Plant-based ฮิตจัด! “เนสท์เล่” เปิดแบรนด์ Harvest Gourmet ส่งวัตถุดิบเข้าร้านอาหาร

“เนสท์เล่” ลุยตลาด Plant-based แล้ว! ใช้แบรนด์ “Harvest Gourmet” จำหน่ายวัตถุดิบอาหารแบบ B2B เข้าร้านโดยตรง แย้มมีพันธมิตรเชนร้านอาหารรายใหญ่หลักร้อยสาขา ประเมินมูลค่าตลาด 900 ล้านบาท โอกาสโตปีละ 20% พบคนไทย 1 ใน 4 เป็นกลุ่ม “Flexitarian” ลดทานเนื้อสัตว์อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์

“เครือวัลย์ วรุณไพจิตร” ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหาร และ เนส์เล่ โพรเฟสชันนัล ประจำภูมิภาคอินโดไชน่า แถลงข่าวเปิดตัวแบรนด์ใหม่ในเครือ “Harvest Gourmet” (ฮาร์เวสต์ กูร์เมต์) แบรนด์ผลิตภัณฑ์เนื้อทำจากพืชหรือ Plant-based ในรูปแบบวัตถุดิบสำหรับนำไปประกอบอาหาร จะเริ่มจำหน่ายในไทยเดือนมีนาคม 2564

Plant-based ของ Harvest Gourmet เป็นผลิตภัณฑ์จากโปรตีนถั่วเหลือง แต่งสีด้วยบีทรูทและแครอทสกัดเข้มข้น เสริมความมันด้วยน้ำมันมะพร้าว และไม่ใส่ผงชูรส มีเนื้อทั้งหมด 5 ชนิดให้เลือก ได้แก่ เนื้อเบอร์เกอร์ เนื้อบดละเอียด ไก่ย่างรมควัน ไก่ชุบเกล็ดขนมปัง และ มีทบอล โดยเชื่อว่าทั้งหมดจะเป็นวัตถุดิบหลักที่มีความหลากหลายพอให้ร้านอาหารนำไปสร้างสรรค์เมนูได้

วัตถุดิบอาหาร 5 แบบแรกที่วางตลาดของ Harvest Gourmet นำไปทำอาหารได้หลายอย่าง

แหล่งผลิต Harvest Gourmet ของไทย นำเข้าจากโรงงานที่มาเลเซีย ซึ่งเป็นโรงงานที่ผลิตสำหรับขายในทวีปเอเชีย ทำให้ผลิตภัณฑ์จะแต่งรสให้เหมาะกับลิ้นคนเอเชียมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่มาจากตะวันตก ปัจจุบันแบรนด์นี้มีขายแล้วในจีนกับออสเตรเลีย และกำลังจะมีขายในไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ส่วนแบรนด์ Plant-based อื่นๆ ของเนสท์เล่มีจำหน่ายในยุโรปกับสหรัฐอเมริกาอยู่ก่อนแล้ว

 

แย้มพันธมิตรรายใหญ่ใช้ Harvest Gourmet

เครือวัลย์ระบุว่า กลยุทธ์ในประเทศไทยจะจำหน่ายแบบ B2B กับพันธมิตรร้านอาหารก่อน ยังไม่มีจำหน่ายให้ผู้บริโภครายย่อยในซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนจะขยับไปวางขายให้รายย่อยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระแสในตลาดต่อจากนี้มีความต้องการหาซื้อเพื่อนำไปประกอบอาหารเองที่บ้านมากน้อยแค่ไหน

พันธมิตรร้านอาหารดังกล่าว เนสท์เล่ยังไม่ระบุจำนวนรายหรือเผยชื่อ แต่แย้มว่ามีพันธมิตรที่เป็นเชนร้านอาหารขนาดใหญ่มีสาขาหลักร้อยสาขาในเมืองไทย เตรียมจะเปิดตัวเมนูเนื้อทำจากพืชเร็วๆ นี้

ตัวอย่างเมนู “สะเต๊ะหมู” จากเนื้อบดละเอียด สื่อสารว่า Plant-based สามารถนำมาทำอาหารสไตล์เอเชียนได้

ความคาดหวังในแง่รายได้นั้น เครือวัลย์ยังไม่ระบุ เนื่องจากปีแรกๆ จะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้คนไทยคุ้นเคยและไว้ใจเนื้อประเภท Plant-based ก่อน เพราะขณะนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังมองว่าเนื้อจำพวกนี้รสชาติไม่อร่อย ทำให้ Harvest Gourmet จะเน้นชูจุดขายเรื่องความอร่อยเป็นหลักในการทำตลาด หากติดตลาดแล้วในระยะยาวจะกลายเป็นพอร์ตสินค้าใหม่ของเนสท์เล่ได้

 

ตลาด Plant-based โตปีละ 20%

ด้านพฤติกรรมผู้บริโภค เครือวัลย์กล่าวว่าคนไทยราว 1 ใน 4 ของประชากรเป็นกลุ่มที่เรียกว่า ‘Flexitarian’ หมายถึงคนที่ไม่ได้ทานมังสวิรัติประจำ แต่กำลังลดการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นบางมื้อ เช่น คนที่ตั้งใจไม่ทานเนื้อสัตว์ในวันจันทร์เพราะเป็นวันเกิดของตนเอง โดยคนกลุ่มนี้ 65% ลดทานเนื้อสัตว์เพราะรักสุขภาพ อีก 20% ทำเพื่อควบคุมรูปร่าง

ขณะที่ขนาดตลาด เนสท์เล่อ้างอิงข้อมูล Euromonitor ว่าตลาด Plant-based ในไทยมีมูลค่า 900 ล้านบาทเมื่อปี 2563 ตัวเลขอาจจะยังน้อยเพราะเป็นตลาดใหม่ แต่อัตราเติบโตปีละ 20%

“เครือวัลย์ วรุณไพจิตร” ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหาร และ เนส์เล่ โพรเฟสชันนัล ประจำภูมิภาคอินโดไชน่า

เนสท์เล่เชื่อว่าจะผลักดันตลาดให้เติบโตขึ้นได้สูงกว่านั้น เพราะปัจจัยที่ทำให้คนไทยยังไม่ทาน Plant-based มากนักไม่ใช่แค่เรื่องความอร่อย แต่ยังมีเรื่องตัวเลือกในตลาดมีน้อย หาทานยาก เมื่อใดที่มีตัวเลือกรับประทานมากขึ้น จะทำให้ตลาดโตได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันร้านอาหารหลายแห่งเริ่มสนใจสร้างเมนู Plant-based เพราะเริ่มมีดีมานด์ และช่วยเรื่องภาพลักษณ์ร้านรักสุขภาพ รักสิ่งแวดล้อม และทันสมัย

ความฮิตของ Plant-based ในเอเชียนั้นเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่น่าจับตา โดย วันเดอร์แมน ธอมสัน ระบุให้ประเด็นนี้เป็น 1 ใน 100 เทรนด์ของปี 2021 จากการสำรวจวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นรวม 9 ประเทศทวีปเอเชียเมื่อปี 2019 พบว่า 56% ของผู้ถูกสำรวจตั้งใจที่จะทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง (อ่านเพิ่มเติม : The Future 100 เปิดเทรนด์อนาคตปี 2021 อะไรที่ ‘กำลังมา’ จนแบรนด์ต้องจับให้ทัน)

ในตลาดไทยนั้นมีผู้เล่นลงสนามแล้วหลายราย เริ่มมีจำหน่ายราวปี 2561 แยกเป็น 3 กลุ่มหลักได้ ดังนี้
– กลุ่มร้านอาหาร เช่น Sizzler, ฌานา, สตาร์บัคส์
– กลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบใช้ประกอบอาหาร เช่น Meat Avatar, More Meat, NRF, ไทยยูเนี่ยน, เนสท์เล่
– กลุ่มผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เช่น ซีพีแรม

หลังจากนี้คนไทยน่าจะได้ลองชิมเมนูเนื้อทำจากพืชกันมากขึ้นเรื่อยๆ และผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินว่าเทรนด์นี้จะอยู่หรือจะไป รวมถึงใครจะได้เป็นเจ้าตลาดตัวจริง!