SUNTORY – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sun, 05 Dec 2021 12:32:37 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘Suntory’ เปิดตัวขวด PET ที่ผลิตจากพืช 100% พร้อมตั้งเป้าใช้งานในปี 2030 https://positioningmag.com/1365463 Sun, 05 Dec 2021 05:32:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1365463 Suntory Group ได้ประกาศว่าจะใช้ขวด PET ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 100% ทั่วโลกภายในปี 2030 และกำจัดพลาสติกบริสุทธิ์ที่ใช้ปิโตรเลียมทั้งหมดออกจากการผลิตขวด PET ทั่วโลก หลังบริษัทประสบความสำเร็จในการสร้างขวด PET ต้นแบบที่ทำจากพืช 100% และใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ต้นแบบของแบรนด์ Orangina ในยุโรป และแบรนด์ Suntory Tennensui น้ำแร่บรรจุขวดที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น

การประกาศครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าหลังจากเป็นพันธมิตรที่ยาวนานเกือบ 10 ปีกับบริษัท Anellotech บริษัทเทคโนโลยีด้านความยั่งยืนในสหรัฐฯ โดยขวดต้นแบบจากพืชของ Suntory ผลิตขึ้นจากการผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ของ Anellotech ที่นำพาราไซลีนจากพืชซึ่งได้มาจากเศษไม้ และได้แปลงเป็น PTA (กรดเทเรฟทาลิก) จากพืช 70% และ MEG (โมโนเอทิลีนไกลคอล) จากพืช 30% ที่มีอยู่แล้วซึ่งทำจากกากน้ำตาลที่ Suntory ใช้ในแบรนด์ Tennensui ในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2013

“เรายินดีกับความสำเร็จนี้ เนื่องจากมันทำให้เราเข้าใกล้อีกขั้นในการส่งมอบขวด PET แบบยั่งยืนให้ถึงมือผู้บริโภคของเรา” Tsunehiko Yokoi เจ้าหน้าที่บริหารของ Suntory MONOZUKURI Expert Ltd. กล่าว

นวัตกรรมนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งสู่การบรรลุความทะเยอทะยานของ Suntory Group ในการเลิกใช้ขวดพลาสติก PET บริสุทธิ์ที่ได้จากปิโตรเลียมทั้งหมดทั่วโลก โดยเปลี่ยนไปใช้ขวด PET รีไซเคิลหรือจากพืช 100% ภายในปี 2030 โดยขวดต้นแบบจากพืชที่รีไซเคิลได้ทั้งหมดคาดว่าจะ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับขวดบริสุทธิ์ที่ได้จากปิโตรเลียม

เทคโนโลยีนี้เป็นหนึ่งในการลงทุนล่าสุดจาก Suntory ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของบริษัทในการจัดการกับผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ในปี 1997 Suntory ได้กำหนด “แนวทางสำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม” สำหรับขวดพลาสติกโดยเฉพาะ บริษัทได้ใช้กลยุทธ์ 2R+B (ลด/รีไซเคิล + ชีวภาพ) เพื่อลดน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์ รวมถึงฉลากและฝาปิด และแนะนำวัสดุรีไซเคิลหรือจากพืชในขวดพลาสติกที่ใช้ทั่วโลกอย่างจริงจัง ที่สำคัญคือ ได้สร้างฝาขวดที่เบาที่สุด ฉลากขวดที่บางที่สุด และขวด PET ที่เบาที่สุดที่ผลิตในญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ในไทยประกาศนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้พลาสติก PET กับบรรจุภัณฑ์ทุกชนิด เป็นขวด PET แบบใส ไม่มีสี และฝาขวดก็ไร้การพิมพ์สี เพื่อให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% มีมูลค่าการรับซื้อสูงกว่าขวดสี เพราะง่ายต่อการรีไซเคิล ด้วยกระบวนการคัดแยกขยะ

Source

]]>
1365463
“ซันโทรี่” คัมแบ็ก “ทีพลัส ชาอู่หลง” หวนตลาดชา ควงคู่หูใหม่ “เป๊ปซี่โค” https://positioningmag.com/1322024 Thu, 04 Mar 2021 16:35:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1322024 “ทีพลัส” (TEA+) คัมแบ็กตลาดชาพร้อมดื่มอีกครั้ง หลังจากหายจากเชลฟ์ไปกว่า 5 ปี งานนี้ “ซันโทรี่” ได้คู่หูใหม่ “เป๊ปซี่โค” จับแบรนด์ปัดฝุ่นใหม่ สร้างโอกาสการเติบโตจากกลุ่มชาอู่หลง

จาก “ทิปโก้” สู่ “เป๊ปซี่โค”

จริงๆ แล้วทีพลัสไม่ใช่แบรนด์ใหม่ในตลาดแต่อย่างใด แต่เคยทำตลาดมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2556 ในตอนนั้น “ซันโทรี่” แบรนด์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นได้เป็นพันธมิตรกับ บริษัท ทิปโก้ เอฟ แอนด์ บี จำกัด หรือทิปโก้นั่นเอง ใช้ชื่อแบรนด์ “ซันโทรี่ ทีพลัส ชาอู่หลง” มีทั้งหมด 3 รสชาติ รสต้นตำรับ ผสมมะนาว และไม่มีน้ำตาล ขนาด 500 มล. ในราคา 20 บาท แถมยังเลือก “บอม ธนิน” หนึ่งในคุณชายจุฑาเทพเป็นพรีเซ็นเตอร์อีกด้วย

ในยุคนั้นเองเป็นยุคที่ตลาดชาพร้อมดื่มเฟื้องฟูอย่างมาก แบรนด์ใหญ่ก็โหมตลาด แบรนด์อื่นๆ ในตลาดเครื่องดื่มก็ขอเอี่ยวด้วย จริงๆ แล้วซันโทรี่เคยพยายามที่จะบุกตลาดชาพร้อมดื่มในไทยมาแล้วในแบรนด์ “มิเรอิ” แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก จนได้นำแบรนด์ทีพลัสเข้ามา

แต่แล้วความพยามในครั้งนั้นก็ต้องสะดุดอีกครั้ง เมื่อมีปัญหาบางประการในเรื่องสัญญากับทางพาร์ตเนอร์หลักอย่างทิปโก้ ทีพลัสจึงหายจากการทำตลาดไปในที่สุด

เลือดซามูไรนักสู้ของซันโทรี่ก็ไม่หยุดแค่นั้น ซันโทรี่ที่ได้พาร์ตเนอร์ใหม่อย่าง “เป๊ปซี่โค” มีการประกาศร่วมทุนในเดือนพฤศจิกายน 2560 ได้เปิดตัว บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 มีนาคม 2561 เป็นการพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการเครื่องดื่มไทย

เปิดศักราช 2564 ซันโทรี่ได้นำแบรนด์ทีพลัสมาปัดฝุ่นใหม่ เพื่อบุกตลาดชาพร้อมอีกครั้ง ทีพลัสถือว่าเป็นแบรนด์แฟลกชิปของซันโทรี่ในประเทศญี่ปุ่น มีการทำตลาดมา 40 ปี เป็นเบอร์ 1 ในตลาดมาตลอด นอกจากจะทำตลาดในประเทศไทยแล้ว ยังมีที่เวียดนาม และอินโดนีเซียด้วย

อชิต โจชิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า

“ซันโทรี่กับเป๊ปซี่โคมีความสัมพันธ์กันมากว่า 40 ปี ทั้งสองแบรนด์มีจุดแข็งที่ต่างกัน มีพอร์ตสินค้าที่หลากหลาย มีการพัฒนาสินค้าในระดับอาเซียน ชาอู่หลงจากซันโทรี่มีประสบการณ์กว่า 40 ปี เป็นเบอร์ 1 ในตลาด เป็นสินค้าแฟลกชิป จึงนำแบรนด์นี้กลับมาทำตลาดใหม่ในเมืองไทย”

อชิต โจชิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด
อชิต โจชิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด

ชาอู่หลงตลาดเล็ก แต่โอกาสเพียบ!

เมื่อดูภาพรวมของตลาดชาพร้อมดื่มในไทยปี 2563 มูลค่า 11,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.6% ในตลาดเครื่องดื่ม 145,515 ล้านบาท แต่ในตลาดชาพร้อมดื่มนั้นสัดส่วนใหญ่ยังเป็นชาเขียว ชาอู่หลงมีสัดส่วนน้อยมากราวๆ 1-2% เท่านั้น

ตลาดชาอู่หลงในไทยมีผู้เล่นหลักแค่ 3 ราย Pokka (พอกกา), Kukurin (คุคุริน) และ ITOEN (อิโตเอ็น จำหน่ายแค่ที่เซเว่นฯ) ทีพลัสได้เข้ามาเป็นรายที่ 4 นั่นเอง ซึ่ง 3 รายที่ว่านี้ไม่ได้มีการทำการตลาดมากนัก มีแค่สินค้าบนเชลฟ์วางเท่านั้น

จริงๆ แล้วจากที่ซันโทรี่ เป๊ปซี่โคได้ทำการสำรวจ พบว่าคนไทย 99% รู้จักชาอู่หลง 56% มองว่าดีต่อสุขภาพ แน่นอนว่าในส่วนนี้จึงกลายเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของทีพลัสที่จะเข้าไปจับจอง สร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคให้ได้

สมชัย เกตุชัยโกศล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า

“ที่ผ่านมาตลาดชาพร้อมดื่มในไทยส่วนใหญ่จะขับเคลื่อนด้วยโปรโมชัน ไม่ได้มาจากผู้บริโภคจริงๆ ซื้อเพราะอยากได้รางวัล แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเทรนด์รักสุขภาพเริ่มมามากขึ้น ผู้บริโภคมองหาเครื่องดื่มน้ำตาลน้อย หรือไม่มีน้ำตาล ทำให้เครื่องดื่มกลุ่มมมีน้ำตาลโตขึ้น 2 เท่า ต่อไปเทรนด์ผู้บริโภคจะมองหาชาเพื่อสุขภาพจริงๆ มากขึ้น”

สมชัย เกตุชัยโกศล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด
สมชัย เกตุชัยโกศล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด

เล่นโมเดล 2 ราคา

การกลับมาครั้งนี้ทีพลัสได้ส่ง 2 สูตรลงตลาด ได้แก่ สูตรกลมกล่อม และสูตรไม่มีน้ำตาล มีการชูว่าเป็นเครื่องดื่มทางเลือกเพื่อสุขภาพ เพราะสูตรกลมกล่อมมีน้ำตาล 3 กรัม/100 มิลลิกรัม และมีสาร OTPP (Oolong Tea Polymerized Polyphenol) สารตามธรรมชาติที่มีในชาอู่หลง 70 มิลลิกรัมต่อขวด สารนี้มีจุดเด่นในการช่วยลดการดูดซึมไขมันได้ ทางแบรนด์จึงเลือกสื่อสารว่าเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพได้

อีกทั้งยังออก 2 ไซส์ 2 ราคา เกาะเทรนด์ในตลาด โดยราคา 18 บาท ขนาด 490 มิลลิลิตร และราคา 25 บาท ขนาด 500 มิลลิลิตร

ถ้าถามว่าทำไมต้องออก 2 ราคา… เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งในการวางจำหน่ายคนละช่องทาง ราคา 18 บาทจำหน่ายทางโชห่วย ร้านอาหาร จะมีราคาย่อมเยากว่า ราคาไม่ถึง 20 บาท ผู้บริโภคยินดีจ่ายได้ ส่วนราคา 25 บาท จำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อต่างๆ กลุ่มนี้ผู้บริโภคจะมีกำลังซื้อมากกว่า

“การกลับมาครั้งนี้ต้องสร้างการรับรู้ว่าทีพลัสได้กลับมาอีกครั้ง ต้องกระจายสินค้าไปอยู่ในจุดที่ผู้บริโภคซื้อได้ สร้างแบรนด์ ให้เกิดการทดลองชิม ที่ผ่านมาได้ทดลองแจกไปแล้ว 1.6 ล้านขวด ใช้งบการตลาดถึง 200 ล้านบาท” 

ลุยเสริมพอร์ตสุขภาพ

การนำแบรนด์ทีพลัสกลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง เป็นหนึ่งในเส้นทางของซันโทรี่ เป๊ปซี่โคในการเสริมพอร์ตสินค้าเพื่อสุขภาพ รวมถึงยังมองถึงตลาดที่ยังไม่มีสินค้าอย่างกาแฟพร้อมดื่ม และเครื่องดื่มชูกำลัง ตั้งเป้าอยากมีครบทุกเซ็กเมนต์

อชิต เสริมว่า “เราต้องการสร้างพอร์ตสินค้าเพื่อสุขภาพ เพราะรายได้ส่วนใหญ่เป็นน้ำอัดลม 80% พยายามเอาพอร์ตของทั้ง 2 ฝ่ายมาทำตลาดใหม่ๆ กลุ่มสินค้าสปอร์ตดริ้งก์มีแบรนด์เกเตอเรต น้ำดื่มมีอควาฟิน่า ส่วนกลุ่มชามีลิปตัน และทีพลัส น้ำอัดลมมีแบรนด์เป๊ปซี่ ตอนนี้ขาดกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง และกาแฟพร้อมดื่ม มีความสนใจอยู่ แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะต้องมี แต่ก็อยากมีครบทุกเซ็กเมนต์”

สำหรับภาพรวมตลาดเครื่องดื่มในปี 2563 ติดลบ 6.4% แต่เป๊ปซี่โคเติบโต 0.1% โดยที่กลุ่มน้ำอัดลมกระทบน้อยสุด ติดลบแค่ 1%

อ่านเพิ่มเติม

]]>
1322024
“คุมาโมโตะ” ฐานผลิตเครื่องดื่ม “ซันโทรี่” และถิ่นหมี “คุมะมง” https://positioningmag.com/1219197 Mon, 11 Mar 2019 23:07:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1219197 “คุมาโมโตะ” (Kumamoto) เป็นอีก 1 จังหวัดใหญ่บนเกาะคิวชู ซึ่งอยู่ตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นฐานการผลิตสำคัญของกลุ่มเครื่องดื่ม “ซันโทรี่” (Suntory) ซึ่งก่อตั้งธุรกิจในปี 1899 หรือกว่า 120 ปี   

ซันโทรี่ เริ่มต้นธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากโรงกลั่นวิสกี้ ต่อยอดเป็นเบียร์และซอฟต์ดริ้งก์ หลากหลายของผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำระดับโลก  

กลุ่มเครื่องดื่ม “นอนแอลกอฮอล์” ถือเป็นจุดแข็งและผลักดันการเติบโตของซันโทรี่มาต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่ม LRB (Liquid Refreshment Beverage) เครื่องดื่มที่ให้ความสดชื่นและดูแลสุขภาพ 

ปัจจุบัน “ซันโทรี่” เป็นผู้ผลิตน้ำดื่มอันดับ 1 ในญี่ปุ่น ที่มีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท ด้วยมาร์เก็ตแชร์ 35% จากนวัตกรรมที่หลากหลายทั้งน้ำแร่ธรรมชาติ, น้ำดื่มอัดลม และกลุ่ม Flavored Water หรือ Water Plus น้ำแต่งกลิ่นรส รูปแบบ “น้ำใส”                     

จุดแข็ง R&D-แหล่งผลิตน้ำภูเขาไฟ

โงงานซันโทรี่
โงงานซันโทรี่

การก้าวสู่ผู้นำตลาดน้ำดื่มของซันโทรี่ในญี่ปุ่น คือ นวัตกรรม ที่สร้างความแตกต่างในหลายแคทิกอรี่ของกลุ่มเครื่องดื่ม รวมทั้งการเข้าใจผู้บริโภค (Consumer needs) เพื่อพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะเทรนด์สุขภาพ ที่ขยายตัวจากสัดส่วนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นจุดแข็งของซันโทรี่  

ปัจจุบัน ซันโทรี่มีฐาน R&D Center 3 แห่ง โอซากา เกียวโต คาวาซากิ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ นวัตกรรม แพ็กเกจกิ้ง เทคโนโลยี และการควบคุมคุณภาพ

กระบวนการพัฒนา “สินค้าใหม่” เริ่มจากการรับฟังความเห็นจากผู้บริโภคและวิจัยความต้องการลูกค้าในตลาด จากนั้นเป็นการวางคอนเซ็ปต์และพัฒนาสินค้าต้นแบบ ซึ่งจะอยู่ ภายใต้ One Team เป็นการทำงานร่วมกันของ 3 ฝ่าย อาร์แอนด์ดี การตลาด และทีมสร้างสรรค์ ในปี 2017 มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่กว่า 100 โปรดักต์

ซันโทรี่ กาแฟ Boss

สำหรับฐานการผลิตเครื่องดื่มซันโทรี่ คือโรงงานที่เมือง คุมาโมโตะ เป็นโรงงานผลิตน้ำแร่ธรรมชาติ เบียร์ พรีเมียม มอลต์ กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, กาแฟกระป๋อง Boss, เครื่องดื่มชา, วอเตอร์ พลัส รวมกว่า 63 ผลิตภัณฑ์

เมืองคุมาโมโตะ ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดน้ำสำคัญของญี่ปุ่น โดยการันตีว่าน้ำในพื้นที่คุมาโมโตะทั้ง 100% มาจาก “น้ำแร่” และโรงงานซันโทรี่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำแร่จากภูเขาไฟอะโสะ (Aso) ที่นำมาใช้ผลิตเครื่องดื่มประเภทต่างๆ 

“น้ำแต่งกลิ่นรส” เทรนด์แรง

ตลาดเครื่องดื่มที่พัฒนาจากนวัตกรรมและอาร์แอนด์ดีของซันโทรี่ และเป็นเทรนด์ที่มาแรงในญี่ปุ่นในช่วง 5 ที่ผ่านมา ต้องยกให้กลุ่ม วอเตอร์ พลัส ซึ่งเป็นเครื่องดื่มให้ความสดชื่นและดูแลสุขภาพด้วยปริมาณน้ำตาลต่ำ เป็นแคทิกอรี่น้ำดื่มที่อยู่ตรงกลางระหว่างน้ำเปล่าและเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวาน   

วอเตอร์ พลัส ในญี่ปุ่นที่เริ่มทำตลาดในปี 2007 จากสินค้านำเข้า ในปี 2010 โคคา-โคล่า เริ่มทำตลาดแบรนด์ I-Lohas น้ำดื่มแต่งกลิ่นรส กลุ่มรสชาติผลไม้ จากนั้น ซันโทรี่ ได้เริ่มเปิดตลาดในปี 2014 ภายใต้แบรนด์ Tennensui เริ่มด้วยกลิ่นรสผลไม้

ซันโทรี่ Tennensui น้ำดื่มกลิ่นรสโยเกิร์ต

จากนั้นพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมมาต่อเนื่อง ปี 2015 เปิดตัวน้ำดื่มแต่งกลิ่นรส “โยเกิร์ต” ที่เรียกว่าได้ว่าสร้างความตื่นเต้นให้กับตลาด ด้วยนวัตกรรมนำ โยเกิร์ต มาพัฒนาแต่งกลิ่นรสในรูปแบบเครื่องดื่มน้ำใสเป็นครั้งแรก จากนั้นตามมาด้วย รสชาติโยเกิร์ตผสมอโลเวรา และโยเกิร์ตผสมบลูเบอร์รี่

ปี 2017 เปิดตัวกลิ่นและรสชาติกลุ่ม “ชานม” ด้วยความแตกต่างเรื่องนวัตกรรมของรสชาติโยเกิร์ตและชานมที่ไม่มีในตลาด ทำให้ซันโทรี่ขึ้นมาครองอันดับ 1 ตลาดวอเตอร์ พลัส ในญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2015 ถึงปัจจุบัน โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 50%

พื้นที่ชั้นวางขนาดใหญ่ เครื่องดื่ม วอเตอร์พลัส

ด้วยความนิยมเครื่องดื่ม “วอเตอร์ พลัส” ในญี่ปุ่นและเทรนด์ที่เติบโตสูง จึงเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับการจัดสรรพื้นที่ชั้นวางขนาดใหญ่ ในช่องทางค้าปลีกต่างๆ ทั้ง ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติในญี่ปุ่น ก็ต้องมีสินค้าวอเตอร์ พลัสไว้เป็นตัวเลือก

ซันโทรี่ คุมะมง

“คุมะมง” หมีดังประจำเมือง

นอกจาก “คุมาโมโตะ” เป็นฐานการผลิตเครื่องดื่มซันโทรี่แล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง คือปราสาทที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น ยังเป็นเมืองออนเซนในป่าเขาบรรยากาศธรรมชาติ ภูเขาไฟอะโสะ และเจ้าหมีหน้าตาใจดี ตัวดำ แก้มแดง “คุมะมง” (KUMAMON)

“คุมะมง” ถือกำเนิดเมื่อ 12 มีนาคม 2011 พร้อมการเปิดใช้บริการรถไฟความเร็วสูงชินคันเซนสายคิวชู ในจังหวัดคุมาโมโตะ โดยมี “คุมะมง” เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองและมาสคอตประจำจังหวัด เพื่อรอต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดคุมาโมโตะ

ในปี 2016 คุมาโมโตะเผชิญกับสถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ “คุมะมง” มีบทบาทสำคัญออกมาช่วยผู้ประสบภัยและทำหน้าที่กอบกู้เศรษฐกิจของจังหวัดคุมาโมโตะ ผ่านสินค้าเมอร์เชนไดส์หลากหลาย ตั้งแต่ของที่ระลึก เครื่องเขียน ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไปจนถึงผักผลไม้ในตลาดสดที่ติดโลโก้คุมะมง ไม่เพียงแต่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ “คุมะมง” ได้ออกมาขยายอาณาจักรในต่างประเทศผ่านธุรกิจลิขสิทธิ์ เมอร์เชนไดส์ หมีดังประจำเมือง “คุมาโมโตะ” ที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ที่ “ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล” ในเครือสหกรุ๊ป ให้เป็นผู้ดูแลไลเซ่นส์.

คุมะมง ในร้านอาหาร

]]>
1219197
“หมอยา” มาริโอ้ นั่งแบรนด์แอมบาสเดอร์คนแรก “กู๊ดมู้ด” เขย่าตลาดเครื่องดื่มซัมเมอร์ https://positioningmag.com/1219178 Mon, 11 Mar 2019 14:52:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1219178 ตลาดเครื่องดื่มมูลค่า 1.54 แสนล้านบาท พร้อมเปิดศึกซัมเมอร์ “ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค” ประกาศปั้นพอร์ตโฟลิโอใหม่ “วอเตอร์ พลัส” นวัตกรรมส่งตรงจากความสำเร็จของ ซันโทรี่ ญี่ปุ่น กับเครื่องดื่มแบรนด์ “goodmood” น้ำดื่มใสแต่งกลิ่นรส จัดเต็มกลยุทธ์สื่อสารสร้างการรับรู้สินค้าใหม่ ผ่านพรีเซ็นเตอร์คนดัง “มาริโอ้”

โอเมอร์ มาลิค ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ SPBT กล่าวว่า เตรียมส่งเครื่องดื่มแบรนด์ใหม่ “กู๊ดมู้ด” ซึ่งเป็นเครื่องดื่มกลุ่มใหม่วอเตอร์ พลัส (Water Plus) น้ำดื่มแต่งกลิ่นรส รูปแบบเครื่องดื่มน้ำใส ตอบโจทย์ดับกระหายและให้ความสดชื่น ซึ่งยังไม่มีสินค้ากลุ่มนี้ในประเทศไทย เพื่อบุกตลาดในช่วงหน้าร้อน

กู๊ดมู้ด เจาะกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งเป็นเพียงหมวดเดียวที่เติบโตในตลาดเครื่องดื่ม โดยเชิงมูลค่าอยู่ที่ 5% ในปี 2561 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมีมูลค่า 34,900 ล้านบาท

“การเปิดตัว กู๊ดมู้ด จะทำให้ SPBT เป็นผู้เล่นหลักที่เข้ามาเปิดกลุ่มผลิตภัณฑ์วอเตอร์ พลัส ในประเทศไทย”

เคธี่ อึ้ง ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์ซันโทรี่ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “กู๊ดมู้ด” เป็นเครื่องดื่มที่นำเสนอรสชาติอร่อยและน้ำตาลน้อย หรือต่ำกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จึงเหมาะสำหรับผู้บริโภคทุกกลุ่มและตอบเทรนด์การดูแลสุขภาพ มั่นใจว่ากู๊ดมู้ดจะเข้ามาสร้างพอร์ตโฟลิโอเครื่องดื่มใหม่ให้กับซันโทรี่ เป๊ปซี่โค และเป็นผู้นำในตลาดวอเตอร์ พลัส เช่นเดียวกับญี่ปุ่น

โดยเปิดตัวด้วย 2 รสชาติ คือ กลิ่น “แบล็คเคอแรนท์” วางจำหน่ายเฉพาะที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และกลิ่น “โยเกิร์ต” ครั้งแรกในรูปแบบใสโดยบรรจุในขวดเพ็ทขนาด 450 มิลลิลิตร ในราคา 20 บาท จำหน่ายที่ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มารเก็ต และร้านค้าทั่วประเทศ 

ในด้านการผลิตและการตลาด SPBT เตรียมทุ่มงบประมาณ 270 ล้านบาทเพื่อขยายสายการผลิตและดำเนินกิจกรรมการตลาดอย่างเต็มรูปแบบ

สำหรับกลยุทธ์สื่อสารแบรนด์และสร้างการรับรู้แบรนด์ในวงกว้าง ได้นักแสดงหนุ่มจากละครเรตติ้งแรง ทางช่อง 3 เรื่อง “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” มาริโอ้ เมาเร่อ มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์คนแรกของ “กู๊ดมู้ด” ในประเทศไทย เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ทำตลาดในช่วงหน้าร้อน

“คาแร็กเตอร์ที่สดใส มีชีวิตชีวาและมองโลกในแง่ดีของมาริโอ้ เหมาะกับภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่สร้างอารมณ์ดีๆ เพื่อวันดีๆ ที่จะถ่ายทอดความสดชื่นและสดใสของแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ลงตัว”

นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์โฆษณา สื่อกลางแจ้งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สื่อดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย สื่อในร้านค้าและ ณ จุดขาย พร้อมกิจกรรมส่งเสริมการขายแบบ 360 องศา จัดคาราวาน “กู๊ดมู้ด” แจกเครื่องดื่ม 1 ล้านขวด ให้ผู้บริโภคทั่วประเทศได้ทดลองชิม.

]]>
1219178
ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ส่ง goodmood ปั้นพอร์ตใหม่น้ำใสแต่งกลิ่น “วอเตอร์พลัส” อัดงบ 170 ล้าน หวังชิงผู้นำตามรอยญี่ปุ่น https://positioningmag.com/1217304 Sun, 03 Mar 2019 23:07:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1217304 หลังการประกาศร่วมทุนของ “เป๊ปซี่โค อิงค์” สหรัฐฯ และกลุ่มซันโทรี่ จากญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายน 2017 เพื่อทำตลาดในไทย โดยเปิดตัวบริษัทร่วมทุน “ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย)” หรือ SPBT ในเดือนมีนาคม 2018 ด้วยทุนจดทะเบียน 19,680 ล้านบาท การผนึกกำลังของ 2 ยักษ์ใหญ่ครั้งนี้ “ซันโทรี่” ใช้เวลา 1 ปี คลอด “ผลิตภัณฑ์แรก” goodmood น้ำดื่มใสแต่งกลิ่นรส เจาะตลาดไทย

เป้าหมายของทั้งคู่ ต้องการเป็นแบรนด์ “เครื่องดื่ม” ที่ผู้บริโภครักมากที่สุดในประเทศไทย “ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค” จึงโฟกัสการพัฒนาสินค้าเกาะกระแสการดูแลสุขภาพและนวัตกรรมใหม่ที่สร้างความตื่นเต้นให้ผู้บริโภค

เคธี่ อึ้ง ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์ซันโทรี่ บริษัทซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ SPBT กล่าวว่า หลังใช้เวลาวิจัยความต้องการผู้บริโภค เพื่อนำมาพัฒนาโปรดักต์ราว 1 ปี SPBT พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์แรก แบรนด์ “กู๊ดมู้ด” (goodmood) ที่เป็นทั้งแบรนด์ใหม่ในพอร์ตโฟลิโอเครื่องดื่ม อีกทั้งเป็นการสร้าง Category ใหม่ในตลาดเครื่องดื่มของประเทศไทย คือ Flavoured Water หรือ วอเตอร์ พลัส (Water Plus) เป็นน้ำดื่มแต่งกลิ่นรส มาในรูปแบบเครื่องดื่มน้ำใส ตอบโจทย์ดับกระหายและให้ความสดชื่น 

ทำไมต้องเป็น “วอเตอร์ พลัส”

การเลือกเปิดตัวผลิตภัณฑ์แรกในกลุ่ม “วอเตอร์ พลัส” มาจากกระแสการบริโภค “น้ำดื่ม” ในประเทศไทยที่เติบโตทุกปี ในปี 2018 ด้านปริมาณขยายตัว 4.6% โดยมีมูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท หากย้อนหลังไป 5 ปี ก็เติบโตในอัตรา 5% มาต่อเนื่อง คาดการณ์อีก 5 ปี หลังจากนี้ เชื่อว่ายังเติบโตในอัตรา 5% เช่นกัน

“ความนิยมเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ เป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตตลาดเครื่องดื่มโดยรวม เห็นได้จากปริมาณการบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดและเครื่องดื่มไม่อัดก๊าซขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจุบันกลายสัดส่วน 70% ของธุรกิจเครื่องดื่มของซันโทรี่ เป๊ปซี่โค”

จากแนวโน้มดังกล่าว SPBT จึงหยิบสินค้าที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอของ “ซันโทรี่” คือกลุ่มวอเตอร์ พลัส หรือน้ำดื่มที่เป็นมากกว่า “น้ำ” มาพัฒนาให้สอดคล้องกับ Consumers Trends ในประเทศไทย โดยมี 3 เทรนด์หลัก   

1. เทรนด์สังคมผู้สูงอายุ เพราะประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบในปี 2030 เป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชีย ต่อจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ในฐานะบริษัทเครื่องดื่ม จะต้องพัฒนาสินค้าที่ตอบสนองและตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มสูงวัยใส่ใจสุขภาพ

2. เทรนด์ดูแลสุขภาพ พบว่าผู้บริโภคไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มของตัวเอง เพื่อตอบโจทย์เรื่องสุขภาพมากขึ้น ในฐานะบริษัทเครื่องดื่มจึงต้องการตอบสนองผู้บริโภคในส่วนนี้ เพราะแม้ผู้บริโภคจะเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็ยังต้องการรสชาติและความสดชื่น SPBT จึงใช้เรื่อง “สุขภาพและรสชาติ” มาเป็นวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนานวัตกรรมสินค้า

3. เทรนด์ตลาด LRB (Liquid Refreshment Beverage) เครื่องดื่มที่ให้ความสดชื่น ในกลุ่มเครื่องดื่มดูแลสุขภาพ พบว่าสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ Healthier Drink กลุ่มที่ไม่มีน้ำตาลและน้ำตาลน้อย โดยเฉพาะตลาดน้ำดื่มบรรจุขวด (Packaged Water) ที่มีสัดส่วนกว่า 30% ของตลาด LRB เติบโตเฉลี่ยปีละ 5% มาต่อเนื่อง จึงมองว่าเทรนด์เครื่องดื่มกลุ่ม Healthier Drink มีโอกาสเติบโตได้อีกหลังจากนี้

“แชมเปี้ยน โปรดักต์” จากญี่ปุ่นสู่ไทย

หากดูต้นกำเนิดซันโทรี่ ในญี่ปุ่น พบว่าตลาดเครื่องดื่ม วอเตอร์ พลัส ของญี่ปุ่น เริ่มต้นในปี 2007 จากสินค้านำเข้า มาในปี 2010 โคคา-โคล่า เริ่มทำตลาดแบรนด์ I-Lohas น้ำดื่มแต่งกลิ่นรส ในกลุ่มรสชาติผลไม้เป็นหลัก

จากนั้น ซันโทรี่ ได้เริ่มเปิดตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์ “วอเตอร์ พลัส” ในญี่ปุ่นครั้งแรก ปี 2014 ภายใต้แบรนด์ Tennensui เริ่มด้วยกลิ่นรสผลไม้ จากนั้นพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมมาต่อเนื่อง ปี 2015 เปิดตัวน้ำดื่มแต่งกลิ่นรส “โยเกิร์ต” ที่เรียกว่าได้ว่าสร้างความ WOW ให้กับตลาด ด้วยนวัตกรรมนำโยเกิร์ต มาพัฒนาแต่งกลิ่นรสในรูปแบบเครื่องดื่มน้ำใส เป็นครั้งแรกและเรียกความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภคได้ ต่อมาในปี 2017 เปิดตัวกลิ่นและรสชาติกลุ่ม “ชานม”

ส่งผลให้เครื่องดื่มกลุ่มวอเตอร์พลัส ของซันโทรี่ ขึ้นมาครองอันดับ 1 ในญีปุ่น ตั้งแต่ปี 2015 ถึงปัจจุบัน โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 50% ขณะที่แบรนด์สินค้าของโคคา-โคล่า เป็นอันดับ 2 ที่ 40%

ประการสำคัญ จากการเข้ามาทำตลาดเครื่องดื่มวอเตอร์ พลัสของทั้งซันโทรี่และผู้เล่นแบรนด์อื่นๆ ได้ช่วยกระตุ้นตลาดน้ำดื่มแต่งกลิ่นรส ขยายตัวเชิงปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 19% ในปี 2015 เป็น 30% ของตลาดน้ำดื่มบรรจุดขวดในญี่ปุ่นในปี 2018 หรือมีมูลค่าราว 9,600 ล้านบาท

ปัจจุบันเครื่องดื่มวอเตอร์ พลัส เป็นตลาดที่มีการเติบโตและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมากในญี่ปุ่น สะท้อนได้จากการจัดสรรพื้นที่ชั้นวางขนาดใหญ่สำหรับสินค้ากลุ่มนี้ในร้านค้าปลีก

ดังนั้น “ซันโทรี่” ในฐานะผู้นำอันดับ 1 ตลาดน้ำดื่มบรรจุขวด ในญี่ปุ่น ทั้งน้ำดื่ม (น้ำเปล่า) น้ำแร่ น้ำดื่มอัดก๊าซ (sparking water) รวมทั้งวอเตอร์ พลัส จึงต้องการนำความสำเร็จของน้ำดื่มแต่งกลิ่นรส มาเปิดตัวเป็นผลิตภัณฑ์แรก ของบริษัทร่วมทุน SPBT ภายใต้แบรนด์ goodmood ที่เป็นทั้งแบรนด์ใหม่และแคทิกอรี่ใหม่ ที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทยและวางเป้าหมายเป็น “แชมเปี้ยน” ในตลาดนี้เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น

3 ปัจจัยหนุน “กู๊ดมู้ด”

หลังจาก “ซันโทรี่” ประสบความสำเร็จในการทำตลาดน้ำดื่มแต่งกลิ่นรสในญี่ปุ่น ได้นำแบรนด์ goodmood เปิดตัวในประเทศอินโดนีเซีย ปี 2017 และปี 2019 goodmood ได้เปิดตัวในประเทศไทย โดยใช้ฐานการผลิตจากโรงงาน SPBT จังหวัดสระบุรี ในไลน์การผลิตที่ 4 โดยลงทุนเพิ่ม 100 ล้านบาท สำหรับแบรนด์กู๊ดมู้ด ปัจจุบันเดินเครื่องผลิตสูงสุด 800 ขวดต่อนาที

ในตลาดประเทศไทย SPBT มองเห็นโอกาสในตลาดวอเตอร์ พลัส เช่นเดียวกับญี่ปุ่น โดยมี 3 เทรนด์ ที่เป็นปัจจัยสนับสนุน goodmood ให้ประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น

1. ตลาดน้ำดื่ม ที่ขยายตัวดีที่สุดเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มกลุ่มอื่นๆ เชิงปริมาณเติบโต 4.5% ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และแทบจะเป็นแคทิกอรี่เดียวในตลาดเครื่องดื่มที่เติบโต ขณะที่เครื่องดื่มอื่นๆ โดยรวมอยู่ในภาวะทรงตัวและลดลง โดย goodmood จะทำตลาดเจาะกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำดื่มบรรจุขวด

2. เทรนด์พรีเมียมยังเติบโตได้ดี ขณะที่สินค้ากลุ่มอื่นๆ ยังอยู่ในภาวะทรงตัวและลดลง นั่นหมายถึงลูกค้ายอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้สินค้าที่มีแวลูมากขึ้น

3. เทรนด์สุขภาพ โดยผู้บริโภค 68% ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการดูแลสุขภาพด้วยการจัดทำแคมเปญต่างๆ ด้วยการจัดทำโลโก้ “ทางเลือกสุขภาพ” รวมทั้งการจัดเก็บภาษีน้ำตาล

สำหรับ “กู๊ดมู้ด” ที่ถูกวางตำแหน่งเป็นสินค้าแคทิกอรี่ใหม่ คือ Water Plus มีอะไรที่มากกว่าน้ำ นั่นคือช่วยดับกระหายและให้ความสดชื่น จึงมีโอกาสการทำตลาด ดึงผู้บริโภคมาได้จากทุกตลาดเครื่องดื่ม

ทั้งกลุ่ม “น้ำเปล่า” ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ แต่หลายครั้งผู้บริโภคยังต้องการเครื่องดื่มที่ให้ความสดชื่น โดยกลุ่มน้ำดื่มราคาอยู่ที่ 7-10 บาทต่อขวด

ส่วนกลุ่มน้ำผลไม้ เครื่องดื่มฟังก์ชันนอล เครื่องดื่มเกลือแร่ รวมทั้งกลุ่มน้ำอัดลม ที่ให้เรื่องความสดชื่น รสชาติอร่อย แต่หลายครั้งผู้บริโภครู้สึกผิดจากการดื่มที่ได้ น้ำตาล ปริมาณมาก ในกลุ่มนี้ สินค้าราคาเฉลี่ย 20-25 บาทต่อขวด

จาก Consumer Insights ดังกล่าว goodmood จึงเข้ามาตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้ง “ความสดชื่น ดับกระหาย และรสชาติอร่อย” โดยให้ความสดชื่นจากการแต่งกลิ่นรส แต่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ อยู่ที่ 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร พลังงาน 130 กิโลแคลอรีต่อขวดขนาดบรรจุ 450 มิลลิลิตร ราคา 20 บาท โดยเป็นเครื่องดื่มน้ำใสในกลุ่มน้ำดื่มดับกระหายที่ยังเติบโต

“แม้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันไปบริโภคสินค้าที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น แต่สิ่งที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะชาวไทย คือเรื่อง รสชาติ เมื่อเลือกซื้อเครื่องดื่ม ก็ยังมองเรื่องความสดชื่นมาเป็นอันดับแรก”

การเปิดตัว goodmood ที่ให้ความสดชื่นและดับกระหาย ด้วยปริมาณน้ำตาลต่ำ จึงเป็น “ตัวเลือก” ให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกผิดในการดื่ม อีกทั้งช่วยดึงผู้บริโภคที่เลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงหรือดื่มลดลง ให้กลับมาดื่มผลิตภัณฑ์ในกลุ่มวอเตอร์ พลัสแทน หรือดื่มได้บ่อยขึ้น

โดย goodmood เป็นเครื่องดื่มคนละตลาดกับ “ฟังก์ชันนอลดริ้งก์” ที่จะเคลมเรื่องการช่วยเรื่องสุขภาพต่างๆ แต่ goodmood วางตำแหน่งเป็นเครื่องดื่มที่มากกว่า “น้ำ” โดย SPBT ต้องการเป็นผู้เปิดตลาดใหม่และบุกเบิกตลาดวอเตอร์ พลัส เป็นรายแรกในประเทศไทย

goodmood  เป็นผลิตภัณฑ์ที่จะดึงลูกค้าที่ออกจากตลาดเครื่องดื่มที่มีปริมาณความหวานสูง ให้กลับมาสู่แคทิกอรี่ใหม่

ในฐานะที่ ซันโทรี่ เป็นบริษัทน้ำดื่มบรรจุขวดอันดับ 1 ในญี่ปุ่น SPBT จะใช้ความเป็นเบอร์ 1 ในการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์และคุณภาพของ goodmood สู่ตลาดไทย

เปิด “2 รสชาติ” ไฮไลต์

การทำตลาด goodmood ในไทย จะเดินตามกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จจากกลุ่มวอเตอร์ พลัส ในญี่ปุ่น ทั้งเรื่อง “นวัตกรรม” และ “รสชาติ” ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค

ในญี่ปุ่นพบว่ารสชาติเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยม คือ กลุ่มผลไม้ทุกชนิด มีสัดส่วน 50% โยเกิร์ต 29% และอื่นๆ 21% ส่วนประเทศไทย รสผลไม้มาเป็นอันดับ 1 เช่นกันที่ 57% ตามด้วยสมุนไพร 19% และอื่นๆ 24%

ดังนั้น goodmood จึงเลือกเปิดตัวด้วย 2 รสชาติ คือ โยเกิร์ต และผลไม้แบล็คเคอร์แรนท์ เพราะ โยเกิร์ต เป็นไฮไลต์จากการพัฒนานวัตกรรมรสชาติใหม่ ที่ผลักดันให้ซันโทรี่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดน้ำดื่มในญี่ปุ่น จึงนำความสำเร็จนี้ไปต่อยอดในประเทศไทย

หน้าที่ของรสชาติโยเกิร์ต คือ การสร้างความตื่นเต้นให้ผู้บริโภค เพราะจะเป็นครั้งแรกที่คนไทยจะได้เห็นโยเกิร์ตในรูปแบบใส ที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน

SPBT จะใช้ความน่าตื่นเต้นนี้เป็นจุดขายสำคัญที่จะพูดคุยกับผู้บริโภค และจะทำให้ผู้บริโภคพูดถึงแบรนด์ goodmood และจดจำแบรนด์

รสชาติโยเกิร์ตของ goodmood เป็นการพัฒนานวัตกรรมและสูตรใหม่ แต่งกลิ่นและรสชาติให้ถูกใจคนไทย โดยต่อยอดมาจากซันโทรี่ ญี่ปุ่น   

สำหรับราคาจำหน่ายขวดละ 20 บาท จากการสำรวจผู้บริโภคในรสชาติรสชาติโยเกิร์ต พบว่ากลุ่มที่มีโอกาสจะซื้อแน่นอน 39% ส่วนกลุ่มที่บอกว่าซื้อ และซื้อแน่นอน 77%

อีกรสชาติ คือ แบล็คเคอร์แรนท์ ถึงแม้จะเป็นรสชาติที่ยังไม่คุ้นเคยในไทย แต่สิ่งที่ผู้บริโภครู้สึกได้คือความเป็น “พรีเมียม” รสชาตินี้จะจำหน่ายเฉพาะที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นก่อนที่จะจำหน่ายในช่องทางอื่นๆ จากการทำวิจัยพบว่า กลุ่มที่จะซื้อแน่นอนอยู่ที่ 39% ส่วนกลุ่มที่จะซื้อและซื้อแน่นอน 82%

มั่นใจนั่งผู้นำตามรอยญี่ปุ่น

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของ goodmood คือ ทุกคนที่ต้องการความสดชื่น อารมณ์ดี และคิดบวก เนื่องจากเป็นสินค้าใหม่ แบรนด์ใหม่ และแคทิกอรี่ใหม่ เป้าหมายของ goodmood ปีแรกจึงต้องการ เพิ่มการรับรู้แบรนด์ให้ทุกคนรู้จักว่า goodmood เป็นใคร เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มใส ดังนั้นต้องทำให้เกิดการชิมเพื่อจะได้รู้ว่าเป็นน้ำใสที่มีรสชาติ จึงเตรียมแจกสินค้าตัวอย่างกว่า 1 ล้านขวด

การเปิดตัวผลิตภัณฑ์แรกของ “ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค” วางแผนลงทุนด้านการตลาดและสื่อสารเต็มที่ เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้จักแบรนด์ โดยจะมีโฆษณาทางทีวี สื่อออนไลน์ สื่อโฆษณานอกบ้าน โฆษณาในร้านค้า และแจกสินค้าตัวอย่าง รวมงบประมาณปีแรก 170 ล้านบาท

เครื่องดื่ม goodmood จะวางจำหน่ายในชั้นวางเดียวกันกับ “น้ำเปล่า” เช่นเดียวกับในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจง่ายขึ้นว่าอยู่ในกลุ่มเครื่องดื่มน้ำแต่งกลิ่นรส ที่ช่วยดับกระหายและให้ความสดชื่น

การทำตลาด goodmood เรียกว่าเดินตามตลาดญี่ปุ่น โดยมองตลาดระยะกลางและระยะยาว ที่จะสร้างแคทิกอรี่ใหม่วอเตอร์ พลัส และก้าวสู่ผู้นำ ที่สะท้อนได้จากความสำเร็จในตลาดญี่ปุ่น ที่ผลักดันแคทิกอรี่นี้ให้เติบโตและครองสัดส่วน 30% ในตลาดน้ำดื่มบรรจุขวดของญี่ปุ่น

ดังนั้น goodmood จึงมองระยะ 5 ปีจากนี้ที่จะผลักดันแคทิกอรี่ “วอเตอร์ พลัส” ในไทย ให้มีสัดส่วน 30% ของตลาดน้ำดื่มบรรจุขวด ที่เชื่อว่าหลังจากนี้จะมี “ผู้เล่น” รายอื่นๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่มเติมและช่วยกันผลักดันการเติบโต แน่นอนว่า SPBT จะต้องเติมสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดเช่นกัน โดยสามารถนำนวัตกรรมจากซันโทรี่ ญี่ปุ่นมาพัฒนาต่อได้ทันที

ในกลุ่มวอเตอร์ พลัส มีสินค้าหลักอีกกว่า 3 – 5 รายการที่ทำตลาดในญี่ปุ่น ไม่นับรวมที่เป็นซีซันนอล แต่ละปี ซันโทรี่ ญี่ปุ่นออกโปรดักต์เครื่องดื่มใหม่ราว 200 รายการ

ความท้าทายของการเปิดแบรนด์ใหม่ คือ การเข้าใจผู้บริโภคไม่ใช่แค่วันนี้ แต่ต้องมองเทรนด์และความต้องการในอนาคตด้วย หากทำได้แบรนด์ก็จะประสบความสำเร็จ

]]>
1217304
ยุคนี้ต้องไม่มีแค่น้ำอัดลม! กางแผนเป๊ปซี่ ควงซันโทรี่ แตกพอร์ตขยายแนวรบ https://positioningmag.com/1186052 Tue, 04 Sep 2018 01:00:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1186052 เรื่อง : Thanatkit

ธุรกิจเครื่องดื่มน้ำอัดลมต้องเผชิญกับความท้าทายจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพ

ดังนั้นยุทธศาสตร์ต่อไปของเป๊ปซี่ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) หรือ SPBT” ซึ่งเกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง ระหว่างเป๊ปซี่ โคจากอเมริกา และซันโทรี่จากญี่ปุ่น ภายใช้ชื่อบริษัทใหม่ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) หรือ SPBT” ด้วยทุนจดทะเบียน 19,680 ล้านบาท จึงต้องเพิ่มความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในมือเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค

โอเมอร์ มาลิค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ได้บอกถึงวิสัยทัศน์ในปี 2018 – 2019) ภายใต้กลยุทธ์ธุรกิจ 5 ข้อ

  1. สร้างองค์กรที่แข็งเกร่งในตลาดเครื่องดื่มของไทย ที่มีมูลค่า 154,000 ล้านบาท1
  2. สร้างโอกาสการเติบโตด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้นทั้งในกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มความสดชื่น
  3. ขยายพอร์ตโฟลิโอในกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งซันโทรี่ค่อนข้างชำนาญในด้านนี้ โดยเฉพาะเพิ่มสัดส่วนของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 100 แคลอรีต่อปริมาตร 12 ออนซ์ ให้ได้ 2 ใน 3 ของพอร์ตโฟลิโอภายในปี 2568
  4. ผสานจุดแข็งของทั้งสองบริษัท เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้รวดเร็ว และสร้างความก้าวหน้าทางอาชีพได้รวดเร็ว
  5. สร้างโอกาสให้พนักงาน และเพิ่มการจ้างงานในตำแหน่งใหม่ๆ อีกกว่า 40 ตำแหน่ง พร้อมกับวางแผนพัฒนาบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรฝึกอบรมกว่า 157 หลังสูตร จำนวนชั่วโมงการฝึกอบรม 12,465 ชั่วโมง และมีการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในการจัดการฝึกอบรมแก่พนักงาน

สิ่งที่ SPBT ต้องการมุ่งเน้น คือ การสร้างโอกาสใหม่ๆ ด้วยการขยายพอร์ตเครื่องดื่มเพื่อความสดชื่นทุกชนิด ทั้งเครื่องดื่มเกลือแร่ ชาและกาแฟพร้อมดื่ม น้ำดื่มบรรจุขวด และน้ำผลไม้ รวมถึงสินค้าใหม่ๆ ในอนาคต ผลิตภัณฑ์ล่าสุดของ SPBT คือ มิรินด้า มิกซ์อิท เครื่องดื่มน้ำอัดลมสองกลิ่นผลไม้ในขวดเดียว เพื่อตอบสนองเทรนด์ของวัยรุ่น และผู้ที่ใส่ใจในสุขภาพไปพร้อมๆ กัน ด้วยสูตรน้ำตาลน้อยกว่า 6 กรัมต่อ 100 มล. และได้รับตราสัญลักษณ์

ดังนั้นหนึ่งในไฮไลต์สำคัญคือการเพิ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 100 แคลอรีต่อปริมาตร 12 ออนซ์ ให้ได้ 2 ใน 3 ของพอร์ตโฟลิโอ ภายใน 2025 ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 10 ปี (2016 – 2025)

ที่ผ่านมา SPBT ได้ทยอยวางตลาดสินค้าเครื่องดื่มที่ลดปริมาณน้ำตาลลง อาทิ เครื่องดื่มอควาฟิน่า วิตซ่ามิรินด้า มิกซ์อิท, เป๊ปซี่ แมกซ์ เทสต์ (ปราศจากน้ำตาล), ชาเขียวลิปตัน กลิ่นมะม่วงใบเตย และเซเว่นอัพ โลว์ชูการ์ และเตรียมที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมอีกมากมาย

เหตุผลหลักที่ทำให้ SPBT ต้องวางยุทธศาสตร์เช่นนี้มาจาก ข้อมูลของผู้บริโภคชาวไทยที่ว่า 37% ของประชากรทั้งหมดออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และ 68% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ให้ความสำคัญกับอาหารบำรุงสุขภาพ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าผู้บริโภคชาวไทยในวันนี้อินกับ เทรนด์รักสุขภาพมากแค่ไหน

แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่ออาหารและเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานเป็นหลัก โดยเฉพาะ น้ำอัดลม ที่ต้องปรับตัวเองให้รับกับพฤิตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค

ผู้บริโภคเวลาจะเลือกทานอะไรจะใส่ใจในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มีมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ฝั่งของเป๊ปซี่เองก็ได้พยายามหาสินค้าเข้ามาเสริม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในเรื่องสุขภาพ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่มีน้ำตาลต่ำ น้ำตาล 0% หรือแม้กระทั่งน้ำแร่ เป๊ปซี่ก็จะนำเข้ามา ซึ่งเป็นการผสานกับกลุ่มซันโทรี่ และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจร่วมลงทุนกับซันโทรี่ ด้วยซันโทรี่มีความเข้มแข็งและถนัดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

2 เหตุผลทำธุรกิจให้สำเร็จ

โอเมอร์ มองว่า ประเทศไทยเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่และมีการขยายตัวของกลุ่มคนชั้นกลางอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดเครื่องดื่มมีการเติบโตและมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย แต่ด้วยพอร์ตโฟลิโอที่แตกต่างและสมดุลรวมทั้งความมุ่งมั่นที่จะมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค จึงเชื่อมั่นว่า SPBT จะเป็นหนึ่งในบริษัทที่แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มและตลาดน้ำอัดลมได้อย่างแน่นอน

ดังนั้นการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต้องประกอบด้วย 2 ข้อ คือ

  1. ต้องรู้ว่าผู้บริโภคชอบอะไร ต้องการอะไร เพราะฉะนั้นการใส่ใจเรียนรู้ข้อมูลของผู้บริโภคในเรื่องของความพึงพอใจเป็นสิ่งที่สำคัญ
  2. การมีแบรนด์ที่แข็งแรง ซึ่งสิ่งที่จะมายืนยันประกอบด้วย 2 ข้อคือ คุณภาพของสินค้า และความไว้วางใจ หรือความผูกพันของผู้บริโภค

สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จคือ R&D การวิจัยและพัฒนาสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค การผลิตที่ได้มาตรฐาน และกระบวนการจัดจำหน่ายเพื่อให้เชื่อมั่นได้ว่าผู้บริโภคจะมีสินค้าในทุกที่ที่ต้องการในตลาด

รู้จักซันโทรี่และเป๊ปซี่โค

ก่อนหน้าที่จะเข้าจะตั้งบริษัทใหม่ร่วมกันในเมืองไทย ทั้งคู่ได้ทำธุรกิจร่วมกันมาแล้ว 35 ปี ในหลายประเทศ ทั้งอเมริกา นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สเปน เวียดนาม

สำหรับซันโทรี่ เป็นธุรกิจเครื่องดื่มสัญชาติญี่ปุ่นที่ก่อตั้งเมื่อปี 1899 ปัจจุบันมีบริษัทในเครือทั่วโลก 312 แห่ง มีพนักงานในเครือทั้งหมด 37,745 คน ปี 2017 มีรายได้รวม 19,200 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น อาหารและเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ 57%, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 33% และอื่นๆ 10%

ส่วนเป๊ปซี่โคบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจากประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2017 มีรายได้รวมกว่า 63,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมี 22 แบรนด์ ที่สร้างยอดขายปลีกต่อปี 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีมากกว่า 30 แบรนด์ ที่สร้างยอดขายปลีกต่อปีอยู่ระหว่าง 250 – 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งยังมีบริษัทในเครือทั่วโลก 200 ประเทศ กับพนักงานในเครือทั้งหมด 260,000 คน

ในเมืองไทยเป๊ปซี่ได้เข้ามาทำธุรกิจ 65 ปีแล้ว ช่วงแรกได้ให้บริษัทเสริมสุขเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่าย จากนั้นในปี 2555 ได้ปรับกลยุทธ์ หันมาผลิตและทำตลาดเอง โดยช่วง 6 ปีมานี้ได้ลงทุน 775 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับสร้างโรงงาน 2 แห่ง 12 ไลน์ผลิตที่ระยองและสระบุรี

ปัจจุบันมีพันธมิตรในการกระจายสินค้า 25 ราย, จุดส่งสินค้า (Drop Point) 68 จุด, เป็นพันธมิตรกับ DHL ในด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้า ซึ่งมีรถส่งสินค้ากว่า 200 คัน ครอบคลุมร้านค้าปลีกกว่า 470,000 แห่งทั่วประเทศ

ในภาพรวมตลาดน้ำอัดลม 54,900 ล้านบาท เป๊ปซี่มีส่วนแบ่ง 34% ในบรรจุภัณฑ์แบบไม่ต้องคืนขวด (ทั้งขวดพีอีทีและกระป๋อง) เฉพาะน้ำดำมีแบ่งการตลาด 45% ในบรรจุภัณฑ์แบบไม่ต้องคืนขวด.

]]>
1186052
ปรากฏการณ์ East meets West เมื่อ เป๊ปซี่ รวมร่าง ซันโทรี่ มุ่งกวาดแชร์นอนแอลกอฮอล์ไทยมูลค่าแสนล้าน https://positioningmag.com/1160543 Thu, 08 Mar 2018 03:42:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1160543 กลายเป็นปรากฏการณ์ East meets West ที่มาลงตัวกันที่ประเทศไทย เมื่อกลุ่มซันโทรี่และเป๊ปซี่ โคซึ่งประกาศร่วมทุนกันตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 วันนี้ทุกอย่างลงตัวเป็นที่เรียบร้อย ภายใต้บริษัทร่วมทุนใหม่ ชื่อชัดเจนว่า บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่ โค เบเวอเรจ (ประเทศไทยจำกัด หรือ SPBT เป็นชื่ออย่างเป็นทางการ สำหรับบริษัททุนจดทะเบียน มูลค่า 19,680 ล้านบาท ที่มีเป้าหมายผลิตสินค้าเพื่อบุกตลาดไทยโดยเฉพาะ จากการเสริมจุดแข็งและแก้เพนพอยต์ของทั้งสองฝ่ายได้อย่างลงตัวจากการร่วมทุน

การรวมตัวครั้งนี้ยังถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการเครื่องดื่มไทยอีกด้วย จากการผสานพลังของบริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่จากสองทวีปคือซันโทรี่จากเอเชียหรือฝั่งตะวันออก กับบริษัทเป๊ปซี่โคแบรนด์เครื่องดื่มเบอร์ต้น ๆ จากฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ต่างฝ่ายต่างมีศักดิ์ศรีและดีกรีของผู้เล่นรายใหญ่ทั้งระดับประเทศในประเทศต้นกำเนิดและระดับโลก

แต่มารวมตัวกันเพื่อเดิมพันที่จะบุกยึดตลาดเครื่องดื่มไทยจากการร่วมมือกันในครั้งนี้ ภายใต้เป้าหมายใหญ่ของการรวมตัวว่าต้องการก้าวไปสู่การเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมในประเทศไทย

เป้าหมายแบบนี้ทำให้ผู้บริโภคไทยมั่นใจได้เลยว่า นับจากนี้นอกจากเครื่องดื่มที่มีจำหน่ายอยู่แล้วของทั้งสองรายจะกระจายสู่ทั่วทุกภูมิภาคของไทยเพิ่มขึ้นแล้วก็จะได้เห็นการรุกขยายพอร์ตโฟลิโอเครื่องดื่มอย่างเต็มรูปแบบของบริษัทร่วมทุนนี้ เกิดขึ้นในตลาดไทยตามมาให้เห็นอีกหลายตัว

การเปิดตัวบริษัทอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้บริหารระดับสูงจากทุกฝ่าย พร้อมกับมีการประกาศวิสัยทัศน์องค์กรชัดเจน เริ่มจาก ซาบุโระ โคโกะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด จำกัด และ ปริญญา กิจจาธนพันธ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจอินโดจีน บริษัท เป๊ปซี่โค เซอร์วิสเซส เอเชีย จำกัด เป็นตัวแทนของทั้งสองฝ่าย และมี โอเมอร์ มาลิค ที่รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ของ SPBT เป็นคนแรก

สาระสำคัญหลังเปิดตัวบริษัทคือ การประกาศอย่างเป็นทางการว่า SPBT วางแผนจะบุกตลาดเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ไทย ซึ่งมีมูลค่าในปี 2560 จากการสำรวจของ บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ประมาณ 154,693 ล้านบาท โดยจะใช้การสื่อสารภาพลักษณ์องค์กรที่เกิดจากการร่วมทุนใหม่นี้ภายใต้แนวคิด “GROWING FOR GOOD” พร้อมตั้งเป้าชิงตำแหน่งเบอร์หนึ่งในตลาดน้ำอัดลมควบคู่การรุกขยายพอร์ตเครื่องดื่มแบบครบวงจร

เครื่องดื่มในพอร์ตฯ ของ SPBT ที่มีอยู่ตอนนี้ มีทั้งเครื่องดื่มที่ช่วยเติมเต็มความสดชื่น เครื่องดื่มเกลือแร่ ชากาแฟพร้อมดื่ม น้ำดื่มบรรจุขวด น้ำผลไม้ รวมไปถึงนวัตกรรมในอนาคต ที่จะออกมาเพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคไทยโอเมอร์ กล่าว

ส่วนการแก้เพนพอยต์ ของทั้งสองบริษัทที่กล่าวถึงในตอนต้นเริ่มจากฝ่ายซันโทรี่ แม้จะเป็นรายใหญ่จากญี่ปุ่นที่ได้เปรียบในแง่แบรนด์ที่คนไทยชื่นชอบมียอดขายสูงในญี่ปุ่น แต่ในตลาดไทยก็ถือว่าเป็นรองเครื่องดื่มอีกหลายแบรนด์ ทั้งของไทยเองและแบรนด์จากชาติต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยการสร้างแบรนด์แนะนำให้ผู้บริโภคไทยรู้จักมากขึ้นอีกไม่น้อย

ขณะที่เป๊ปซี่โคหลังจากแยกทางกับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรายเดิมไปหลายปีก็เพลี่ยงพล้ำในตลาดไทยไปหลายจุด ทั้งจากการผลิตสินค้าภายใต้บรรจุภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ ไปจนถึงการกระจายสินค้าเข้าสู่ช่องทางจำหน่ายที่เคยเป็นสตราทิจิคชาแนล ที่ทำให้เป๊ปซี่เป็นน้ำดำที่ครองส่วนแบ่งอันดับหนึ่งในไทยมายาวนานเกือบจะเหลือเพียงตำนาน

แต่ก็ยังสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในบางแคทิกอรี่ให้เป็นอันดับหนึ่งไว้ได้ ตามการอ้างอิงข้อมูลจากนีลเส็น ซึ่งเปิดเผยข้อมูลว่ามูลค่าตลาดน้ำอัดลมในไทยในปี 2560 มีอยู่ประมาณ 54,900 ล้านบาท

ปัจจุบัน เครื่องดื่มเป๊ปซี่ถือเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดน้ำดำในบรรจุภัณฑ์แบบไม่ต้องคืนขวด (ทั้งขวดพีอีทีและกระป๋อง) ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่มากกว่า 45% และยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกปี แต่เรายังไม่หยุดเพียงแค่นี้ ด้วยความแข็งแกร่งของแบรนด์เครื่องดื่มที่เรามี ควบคู่กับศักยภาพความพร้อมของทีมงาน ตลอดจนการสนับสนุนจากบริษัทแม่ทั้งสองแห่ง เรามั่นใจว่า SPBT จะสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดน้ำอัดลมมูลค่าห้าหมื่นล้านบาทได้ในไม่ช้า และสร้างการเติบโตในตลาดเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ได้อย่างยั่งยืนโอเมอร์ กล่าว

หลังจากนี้ บริษัทร่วมทุนที่เกิดขึ้น จะรับหน้าที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มให้กับเครือเป๊ปซี่โค อาทิ เครื่องดื่มเป๊ปซี่” “มิรินด้า เซเว่นอัพชาพร้อมดื่มลิปตันเครื่องดื่มเกลือแร่เกเตอเรดและเครื่องดื่มอควาฟิน่ารวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมเครื่องดื่มและสินค้าใหม่ ๆ จากซันโทรี่ในอนาคต

ปัจจุบัน SPBT มีฐานการผลิตเครื่องดื่ม 2 แห่ง คือ โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง เนื้อที่ 96 ไร่ และโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรมหนองแค จังหวัดสระบุรี บนพื้นที่ 104 ไร่

ส่วนด้านการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า SPBT ยังคงใช้วิธีจับมือกับดีเอชแอลพันธมิตรด้านโลจิสติกส์และการบริหารคลังสินค้าระดับโลก ควบคู่ไปกับการใช้โมเดลธุรกิจแบบดิสทริบิวเตอร์เพื่อกระจายสินค้าไปยังท้องถิ่นผ่านตัวแทน 24 แห่ง ซึ่งสามารถเข้าถึงร้านค้าปลีกส่งและร้านโชห่วยกว่า 470,000 แห่งทั่วประเทศ

นับจากนี้ SPBT ภายใต้วิสัยทัศน์ GROWING FOR GOOD เพื่อมุ่งสร้างความยั่งยืนและการเติบโตทางธุรกิจภายในประเทศไทย จะดำเนินงานผ่าน 5 ภารกิจหลัก นั่นคือ

  1. การลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์ (Brand Building)
  2. การพัฒนานวัตกรรมเครื่องดื่มใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและขยายตลาดให้กว้างขึ้น (Innovation and Portfolio Expansion)
  3. การรุกขยายระบบการกระจายสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคในทุกช่องทาง (Proactive Channel Expansion)
  4. การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม (Social & Environmental Responsibility) 
  5. การพัฒนาองค์กรและศักยภาพของบุคลากร (Organizational & HR Development)”
]]>
1160543
เป๊ปซี่โค ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ หันจับมือ “ซันโทรี่” ตั้ง บ.ร่วมทุนลุยธุรกิจเครื่องดื่มในไทย https://positioningmag.com/1145206 Thu, 02 Nov 2017 07:33:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1145206 จากซ้ายไปขวา : นายทากายูกิ ซานโน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจบริษัท ซันโทรี่ เบฟเวอร์เรจ แอนด์ ฟู้ด เอเชีย จำกัด; นายเชคก้า มันด์เลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท ซันโทรี่ เบฟเวอร์เรจ แอนด์ ฟู้ด เอเชีย จำกัด; นายปริญญา กิจจาธนพันธ์ รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจอินโดจีนเป๊ปซี่โค อิงค์; นายโอเมอร์ มาลิค กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มประเทศไทย เป๊ปซี่โค อิงค์

นับเป็นการปรับโครงสร้างครั้งสำคัญของ “เป๊ปซี่” อีกครั้ง หลังจากดึงเอาการผลิตและทำตลาดจากเสริมสุขมาทำเอง ครั้งนี้เป๊ปซี่ เลิกลุยเดี่ยว หันมาจับมือตั้งบริษัทร่วมทุน ”ซันโทรี่” บิ๊กเครื่องดื่มจากญี่ปุ่น ลุยธุรกิจเครืองดื่มทั้ง ผลิต-จำหน่าย-ทำตลาด ร่วมกัน

“เป๊ปซี่โค อิงค์” ประกาศปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศไทย ด้วยการลงนามในสัญญาความร่วมมือกับ บริษัท ซันโทรี่ เบฟเวอร์เรจ แอนด์ ฟู้ด เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทซันโทรี่ เบฟเวอร์เรจ แอนด์ ฟู้ด จำกัด ผู้นำระดับโลกในธุรกิจเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์จากประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อมุ่งดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์แบบครบวงจรในประเทศไทยร่วมกัน

จับมือลุยธุรกิจเครื่องดื่ม 

การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในครั้งนี้ มองว่า จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเครื่องดื่มของเป๊ปซี่โคในไทย ทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตให้กับทั้งสองบริษัทในอนาคต โดยปัจจุบันทั้งคู่จะใช้ “จุดแข็ง” ที่มีอยู่ร่วมกัน ในการพัฒนาสินค้าใหม่และการขยายพอร์ตโฟลิโอเครื่องดื่มให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงเครื่องดื่มทางเลือกเพื่อสุขภาพ และเครื่องดื่มต่างๆ ในเครือซันโทรี่ด้วย

ตั้งบริษัทร่วมทุน ซันโทรี่ถือ 51% เป๊ปซี่ 49%

ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเฟรชเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเป๊ปซี่โคที่ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มในประเทศไทยในปัจจุบัน จะเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โคเบเวอร์เรจ (ประเทศไทย) จำกัด” โดยซันโทรี่จะถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 51 ในขณะที่เป๊ปซี่โคจะถือหุ้นส่วนที่เหลือร้อยละ 49 และคณะผู้บริหารของทั้งซันโทรี่และเป๊ปซี่โคจะดำรงตำแหน่งสำคัญในบริษัทร่วมทุนดังกล่าว ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มให้กับทั้งสองบริษัท

เคยร่วมมือกันมาแล้วในหลายประเทศ

ที่ผ่านมาซันโทรี่และเป๊ปซี่โคถือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจมาอย่างยาวนานและประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจร่วมกันมาแล้วในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ รวมถึงเวียดนาม

ไทย 1 ในประเทศยุทธศาสตร์ของซันโทรี่

เชคก้า มันด์เลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท ซันโทรี่ เบฟเวอร์เรจ แอนด์ ฟู้ด เอเชีย จำกัด กล่าวว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคหลักที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์สำหรับซันโทรี่ ที่มีการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการขยายตัวของสังคมเมือง ประกอบกับประชากรที่มีอายุน้อยเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ

เมืองไทยถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในภูมิภาค เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงและมีการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง โดยที่ผ่านมาเป๊ปซี่โคได้วางรากฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยมีระบบการผลิตและการกระจายสินค้า และมีพอร์ตโฟลิโอสินค้าที่หลากหลายภายใต้แบรนด์ชั้นนำ รวมทั้งบุคลากรที่มีคุณภาพ

ซันโทรี่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอร์เรจ (ประเทศไทย) จำกัด จะร่วมสร้างการเติบโตให้เกิดขึ้นในอนาคตอย่างต่อเนื่องด้วยการนำเสนอพอร์ตโฟลิโอเครื่องดื่มที่หลากหลายในอนาคต

ที่ผ่านมา ซันโทรี่ ให้น้ำหนักกับการขยายธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก โดยได้เปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งตัดสินใจขยายการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจในระยะยาว โดยซันโทรี่ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ซุปไก่สกัดและรังนกแท้ BRAND’S® ในประเทศไทย (ซื้อหุ้นและเปลี่ยนชื่อองค์กรในช่วงต้นปี) และยังมีพอร์ตโฟลิโอของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ Lucozade® เครื่องดื่มน้ำผลไม้ Ribena® เครื่องดื่มอัดลมรสมะนาวผสมวิตามินซี CC Lemon® ชาพร้อมดื่ม TeaPlus® เครื่องดื่มฟังก์ชันนอลดริงค์ GoodMood® และกาแฟกระป๋อง MYCAFE®

เป๊ปซี่ ได้เวลาต้องปรับ

อเดล การาซ ประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของเป๊ปซี่โค กล่าวว่า “ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดหลักที่สำคัญของเป๊ปซี่โคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป๊ปซี่ได้ดำเนินธุรกิจมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 การปรับโครงสร้างธุรกิจในครั้งนี้ เพื่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว จึงได้ปรับตัวและมองหาโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในแต่ละตลาด ซึ่งเรามั่นใจว่าการร่วมทุนกับซันโทรี่ในครั้งนี้จะนำมาซึ่งความร่วมมือที่แข็งแกร่ง และช่วยสร้างรากฐานให้ธุรกิจเครื่องดื่มของเป๊ปซี่โคในประเทศไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2555 – 2559) เป๊ปซี่โคได้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยด้วยมูลค่ากว่าหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งในธุรกิจอาหารและธุรกิจเครื่องดื่มซึ่งรวมไปถึงการเปิดโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งแรกที่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ในปี พ.ศ. 2555 และโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งที่สอง ที่นิคมอุตสาหกรรมหนองแค จังหวัดสระบุรี ในปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2559) เพื่อต้องการความได้เปรียบในการรุกตลาดเครื่องดื่ม ทั้งยังเป็นการรองรับการขยายพอร์ตโฟลิโอในระยะยาว

โอนธุรกิจเสร็จครึ่งปี 61

โดยขณะนี้เป๊ปซี่โคและซันโทรี่อยู่ระหว่างการดำเนินตามขั้นตอนต่างๆ ทางกฎหมายเพื่อถ่ายโอนการดำเนินธุรกิจไปสู่บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอร์เรจ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า (พ.ศ. 2561) ซึ่งภายหลังการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เป๊ปซี่โคจะยังคงดูแลรับผิดชอบกิจกรรมด้านการตลาดของแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่มน้ำอัดลม “เป๊ปซี่” “มิรินด้า” “เซเว่น-อัพ” ชาพร้อมดื่ม “ลิปตัน” เครื่องดื่มเกลือแร่ “เกเตอเรด” และน้ำดื่ม “อควาฟิน่า” รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมและสินค้าใหม่ๆ ของแบรนด์เครื่องดื่มในเครือเป๊ปซี่โคในอนาคต

เป๊ปซี่คงธุรกิจอาหาร-ขนม

ในส่วนของธุรกิจอาหารและขนมขบเคี้ยว เป๊ปซี่โคยังคงดำเนินธุรกิจดังกล่าวในเมืองไทยด้วยตัวเองเหมือนเช่นเดิมโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับซันโทรี่แต่อย่างใด โดยปัจจุบันเป๊ปซี่โคเป็นผู้นำตลาดขนมขบเคี้ยวมูลค่า 34,000 ล้านบาท ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ มันฝรั่งทอดกรอบ “เลย์” ขนมขึ้นรูป “ตะวัน” และ “ซันไบทส์” และยังคงมุ่งมั่นสานต่อการลงทุนในด้านต่างๆ ทั้งการส่งเสริมการเกษตร การพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ ตลอดจนด้านการกระจายสินค้า เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในประเทศไทยต่อไป.

]]>
1145206