพื้นที่รวม 13,000 ตารางเมตร ทำเลที่ตั้งอยู่ในย่านเศรษฐกิจ มีหมู่บ้านจัดสรรใหญ่ๆ รายล้อม 18 โครงการ และมีที่พักอาศัยอยู่กว่า 70,000 ครัวเรือน มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นประตูสู่ภาคตะวันออก โดยกลุ่มที่อาศัยอยู่ย่านนั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง

จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ได้ตัดสินใจโละชื่อโรบินสัน เปลี่ยนมาใช้ชื่อห้างเซ็นทรัลที่เป็นแบรนด์แม่ของกลุ่มเซ็นทรัล

ในเฟสแรกจะใช้งบลงทุน 50 ล้านบาทในการปรับโฉมแบบไมเนอร์ (Minor renovation) จะเปิดให้บริการในวันที่ 2 ก.ค.นี้ และจะมีการรีโนเวตครั้งใหญ่ในช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2564 ตอนนั้นจะมีการขยายพื้นที่เพิ่มด้วย

การปรับโฉมครั้งนี้มีการยกทัพแบรนดืใหม่เข้ามาอีก 400 แบรนด์ ทำให้มีแบรนด์รวมกว่า 1,000 แบรนด์ เน้นที่สินค้าสำหรับกลุ่มครอบครัว และคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก มีการคาดการณ์ว่าหลังจากรีโนเวต จะมียอดขายเพิ่มขึ้น 20%

ในอนาคตทั้งโรบินสัน และห้างเซ็นทรัลจะมีแผนที่ปรับเปลี่ยนแบรนด์อีก 3 สาขา โดยที่ประเดิมเปลี่ยนโรบินสันเป็นห้างเซ็นทรัลที่เมกาบางนาสาขาแรก ส่วนอีก 2 สาขายังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา มีทั้งเปลี่ยนจากโรบินสันเป็นเซ็นทรัล และเปลี่ยนจากห้างเซ็นทรัลเป็นโรบินสัน ขึ้นอยู่กับโลเคชั่น และกลุ่มเป้าหมาย

โรบินสันเจาะทำเลภูมิภาค

ปัจจุบันโรบินสันมีห้างสรรพสินค้ารวมทั้งหมด 51 สาขา ครอบคลุม 36 จังหวัด มีพื้นที่รวม 583,300 ตารางเมตร มีทั้งฟอร์แมตโรบินสัน และโรบินสัน ไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์

สำหรับโรบินสัน เมกาบางนาเปิดให้บริการมา 8 ปี มีการเติบโตเป็น 2 หลักโดยตลอด มียอดขายอยู่ในอันดับ Top 8 ของโรบินสันมาโดยตลอด

วุฒิเกียรติ เตชะมงคลาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) บอกว่า

“ตอนนี้จุดยืนของโรบินสันจะแข็งแรงในส่วนของภูมิภาค มีขนาดของห้างฯ ที่ยืดหยุ่นกว่า ขนาดเล็กกว่า จะแตกต่างจากห้างเซ็นทรัลทั้งในเรื่องของขนาด และกลุ่มลูกค้า สาขาเมกาบางนามีพื้นที่ใหญ่ รวมถึงกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มครอบครัว คนรุ่นใหม่ เหมากับห้างเซ็นทรัลมากกว่า”

ในขณะที่จุดยืนของห้างเซ็นทรัลจะจับกลุ่มลูกค้าระดับกลางไปถึงระดับบน กลุ่มคนทำงาน คนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มท่องเที่ยว ทำให้แยกเซ็กเมนต์ และมีความแตกต่างกันชัดเจน

โดยการใช้จ่ายของลูกค้าในโรบินสันจะน้อยกว่าห้างเซ็นทรัลราว 20-30% สินค้าขายดีจะเป็นกลุ่มของใช้ในบ้าน และเครื่องสำอาง สินค้าสำหรับครอบครัว

สำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการรีเทล แต่เรียกว่าเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป มองกลุ่มลูกค้า และโลเคชั่นเป็นหลัก การที่ CRC มีทำเลทองและมีศักยภาพอย่างเส้นบางนา-ตราด การเปลี่ยนเอาแบรนด์แม่อย่างห้างเซ็นทรัลมาคงจะตอบโจทย์อยู่ไม่น้อย

]]>
1284100
ปลดล็อกสัปดาห์แรก ‘เมกาบางนา’ ดึงลูกค้า Come back 80% มั่นใจภาพรวมยังกำไร แม้รายได้หาย 20% https://positioningmag.com/1280898 Wed, 27 May 2020 14:14:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1280898 หลังจากต้องปิดศูนย์การค้าตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมจนถึง 16 พฤษภาคมหรือประมาณ 2 เดือน ‘เมกาบางนา’ (Mega Bangna) ก็ได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่ามีคนมาอย่างล้นหลามมาก ดังนั้นเราจะไปพูดคุยกับ นางสาวปพิตชญา สุวรรณดี กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า เมกาบางนา ว่าปัจจัยไหนที่ทำให้ผู้บริโภคถึงมุ่งหน้าสู่เมกาบางนาได้ตั้งแต่วันแรก

นางสาวปพิตชญา สุวรรณดี กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า เมกาบางนา

ลูกค้ากลับมา 80% หลังปิดไป 2 เดือน 100% เป็นลูกค้าเก่า

หลังจากที่เมกาบางนาเปิดให้บริการมาได้ 1 สัปดาห์เต็ม พบว่าจำนวน Visitation กลับมาประมาณ 80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติก่อนจะมีวิกฤติ COVID-19 ที่เคยเฉลี่ยวันละประมาณ 130,000-150,000 คน หรือราวปีละลูกค้า 50 ล้านคน และในส่วนของร้านค้าทั้ง 652 แบรนด์ ตอนนี้กลับมาเปิดได้ประมาณ 97% โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือนจะกลับมาเปิดได้ 100%

และปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการเร็ว เป็นเพราะลูกค้าคุ้นเคยกับเมกาบางนา โดย 100% ของลูกค้าที่มาเป็นลูกค้าเก่า อีกทั้งลูกค้าหลักของศูนย์การค้าเป็นคนไทยเกือบ 100% ลูกค้าจึงไม่มีความกังวลถึงลูกค้าชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเป็นเพราะมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ทางเมกาบางนาลงทุนเพิ่มเป็นหลักล้านบาท ซึ่งเสริมความมั่นใจ

“จากที่ลูกค้าหายไป 80% ตอนนี้กลับมา 80% ที่เหลืออีก 20% เชื่อว่าจะกลับมาหลังจากที่ธุรกิจกลุ่มเอนเตอร์เทนเมนต์ เช่น โรงหนัง, ลานโบว์ลิ่ง และธุรกิจฟิตเนส, เวลล์เนส, โรงเรียน, ลานเด็กเล่น กลับมาเปิดอีกครั้ง ส่วนระยะเวลาที่ต้องปิดเร็วขึ้น 2 ชั่วโมง จาก 4 ทุ่ม เป็น 2 ทุ่ม ก็ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าลดลง”

ลูกค้าใช้จ่าย สูง กว่าตอนไม่มี COVID-19

อีกสิ่งหนึ่งแตกต่างจากช่วงก่อนมี COVID-19 คือ ลูกค้ามาใช้บริการวันธรรมดามากขึ้น จากปกติวันเสาร์-อาทิตย์จะมีลูกค้ามากกว่าวันธรรมดา 40% แต่ปัจจุบันเหลือ 10-20% ซึ่งอาจเป็นเพราะลูกค้าบางคนยัง Work from Home ขณะที่ส่วนของมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนยังสูงขึ้นอีกด้วย โดยเฉลี่ย 3,000 บาท/คน ซึ่งมองว่า ปัจจัยมากจาก ‘อั้น’ จากช่วงกักตัว เพราะคนกังวลเรื่องรายได้ ไม่กล้าจับจ่าย และต้องยอมรับว่ากลุ่มลูกค้าที่อาศัยอยู่แถบบางนาเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ

ดังนั้น มีทั้งร้านที่มียอดขายกลับมา 100% หรือขายได้มากกว่าเดิม แต่ต้องยอมรับว่าบางร้านก็ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหาร ที่ยังได้รับผลกระทบหนักจากมาตรการ Social Distancing ทำให้ร้านอาหารที่มี 165 ร้านยังไม่สามารถรองรับลูกค้าได้เต็มที่ บางรายรองรับได้เพียง 50%

“ด้วยความที่กลุ่มลูกค้าย่านบางนาค่อนข้างมีกำลังซื้อ ขณะที่ร้านค้าที่อยู่กับเมกาบางนาไม่ได้เป็นแบรนด์ลักชัวรี่ ดังนั้นจึงจับต้องได้ โดยบางร้านก็ขายได้มากกว่าเดิม เช่น อีเกีย ที่สินค้าเหมาะกับช่วงนี้ที่ต้องทำงานที่บ้าน แต่เขาไม่ได้หวังว่าจะเป็นแบบนี้ตลอดไป ถ้าสถานการณ์กลับเป็นปกติ ยอดขายอาจจะกลับไปเหมือนปกติ”

เพิ่มช่องทาง ‘ออนไลน์’ รับ ‘New Normal’ ในอนาคต

ที่ผ่านมา ทางเมกาบางนาได้ความร่วมมือกับฟู้ดออนไลน์ดีลิเวอรีแพลตฟอร์ม เพื่อให้บริการตั้งแต่ในช่วงที่ศูนย์ปิดชั่วคราว พร้อมทำแคมเปญร่วมกับแกร็บฟู้ด ใช้คะแนนเมกา สไมล์ รีวอร์ดส แลกรับส่วนลด และร่วมกับไลน์แมนทำโปรเจกต์ ‘Mega Eat At Home’ ให้ลูกค้าเลือกสั่งเมนูได้มากกว่า 1 ร้านต่อการสั่งซื้อ 1 ครั้ง นอกจากนี้ อยู่ระหว่างเจรจากับฟู้ดออนไลน์ดีลิเวอรีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางขายและเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น

นอกจากอาหารแล้ว เมกาบางนายังช่วยโปรโมตช่องทางออนไลน์ให้กับร้านค้า อีกทั้งยังมีกลยุทธ์ออมนิแชนแนล โดยมีบริการ Click &Collect โดยลูกค้าเลือกดูและสั่งสินค้าทางออนไลน์ และมารับสินค้าได้ที่จุด Drive Thru เพื่อลดความแออัดภายในร้านค้าได้ด้วย

“รายได้เรามาจากค่าเช่า แต่ถ้าลูกค้าขายของไม่ได้ มันก็กระทบกับเรา ดังนั้นถ้ามีไรที่ช่วยได้เราก็ช่วย เรามีการคุยกัน และในช่วง 2 เดือนที่ห้างปิด เราก็งดเว้นค่าเช่าให้ร้านค้าในศูนย์”

 

รายได้หาย 20% แต่มั่นใจปีนี้ยังกำไร

เพราะต้องปิดศูนย์การค้าไปเป็นเวลา 2 เดือน รวมถึงได้งดเว้นค่าเช่าร้านค้า แต่ในส่วนของเงินเดือนพนักงาน เมกาบางนายังจ่ายตามปกติ ดังนั้นไม่มีรายได้ แต่ต้นทุนยังอยู่ ส่งผลให้รายได้ทั้งปีของเมกาบางนาอาจหายไปถึง 15-20% แต่มั่นใจว่าภาพรวมทั้งปียังสามารถทำกำไรได้ เพราะตอนนี้ธุรกิจเริ่มกลับมาในสภาวะปกติ แต่จะ 100% เมื่อไหร่คงต้องขึ้นอยู่กับวัคซีน

“เราต้องขอบคุณลูกค้าที่มากันมากมายตั้งแต่วันแรก ซึ่งในกรณีที่เลวร้ายสุดคือมีลูกค้ากลับมาแค่ 50% แต่นี่ดีกว่าที่คาดมาก แต่ลูกค้าจะมั่นใจ มาช้อปปกติ อาจต้องรอรัฐบาลประกาศเฟส 3 และคงขึ้นอยู่กับว่าจะควบคุมโรคและมีวัคซีนเมื่อไหร่ เราถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลง”

แผน ‘เมกาซิตี้’ ยังเดินหน้าไม่มีสะดุด

โครงการ ‘เมกาซิตี้’ โปรเจกต์อสังหาริมทรัพย์รูปแบบ ‘มิกซ์ ยูส’ ครบวงจร ทั้งพื้นที่อยู่อาศัย สำนักงาน โรงเรียน และสวนสาธารณะยังคงเดินหน้า โดยในช่วงที่ต้องปิดศูนย์ 2 เดือนศูนย์การค้าได้ปรับปรุงสถาปัตยกรรมภายในอาคารแล้วเสร็จในเดือนเมษายนที่ผ่านมา และยังได้เดินหน้าปรับปรุงภูมิทัศน์ของโซนเมกา ฟู้ดวอล์ค ภายใต้คอนเซ็ปต์ Scandinavian Playground โดยดำเนินการแล้วกว่า 50% คาดเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยรวมทั้ง 2 โครงการใช้เงินลงทุนกว่า 800 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้สร้างอาคารจอดรถใหม่จำนวน 8 ชั้น เพิ่มที่จอดรถมากกว่า 2,000 คัน โดยใช้งบกว่า 1 พันล้านบาท คาดว่าจะเสร็จต้นปี 2564 ซึ่งจะทำให้เมกาบางนามีที่จอดรถรวมกว่า 12,000 คัน

“ในวิกฤตินี้ เราได้เรียนรู้ว่า เรามีหน้าที่เดียวคือ ทำให้ธุรกิจทนต่อการช็อกของเศรษฐกิจได้นานที่สุด เราเองก็ได้ผลกระทบ ในช่วง 2 เดือนที่เราขาดทุน ดังนั้นเราจะทำยังไงให้เราอยู่ในสถานการณ์นี้ได้นานที่สุด”

]]>
1280898