ONE31 – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 01 Dec 2020 14:28:43 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สรุปชัดๆ บริษัทแม่ “ONE31” ซื้อบริษัทผลิตคอนเทนต์เท่านั้น ช่อง GMM25 ยังอยู่กับแกรมมี่ https://positioningmag.com/1308456 Tue, 01 Dec 2020 11:57:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1308456 โยกพอร์ตชุลมุนภายใต้ร่มเงาแกรมมี่ ร้อนถึง “บอย-ถกลเกียรติ” แห่ง ONE31 ต้องแจกแจงชัดถึงการเข้าซื้อและการบริหาร ย้ำว่าเป็นการซื้อเฉพาะกลุ่มบริษัทผลิตคอนเทนต์ ส่วนช่อง GMM25 ยังคงอยู่กับแกรมมี่ และไม่ได้ปิดตัวลงแต่อย่างใด หลังจากนี้ จะทำให้ช่อง ONE31 และ GMM25 มีทิศทางกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนแยกจากกัน ทำการตลาดได้แข็งแกร่งขึ้น

“ถกลเกียรติ วีรวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม “เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์” ร่วมด้วยผู้บริหารทุกบริษัทที่เกี่ยวข้อง เปิดโต๊ะแถลงแจกแจงการเข้าซื้อกิจการ โดยเราขอสรุปอย่างย่อๆ ถึงผลจากการปิดดีลครั้งนี้ ดังนี้

  1. เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ เข้าซื้อหุ้นใน บจก.จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง (GMMCH) ซึ่งเป็นเครือ 4 บริษัทกลุ่ม “ผลิตคอนเทนต์” ได้แก่ จีเอ็มเอ็ม ทีวี, จีเอ็มเอ็ม มีเดีย, เช้นจ์ 2561 และ จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยใช้เม็ดเงินลงทุน 2,200 ล้านบาท
  2. บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ผู้ถือใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัล “GMM 25” ยังคงอยู่ภายใต้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ทำให้แกรมมี่ยังเป็นเจ้าของช่องต่อไป และช่องไม่ได้ปิดตัวลง
  3. ดีลนี้ทำให้กลุ่มสิริดำรงธรรมของตระกูลสิริวัฒนภักดี ผู้ถือหุ้นเดิมของ GMMCH ขายหุ้นออกจาก GMMCH ทั้งหมด
  4. การโยกผู้ผลิตคอนเทนต์ของจีเอ็มเอ็มไปรวมกับเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ทำให้แบ่งกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้น โดยช่อง ONE31 จะเจาะกลุ่มตลาดแมส ละครรสแซ่บ ขณะที่ GMM25 จะเจาะกลุ่มวัยรุ่น เพลง ไลฟ์สไตล์ ดังนั้น คอนเทนต์บางส่วนจะจัดสรรใหม่ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น Club Friday The Series จะย้ายช่องไปอยู่กับ ONE31
  5. ทีมงานเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์จะช่วยเรื่องการทำการตลาดให้ช่อง GMM25 เมื่อสองช่องนี้มีกลุ่มเป้าหมายต่างกัน จะตอบโจทย์สปอนเซอร์สินค้าที่ต้องการลงโฆษณาได้หลากหลายกว่า เพราะมีทางเลือกให้สินค้าครบทุกกลุ่มที่ต้องการ

กลุ่มผู้ผลิตคอนเทนต์ภายใต้ GMMCH นั้นครอบคลุมทุกเนื้อหาที่เรารู้จัก ไม่ว่าจะเป็น จีเอ็มเอ็ม ทีวี เป็นผู้ผลิตซีรีส์วัยรุ่น โดยเฉพาะซีรีส์วายที่โดดเด่นมาก เช่น “เพราะเราคู่กัน” จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ซึ่งมีบริษัทลูกคือเอไทม์ มีเดีย เป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์และรายการวิทยุ ที่เด่นๆ เช่น “แฉ” “พุธทอล์กพุธโทร” เช้นจ์ 2561 ผู้ผลิตละครดังอย่าง “Club Friday The Series” และทำธุรกิจโชว์บิซ จนถึง จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ ซึ่งผลิตซีรีส์เพื่อลงแพลตฟอร์มระดับสากล เช่น “Sleepless Society” ที่ลงฉายกับ Netflix

 

ดีลเพื่อสร้างความแกร่ง แยกเป้าหมายให้ชัด

ถกลเกียรติกล่าวถึงเบื้องหลังดีลว่า มีการพูดคุยกันมาหลายเดือนเพื่อหาจุดลงตัวในการควบรวม ทำให้เกิด synergy และสร้างความชัดเจนของกลุ่มเป้าหมายแต่ละช่อง

โดยสรุปหลังจากนี้ ช่อง ONE31 จะยังคงแนวทางกลุ่มเป้าหมายเดิมที่ชัดอยู่แล้ว คือการเจาะตลาด ‘Modern Mass’ เป็นตลาดแมสแบบทั่วประเทศ แฝงความเป็นคนเมืองเล็กน้อย โดดเด่นเรื่องละครรสแซ่บ เข้มข้น ในขณะที่ช่อง GMM25 จะเห็นชัดขึ้นว่าเป็นกลุ่ม ‘Trendy’ และ ‘Always Young’ เจาะตลาดวัยรุ่น ดนตรี ไลฟ์สไตล์

“GMM25 จะเป็นกลุ่ม Trendy ในช่วงไพรม์ไทม์ก็ยังคงเป็นซีรีส์จากจีเอ็มเอ็ม ทีวี ต่อด้วยรายการแฉของมดดำ-คชาภาเหมือนเดิม เพราะเป็นพระเอกของช่อง แต่ในช่วงกลางวัน เรากำลังมองว่าจะมีรายการสดมากขึ้น โดยจะเป็นรายการสดเกี่ยวกับดนตรี ไลฟ์สไตล์ Soft News เพราะยังไม่ค่อยมีใครทำ และช่องนี้ก็ชื่อ GMM อยู่แล้ว ควรจะนำจุดแข็งมาใช้ให้เป็นประโยชน์” ถกลเกียรติกล่าว

ซีรีส์วัยรุ่นจะยังเป็นจุดแข็งในช่วงไพรม์ไทม์ของช่อง GMM25

ซีอีโอเดอะ วันฯ ยังย้ำด้วยว่า ผลของดีลจะทำให้ทั้งสองช่องแข็งแกร่งขึ้น “อย่าลืมว่า ONE31 กับ GMM25 เป็นพี่น้องกันอยู่แล้วตั้งแต่ต้น”

แกรมมี่ยังคงถือหุ้น 33% ในเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 รองจากบริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ของกลุ่มปราสาททองโอสถที่ถืออยู่ 50% ส่วนบริษัท ซีเนริโอ จำกัดและบอย-ถกลเกียรติถือหุ้นรวม 17%) ทำให้การโยกพอร์ตบริษัทกลุ่มคอนเทนต์ครั้งนี้เหมือนเป็นการจัดสรรให้บอย-ถกลเกียรติบริหาร และแกรมมี่ยังมีส่วนในการเป็นเจ้าของกลุ่มบริษัทคอนเทนต์เหล่านี้อยู่ รวมถึงยังเป็นเจ้าของช่องดังที่ย้ำไปข้างต้น

 

จัดระเบียบใหม่ Club Friday เตรียมย้ายช่อง

หลังจากวางวิสัยทัศน์ใหม่ ทำให้คอนเทนต์บางส่วนจะย้ายช่องเพื่อให้ตรงกับแนวทางของช่อง ที่คอนเฟิร์มแล้วคือ “สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เช้นจ์ 2561 จำกัด เปิดเผยว่า Club Friday The Series Season 12 จำนวน 4 เรื่อง จะเริ่มออนแอร์ในช่อง ONE31 แทนช่องเดิมที่ GMM25 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นไป และรายการ Club Friday Show ก็จะย้ายออกไปอยู่ที่ช่องอมรินทร์ทีวี 34 ด้วย

Club Friday The Series ของเช้นจ์ 2561 ตอนใหม่ปี 2564 เตรียมย้ายไปช่อง ONE31

“เราทำละครลงช่อง ONE31 แต่ก็ยังผลิตให้ช่องอื่นหรือแพลตฟอร์ม OTT อื่นได้เหมือนเดิม และยังทำงานโชว์บิซเหมือนเดิม” สายทิพย์กล่าว

เธอระบุว่ายินดีที่ได้นำละครย้ายไปช่อง ONE31 เพราะตรงกับกลุ่มเป้าหมายกว่า ส่วนจะกลับมาทำคอนเทนต์ลง GMM25 หรือไม่ สายทิพย์มองว่าตามแนวทางใหม่ของ GMM25 ที่จะเน้นวัยรุ่น อาจจะไม่ใช่ทางถนัดของ เช้นจ์ 2561 เท่าใดนัก

 

ทำตลาดร่วม ตอบสปอนเซอร์ได้ทุกกลุ่ม

ด้าน “ระฟ้า ดำรงชัยธรรม” ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เปิดเผยว่า การรวมกันจะทำให้ระบบนิเวศของการผลิตคอนเทนต์มีประสิทธิภาพกว่าเดิม รวมถึงตอบโจทย์ลูกค้าสปอนเซอร์ได้ทุกเซ็กเมนต์ที่เข้ามา หลังจากนี้เดอะ วันฯ จะเสนอทางเลือกได้ทุกกลุ่ม ทั้งประเทศ และเลยไปถึงต่างประเทศด้วย เพราะมีจีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์เป็นผู้ผลิต

ผู้บริหารของเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ และ GMMCH : (จากซ้าย) ระฟ้า ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, สมโรจน์ วสุพงศ์โสธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน), เอกชัย เอื้อครองธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ-ฝ่ายผลิตรายการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, สถาพร พานิชรักษาพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี จำกัด, สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เช้นจ์ 2561 จำกัด และ ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์

ถกลเกียรติเสริมว่า มุมมองการบริหารวันนี้ไม่ได้มองแต่อันดับเรตติ้งของทีวีดิจิทัลอย่างเดียวแล้ว แต่จุดสำคัญคือ “คอนเทนต์” ยกตัวอย่าง ไบรท์-วิน ดาราคู่ขวัญจากเรื่องเพราะเราคู่กัน เรตติ้งในทีวีของซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้สูงมาก แต่ไบรท์-วินกลับดังมาก มีคนรู้จักทุกมุมเมือง เพราะคอนเทนต์แบบนี้เป็นคอนเทนต์ที่ลงได้ทั้งแพลตฟอร์มทีวีและออนไลน์ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดสำหรับการเรียกสปอนเซอร์

“สิ่งที่สำคัญมากคือตัวคอนเทนต์ เพราะวันนี้มีช่องทางให้ออกมากมายไปหมด ไม่ใช่แค่ในทีวี แต่อยู่ที่ว่าจะบริหารให้คอนเทนต์ออกตรงไหนถึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด” ถกลเกียรติกล่าว

]]>
1308456
แม่เหล็กใหม่! Facebook Watch ดึง “เวิร์คพอยท์-ช่อง 3-ONE 31-วู้ดดี้” สร้างโซเชียลวิดีโอไทย https://positioningmag.com/1247017 Thu, 19 Sep 2019 23:07:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1247017 คนไทยเสพคอนเทนต์วิดีโอสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งก็สอดคล้องกับสถิติของ Facebook Watch ที่พบว่าบริการวิดีโอบนเฟซบุ๊กในประเทศไทยโดดเด่นระดับแนวหน้าในภูมิภาค ภารกิจหลังจากนี้ คือการสร้างวิดีโอที่ดึงดูดผู้ชมและการเปิดทางให้ผู้สร้างวิดีโอทำรายได้ 

พาเรช ราชวัต ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์วิดีโอ ซึ่งดูแลการพัฒนาบริการ Facebook Watch ระดับโลก  กล่าวว่าภารกิจหลักที่ Facebook Watch จะทำในไทยช่วงปีนี้ถึงปีหน้า คือการเติมเต็ม อีโคซิสเต็ม โดยจะเน้นสร้างประสบการณ์รับชมวิดีโอบน Facebook Watch ขณะเดียวกันก็จะเน้นให้ ผู้สร้าง มีช่องทางสร้างรายได้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งให้ผู้สร้างต้องการสร้างวิดีโอเนื้อหาดีเพื่อตอบโจทย์ผู้ชมต่อเนื่อง

คนไทยนิยมดูวิดีโอบน Facebook Watch มาก ถือเป็นประเทศที่โดนเด่นระดับแนวหน้าในภูมิภาค ในช่วง 1 ปีที่เปิดให้บริการ Facebook Watch มีผู้ชม 720 ล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้ 140 ล้านคนชมนานกว่า 1 นาทีพาเรชระบุ โดยไม่เปิดเผยข้อมูลการชมวิดีโอเฉพาะประเทศไทย

ในจำนวน 140 ล้านคนนี้ สถิติการชม Facebook Watch คิดเป็นตัวเลขเฉลี่ยมากกว่า 26 นาทีต่อวันต่อคนสถิตินี้ถือว่าน่าสนใจเพราะแสดงให้เห็นว่าผู้คนตั้งใจรับชมจริงจัง

สิ่งที่ทำให้ Facebook Watch แตกต่างจากบริการวิดีโออื่นคือการชมวิดีโอบน Facebook Watch ไม่ใช่การชมแบบชมแล้วจบไป (passive) แต่เป็นการชมที่ทำให้เกิดการแชร์ประสบการณ์ร่วม การเชื่อมต่อผู้ใช้เข้าด้วยกัน ทั้งหมดนี้ Facebook Watch ทำได้ด้วยการเน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง การเสริมประสบการณ์ด้วยการเปิดฟีเจอร์ให้ผู้ใช้ชมวิดีโอร่วมกัน (Co-watching) เมื่อชมเป็นกลุ่มก็นำไปสู่การโต้ตอบหรือ Interactivity ซึ่งปฏิสัมพันธ์ ความเห็น การกดไลค์ หรือการแชร์จะนำไปสู่การสร้างชุมชนหรือ community ทำให้เกิดกลุ่มคนที่ชื่นชอบในเนื้อหาประเภทเดียวกัน

เมื่อมีการดูวิดีโอร่วมกัน เราพบว่าผู้ใช้มีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมกับเนื้อหาได้มากขึ้น 8 เท่าเมื่อเทียบกับการดูคนเดียว เป็นอีกจุดต่างจากแพลตฟอร์มอื่น

ดันอีโคซิสเต็มเกิดในไทย

แมทธิว เฮนนิก หัวหน้าฝ่ายการวางแผนกลยุทธ์ด้านคอนเทนต์ ระบุว่าวันนี้ Facebook Watch พยายามสร้าง 2 อีโคซิสเต็มให้เกิดขึ้นคือการพัฒนาระบบโฆษณา และการลงทุนด้านเนื้อหาของ Facebook Watch เอง โดยส่วนโฆษณา Facebook Watch เริ่มเปิดให้ผู้สร้างวิดีโอใส่โฆษณาคั่นในวิดีโอ (Ad break) ใน 40 ประเทศรวมไทย สถิติล่าสุดคือ Ad break ถูกนำมาปรับใช้ในเพจมากขึ้นกว่า 3 เท่าตัวจากปีที่แล้ว

ตัวอย่าง เพจ Doi (ดอยแม่สลอง สื่อสังคมออนไลน์) ถือเป็นครีเอเตอร์คนไทยที่ใช้ Ad break แล้วประสบความสำเร็จ จากช่วงแรกที่มีทีมงาน 2 – 3 คน ตอนนี้ขยายเป็น 14 – 15 คน ในระบบมีบรรยายซับไตเติลหลายภาษา ทำให้มีการเปิดชมทั่วอาเซียน

สำหรับการลงทุนเนื้อหา Facebook Watch แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือการลงทุนระดับโลก การสร้างเนื้อหาที่ผลิตเองเพื่อเผยแพร่บน Facebook Watch และการร่วมมือกับผู้ผลิตกลุ่มครีเอเตอร์ดิจิทัล

จับมือ 5 แม่เหล็กคอนเทนท์ไทย

ความคืบหน้าล่าสุดของ Facebook Watch ในไทยคือการประกาศจับมือกับ 5 แม่เหล็กในวงการคอนเทนต์ไทย ได้แก่ 1. เวิร์คพอยท์ นำเนื้อหาพรีเมียมจากรายการฮิตอย่าง The Rapper, The Mask Singer, I Can See Your Voice ไปสู่ผู้ใช้ทั่วโลก 2. บีอีซี หรือช่อง 3 ที่จะนำคลิปวิดีโอละครฮิต เบื้องหลังการถ่ายทำ และเนื้อหาฉบับเต็มก่อนการตัดต่อมาฉายบน Facebook Watch 3. เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนต์ ที่จะเน้นรายการตลกและรายการเกมโชว์ 4. วู้ดดี้ ที่ยังไม่เผยรูปแบบรายการ และ 5. ช่อง ONE 31 ช่องละครฮิตจากแกรมมี่ที่เพิ่งเซ็นสัญญาเป็นรายล่าสุด

เพราะคนไทยชอบความบันเทิง หลายคนอยากรู้ตอนต่อไป เมื่อมีความอยากรู้อยากชมจึงสร้างการสนทนาบนโซเชียลได้มากขึ้น

สำหรับรายการวู้ดดี้เวิร์ล จะเป็นรายการนวัตกรรมประเภทใหม่ที่อาจจะชวนผู้สร้างรายอื่นให้มาร่วมกันจนเกิดเป็นคอนเทนต์แบบใหม่ ทำให้เกิดการรับชมร่วมกัน กลายเป็นคอนเทนต์ที่เติบโตได้ด้วยตัวเอง และต่อไปจะมีละครจาก One 31 ซึ่งมีเพจที่สมาชิกสูงถึง 3 แสนคน และเริ่มเปิดให้สมาชิกเลือกตอนจบของละครตามกระแสในโซเชียลแล้ว

เปิดครีเอเตอร์หารายได้โฆษณา

นอกจากผู้สร้างเนื้อหาที่เป็นบริษัทรายใหญ่ นโยบายการช่วยเหลือ ครีเอเตอร์รายเล็ก จะทำผ่านการให้บริการเครื่องมือ ซึ่งครีเอเตอร์สามารถรับโฆษณาคั่นหรือ Ad break ในวิดีโอเพื่อสร้างรายได้ทันทีที่ผู้ติดตามในเพจมีมากกว่า 10,000 คน และต้องมียอดการรับชม 1 นาทีให้กับวิดีโอที่มีความยาวอย่างน้อย 3 นาทีถึง 30,000 ครั้งในช่วง 60 วัน

วิดีโอที่ประสบความสำเร็จบน Facebook Watch จะมีความยาวเท่าใดก็ได้ แต่ถ้าอยากหารายได้คือ 3 นาทีเป็นอย่างต่ำ จุดที่เน้นคือคุณภาพ การเป็นวิดีโอต้นฉบับ และการทำให้ผู้ชมอยากกลับมาดูซ้ำอีก

สิ่งที่ครีเอเตอร์ต้องใส่ใจคือการหาวิธีดึงผู้ชมให้กลับมาชมอีกจนเป็นนิสัย และมีส่วนร่วมกับเนื้อหาอย่างลึกซึ้ง ขณะที่ทีม Facebook Watch ก็จะพัฒนาระบบที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์รับชม เช่น การไม่ใส่ Ad break จนรำคาญ ผู้ผลิตสามารถเลือกได้ว่าจะใส่โฆษณาคั่นจำนวนเท่าใด และจะมีอัลกอริธึมให้การใส่โฆษณาคั่นทำได้อย่างเหมาะสม.

Source

]]>
1247017
“แกรมมี่” โชว์ป๋า! ประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาลเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี แม้ไตรมาส 2 รายได้ลดลง 13.7% https://positioningmag.com/1242239 Wed, 14 Aug 2019 04:07:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1242239 ในภาวะที่เศรษฐกิจยังเอาแน่เอานอนไม่ได้เม็ดเงินโฆษณายังไม่มีทีท่าจะกระเตื้องขึ้นทำให้ผลประกอบการของหลายบริษัทยังอยู่ในภาวะตัวแดงเช่นเดียวกับแกรมมี่ที่ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 2/2562 ระบุว่ามีรายได้จากการขายสินค้า/บริการ และค่าลิขสิทธิ์ จำนวน 1,458 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 13.7% จากรายได้ธุรกิจภาพยนตร์และธุรกิจเทรดดิ้ง

เมื่อแยกย่อยลงไปในแต่ละธุรกิจจะพบว่าธุรกิจเพลง เป็นธุรกิจหลักของประกอบด้วยการจำหน่ายสินค้าเพลง (Physical product), ดิจิทัลมิวสิค, การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์, ธุรกิจโชว์บิซ, ธุรกิจบริหารศิลปิน และธุรกิจอื่นที่สนับสนุนธุรกิจ ในไตรมาส 2/2562 มีรายได้จากธุรกิจเพลง 893 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 61% ของรายได้รวม ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.4%

โดยส่วนใหญ่มาจากธุรกิจดิจิทัลมิวสิกและธุรกิจบริหารศิลปิน ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีการจัดคอนเสิร์ตใหญ่หลายรายการ เช่น “PECK PALITCHOKE Concert#2 : LOVE IN SPACE”, “What The Fest! Music Festival 2” และ “คอนเสิร์ต ต่าย อรทัย ดอกหญ้ากลางเมืองใหญ่”

ธุรกิจเทรดดิ้ง ประกอบด้วยธุรกิจจัด จำหน่ายสินค้าโฮมช้อปปิ้ง และธุรกิจจัดจำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวี ในไตรมาสนี้ ธุรกิจโฮมช้อปปิ้งมีรายได้ 422 ล้านบาทลดลง 23.4% จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแข่งขันในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนธุรกิจกล่องรับสัญญาณทีวี มีรายได้ 72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.8%

ธุรกิจภาพยนตร์ในไตรมาส 2/2562 ไม่มีภาพยนตร์ใหม่เข้าฉาย แต่มีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์จำนวน 33 ล้านบาท ในขณะที่ไตรมาส 2/2561 มีภาพยนตร์ใหม่น้องพี่ที่รัก” เข้าฉายในช่วงนั้นรายได้รวม ของไตรมาสจึงสูงถึง 183 ล้านบาท

ธุรกิจการลงทุน ประกอบไปด้วย บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจดิจิทัลทีวีช่อง One31’ ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสนี้มีละครที่ได้รับกระแสตอบรับดีหลายเรื่อง และ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด ประกอบด้วยธุรกิจดิจิทัลทีวี ช่อง GMM25’, ธุรกิจวิทยุและโชว์บิซ, ธุรกิจผลิตคอนเทนต์ ในไตรมาสนี้มีละครที่ได้รับความนิยมสูงคือ เรื่องเมียน้อยส่วนด้านคอนเสิร์ตที่ได้รับความนิยมมากคือ “The Real Nadech Concert” และ “Cassette Festival”

ทั้งนี้จากการที่ธุรกิจดิจิทัลทีวี 2 ช่อง ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการดิจิทัลทีวีของภาครัฐ ทำให้ภาระขาดทุนเปลี่ยนมาเป็นกำไรในไตรมาสนี้แต่แกรมมี่ไม่ได้ระบุว่ามีกำไรเท่าไหร่

สุดท้ายธุรกิจอื่นๆ” ในไตรมาสนี้มีรายได้ 38 ล้านบาท เติบโต 2.8% ขณะเดียวกันต้นทุนขายและบริการเท่ากับ 851 ล้านบาท ลดลง 18.6% เนื่องจากไม่มีต้นทุนภาพยนตร์ใหม่และต้นทุนขายของสินค้าลดลง

ส่งผลให้ในไตรมาสนี้แกรมมี่มีผลกำไรสุทธิเท่ากับ 68 ล้านบาท เติบโต 33% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 51 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้รายได้จะลดลงถึง 13.7% แต่ก่อนหน้านี้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อเดือนเมษายน 2562 ได้อนุมัติให้โอนทุนสำรองตามกฎหมายจำนวน 82 ล้านบาท และส่วนเกินมูลค่าหุ้นสามัญจำนวน 2,951 ล้านบาท มาชดเชยขาดทุนสะสม จำนวน 3,033 ล้านบาท

ประกอบกับมีกำไรสุทธิในงวด 6 เดือนแรกของปี 2562 ตามงบการเงินเฉพาะกิจการรวมเป็น 132 ล้านบาท ที่ประชุมคณะกรรมการ จึงมีมติอนุมัติจ่ายปันผลระหว่างกาลเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี ในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 82 ล้านบาท คิดเป็น 62% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการให้แก่ผู้ถือหุ้น

โดยได้กําหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการรับเงินปันผลระหว่างกาล (Record Date) ในวันที่ 21 สิงหาคม 2562 และกําหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ในวันที่ 12 กันยายน 2562 นี้

]]>
1242239
เม็ดเงินโฆษณาละคร 2 หมื่นล้าน “ทีวีดิจิทัล” เปิดศึกชิงเค้กไพรม์ไทม์ครึ่งปีหลัง https://positioningmag.com/1234800 Sat, 15 Jun 2019 13:46:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1234800 ปัจจุบันอุตสาหกรรมโฆษณาสื่อทีวียังครองสัดส่วนสูงสุดกว่า 50% มีเดียเอเยนซี MI ประเมินมูลค่าอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้อยู่ที่ 90,422 ล้านบาท เติบโตราว 1.49% เปรียบเทียบปี 2561 และทีวี มีส่วนแบ่งสูงสุด แม้จะอยู่ในภาวะถดถอยมาตั้งแต่ยุคทีวีดิจิทัลก็ตาม  

ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI กล่าวว่า ข้อมูลที่ประเมินโดย MI ปี 2562 เม็ดโฆษณาสื่อทีวี มีสัดส่วน 51% หรือมูลค่าเกือบ 50,000 ล้านบาท

หากวิเคราะห์เฉพาะเม็ดเงินโฆษณาทีวี คอนเทนต์ที่ครองงบสูงสุดคือ “ละคร” สัดส่วน 40% นั่นหมายถึงมูลค่าราว 20,000 ล้านบาท รองลงมาคือ ข่าว 30% วาไรตี้และอื่นๆ อีก 30%

โฟกัสเฉพาะ “ละคร” ก็ต้องบอกว่า ทีวีดิจิทัล กลุ่มผู้นำเรตติ้งละคร อย่าง ช่อง 3 ช่อง 7 ช่องวัน รายได้จากละครคิดเป็นสัดส่วนราว 50% ละครที่อยู่ในช่วงไพรม์ไทม์ 20.00 น. ของทุกช่อง จะมีราคาโฆษณา Rate Card (ราคาเสนอขายยังไม่หักส่วนลด) สูงสุดของสถานี

“ช่อง7-ช่อง3-วัน” กลุ่มท็อปละคร ช่องใหม่ “เหนื่อย”

ช่วงเวลาไพรม์ไทม์ของสถานีทีวี ที่เริ่มตั้งแต่ 18.00 น. เป็นต้นไป ถือเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวไทย หรือผู้ชมที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ใช้เวลาดูทีวีมากที่สุด โดยเฉพาะละคร ทำให้ราคาโฆษณาในช่วงนี้มีอัตราสูงสุดของสถานี

ภวัต บอกว่าสถานการณ์ของทีวีดิจิทัล 15 ช่องที่ตัดสินใจไปต่อโดยไม่คืนใบอนุญาต หลายช่องเริ่มใส่เม็ดเงินลงทุนคอนเทนต์ โดยมุ่งไปที่ “ละคร” มากขึ้น เพราะเป็นรายการที่คนได้นิยมดูมากที่สุด แต่ละครก็มี “เจ้าตลาด” อยู่แล้ว คือ ช่อง 7 ช่อง 3 ตั้งแต่ยุคฟรีทีวี แอนะล็อก มาในยุคทีวีดิจิทัล “ช่องวัน” ที่มีผู้ผลิตละคร ในนาม เอ็กแซ็กท์และซีเนริโอ ตั้งแต่ยุคผลิตละครให้ช่อง 5 ก็ก้าวขึ้นมาอยู่ในกลุ่มผู้นำละครเช่นกัน

วันนี้ในกลุ่มผู้นำเรตติ้งละคร ช่อง 7 ช่อง 3 เอง ก็เหนื่อย แม้จะมีฐานผู้ชมอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ทุกเรื่องจะมีเรตติ้งดี ก็ต้องลุ้นกันแบบเรื่องต่อเรื่อง บางเรื่องนักแสดงดัง ก็ไม่ได้การันตีว่าละครจะดัง

แต่ทั้งช่อง 3 และช่อง 7 ที่ทำละครมากว่า 30 ปี สะสมฐานคนดูประจำ และนักแสดงในสังกัดที่มีจำนวนมากก็ยังเป็น 2 ช่อง ที่มีแต้มต่อละครดีกว่าช่องใหม่ๆ หากละครมีนักแสดงนำที่คนไทยชื่นชอบ อย่าง ช่อง 7 หากมี เวียร์ ศุกลวัฒน์ คณารศ หรือ อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ ส่วนช่อง 3 มี ณเดชน์ คูกิมิยะ หรือ ญาญ่า อุรัสยา เสปอร์บันด์ หากมีชื่อนักแสดงชื่อดังเหล่านี้ “ละคร” ก็จะเรียกความสนใจจากลูกค้าและเอเยนซีได้ก่อน หลังจากออนแอร์แล้วก็ต้องมาลุ้นกระแสจากผู้ชมอีกครั้งว่าจะได้รับความสนใจหรือไม่

“คอนเทนต์ละครวันนี้ ต้องบอกว่าแข่งขันกันเหนื่อย ทั้งช่องผู้นำเดิมและช่องใหม่ยิ่งเหนื่อยมากขึ้นไปอีก”

 “ช่อง 3” เข็นฟอร์มยักษ์ลงจอ เปิดคุยทำตลาดทุกรูปแบบ

ในกลุ่มผู้นำละครเรตติ้งสูง ก็ต้องยกให้ช่อง 7 และ ช่อง 3 ที่ครองตำแหน่งนี้ตั้งแต่ยุคแอนะล็อก มาถึงทีวีดิจิทัล

สำหรับช่อง 3 ที่ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ทั้งการแต่งตั้งแม่ทัพคนใหม่นอกตระกูลมาลีนนท์เป็นครั้งแรก โดยได้มืออาชีพ “อริยะ พนมยงค์” มานั่งตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ในเดือน เม.ย. 2562 จากนั้นวันที่ 10 พ.ค. 2562 ตัดสินใจคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ ช่อง 13 และช่อง 28 เพื่อกลับมาทุ่มเทให้ช่อง 3 หรือ ช่อง 33 กลับมาผงาดอีกครั้งในอุตสาหกรรมทีวีรวมทั้งผลประกอบการต้องกลับมา “กำไร”

อริยะ พนมยงค์

คอนเทนต์ไฮไลต์ทำรายได้สูงสุดของช่อง 3 ก็ยังเป็น “ละคร” ไพรม์ไทม์ โดยได้เปิดผังละครใหม่ครึ่งปีหลัง 13 เรื่อง คือ ลิขิตรักข้ามดวงดาว ร้อยเล่ห์มารยา ผมอาถรรพ์ เขาวานให้หนูเป็นสายลับ Teeใครที่มัน แก้วกลางดง ลิขิตแห่งจันทร์ ด้ายแดง เพลิงรักเพลิงแค้น ฟ้าฝากรัก พยากรณ์ซ่อนรัก ทิวาซ่อนดาว และลับลวงใจ

นอกจากนี้ยังมี รายการวาไรตี้ 6 รายการ อาทิ รายการเลขระทึกโลก รายการ The Lift 5 ล้านสะท้านฟ้า รายการ Hollywood Game Night Thailand S 3 รายการ The Red Ribbon ไฮโซโบว์เยอะ และรายการแข่งขันวอลเลย์บอล FIVB NATIONS LEAGUE 2019

อริยะ ย้ำว่าหลังมาร่วมงานกับช่อง 3 เกือบ 2 เดือน เห็นแล้วว่าธุรกิจคอนเทนต์ยังมีโอกาสรออยู่ข้างหน้า สิ่งที่เชื่อได้ในวันนี้ คือ “ทีวีไม่หายไปไหน” เพียงแต่ผู้ชมไปย้ายไปดูในช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่คอนเทนต์ 85 – 90% ที่บริโภคผ่านออนไลน์มาจากทีวี จึงมั่นใจว่า “ทีวี” ยังไปต่อได้ ปัจจุบันช่อง 3 มีคอนเทนต์ละครที่คนติดตามดูทั่วประเทศ การทำงานจึงต้องไปทั้ง 2 แพลตฟอร์ม ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ด้วยบทบาทการเป็น Entertainment & Content Platform

การตัดสินค้าคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง ก็เพื่อต้องการทุ่มเทกับช่อง 3 ธุรกิจที่แข็งแกร่งที่สุดของบีอีซี เพื่อทำให้ช่อง 3 กลับมาเข้มแข็งเหมือนเดิม ทำงานหลังจากนี้จะใกล้ชิดกับลูกค้าและเอเยนซีมากขึ้น ด้วยการนำเสนอ Solution การสื่อสารและทำตลาดที่ต้องเป็นมากกว่าการขายโฆษณาแบบ CPRP แต่ต้องไปมากกว่านั้น

ครึ่งปีหลังได้เปิดตัวไลน์อัพละคร 13 เรื่อง จากผู้จัดและนักแสดงชื่อดัง ที่ถือเป็น Core Asset และหัวใจสำคัญของช่อง 3 วันนี้ทั้งลูกค้าและเอเยนซีที่สนใจเรื่องใดสามารถเลือกเรื่องที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย และเริ่มวางแผนทำงานร่วมกันตั้งแต่วันนี้ ทั้งรูปแบบ Tie in, กิจกรรม, แคมเปญออนไลน์ “สิ่งที่จะเห็นหลังจากนี้ ช่อง 3 จะเริ่มเปลี่ยนแปลงในเชิงรุก”

“ช่องวัน” ปั้นแบรนด์ “ละคร” ฮิตซีรีส์ “เรือน”

เป็นอีกช่องทีวีดิจิทัลที่มี “ละคร” เป็นคอนเทนต์นำ สำหรับ “ช่องวัน” เพราะมีทีมผลิตเดิมของ เอ็กแซ็กท์และซีเนริโอ” ที่ดูแลโดย ถกลเกียรติ วีรวรรณ และเป็น ซีอีโอ ช่องวัน ปัจจุบัน

ช่องวันใช้กลยุทธ์ปูพรมคอนเทนต์ “ละคร” 3 ช่วงหลัก คือ ละคร 19.00 น. จับกลุ่มครอบครัว ละคร 20.00 น. กลุ่มแมส เนื้อเรื่องมีความหวือหวาขึ้น และละคร 21.20 น. ระดับ น.13 เจาะนิชมาร์เก็ต คนกรุงเทพฯ ที่เพิ่งเดินทางกลับถึงบ้านและกลุ่มเมือง การใส่เส้นละครในช่วงไพรม์ไทม์ต่อเนื่องตั้งแต่ 19.00 – 22.30 น. เพื่อดึงคนดูให้อยู่ยาวกับช่อง ตั้งแต่เดือนมี.ค. – พ.ค. เรตติ้งไพรม์ไทม์ขึ้นมาอยู่อันดับ 3 รองจากช่อง 7 และ ช่อง 3

นิพนธ์ ผิวเณร

นิพนธ์ ผิวเณร ผู้บริหารด้านการผลิตคอนเทนต์ ช่องวัน 31 กล่าวว่าครึ่งปีหลังยังมีละครใหม่ลงจอต่อเนื่องในทั้ง 3 ช่วงหลัก ไม่ว่าจะเป็น เรือนไหมมัจจุราช สงครามนักปั้น 2 เสียงเอื้อนสะเทือนดาว ภูตพิศวาส ฤกษ์สังหาร รักย้อนเวลา

ละครไฮไลต์ที่เป็นแบรนดิ้งชัดเจนของช่องวัน ก็คือ ละครแนว “พีเรียด” ที่มี Gadget หรือการใช้สัตว์และสิ่งของ เป็นตัวเดินเรื่องคลี่ปม ไม่ว่าจะเป็น ยาพิษ งูพิษ ตะขาบ พิณ ในกลุ่มซีรีส์ “เรือน” ที่ออนแอร์ไปแล้ว 3 ซีรีส์ ปีละเรื่อง

  • เรือนเสน่หา Gadget คือ บึ้ง
  • เรือนร้อยรัก Gadget คือ กิ่งเหมยในกองไฟ สมุนไพร คางคก
  • เรือนเบญจพิษ Gadget คือ 5 สัตว์พิษ งูพิษ แมงป่อง ตะขาบ คางคก แมงมุมพิษ
  • เรือนมัจจุราช กำหนดออนแอร์ปลายไตรมาส 3 ปีนี้ Gadget จะมีทั้งสัตว์และสิ่งของ เหมือนเดิมแต่การใช้จะล้ำกว่าทุกภาคออกแนว พีเรียดไทยผสมเคล็ดวิชาหนังจีนกำลังภายใน ต่อสู้แนว Avengers

“วันนี้จะทำคอนเทนต์เรียบๆ ง่ายๆ คงไม่ได้อีกแล้ว แต่ต้องใส่ Creativity ในคอนเทนต์ที่สร้างความตื่นเต้นให้ผู้ชมอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดเป็นเรื่องของครีเอทีฟล้วนๆ การทำละครแม้พล็อตเรื่องจะดูง่ายแต่ต้องนำเสนอแบบมีลีลาในการคลี่บท เพราะเมื่อคอนเทนต์เดาง่าย พรีเซนเทชั่นต้องไม่ง่าย ถ้าเป็นเรื่องเดิม ก็ต้องพรีเซนต์ในมุมใหม่ แต่หากเป็นเรื่องใหม่ก็สามารถพรีเซนต์แบบเดิมได้ ต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องใหม่เสมอ”  

ที่ผ่านมาละคร ซีรีส์ “เรือน” ของช่องวัน มีการตอบรับที่ดีจากผู้ชม ต่างจากละครพีเรียดทั่วไปที่เดินเรื่องเนิบๆ แต่ซีรีส์เรือนจะตื่นเต้น มีความ Fantasy วันนี้มีความชัดเจนว่าละคร “เรือน” ของช่องวัน มีแบรนด์ชัดเจน ที่ผู้ชมจดจำได้ว่าเป็นลายเซ็นของช่องวัน

“ในโลกยุคใหม่ของคอนเทนต์ เราทำอะไรแบบเดิมไม่ได้ แม้หน้าหนังเป็นพีเรียด แต่ต้องมีคอนเทนต์ที่คาดเดาไม่ได้ วันนี้ผู้ชมดูละครจากหลายแพลตฟอร์ม ทั้งทีวี ออนไลน์ ที่มีละคร ออริจินัล คอนเทนต์เช่นกัน ดังนั้นคอนเทนต์ต้องทำงานหนักกว่าเดิม คือทำให้ผู้ชมอยู่กับหน้าจอไม่เปลี่ยนไปไหน”

ดังนั้นการรับรู้เกี่ยวกับคอนเทนต์ด้วยรูปแบบเดิมๆ คือ มีพระเอก นางเอก ผู้ร้าย “ไม่พอ” แต่ต้องทำให้ติดด้วยกิมมิกต่างๆ เพื่อดึงให้คนดู Stay tuned กับสถานี หากหาสิ่งเหล่านี้เจอก็คือ “ผู้ชนะ” ในเกมคอนเทนต์ แต่หากหาไม่เจอทำอย่างไรก็ไม่ชนะ เพราะดาราและโปรดักชั่นวันนี้เท่ากันหมด

ซีรีส์ “เรือน” ถือเป็นแบรนด์ละครของช่องวัน ที่ต้องมีปีละ 1 เรื่อง ซึ่งได้รับความสนใจจากเอเยนซีจองโฆษณาเต็ม!! เพราะเชื่อมั่นในแบรนด์ละครช่องวัน ถือเป็น “แบรนดิ้ง โปรเจกต์” ที่ต่างจากละครช่องอื่นๆ ความแตกต่างของสถานีทีวี คือ การเป็นคอนเทนต์ โปรวายเดอร์ ที่มี Creative House เป็นของตัวเอง มีคนเขียนบท ผู้กำกับ ครีเอทีฟที่เซ็นสัญญากับช่อง ซึ่งแตกต่างจากระบบ “ผู้จัดละคร” เพราะคอนเทนต์จะอยู่ที่ผู้จัดนำมาเสนอช่อง

“ก้าวต่อไปของซีรีส์แบรนด์เรือน เป็นเรื่องที่คิดและทำยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้องหนีตัวเองให้ได้ เพื่อไม่ทำเรื่องซ้ำเดิม ละครภาคต่อที่จะไปต่อได้ ธีมต้องชัดเจนว่าจะบอกอะไรให้อะไรกับคนดู ต้องมีศิลปะบนเชิงพาณิชย์ ต้องผสมผสานกันอย่างลงตัว”

 “พีพีทีวี” ของแจมละคร

หลังสร้างคอนเทนต์ในฝั่งกีฬาและวาไรตี้ ระดับ “เวิลด์คลาส” ให้เป็นที่รู้จักแล้ว ศึกทีวีดิจิทัลครึ่งปีหลัง “พีพีทีวี” ขอลงสนามแข่ง “ละคร” อีกราย หวังขยายฐานคนดู “ขยับเรตติ้ง” ให้อยู่ในอันดับท็อป 3 – 5

สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี กล่าวว่า ปีนี้ยังคงใช้เม็ดเงินลงทุนคอนเทนต์กว่า 1,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับที่ผ่านมา เพิ่มรายการใหม่ๆ ลงผังในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะเชื่อว่าจะเป็น “โอกาส” ขยายฐานคนดูและเรตติ้งได้

ช่วงครึ่งปีหลังนี้ “พีพีทีวี” ตั้งความหวังไว้กับ “ละคร” จะเป็นหนึ่งในคอนเทนต์สำคัญช่วย “พลิก” เกมให้ “พีพีทีวี” ขยายฐานไปยังกลุ่มคนดูทั่วประเทศ และช่วยเพิ่มเรตติ้งผังรายการวันพุธ-พฤหัส-ศุกร์ ที่ยังมีเรตติ้งต่ำอยู่ เมื่อเทียบรายการวันจันทร์ ที่มีเดอะ วอยซ์ วันอังคาร กิ๊กดู๋ สงครามเพลงเงินล้าน และเสาร์อาทิตย์ รายการฟุตบอล มีเรตติ้งแข็งแรงกว่า

ละครเรื่องแรก “มนตรามหาเสน่ห์” ผลิตโดย ผู้จัด หกสี่เอี่ยว ออนแอร์ ช่วงไพรม์ไทม์เวลา 20.15 น. เริ่มวันที่ 19 มิ.ย. เป็นต้นไป และยังอยู่ระหว่างผลิตอีก 10 เรื่อง เน้นความหลากหลาย และหากละครไปได้ดี ก็มีโอกาสขยายเวลาออกอากาศเพิ่มขึ้นด้วย

จุดแข็งของพีพีทีวียังอยู่ที่รายการฟุตบอลและต่อไปจะเป็น “ละคร” ที่จะลงทุนรูปแบบเดียวกับช่องใหญ่ มีทั้งทีมงาน ดาราดังและดาราที่ช่องปั้นขึ้น โดยเซ็นสัญญาเข้าสังกัดแล้ว เช่น ปุ๊กลุก-ฝนทิพย์ วัชรตระกูล และ อุษามณี ไวทยานนท์ รวมทั้งผู้จัดละครอีกหลายราย เช่น กันตนา, หนุ่ม-อรรถพร ธีมากร, ศรัณยู วงษ์กระจ่าง เชื่อว่า พีพีทีวี จะสร้างความแตกต่างและเป็นช่องทางเลือกได้

ผู้บ่าวอินดี้ ยาหยีอินเตอร์

ครึ่งปีหลัง “ช่อง7” อัด “ซีรีส์-วาไรตี้”

เรตติ้งเบอร์ 1 ทีวีดิจิทัล “ช่อง 7” จัดผังละครทั้งปี 2562 ไว้กว่า 30 เรื่อง ครึ่งปีหลังยังมีหมัดเด็ดของพระเอกซุปตาร์ “เวียร์ ศุกลวัฒน์” กับละครเรื่อง ผู้บ่าวอินดี้ ยาหยีอินเตอร์ ที่เริ่มตอนแรกวันที่ 16 มิ.ย. นี้ ส่วน “ยอดรักนักรบ” ต้องมารอลุ้นว่าจะทันออนแอร์ปีนี้หรือไม่

ส่วนคอนเทนท์แม่เหล็กทั้งรายการวาไรตี้ ซีรีส์ดัง ครึ่งปีหลังขนมาลงจอเพียบ ทั้งรายการทำอาหารระดับโลก “THE NEXT IRON CHEF ศึกค้นหาเชฟกระทะเหล็ก” รายการใหม่ “World Star ดาวคู่ดาว” ซีรีส์เกาหลี “วิมานวาดฝัน” (SKY CASTLE) ซีรีส์ที่ได้รับกระแสตอบรับท่วมท้นของเกาหลีใต้ รายการสู้เพื่อฝัน (BATTLE OF DREAMS) ค้นหาบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปหน้าใหม่ ทุนสร้างกว่า 100 ล้านบาท

สถานการณ์การแข่งขัน “ทีวีดิจิทัล” ครึ่งปีหลัง คงต้องจับตาดูช่อง “ผู้นำ” เรตติ้งว่า ละครที่เตรียมไว้ จะสร้างกระแสได้ตามเป้าหมายหรือไม่ และละครของช่องผู้ท้าชิง มีลุ้นขึ้นมาเป็นตัวเลือกดึงผู้ชมได้หรือไม่ ท่ามกลางเม็ดเงินโฆษณาทีวีปีนี้ที่ยังอยู่ในอาการซึมๆ.

ข่าวเกี่ยวเนื่อง

]]>
1234800
เปิดใจ “อากู๋” ในวันที่แกรมมี่กลับมา “กำไร” เตรียมดัน 2 ช่องทีวีดิจิทัล ONE-GMM 25 เข้าตลาดปี 63 https://positioningmag.com/1232585 Sat, 01 Jun 2019 12:54:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1232585 ก่อนเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัลในปี 2557 “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ธุรกิจคอนเทนต์ โปรวายเดอร์ ที่เริ่มต้นจากธุรกิจเพลงมากว่า 36 ปี ต้องฝ่าฟันกับพายุ Disruption ในอุตสาหกรรมเพลง ต่อด้วยการแข่งขันฟาดฟันในธุรกิจเพย์ทีวีมาก่อน 

การเป็นผู้ชนะประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง เป็นการเดินตามเส้นทางฝันของ “อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ที่ต้องการเป็นเจ้าของสถานีฟรีทีวี เพื่อต่อจิ๊กซอว์อาณาจักร “คอนเทนต์และแพลตฟอร์ม” ให้สมบูรณ์แบบ

แต่จังหวะการเกิดทีวีดิจิทัลในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อและพฤติกรรมเสพคอนเทนต์ของผู้บริโภคครั้งใหญ่ และจำนวนทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ที่วันนี้อุตสาหกรรมต่างยอมรับแล้วว่า “มากเกินไป”

ในที่สุดต้องมี คำสั่ง คสช. มาตรา 44 ออกมาแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล นับตั้งแต่ปี 2560 สนับสนุนค่าโครงข่ายมัสต์แคร์รี่ ปี 2561 พักชำระจ่ายค่าใบอนุญาต 3 ปี และช่วยค่าเช่าโครงข่าย MUX 50% และยาแรง ปี 2562 เปิดทาง “คืนช่อง” พร้อมรับเงินชดเชย ส่วนรายที่อยู่ต่อ “ไม่ต้องจ่ายค่าประมูลงวดที่ 5 และ 6” รวมทั้งค่าเช่าโครงข่าย MUX ตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออยู่ถึงปี 2572 อันเป็นผลจากการนำคลื่นความถี่ 700 MHz ของฝั่งทีวี ไปประมูลเพื่อให้บริการ 5G ในฝั่งโทรคมนาคม

“แกรมมี่” กลับมากำไรรอบ 7 ปี

ก่อนใช้ยาแรงเปิดทางให้ “ทีวีดิจิทัล” คืนใบอนุญาต 5 ปี ของทีวีดิจิทัลของผู้ประกอบการ “หลายราย” ต่างอยู่ในอาการ “เลือดไหล” เมื่อเส้นทางทีวีดิจิทัลไม่เป็นไปตามคาด รายได้ 5 ปีแรกส่วนใหญ่ “ขาดทุน”

“จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” เจ้าของทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ ช่อง ONE 31 และ GMM 25 ที่เผชิญกับสถานการณ์เทคโนโลยีดิสรัปชั่น การแข่งขันลงทุนในธุรกิจแพลตฟอร์มและเพย์ทีวีมาก่อน แสดงผล “ขาดทุน” มาตั้งแต่ปี 2555

ในช่วงการลงทุนทีวีดิจิทัล 2 ช่อง ตั้งแต่ปี 2557 ตัวเลขขาดทุนจึงอยู่ในหลักพันล้าน ปี 2558 แกรมมี่เริ่มตัดทิ้งธุรกิจที่ไม่ใช่ Core Business ตั้งแต่เพย์ทีวี ขายหุ้นซีเอ็ด ขายธุรกิจนิตยสาร ขายหุ้นอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ

พร้อมดึงกลุ่มทุนระดับ “บิ๊ก” เข้ามาร่วมลงทุนทีวีดิจิทัล เดือน ธ.ค. 2559 ดึงบริษัท ประนันท์ภรณ์ จํากัด ของตระกูล “ปราสาททองโอสถ” เข้ามาร่วมลงทุนช่อง ONE 31 ด้วยเม็ดเงิน 1,905 ล้านบาท ถือหุ้น 50% และเดือน ส.ค. 2560 ดึงบริษัท อเดลฟอส จำกัด ของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” เจ้าของอาณาจักรไทยเบฟ เข้ามาเพิ่มทุนในช่อง GMM 25 ด้วยเม็ดเงิน 1,000 ล้านบาท ถือหุ้น 50%

ปัจจุบัน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ถือหุ้นในบริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด (ช่อง ONE 31) 31.27% และถือหุ้นในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด (ช่อง GMM 25) 50%

การแก้ไขปัญหาธุรกิจทีวีดิจิทัลตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มาถึงวันนี้ เริ่มเห็นสัญญาณบวก รายได้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กลับมา “กำไร” ในปี 2561 เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และไตรมาสแรกปี 2562 ยังโชว์ตัวเลข “บวก” ต่อเนื่อง

ย้อนดูผลประกอบการ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่”

  • ปี 2555 รายได้ 11,756 ล้านบาท ขาดทุน 248 ล้านบาท
  • ปี 2556 รายได้ 11,003 ล้านบาท ขาดทุน 1,221 ล้านบาท
  • ปี 2557 รายได้ 9,264 ล้านบาท ขาดทุน 2,345 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้ 9,708 ล้านบาท ขาดทุน 1,145 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้ 7,446 ล้านบาท ขาดทุน 520 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 8,869 ล้านบาท ขาดทุน 384 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 6,984 ล้านบาท กำไร 15.43 ล้านบาท
  • ปี 2562 ไตรมาสแรก รายได้ 1,814 ล้านบาท กำไร 59 ล้านบาท

“อากู๋” เปิดใจ 5 ปีทีวีดิจิทัล

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม

การผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากของทีวีดิจิทัล 5 ปีแรก กระทั่งมาถึงจุดที่มีมาตรา 44 เปิดทางให้ทีวีดิจิทัล “คืนช่อง” และการกลับมาทำกำไรอีกครั้งของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ “อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) อัพเดตเรื่องราวเหล่านี้กับ Positioning  

โดยบอกว่าได้เป็นหนึ่งในคนที่ร่วมขับเคลื่อนหารือกับ กสทช. และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแทบจะทุกครั้ง เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัล ซึ่งก็ต้องย้อนถึงสาเหตุ เริ่มต้นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคแอนะล็อกไปยุคทีวีดิจิทัล มีปัญหามากมายในด้านการปฏิบัติงานช่วงเปลี่ยนผ่าน

นับตั้งแต่ การเรียงช่อง การประชาสัมพันธ์ การแจกกล่องรับสัญญาณระบบดิจิทัล ที่ถือเป็น “หัวใจของการสร้างแพลตฟอร์ม” เดิมกำหนดราคากล่องไว้ที่ 1,200 บาท สามารถรับชมช่องทีวีดิจิทัลและทีวีดาวเทียมได้ แต่ในที่สุดได้ปรับราคาเหลือกล่องละ 690 บาท รับชมได้เฉพาะช่องทีวีดิจทัล จากคุณภาพกล่องที่รับชมได้ไม่ชัดและต้องติดตั้งเสาสัญญาณในบางพื้นที่ และบางครัวเรือนไม่นำคูปองไปแลกกล่องมาติดตั้ง เพราะมีกล่องทีวีดาวเทียมอยู่แล้ว ทำให้อุตสาหกรรมไม่สามารถสร้าง “แพลตฟอร์มรับชมช่องทีวีดิจิทัล” ได้

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประมูลให้ต้องล้มหาย เกิดผลเสียมากมายเท่าที่คนทำงานมาตลอดชีวิตในอุตสาหกรรมสื่อจะสูญเสียได้ในช่วงเริ่มต้นทีวีดิจิทัล มี 2 ช่อง (ไทยทีวีและโลก้า) ต้องปิดตัวลงตั้งแต่ปีแรก ส่วนที่เหลืออยู่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก”

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ได้หารือกับ กสทช. เพื่อแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องบอกว่าการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล มาในจังหวะที่เกิด Technology Disruption ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อไทยและพฤติกรรมผู้บริโภค จึงเป็นที่มาของการเสนอขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะกระบวนการฟ้องร้องต้องใช้ระยะเวลานานในการแก้ปัญหา

“รัฐบาลเองก็เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและชะตากรรมที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องเจอ แต่ก็มีกฎหมายและรายละเอียดจำนวนมาก การแก้ปัญหาจึงต้องออกมาเป็นคำสั่ง คสช. มาตรา 44 เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้ทันเหตุการณ์ เพราะหากยังล่าช้าออกไป อาจมีผู้ประกอบการที่ล้มหายตายจากไปอีก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมสื่อและประชาชน รัฐบาลจึงตัดสินใจเข้ามาช่วยเหลือ”

ONE 31 – GMM 25 ค่าใช้จ่ายลด 3,000 ล้าน

ปัจจุบันทีวีดิจิทัลจ่ายเงินค่าใบอนุญาตไปแล้ว 70% คำสั่ง คสช. มาตรา 44 ที่ยกเว้นค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และ 6 และค่าเช่าโครงข่าย MUX ตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออยู่อีก 10 ปี ให้กับทีวีดิจิทัล “ทุกราย” รวมมูลค่ากว่า 32,000 ล้านบาท ถือเป็นสิ่งที่ทีวีดิจิทัล “พอใจ” และ กสทช. สามารถทำได้ในด้านกฎหมาย เพราะเป็นการคืนคลื่นความถี่ 700 MHz ของทีวี เพื่อนำกลับไปประมูล 5G ที่จะได้มูลค่าสูงกว่า การแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล หากยิ่งยืดเยื้อ “เลือดคงไหลหมดตัว”  

หลังใช้ยาแรงด้วยการเปิดทาง “คืนใบอนุญาต” มี 7 ช่องที่ขอพอแค่นี้ ส่วนอีก 15 ช่อง ขอไปต่อ รวมทั้ง 2 ช่องของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อากู๋ มองว่าผู้ประกอบการที่ไปต่อ “ทุกราย” มีภาระลดลงทั้งค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และ 6 รวมทั้งค่าโครงข่าย MUX ทีวีดิจิทัลช่อง ONE 31 และ GMM 25 ลดค่าใช้จ่ายลงได้ 3,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญาที่เหลืออยู่อีก 10 ปี

เมื่อช่องวันและจีเอ็มเอ็ม 25 ไม่มีภาระต้นทุนค่าใบอนุญาตและค่าโครงข่าย MUX ที่ต้องจ่าย ก็ถือว่าเราตัวเบา สามารถลงทุนแข่งขันคอนเทนต์ได้เต็มที่

 

มั่นใจ “แกรมมี่” กำไรต่อเนื่อง

หลังจากมีมาตรา 44 มาช่วยลดภาระต้นทุน “ทีวีดิจิทัล” ก็ต้องบอกว่าเป็นทิศทางที่สดใสของ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” หลังจากนี้ เพราะธุรกิจส่งสัญญาณ “บวก” มาตั้งแต่ปี 2561 ที่ผลประกอบการเริ่มกลับมากำไรอีกครั้งในรอบ 7 ปี แม้ยังมีภาวะ “ขาดทุน” ของทีวีดิจิทัลอยู่ก็ตาม และปีนี้ก็จะเห็นกำไรต่อเนื่อง

“ปีก่อนยังไม่มีมาตรา 44 ยกเว้นค่าใบอนุญาตงวดที่เหลือ แกรมมี่ก็พาบริษัทกลับมากำไรได้แล้ว ปีนี้ มีมาตรา 44 เข้ามาแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ที่ส่งผลดีต่อทีวีดิจิทัลทุกราย และ 2 ช่องของแกรมมี่ด้วย ปีนี้มั่นใจทำกำไรได้ต่อเนื่อง”

สถานการณ์ทีวีดิจิทัลช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แกรมมี่ต้องดึงกลุ่มทุนเข้ามาร่วมถือหุ้น ถือเป็นการหาพาร์ตเนอร์ที่ดีมาเพิ่มทุนเพื่อขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น เป็นรูปแบบหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ เพราะการลงทุนในธุรกิจขนาดใหญ่ “ไม่จำเป็นต้องเดินคนเดียว” หลังจากนี้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่จะมีพันธมิตรใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

แต่ก็ต้องบอกว่า 5 ปีของทีวีดิจิทัล รวมทั้งทีวีดาวเทียมและเพย์ทีวี เป็นบทเรียนที่ได้สั่งสอนพวกเราและกลุ่มเจน 2 ทั้งลูกๆ (ฟ้าใหม่ ระฟ้า อิงฟ้า และฟ้าฉาย ดำรงชัยธรรม) รวมทั้งผู้บริหารรุ่นใหม่ ภาวิต จิตรกร, บอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ, สถาพร พานิชรักษาพงศ์ และท่านอื่นๆ ได้เรียนรู้การทำธุรกิจและการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน

เราได้บทเรียนอย่างครบถ้วนและโชคดีที่เราผ่านมาได้ หลังจากนี้การทำงานจะระมัดระวังและไม่กลับไปสู่ปัญหาแบบเดิม เวลาเราเจอกับวิกฤติและปัญหาแล้วสามารถผ่านพ้นมาได้ ก็ทำให้เราแข็งแรงและมั่นคงขึ้น

ทีวีดิจิทัล 2 ช่อง เข้าตลาด ปี 63

ตั้งแต่ปี 2561 ที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่กลับมา “ทำกำไร” ทีวีดิจิทัล “ช่องวัน” ก็มีผลประกอบการ “เป็นบวก” ช่องวันกำไรแล้ว ตั้งแต่ปี 2561 และปีนี้ก็ทำกำไร และปีหน้าก็ยังทำกำไรแน่นอน เพราะมาตรา 44 ช่วยลดต้นทุนได้ 200 ล้านต่อปี ส่วนช่อง GMM 25 ก็ขาดทุนไม่มากแล้ว และไปต่อได้ ไม่มีปัญหาอะไร ต้นทุนลดไปได้ 100 ล้านบาทต่อปีเช่นกัน

ส่วนช่อง GMM 25 กำลังเตรียมโครงสร้างใหม่ เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนทั้งค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และ 6 และค่าเช่าโครงข่ายแล้ว คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยในเดือน มิ.ย. นี้

“ธุรกิจทีวีดิจิทัล หลังมีมาตรา 44 เราก็สบายเลย หลังจากนี้ไม่ต้องห่วงกำไรแน่นอน ทั้งช่องวัน 31 และ GMM 25 วางเป้าหมายปี 2563 จะนำ 2 ช่องเข้า IPO”

“ทีวี” ยังเป็นโอกาส

แม้การเป็นเจ้าของทีวีดิจิทัลทำให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ต้องเผชิญภาวะ “ขาดทุน” มาต่อเนื่อง แต่ “อากู๋” ยังมองทีวีเป็น “โอกาส” เพราะพื้นฐานของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ คือ Content Provider โดยทีวีเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ยังมีดิจิทัล แพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Viu, Facebook, YouTube คอนเทนต์ของแกรมมี่ไปได้ทุก Window จึงไม่ได้มองแค่ธุรกิจทีวีเท่านั้น แต่เป็น Content Provider ที่ไปได้ทุกช่องทาง

“แกรมมี่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทีวี และทีวียังคงเป็นสื่อหลักไปอีกหลายปี และเรามองทุกแพลตฟอร์มที่นำพาคอนเทนต์ของแกรมมี่ไปสู่ผู้คนได้ ก็จะส่งออกไปเผยแพร่ทุกช่องทาง”

ดังนั้น Content Provider ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทีวีด้วย ในเชิงธุรกิจน่าจะสดใส ยิ่งแพลตฟอร์มเยอะขึ้น ยิ่งทำให้คอนเทนต์ไปได้หลาย Window โดยเฉพาะในต่างประเทศซึ่งเป็นพันธมิตรกับ Netflix และยังทำงานร่วมกับ Netflix ในการผลิต Netflix Original เห็นได้ว่าแกรมมี่ไม่ได้ทำคอนเทนต์เพื่อทีวีอย่างเดียว

ธุรกิจเพลง “ไม่เคยขาดทุน”

ในยุคที่เทคโนโลยีถาโถมธุรกิจเพลงให้ต้องล้มหาย แผ่นซีดีเพลงกลายเป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่แทบไม่รู้จัก แต่ “อากู๋” บอกว่า ธุรกิจเพลงของแกรมมี่ ที่ประกอบด้วย การจำหน่ายสินค้าเพลง (Physical Product) ดิจิทัล มิวสิก, การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์, โชว์บิซ, การบริหารศิลปิน และธุรกิจอื่นๆ ยังเป็นธุรกิจหลักของแกรมมี่

และธุรกิจเพลง “ไม่เคยขาดทุน” ตลอด 36 ปีของแกรมมี่ ธุรกิจเพลงทำกำไรมาตลอด และกำไรจากธุรกิจเพลง ยังมาสนับสนุนธุรกิจทีวีดิจิทัล ที่อยู่ในภาวะเลือดไหลในช่วงที่ผ่านมา ยืนยันได้จากผลประกอบการไตรมาสแรก ปี 2562 ธุรกิจเพลง คิดเป็นสัดส่วน 54% เติบโต 16.9% จากปีก่อน

การบริหารธุรกิจเพลงให้เติบโตได้ มาจากการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์คอนเทนต์เพลงทั้งหมด และมีแพลตฟอร์มสำหรับเพลงครบถ้วนที่สุด และสามารถบริหารจัดการหารายได้ในทุกแพลตฟอร์มกับการเปลี่ยนแปลงในยุค Disruption ธุรกิจเพลงจึงไปต่อไปทั้ง Physical และ Digital Platform

ในธุรกิจเพลง แกรมมี่เป็นเจ้าของ Infrastructure ของอุตสาหกรรมเพลงในประเทศไทย จึงบริหารได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเปิดให้บริการดูแลลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากเจ้าของลิขสิทธิ์ทุกรายที่ต้องการใช้แพลตฟอร์มของแกรมมี่ ทั้ง Physical, Digital Platform, โชว์บิซ อีเวนต์

นับจากยุคก่อตั้งแกรมมี่ ที่เริ่มจากธุรกิจเพลง ต่อมาเป็นยุคที่มีแนวร่วมจากพาร์ตเนอร์ หลังจากนี้ก็จะเห็นการทำงานร่วมกับพันธมิตรใหม่ๆ เพิ่มเติม และอาจมีการร่วมทุนอีก เพราะธุรกิจวันนี้ใหญ่กว่ายุคก่อตั้งมากมาย นอกจากเพลง ทีวีดิจิทัล ยังมี โฮมช้อปปิ้ง ภาพยนตร์ วิทยุ โชว์บิซ  

“เราเป็น Entertainment Business ที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ผลิตและจัดจำหน่ายเอง มีแฟลตฟอร์มเอง และทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ทุกรายที่จะนำคอนเทนต์ของแกรมมี่ไปอยู่ในทุกช่องทาง”   

]]>
1232585