OYO – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 23 May 2024 13:58:14 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สตาร์ทอัพสายโรงแรม “OYO” ยกเลิกเปิด IPO หันพึ่งนักลงทุนแม้จะถูกลดมูลค่าบริษัทฮวบ 70% https://positioningmag.com/1474914 Thu, 23 May 2024 13:50:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1474914 สตาร์ทอัพสายโรงแรมจากอินเดีย “OYO” ถอนตัวจากการเปิด IPO ในตลาดหุ้นอินเดียเป็นครั้งที่สอง และหันไปพึ่งพิงนักลงทุนอย่างที่เคย แม้จะถูกลดมูลค่าบริษัทลงมากกว่า 70% เทียบกับจุดพีคที่เคยไปถึงเมื่อปี 2021

OYO Hotels and Homes เป็นบริษัทในเครือ Oravel Stays จากอินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่มีแบ็กอัพรายใหญ่คือ SoftBank จากญี่ปุ่น ที่ผ่านมาบริษัท OYO พยายามจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินเดียมาแล้ว 2 ครั้ง แต่กลับถอนตัวและยกเลิกไปทั้งหมด

ล่าสุดมีรายงานว่า OYO กำลังเข้าสู่การระดมทุนรอบใหม่ แต่ถูกตีมูลค่าบริษัทลดลงเหลือเพียง 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงถึง 74% จากเมื่อปี 2021 ซึ่งบริษัทเคยมีมูลค่าสูงถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นรอบที่มี Microsoft มาร่วมลงทุนด้วย

The Economics Times รายงานว่า Ritesh Agarwal ผู้ก่อตั้ง OYO กำลังพูดคุยกับนักระดมทุนที่เป็นผู้มีความมั่งคั่งสูงอยู่หลายราย โดยสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า หนึ่งในนั้นที่แสดงความสนใจคือ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมาเลเซีย

รายละเอียดการลงทุนยังพูดคุยกันอยู่ แต่ทาง OYO คาดการณ์ว่าการระดมทุนรอบนี้จะได้เงินลงทุนรวม 70-80 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการระดมทุนรอบนี้จะเป็นการ ‘รีไฟแนนซ์’ หนี้สินของบริษัท

ย้อนกลับไปในเส้นทาง IPO ของบริษัท OYO บริษัทเคยยื่นไฟลิ่งขอจดทะเบียนในตลาดหุ้นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2021 ก่อนที่ SoftBank ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จะตัดสินใจลดการตีมูลค่าบริษัทนี้ลงจากเดิม 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือเพียง 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ต่อมา OYO ต้องทำเอกสาร IPO ใหม่ ลดขนาดบริษัทลงประมาณ 40-60% และยื่นไฟลิ่งใหม่อีกครั้งเมื่อเดือนเมษายน 2023

หลังจากนั้นกลับมีข่าวออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ว่าบริษัทได้ถอนตัวจากการเปิด IPO เป็นครั้งที่สอง ก่อนที่ทางตลาดหุ้นอินเดียจะยืนยันเองในเดือนนี้ว่า OYO ได้ถอนตัวไปแล้วจริงๆ

ปัจจุบัน SoftBank มีหุ้นอยู่ใน OYO เป็นสัดส่วน 46% ตามด้วยผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Ritesh Agarwal ถือหุ้น 33% ส่วนที่เหลือเป็นนักลงทุนรายอื่นๆ เช่น Lightspeed, Peak XV Partners

OYO มีการดำเนินธุรกิจในไทยด้วยเช่นกัน โดยเข้ามาเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ใช้โมเดลธุรกิจแบบแฟรนไชส์ คือให้ใช้แบรนด์สวมในโรงแรมเดิม รวมถึงใช้ระบบบริหารและจองห้องพักของ OYO เป้าหมายของบริษัทคือบรรดาโรงแรมบัดเจ็ทขนาดเล็กที่เข้าถึงลูกค้ายากเมื่อไม่มีแบรนด์ นอกจากนี้ ปีนี้บริษัทยังแตกแบรนด์ใหม่ชื่อ ‘Palette’ มาเจาะตลาดโรงแรมระดับกลางในไทยด้วย

Source

]]>
1474914
SoftBank จับมือบริษัทแม่ OYO เปิดเชนโรงแรมระดับ 4-5 ดาวแบรนด์ใหม่ในชื่อ “Sunday” https://positioningmag.com/1445225 Fri, 22 Sep 2023 07:40:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1445225 SoftBank บริษัทลงทุนจากญี่ปุ่น จับมือ Oravel บริษัทแม่ของเชนโรงแรมบัดเจ็ท OYO จากอินเดีย ลงทุนขยายเชนโรงแรมระดับ 4-5 ดาวแบรนด์ใหม่ในชื่อ “Sunday” เริ่มต้นเจาะตลาดเมืองเทียร์ 2 ของอินเดีย

การร่วมทุนของ SoftBank และ Oravel จะอยู่ภายใต้บริษัทใหม่คือ “Mountainia” เป็นผู้บริหารโรงแรมเชน “Sunday” เน้นเจาะตลาดเมืองเทียร์ 2 ที่กำลังเติบโตของ “อินเดีย”

โดย Sunday เริ่มต้นเปิดตัวโรงแรมแห่งแรกแล้วที่เมือง “ชัยปุระ” จำนวนห้องพัก 90 ห้อง พร้อมด้วยร้านอาหาร บาร์ สปา และห้องประชุม

Mountainia คาดว่าจะเปิดโรงแรม Sunday เพิ่มอีก 4 แห่งได้ภายในสิ้นปีนี้

“ตลาดการท่องเที่ยวระดับพรีเมียมในอินเดียนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว และลูกค้ากำลังต้องการที่พักระดับไฮเอนด์ โดยเมืองระดับเทียร์ 1 ที่ยังไม่มีรถไฟฟ้าและเมืองระดับเทียร์ 2 นั้นน่าสนใจเพราะเป็นตลาดที่สมดุลในด้านการลงทุน เมืองอยู่ในช่วงที่กำลังเติบโต ขณะที่กลุ่มโรงแรมระดับพรีเมียมยังแข่งขันไม่สูงนัก รวมถึงสินทรัพย์โรงแรมในเมืองเหล่านี้ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ราคาดี” แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าว Your Story

บริษัทจอยต์เวนเจอร์แห่งนี้จะดูแลเรื่องการลงทุน ส่วนการบริหารเชนโรงแรม Sunday จะบริหารโดยทีมของ Oravel

การร่วมทุนครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่สองบริษัทมีการร่วมทุนกัน เพราะก่อนหน้านี้ทั้งคู่เคยจับมือกันเปิดตัวเชนโรงแรม Tabist ในญี่ปุ่นมาแล้ว โดย Tabist จะเน้นจับตลาดบริหารโรงแรมเก่าแก่ (เรียวกัง) และโรงแรมขนาดเล็กในญี่ปุ่น

นอกจากนี้ SoftBank เองถือเป็นผู้ร่วมลงทุนในเชนโรงแรม “OYO” ของ Oravel ด้วย โดยโรงแรม OYO เป็นเชนโรงแรมบัดเจ็ทที่ใช้กลยุทธ์เจาะตลาดโรงแรมขนาดเล็กให้เข้ามาอยู่ในเชนเพื่อเพิ่มยอดจองห้องพัก เชนโรงแรม OYO เริ่มขยายกิจการเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 2019

Source

]]>
1445225
เครือโรงแรมอินเดีย OYO ประกาศ “เลย์ออฟ” 600 ตำแหน่ง ปรับโครงสร้างบริษัทเตรียม IPO https://positioningmag.com/1411082 Mon, 05 Dec 2022 05:37:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1411082 เครือโรงแรม OYO จากอินเดีย ประกาศการ “เลย์ออฟ” 600 ตำแหน่งในสายงานเทคโนโลยี แต่จะมีการจ้างเพิ่ม 250 ตำแหน่งเพื่อเสริมทัพด้านการบริหารความสัมพันธ์กับพาร์ทเนอร์โรงแรม โดยเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ คาดปี 2023 อาจได้เปิด IPO ตามเป้า

OYO ประกาศการเลย์ออฟ 600 ตำแหน่งในสายงานเทคโนโลยี แต่จะมีการจ้างเพิ่ม 250 ตำแหน่งในกลุ่มงานบริหารจัดการณ์ความสัมพันธ์กับพาร์ทเนอร์โรงแรมและพัฒนาธุรกิจ ทำให้บริษัทจะลดขนาดลงประมาณ 10% จากเดิมที่มีพนักงานกว่า 3,700 คนในบริษัท

บริษัทระบุว่า การเลย์ออฟครั้งนี้จะเป็นการปรับโครงสร้างองค์กร ทีมงานวิศวกรและผลิตภัณฑ์จะมีการยุบรวมกันเพื่อการทำงานที่ราบรื่นยิ่งขึ้น

ในทีมเทคโนโลยีที่ถูกเลย์ออฟ บางส่วนมาจากทีมที่เคยพัฒนาโครงการนำร่องต่างๆ เช่น เกมภายในแอปพลิเคชัน, การคัดสรรคอนเทนต์โซเชียล ซึ่งบางตำแหน่งที่ไม่ถูกเลย์ออฟ จะโยกย้ายไปทำงานในทีมอื่นแทน เช่น การกำหนดราคาโดยใช้ AI

ส่วนการจ้างเพิ่มในกลุ่มบริหารจัดการความสัมพันธ์ เป็นไปเพื่อเพิ่มความพึงพอใจให้กับพาร์ทเนอร์โรงแรมและลูกค้าที่เข้าพัก ขณะที่ทีมพัฒนาธุรกิจจะทำให้บริษัทเพิ่มจำนวนโรงแรมบ้านพักในแพลตฟอร์มได้เร็วขึ้น

บริษัทบอกด้วยว่า จะมีการช่วยเหลือพนักงานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ได้งานใหม่ที่เหมาะสม และจะต่ออายุประกันสุขภาพให้ต่อเนื่องเฉลี่ย 3 เดือนหลังการเลย์ออฟ

“โชคไม่ดีที่เราจำเป็นต้องแยกทางกับบุคลากรระดับทาเลนต์จำนวนมากที่เคยได้สร้างคุณค่าให้กับบริษัท” Ritesh Agarwal ผู้ก่อตั้งและซีอีโอกลุ่ม OYO กล่าว “เมื่อ OYO เติบโตขึ้นในอนาคตและต้องการตำแหน่งเหล่านี้อีกครั้ง เราสัญญาว่าจะติดต่อไปที่พวกเขาก่อนเป็นลำดับแรกเพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้กลับมาร่วมงานกับเราอีก”

OYO นั้นมีแผนจะเปิด IPO ในตลาดหุ้นอินเดียมาตลอด โดยการคาดการณ์เป้าหมายขณะนี้ การ IPO น่าจะเกิดขึ้นช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ปี 2023 แต่การประเมินมูลค่าบริษัทนั้นตกต่ำจากที่เคยถูกประเมินไว้สูงถึง 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานักลงทุนรายใหญ่อย่าง SoftBank Group มีการลดการประเมินมูลค่าบริษัท OYO ลงถึง 20% จนทำให้ตลาดมองว่ามูลค่าบริษัทน่าจะลงมาเหลือเพียง 6,500 ล้านเหรียญเท่านั้น

สำหรับการฟื้นตัวของบริษัท เป็นไปตามสภาวะตลาดท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก โดยเฉพาะในอินเดียที่ได้ยอดจองส่วนใหญ่มาจากกลุ่มเดินทางทางธุรกิจและอีเวนต์ต่างๆ

Source: NDTV, Skift

]]>
1411082
OYO ไทยโชว์เหนือ! เปิดตัว 3 เดือนเพิ่มจำนวนห้องพักเท่าตัว ท่ามกลางความปั่นป่วนของบริษัทแม่ https://positioningmag.com/1262233 Tue, 28 Jan 2020 10:05:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1262233 เชนโรงแรมจากอินเดีย OYO (โอโย) ประกาศจำนวนแขกเข้าพักครบ 1 ล้านคนภายใน 3 เดือนหลังเปิดตัวเป็นทางการ จำนวนห้องพักเพิ่มเท่าตัวเป็น 15,000 ห้อง กระจายใน 25 เมืองของไทย อย่างไรก็ตาม บริษัทแม่อยู่ในช่วงแห่งความท้าทายจากการปรับโครงสร้างเลย์ออฟพนักงาน 2,000 คน ลูกค้าองค์กรหนีหายจากปัญหาความปลอดภัยในโรงแรม

อชูโตช สิงห์ ผู้อำนวยการบริหารประจำประเทศไทย OYO เปิดเผยตัวเลขการเติบโตของบริษัทในไทย ภายใน 3 เดือนหลังเปิดตัวเป็นทางการ OYO มีโรงแรมในเครือแล้ว 500 แห่ง จำนวนรวม 15,000 ห้อง และมีแขกเข้าพักสะสม 1 ล้านคน

ตัวเลขโรงแรมในเครือนี้ถือเป็นการเติบโต เท่าตัว จากวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ OYO มีจำนวนห้องพัก 8,000 ห้อง ในโรงแรม 250 แห่ง และขยายจำนวนเมืองที่เปิดบริการจาก 13 จังหวัดเป็น 25 จังหวัด

OYO เป็นสตาร์ทอัพเชนโรงแรมจากอินเดียและนับเป็นเชนโรงแรมที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ปัจจุบันมีสาขาอยู่ 80 ประเทศทั่วโลก มีโรงแรมในเครือกว่า 2,500 แห่ง

อชูโตช สิงห์ ผู้อำนวยการบริหารประจำประเทศไทย OYO

โดยสามารถเติบโตได้เร็วเพราะใช้โมเดลธุรกิจแบบ “แฟรนไชส์” ขายลิขสิทธิ์การใช้แบรนด์และระบบบริหารจัดการดิจิทัลของบริษัทให้กับโรงแรมดั้งเดิม มีการแนะนำปรับปรุงโรงแรม ฝึกบุคลากรของโรงแรมเองให้บริการได้เหมาะสม แลกกับค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์และสัญญาส่วนแบ่งรายได้

โมเดลแบบ OYO เน้นเจาะกลุ่มบัดเจทโฮเทล ตัวอย่างในไทยระดับราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 400-700 บาทต่อคืน และเป็นโรงแรมขนาดเล็กไม่เกิน 100 ห้องต่อแห่ง ทำให้เป็นช่องว่างตลาดที่ปกติเชนโรงแรมขนาดใหญ่ไม่ทำตลาด

โรงแรม OYO ในไทย (photo: oyorooms.com)

อย่างไรก็ตาม สตาร์ทอัพที่เติบโตเร็วอย่าง OYO อยู่ในช่วงที่ท้าทาย หลัง โรฮิต คาปูร์ ซีอีโอประจำอินเดียและภูมิภาคเอเชียใต้ ประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กรเลย์ออฟพนักงานประมาณ 2,000 คน หรือ 10-15% ของจำนวนพนักงานรวม 12,000 คน

“ผมไม่ลังเลเลยที่จะบอกว่า เราก้าวไปเร็วเกินตัวในบางจุด และเราจำเป็นต้องกลับมาปรับจูนให้ลงตัว” คาปูร์กล่าว

นอกจากนี้ สำนักข่าว The Economic Times ยังรายงานด้วยว่า OYO อินเดียกำลังจะสูญเสียลูกค้าองค์กรหลายรายไป เช่น L&T Infotech, Vodafone Idea, Tata Consultancy Services

ลูกค้าเหล่านี้เป็นพาร์ทเนอร์ของ OYO ที่เลือกโรงแรมในเครือให้พนักงานพักระหว่างเดินทางไปทำงานต่างเมือง แต่เนื่องจากพนักงานมีผลตอบรับกลับมาหลายครั้งว่าโรงแรมไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะกับผู้หญิง รวมไปถึงคุณภาพการบริการหลายด้าน ทำให้ลูกค้าองค์กรกำลังจะยกเลิกการเป็นพาร์ตเนอร์ โดยสำนักข่าวรายงานว่ารายได้จากองค์กรคิดเป็น 18% ของรายได้รวมของ OYO

Source: CNBC, The Economic Times

]]>
1262233
เชนโรงแรมอินเดีย “OYO” บุกไทยอย่างเป็นทางการ ซุ่มทำตลาด 8 เดือนกวาดพอร์ตแล้ว 8,000 ห้อง https://positioningmag.com/1253360 Tue, 12 Nov 2019 09:27:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1253360 สตาร์ทอัพรับบริหารโรงแรมระดับโลก “OYO” เปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการ หลังเข้าตลาด 8 เดือนเซ็นดีลรับบริหารแล้ว 250 แห่ง รวม 8,000 ห้อง วางโมเดลธุรกิจเจาะโรงแรมขนาดเล็กในราคาบัดเจ็ทโฮเทล

สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่กำลังมาแรงอย่าง OYO ในที่สุดก็เข้าเปิดตัวในประเทศไทยหลังจากลงตลาดไปแล้วมากกว่า 80 ประเทศ และสร้างปรากฏการณ์การเติบโตของธุรกิจโรงแรมที่เร็วที่สุดในโลก นับจากเดือนธันวาคม 2017 บริษัทนี้รับบริหารโรงแรมอยู่ 53,000 ห้อง ภายในเดือนกันยายน 2019 ตัวเลขนั้นพุ่งทะยานไปถึง 1 ล้านห้อง และกลายเป็น แบรนด์ที่มีโรงแรมในเครือมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ภายในระยะเวลาหลังก่อตั้งเพียง 6 ปี

สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่ 5 ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ OYO เข้ามาเปิดตลาดต่อจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดย “อชูโตช สิงห์” ผู้อำนวยการบริหาร ประจำประเทศไทย OYO เปิดเผยว่าหลังจากเข้าสู่ตลาด 8 เดือน ปัจจุบันแบรนด์มีโรงแรมในเครือแล้ว 8,000 ห้อง จาก 250 โรงแรม กระจายอยู่ใน 13 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต หัวหิน เชียงใหม่ เชียงราย ตราด สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น เป็นต้น

สตาร์ทอัพผู้ดิสรัปต์วงการ

โมเดลธุรกิจรับบริหารโรงแรมของ OYO ที่เข้ามาดิสรัปต์วงการคือการเลือกจับกลุ่มฐานพีระมิด นั่นคือกลุ่มโรงแรมขนาดเล็กต่ำกว่า 100 ห้องต่อแห่งและอยู่ในกลุ่มราคาบัดเจ็ทโฮเทล รวมถึงเป็นระบบแบบแฟรนไชส์ที่เข้าไปฝึกบุคลากรของโรงแรมที่มีอยู่เดิมให้ทำงานตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ โดยบริษัทเพียงแต่มีผู้จัดการพื้นที่คอยดูแลห่างๆ

โรงแรม OYO ในไทย (photo: oyorooms.com)

สิ่งเหล่านี้ต่างจากเชนโรงแรมยักษ์ใหญ่ดั้งเดิมที่มักเลือกรับบริหารโรงแรมขนาดกลาง หรือถ้าเป็นขนาดเล็กก็จะเป็นโรงแรมแบบบูทิคโฮเทลที่ได้ราคาดี รวมถึงการบริหารงานจะว่าจ้างบุคลากรภายใต้การควบคุมโดยตรงของเชนโรงแรมนั้นๆ

ดังนั้น OYO จึงเป็นการจับเป้าหมายตลาด B2B ที่เป็นรายย่อย โรงแรมหลายแห่งที่แบรนด์นี้บริหารอยู่มีจำนวนห้องเพียงหลักสิบ และระบบแฟรนไชส์ทำให้ขยายตัวได้เร็วกว่าการเข้าบริหารเองโดยตรง

(จากซ้าย) อชูโตช สิงห์ ผู้อำนวยการบริหาร ประจำประเทศไทย OYO , อัลปานา ดูเบ อุปทูต ณ สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย และ มัณดา ไวดิย่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง OYO

“มัณดา ไวดิย่า” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง OYO เสริมด้วยว่า การที่บริษัทสามารถประเมินโรงแรมที่จะเข้าบริหารได้เร็ว และบริหารแบบแฟรนไชส์ได้ เพราะบริษัทใช้เทคโนโลยีเป็นแกนหลัก

ตัวอย่างเช่น การตรวจโรงแรมของออดิทก่อนจะเสนอแผนและสัญญาดำเนินงานนั้น บริษัทใช้แอปพลิเคชั่นมือถือในการตรวจตามคีย์ที่วางเอาไว้และระบบจะประเมินแผนงานออกมาอัตโนมัติ ทำให้ออดิทของบริษัททำงานด้านสัญญารับบริหารได้เร็วกว่าระบบเชนโรงแรมดั้งเดิมถึง 10 เท่า

ส่วนการบริหารโรงแรม บริษัทมีแพลตฟอร์มสำเร็จรูป OYO Os ที่ใช้บริหารแบบ end-to-end ตั้งแต่รับจองห้อง เช็กประวัติลูกค้า สั่งงานและตรวจงานทำความสะอาด รับออเดอร์อาหาร จัดการการเงิน จนถึงวิเคราะห์ดาต้าทั้งหมดของโรงแรม

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแพลตฟอร์มจองออนไลน์ของตนเองทั้งบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น แม้ว่าจะไม่ได้ปิดกั้นการปล่อยห้องขายบน OTA (Online Travel Agency) อื่นๆ แต่พบว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ผู้เข้าพักจะจองผ่านระบบของ OYO มากกว่า 80%

ช้อนโรงแรมในภาวะวิกฤตเข้าระบบ

OYO ยังวางกลุ่มเป้าหมายของตัวเองเป็นโรงแรมเล็กๆ ที่อยู่ในภาวะซบเซา โดยบริษัทจะเข้าไปวางแผนปรับโฉมโรงแรมให้เป็นไปตามมาตรฐานและขึ้นป้ายแบรนด์ เช่น ทาสีใหม่ เปลี่ยน amenities ในห้องพัก เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งถ้าเจ้าของโรงแรมไม่พร้อมลงทุน OYO พร้อมจะร่วมลงทุนด้วยในการปรับโฉม

เมื่อพาร์ตเนอร์กับ OYO บริษัทจะเข้าติดตั้งป้ายแบรนด์โรงแรม (photo: oyorooms.com)

จากนั้นจะเป็นการลงระบบ OYO Os ให้ใช้บริหาร ซึ่งจะปรับราคาขึ้นลงตามภาวะตลาดตามที่ระบบ OYO ประเมินด้วยการเก็บดาต้าพอยท์ต่างๆ เช่น ราคาและจำนวนห้องพักว่างในทำเลเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา และในภาพใหญ่นั้นบริษัทจะสร้างแบรนด์ให้น่าเชื่อถือเพื่อเพิ่มผู้เข้าพัก

เหล่านี้แลกกับสัญญาบริหารระยะ 1-5 ปีพร้อมค่าคอมมิชชั่นที่เจ้าของจ่ายให้บริษัทตามรายได้ที่เกิดขึ้นจริง

“เราให้องค์ความรู้ในการบริหารราคาให้ตรงกับตลาด ทำให้โรงแรมเล็กๆ ปรากฏบนแพลตฟอร์มการขายออนไลน์มากขึ้น และทำให้โรงแรมมีมาตรฐาน” อชูโตชกล่าว “เราเก็บค่าคอมมิชชั่นจากรายได้ที่เข้ามา ดังนั้นรายได้ยิ่งมาก ทุกคนก็ยิ่งได้มาก เราจึงเป็นพาร์ตเนอร์ที่เติบโตไปพร้อมกัน”

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า OYO จะมีแต่ข้อดี สำนักข่าว Skift รายงานถึงแบรนด์ OYO ในสหรัฐอเมริกาว่าสร้างความปวดหัวให้ผู้จัดการไม่น้อย แม้ว่าจะทำให้รายได้โรงแรมเพิ่มขึ้นและมีแขกเข้าพักมากขึ้นจริง แต่ระบบ Os ทำงานได้ไม่ดีนัก ทำให้เกิดภาวะ Overbooking บ่อยครั้ง รวมถึงแบรนด์ใช้กลยุทธ์ตัดราคาซึ่งบางครั้งถูกลงมากจนมีแขกที่ไม่พึงประสงค์เข้าพัก

ในไทยนั้น Positioning สำรวจราคาจองออนไลน์ของโรงแรม OYO ประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในช่วงราคา 400-700 บาทต่อคืน และมีบางแห่งที่ลงไปต่ำสุดที่ 280 บาทต่อคืน

ตลาดบัดเจ็ทโฮเทล 1 ล้านห้อง

อชูโตชกล่าวต่อว่า บริษัทประเมินว่าประเทศไทยมีตลาดบัดเจทโฮเทลอยู่ประมาณ 30,000-50,000 แห่ง จำนวนรวมมากกว่า 1 ล้านห้องทั่วประเทศ ซึ่งอาจเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทได้ในอนาคต ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ แต่ที่บริษัทตัดสินใจเข้าสู่ประเทศไทยเป็นอันดับ 5 ในภูมิภาคนี้ทั้งที่ขนาดตลาดน่าสนใจ เพราะผู้ประกอบการไทยมีความรู้ในการดำเนินธุรกิจอยู่แล้วและเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ OYO ต้องคิดโมเดลธุรกิจอย่างละเอียดขึ้นเพื่อจะเจาะตลาด

แม้จะไม่ยอมปริปากบอกเป้าหมายที่ชัดเจน แต่มัณดาแย้มว่า OYO ต้องการเป็นเชนโรงแรมชั้นนำในไทย ซึ่งหากจะติดอันดับต้นๆ ได้ต้องขยายพอร์ตไปถึง 30,000-40,000 ห้องให้ได้ในเร็ววัน

]]>
1253360