โออิชิ อีทโตะ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 03 Oct 2024 00:38:03 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 กลุ่มฟู้ด “ไทยเบฟ” วางเป้าโต 1,200 สาขา เล็งส่งออก “อาหารพร้อมทาน” – ขยายต่างประเทศ https://positioningmag.com/1492591 Wed, 02 Oct 2024 13:04:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1492591
  • กลุ่มฟู้ดของ “ไทยเบฟ” เดินตามวิสัยทัศน์ “PASSION 2030” ตั้งเป้าขยายเพิ่มเป็น 1,200 สาขาภายใน 6 ปี พิจารณาสยายปีกสู่ต่างประเทศ
  • เล็งส่งออก​ “อาหารพร้อมทาน” หลังพบเทรนด์ผู้บริโภคหลังโควิด-19 นิยมมากขึ้น เห็นโอกาสในตลาดอาหาร “ฮาลาล”
  • โค้งท้ายปี 2567 เตรียมโชว์เคสใหญ่ใน “วัน แบงค็อก” ขนร้านอาหารลง 16 แบรนด์
  • “โสภณ ราชรักษา” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจอาหารประเทศไทย และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจโลจิสติกส์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดแผนระยะกลางของบริษัทตามวิสัยทัศน์ “PASSION 2030” สำหรับกลุ่มฟู้ดหรือ “ธุรกิจอาหาร” ของไทยเบฟ ในอีก 6 ปีข้างหน้าไทยเบฟต้องการจะขยายสาขาร้านอาหารครบ 1,200 สาขา จากปัจจุบันมี 819 สาขา

    โดยปัจจุบันไทยเบฟมีแบรนด์ร้านอาหารในเครือ 30 แบรนด์ (*ไม่รวม Starbucks) แต่ที่ถือเป็นพอร์ตใหญ่ทำรายได้รวมกันกว่า 90% ของธุรกิจ คือ “เคเอฟซี” (KFC) ซึ่งไทยเบฟเป็นหนึ่งในสามผู้ได้ไลเซนส์ขยายสาขา และ “กลุ่มโออิชิ” เช่น โออิชิ แกรนด์, โออิชิ บุฟเฟต์, ชาบูชิ เป็นต้น ส่วนที่เหลือ 10% จะมาจาก “กลุ่มฟู้ดออฟเอเชีย” คือร้านอาหารสไตล์เอเชียอื่นๆ เช่น เสือใต้, Café Chilli, Man Fu Yuan, So Asean เป็นต้น

    โออิชิ แกรนด์ สาขาเมกา บางนา

    นอกจากการขยายสาขาในไทยแล้ว โสภณระบุว่าต้องการจะเริ่มนำธุรกิจอาหารของบริษัทไปขยายต่างประเทศในเขตอาเซียนด้วย โดยศักยภาพและโอกาสที่น่าจะส่งแบรนด์ออกไปได้น่าจะเป็นกลุ่ม “อาหารไทย” เพราะอาหารไทยมีชื่อเสียงอยู่แล้วในต่างประเทศ

    จากเป้าหมายดังกล่าวทำให้กลุ่มอาหารของไทยเบฟจะมีการเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัล ใช้ระบบ “AI” เข้ามาบริหารซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ ลดปัญหาอาหารเหลือทิ้ง (food waste) บริหารบุคลากร รวมถึงการใช้วิเคราะห์ทำเลและขนาดร้านที่เหมาะสมกับทำเลนั้นๆ ด้วย เพื่อทำให้การจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อบริษัทจะเข้าสู่การบริหารในระดับหลักพันสาขา

     

    “อาหารพร้อมทาน” โอกาสในโลกหลังโควิด-19

    โสภณกล่าวต่อว่า อีกส่วนหนึ่งที่จะมีการผลักดันมากขึ้นคือ อาหารพร้อมทาน (RTE: Ready to Eat) ซึ่งไทยเบฟมีสินค้าภายใต้แบรนด์ “โออิชิ” ทั้งกลุ่มแซนด์วิชแบบแช่เย็นและอบร้อน กลุ่มเกี๊ยวซ่า และกลุ่มอาหารจานเดียวสไตล์ญี่ปุ่น กลุ่มนี้ต้องการจะเพิ่มโอกาสขายในประเทศและส่งออกต่างประเทศด้วย

    อาหาร ไทยเบฟ
    อาหารพร้อมทานในเครือไทยเบฟ

    “เทรนด์การซื้ออาหารพร้อมทานติดตู้เย็นไว้เกิดขึ้นตั้งแต่โควิด-19 จนโรคระบาดหมดไปแล้วแต่พฤติกรรมผู้บริโภคตรงนี้ไม่ได้เปลี่ยน และเป็น global trend ด้วย เกิดขึ้นทั่วโลก” โสภณอธิบายถึงโอกาสที่เล็งเห็น

    นอกจากอาหารพร้อมทานที่มีอยู่ปัจจุบัน กลุ่มฟู้ดยังมองด้วยว่าจากโอกาสที่ไทยเบฟนำ F&N เข้ามาอยู่ในเครือ อาจจะทำให้บริษัทสามารถผลักดันพอร์ตกลุ่มอาหารฮาลาลได้มากขึ้น ผ่านการทำงานร่วมกับ F&N ในมาเลเซีย

     

    จัดใหญ่โชว์เคส 16 แบรนด์ลง “วัน แบงค็อก”

    ขณะที่ความเคลื่อนไหวของกลุ่มฟู้ดไทยเบฟในระยะใกล้ โสภณกล่าวว่ากลุ่มกำลังจะเปิดร้านอาหารพร้อมกัน 16 แบรนด์ในโครงการ “วัน แบงค็อก” ซึ่งเตรียมจะแกรนด์โอเพนนิ่งในส่วนรีเทลช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้

    โปรเจ็กต์นี้บริษัทใช้งบลงทุนรวมมากกว่า 400 ล้านบาทภายในโครงการแห่งนี้แห่งเดียว เพื่อตั้งใจจะให้เป็นจุดโชว์เคสร้านอาหารในเครือ และจะมีการเปิดแบรนด์ใหม่ที่เป็นร้านระดับ Fine Dining ด้วย

    One Bangkok เตรียมเปิดบริการส่วนรีเทลปลายเดือนตุลาคมนี้

    ในส่วนรายได้ของกลุ่มฟู้ดไทยเบฟช่วง 9 เดือนแรกของรอบปีบัญชี (ตุลาคม 2566 – มิถุนายน 2567) ทำรายได้ไป 15,022 ล้านบาท เติบโต 5.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของรอบปีก่อนหน้า โสภณเปิดเผยว่าจบ 12 เดือนรอบปีบัญชี 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) คาดกลุ่มฟู้ดของไทยเบฟจะทำรายได้อยู่ในช่วง 19,000 – 20,000 ล้านบาท

    “จริงๆ ต้นปีตัวเลขค่อนข้างดีเลย แต่มาถึงปลายปีเศรษฐกิจเริ่มไม่ค่อยดี คนเริ่มกังวลและเน้นเก็บเงินไว้มากกว่า ถ้าเป็นตลาด QSR (Quick Service Restaurant) ยังขายดีอยู่ แต่ถ้าเซ็กเมนต์บนขึ้นไปหน่อย ผู้บริโภคเริ่มหายไป อาจจะเลือกทานร้านที่เน้นเรื่องราคากันมากขึ้น” โสภณกล่าว

    อีกหนึ่งข้อกังวลในอนาคตอันใกล้คือประเด็น “ขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวัน” ซึ่งโสภณระบุว่าปัจจุบันกลุ่มฟู้ดไทยเบฟมีพนักงานกว่า 14,000 คน หากมีการปรับขึ้นค่าแรงตามตัวเลขดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนส่วนค่าแรงงานขึ้นทันที 8-9% ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะสามารถผลักดันไปสู่ผู้บริโภคได้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่ไม่ค่อยสดใส ทำให้อาจจะปรับราคาอาหารมากไม่ได้

    ]]>
    1492591
    กางแผน “โออิชิ กรุ๊ป” 2020 : เครื่องดื่ม อาหาร RTE ต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้บริโภค https://positioningmag.com/1261940 Sun, 26 Jan 2020 17:51:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1261940 โออิชิ กรุ๊ปเปิดกลยุทธ์ปี 2020 บุกตลาดทั้งธุรกิจเครื่องดื่ม อาหาร และแพ็กเกจจิ้งฟู้ด เดินหน้าด้วยนวัตกรรม แตกไลน์สินค้าพรีเมียม ต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้บริโภคในชีวิตประจำวัน ดันแพ็กเกจจิ้งฟู้ดเป็นธุรกิจหลักขาที่ 3 สร้างการเติบโต

    เดินเกมหลักด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ

    ต้องบอกว่าการทำธุรกิจในยุคนี้ หลายแบรนด์ต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ กันทั้งสิ้น เพราะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต่างมองหาสิ่งใหม่ๆ ที่จะมาเติมเต็มการใช้ชีวิตให้ดีมากยิ่งขึ้น แม้แต่ธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่มเองต่างต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มัดใจผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา

    ในปี 2019 ที่ผ่านมา “โออิชิ กรุ๊ป” ได้ครบรอบ 20 ปีพอดิบพอดี ในอดีตมีเพียง 2 ธุรกิจหลักเท่านั้น ได้แก่ ธุรกิจเครื่องดื่ม นั่นก็คือชาเขียว และธุรกิจอาหาร เป็นตระกูลร้านอาหารญี่ปุ่น แต่ในช่วงปีที่ผานมาได้ปัดฝุ่นกลุ่ม “อาหารพร้อมทาน” หรือแพ็กเกจจิ้งฟู้ดให้เป็นอีก 1 ธุรกิจหลัก รีแบรนด์ในชื่อ “โออิชิ อีทโตะ” รับเทรนด์ผู้บริโภคยุคอิ่มสะดวก

    ในช่วงหลายปีที่ผานมาโออิชิ กรุ๊ปได้จับเทรนด์ของผู้บริโภคมาพัฒนาสินค้า และบริการอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ผู้สูงอายุ เทรนด์ดูแลสุขภาพ เทรนด์เรื่องความสะดวกสบาย หรือแม้แต่ทุกวันนี้ต้องเป็นเทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อม

    เพราะฉะนั้นหัวใจหลักของการพัฒนาสินค้า และบริการจึงอยู่ที่นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ต้องแตกต่างจากในตลาด และแตกต่างจากเดิม เทรนด์ดูแลสุขภาพมาแรง ต้องมีสินค้าที่ทานแล้วบำรุงร่างกายจริงๆ อย่างที่ล่าสุดได้เปิดตัว “โออิชิ โกลด์” เป็นไลน์เครื่องดื่มชาเขียวระดับพรีเมียม ซึ่งตลาดนี้มีการเติบโตสูง รับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพ ทานน้ำตาลน้อยลง

    นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า

    “ปัจจุบันต้องยอมรับว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การดำเนินธุรกิจถูก Disrupt จากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผู้บริโภคให้ความสำคัญด้านสุขภาพ ความสะดวกสบาย ความพรีเมียม ทั้งยังตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงเป็นความท้าทายของ โออิชิ กรุ๊ป ในฐานะผู้นำด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่น ที่จะต้องก้าวตามให้ทัน พร้อมพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้สอดรับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค”

    “เครื่องดื่ม”  ขยายฐานผู้ดื่ม รุกพรีเมียม – เพิ่มส่งออก

    สำหรับธุรกิจใหญ่อย่างเครื่องดื่มนั้น แม้ภาพรวมตลาดชาเขียวเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น และโออิชิยังครองตลาดเป็นเบอร์ 1 อย่างต่อเนื่อง แต่โจทย์หลักของปีนี้ก็คือต้องเป็นหนึ่งอย่างยั่งยืนให้ได้

    เจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าว่า

    ตลาดชาเขียวพร้อมดื่มเริ่มพลิกฟื้นหลังจากได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีสรรพสามิต แต่อย่างไรก็ตาม การบริโภคยังไม่กลับสู่ระดับเดิมเมื่อเทียบกับปี 2560 ดังนั้นกลยุทธ์ในการกระตุ้นการบริโภคด้วย 3 กลยุทธ์หลักดังนี้

    1. ขยายฐานผู้ดื่ม โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างฐานผู้บริโภคใหม่เจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น โดยใช้แพลตฟอร์มเกมผ่านแคมเปญ OISHI x ROV ซึ่งได้ทำให้ฐานผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายในช่วงอายุ 13-24 ปี เพิ่มขึ้น
    2. ขยายฐานพรีเมียม ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพ และผู้บริโภคที่เห็นความสำคัญของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าจากธรรมชาติพร้อมยอมจ่ายเพื่อสิ่งที่ดีที่สุด เปิดตัว “โออิชิ โกลด์ เกียวคุโระ” ชาเขียวที่ได้รับการยกย่องจากชาวญี่ปุ่นว่าเป็นหนึ่งในชาที่หายาก และให้รสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ ทำจากยอดอ่อนใบชาแท้นำเข้าจากไร่ชารางวัลจักรพรรดิ ประเทศญี่ปุ่น
    3. ขยายตลาดส่งออก จากเดิมส่งออกเพียง 13 ประเทศ ปัจจุบันสามารถขยายการส่งออก 33 ประเทศทั่วโลก โดยสร้างความแข็งแกร่งในตลาดหลักคือกัมพูชาและลาว รวมถึงสร้างความเป็นผู้นำในตลาดเกิดใหม่ ขยายตลาดในกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและขายในระดับภูมิภาคด้วย

    “ร้านอาหาร” เติมแบรนด์ใหม่ เสริมแกร่งพอร์ต

    ในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร ยังคงตอกย้ำจุดยืน “เจ้าตำรับอาหารญี่ปุ่น” (King of Japanese Food) ในปีนี้ยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง และเปิดแบรนด์ใหม่ที่จะเข้ามาเติมพอรืตให้แข็งแกร่งมากขึ้น

    ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยว่า

    สำหรับ 4 กลยุทธ์หลักของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น โออิชิ ประกอบด้วย

    1. Growth Engine : สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ผ่านผลิตภัณฑ์ และเมนูใหม่ๆ การสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดที่ น่าสนใจ และการขยายสาขาต่อเนื่อง เพื่อเข้าถึงและขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาช่องทางการสั่งซื้อออนไลน์ (เพิ่มเติมจากการสั่งซื้อผ่านทางโทร. 1773) ผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง ซึ่งได้แก่ oishidelivery.com และ Food Delivery อย่าง GrabFood, LINE MAN และ foodpanda
    2. Re-engineering Brand’s Business Model : ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นให้มีความทันสมัย เช่น รูปแบบโมเดลธุรกิจใหม่ ชาบูชิ “บริการ 24 ชั่วโมง” รับวิถีคนเมือง “สังคมคนนอนดึก”
    3. Reinvented Customers Experience : สร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคผ่านสินค้า และบริการใหม่ๆ
    4. Spin-off Brands : พัฒนาและเปิดตัวแบรนด์ใหม่ ทั้งร้านอาหาร และร้านขนมหวานสไตล์ญี่ปุ่น ได้แก่ โฮว ยู (HOU YUU), ซากาเอะ (SAKAE) จับกลุ่มลูกค้าระดับบน และ โอโยกิ (OYOKI) ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ซึ่งเป็นแบรนด์ร้านขนมหวานแบรนด์แรกของโออิชิ

    Diversify สู่อาหารพร้อมทาน รีแบรนด์สู่ “โออิชิ อีทโตะ”

    เทรนด์อาหารสำเร็จรูปมาแรงและโตต่อเนื่อง ในปี 2019 ที่ผ่านมาตลาดมีมูลค่า 40,000 ล้านบาท เติบโต 7-8% เป็นอาหารที่อยู่ในตู้เย็น กับอาหารแช่แข็ง หรือเรียกว่า RTE (Ready to Eat)

    เมขลา เนติโพธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหารสำเร็จรูป บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าว่า

    “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดอาหารอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง พร้อมทาน ได้เข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของคนในชุมชนเมืองมากขึ้น เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้มีคุณภาพ มีความสะดวกในการบริโภค และมีความหลากหลายของประเภทอาหาร”

    ในปี 2019 โออิชิจึงทำการรีแบรนด์กลุ่มอาหารพร้อมทานอยู่ภายใต้แบรนด์ “โออิชิ อีทโตะ” ทั้งหมด เพื่อทำการตลาด และการสื่อสารที่ง่าย และเป็นการใช้จุดแข็งของแบรนด์โออชิในการทำตลาดด้วย

    “เรามองเห็นโอกาสในตลาดมากมาย มองว่าเป็นโอกาสที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าโออิชิมีอาหารพร้อมทาน ตอนนี้อาจจะยังไม่ชัดเจนมาก แต่ต้องทำให้เติบโตเรื่อยๆ ให้อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคทั้งวันตั้งแต่อาหารเช้า กลางวัน เย็น และอาหารว่างให้ได้ การมีอีกหนึ่งธุรกิจจะช่วยสร้างคความแข็งแรงมากขึ้น เราสามารถรู้ข้อมูลว่าลูกค้ามีความชอบอะไร แล้วมาพัฒนาเป็นสินค้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการ”

    สำหรับผลประกอบการของ “โออิชิ กรุ๊ป” รอบปีงบประมาณ 2562 (ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2561 ถึง 30 ก.ย. 2562) โดยมียอดรายได้รวม 13,631 ล้านบาท เติบโต 8.2% และผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,229 ล้านบาท

    • ธุรกิจเครื่องดื่ม 6,501 ล้านบาท เติบโต 8.6%
    • ธุรกิจอาหาร 7,130 ล้านบาท เติบโต 7.9%
    • กำไรสุทธิรวมของบริษัท 1,229 ล้านบาท เติบโต 21.9%
    • กำไรจากธุรกิจเครื่องดื่ม 869 ล้านบาท เติบโต 12.6%
    • กำไรจากธุรกิจอาหาร 360 ล้านบาท เติบโต 52.4%

    อ่านเพิ่มเติม เปิดผลประกอบการ “โออิชิ กรุ๊ป” ปี 62 ฟาด 13,000 ล้าน จ่ายปันผลสูงสุดเป็นประวัติการณ์!

    ]]>
    1261940