เรียนพิเศษ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 27 Jun 2023 04:58:48 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “เกาหลีใต้” เตรียมแก้ข้อสอบเข้ามหา’ลัยให้สอดคล้องกับการศึกษาของรัฐ ลดการทุ่ม “กวดวิชา” https://positioningmag.com/1435553 Mon, 26 Jun 2023 11:51:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1435553 รัฐบาล “เกาหลีใต้” ประกาศแผนเพื่อลดการทุ่มเงิน “กวดวิชา” ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกของแดนโสมขาวสูงที่สุดในโลก โดยรัฐบาลจะเริ่มจากการปรับแก้ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนของรัฐ เนื่องจากปัจจุบันข้อสอบเอนทรานซ์มักจะออกให้ยากและไม่มีสอนในหลักสูตรปกติ จนเด็กมัธยมส่วนใหญ่ต้องเข้าเรียนกวดวิชาเพื่อฝึกทำโจทย์นอกหลักสูตร

รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศในวันที่ 26 มิถุนายน 2023 ว่า รัฐมีแผนที่จะลดการใช้จ่ายมหาศาลไปกับโรงเรียนกวดวิชาของพ่อแม่ผู้ปกครองชาวเกาหลี ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ของคนเกาหลีใต้ตกต่ำลงมาก

ก่อนหน้านี้ในเดือนเดียวกัน “ยุน ซอกยอล” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เพิ่งจะวิพากษ์วิจารณ์ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยว่ามีการตั้งโจทย์ที่ไม่สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนของรัฐ โดยมีโจทย์บางข้อถึงขั้นถูกเรียกว่าเป็น “คำถามฆาตกร” เพราะมีความซับซ้อนสูงมากจนนักเรียนทั่วไปไม่สามารถแก้โจทย์ได้

“เราจะตัดวงจรของ ‘คำถามฆาตกร’ ในข้อสอบ ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการแข่งขันจนเกินพอดีในหมู่นักเรียนและผู้ปกครองภายในโรงเรียนกวดวิชา” ลี จูโฮ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้กล่าวในการแถลงข่าววันนี้

รัฐมนตรีลียังให้คำมั่นว่าจะกวาดล้าง “กลุ่มผูกขาด” ในตลาดการศึกษาภาคเอกชนเหล่านี้ และจะมีการสอดส่องการโฆษณาเกินจริงของโรงเรียนกวดวิชาเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ที่ผ่านมาสื่อมวลชนท้องถิ่นของเกาหลีใต้เคยรายงานข่าวว่า มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างอุตสาหกรรมโรงเรียนกวดวิชากับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยความสัมพันธ์นี้นำไปสู่การออกข้อสอบเอนทรานซ์ที่ทำให้ต้องมีการ “ติว” หนังสือนอกโรงเรียนเท่านั้นจึงจะทำข้อสอบได้

รายงานจากกระทรวงศึกษาธิการและสำนักสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ระบุว่า เมื่อปี 2022 ชาวเกาหลีใต้ทั้งประเทศลงทุนกับการส่งลูกไปเรียนกวดวิชาคิดเป็นเม็ดเงินรวมกันกว่า 26 ล้านล้านวอน (ประมาณ 7 แสนล้านบาท) ทั้งที่ประชากรวัยเรียนในประเทศกำลังลดจำนวนลง โดยนักเรียนเกาหลีใต้เกือบ 8 ใน 10 คนลงเรียนในโรงเรียนกวดวิชาที่เรียกกันว่า “ฮากวอน”

การที่ต้องพึ่งพิงการศึกษานอกโรงเรียนเช่นนี้ทำให้เกาหลีใต้มีค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูบุตรที่สูงที่สุดในโลก และมีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำติดอันดับโลกเช่นกัน

การที่ต้องส่งลูกเข้า “ฮากวอน” ก็เพราะข้อสอบเอนทรานซ์ที่มี “คำถามฆาตกร” คำถามที่ยากและไม่มีสอนในหลักสูตรปกติเช่นนี้ เปิดช่องให้โรงเรียนกวดวิชาทำหน้าที่สอนวิธีแก้โจทย์เหล่านี้แทน

สังคมเกาหลีใต้มองว่าคำถามที่ยากจะช่วยให้มหาวิทยาลัยได้คัดเลือกนักเรียนที่เก่งที่สุดภายใต้สภาพแวดล้อมที่แข่งขันสูง แต่ประธานาธิบดียุนกล่าวว่า การออกข้อสอบลักษณะนี้ “ไม่ยุติธรรม” เพราะไม่ใช่ทุกครอบครัวที่มีกำลังทรัพย์พอส่งลูกไปเรียนพิเศษนอกเวลาได้

Photo : Xinhua

ด้าน “ชิน โซยัง” นักกิจกรรมรณรงค์จากกลุ่ม The World Without Worry About Private Education (โลกที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเรียนกวดวิชา) กล่าวว่า แผนของรัฐบาลอาจจะยังไม่พอที่จะหยุดการแข่งขันด้านการศึกษาได้

“รัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนาแผนที่ใหญ่ขึ้นกว่านี้ ตอบคำถามว่าจะทำอย่างไรเพื่อลดการแข่งขันเกินสมควรในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดไม่กี่แห่งของประเทศ” ชินกล่าว

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อนนี้ มีนักเรียนและ ‘เด็กซิ่ว’ รวม 450,000 คนร่วมเข้าสอบเอนทรานซ์ในเกาหลีใต้ การจัดสอบที่มีขึ้นตลอดทั้งวันนั้นสำคัญกับคนเกาหลีใต้มาก จนมีการห้ามเครื่องบินขึ้นบินตลอดชั่วโมงที่ผู้เข้าสอบเข้าสู่ช่วงทำโจทย์ข้อสอบการฟังภาษาอังกฤษ

หลังรัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศการกวาดล้างนี้ออกไป ทำให้ราคาหุ้นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานอกโรงเรียนของเกาหลีใต้ตกต่ำลงเล็กน้อย โดยมีบริษัทเกาหลีใต้ที่เกี่ยวข้อง เช่น Woongjin Thinkbig, MegaStudyEdu, Multicampus Corp. เป็นต้น

Source

]]>
1435553
สถาบันสอนภาษา สู้ตลาดขาลง ‘วอลล์สตรีท อิงลิช’ รุกออนไลน์ จับกลุ่มผู้ใหญ่ เรียนเพื่อหางาน https://positioningmag.com/1319819 Mon, 01 Mar 2021 13:30:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319819 โรงเรียนสอนภาษาต้องปรับกระบวนท่าทุกมิติ หลีกหนีช่วงขาลงหลายเเบรนด์ชะลอเปิดสาขา หันมาทุ่มออนไลน์ เจ้าใหญ่ปรับตัวพออยู่ได้ เเต่เจ้าเล็กต้องล้มหายไปกับพิษโควิด

โอฬาร พิรินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทย เปิดเผยกับ Positioning ว่า ตลาดรวมของสถาบันสอนภาษาอังกฤษในไทย ได้รับผลกระทบตลอดปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าลดลงเล็กน้อย จากเดิมในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ราว 3,500 ล้านบาท 

ปัจจัยหลักๆ มาจาก สภาพเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้หลายครอบครัวต้องจำกัดค่าใช้จ่าย รวมถึงสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยให้เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ การท่องเที่ยวที่ซบเซา เเละการปิดชั่วคราวในช่วงล็อกดาวน์

เเต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีคนมาสมัครเรียนภาษากันมากขึ้น เพื่อนำไปช่วยหางานทำเสริมทักษะให้เหนือกว่าคู่เเข่งในยามที่ตลาดเเรงงานระส่ำ มีคนตกงานเกือบล้านคน

ด้านผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ชะลอการขยายสาขา เเต่บางรายสู้ไม่ไหวต้องหายไปจากตลาด ส่วนผู้เล่นรายใหญ่ก็เหลือแค่ไม่กี่รายเท่านั้น ซึ่งตอนนี้เหลือระดับ Global Brands เเข่งขันกันอยู่ 3 เจ้า

โดยวอลล์สตรีท อิงลิช (Wall Street English) เปิดให้บริการในไทยมานาน 17 ปี มีการเติบโตเฉลี่ย 5-10% ก่อนโรคระบาด ก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน จากรายได้จากที่มีอยู่ราว 600 ล้านบาท ปีที่ผ่านมา ลดลงไป 30% เหลือ 400 กว่าล้านบาท เเละมีจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนลดลงไปถึง 25% หรือประมาณ 7,500 คน

-โอฬาร พิรินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทย

ซีอีโอวอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทย มองว่า ปีนี้เป็นโอกาสของธุรกิจสถาบันสอนภาษาที่จะฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้ง เเละตลาดโดยรวมน่าจะกระเตื้องขึ้นมา

กลยุทธ์ของวอลล์สตรีท อิงลิช จึงเน้นไปที่การปรับตัวเองให้ทันสมัย ก้าวทันพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป หาพาร์ตเนอร์อย่างโรงเรียน-มหาวิทยาลัย ขยายสาขาไปสู่ต่างจังหวัด เเละเพื่อนบ้านในอาเซียน พร้อมเป้าหมายที่จะกลับมาเติบโตให้ได้ 40% ในปีนี้ เเละรักษาเเชมป์ส่วนแบ่งมาร์เก็ตเเชร์ในตลาดไว้ที่ 35%

ที่ผ่านมาการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสถาบันสอนภาษา เเต่เป็นสิ่งที่ทำมานานมากเเล้ว เเต่การเรียนเเบบผสมผสาน ทั้งออฟไลน์ออนไลน์จะเป็นเทรนด์การศึกษาเเบบใหม่ของทุกโรงเรียนในยุคนี้

วอลล์สตรีท ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี สัดส่วนการเรียนที่สาขาจะลดเหลือ 60% และสัดส่วนออนไลน์จะเพิ่มเป็น 30% ส่วน Omni Channel จะเป็น 10%

ท่ามกลางโลกดิจิทัล ที่มีคลาสออนไลน์ให้เรียนฟรีเรียนรู้ด้วยตัวเองได้จากมีช่องยูทูบเเละโซเชียลมีเดียต่างๆ

โอฬาร มองว่า การมีคลาสเรียนฟรีในโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนสนใจ และอยากเรียนภาษาอังกฤษเเบบจริงจังมากขึ้น ส่วนโรงเรียนสอนภาษาก็ต้องสร้างทักษะของผู้เรียนให้มากกว่าที่พวกเขาเรียนรู้เอง

หลักสูตรของวอลล์สตรีท จะเน้นไปที่การได้เรียนสดกับอาจารย์ชาวต่างชาติ ที่เป็นเจ้าของภาษา มีการถามตอบเเบบเรียลไทม์ ไม่ให้ลูกค้าต้องเรียนเองทั้งหมด และมีโค้ชคอยติดตามให้คำแนะนำเป็นระยะ

โดยคลาสเรียนทั้งในสาขาเเละเรียนออนไลน์ จะใช้หลักสูตรเดียวกัน ดังนั้นประสบการณ์การเรียนออนไลน์จะไม่เเตกต่างกัน ซึ่งแต่ละคลาสจะกำหนดให้เรียนแค่ 4 คนต่อคลาสเท่านั้น

สำหรับทิศทางของวอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทยในปีนี้ จะมีการเดินเกมรุกการสอนทั้ง 3 เเพลตฟอร์ม คือ สาขา , ออนไลน์ เเละ Omni Channel

ผสมการเรียนที่สาขาและออนไลน์เข้าด้วยกัน โดยช่วงนี้มีการจัดโปรโมชั่นในคอร์สออนไลน์ ในราคาประมาณ 2,000 กว่าบาทต่อเดือน เพื่อดึงดูดให้คนมาสมัครมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการปรับหลักสูตรให้หลากหลาย เเละสั้นลงมีตั้งแต่ 3 เดือน , 6 เดือน, 1 ปี, 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี เนื่องจากพบว่าช่วง COVID-19 คอร์สสั้นๆ แค่ 1-3 เดือน มีกระเเสตอบรับที่ดีมาก จึงเป็นโอกาสในการหาลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมาเรียนเเละอยากทดลองเรียนบ้าง

โดยการเรียนทางออนไลน์ ช่วยให้โรงเรียนเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างกลุ่ม ‘คนทำงาน’ และ ‘เจ้าของกิจการ’ ได้มากขึ้น รวมถึงตลาดในต่างจังหวัดด้วย

อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นถึง 7 เเสนคน เป็นตัวกระตุ้นให้ทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขันในตลาดเเรงงาน การมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีจึงเป็นข้อได้เปรียบสำคัญ

ทั้งนี้ กลุ่มนักเรียนของวอลล์สตรีท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ราว 53% ตามมาด้วยกลุ่มคนทำงาน อายุ 23-29 ปี ราว 27% และกลุ่มเจ้าของกิจการ มีอยู่ราว 20%

ส่วนเเผนการสาขาในไทย ปัจจุบันวอลล์สตรีท อิงลิช มีสาขาทั้งหมด 15 แห่ง กว่า 12 แห่งกระจุกอยู่ในกรุงเทพ มีต่างจังหวัดเพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ ขอนแก่น เชียงใหม่ ระยอง ตอนนี้กลับมาเปิดบริการครบแล้ว เเละมีผู้ใช้บริการราว 90% ซึ่งถือว่ามีโอกาสเติบโตได้อีก

โดยตั้งเป้าจะเปิดสาขาใหม่ในปีนี้ราว 1-2 สาขา ผ่านโมเดลแฟรนไชส์ในต่างจังหวัด ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนนี้เปิดเป็นแฟรนไชส์ที่เดียวคือขอนแก่น ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นของบริษัท)

ในวิกฤตก็ยังมีโอกาสในการขยายสาขา เพราะมีค่าเช่าหรือต้นทุนการเปิดสาขาที่ถูกลง

ส่วนการขยายไปต่างประเทศนั้น หลังจากที่ได้สิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ในการขยายสาขาในไทย สปป.ลาว และกัมพูชา มาเมื่อ 2 ปีก่อน ทีมงานตั้งเป้าว่ากลางปีนี้จะเปิดสาขาในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยภายใน 5 ปี จะมี 3 สาขา ด้านสาขาในสปป.ลาว นั้นกำลังอยู่ในระหว่างหาพันธมิตร

บรรยากาศการเรียนการสอนของวอลล์สตรีท อิงลิช ในสาขารังสิต

ส่วนพาร์ทเนอร์อื่นๆ อย่างมหาวิทยาลัยนั้น กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา หลังประสบความสำเร็จจากการจับมือกับม.ศรีปทุม เข้าไปนำร่องการเรียนการสอนในวิชาภาษาอังกฤษให้นักศึกษาทุกชั้นปี โดยผู้สอนเเละหลักสูตรจะเป็นอาจารย์จากวอลล์สตรีท อิงลิช ส่วนอาจารย์วิชาภาษาอังกฤษของ ม.ศรีปทุม ได้ปรับบทบาทเป็นโค้ช หรือเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษา

จากข้อมูลของ EF Education First เกี่ยวกับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในประเทศที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาหลัก พบว่า ประเทศไทย มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับต่ำโดยเมื่อปี 2562 ประเทศไทยอยู่อันดับที่74 จากทั้งหมด 100 ประเทศที่สำรวจ แต่ในปี 2563 ตกมาอยู่อันดับที่ 89

โอฬาร มองว่า อุปสรรคในการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทย คือความกล้า ในการสื่อสารเเละการขาดโอกาสในการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เเม้จะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติเดินทางมาเยอะก็ตาม โดยภาษาอังกฤษยังมีความจำเป็นสำหรับคนทุกกลุ่ม เพราะช่วยเปิดโลกความรู้ ปูทางไปสู่คณะเรียนที่ใฝ่ฝันเเละการเลื่อนตำเเหน่งที่สูงขึ้นได้

การปรับตัวของโรงเรียนสอนภาษา เพื่อเสิร์ฟความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่มากในตลาด ในยามเศรษฐกิจตกต่ำเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองต่อไป

 

]]>
1319819