ยักษ์ใหญ่วงการอาหาร พัฒนาสูตรเเข่งตลาด Plant-based กันต่อเนื่อง ล่าสุดเนสท์เล่ ออกเมนู ‘กุ้งเเละไข่’ ที่ทำจากพืช ประเดิมวางขายในโซนยุโรปก่อน
อาหารทดแทนเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืช หรือ ‘Plant-based’ ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เเละมีส่วนเเบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้จำกัดเเค่ผู้บริโภคสายวีเเกนหรือสายรักษ์โลกเหมือนสมัยก่อน เเต่ขยายถึงกลุ่มลูกค้าทั่วไปด้วย
เนสท์เล่ (Nestlé) จะเริ่มวางขายผลิตภัณฑ์ ‘ไข่จากพืช’ ภายใต้แบรนด์ Garden Gourmet vEGGie โดยมีส่วนประกอบสำคัญเป็นโปรตีนถั่วเหลือง และกรดไขมันโอเมก้า 3 ใช้ทำอาหารเมนูต่างๆ หรือใช้ผสมในเค้กเเละคุกกี้ได้เหมือนกับไข่ปกติ
ส่วน ‘กุ้งจากพืช’ จะวางขายภายใต้แบรนด์ Vrimp หลังเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อทูน่าจากพืชไปเมื่อปีที่แล้ว เเละมีเสียงตอบรับที่ดี
โดยจะเริ่มจะวางจำหน่ายทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ในบางประเทศในยุโรป รวมถึงสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะขยายไปยังตลาดอื่นๆ ต่อไป
Mark Schneider ซีอีโอของเนสท์เล่ บอกว่า ผลิตภัณฑ์วีแกน อย่างเบอร์เกอร์และไส้กรอกจากพืช มียอดขายเติบโตเเบบ ‘double-digit’
“Plant-based ไม่ได้จำกัดเเค่เฉพาะกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป เเต่กำลังจะเป็นเทรนด์กระเเสหลักที่เข้าถึงในวงกว้าง ทุกเพศทุกวัย”
เขาเชื่อว่าตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เเม้ในปีที่แล้ว ยอดขายของผลิตภัณฑ์จากพืชเเบรนด์ต่างๆ ของเนสท์เล่ จะมีมูลค่าเพียง 216 ล้านดอลลาร์ (ราว 7.3 พันล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน ‘เพียงเล็กน้อย’ จากยอดขายทั้งหมดในเครือกว่า 9 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3 ล้านล้านบาท)
- Plant-Based Food สมรภูมิที่พึ่งเริ่มต้น
- Plant-based Food อาจดิสรัปต์เนื้อสัตว์จริงภายใน 3 ปี เพราะปัญหา ‘สิ่งแวดล้อม’
ด้าน Stefan Palzer ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของเนสท์เล่ ระบุว่า บริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ Plant-based เมนูใหม่ๆ ได้ภายในเวลาไม่ถึงปี อย่างเช่น การสร้างโปรตีนถั่วที่ไม่ได้มีรสชาติเหมือนพืชตระกูลถั่วเลย
“เราจะพยายามพัฒนาให้อาหาร Plant-based เหล่านี้ มีรสชาติใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริงๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะจะช่วยให้ผู้คนเปลี่ยนมาทานวีเเกนกันได้ง่ายยิ่งขึ้น”
สะท้อนให้เห็นทิศทางของเเบรนด์อุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลกที่จะบุกตลาด Plant-based อย่างจริงจัง หลังเปิดตัว ‘เบอร์เกอร์จากพืช’ เป็นครั้งแรกในปี 2019 ซึ่งช้ากว่าผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมอย่าง Beyond Meat และ Impossible Foods ของสหรัฐฯ ไปประมาณ 3 ปี
อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงลูกค้าทั่วโลกผ่านเเบรนด์ในเครือที่มีอยู่จำนวนมาก เป็น ‘ข้อได้เปรียบ’ ของเนสท์เล่ที่มีอยู่เหนือคู่แข่งรายสำคัญที่ทำตลาดนี้มาก่อน
“เรามีแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มอยู่มากมาย เเต่บริษัทเหล่านั้นไม่มี” Palzer กล่าว
ที่ผ่านมา เนสท์เล่ ได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์วีแกนร่วมกับสินค้าหมวดหมู่อื่นๆ อย่าง KitKat V ซึ่งเราคงจะได้เห็นการทำตลาดเเบบนี้ออกมาเรื่อยๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับผู้บริโภค
ส่วนในไทยนั้น เนสท์เล่ จับตลาด Plant-based ผ่านแบรนด์ Harvest Gourmet จำหน่ายวัตถุดิบอาหารแบบ B2B เข้าร้านโดยตรง มีพันธมิตรเชนร้านอาหารรายใหญ่หลักร้อยสาขา มี 5 ชนิดให้เลือก ได้แก่ เนื้อเบอร์เกอร์ เนื้อบดละเอียด ไก่ย่างรมควัน ไก่ชุบเกล็ดขนมปัง และ มีทบอล
โดยประเมินมูลค่าตลาดในไทยราว 900 ล้านบาท โอกาสโตปีละ 20% พบคนไทย 1 ใน 4 เป็นกลุ่ม Flexitarian ลดทานเนื้อสัตว์อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์
อ่านต่อ : Plant-based ฮิตจัด! “เนสท์เล่” เปิดแบรนด์ Harvest Gourmet ส่งวัตถุดิบเข้าร้านอาหาร
- เปรียบเทียบเนื้อ Plant-based ในไทย มีเจ้าไหนให้เลือกบ้าง?
- “ไทยยูเนี่ยน” ขอแหวก! เตรียมส่ง “Plant-based” อาหารทะเล ซุ่มพัฒนาเนื้อปูจากพืช