Grab – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 28 Oct 2024 09:40:20 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “แกร็บ” ปรับนโยบายการทำงานใหม่ ให้พนักงานเข้าออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ มีผล 2 ธ.ค.  https://positioningmag.com/1495810 Mon, 28 Oct 2024 06:59:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1495810 แกร็บ (Grab) ได้ส่งจดหมายแจ้งแก่พนักงานในบริษัท เกี่ยวกับการปรับนโยบายการเข้าทำงานในออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2024 เป็นต้นไป

Anthony Tan ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Grab กล่าวว่า การปรับนโยบายให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทํางานร่วมกันและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานมากขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายและเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม Anthony Tan กล่าวว่า การปรับนโยบายดังกล่าว จะยังมีเวลาประมาณ 1  เดือน ให้พนักงานสามารถวางแผนจัดการธุระส่วนตัวต่างๆ รวมถึงการเตรียมตัวที่จะกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ โดยเฉพาะพนักงานในตำแหน่งหนัวหน้างานที่ต้องมีการเตรียมตัวค่อนข้างมาก หลังจากที่ทำงานแบบผสมผสานมานานกว่า 3 ปี 

พนักงานคนหนึ่งที่ทำงานกับ Grab มาได้กว่า 3 ปีแล้ว กล่าวว่า Grab ได้มีการเรียกพนักงานกลับไปที่สํานักงานตั้งแต่เมื่อกลางปีที่แล้ว ทำให้การประกาศการเปลี่ยนแปลงการทำงานในครั้งนี้อาจเป็นขั้นตอนระหว่างการดําเนินการดังกล่าว 

เพราะตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการออกมาตรการทางวินัย สำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายการกลับเข้ามาทํางานในออฟฟิศ ซึ่งปัจจุบันพนักงานหลายคนได้รับคำสั่งให้ทํางานในออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์และทํางานจากที่บ้าน 2 วัน แต่ก็ยังมีการผ่อนปรนสำหรับพนักงานที่มีกิจจำเป็น

ด้านโฆษกของ Grab กล่าวว่า หลังจากการแพร่ระบาดชองโควิด-19 ที่ลดลงและบริษัทฯ ได้ปรับนโยบายให้พนักงานเข้ามาทำงานในออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์ บริษัทฯได้เล็งเห็นความผูกพันของทีมและการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น 

ทำให้เชื่อได้ว่า การกลับมาทํางานในออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ จะช่วยให้การทํางานร่วมกันและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานดีขึ้น และส่งผลต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทฯ

ทั้งนี้ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาหลังการระบาดใหญ่ หลายๆ บริษัทเริ่มมีการปรับนโยบายการทำงาน โดยเรียกพนักงานให้กลับมาทํางานในออฟฟิศอีกครั้ง โดยเมื่อเดือนที่แล้ว อเมซอน เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ก็ได้กําหนดนโยบายการกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศของพนักงานเป็น 5 วันต่อสัปดาห์ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 มกราคม 2025 

รวมถึงในปี 2022 Elon Musk ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Tesla ได้ออกนโยบายการกลับมาทํางานอย่างเข้มงวด โดยกําหนดให้พนักงานใช้เวลาอย่างน้อย 40 ชั่วโมงในสํานักงานต่อสัปดาห์ เช่นกัน

ที่มา : CNA

 

]]>
1495810
เพิ่มเงินไม่ได้ก็ต้องเพิ่มรอบ! อัปเดตนวัตกรรม ‘แกร็บ’ ช่วยเพิ่ม ‘เวลาทำมาหากิน’ ให้ไรเดอร์ https://positioningmag.com/1491633 Wed, 25 Sep 2024 03:37:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1491633 สำหรับตลาด Food Delivery ในปัจจุบัน อาจไม่ได้เติบโตก้าวกระโดดเหมือนในอดีต หรือแม้แต่ปีนี้เองที่ ศูนย์วิจัยกสิกร คาดว่า ค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อครั้งน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่โดยรวมแล้วตลาดน่าจะหดตัว 1% แสดงให้เห็นว่าตลาดเริ่มอยู่ตัว ดังนั้น หลายแบรนด์จึงหันมาโฟกัสที่การ ทำกำไร มากกว่าจะเผาเงินเหมือนตอนแรก รวมถึง แกร็บ (Grab) ประเทศไทย สามารถทำกำไรได้ 2 ปีติดต่อกัน

รายได้ไรเดอร์สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 3 เท่า

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบัน แกร็บให้บริการใน 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีผู้ใช้รวม 41 ล้านคน และแกร็บสามารถสร้างรายได้ให้กับคนขับ ไรเดอร์ ร้านค้า ร้านอาหารทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกว่า 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.6 แสนล้านบาท

แม้จะไม่มีการเปิดเผยรายได้ของพาร์ทเนอร์ไรเดอร์ในประเทศไทย แต่ วรฉัตร เล่าว่า รายได้ของไรเดอร์ในช่วง 12 เดือน สูงขึ้น จนปัจจุบันไรเดอร์ ส่งอาหาร มีรายได้มากกว่าค่าแรงขึ้นต่ำ 2-3 เท่า ส่วนไรเดอร์ ขับรถส่งคน มากกว่า 7-8 เท่า เพราะทางแกร็บพยายามที่จะเพิ่มรายได้ แต่ไม่ใช่การเพิ่มจากเงินเข้าไปอัดจ่ายจนบริษัทขาดทุน โดยจะเน้นที่ประสิทธิภาพ เช่น ทำรอบมากขึ้น ลดต้นทุนจากโครงการรถอีวี หรือการปล่อยกู้ เพื่อไม่ต้องไปเสียดอกเบี้ยนอกระบบ

“เราพยายามจะไม่ลดรายได้คนขับ มีแต่จะเพิ่ม แต่การจะเพิ่มโดยที่ธุรกิจเราอยู่รอดได้ด้วย ก็คือ ต้องไม่ใช่การอัดเงินแล้วบริษัทขาดทุน แล้วก็เอาเงินนักลงทุนมาโปะ ดังนั้น ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ”

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย

เพิ่มฟู้ดล็อกเกอร์ ช่วยไรเดอร์ไม่ต้องรอ

เพราะโจทย์เดียวของแกร็บสำหรับส่วนของไรเดอร์ก็คือ เพิ่มรายได้ไรเดอร์โดยไม่เพิ่มราคา ดังนั้น ทางออกเดียวคือ เทคโนโลยี โดยแกร็บจะใช้เทคโนโลยี 3 ด้านมาประกอบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ได้แก่ AI > IoT > In-App Feature เพื่อเสิร์ฟ 5 กลุ่ม ได้แก่ ลูกค้า, ร้านอาหาร, ไรเดอร์, สังคม และพนักงานแกร็บ (Grabbers)

สำหรับไรเดอร์และลูกค้าโดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศ แกร็บได้เพิ่ม ฟู้ดล็อกเกอร์ (Food Lockers) เพื่อช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องรีบลงมารับอาหาร และไรเดอร์ก็ไม่ต้องรอลูกค้านาน สร้างความสะดวกให้ทั้งผู้สั่งอาหารและไรเดอร์ ปัจจุบัน ฟู้ดล็อกเกอร์ให้บริการใน 4 โลเคชั่น ได้แก่  Park Q, FYI Center, The 9th Towers และ CentralwOrld Offices โดยจะขยายมากขึ้นอีกในปีนี้

“ต้องยอมรับว่าเวลาของไรเดอร์มีค่า เขาก็ไม่อยากต้องมารอเพราะเสียเวลาทำมาหากิน แต่บางทีชาวออฟฟิศติดประชุม ต้องรอลิฟต์ ดังนั้น เมื่อมีฟู้ดล็อกเกอร์ไรเดอร์เขาก็ฝากไว้ได้ โดยนับตั้งแต่มีเราเห็นว่าลูกค้า 20% เปลี่ยนมาใช้ล็อกเกอร์”

ใช้ AI หาเส้นทางและคำนวณเวลารับอาหาร

อีกส่วนที่ช่วย ลดเวลาให้ไรเดอร์ คือ ระบบจัดสรรคำสั่งซื้อแบบทันเวลาพอดี (Just-in-Time Allocation) โดยแกร็บจะติดตั้ง IoTs (Internet of Things) เพื่อเก็บข้อมูลระยะเวลาเฉลี่ยในการทำอาหาร และใช้ Machine Learning (ML) และ Predictive Analytics มาประเมินเวลาการเตรียมอาหารของร้านค้าก่อนจะส่งงานให้คนขับ เพื่อลดระยะเวลาการรอรับอาหารให้สั้นที่สุด ทำให้ไรเดอร์สามารถคำนวณเวลาในการมารับอาหารได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ช่วยให้จัดการรอบการจัดส่งได้ดียิ่งขึ้น โดยตั้งแต่เริ่มต้นใช้ระบบนี้ตั้งแต่ไตรมาสสองของปี 2566 พบว่า Fulfillment Rate ดีขึ้น ช่วยลดระยะเวลาในการรออาหารได้ถึง 50%

อีกระบบก็คือ ระบบแผนที่ทั่วไป (Hyperlocal Mapping Technology) ที่พัฒนาขึ้นเองโดย GrabMap ช่วยแนะนำเส้นทางที่แม่นยำขึ้น มีระบบที่ช่วย แจ้งอุบัติเหตุหรือปัญหาบนท้องถนนแบบเรียลไทม์ รวมถึง แผนที่ในอาคาร (Indoor Map) ที่ช่วยบอกตำแหน่งของร้านอาหารภายในห้างหรืออาคาร ช่วยลดระยะเวลาในการค้นหาได้ถึง 20%

“การช่วยประหยัดเวลาช่วยไรเดอร์ได้มากสุด อย่างเราเปลี่ยนมาใช้แผนที่ของตัวเองเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพราะเน้นเก็บข้อมูลเส้นทางซอยเล็ก ๆ มากกว่าถนนใหญ่เพื่อหาเส้นทางที่ดีที่สุดให้ไรเดอร์ ส่วนฟีเจอร์ที่ให้ไรเดอร์รีพอร์ตพื้นที่ปิดหรืออุบัติเหตุ ก็มีการใช้อย่างแอคทีฟ โดยที่ผ่านมามีการรีพอร์ต 3 หมื่นครั้ง เพื่อให้หลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว ยิ่งช่วงฝนตกยิ่งมีการใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางน้ำท่วม”

เพิ่มฟีเจอร์แฟมิลี่แอคเคาท์

ในฝั่งของ ผู้ใช้ แกร็บได้เพิ่มฟีเจอร์ บัญชีครอบครัว (Family Account) โดยผู้ใช้บริการสามารถเรียกรถ ตรวจสอบตำแหน่งการเดินทาง สื่อสารผ่านแชตกับคนขับ และชำระค่าบริการให้กับสมาชิกในครอบครัว เพราะที่ผ่านมาแกร็บพบว่า ลูกค้าไทย 1 ใน 3 (34%) สั่งอาหารหรือเรียกรถให้คนอื่น

อีกฟีเจอร์ที่ใช้มา 9 เดือนก็คือ บริการคำสั่งซื้อกลุ่ม (Group Order) ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มพนักงงาน ออฟฟิศและนักศึกษา ปัจจุบันฟีเจอร์นี้ก็ได้พัฒนาให้สะดวกมากขึ้น เช่น สามารถเลือกแยกจ่ายได้ หรือหารเท่าได้ และสามารถแยกใช้โค้ดส่วนลดของแต่ละคนได้ เป็นต้น

“ลูกค้า 93% ระบุว่า ปกติสั่งเป็นกลุ่มอยู่แล้ว แต่ใช้วิธีการใช้คนเดียวรวบรวมคำสั่ง พอมีฟีเจอร์นี้ยิ่งตอบโจทย์ และเราปรับให้มีความเพอเซอร์นอลไรซ์มากขึ้น ตอนนี้ออเดอร์สูงสุดที่เห็นมีมูลค่ากว่า 8,000 บาท”

ร้านค้ามีเอไอช่วยสร้างภาพให้

ในส่วนของ ผู้ประกอบการร้านค้า-ร้านอาหาร แกร็บก็มี AI ช่วยสร้างหรือออกแบบ ภาพอาหาร เพื่อช่วยดึงดูดความสนใจของลูกค้าและเพิ่มโอกาสในการขายให้กับร้านค้าโดยเฉพาะร้านเล็ก ที่มีปัญหาเรื่อง ถ่ายรูปไม่สวย หรือ ไม่มีรูปเลยมีแต่เมนู อีกส่วนคือ บริการสินเชื่อดิจิทัล โดยเพิ่มวงเงินสูงสุด 10 ล้านบาท โดยนำเทคโนโลยี ML มาใช้ประเมินศักยภาพและอนุมัติวงเงินที่เหมาะสมให้พาร์ทเนอร์ร้านค้าโดยพิจารณาจากข้อมูลการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มของแกร็บ ปัจจุบันเริ่มเห็นการปล่อยสินเชื่อมูลค่า 5-7 ล้านบาท แล้ว สำหรับร้านอาหาร

“หนี้เสียร้านอาหารเราอยู่ที่ 2.35% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของแบงก์ชาติอยู่ที่ 2.7% ที่เราต่ำกว่าระบบ มองว่า เขาไม่อยากทิ้งอาชีพนี้ไป และถ้าร้านเขาอยู่ในแพลตฟอร์มเรา เขาก็มีโอกาสขายมากกว่า เพราะสามารถขายคนในรัศมี 10 กม. และเรามีข้อมูลให้รู้ว่าควรขายอะไร ขายตอนไหน ช่วยคุมต้นทุน วางแผนการตลาด”

เพิ่มความปลอดภัยด้วยการอัดเสียง

ที่ผ่านมา แกร็บมักเจอปัญหา ให้เช่าแอคเคาท์ ทำให้แกร็บได้พัฒนาระบบยืนยันตัวตนของคนขับด้วยการสแกนใบหน้า (Biometric Authentication) โดยการ สุ่มตรวจ และมีระบบตรวจสอบการเดินทางแบบเรียลไทม์ (Real-time Trip Monitoring) รวมถึง ระบบบันทึกเสียงระหว่างการเดินทาง (AudioProtect) ที่ช่วยป้องกันเหตุร้ายและใช้เป็นหลักฐานหากเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้โดยสารและคนขับ

GrabGPT สำหรับ Grabbers

ในส่วนของ พนักงาน (Grabbers) ทางแกร็บได้ร่วมกับ ChatGPT ทำ GrabGPT ที่นำเทคโนโลยี Large Language Models (LLMs) เข้ามาช่วยในการผลิตเนื้อหาและภาพประกอบ รวมถึง โปรแกรม Mystique เครื่องมือที่ช่วยในการเขียนคำโฆษณา ซึ่งจะช่วยย่นเวลาการทำงานของฝ่ายการตลาดและครีเอทีฟ

ปัจจุบัน แกร็บมี Tech Hub ใน 9 ประเทศ โดยมี Hub ใหญ่อยู่ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน และบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย รวมแล้วแกร็บมี AI Model กว่า 1,000 โมเดล และมีสิทธิบัตรกว่า 1 หมื่นใบ

Photo : Sutterstock

บอกไม่ได้เบอร์ 1 และ 2 ห่างกันแค่ไหน

สำหรับช่องว่างระหว่างเบอร์ 1 และ 2 ในตลาด Food Delivery วรฉัตร มองว่า ตอบยาก เพราะธุรกิจยังไม่ Mature จนมีคนกลางที่เชื่อถือได้มาเปิดเผย ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ เช่น FMCG ที่มีคนกลางอย่าง Neilson ที่เชื่อถือได้ว่าผู้เล่นแต่ละรายมี Volume เท่าไหร่

แต่ในธุรกิจ Food Delivery วรฉัตรมั่นใจว่า แกร็บยังคงเป็นผู้นำทั้งในแง่อินโนเวชั่นและการเป็นที่ยอมรับ โดยอ้างอิงจากแกร็บฟู้ดได้รับรางวัลสุดยอดแบรนด์ทรงพลัง (The Most Powerful Brands of Thailand) จากภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ที่เก็บข้อมูลจาก 24,000 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกลุ่มในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 12,000 ตัวอย่าง และใน 13 จังหวัดหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศอีก 12,000 ตัวอย่าง

“ผมมองว่าการเป็นผู้นำคงไม่ใช่เราพูดเอง ต้องให้คนอื่นบอก แต่คนที่บอกก็ต้องดูว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน อย่างรีเสิร์ชจาก Redseer Consulting ดูชื่อเราก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน ข้อมูลที่มามาจากไหนก็ไม่รู้ เพราะเราไม่เคยแชร์ข้อมูลใคร หรือข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ได้บอกถึงยอดขายแกร็บฟู้ด และวิธีการที่เราคำนวณรายได้เพื่อจะดูว่าอะไรเป็นรายได้ อะไรเป็นค่าใช้จ่าย แต่ละแบรนด์ก็คิดไม่เหมือนกัน เรายึดตามมาตรฐาน Nasdaq บางอันเราไม่ได้เรียกว่าเป็นรายได้ เพราะ Nasdaq ไม่ได้นับ ซึ่งมันอาจต่างจากบริษัทในไทย” วรฉัตร กล่าว

มั่นใจแกร็บยังเติบโตแม้เศรษฐกิจแย่

แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจในปัจจุบันจะไม่ค่อยดี แต่ วรฉัตร ยืนยันว่า แกร็บยังเติบโตทั้งวอลลุ่มและรายได้ โดยในส่วนของ Food Delivery ยังเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุด ตามด้วยบริการเรียกรถ และบริการมาร์ทก็ยังเติบโตได้ดี แต่ที่เติบโตกว่าที่คิดจะเป็นส่วนของ โฆษณา ส่วนสินเชื่อโตขึ้นเรื่อย ๆ

“หุ้นไทยเขียว แต่ผลประกอบการเราเขียวกว่า ซึ่งเรามองว่าปีนี้ที่ดีเพราะนักท่องเที่ยวในไทยไม่ตกลงเลยนับตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งนักท่องเที่ยวมีส่วนช่วยในธุรกิจเรามาก อย่างบริการเรียกรถกลุ่มนักท่องเที่ยวก็จะเน้นพรีเมียม และเมื่อเขารู้จักเราจากบริการเรียกรถก็จะมาช่วยในบริการสั่งอาหารและมาร์ท นี่จึงเป็นข้อได้เปรียบเรา เพราะเขารู้จักเราตั้งแต่สนามบิน”

]]>
1491633
มองอนาคตธุรกิจ Food Delivery ทั้งไทยและต่างประเทศ บนการแข่งขันที่ยังดุเดือด แม้จะเหลือผู้เล่นน้อยราย https://positioningmag.com/1480493 Thu, 04 Jul 2024 05:42:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1480493 ธุรกิจ Food Delivery ทั้งในไทยและต่างประเทศกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง แม้ว่าจะเหลือผู้เล่นน้อยรายแล้วก็ตาม ซึ่งต่างกับอดีต แต่ผู้เล่นที่เหลืออยู่ต่างต้องแข่งขันเพื่อกินส่วนแบ่งตลาด หรือหารายได้ใหม่ๆ เนื่องจากแรงกดดันทั้งจากนักลงทุนหรือแม้แต่บริษัทเทคโนโลยีคู่แข่งก็ตาม

อุตสาหกรรมส่งอาหาร (Food Delivery) ทั่วโลกหรือแม้แต่ในประเทศไทยได้เดินทางมาถึงจุดสำคัญอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปิดกิจการของผู้เล่นบางราย การควบรวมกิจการ การเพิ่มรายได้ด้วยธุรกิจส่วนอื่นๆ หรือแม้แต่การขยายไปยังประเทศอื่นๆ

Positioning พาไปวิเคราะห์ถึงทิศทางของอุตสาหกรรม Food Delivery ในประเทศไทยหรือเทรนด์อุตสาหกรรมทั่วโลกว่าจะเป็นยังไงต่อไป

ดูภาพรวมของอุตสาหกรรมก่อน

ก่อนอื่นต้องยกข้อมูลของ Statista ที่มองว่าตลาด Food Delivery ทั่วโลกในปี 2024 นั้นมีขนาดของรายได้ใหญ่ถึง 1.22 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่ารายได้จากปี 2024 ถึง 2029 จะเติบโตราวๆ 9.49% ต่อปี โดยตลาดที่ใหญ่สุดในโลกยังเป็นประเทศจีน

ทางด้าน Momentum Works ที่ได้ออกบทวิเคราะห์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาชี้ว่าในปี 2023 ผู้เล่นในตลาดบริการส่งอาหารมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Grab ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 47% และ LINE MAN ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 36%

ขณะเดียวกันผู้เล่นรายรองลงมาอย่าง foodpanda ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 8% และ Shopee Food ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 6% ที่เหลืออีก 3% เป็นของ Robinhood เท่านั้น ก่อนที่จะปิดตัวลง

นอกจากนี้ขนาดตลาดของธุรกิจ Food Delivery ในไทยของ Momentum Works เมื่อใช้ตัวเลขยอดขายสินค้าออนไลน์รวมในแพลตฟอร์ม (GMV) ของไทยนั้นปี 2022 มีขนาด 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2023 เติบโตเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

ถ้าหากมองออกมาในหลายๆ ประเทศในอาเซียนแล้วนั้น ตลาดของธุรกิจ Food Delivery กลับกลายเป็นว่าเวียดนามนั้นมีอัตราการเติบโตมากที่สุด แต่สำหรับ ไทย สิงคโปร์ นั้นธุรกิจดังกล่าวเติบโตช้าลงเรื่อยๆ

Robinhood เป็นอีกผู้เล่นที่ต้องปิดตัวลงไปในอุตสาหกรรม Food Delivery ที่แข่งขันรุนแรง – ภาพจากบริษัท

ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อหารายได้เพิ่มเติม สร้างความได้เปรียบ

ผู้ให้บริการ Food Delivery หลายรายเริ่มมองลู่ทางหารายได้ใหม่ๆ นอกจากธุรกิจส่งอาหารเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในไทย หรือต่างประเทศ

ถ้าหากมองกรณีของผู้ให้บริการ Food Delivery ในทวีปยุโรปหลายรายเองก็ขยายธุรกิจออกไปไม่ว่าจะเป็นการรับส่งอาหารสด เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความใกล้เคียงกัน ใช้พนักงานส่งสินค้าเหมือนกัน และต้นทุนในการบริหารงานแทบจะไม่แตกต่างกันนัก

การโฆษณาภายในตัวแอปฯ หรือแม้แต่บนพาหนะที่ไว้ขนส่งอาหาร ซึ่งผู้เล่นทั้งในไทย อาเซียน หรือแม้แต่ผู้เล่นในธุรกิจนี้ทั่วโลกต่างงัดการหารายได้ในส่วนนี้แทบทั้งสิ้น

หรือแม้แต่การเข้าสู่โลก FinTech ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการทางการเงินแบบง่ายๆ อย่าง Wallet ไว้จ่ายเงิน การขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นประกัน การให้บริการด้านสินเชื่อ จนถึงด้านการลงทุน หรือแม้แต่การเข้าสู่ธุรกิจ Buy Now Pay Later อย่างเช่นในกรณีของ GoTo (หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อเดิมอย่าง Gojek) ก็ลงมาเล่นในตลาดนี้เหมือนกัน

ไม่เว้นแม้แต่ผู้เล่น Food Delivery บางรายอย่าง Deliveroo ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในทวีปยุโรป ที่เริ่มรุกเข้ามาในตลาด E-commerce มากขึ้น โดยบริษัทมองถึงขนาดตลาดดังกลล่าวใหญ่มากถึง 700,000 ล้านปอนด์ และเริ่มนำสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่ ดอกไม้ เครื่องสำอาง ไปจนถึงสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง

การหารายได้ทางใหม่ๆ ยังถือเป็นการสร้างป้อมปราการให้กับธุรกิจของตัวเอง เนื่องจากปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีที่ไม่ได้ทำธุรกิจ Food Delivery ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคฯ อย่าง TikTok หรือแม้แต่ Shopee รวมถึงผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่อาจรุกเข้ามาในธุรกิจดังกล่าว ส่งผลต่อบริษัทได้ในระยะยาว

บริการส่งอาหารทั่วโลก ในแต่ละประเทศนั้นแต่ละบริษัทต่างมีคู่แข่งรายสำคัญอยู่ – ข้อมูลจาก Presentation ของ Delivery Hero

เมื่อแอปฯ ล้มหายตายจาก หรือขายกิจการนั้นถือเป็นเรื่องปกติ

ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นการเกิดใหม่ของแพลตฟอร์มส่ง Food Delivery ลดลงบ้างแล้ว เนื่องจากผู้เล่นหน้าเก่าสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดได้ และตัวเลขสัดส่วนในการครองตลาดนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีในบางประเทศในอาเซียนที่มีผู้เล่นหลายราย เช่น เวียดนาม ที่ตลาดดังกล่าวยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก

ที่ไทยเองนั้นตลาด Food Delivery เริ่มทรงตัวมากขึ้น เนื่องจากผู้เล่นทั้ง Grab และ LINE MAN เองครองตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้ ขณะเดียวกันในส่วนของ Foodpanda และ Grab นั้นบริษัทตั้งเป้าที่จะทำกำไรให้ได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดีในบางตลาดนั้นกลับมีการซื้อและขายกิจการ อย่างเช่นกรณีของ ไต้หวัน ที่ Delivery Hero ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Foodpanda ประกาศขายธุรกิจให้กับ Uber ทำให้ผู้เล่นจากสหรัฐอเมริกาแทบจะครองตลาด Food Delivery แทบทั้งหมดในไต้หวัน

เทรนด์ในการซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการธุรกิจ Food Delivery นั้นยังคงไม่หมดไป แต่เทรนด์ดังกล่าวนั้นจะไปอยู่ในประเทศที่ตลาดดังกล่าวยังคงเติบโต และมีผู้เล่นจำนวนมาก เช่น อินเดีย หลายประเทศในตะวันออกกลาง เป็นต้น หรือแม้แต่ Foodpanda พิจารณาการขายกิจการธุรกิจในอาเซียน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังสร้างความกังวลให้กับหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศสิงคโปร์ด้วย

อีกเทรนด์ที่น่าสนใจคือผู้เล่นในประเทศจีนอย่าง Meituan ที่มีข่าวลือว่าอาจมีการขยายกิจการออกมานอกประเทศจีนนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีข่าวลือว่าเป็นผู้เล่นอีกรายที่สนใจซื้อกิจการของ Foodpanda

นอกจากธุรกิจ Food Delivery นั้นจะมีการควบรวมกิจการ ซื้อกิจการคู่แข่งแล้ว ธุรกิจเหล่านี้ยังสนใจที่จะซื้อการควบรวมกิจการแนวดิ่ง (Vertical Integration) เช่น กรณีในไทย LINE MAN ลงทุนในกิจการของ FoodStory และ Rabbit Line Pay เพื่อที่จะเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในอนาคต

ต้องมาลุ้นกันว่าธุรกิจส่งอาหารจากประเทศจีนอย่าง Meituan เองนั้นจะมีการรุกตลาดนอกประเทศจีนหรือไม่ – ภาพจาก Shutterstock

เส้นทางสู่กำไรที่ยังต้องพิสูจน์ตัวเอง (หรือตั้งคำถาม)

อย่างที่เราทราบกันดีว่า ผู้เล่น Food Delivery หลายรายเองทั่วโลกยังประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากอุปสรรคสำคัญคือเรื่องของค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายของเหล่า Rider ไปจนถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบไอทีต่างๆ ซึ่งจุดคุ้มทุนของแต่ละบริษัทนั้นมีความแตกต่างกันไป

บทความของ Financial Times ได้คำนวณตัวเลขของผู้เล่น Food Delivery ในยุโรปและสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่เข้า IPO บริษัทเหล่านี้ขาดทุนรวมกันแล้วมากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันอันดุเดือดของธุรกิจนี้

ขณะเดียวกันหลายบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ อย่างเช่น Sea​ บริษัทแม่ของ Shopee Food รวมถึงผู้เล่นในตลาด Food Delivery อย่าง Uber Grab Deliveroo Doordash รวมถึง Delivery Hero ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Foodpanda เป็นต้น ต่างโดนเหล่านักลงทุนบีบให้บริษัทต่างทำกำไรให้ได้ไวที่สุด ซึ่งแตกต่างกับในอดีตที่เน้นการขยายธุรกิจกินส่วนแบ่งทางการตลาดให้ได้มากที่สุด

สิ่งที่นักลงทุนต้องการไม่ใช่แค่กำไรเท่านั้น แต่ยังต้องเลิกเผาเงินสด หรือเลิกยึดครองตลาดที่นักลงทุนมองว่าไม่สามารถทำกำไรต่อไป

การบีบของนักลงทุนนั้นยังทำให้แผนธุรกิจของผู้เล่น Food Delivery หลายรายเริ่มเปลี่ยนจากการหารายได้ที่เน้นการส่งอาหาร การรับส่งลูกค้า ซึ่งรายได้ 2 ส่วนนี้นั้นมากกว่า 50% ของรายได้รวม เริ่มทำให้หลายผู้เล่นต้องปรับตัวให้คล้ายกับซุปเปอร์แอปฯ (Super App) มากขึ้น

คำถามคือในระยะยาวแล้ว การที่แอปเหล่านี้ปรับตัวคล้ายกับ Super App จะสามารถแข่งกับผู้เล่นดั้งเดิม เช่น  การเข้าไปยังธุรกิจ E-commerce หรือแม้แต่ FinTech นั้นแต่ละบริษัทสามารถสร้างจุดแข็งหรือแม้แต่ความได้เปรียบจากผู้เล่นเดิมในธุรกิจเหล่านี้ได้อย่างไร

ไม่เพียงเท่านี้บริษัทเหล่านี้ยังโดนจับตามองจากหน่วยงานกำกับดูแลถึงเรื่องของการแข่งขันด้านธุรกิจ เนื่องจากหลายประเทศ ผู้เล่นในธุรกิจเหล่านี้กำลังเหลือน้อยราย และยังรวมถึงเรื่องของการดูแลสวัสดิภาพของเหล่า Rider รับส่งอาหาร (หรือแม้แต่ Rider คนขับ) โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นใหญ่

ในอนาคตอันใกล้นี้เรากำลังเห็นผู้เล่นในอุตสาหกรรม Food Delivery ต่างเหลือผู้เล่นน้อยรายลงเรื่อยๆ ซึ่งในบางประเทศการต่อสู้ระหว่างผู้เล่นในธุรกิจนี้เหลือไม่เกิน 3-4 รายแล้ว ภายใต้การแข่งขันที่ยังคงดุเดือดทั้งคู่แข่งทางตรง หรือแม้แต่คู่แข่งทางอ้อม

]]>
1480493
ฉายภาพ GrabNEXT 2024 ฟันเฟืองผู้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว หนุนซอฟต์พาวเวอร์-ดันเศรษฐกิจไทยโตอย่างยั่งยืน https://positioningmag.com/1476539 Fri, 07 Jun 2024 03:20:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1476539

เรียกได้ว่าเป็นงานใหญ่แห่งปีที่คนในวงการเทคโนโลยี และการท่องเที่ยวไม่ควรพลาด สำหรับงาน GrabNEXT ในปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว สู่อนาคตที่ดีกว่า” จัดขึ้นโดย Grab และพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน ภายในงานยังมาพร้อมงานเสวนาในหัวข้อ พลิกโฉมประสบการณ์การท่องเที่ยวไทย สู่มาตรฐานใหม่ที่ยั่งยืน เพียบพร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากแวดวงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งสิ้น


GrabNEXT 2024 ก้าวต่อไปของการท่องเที่ยวไทย

ในยุคปัจจุบัน Grab ได้เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทยไปอย่างสิ้นเชิง สร้างประสบการณ์ และเพิ่มความสะดวกสบายในหลายมิติ ทั้งในแง่ของบริการส่งอาหาร, รับส่งคน, ส่งของ และบริการอื่นๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในเมืองมากขึ้น และมีชีวิตที่เร่งรีบ

แต่อีกหนึ่งมิติที่ Grab เข้ามามีบทบาทไม่น้อยเลยก็คือ “การท่องเที่ยว” เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในฟันเฟืองชิ้นใหญ่ที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยวไทย ยกระดับการท่องเที่ยวแบบไร้รอยต่อให้ดียิ่งขึ้น โดยที่ภายในงาน GrabNEXT 2024 นั้น Grab ได้ประกาศความพร้อมในการเป็นซูเปอร์แอปที่พร้อมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของเมืองไทยผ่านคอนเซ็ปต์ T.R.A.V.E.L ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

ภายในงานได้รับเกียรติจาก เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมเป็นประธานเปิดงานเสวนาเชิงนโยบายประจำปี “GrabNEXT 2024: Driving towards the Future of Tourism ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว สู่อนาคตที่ดีกว่า” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหาแนวทางในการส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ด้วยการยกระดับการท่องเที่ยวไทยให้พร้อมตอบสนองพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคใหม่ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ นายนิธิ สีแพร รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, นางสาวเพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวและพันธมิตร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนางสาวเมธิณี อนวัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจการเดินทางและบริหารพาร์ทเนอร์คนขับ Grab ประเทศไทย

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า “การทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ถือเป็นเป้าหมายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในปีนี้ ซึ่งนอกจากการที่กระทรวงต้องการยกระดับประเทศไทยให้เป็น Tourism Hub หรือศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค เรายังต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายของการเป็น Aviation Hub ที่มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางกว่า 150 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 ตามนโยบายของรัฐบาลด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ จากการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ทำให้ทางกระทรวงมีการตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท โดยการที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ซึ่งทางกระทรวง ต้องขอขอบคุณ Grab ประเทศไทย ที่จัดงานในครั้งนี้ พร้อมทั้งยังช่วยสนับสนุน และผลักดัน การเดินทางท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพทั่วประเทศไทยด้วยดีเสมอมา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์กรต่างๆ จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และนำพาเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าต่อไป”


ปิดกลยุทธ์  T.R.A.V.E.L. กระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของงาน GrabNEXT 2024 ก็คือ แม่ทัพใหญ่ของ Grab ประเทศไทย “วรฉัตร ลักขณาโรจน์” ได้ขึ้นประกาศวิสัยทัศน์ พร้อมกลยุทธ์ T.R.A.V.E.L. ที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางมายังประเทศไทย นำความแข็งแกร่งของอีโคซิสเท็มของ Grab ที่ให้บริการครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเติมเต็มและสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไร้รอยต่อให้ได้มากที่สุด


กลยุทธ์ T.R.A.V.E.L. ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1.Technological Integration การนำเทคโนโลยีดิจิทัลอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวในกลุ่ม F.I.T. (Free Independent Travelers) หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเองกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เดินทางมายังประเทศไทยในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ Grab จึงได้ออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีมาเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว ตั้งแต่การวางแผนการเดินทางไปจนถึงการอำนวยความสะดวกระหว่างการท่องเที่ยว อาทิ หน้าจอต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถสำรวจ และวางแผนการเดินทางบนแอปพลิเคชัน Grab ตั้งแต่ก่อนมาถึงประเทศไทย การพัฒนาแอปพลิเคชันให้มีหลายภาษา ทั้งอังกฤษ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลี หรือ การเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันชั้นนำให้สามารถใช้บริการเรียกรถของ Grab ผ่านแพลตฟอร์มอย่าง WeChat Booking.com และ Trip.com ได้ รวมถึง การขยายช่องทางการชำระเงินดิจิทัลผ่าน Alipay และ Kakao Pay

2. Reliability & Safety การสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว

ความปลอดภัยเป็นปัจจัยหลักที่นักท่องเที่ยวคำนึงถึงในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกที่พัก หรือการใช้บริการขนส่งสาธารณะต่างๆ ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว Grab ได้ยกระดับความปลอดภัยผ่านการพัฒนา 3 ส่วนได้แก่ เทคโนโลยีด้านความปลอดภัย  ฟีเจอร์ Safety Centre สำหรับแจ้งขอความช่วยเหลือ หรือ ฟีเจอร์ Audio Protect เพื่อบันทึกเสียงระหว่างการเดินทาง มาตรการด้านความปลอดภัย การคัดกรองและอบรมคนขับและการทำประกันเพื่อคุ้มครองทั้งผู้โดยสารและคนขับ และสุดท้ายกับการจัดแคมเปญรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัย ล่าสุด Grab ได้จับมือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์เรื่องการขับขี่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา

3. Accessibility การส่งเสริมการเดินทางเพื่อเข้าถึงเมืองหลัก และเมืองรอง

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติหันมาสนใจเดินทางไปยังเมืองรองมากขึ้น  ปัจจุบัน Grab มีให้บริการแล้วใน 71 จังหวัด ครอบคลุมทั้งเมืองหลักและเมืองรอง พร้อมยังได้ผนึกความร่วมมือกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดจุดรับ-ส่งผู้โดยสารเพื่อให้บริการในสนามบินหลัก ทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ อีกด้วย

4. Valuable Experiences การสร้างประสบการณ์การเดินทางที่น่าจดจำ

เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวในทุกเที่ยวการเดินทาง Grab มีการจัดอบรวมให้กับคนขับผ่านคอร์สออนไลน์ภายใต้โครงการ GrabAcademy ครอบคลุมทั้งในด้านมาตรฐานการให้บริการ การสื่อสารภาษาต่างประเทศเบื้องต้น และการขับขี่อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ยังได้ยกระดับประสบการณ์การเดินทางให้พิเศษยิ่งขึ้นผ่านบริการ GrabCar Premium ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ

5. Environmentally Friendly การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก

การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นสำคัญที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ซึ่งจากการสำรวจพบว่ากว่า 90% ของนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน Grab จึงได้พัฒนาและนำเสนอตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น โครงการ Grab EV ที่ส่งเสริมให้คนขับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาฟีเจอร์ชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Carbon Offset) ที่ผู้ใช้บริการสามารถร่วมบริจาคเงิน 2 บาทต่อการเดินทาง หรือ 1 บาทจากการสั่งอาหาร เพื่อนำไปปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยคาร์บอน ซึ่งจากการบริจาคเงินของผู้ใช้บริการในปี 2566 Grab สามารถนำไปปลูกต้นไม้ได้เป็นจำนวนกว่า 150,000 ต้น

6. Local Touch การผลักดันให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น

การดึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาพัฒนาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวถือเป็นกลยุทธ์ระดับชาติในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศไทย Grab ในฐานะแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ประกอบการรายย่อย และคนขับ จึงได้มุ่งสนับสนุนการเข้าถึงประสบการณ์ท้องถิ่น และวัฒนธรรมไทยในมิติต่างๆ อาทิ การส่งเสริมการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจผ่านการทำหนังสือไกด์บุค Grab & Go ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การโปรโมทอาหารไทยเมนูเด็ดจากร้านอาหารรายย่อยผ่าน GrabFood และการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นฝีมือคนไทยผ่าน GrabMart เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถเลือกซื้อได้สะดวกยิ่งขึ้น


เสวนาพลิกโฉมประสบการณ์การท่องเที่ยวไทย

นอกจากนี้ภายในงานยังได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “พลิกโฉมประสบการณ์การท่องเที่ยวไทย สู่มาตรฐานใหม่ที่ยั่งยืน” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้แก่ นายนิธิ สีแพร รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, นางสาวเพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวและพันธมิตร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนางสาวเมธิณี อนวัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจการเดินทางและบริหารพาร์ทเนอร์คนขับ Grab ประเทศไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหารือถึงแนวทางในการผลักดันท่องเที่ยวให้ตอบรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยุคใหม่

โดยในการเสวนามุ่งเน้นไปที่ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ทิศทางและอนาคตการท่องเที่ยวของประเทศไทย, การกำหนดยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยของการท่องเที่ยว, การสนับสนุนประสบการณ์ท้องถิ่นชูจุดเด่นซอฟต์พาวเวอร์ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างสมดุลระหว่างสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

]]>
1476539
สิงคโปร์เตรียมสอบสวนดีล Grab และ Delivery Hero แม้จะล่มไปแล้วก็ตาม กังวลผูกขาดการแข่งขันธุรกิจส่งอาหาร https://positioningmag.com/1468607 Mon, 01 Apr 2024 14:13:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1468607 หน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันของสิงคโปร์ เตรียมสอบสวนดีล Grab และ Delivery Hero แม้ดีลดังกล่าวนั้นจะล่มไปแล้วก็ตาม โดยให้เหตุผลถึงความกังวลผูกขาดการแข่งขันธุรกิจส่งอาหาร เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันมากถึง 91%

หน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันของสิงคโปร์ (CCCS) ได้เตรียมที่จะสอบสวนกรณีที่ Grab นั้นสนใจที่จะซื้อกิจการของ Delivery Hero ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าอาจทำให้การแข่งขันในธุรกิจส่งอาหารของประเทศนั้นเกิดการผูกขาดได้ แม้ว่าดีลดังกล่าวจะล่มลงไปก็ตาม

CCCS ยังได้กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น CCCS มีเหตุผลให้สงสัยว่าธุรกรรมที่เป็นไปได้ดังกล่าวนั้นอาจส่งผลให้การแข่งขันในตลาดลดลงอย่างมากสำหรับการจัดหาบริการสั่งอาหารออนไลน์และจัดส่งอาหารในสิงคโปร์ ซึ่งมีผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ผู้เล่นรายใหม่มีอุปสรรคในการเข้าตลาดดังกล่าวสูง”

การสอบสวนดีลดังกล่าวนั้นเนื่องจากมีความเป็นไปได้จะละเมิดมาตรา 54 ของพระราชบัญญัติการแข่งขันปี 2024 ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งห้ามควบรวมกิจการที่ส่งผลหรืออาจคาดว่าจะส่งผลให้การแข่งขันในประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ดีลดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปี 2023 ที่ผ่านมาซึ่งมีสื่อในประเทศเยอรมันรายงานข่าวว่า Delivery Hero ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ foodpanda ได้กำลังเจรจาในการขายกิจการให้กับ Grab ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 1,000 ล้านยูโรในช่วงเวลานั้น

ในช่วงเวลาของการเจรจาซื้อกิจการ CCCS ได้ออกมาตรการคุ้มครองในช่วงที่มีข่าวของทั้ง 2 ฝ่ายอาจซื้อกิจการกันช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการห้ามไม่ให้ควบรวมบริการสั่งอาหารหรือส่งอาหารในสิงคโปร์ หรือแม้แต่การห้ามไม่ให้สร้างผลกระทบที่สำคัญต่อความอยู่รอดของกิจการ foodpanda ในสิงคโปร์ ซึ่งอาจกระทบกับการแข่งขัน

แต่ในท้ายที่สุดดีลดังกล่าวได้ล่มลง โดย Niklas Östberg ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Delivery Hero ได้แถลงการณ์ยุติเจรจาซื้อขายธุรกิจในทวีปเอเชีย และมองว่าตลาดภูมิภาคนี้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 2023 และบริษัทยังเชื่อว่าภูมิภาคนี้จะยังเป็นตลาดที่สร้างการเติบโตและกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง

และหลังจากดีลดังกล่าวล่มลง ทาง CCCS ก็ได้ยุติมาตรการคุ้มครองดังกล่าว ก่อนที่จะมีข่าวในการเตรียมสอบสวนดีล Grab และ Delivery Hero ในครั้งนี้ตามมา

ข้อมูลจาก Momentum Works ได้ชี้ว่า Grab และ foodpanda ได้ครองตลาดบริการส่งอาหารมูลค่า 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐรวมกันถึง 91% ซึ่งถ้าหากมีการควบรวมกิจการกันจริงหลายฝ่ายคาดว่าหน่วยงานกำกับดูแลของสิงคโปร์รายนี้อาจต้องออกมาขวางดีลดังกล่าวไว้ 

ที่มา – Reuters, The Strait Times

]]>
1468607
มองเกมยาว จับลูกค้ากระเป๋าหนัก! จุดสำคัญพา ‘แกร็บ’ กำไร 2 ปีติด https://positioningmag.com/1467870 Wed, 27 Mar 2024 08:04:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1467870 หากพูดถึงตลาด Ride-Hailing และ Food Delivery เชื่อว่าหลายคนก็รู้ดีว่าเป็นตลาดที่แข่งขันสูง โดยเฉพาะการทำโปรโมชั่น อย่างไรก็ตาม มีเพียงแพลตฟอร์มเดียวในตลาดที่สามารถทำกำไรได้ 2 ปีติดต่อกันก็คือ แกร็บ (Grab) ที่ทำตลาดในไทยมาแล้ว 10 ปีเต็ม อะไรเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้แกร็บทำกำไรได้ และสร้างการเติบโตจากนี้

มองเกมยาว เน้นลูกค้าคุณภาพ

ย้อนไปปี 2022 แกร็บ มีรายได้ 15,197 ล้านบาท กำไร 576 ล้านบาท ส่วนในปี 2023 แม้บริษัทจะยังไม่เปิดเผยแต่ วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เกริ่นว่า มีกำไรที่มากขึ้นเล็กน้อย ซึ่งหนึ่งในจุดที่ทำให้แกร็บสามารถทำกำไรได้ 2 ปีติดต่อกันก็คือ การมองเกมระยะยาว นั่นก็คือ การคัด ลูกค้าคุณภาพ

“หากมองอะไรระยะสั้น จะยิ่งทำให้ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์บ่อย ซึ่งต้องชมทีมที่ไม่เปลี่ยนใจกับสิ่งเร้ารอบตัวเวลา โดยเฉพาะเวลามีแพลตฟอร์มใหม่กระโดดเข้ามา หรือพอคู่แข่งลดราคาแบบนี้ แล้วเราไม่เป็นลดตาม เราต้องอดทนเยอะมากนะ”

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย

หนึ่งในกลยุทธ์ที่แกร็บวางไว้สำหรับคัดลูกค้าคุณภาพก็คือ GrabUnlimited โปรแกรมสมาชิกแพ็กเกจรายเดือนที่ให้ส่วนลดและข้อเสนอพิเศษประจำเดือน ที่แกร็บออกมาตั้งแต่ปี 2020 โดยสามารถช่วยดันให้มูลค่าออเดอร์เติบโตขึ้น +17% มีมูลค่าคำสั่งซื้อเฉลี่ยที่กว่า 200 บาท/ครั้ง และมีความถี่ในการสั่งมากกว่าลูกค้าทั่วไป 20% และปีนี้ก็จะพยายามเพิ่มเมมเบอร์ในฝั่งเรียกรถ

นอกจากการทำเมมเบอร์แล้ว การมี Grab ThumbsUp หรือร้านการันตี และ Only at Grab ซึ่งปัจจุบันมีร้านรวมกว่าพันร้าน ก็ช่วยการันตีถึงคุณภาพ ช่วยให้ลูกค้าเลือกใช้บริการแกร็บ

“ยอดสั่งซื้อสูงแต่มูลค่าต่อคำสั่งซื้อต่ำแปลว่ายิ่งขาดทุน ดังนั้น เราจึงพยายามผลักดันการโฟกัสที่ลูกค้าคุณภาพ โดยเรานำเงินจากโปรโมชั่นมาใช้กับลูกค้า GrabUnlimited ทำให้ไม่ต้องทำโปรแรงตลอดเวลา ไม่ต้องลดค่ารอบไรเดอร์ ช่วยให้เรามีกำไร เกิดบาลานซ์ ไม่มีใครเสียประโยชน์ แพลตฟอร์มมีความยั่งยืน เพราะลูกค้าจะไม่ได้เปลี่ยนแบรนด์ง่ายขนาดนั้น” วรฉัตร อธิบาย

ยอมรับว่าราคาเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต

แม้การที่มีลูกค้าคุณภาพจะช่วยให้ทำกำไร แต่การจะขยายฐานลูกค้าให้เติบโต ปัจจัยด้าน ราคา ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ โดยจากการสำรวจของแกร็บในเดือนที่ผ่านมาพบว่า 62% ของผู้บริโภค มีความกังวลค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ทำให้สั่งอาหารหรือเรียกรถไม่โตเท่าที่ควร เพราะผู้บริโภคมองว่า ราคาสูงเกินไป

สอดคล้องกับที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในปีนี้ มูลค่าตลาด Food Delivery จะอยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท หรือ หดตัว 1.0% จากปี 2566 จากปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นหรือ Food Delivery ที่คาดว่าจะยังลดลง เนื่องจากความจำเป็นในการสั่งที่ลดลง และราคาอาหารเฉลี่ยที่ปรับสูงขึ้น

ดังนั้น ราคาจับต้องได้ จะช่วยขยายตลาดให้แกร็บขยายไปยังเซกเมนต์ใหม่ ๆ อาทิ นักศึกษาและผู้ใช้ต่างจังหวัด โดยแกร็บได้ออกแคมเปญ Hot Deals โดยจะรวมเมนูลดราคาพิเศษจากหลากหลายร้านอาหาร พร้อมส่วนลดออนท็อป และ SAVER Delivery ตัวเลือกค่าส่งแบบประหยัด ในส่วนของบริการเรียกลดจะมีบริการ  GrabCar SAVER สำหรับการเดินทางด้วยรถยนต์ขนาดเล็กที่ถูกลงกว่าปกติ 15% และบริการ GrabBike SAVER ในระยะทางไม่เกินสี่กิโลเมตร เริ่มต้น 26 บาท

“แน่นอนว่าเราทำราคาถูกลง แต่ก็ต้องบาลานซ์กับรายได้ของไรเดอร์ ดังนั้น บริการเหล่านี้จะเปิดในช่วงที่ไม่เร่งด่วนหรือช่วงกลางคืน ซึ่งคนขับเลือกได้จะขับในเวลาถูกลง หรือจะปิดรับ หรืออย่างในต่างจังหวัดที่งานน้อย เราก็ต้องหาทางเพิ่มรอบ เพื่อให้ไรเดอร์มีรายได้มากขึ้น”

แกร็บบุกสนามบิน

หลังจากการท่องเที่ยวกลับมา การเรียกรถก็กลับมาเติบโต โดยในปีที่ผ่านมา ยอดใช้บริการเรียกรถผ่านแกร็บในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตขึ้นถึง 139% หรือ 1.4 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2022 และการเรียกรถไป-กลับจากสนามบินเติบโตขึ้น 2 เท่า

ที่ผ่านมา แกร็บได้เปิดบริการที่สนามบินภูเก็ต, สนามบินเชียงใหม่, สนามบินเชียงราย และสนามบินดอนเมือง ล่าสุด แกร็บกำลังจะเปิดบริการที่สนามบินสุวรรณภูมิภายในสิ้นเดือนนี้

“ยอมรับว่าบริการเรียกรถที่ถูกกว่าแกร็บมีเยอะมาก และแกร็บก็ต้องเสียลูกค้าบางส่วนให้กับแพลตฟอร์มนั้น ๆ แต่เพราะคุณภาพทำให้แกร็บยังสามารถยืนในขณะนี้ได้อยู่ ดังนั้น ด้วยคุณภาพที่สูงทำให้แกร็บไม่สามารถลดราคาได้”

ยังไม่มีแผนเพิ่มบริการหรือธุรกิจใหม่ ๆ

วรฉัตร ยืนยันว่า ปีนี้ยังไม่มีแผนเพิ่มบริการหรือธุรกิจใหม่ แต่บริการใหม่ที่เปิดในปีที่ผ่านมา อาทิ Dine-in ซึ่งจะเป็นลักษณะของการขายคูปอง จะทำอย่างเต็มรูปแบบในปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้แกร็บเข้าถึงร้านที่ไม่เปิดบริการ Food Delivery ได้มากขึ้น ส่วนการทำ Virtual Bank ก็ยังไม่มีแผนจะทำ แม้ว่าแกร็บจะมีบริการ Grab Finance มีแผนจะเพิ่มวงเงินการปล่อยกู้จากหลัก 5,000-500,000 บาท เป็น หลักล้านบาท ให้กับเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร

Virtual bank ทำได้ยาก เพราะว่าแบงก์ไทยแข็งแรงมาก และนอน-แบงก์ก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับการเงินได้เยอะมาก เช่น ประกัน, ลงทุน, ปล่อยกู้ ดังนั้น เลยรู้สึกว่าสู้กับแบงก์ไทยยาก คนที่จะเป็นดิจิทัลแบงกิ้งก็คือ แบงก์นั่นแหละ”

มองโฆษณาธุรกิจดาวรุ่งทำกำไร

แน่นอนว่าปีนี้ กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะเติบโตมากที่สุดยังคงเป็นการเรียกรถ เนื่องจากการเติบโตของการท่องเที่ยว ตามด้วยธุรกิจ Food Delivery และธุรกิจโฆษณา หรือ Grab Ads ซึ่งในอนาคต วรฉัตร มองว่า ธุรกิจโฆษณาจะเป็นธุรกิจสำคัญในการสร้างกำไรให้กับบริษัท เนื่องจากเห็นเทรนด์ในหลายประเทศ

สำหรับรายได้จากโฆษณาของแกร็บจะมาจาก Self-serve ads เครื่องมือโฆษณาสำหรับพาร์ตเนอร์ร้านค้า เพื่อช่วยเพิ่มยอดขาย ที่ผ่านมาพบว่า ร้านอาหารสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น 6 เท่า จากเม็ดเงินโฆษณา อีกส่วนคือ Grab Ads ปีนี้แกร็บพยายามจะเชื่อมระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ ให้มีความครบวงจรโดยจะโฟกัสไปที่ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว สินค้าสุขภาพ-ความงาม และสินค้าอุปโภคบริโภค

“จุดแข็งของ Grab Ads คือ เรารู้ว่าลูกค้าใช้จ่ายเท่าไหร่ ใช้บัตรเครดิตอะไร อยู่แถวไหน ทำให้เราสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน และปีนี้เราจะทำโฆษณาทั้งในรถ นอกรถ เชื่อมต่อกับในแอปฯ ด้วยเพื่อให้ครบวงจร ทำให้เราใช้พื้นที่ทำโฆษณาให้ได้มากกว่าเดิม”

]]>
1467870
สยบข่าวลือ! ‘GoTo’ ออกมาปฏิเสธว่ากำลังเจราจากับ ‘Grab’ เรื่องควบรวมกิจการ ย้ำ บริษัทมีสถานะการเงินที่แข็งแรง https://positioningmag.com/1462624 Wed, 14 Feb 2024 04:55:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1462624 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีหลายสำนักข่าวรายงานว่า Grab แพลตฟอร์ม ride-hailing สัญชาติสิงคโปร์ได้กลับมาเจรจา ควบรวมกิจการ กับ GoTo อีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง แต่ล่าสุด GoTo ก็ออกมายืนยันเองว่าไม่ได้มีการเจรจาดังกล่าว

GoTo บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของอินโดนีเซีย ได้ออกมาปฏิเสธว่ากําลังหารือเรื่องการควบรวมกิจการกับคู่แข่งอย่าง Grab หลังจากมีข่าว Grab ได้ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการ GoTo โดยมีแผนทั้งการจ่ายเงินสด, จ่ายเป็นหุ้น หรือรวมสองบริษัทเข้าด้วยกัน รวมถึงการทำข้อตกลงแยกแบรนด์ทำตลาดแต่ละแบรนด์เอง

“บริษัทยังต้องการเน้นย้ำว่าขณะนี้ บริษัทไม่มีการเจรจาในเรื่องดังกล่าว บริษัทขอเน้นย้ำว่า บริษัทมีพื้นฐานและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ GoTo กล่าว

โดยในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา GoTo สามารถบรรลุเป้าหมาย EBITDA ในเชิงบวก อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกําหนดจะเปิดเผยผลประกอบการปี 2023 ในเดือนมีนาคมนี้

สำหรับ GoTo Group ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2021 ซึ่งเป็นการควบรวมกิจการระหว่างสองบริษัทสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย ได้แก่ Gojek และ Tokopedia และเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม GoTo และ TikTok ประกาศว่า Tokopedia และ TikTok Shop Indonesia จะควบรวมกิจการ ซึ่ง TikTok จะถือหุ้นควบคุม 75.01%

โดยข้อตกลงของ TikTok และ Tokopedia เกิดขึ้นหลังจากอินโดนีเซียสั่งห้ามธุรกรรมอีคอมเมิร์ซบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น TikTok Shop และ Facebook ซึ่งส่งผลกระทบต่อแผนการรุกตลาดอีคอมเมิร์ซของ TikTok ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้

Source

]]>
1462624
Grab รายงานผลประกอบการล่าสุด กระแสเงินสดกลับมาเป็นบวกครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งกิจการ https://positioningmag.com/1451341 Fri, 10 Nov 2023 03:39:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1451341 Grab รายงานผลประกอบการล่าสุดในไตรมาส 3 ของปี 2023 บริษัทมีกระแสเงินสดกลับมาเป็นบวกครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งกิจการอยู่ที่ 29 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าในปีนี้กระแสเงินสดของบริษัทจะติดลบน้อยลงกว่าที่คาดไว้

Grab รายงานผลประกอบการในไตรมาส 3 ของปี 2023 โดยบริษัทมีกระแสเงินสดถึง 29 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นกระแสเงินสดเป็นบวกครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งกิจการ ซึ่งถือเป็นสัญญาณของบริษัทเทคโนโลยีในอาเซียนว่าบริษัทสามารถเข้าสู่เส้นทางของการทำกำไรได้จริง ๆ

ยอดขายสินค้าออนไลน์รวม หรือ GMV ของ Grab ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ 5,341 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตจากปีที่ผ่านมา 5% ส่งผลทำให้รายได้รวมของบริษัทนั้นอยู่ที่ 615 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตมากถึง 61% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากปัจจัยรายได้ของธุรกิจการส่งอาหารที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา Grab ยังรายงานว่าผู้ใช้งานทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มนั้นทำสถิติสูงสุดใหม่คือ 36 ล้านคน

กระแสเงินสดที่กลับมาบวก 29 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ปัจจัยมากจากธุรกิจส่งอาหารเป็นหลัก รองลงมาคือธุรกิจขนส่ง และบริการทางการเงิน ตามลำดับ

Peter Oey ประธานฝ่ายบริหารการเงินของ Grab ยังกล่าวว่า GMV ของธุรกิจส่งอาหารและธุรกิจขนส่งนั้นคาดว่าจะกลับมามีรายได้เท่ากับช่วงก่อนโควิดได้ภายในสิ้นปีนี้ได้

อย่างไรก็ดีในไตรมาส 3 ที่ผ่านมานี้ Grab ยังขาดทุนจากการดำเนินงาน 99 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทขาดทุนมากถึง 342 ล้านเหรียญสหรัฐ

เป้าหมายของบริษัทที่วางไว้ในปีนี้คือรายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 2,310-2,330 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ขณะที่กระแสเงินสดของบริษัททั้งปี 2023 จะติดลบอยู่ในช่วง 20-25 ล้านเหรียญสหรัฐ ดีกว่าคาดการณ์ครั้งก่อน

]]>
1451341
‘แกร็บ’ กับการปรับภาพสู่ “ผู้ให้บริการเรื่องกินครบวงจร” ที่สะท้อนว่าตลาด ‘ฟู้ดเดลิเวอรี่’ กำลังมาเกือบสุดทาง https://positioningmag.com/1446744 Thu, 05 Oct 2023 00:46:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1446744 ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของ COVID-19 กลายตัวเร่งให้ตลาด “ฟู้ดเดลิเวอรี่” เติบโตกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น ในวันที่ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ บริการฟู้ดเดลิเวอรี่กลายเป็นทางเลือกเหมือนที่เคยเป็น ‘แกร็บ’ (Grab) เองก็ต้องปรับตัว ซึ่งสิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนก็คือ ‘ฟีเจอร์’ ใหม่ ๆ ที่ออกมามากกว่าบริการส่งอาหาร

แน่นอนว่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ไทยที่มีมูลค่าถึง 8.6 หมื่นล้านบาท แม้ว่าตลาดจะทรงตัวนับตั้งแต่การระบาดของโควิดคลี่คลายลง แต่ก็ยังถือเป็นตลาดที่ใหญ่อยู่ดี อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมผู้บริโภคกลับมาสู่แบบเดิมแล้ว ดังนั้น คนก็ยังใช้งานอยู่ดี เพียงแต่การใช้งานอาจจะลดความถี่ลง

ในเมื่อตลาดมันทรงตัว การแข่งขันก็ยังคงดุเดือด แต่จะให้อัดโปรโมชันก็ไม่ใช่ทางออกที่ดี โดยเฉพาะกับ แกร็บ ที่ออกตัวเเล้วว่าต้องการจะคืนทุนให้ได้ภายในปีนี้ ดังนั้น แกร็บเองก็ต้องปรับฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่สอดรับไปกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กลับสู่ภาวะปกติ พร้อมใช้คำว่าการเป็น “ผู้ให้บริการเรื่องกินครบวงจร” ไม่ใช่ผู้ให้บริการส่งอาหาร

หนึ่งในฟีเจอร์ใหม่ของแกร็บที่หลายคนน่าจะผ่านตามาเเล้วก็คือ Dine-in ซึ่งจะเป็นลักษณะของการ ขายคูปอง ซึ่งแปลว่าบริการนี้จะไม่ได้อยู่ในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ แต่เป็นตลาดร้านอาหารซึ่งมีมูลค่าถึง 4.35 ล้านล้านบาท มีการเติบโตที่ 7.1% ซึ่งฟีเจอร์นี้จะยิ่งช่วยให้แกร็บสามารถต่อยอดไปสู่บริการ เรียกรถยนต์ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางลูกค้าเรียกใช้เองเพื่อไปร้านอาหาร หรือทางร้านอาหารใช้บริการเรียกรถเป็นโปรโมชันให้ลูกค้านั่งมาฟรีก็ได้

เบื้องต้น แกร็บยังไม่ได้ให้บริการกับร้านอาหารทุกร้านในระบบ ส่วนใหญ่จะเป็นร้าน Fine-Dining และแกร็บจะ ยังไม่ข้ามไปขายคูปองวัลเชอร์อื่น ๆ เช่น ขายคูปองที่พัก โดย วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ให้เหตุผลว่ายังอยากโฟกัสที่ธุรกิจอาหารซึ่งเป็นความถนัดของแกร็บ ยังไม่อยากข้ามอุตสาหกรรม

“ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่เกือบสุดเเล้ว เราก็มาคิดว่าจะทำยังไงให้เราโตต่อได้ ก็ต้องเปิดตลาดใหม่ ๆ ตอนนี้อาจยังไม่สร้างการเปลี่ยนเเปลงนัก แต่ถ้าจุดติดเราเชื่อว่ามันจะสเกลได้เร็ว เพราะ 2 สัปดาห์ที่ทดลอง เราเห็นคนที่ไม่เคยใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่มาใช้งาน Dine-in” วรฉัตร อธิบาย

ในส่วนของฟู้ดเดลิเวอรี่ แกร็บก็ยังต้องรักษาการเติบโต โดยแบ่งฟีเจอร์ออกเป็น 2 แกน คือ ความสะดวก ได้แก่ฟีเจอร์ Self Pick-Up ที่มาตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ใช้ที่กลับมาสู่ปกติ โดยฟีเจอร์นี้จะช่วยให้ผู้ใช้ไม่ต้องต่อคิวซื้ออาหาร ช่วยให้ประหยัดเวลา ขณะที่ร้านอาหารก็มีทราฟฟิกมากขึ้น โดยหลังจากทดลองใช้จุดที่ใช้มากสุดคือ ห้างสรรพสินค้าและอาคารสำนักงาน

ฟีเจอร์ Group Order ที่ช่วยตอบโจทย์พนักงานออฟฟิศและกลุ่มครอบครัว โดยผู้ใช้บริการหลายคนสามารถสั่งอาหารจากร้านเดียวกันรวมกันได้ผ่านออเดอร์เดียว สามารถ แชร์ค่าส่ง ได้ทำให้ประหยัดมากขึ้น ส่วนร้านเองก็จะได้มูลค่าคำสั่งซื้อที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไรเดอร์อาจต้องรับมือกับจำนวนอาหารที่มากขึ้นใน 1 คำสั่งซื้อ ซึ่งทางแกร็บเองก็มองมุมนี้เหมือนกัน ดังนั้น ในอนาคตแกร็บอาจมีการจำกัดจำนวนชิ้นเพื่อไม่ให้เกิดอันตราย หรืออาจเป็นการให้ไรเดอร์แชร์สินค้าในการจัดส่ง

ฟีเจอร์ สั่งอาหารล่วงหน้า (Order for later) ฟีเจอร์ที่ให้ผู้ใช้บริการสั่งอาหารได้ล่วงหน้าได้มากสุดภายใน 7 วัน โดยสามารถระบุวันและเวลาที่ต้องการรับอาหารตามความสะดวก โดย 58% ของผู้ใช้ฟีเจอร์นี้คือคนที่ยุ่งกับการทำงานระหว่างวันจนไม่มีเวลาสั่งอาหาร ขณะที่ 20% ต้องการหลีกเลี่ยงการสั่งอาหารในช่วงเวลา peak hours เช่น มื้อเที่ยงและมื้อเย็น

อีกแกนก็คือ ความคุ้มค่า ด้านโปรโมชันก็ยังต้องมี แต่จะทำอย่างไรให้ไม่กระทบกับแผนที่จะต้องถึงจุดคุ้มทุนในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปีนี้ และเริ่มทำกำไร รวมถึงบาลานซ์ระหว่างรายได้และค่ารอบของไรเดอร์ ทำให้เกิดเป็นตัวเลือก ส่งแบบประหยัด ที่จะถูกการจัดส่งมาตรฐานประมาณ 50% แต่ก็ต้องเเลกกับระยะเวลาจัดส่งที่นานขึ้น

นอกจากนี้ ก็มีฟีเจอร์ ดีลลดฟ้าผ่า (Flash Sale) ฟีเจอร์ที่นำเสนอดีลส่วนลดขั้นกว่าสำหรับผู้ใช้บริการ ที่จะให้แบบ Personalize และมีระบบแพ็กเกจสมาชิก GrabUnlimited เพื่อสร้าง Loyalty ผ่านการมอบส่วนลดให้สมาชิก

จะเห็นว่าแกร็บยังคงต้องรักษาการเติบโตในขาของฟู้ดเดลิเวอรี่ ผ่านฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งความสะดวกสบายและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้ ขณะที่โปรโมชันก็ยังคงมี แต่จะมีความเฉพาะเจาะจงกับกลุ่มผู้ใช้ที่ต้องการมากขึ้น เพื่อบาลานซ์ทั้งการเติบโตและการสร้างกำไร รวมไปถึงการขยับไปสู่ตลาดอาหารใหม่ ๆ โดยไม่จำกัดว่าเป็นผู้ให้บริการส่งอาหาร แต่เป็น “ผู้ให้บริการเรื่องกินครบวงจร”

]]>
1446744
บริษัทแม่ foodpanda กำลังเจรจาขายกิจการในทวีปเอเชีย คาด Grab อาจควักเงิน 1,000 ล้านยูโรซื้อกิจการ https://positioningmag.com/1444969 Thu, 21 Sep 2023 02:24:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1444969 Delivery Hero บริษัทแม่ของ foodpanda กำลังเจรจาขายกิจการในทวีปเอเชีย คาด Grab อาจควักเงิน 1,000 ล้านยูโรซื้อกิจการ

สื่อธุรกิจหลายแห่งได้รายงานข่าวว่า Delivery Hero บริษัทแม่ของ foodpanda บริการส่งอาหารรายใหญ่ ได้ยืนยันว่ากำลังอยู่ในการเจรจาขายกิจการในทวีปเอเชีย และผู้ที่สนใจซื้อกิจการคือ Grab ซึ่งเป็นคู่แข่ง คาดว่าจะใช้เงินราวๆ 1,000 ล้านยูโร หรือราวๆ 38,500 ล้านบาท ซึ่งข่าวดังกล่าวอ้างอิงมาจาก The Wirtschaftswoche สื่อธุรกิจในเยอรมัน

ปัจจุบันแผนธุรกิจของ Delivery Hero คือมุ่งเน้นไปที่การทำกำไรในขณะที่ยังคงรักษาการเติบโตไว้ เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนในบริษัทเริ่มลดลงเนื่องจากการขาดทุนของบริษัท

บริษัทแม่ของ foodpanda ได้ชี้ว่าบริษ้ทได้บรรลุผลกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA ในผลประกอบการช่วงหกเดือนแรกของปี แม้ว่าจะไม่ได้ระบุเป็นจำนวนก็ตาม หลังจากที่บริษัทได้มรผลขาดทุน 323 ล้านยูโรในปี 2022 ที่ผ่านมา

foodpanda มีบริการในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ ไทย ลาว กัมพูชา ซึ่งธุรกิจในทวีปเอเชียนั้นทำรายได้เป็นสัดส่วนมีนัยสำคัญของบริษัทอย่างมาก โดยก่อนหน้านี้ CEO ของ Delivery Hero ได้กล่าวว่าบริษัทได้ลดโมเมนตัมของธุรกิจในเอเชียลง หลังจากลงทุนอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา

โดย Delivery Hero ได้เปิดเผยต่อตลาดหุ้นในเยอรมันโดยยืนยันว่ามีการเจรจากับหลายฝ่ายเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขายธุรกิจ foodpanda บางตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การพูดคุยเจรจา ยังอยู่ในระยะเบื้องต้น

ที่มา – Reuters, The Strait Times

Note: อัพเดต 16:11 เพิ่มเติมแถลงการณ์ของบริษัทว่ามีการเจรจาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ดังกล่าว

]]>
1444969