New Oriental Education and Technology Group หนึ่งในบริษัทกวดวิชาที่ใหญ่ที่สุดของจีน เตรียมเลย์ออฟพนักงาน 40,000 คนภายในสิ้นปีนี้ ผลกระทบโดมิโนจากการกวาดล้างธุรกิจกวดวิชาโดยรัฐบาลจีน
New Oriental Education and Technology Group มีเป้าหมายจะปิดธุรกิจติวเตอร์สำหรับนักเรียนชั้นประถมและมัธยมต้นทั้งหมด รวมถึงจะลดขนาดแผนกติวเตอร์ส่วนตัวด้วย หลังจากรัฐบาลมีข้อกำหนดการติวส่วนตัวทั้งระยะเวลาและราคา ทำให้จะมีการเลย์ออฟพนักงานประมาณ 40,000 คน
รัฐบาลจีนมีนโยบาย “กำกับควบคุมสถาบันกวดวิชา” ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จุดประสงค์คือเพื่อลดแรงกดดันต่อเยาวชนจากการถูกบีบให้ทำกิจกรรมเหล่านี้หลังเลิกเรียน รวมถึงความกดดันที่มีต่อพ่อแม่ด้วย
หลังจากรัฐมีคำสั่ง ทำให้สถาบันกวดวิชา จัดหาติวเตอร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งหลายต่างต้องลดขนาดธุรกิจลง และมีพนักงานถูกเลย์ออฟไปแล้วจำนวนมาก เช่น ByteDance (บริษัทแม่ของ TikTok) ประกาศลดขนาดแผนกการศึกษาลง ส่วนอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ในวงการคือ Juren Education ก็ประกาศจะปิดสาขาทั้งหมดของบริษัทลงทั่วประเทศ เนื่องจาก “ความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ”
สำหรับ New Oriental ก่อนหน้านี้มีพนักงานลาออกไปแล้วประมาณ 10,000 คนเพราะเห็นความไม่แน่นอนของบริษัท ทั้งที่เมื่อต้นปี 2021 บริษัทเคยมีพนักงานถึง 100,000 คน ซึ่งเป็นช่วงธุรกิจกวดวิชากำลังบูมสุดขีด
เว็บไซต์ Sixth Tone รายงานบรรยากาศของสถาบันกวดวิชา New Oriental ในเซี่ยงไฮ้ พบว่า คลาสการเรียนเชิงวิชาการถูกยกเลิกเกือบทั้งหมด จะเหลือคอร์สเรียนวิชานอกหลักสูตรเป็นหลัก เช่น เขียนพู่กันจีน ออกแบบหุ่นยนต์ ค่ายศึกษาระบบนิเวศ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ยานยนต์ เป็นต้น
สถาบันกวดวิชาอื่นในเมืองเดียวกัน เช่น Xueersi ก็ต้องหยุดการติวส่วนตัวไปตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ สามารถทำได้เฉพาะการติวออนไลน์ รวมถึงต้องจัดคลาสเฉพาะวันธรรมดา ไม่มีการจัดคลาสวันหยุดเสาร์-อาทิตย์แล้ว
คำสั่งของรัฐบาลจีนยังควบคุมการคิดค่ากวดวิชาด้วย โดยมีการกำหนดราคากลางจากรัฐ และสถาบันกวดวิชาห้ามคิดราคาแพงกว่าราคากลางเกิน 10% ทำให้หลายๆ สถาบันจะต้องคิดหาทางลดต้นทุนของตัวเองลงมาให้เหมาะสม
ค่ากวดวิชาของลูกๆ จะถูกลง จากเดิมราคาอาจจะอยู่ที่ 220 หยวน (ประมาณ 1,150 บาท) ต่อคลาส 90 นาที เมื่อถูกกำหนดให้เรียนออนไลน์แทนและถูกควบคุมราคา สถาบันกวดวิชาจึงคิดเพียง 130 หยวน (ประมาณ 680 บาท)
แต่ผู้ปกครองชาวจีนก็ไม่ได้พอใจเท่าไหร่ เพราะมองว่าการบีบให้เรียนออนไลน์ทำให้พ่อแม่กังวลเรื่องสุขภาพสายตาของลูก รวมถึงสภาพแวดล้อมของห้องเรียนจริงไม่สามารถถูกทดแทนได้ด้วยโลกออนไลน์