LVMH – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 07 Nov 2024 11:51:17 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เมื่อ ‘วัยรุ่นจีน’ เลิกติดแกรม เน้นใช้เงินซื้อ ‘ประสบการณ์’ ทำตลาด ‘ลักชูรี’ จีนอาจหดตัว 15% ในปีนี้ https://positioningmag.com/1497793 Thu, 07 Nov 2024 03:58:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1497793 ดูเหมือนว่าสินค้า แบรนด์เนม หรือ สินค้าลักชูรี สุดหรูกำลังเผชิญกับความท้าทายในตลาดใหญ่อย่าง จีน เพราะไม่ใช่แค่ภาวะเศรษฐกิจ แต่ผู้บริโภคบางกลุ่มเริ่มตระหนักแล้วว่า ไม่จำเป็น ขนาดนั้น และใช้เงินไปกับการซื้อประสบการณ์มากกว่า

ตามรายงานของที่ปรึกษา Digital Luxury Group ประเมินว่า ตลาดสินค้าหรูหราของจีนคาดว่าจะหดตัวมากถึง 15% ในปีนี้ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งของการชะลอตัวจะเป็นไปตามกลไกตลาดบางส่วน แต่ปัจจัยหลัก ๆ มาจากเศรษฐกิจของจีนที่กําลังพยายามฟื้นตัวจากวิกฤตอสังหาฯ แต่ที่ยิ่งน่ากังวลกว่าก็คือ วัยรุ่นชาวจีนเน้นใช้เงินไปกับการซื้อประสบการณ์ เช่น การท่องเที่ยว มากกว่าใช้แบรนด์เนมเพื่อสร้างภาพ

โดย Jessica Gleeson ซีอีโอของ Brighter Beauty บริษัทที่ปรึกษาภาคการค้าปลีกในเซี่ยงไฮ้ มองว่า มีวัยรุ่นจีนบางส่วนที่ไม่ต้องการใช้แบรนด์เนมเป็นตัว กําหนดความสุข หรือเพื่อ แสดงสถานะทางสังคม อีกต่อไป โดยบางคนให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาก็แค่ ทำตามคนอื่น โดยเทรนด์ที่เห็นในปัจจุบันคือ คนต้องการใช้เงินเพื่อลงทุนในด้านการพัฒนาตัวเอง ดูแลสุขภาพ และใช้เพื่อประสบการณ์ความบันเทิง

“การใช้สินค้าราคาแพงไม่จำเป็นอีกต่อไป และผู้บริโภคชาวจีนได้ค้นพบว่า การซื้อของที่อยากได้มากขึ้นไม่ได้ทําให้รู้สึกเติมเต็มหรือมีความสุขมากขึ้น”

ไม่ใช่แค่ในกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้นที่ลดลําดับความสําคัญสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ ผู้มีรายได้ปานกลาง ก็เริ่มมองว่า แบรนด์เนม น่าสนใจน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้เริ่มหันมาใช้เงินกับสิ่งจำเป็นมากกว่าของฟุ่มเฟือย โดยผลสำรวจจาก Luxyrynsight แสดงให้เห็นว่า 1 ใน 4 ของผู้บริโภคชาวจีนระบุว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พวกเขารู้สึกว่า แบรนด์เนมตะวันตกดึงดูดใจน้อยลง

“ในอดีต ฉันแค่ซื้อของฟุ่มเฟือยโดยไม่ได้คิด ตราบใดที่ฉันชอบมัน แต่ตอนนี้ฉันไม่มีอะไรพิเศษที่อยากซื้อ เพราะฉันไม่รู้ว่ารายได้ในอนาคตของฉันจะอยู่ที่ไหน” Coco Li อดีตผู้บริหารในบริษัทข้ามชาติในฮ่องกงวัย 46 ปี ที่เคยใช้เงินเดือน 20% ซื้อของแบรนด์เนม เล่า

นับตั้งแต่ปี 2554-2564 บริษัทสินค้าหรูต่าง ๆ เช่น LVMH และ Kering ได้ทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ไปยังประเทศจีนเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ตลาดขาขึ้น ส่งผลให้มูลค่าตลาดเติบโตมากกว่า 4 เท่า เป็น 4.71 แสนล้านหยวน (6.6 หมื่นล้านดอลลาร์) ตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษา Bain & Co.

แต่ด้วยค่านิยมที่เปลี่ยนไป สะท้อนให้เห็นชัดขึ้นจากผลประกอบการของเหล่าแบรนด์ลักชูรีในจีน โดยเฉพาะผู้นำตลาดอย่าง LVMH ที่ยอดขายในไตรมาส 3 ของภูมิภาคเอเชียรวมถึงจีน (ไม่รวมญี่ปุ่น) ร่วงลง 16% นอกจากนี้ แผนการเปิดตัว Louis Vuitton Flagship Store ที่ตั้งเป้าว่าจะได้ให้ในข่วงกลางปี ปัจจุบันก็ถูกเลื่อนไปไม่มีกำหนด แน่นอนว่ายังมีบางแบรนด์ที่เติบโตได้อย่าง Hermes ที่ยอดขายในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงจีนช่วงไตรมาส 3 โตขึ้น 1% แต่ก็ถือว่าต่ำกว่าที่คาดไว้ว่าจะเติบโตได้ 2.3%

อีกสัญญาณที่เห็นก็คือ การอัดโปรโมชั่น จากเดิมที่ลูกค้าสามารถซื้อได้แบบไม่ต้องคิด แต่ปัจจุบันหลายแบรนด์ไม่ว่าจะเป็น LVMH, Kering, Burberry Group ที่ต้องงัดกลยุทธ์โปรโมชั่นโดยหวังว่าจะสามารถดึงลูกค้ากลุ่มวีไอพีให้กลับมาซื้อ เพื่อเคลียร์สต็อกสินค้า

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทางผู้บริหาร LVMH ให้ความเห็นว่ามาจากเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง พร้อมอ้างถึงวิกฤตหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ ที่ทำให้การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยของชาวจีนลดลง โดยยอดขายของห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ในจีน ในช่วงเดือนตุลาคมที่มีช่วงหยุดยาว 1 สัปดาห์ กลับลดลง 18% เมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ตามรายงานของ Baidu Inc.

จากหลาย ๆ ปัจจัย ส่งผลให้นักลงทุนกําลังจับตามองเพื่อดูว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะช่วยหนุนได้หรือไม่

Source

]]>
1497793
แม้แต่ “LVMH” ยังกระทบ! ยอดขายตกลง 3% หลังลูกค้าจีน-ญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่อง https://positioningmag.com/1494697 Wed, 16 Oct 2024 10:44:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1494697 ยักษ์ใหญ่แบรนด์เนม “LVMH” รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2024 ยอดขายหดตัว 3% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยทำรายได้ไป 1.9 หมื่นล้านยูโร

Reuters รายงานว่าผลประกอบการครั้งนี้ถือเป็นสภาวะยอดขายหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี 2020 สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า LVMH จะยังคงแข็งแรงต่อต้านสภาพเศรษฐกิจหดตัวได้ และน่าจะยังเติบโตได้อีก 2% ในไตรมาสที่ผ่านมา

Jean-Jacques Guiony ซีเอฟโอ LVMH กล่าวว่าเหตุที่ผลประกอบการบริษัทสินค้าลักชัวรีตกต่ำลงหลักๆ เป็นเพราะกลุ่มลูกค้า “จีน” ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากช่วงเกิดโรคระบาด โดยยอดขายกลุ่มประเทศในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) นั้นยอดตกถึง 16% หนักขึ้นจากไตรมาส 2/2024 ที่ยอดตก 14%

ส่วนตลาดญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ดีเช่นกัน LVMH เปิดผลประกอบการว่ายอดขายตลาดญี่ปุ่นตกลง 20% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เพราะค่าเงินเย็นแข็งขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวจีนที่ปกติจะช้อปสินค้าแบรนด์เนมที่ญี่ปุ่น เลือกที่จะลดหรือไม่ซื้อกันมากขึ้น

เมื่อเจาะตามหมวดสินค้าแล้วจะเห็นว่าแผนกสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนัง ซึ่งมีแบรนด์หลักคือ Louis Vuitton และ Dior คือหมวดที่ยอดขายตกหนักกว่าค่าเฉลี่ยบริษัท โดยยอดขายลดลง 5% และหมวดนี้คือหมวดสำคัญของ LVMH เพราะคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของยอดขายรวม และมีสัดส่วนเกือบ 3 ใน 4 ของผลกำไรบริษัท

ก่อนหน้านี้มีช่วงหนึ่งที่บริษัทสินค้าลักชัวรีสามารถโกยรายได้ได้สูงมาก เพราะลูกค้าเน้นซื้อสินค้าแบบ ‘ช้อปล้างแค้น’ หลังจากโรคระบาดทำให้คนต้องติดอยู่กับบ้าน ไม่ได้ใช้เงินมานาน แต่เมื่อปี 2023 ตลาดเริ่มเห็นสัญญาณว่าการช้อปล้างแค้นเริ่มจะเสื่อมความนิยมไป โดยเฉพาะในตลาดใหญ่อย่างจีนที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบหนัก ปัจจุบันต้องหวังพึ่งว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนจะสามารถหมุนเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และดีจนทำให้ลูกค้ากลับมาต้องการสินค้าไฮเอนด์อีกครั้ง

เฉพาะในตลาดจีนนั้นเห็นได้ชัดว่ากลุ่มลักชัวรีกำลังเผชิญความท้าทายอย่างหนัก การขายบนอีคอมเมิร์ซมีอัตราการยกเลิกสินค้าและขอคืนสินค้าสูงขึ้น เริ่มมีการแข่งขันลดราคา และมีการแข่งขันจากแบรนด์ท้องถิ่นที่ทำราคาถูกกว่า

สำนักข่าว Bloomberg ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า สาวจีนวัย 35 ปีคนหนึ่งที่ทำงานด้านการเงินในเมืองกวางโจว ที่ผ่านมาเคยมีงบช้อปปิ้งกระเป๋ารองเท้าหรูขั้นต่ำ 300,000 บาทต่อปี แต่เมื่อปีที่แล้วบริษัทของเธอตัดโบนัสลง 50% ทำให้เธอต้องลดงบช้อปปิ้งลง และไม่ซื้ออะไรที่ราคาเกินกว่า 25,000 บาทมานานแล้ว แต่เธอจะหันไปให้รางวัลตัวเองด้วยการท่องเที่ยวแทน

ที่มา: Reuters, Bloomberg

]]>
1494697
ยอดขายกลุ่ม ‘LVMH’ หดตัว 2% เนื่องจากตลาด ‘เอเชีย’ ซบเซาหนัก แม้ยอดขายของ ‘จีน’ จะโต 10% https://positioningmag.com/1470367 Thu, 18 Apr 2024 15:10:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470367 สินค้าลักชัวรีที่หลายคนมองว่าปัญหา กำลังซื้อ นั้นไม่ส่งผลกระทบ เพราะเป็นสินค้าที่จับลูกค้ากระเป๋าหนัก อย่างไรก็ตาม ด้วยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ยอดขายของกลุ่ม LVMH หดตัว 2%

เครือกลุ่ม LVMH ที่ถือครองแบรนด์หรูรวมกว่า 75 แบรนด์ อาทิ Louis Vuitton, Tiffany & Co. และ Bulgari ได้เปิดเผยผลประกอบการช่วง Q1/2024 โดยหดตัว -2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา คิดเป็นรายได้ 2 หมื่นล้านยูโร 

โดยกลุ่มสินค้าที่หดตัวมากที่สุดคือ ไวน์และสุรา ลดลง -12% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ สินค้าสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนัง เช่น แบรนด์ Louis Vuitton เติบโต +2%  ขณะที่ไตรมาสที่แล้วเติบโต 9% 

ส่วนสินค้าประเภท นาฬิกาและจิวเวลรี มียอดขาย ลดลง -2% ในขณะที่หมวดหมู่ น้ำหอมกับเครื่องสำอาง มียอดขายสูงขึ้น +7% ส่วนหมวดหมู่ Selective Retailing มียอดขายสูงขึ้น +11%

โดยยอดขายใน ตลาดเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ลดลง -6% โดยตลาดสำคัญอย่าง จีน ที่ถือเป็นตลาดที่ขับเคลื่อนภูมิภาคเอเชีย เติบโต 10% และในส่วนของตลาด ญี่ปุ่น สามารถเติบโตได้ถึง +32% โดยได้ปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของเงินเยน ส่วนยอดขายในตลาด ยุโรป และ สหรัฐฯ เติบโต +2%

ทั้งนี้ Bain & Company บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินคาดการณ์ว่า ตลาดสินค้าหรูมีแนวโน้มเติบโตเพียง 1-4% ในปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ในปีที่แล้วว่าจะเติบโตประมาณ 8-10%

LVMH / Reuters

]]>
1470367
Sephora จ้างอดีตผู้บริหารจาก Nike แก้เกมกิจการในจีน หลังธุรกิจขาดทุน เจอคู่แข่งในแดนมังกรบีบหนัก https://positioningmag.com/1470127 Mon, 15 Apr 2024 09:41:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470127 เซโฟรา (Sephora) แบรนด์ค้าปลีกเครื่องสำอางชื่อดัง ซึ่งเป็นแบรนด์ลูกของ LVMH นั้นประสบปัญหาธุรกิจในประเทศจีนขาดทุนนับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา ล่าสุดแบรนด์ดังกล่าวต้องแก้เกมโดยการจ้างอดีตผู้บริหารของ Nike เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจกลับมามีกำไรได้อีกครั้ง

สำนักข่าว Bloomberg รายงานข่าวว่า Sephora ได้เตรียมแต่งตั้ง Ding Xia ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารหญิงของ Nike โดยที่เธอเคยดูแลในส่วน E-commerce ในทวีปเอเชียและละตินอเมริกามาแล้ว รวมถึงเคยทำงานที่ JD.com ยักษ์ใหญ่อีกรายในประเทศจีน เพื่อที่จะช่วยฟื้นฟูกิจการของแบรนด์ค้าปลีกเครื่องสำอาง เนื่องจากสภาวะธุรกิจที่เปลี่ยนไป

สาเหตุที่ทำให้ Sephora ต้องรีบแก้เกมธุรกิจภายในประเทศจีนเนื่องจากนับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมาธุรกิจประสบปัญหาขาดทุน นอกจากนี้ยังประสบปัญหาในการแข่งขันกับคู่แข่งในแดนมังกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์ในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลักของลูกค้าชาวจีน

นอกจากนี้ยังรวมถึงสภาวะเศรษฐกิจจีนที่ความมั่นใจของผู้บริโภคยังไม่กลับมาฟื้นตัวดีนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางที่ถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของ Sephora

นับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมาแบรนด์ค้าปลีกเครื่องสำอางชื่อดังรายนี้ได้ขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศอย่างจริงจัง โดยมีการขยายสาขามากถึง 300 สาขา เพื่อที่จะชิงตลาดแดนมังกรให้ได้

สำหรับ Sephora ถือเป็นแบรนด์ที่มียอดขายมากเป็นอันดับ 2 ในเครือ LVMH อย่างไรก็ดีนักลงทุนเองกลับกังวลถึงยอดขายทั้งในประเทศจีน หรือแม้แต่ก่อนหน้านี้ในเกาหลีใต้ที่บริษัทต้องประกาศถอยทัพออกมาแล้ว เนื่องจากไม่สามารถตีตลาดและแข่งขันกับแบรนด์ในประเทศได้

]]>
1470127
เปิดนัยแฝงของ LVMH กับการส่ง “เฟรเดอริก อาร์โนลต์” คุมทัพ LVMH Watches  https://positioningmag.com/1463088 Mon, 19 Feb 2024 03:38:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1463088 วงการสินค้าหรูหรามีข่าวให้ตื่นเต้นตั้งแต่ต้นปี 2024 เมื่อ LVMH ได้ประกาศโยกย้าย Frédéric Arnault (เฟรเดอริก อาร์โนลต์) จากตำแหน่ง CEO (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) ของ TAG Heuer ไปเป็น CEO ดูแลแผนกนาฬิกาของเครือหรือที่เรียกกันว่า LVMH Watches ความน่าสนใจคือการปรับเปลี่ยนตัวผู้บริหาร LVMH รอบนี้สามารถโยงเข้าได้กับกระบวนการขยายเขี้ยวเล็บให้กลุ่มธุรกิจนาฬิกาหรู จนมีการประเมินว่าพลังของกลยุทธ์ทั้งหมด อาจเป็นแรงส่งให้ LVMH ขึ้นเป็นผู้นำตลาด “โอต ออร์โลเฌรี” หรือ Haute Horlogerie ของโลกเพียงรายเดียวในระยะยาว

ถามว่า LVMH หวังจะเป็นเจ้าแห่งตลาดเครื่องบอกเวลาสุดหรูหรา Haute Horlogerie จริงหรือ? การหาคำตอบของเรื่องนี้ควรต้องเริ่มที่การแกะรอยกลยุทธ์ของ LVMH ที่ Bernard Arnault (เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์) CEO ใหญ่เครือ LVMH วางไว้ ซึ่งไม่เพียงการอนุมัติให้ลูกชายคนที่ 3 ของตัวเองขึ้นเป็นเชฟคนใหม่ของกลุ่มธุรกิจนาฬิกา แต่ยังมีการวางตัว Julien Tornare (จูเลียน ทอร์นาเร) ผู้เคยเป็น CEO ที่อายุน้อยที่สุดของแบรนด์นาฬิกากลไกสวิส ZENITH มานั่งเป็น CEO ของ TAG Heuer แทน โดยตำแหน่ง CEO ของ Zenith จะตกเป็นของ Benoit de Clerck (เบอนัวต์ เดอ เคลิร์ก) ซึ่งเป็น COO หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของแบรนด์ Panerai แห่งอาณาจักร Richemont ที่ถูกดึงตัวมา

การเปลี่ยนแปลงมากมายส่งสัญญาณว่า LVMH มีความทะเยอทะยานที่จะครองสายพานการผลิตนาฬิกาไฮเอนด์อย่างจริงจัง โดยมุ่งรวมศูนย์-รวบพลังในการควบคุม สั่งการ และแย่งชิงหัวกะทิผู้มีความสามารถจากคู่แข่ง ซึ่งแม้ว่าการสืบทอดอำนาจในตระกูลจะยังมีโอกาสเปลี่ยนไปได้อีก แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ LVMH กำลังสร้างความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจนาฬิกาอย่างมีกลยุทธ์ ทั้งในแง่การฟื้นฟูแบรนด์เก่าแก่ และการขับเคลื่อน LVMH ไปสู่แถวหน้าของแบรนด์นาฬิกาชั้นสูง โดยมีกลุ่มทายาทของตระกูลที่ถูกแบ่งทีมไปบริหาร และช่วยให้ Bernard Arnault สามารถตรึงอำนาจในมือได้โดยที่ยังคงความเป็นเจ้าของกิจการ LVMH ในลักษณะครอบครัวอยู่

rédéric Arnault, Bernard Arnault
Jean Arnault, Frédéric Arnault, Bernard Arnault and Antoine Arnault (Photo by Swan Gallet/WWD via Getty Images)

ปัจจุบัน ยอดขายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนาฬิกา คิดเป็น 18% ของรายได้รวม 8 หมื่นล้านยูโรที่ LVMH ทำได้ในปี 2022 สัดส่วนที่ไม่ธรรมดานี้ถือเป็นสิ่งจูงใจสำคัญต่อการผลักดันให้ LVMH มุ่งมั่นเอาชนะใจลูกค้าไฮโซทั่วโลก ซึ่งจะทำได้หรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่กับการรักษาเอกลักษณ์ของแบรนด์ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และอนาคตของ LVMH ในหมากตานี้ก็ขึ้นอยู่กับคนตระกูล Arnault ที่จะต้องสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจกับการดูแลงานฝีมือให้ไปได้ดีทั้ง 2 ด้าน

ย้อนรอย 10 ปี LVMH Watches ขยายทักษะผลิตนาฬิกา

หากมองย้อนกลับไปยาว ๆ ในเดือนตุลาคม 2011 กลุ่ม LVMH Group ได้เข้าซื้อกิจการผู้ผลิตกลไกระดับเซียน La Fabrique Du Temps ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2007 โดยคู่หูดูโอ้ผู้ผลิตนาฬิการะดับปรมาจารย์ Michel Navas และ Enrico Barbasini จากจุดนี้เอง นาฬิกาของ Louis Vuitton จึงเริ่มยกระดับให้มีพัฒนาการทางเทคนิคจนเทียบเท่าได้กับ Audemars Piguet และ Patek Philippe

กระทั่งเดือนมีนาคม 2012 กลุ่ม LVMH ได้ซื้อผู้ผลิตหน้าปัดสองราย ได้แก่ ArteCad และ Léman Cadran เพื่อขยายทักษะการผลิตนาฬิกาของตัวเอง และในเดือนตุลาคม ปี 2014 Louis Vuitton ได้เปิดตัวโรงงานผลิตนาฬิกาขนาด 4,000 ตารางเมตรในเมือง Meyrin ซึ่งเป็นชานเมืองของกรุงเจนีวาอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้ชื่อ “La Fabrique Du Temps Louis Vuitton” โดยทั้งหมดยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของ Navas และ Barbasini ก่อนที่จะมีการประกาศบทใหม่ของ La Fabrique Du Temps Louis Vuitton ในช่วงเมษายนปี 2023 ว่าจะเป็นโรงงานที่เน้นการผลิตนาฬิกาที่มีความซับซ้อนสูงในปริมาณน้อยเท่านั้น

LVMH

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้แสดงว่า LVMH วางโพสิชั่นตัวเองว่าจะอยู่แถวหน้าของวงการนาฬิกาหรูหรา ซึ่งเมื่อ LVMH Group ได้ประกาศ ว่า Frédéric Arnault จะขึ้นเป็น CEO คนใหม่ของ LVMH Watches เพื่อคุมแบรนด์ใหญ่ทั้ง TAG Heuer, Zenith และ Hublot รวมถึงการดึงตัว COO ของ Panerai มาจาก Richemont นักสังเกตการณ์จึงมองเป็นอีกการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ซึ่งยืนยันได้ถึงสิ่งที่ LVMH ริเริ่มไว้แล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นั่นคือกลุ่ม LVMH ต้องการขยายธุรกิจกลุ่มนาฬิกาหรูให้เกรียงไกรยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งหากทำได้ ก็มีโอกาสที่ LVMH จะขึ้นนำหน้าแบรนด์อื่นในตลาดเพียงรายเดียวในระยะยาว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีข่าวลือแพร่สะพัดว่า LVMH อาจซื้อกิจการ Richemont Group ต้นสังกัดของ IWC, Piaget, Panerai, Cartier, Vacheron Constantin, Jaeger-LeCoultre และ Montblanc ในอนาคต

แม้จะยังเป็นข่าวลือที่ไม่มีมูล แต่สังคมเรือนเวลาหรูหรานั้นมองว่ามีทางเป็นไปได้ เนื่องจาก Johann Rupert (โยฮันน์ รูเพิร์ต) เจ้าของ Richemont นั้นยังไม่เคยออกมาชี้แจงอย่างชัดเจน ว่าจะแต่งตั้งใครเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งในอนาคต สถานการณ์นี้ผิดกับ Bernard Arnault และครอบครัวซึ่งถือหุ้น LVMH ประมาณ 48% โดยคุณพ่อ Bernard ได้พาลูกทั้ง 5 คนเข้ามาทำงานในบริษัทอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ลูกสาวคนโตของบ้านอย่าง Delphine Arnault (เดลฟีน อาร์โนลต์) นั้นดำรงตำแหน่งประธาน Dior มาตั้งแต่ปีก่อนหน้า ยังมี Antoine Arnault (อองตวน อาร์โนลต์) ลูกชายคนโตเป็นหัวหน้าฝ่ายสื่อสารของ LVMH โดยควบตำแหน่งประธานของ Berluti และแบรนด์ Loro Piana ขณะที่ Alexandre Arnault (อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลต์) ดำรงตำแหน่งรองประธานบริหารของ Tiffany & Co. ด้าน Jean Arnault (ฌอง อาร์โนลต์) ซึ่งเป็นลูกชายคนสุดท้อง นั้นนั่งเก้าอี้ซีอีโอของกลุ่มผลิตภัณฑ์นาฬิกา Louis Vuitton มาตั้งแต่ปี 2021

Julien Tornare

ผลงานล่าสุดของ LVMH Watches คือความสามารถรีลอนช์แบรนด์ Gérald Genta และ Daniel Roth ซึ่งเป็นการฟื้นฟูแบรนด์ให้กลับมาอีกครั้งภายใต้การดูแลด้านการผลิตนาฬิกาของ Navas และ Barbasini โดยทั้ง 2 แบรนด์ล้วนได้รับการยอมรับอย่างสูงทั่วโลกในหมู่คนรักนาฬิกา

การฟื้นฟูแบรนด์นาฬิกาหรูนั้นเสริมให้ LVMH มีกำไร ซึ่งหากคำนวณจากมูลค่ายอดขายรวมประมาณ 8 หมื่นล้านยูโร (ที่มา: Statista) ในปี 2022 แล้ว LVMH ยังสร้างรายได้ประมาณ 10.6 พันล้านยูโรจากการขายเฉพาะนาฬิกาและเครื่องประดับเพียงอย่างเดียว ซึ่งมากกว่าปี 2021 ที่ทำได้ 8.9 พันล้านยูโร เม็ดเงินทั้งหมดนี้เติบโตจากที่ LVMH เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 1987 และได้เริ่มต้นธุรกิจนาฬิกากับแบรนด์เดียว นั่นคือ TAG Heuer ในปี 1999

จ้างแต่ผู้จัดการ เพื่อให้เป็นธุรกิจครอบครัว

ไม่มีใครรู้ว่าแท้จริงแล้ว LVMH สร้างรายได้จากสินค้านาฬิกาอย่างเดียวมากแค่ไหน แต่สิ่งที่หลายคนรู้คือตำแหน่งใหม่ของ Frédéric Arnault ในฐานะ CEO ของแผนกนาฬิกา LVMH นั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ตระกูล Arnault สามารถควบคุมการพัฒนาและการเติบโตของแบรนด์ไปในทิศทางที่ต้องการ โดย Bernard Arnault จะสามารถวางใจได้ระดับหนึ่งว่า LVMH Watches ยังคงเป็นธุรกิจของครอบครัว และระหว่างทางก็จะสามารถจ้างผู้จัดการที่เป็นคนนอก ซึ่งเมื่อใดต้องการเปลี่ยนตัว ก็โยกย้ายได้อย่างเสรี

วิธีการนี้ทำให้ Bernard Arnault สามารถเตรียมมอบหมายผู้สืบทอดตำแหน่งของตัวเองได้อย่างมั่นคง ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อ Bernard สามารถเลื่อนตำแหน่งและวางตัวลูก ๆ ให้อยู่ในตำแหน่งสูงสุด อย่างไรก็ตาม ด้วยวัยที่ยังน้อยและอ่อนประสบการณ์ Frédéric Arnault (วัย 29 ปี) จะยังคงรายงานตรงต่อ Stéphane Bianchi ที่ยังคงดูแล 2 แผนกในตำแหน่ง CEO ของกลุ่มนาฬิกาและจิวเวลรี่ต่อไป

สำหรับข้อสังเกตว่า ทำไมจึงมีการปรับทีม Zenith และ TAG Heuer? ประเด็นนี้ถูก Nico Bandl แห่ง Swisswatches Magazine วิเคราะห์ว่า Julien Tornare ได้รับการยกย่องว่าเป็นคีย์แมนผู้นำความสำเร็จมาสู่ Zenith ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Tornare ได้ฟื้นพลังและความนิยมของนาฬิการุ่น El Primero ขึ้นมาอีกครั้ง เรียกว่าจุดประกายให้แบรนด์ และสร้างดีมานด์ให้ผลิตภัณฑ์ใหม่บางรุ่นได้อย่างชาญฉลาด ผลงานนี้ทำให้ Tornare เป็นตัวเลือกที่เหมาะมากสำหรับแบรนด์ TAG Heuer ที่มีสเกลใหญ่กว่า

Tag Heuer

ในส่วน TAG Heuer ต้องบอกว่าสถานการณ์ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ของ TAG Heuer ก็ไม่ง่ายนัก เพราะแบรนด์ต้องดิ้นรนถ่ายทอดความสำเร็จจากอดีตมาสู่ยุคปัจจุบัน ซึ่ง Frédéric Arnault ผู้เป็นหัวหน้าแบรนด์มาตั้งแต่ปี 2020 ก็ทำได้ดีในระดับหนึ่ง โดยสามารถพา TAG Heuer ให้เป็นที่จดจำในใจของผู้คนได้มากขึ้นอีกครั้ง ด้วยความช่วยเหลือจากนักแสดงหนุ่ม Ryan Gosling (ไรอัน กอสลิง) ที่ร่วมทำแคมเปญดึงดูดสายตาชาวโลกในเวลาที่ภาพยนตร์ Barbie เป็นกระแสฮอตเมื่อปีที่แล้ว

สิ่งที่ Frédéric เริ่มไว้ให้ TAG Heuer ไม่ได้มีเพียงการหยิบรุ่นตำนานอย่าง เช่น Carrera และ Aquaracer มาออกแบบใหม่ หรือการยกระดับความหรูด้วยการนำเพชรที่ปลูกในห้องปฏิบัติการมาติดตั้งในตัวเรือนเท่านั้น แต่ยังมีการเปิดเกมกลยุทธ์ด้านพาร์ตเนอร์รูปแบบใหม่ เช่น การร่วมมือระยะยาวกับ Porsche การปรับปรุงการกระจายสินค้า รวมถึงการปรับจุดยืนของแบรนด์ด้วยการสำรวจจักรวาล NFT

การย่างเท้าเข้าสู่ NFT ของ TAG Heuer นั้นเป็นผลงานที่เกี่ยวข้องกับตัวตนของ Frédéric Arnault เพราะก่อนหน้านี้ Frédéric Arnault เริ่มต้นเส้นทางอาชีพของตัวเองกับบริษัทที่ปรึกษา McKinsey ก่อนที่จะย้ายไปแผนกวิจัยปัญญาประดิษฐ์ของ Facebook ในที่สุด Frédéric Arnault ร่วมงานกับ TAG Heuer ด้วยตำแหน่งผู้จัดการธุรกิจสมาร์ทวอทช์ จนกระทั่งได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และเจ้าหน้าที่ดิจิทัล และขึ้นเป็น CEO ในปี 2020

คู่แข่งต้องเตรียมตัว

ในขณะที่ตระกูล Arnault ตื่นเต้นและเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาธุรกิจนาฬิกาไฮเอนด์ คู่แข่งอย่าง Richemont Group และ Swatch Group (ซึ่งดูแลแบรนด์เช่น Omega, Breguet และ Blancpain) จะต้องเตรียมตัวอย่างเต็มที่สำหรับอนาคต หรืออย่างน้อยก็ต้องแก้ไขปัญหาสมองไหลที่อาจเป็นรูโหว่สำคัญในภายหน้า

หนึ่งในสาเหตุที่นำมาสู่ข้อสรุปแบบนี้ คือ Benoit de Clerck ผู้ที่จะมาดูแบรนด์ Zenith แทน Tornare นั้นมีประวัติการทำงานไม่ธรรมดา ด้วยดีกรีเป็นอดีตพนักงาน Richemont Group อย่างยาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ โดยมีบทบาทกับแบรนด์ IWC และ Panerai มาก่อน นอกจากนี้ Julien Tornare เองก็ย้ายจาก Vacheron Constantin มาอยู่กับ Zenith ดังนั้นโลกนาฬิกาจึงรอติดตามดูว่า de Clerck จะเร่งเครื่องให้ Zenith ติดตามมากขึ้นในระดับใด

Frédéric Arnault
(Photo by Lexie Moreland/WWD via Getty Images)

ที่สุดแล้ว กลยุทธ์ทั้งหมดไม่ได้แปลว่า LVMH Watches อยู่ในฐานะนอนรอชัยชนะ เพราะตลาดนาฬิกาไฮเอนด์เป็นตลาดที่ลูกค้าที่มีความอ่อนไหวสูงมาก ซึ่งตัว Bernard Arnault เองก็รู้ว่าจะยังไม่สามารถรู้ผลแพ้ชนะในเร็ววันนี้

เช่นเดียวกับการส่งต่อตำแหน่งพ่อใหญ่ของกลุ่ม LVMH ที่ Bernard Arnault ยอมรับว่าไม่ได้หวังที่จะเห็นการดวลกันในระยะสั้นระหว่างลูกทั้ง 5 คนที่ถูกดึงมาทำงานในบริษัท และแม้จะมีความกดดันสูง จนอาจส่งผลทั้งทางบวกและทางลบต่อการวางกลยุทธ์ของแต่ละพื้นที่ธุรกิจ แต่ Bernard Arnault ก็ยังรอเวลาที่จะได้ค้นพบผู้ที่คู่ควรเป็นผู้สืบทอด โดยมีการหยอดให้สื่อมวลชนเข้าใจว่า บุคคลที่เหมาะสมที่สุดนั้น อาจเป็นคนในครอบครัวหรือภายนอกครอบครัว Arnault ก็ได้

ที่มา : Reuters 1, Reuters 2, Branding Forum, SG News, Swisswatches Magazine, Forbes

]]>
1463088
เปิดชีวิต Bernard Arnault เจ้าพ่อ LVMH ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นปรมาจารย์ หมาป่า และเด็กเอาแต่ใจในคนเดียว https://positioningmag.com/1449645 Wed, 01 Nov 2023 02:53:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1449645 Bernard Arnault (เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์) เจ้าพ่อ LVMH เพิ่งตกเป็นข่าวพลาดตำแหน่งบุคคลที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยเสียเก้าอี้ให้กับ Elon Musk ท่ามกลางสัญญาณการชะลอตัวของความต้องการในตลาดสินค้าฟุ่มเฟือย จนทำให้ความมั่งคั่งหดหายไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2023

การสูญเงินรอบใหญ่นี้เกิดขึ้นหลังจากช่วงพีคของหุ้น LVMH หรือ Louis Vuitton Moët Hennessy ซึ่งทำให้บริษัทของ Bernard Arnault มีมูลค่าตลาดทะลุหลักมากกว่า 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่แล้วรายงานผลประกอบการล่าสุดก็แสดงให้เห็นว่าการเติบโตของยอดขาย LVMH ลดลง สวนทางกับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอย่าง Amazon และ Tesla ที่ได้กระแส AI มากระตุ้นให้คึกคักขึ้น 58% และ 100% ในปีนี้ (ตามลำดับ)

งานนี้อาจมีคนแอบสมน้ำหน้าในใจก็ได้ เพราะบุคคลที่เคยร่ำรวยที่สุดในโลกอย่าง Bernard Arnault นั้นมีเรื่องบาดหมางไม่น้อยในตลอดช่วงชีวิตสุดโลดโผน โดยไม่เพียงฉายา “หมาป่าในผ้าแคชเมียร์” ที่สื่อมวลชนตั้งให้ตามพฤติกรรมการซื้อกิจการคู่แข่งมาครอบครองแบบนักล่า แต่ยังมีคำว่า “spoiled brat” หรือเด็กที่ถูกตามใจจนนิสัยเสีย รวมถึงนัยยะ “การข่มขืนผู้หญิงจากข้างหลัง” และอีกหลายคำที่ถูกนำมาสะท้อนความเห็นแง่ลบต่อวิถีการขยายธุรกิจของ Bernard Arnault

Bernard Arnault lvmh
Photo : Shutterstock

ไม่ว่าจะถูกมองเป็นหมาป่าหรือเด็กเอาแต่ใจ แต่ Bernard Arnault ก็ได้รับยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญแห่งการสร้างแบรนด์หรูที่ทำให้โลกตื่นตาตื่นใจได้ตลอดเวลา การเดินทางจากภูมิหลังแสนธรรมดาไปสู่การเป็นผู้บงการอาณาจักรแบรนด์ไฮโซนั้นยังคงเป็นเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนบนโลกธุรกิจได้ดี โดยเฉพาะแนวทางการลงทุนและการสร้างแบรนด์สไตล์ LVMH ที่หลายธุรกิจสามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกยุคสมัย

กำเนิดหมาป่า

เรื่องราวของ Bernard Arnault เริ่มต้นจากรันเวย์อันหรูหราของปารีส ใจกลางย่านอุตสาหกรรมของฝรั่งเศส หนูน้อย Arnault เกิดที่เมือง Roubaix ในปี 1949 โดยมีความถนัดด้านธุรกิจตั้งแต่แรก เพราะหลังจากสำเร็จการ  ศึกษาจากสถาบันด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ก็ได้เข้าร่วมธุรกิจก่อสร้างของครอบครัว ซึ่งดูเหมือนเป็นเส้นทาง อาชีพแบบดั้งเดิมที่ใคร ๆ ก็ทำกัน

อย่างไรก็ตาม ความฝันของ Bernard Arnault ขยายไปไกลกว่านั้น เมื่อชักชวนให้พ่อเปลี่ยนความสนใจไปที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และขยับตัวเข้าสู่โลกของธุรกิจโรงแรม ซึ่งเป็นสถานพักผ่อนหย่อนใจสุดฮิตในช่วงวันหยุด การเคลื่อนไหวเหล่านี้เกิดขึ้นบนความเฉียบแหลมทางธุรกิจของ Bernard Arnault ก็จริง แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือความหลงใหลในแบรนด์โปรดของแม่อย่าง Dior (ดิออร์) ซึ่งเป็นแบรนด์หรูเปี่ยมเอกลักษณ์ที่จุดประกายและเปลี่ยนวิถีของ Bernard Arnault ไปตลอดกาล

Bernard Arnault lvmh
Photo : Shutterstock

มีเรื่องเล่าว่า Arnault มั่นใจในการเดินไปบนเส้นทางแบรนด์หรูยิ่งขึ้นอีกจากการนั่งแท็กซี่ เวลานั้นหนุ่ม Bernard Arnault มีโอกาสนั่งแท็กซี่ขณะท่องเที่ยวในสหรัฐอเมริกา เมื่อได้ยินสำเนียงของอาร์โนลต์ คนขับรถแท็กซี่ก็แสดงความชื่นชมวัฒนธรรมและประเทศฝรั่งเศส Arnault จึงถามคนขับว่ารู้ชื่อประธานาธิบดีฝรั่งเศสในเวลานั้นหรือไม่ คำตอบของคนขับแท็กซี่ทำให้โลกของ Arnault สั่นสะเทือน โดยบอกว่า “ผมไม่รู้ชื่อประธานของคุณหรอกครับ  แต่ผมรู้จักชื่อ Christian Dior”

เหตุการณ์เรียบง่ายแบบนี้กลายเป็นรากฐานของความหลงใหลในแบรนด์หรูของ Bernard Arnault ผู้เข้าใจลึกซึ้งว่าแบรนด์หรูนั้นมีเสน่ห์และน่าดึงดูดเหนือกาลเวลา สามารถสร้างความประทับใจให้กับโลกโดยมีโอกาสน้อยมากที่จะถูกทำร้ายจากพิษการเมืองหรือความผันผวนทางเศรษฐกิจ

การตัดสินใจครั้งใหญ่ของ Bernard Arnault เกิดขึ้นปี 1984 นั่นคือการซื้อ Agache-Willot-Boussac บริษัทที่ล้มละลายด้วยราคาเพียง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ถูกกล่าวขานอย่างมากเรื่องการปรับโครงสร้างใหม่และการลดต้นทุนอย่างไร้ความปราณี โดย 4 ปีหลังจากซื้อกิจการ บทความในสำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ (New York Times) ปี 1988 ระบุว่าบริษัทที่ Arnault ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Financiere Agache นั้นมีกำไร 112 ล้านดอลลาร์ จากรายรับรวม 1.9 พันล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า

ผลงานยอดเยี่ยมทำให้กิจการนี้ช่วยขับเคลื่อน Bernard Arnault เข้าสู่โลกแห่งการสร้างแบรนด์สินค้าหรูหรา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสู่ฐานะหมาป่า “Wolf in Cashmere”

Dior
Photo : Shutterstock

ต้องบอกว่าช่วงเวลาที่โดดเด่นที่สุดของ Bernard Arnault คือการเทคโอเวอร์บริษัท LVMH ในตำนาน เรื่องนี้เป็นผลต่อเนื่องจากการเข้าซื้อ Dior ที่ทำให้ Arnault กลายเป็นผู้ประกอบการแบรนด์หรู ในช่วงเวลาที่แบรนด์ Moët Hennessy ได้รวมกิจการกับ Louis Vuitton เพื่อป้องกันการเทคโอเวอร์ และก่อตั้ง LVMH ขึ้นมาในปี 1987 พอดี

การควบรวมกิจการ LVMH กลายเป็นสงครามขึ้นมาเมื่อผู้บริหารของ LV และ MH ต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเอง ฝั่ง LV ที่นำโดย Chevalier (เชอวาลิเยร์) ตัดสินใจนำแบรนด์ Guinness มาเป็นพันธมิตร เพื่อต่อต้านฝั่ง MH ที่นำโดย Racamier (รากาเมียร์) ซึ่งตั้งใจเป็นพันธมิตรกับ Bernard Arnault เพื่อคานอำนาจกัน แต่ที่สุดแล้ว Bernard Arnault กลับทรยศโดยหันไปร่วมทีม Chevalier และเข้าซื้อหุ้น LVMH 24.5% ในราคา 1.5 พันล้านดอลลาร์

ด้วยความโกรธ Racamier ไล่ซื้อหุ้นเพิ่มอย่างจริงจังเพื่อควบคุมหุ้นให้ได้ 33% แต่ก็ยังไม่สามารถคว่ำ Arnault ที่ไล่ซื้อหุ้นเพิ่มอย่างไม่ลดละจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดโดยถือหุ้น 37.5% ชัยชนะนี้ทำให้ได้สิทธิควบคุม LVMH สมใจ แสดงถึงความปรารถนาอย่างไม่หยุดยั้งของ Arnault ที่ต้องการเป็นเจ้าของแบรนด์ที่ตัวเองหมายปองให้ได้ ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม

เด็กถูกสปอยล์ และคำแนะนำ “อย่าข่มขืนผู้หญิงจากข้างหลัง”

หลายปีต่อมา Arnault ยังคงเข้าซื้อกิจการแบรนด์หรูชั้นนำอย่าง Givenchy (จิวองชี่), Fendi (เฟนดิ), Bulgari (บุลการี) และ Loewe (โลเอเว) อย่างจริงจัง จนสร้างพอร์ตโฟลิโอ 75 แบรนด์หรูภายใต้ LVMH แต่บางครั้ง การเข้าซื้อกิจการก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไป เช่น การไล่ตามซื้อ Hermès International (แอร์แมส) ที่ทำให้ Bernard Arnault ถูกกล่าวขานในแง่ลบยิ่งกว่าหมาป่าในผ้าแคชเมียร์

Hermès นั้นมีชื่อเสียงเรื่องกระเป๋าถืBirkin และ Kelly ที่มีความพิเศษและราคาแพงหลักแสนหลักล้านบาท สินค้า Hermès ยังถูกมองเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แสดงสถานะขั้นสุด ใครที่ซื้อไปจะเหมือนกับได้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีกำไรดีกว่าหุ้นและทองคำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และบริษัทได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถฟื้นตัวแม้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งทำให้ Hermès เป็นเป้าหมายที่น่าดึงดูดสำหรับ Arnault

Photo : Shutterstock

แม้ Hermès จะแสดงจุดยืนชัดว่าไม่ต้องการขาย แต่ในต้นปี 2010 บริษัท LVMH ของ Bernard Arnault  ก็ประกาศว่าได้เข้าซื้อหุ้น 20% ใน Hermès อย่างลับ ๆ ผ่านทางบริษัทลูกและการแลกเปลี่ยนหุ้น จุดนี้สำนักข่าว WWD รายงานบรรยากาศงานแถลงข่าวในขณะนั้นว่า Patrick Thomas (แพทริค โธมัส) ซึ่งเป็นซีอีโอของ Hermès International ได้บอกความรู้สึกของตัวเองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ Arnault แบบมีนัยว่า “ใครที่ต้องการเกลี้ยกล่อมผู้หญิงสวย จะต้องไม่เริ่มด้วยการข่มขืนเธอจากด้านหลัง”

ในปี 2001 เจ้าพ่ออย่าง Arnault ยังคงเป็นประเด็นเรื่องการพยายามแย่งซื้อกิจการ แต่รอบนี้ Arnault ต้องพ่ายแพ้ให้กับ François Pinault (ฟรองซัวส์ ปิโนต์) ซีอีโอและผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทหรูสัญชาติฝรั่งเศสเหมือนกัน อย่าง Kering ในการต่อสู้ทางกฎหมายนานกว่า 2 ปีเพื่อแย่งชิงแบรนด์ Gucci (กุชชี่) โดยทั้งคู่ยังคงเป็นไม้เบื่อไม้เมาต่อกันในหลายปีถัดมา มีการจับตามองด้วยว่าทั้งคู่เกทับกันบริจาคเงินล้านยูโรเพื่อช่วยสร้างอาสนวิหาร Notre Dame Cathedral (น็อทร์-ดาม) ขึ้นใหม่หลังจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ จนในปี 2019 มีรายงานว่านักข่าวของ Financial Times ได้ถาม Arnault ว่ายังคงรู้สึกเสียดายโอกาสซื้อ Gucci หรือไม่ สิ่งที่ Arnault ทำคือการทำหน้าตายเก็บอาการแล้วตอบว่า “ผมเกลียดอดีต สิ่งที่ผมสนใจคืออนาคต”

นอกจากกรณีของ Gucci อีกดีลที่ทำให้ชื่อ Bernard Arnault ถูกมองในแง่ลบอีกครั้งคือการซื้อแบรนด์ Tiffany (ทิฟฟานี) ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่า Bernard Arnault กำลังทำตัวเหมือน “เด็กนิสัยเสียเอาแต่ใจ”

รายงานในสำนักข่าว Reuters เหน็บแนม Bernard Arnault ว่าไม่ได้กลายเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดในฝรั่งเศสได้ด้วย การทำงานหนัก การลงทุนที่ชาญฉลาด และการบริหารจัดการที่พิถีพิถันเท่านั้น แต่ยังอาจรวมถึงการทำตัวเหมือนเด็กนิสัยเสียเอาแต่ใจด้วย โดยเล่าเรื่องย้อนไปถึงวันที่ 28 มกราคม 2020 ซึ่ง Arnault ตัดสินใจว่าจำเป็นต้องเป็นเจ้า ของ Tiffany แบรนด์จิวเวลลีสัญชาติอเมริกันนี้มากจริง ๆ จึงเดินหน้าไล่ตามอย่างร้อนแรง ทำให้ LVMH ตกลงจ่ายเงิน 16,200 ล้านดอลลาร์หรือ 135 ดอลลาร์ต่อหุ้นเป็นเงินสดให้กับ Tiffany

dior tiffany
Photo : Shutterstock

แต่แล้วโควิด-19 ก็มา นักช้อปชาวจีนไม่สามารถขึ้นเครื่องบินมาซื้อเครื่องประดับจาก Tiffany และกระเป๋าแบรนด์ LV ด้วยเหตุนี้ Arnault จึงต้องทนทุกข์กับสัญญาที่ทำไว้ และพยายามหาทางยกเลิกสัญญาจนมองเหมือนเด็กที่ กำลังโยนของเล่นทั้งหมดออกจากเปลที่ปูด้วยผ้าแคชเมียร์ เพื่อจ่ายเงินค่าซื้อ Tiffany ให้น้อยลง

ทำไมสถานการณ์นี้จึงดูเหมือนว่า “มหาเศรษฐี” กำลังทำตัวเหมือนเด็กขี้แยที่เอาแต่ใจมากเกินไป คำตอบคือเพราะวิกฤติโควิด-19 ไม่ใช่ความผิดของใครเลย และข้อตกลงก็คือข้อตกลง โดย LVMH ได้ลงนามในสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่เมื่อ Arnault ตัดสินแล้วว่า Tiffany เป็น “อัญมณีที่น่าเบื่อ” LVMH ก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะดิ้น ออกจากพันธสัญญาที่ลงนามกับ Tiffany แล้ว

รายงานระบุว่าเกมนี้มีการใช้กลยุทธ์สีเทาที่ทำกันมานาน เช่น การทำลายการจัดการวิกฤตของ Tiffany ซึ่งนำไปสู่การต่อสู้ทางกฎหมายในศาลเดลาแวร์ โดย Tiffany กำลังฟ้องร้อง LVMH เพื่อบังคับให้ดำเนินการเทคโอเวอร์ให้เสร็จสิ้น

ปรมาจารย์ก็คือปรมาจารย์

ไม่ว่าใครจะต่อว่า Bernard Arnault ขนาดไหน แต่มหาเศรษฐีชาวฝรั่งเศสคนนี้ก็ถูกยกให้เป็นปรมาจารย์ด้านการลงทุนและการบริหารแบรนด์ ว่ากันว่ากลยุทธ์การเข้าซื้อกิจการของ Bernard Arnault  คล้ายคลึงกับตัวพ่ออย่าง Warren Buffett (วอร์เรน บัฟเฟตต์) ตรงที่การเลือกซื้อแต่บริษัทหรือแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ด้วยความตั้งใจที่จะถือครองบริษัทหรือแบรนด์เหล่านั้นตลอดไป

Bernard Arnault lvmh
(Photo by Chesnot/Getty Images)

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่เหมือนกันคือ Arnault ไม่สนใจผลลัพธ์ในระยะสั้น แต่มุ่งเน้นไปที่ความแข็งแกร่งและความภักดีของแบรนด์ในระยะยาว โดยมองรายได้รายไตรมาสเป็นเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อย และไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับ Bernard Arnault เพราะความสามารถในการทำกำไรจะตามมาหากแบรนด์ได้รับการจัดการอย่างดีและรักษาความภักดีไว้เมื่อเวลาผ่านไป แปลว่าสุขภาพของแบรนด์ในช่วงยาว ๆ 5-10 ปี มีความสำคัญกว่าความสามารถในการทำกำไรในอีก 6 เดือนข้างหน้า

สิ่งที่ถูกยกเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญของ Bernard Arnault คือการที่แบรนด์อย่าง Louis Vuitton สามารถรักษาชื่อเสียงและความชื่นชมจากลูกค้าในระยะยาว แทนที่จะบรรลุเป้าหมายรายได้หรืออัตรากำไรขั้นต้นทุกไตรมาส แต่ Bernard Arnault ยินดีที่จะเสียสละความสามารถในการทำกำไรในระยะสั้น หากนั่นหมายถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ในระยะยาว

หากต้องสรุปแนวคิดบริหารแบรนด์สไตล์ Bernard Arnault  เราจะพบหลายแนวทางที่ทุกแบรนด์สามารถนำไปปรับใช้ได้ เช่นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่สร้างลูกค้า เพราะอัจฉริยะของ Arnault คือการรักษาให้ผลิตภัณฑ์ยังคงจุดประกายความต้องการของลูกค้า ด้วยการโฟกัสกับมรดกที่แบรนด์มีและมูลค่าระยะยาว โดยไม่คิดถึงผลกำไรระยะสั้น

Louis Vuitton
Photo : Shutterstock

ตรงนี้ทำให้ Bernard Arnault สร้างแบรนด์ที่แตกต่างได้ชัด ด้วยการรักษาจุดยืนให้แบรนด์อยู่เหนือกาลเวลา เป็นการเน้นสร้างสมดุลระหว่างความเป็นอมตะและแฟชั่น ซึ่งเมื่อทำได้ก็จะช่วยให้สินค้ามีราคาระดับพรีเมียม ส่งให้มูลค่าแบรนด์เจริญรุ่งเรืองขึ้นไปอีก

ทั้งหมดนี้ต้องผสมความใส่ใจอย่างพิถีพิถัน เหมือนกับที่ Bernard Arnault  ลงมือดูแลกระบวนการผลิตและควบคุมต้นทุน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้ามีอัตรากำไรสูง โดยที่ยังให้อิสระในการสร้างสรรค์แก่นักออกแบบ เพื่อให้แบรนด์สร้างนวัตกรรมได้โดยที่ธุรกิจสามารถงอกงามไปพร้อมกัน

อาจจะเหมือนกับที่ Bernard Arnault เป็นทั้งปรมาจารย์ หมาป่า และเด็กถูกสปอยล์เอาแต่ใจในคนเดียวกัน

ที่มา : NY Post 1, NY Post 2, Business Insider, SMH, The Week, Telegraph, Medium, Bloomberg

]]>
1449645
LVMH เริ่มรุกหนักเข้าตลาดเพชรสังเคราะห์ หลังลูกค้าในสหรัฐอเมริกาให้ความยอมรับมากขึ้น https://positioningmag.com/1447866 Thu, 12 Oct 2023 07:26:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1447866 LVMH ผู้ผลิตสินค้าหรู ได้รุกเข้าตลาดเพชรสังเคราะห์เพิ่มขึ้น หลังจากลูกค้าในสหรัฐอเมริกาเริ่มให้ความยอมรับเพชรประเภทนี้มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีความกังวลมากถึงที่มาของเพชรที่ขุดได้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสภาพแวดล้อม หรือเรื่องความรุนแรงในทวีปแอฟริกา

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา Fred ซึ่งเป็นแบรนด์จิวเวลรี่ของ LVMH ได้เปิดตัวชุดเครื่องประดับระดับไฮเอนด์ชุดใหม่ที่สร้างขึ้นโดยใช้เพชรเลี้ยง ซึ่งเป็นชื่อเรียกเพชรที่สังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ โดยชุดเครื่องประดับดังกล่าวมีเพชรสังเคราะห์ในเฉดสีฟ้าที่แปลกตา และมีเพชรสีขาวธรรมชาติล้อมรอบในชุดเครื่องประดับดังกล่าว

เครื่องประดับที่มีเพชรสังเคราะห์เป็นส่วนหนึ่งที่ Fred ได้โชว์ให้กับลูกค้าดูนั้นใช้เวลาในการพัฒนาหลายปี ถึงจะได้เพชรที่สังเคราะห์ในห้องแล็บในเฉดสีฟ้าดังกล่าวนี้ โดยเครื่องประดับชุดนี้มีราคาสูงถึง 240,000 ยูโร คิดเป็นเงินไทยมากถึง 9.22 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ Tag Heuer ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจของ LVMH ได้เริ่มเคลื่อนไหวครั้งแรกในการใช้เพชรสังเคราะห์โดยนำเพชรเหล่านี้มาใส่ในนาฬิกาที่มีราคาแพงที่สุดของแบรนด์บางรุ่น ซึ่งบางรุ่นมีมูลค่าถึง 90,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยมากถึง 3.25 ล้านบาท

นอกจากนี้ LVMH ยังได้ทุ่มเงินมากถึง 90 ล้านเหรียญสหรัฐ เข้าลงทุนใน Lusix ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการในการผลิตเพชรสังเคราะห์ด้วย

เพชรสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเหล่านี้มีลักษณะทางกายภาพ ทางเคมี และการมองเห็นเหมือนกับเพชรที่ขุดได้แทบทุกประการ โดยเพชรสังเคราะห์นี้ได้เริ่มรับความนิยมจากผู้ผลิตหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Pandora หรือแม้แต่ Signet

ความนิยมของเพชรสังเคราะห์ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกาซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าหรู และอัญมณี โดยผู้บริโภคมีความกังวลมากถึงที่มาของเพชรที่ขุดได้มากขึ้น เนื่องจากแหล่งเพชรน้ำงามส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกาเป็น ส่วนใหญ่ ซึ่งการได้มาของเพชรแต่ละเม็ดต้องมีการทำลายสภาพแวดล้อม หรือแม้แต่การใช้ความรุนแรง

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาหลายคนจึงหันไปหาทางเลือกอื่นที่ปลูกในห้องทดลองซึ่งให้ประกายแวววาวแบบเดียวกันแทน

ก่อนหน้านี้ De Beers ผู้ส่งออกเพชรรายใหญ่ของโลก ต้องลดราคาเพชรดิบบางกลุ่มลงมากกว่า 40% โดยเพชรกลุ่มนี้ที่ผู้ผลิตรายดังกล่าวต้องลดราคาลงมานั้นมีกลุ่มเพชรดิบขนาด 2-4 กะรัต ที่สามารถนำมาเจียระไนเป็นเพชรประดับแหวนหมั้นได้พอดี โดยยังให้คุณภาพสูงแต่ยังไม่ใช่กลุ่มดีสุด เนื่องจากความต้องการของเพชรแท้ลดลง

Jean-Jacques Guiony ประธานฝ่ายการเงินของ LVMH ได้กล่าวในเรื่องของการใช้เพชรสังเคราะห์ หรือแม้แต่อัญมณีสังเคราะห์ โดยเขามองว่า เป็นเรื่องเร็วเกินไปที่จะพูดในตอนนี้ และมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเทรนด์ในระยะยาวด้วย อย่างไรก็ดีการเดิมพันกับอัญมณีสังเคราะห์ของบริษัทนั้นจะต้องประเมินอย่างรอบคอบ

ที่มา – BNN, Reuters, Rapaport

]]>
1447866
‘COACH’ ทุ่ม 3 แสนล้านบาทปิดดีล ‘Versace’ หวังสร้างอาณาจักรสินค้าลักชัวรี่คานอำนาจกลุ่ม ‘LVMH’ https://positioningmag.com/1440686 Fri, 11 Aug 2023 02:50:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1440686 หรือนี่จะเป็นการคานอำนาจในตลาดสินค้าลักชัวรี่ เมื่อบริษัทแม่ของ Coach ทุ่มเงินกว่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ ควบรวมกิจการกับแบรนด์ Versace เพื่อสร้างอาณาจักรไว้แข่งขันกับกลุ่ม LVMH และ Kering ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ครอบครองตลาดลักชัวรี่ทั่วโลกไว้

Michael Kors และ Kate Spade กำลังจะกลายเป็นพี่น้องกัน โดยบริษัท Tapestry Inc. ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าลักชัวรี่อย่าง Kate Spade และ Coach ว่าบริษัทได้ซื้อกิจการ Capri Holdings ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Michael Kors และ Versace ในมูลค่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 3 แสนล้านบาท เพื่อให้พวกเขาสามารถแข่งขันกับแบรนด์สินค้าระดับไฮเอนด์จากยุโรปได้ดีขึ้น

ข้อตกลงดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2024 โดยเมื่อธุรกิจควบรวมกันแล้วเสร็จจะประกอบด้วย 6 แบรนด์ ที่ส่งเสริมกันอย่างมากและเข้าถึงได้ทั่วโลก ซึ่งบริษัทเชื่อว่ายอดขายต่อปีหลังจากควบรวมจะมีมูลค่ามากกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ จากการจำหน่ายสินค้าในกว่75 ประเทศ นอกจากนี้ การทำงานร่วมกันในช่วง 3 ปีหลังจากปิดดีล จะช่วยให้ลดต้นทุนได้ 200 ล้านดอลลาร์

“การรวมตัวกันของ Coach, Kate Spade และ Stuart Weitzman ร่วมกับ Versace, Jimmy Choo และ Michael Kors จะกลายเป็นกลุ่มสินค้าลักชัวรี่ที่ทรงพลังแห่งใหม่ ปลดล็อกโอกาสพิเศษในการขับเคลื่อนมูลค่าที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้บริโภค พนักงาน ชุมชน และผู้ถือหุ้นทั่ว” Joanne Crevoiserat CEO ของ Tapestry กล่าวในแถลงการณ์

โดยเจาะไปภายใต้ข้อตกลงพบว่า ผู้ถือหุ้นบริษัท Capri จะได้รับ 57 ดอลลาร์/หุ้น และมูลค่าหุ้นพุ่งขึ้น 60% ในช่วงต้นของการซื้อขาย ขณะที่หุ้นของ Tapestry ตกไปเกือบ 6%

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งสองบริษัทได้เปลี่ยนชื่อบริษัทแม่ เนื่องจากพวกเขาต้องการขยายพอร์ตโฟลิโอของแบรนด์แฟชั่น โดย Coach เปลี่ยนชื่อแม่เป็น Tapestry ในปี 2017 และ Michael Kors เปลี่ยนเป็น Capri หลังจากซื้อ Versace ในปี 2018 อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้ระบุว่าชื่อ Tapestry จะยังคงอยู่หรือไม่หลังจากการปิดการซื้อกิจการ

การที่ทั้งสองแบรนด์มีการขยายตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Neil Saunders กรรมการผู้จัดการของ GlobalData มองว่า แม้ว่าบริษัทใหม่จะไม่มีชื่อเสียงหรือใหญ่โตเหมือนบริษัทในยุโรป แต่ก็จะมีอิทธิพลอย่างมากในตลาดสินค้าลักชัวรี่ และเพื่อให้สามารถสู้กับแบรนด์จากยุโรปได้ ทั้ง 2 จึงเลียนแบบกลุ่ม LVMH และ Kering ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในการดูแลแบรนด์ที่ดึงดูดกลุ่มต่าง ๆ ของตลาด

“การรวมกลุ่มสินค้าลักชัวรี่ช่วยให้มีการจัดการร่วมกันและความสามารถในการปฏิบัติงานที่กว้างขวาง ซึ่งสามารถใช้กับแบรนด์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล”

สำหรับกลุ่มบริษัท LVMH ของฝรั่งเศส ปัจจุบันเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าลักชัวรี่ 75 แบรนด์ อาทิ Louis Vuitton, Dior, Tiffany & Co. แบรนด์เครื่องประดับสัญชาติสหรัฐฯ ส่วนบริษัท Kering เป็นบริษัทแม่ของ Gucci และ Saint Laurent และเมื่อเดือนก่อนบริษัทได้ซื้อหุ้น 30% ในกิจการของ Valentino

ย้อนไปช่วง Q2/2023 ที่ผ่านมา ตลาดสินค้าลักชัวรี่ในสหรัฐอเมริกาได้ชะลอตัวลง โดย Jean-Jacques Guiony ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ LVMH กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า ยอดขายของกลุ่ม LVMH ในสหรัฐฯ ลดลง 1% ดังนั้น การชะลอตัวดังกล่าวถือเป็นสัญญาณเตือนที่สร้างแรงกดดันให้กับ Tapestry และ Capri ซึ่งทั้งสองอย่างนี้กำลังมองหาตลาดต่างประเทศเพื่อหนุนการเติบโต

Source

]]>
1440686
ไม่แผ่ว! รายได้เครือ ‘LVMH’ ครึ่งปีแรกทะลุ 1.5 ล้านล้านบาท โต 17% ฟันกำไร 3.2 แสนล้านบาท https://positioningmag.com/1439007 Wed, 26 Jul 2023 06:12:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1439007 ต่อให้เศรษฐกิจทั่วโลกจะไม่ดีแค่ไหน แต่กลุ่มเศรษฐีก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไร ซึ่งสิ่งที่สะท้อนได้เป็นอย่างดีก็คือ การเติบโตของแบรนด์เนมหรู โดยเฉพาะเครือของ LVMH ที่ผลประกอบการครึ่งปีแรกสามารถเติบโตได้ถึง 17%

LVMH เครือลักชัวรีอันดับหนึ่งของโลก ที่มีแบรนด์ในมือ อาทิ Louis Vuitton, Christian Dior Couture, Fendi ได้เปิดเผยผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรก โดยมีรายได้อยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านยูโร (ราว 1.5 ล้านบ้านบาท) เติบโต +17% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 8.48 พันล้านยูโร (ราว 3.2 แสนล้านบาท) เติบโต +30% 

สำหรับหมวดหมู่ที่มีการเติบโตมากที่สุด ได้แก่ ร้านค้ารีเทลเฉพาะกลุ่ม (Selective Retailing) อย่าง Sephora ที่รายได้เติบโต +26% ส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจแฟชั่นและเครื่องหนังมีรายได้เพิ่มขึ้น +17% เป็น 2.12 หมื่นล้านยูโร โดยมีเพียงธุรกิจ ไวน์และสุรา เท่านั้นที่มีผลประกอบการที่ลดลงประมาณ -4%

หนึ่งในภูมิภาคสำคัญที่สร้างการเติบโตให้กับเครือ LVMH ก็คือ เอเชีย และ ยุโรป โดยยอดขายในเอเชียเพิ่มขึ้น +23% ในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนตลาดยุโรปก็มีการเติบโต 2 หลัก ขณะที่ตลาด สหรัฐอเมริกา มีการเติบโตเพียง +3% โดยในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ยอดขายในตลาดอเมริกาลดลง -1%

เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ผู้บริหารระดับสูงของ LVMH ยังเชื่อมั่นว่า ภาพรวมในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะยังไปได้สวย โดยมองว่าตลาด จีน จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการของบริษัทเติบโต และจีนจะมาช่วยอุดรายได้จากสหรัฐอเมริกาที่ลดลง

“ปีที่แล้วเราชะลอตัวในตลาดจีน แต่เราได้ตลาดสหรัฐอเมริกามาช่วย แต่ปีนี้ค่อนข้างตรงกันข้าม” Jean-Jacques Guiony ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ LVMH กล่าว

ปัจจุบัน ภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) คิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดขายของ LVMH ส่วน สหรัฐอเมริกาคิดเป็น 24% และยุโรป 23%

Source

]]>
1439007
“เบอร์นาร์ด อาโนลต์” แห่ง LVMH ขึ้นแท่นเศรษฐี “รวยที่สุดในโลก” ปี 2023 จัดอันดับโดย Forbes https://positioningmag.com/1426386 Wed, 05 Apr 2023 06:08:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1426386 เศรษฐีชาวฝรั่งเศส “เบอร์นาร์ด อาโนลด์” เจ้าของอาณาจักร LVMH ขึ้นแท่นเป็นบุคคลที่ “รวยที่สุดในโลก” ปี 2023 จัดอันดับโดย Forbes ถือเป็นครั้งแรกที่อาโนลด์ขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ โดยขึ้นมาแทนที่แชมป์เก่าคือ “อีลอน มัสก์” เจ้าของ Tesla และ SpaceX

LVMH เติบโตในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นรายได้ กำไร และราคาหุ้น ซึ่งทำให้สินทรัพย์ของ “เบอร์นาร์ด อาโนลด์” เจ้าของบริษัทวัย 74 ปี เพิ่มขึ้นอีกถึง 5.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้เขามีสินทรัพย์รวม 2.11 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นตัวเลขสินทรัพย์ที่สูงกว่าแชมป์เก่าเมื่อปีก่อนคือ “อีลอน มัสก์” 3.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ชื่อของเบอร์นาร์ด อาโนลด์ อาจจะไม่ได้มีชื่อเสียงต่อสาธารณชนเท่ากับแบรนด์ที่เขาเป็นเจ้าของภายในอาณาจักร LVMH ประกอบด้วยแบรนด์ดังอย่าง Louis Vuitton, Christian Dior, Tiffany, Sephora, Givenchy, Marc Jacobs ฯลฯ

อาโนลด์เริ่มเข้ามาเป็นเจ้าของ LVMH เมื่อ 3 ทศวรรษก่อน และปั้นให้อาณาจักรนี้กลายเป็นบริษัทสินค้าลักชัวรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยจำนวนแบรนด์ในเครือมากกว่า 70 แบรนด์ พร้อมสร้างฐานลูกค้าลอยัลตี้รอบโลก ตั้งแต่เขาเข้ามากุมบังเหียน บริษัท LVMH มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 4 พันล้านเหรียญในปี 1989 ขึ้นมาเป็น 8.6 หมื่นล้านเหรียญเมื่อปี 2022 และราคาหุ้นก็เด้งขึ้นมาถึง 35% ภายในปีเดียว

กระเป๋า Louis Vuitton (Photo : Shutterstock)

เบอร์นาร์ด อาโนลด์ เข้ามาอยู่ในทำเนียบคนรวยที่สุดในโลกจัดอันดับโดย Forbes ครั้งแรกเมื่อปี 1997 ก่อนจะค่อยๆ ไต่อันดับขึ้นมา จนเมื่อปี 2022 เขาอยู่ในอันดับ 3 รองจากที่หนึ่งคือ อีลอน มัสก์ และที่สองคือ เจฟฟ์ เบโซส

สินทรัพย์ความร่ำรวยของอาโนลด์นั้นขึ้นอยู่กับการรักษาสถานะความคลาสสิกของแบรนด์หลักในมืออย่าง Louis Vuitton และ Dior เอาไว้ให้ได้ ซึ่งอาโนลด์ทำสำเร็จจากการคงสถานะ “คุณค่าเหนือกาลเวลา” ไว้พร้อมกับการเป็นแบรนด์ที่ทันสมัยในสายตาผู้บริโภค

นอกจากนี้ เขายังเพิ่มความร่ำรวยได้จากการดึงแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาในเครือ LVMH ตัวอย่างเช่น การร่วมทุนกับ Rihanna เพื่อออกไลน์สินค้าเครื่องสำอาง Fenty Beauty เมื่อปี 2017

เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2022 อาโนลด์เริ่มประกาศแผนการปรับองค์กรและการหาผู้สืบทอดตำแหน่งในบริษัทโฮลดิ้ง โดยปัจจุบันเขาแบ่งหุ้นส่วนจำนวนเท่าๆ กันให้กับลูกทั้ง 5 คน และทั้ง 5 คนต่างมีตำแหน่งบริหารภายในบริษัท

สำหรับ 10 อันดับแรกทำเนียบบุคคลที่ “รวยที่สุดในโลก” ปี 2023 จัดอันดับโดย Forbes ได้แก่

1.เบอร์นาร์ด อาโนลด์ และครอบครัว
แหล่งทำเงิน: LVMH
มูลค่าสินทรัพย์ 2.11 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
สัญชาติ: ฝรั่งเศส

2.อีลอน มัสก์
แหล่งทำเงิน: Tesla และ SpaceX
มูลค่าสินทรัพย์ 1.80 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
สัญชาติ: อเมริกัน

3.เจฟฟ์ เบโซส
แหล่งทำเงิน: Amazon
มูลค่าสินทรัพย์ 1.14 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
สัญชาติ: อเมริกัน

4.แลร์รี่ เอลลิสัน
แหล่งทำเงิน: Oracle
มูลค่าสินทรัพย์ 1.07 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
สัญชาติ: อเมริกัน

5.วอร์เรน บัฟเฟตต์
แหล่งทำเงิน: Berkshire Hathaway
มูลค่าสินทรัพย์ 1.06 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
สัญชาติ: อเมริกัน

6.บิล เกตส์
แหล่งทำเงิน: Microsoft
มูลค่าสินทรัพย์ 1.04 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
สัญชาติ: อเมริกัน

7.ไมเคิล บลูมเบิร์ก
แหล่งทำเงิน: Bloomberg LP
มูลค่าสินทรัพย์ 9.45 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
สัญชาติ: อเมริกัน

8.คาร์ลอส สลิม เฮลู และครอบครัว
แหล่งทำเงิน: กิจการโทรคมนาคมหลากหลายบริษัทในทวีปอเมริกา
มูลค่าสินทรัพย์ 9.30 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
สัญชาติ: เม็กซิโก

9.มูเกช อัมบานี
แหล่งทำเงิน: กิจการหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่น้ำมันจนถึงโทรคมนาคม
มูลค่าสินทรัพย์ 8.34 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
สัญชาติ: อินเดีย

10.สตีฟ บาลล์เมอร์
แหล่งทำเงิน: Microsoft
มูลค่าสินทรัพย์ 8.07 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
สัญชาติ: อเมริกัน

Source: Forbes

]]>
1426386