AEC Food Wholesale Pratunam – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 20 Apr 2023 12:07:05 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ย้อนตำนานห้าง “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” 4 สาขา กับการปรับตัวหลังกระแสธุรกิจ “ไอที” เปลี่ยนทิศ https://positioningmag.com/1428066 Thu, 20 Apr 2023 12:06:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1428066 ครั้งหนึ่ง “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” เคยเป็นตำนาน “ห้างไอที” ของเมืองไทย ศูนย์รวมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใหญ่และครบมากที่สุด จนกระทั่งสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจไอทีมาถึง พัดพาความร่วงโรยมาสู่พันธุ์ทิพย์ ทำให้ศูนย์การค้าแห่งนี้ทั้ง 4 สาขาต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

“แต่ไม่ไปพันธุ์ทิพย์ แต่ไม่ไปพันธุ์ทิพย์แน่นอน” เนื้อเพลงท่อนฮุกของนักร้องดัง “เสก โลโซ” ดังก้องขึ้นมาในความทรงจำเมื่อพูดถึงห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า พร้อมด้วยภาพผู้คนขวักไขว่เลือกซื้ออุปกรณ์ประกอบคอมพิวเตอร์ หรือแบกซีพียูมาจากบ้านเพื่อนำมาส่งซ่อมร้าน

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2527 โดยเจ้าของมือแรกคือตระกูลบุนนาค แรกเริ่มไม่ได้เป็นห้างไอที แต่เป็นศูนย์การค้าทั่วไปที่มีโรงภาพยนตร์และภัตตาคาร อย่างไรก็ตาม ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นในย่านประตูน้ำ ทำให้สุดท้ายตัดสินใจขายให้กับ “กลุ่มทีซีซี” ของตระกูลสิริวัฒนภักดีไปในปี 2531 ปิดดีลด้วยมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท

หลังจากนั้น ทีซีซีเริ่มการปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่ เป็นผู้ปั้นให้ พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ กลายเป็นห้างไอที ชักนำผู้ประกอบการเข้ามาเปิดร้าน และมีช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ที่สุดในยุคทศวรรษ 2540-2550 ยุคที่แต่ละครัวเรือนต่างก็มีคอมพิวเตอร์ประกอบใช้งาน และเป็นยุคเฟื่องฟูของแผ่นซีดีเพลง-ภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ กลายเป็นแหล่งใหญ่ในการซื้อหา

หลังจากความเป็นห้างไอทีประสบความสำเร็จที่ประตูน้ำ ทำให้พันธุ์ทิพย์ พลาซ่าขยายสาขาไปอีก 3 สาขาโดยใช้ธีมห้างไอทีเหมือนกัน คือ สาขาเชียงใหม่ สาขางามวงศ์วาน และสาขาบางกะปิ

ทว่าต่อมาสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงก็มาถึงอีกครั้ง ในช่วงหลังปี 2550 พฤติกรรมผู้บริโภคก็เริ่มเปลี่ยนไป จากการซื้อคอมพิวเตอร์ประกอบ เริ่มหันมาซื้อโน้ตบุ๊กพกพามากขึ้น และเริ่มนิยมการ “ซื้อใหม่” มากกว่า “ซ่อม” นั่นทำให้การเป็นศูนย์รวมอะไหล่และอุปกรณ์คอมพ์ของพันธุ์ทิพย์เริ่มจำเป็นน้อยลง เพราะผู้บริโภคสามารถซื้อเครื่องใหม่ได้ที่ร้านไอทีในศูนย์การค้าใกล้บ้าน

ทางกลุ่มทีซีซีจึงเริ่มต้องหาจุดขายใหม่เพื่อให้พันธุ์ทิพย์ พลาซ่าทุกสาขายังน่ากลับมาเดินอีกครั้ง

 

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ

ในช่วงปี 2557 ทีซีซีมีการปรับโฉมใหม่ในสาขาประตูน้ำ พร้อมกับคอนเซ็ปต์ใหม่ “เทคไลฟ์ มอลล์” คือเป็นห้างไอทีสมัยใหม่ นิยามเรื่องไอทีให้กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์ แต่ยังมีไอทีด้านอื่นของชีวิต เช่น เครื่องเสียง อุปกรณ์สมาร์ทโฮม อุปกรณ์ไอทีสำหรับสำนักงาน เกม ของเล่นวัยเด็ก ฯลฯ รวมถึงมีโคเวิร์กกิ้งสเปซมาเสริมทัพ โดยทีซีซีวางแพลนปรับปรุงทั้งอาคารจากเดิมเป็นอาคารแบบโคโลเนียลมาเป็นสไตล์ที่ทันสมัยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เจ้าของห้างกลับต้องเจอกระแสต่อต้านและประท้วงของผู้เช่าในศูนย์ฯ เพราะผู้เช่ามองว่า การก่อสร้างปรับปรุงที่ยาวนานมากกว่า 1 ปี ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดว่าพันธุ์ทิพย์จะปิดตัว จนลูกค้ามาเดินห้างน้อยลง ยังผลให้ยอดขายของร้านตกลง ที่สุดแล้วร้านค้ารายย่อยที่เคยมีมากกว่า 600 รายจึงทยอยย้ายออกจนเหลือราว 300 รายในปี 2558

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ หลังรีโนเวตเป็น เทค-ไลฟ์ มอลล์ เสร็จในปี 2559

ในที่สุดพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำก็ปรับโฉมเสร็จในปี 2559 พร้อมกับเปิดตัว “Pantip e-Sport Arena” สร้างจุดดึงดูดใหม่ให้วัยรุ่นมาเดินห้าง

แม่เหล็กใหม่นี้ดูจะช่วยต่อลมหายใจได้ระยะหนึ่งแต่ก็ไม่ยั่งยืน กระแสของพันธุ์ทิพย์แผ่วลงอีกครั้งเมื่ออีคอมเมิร์ซบูมในปี 2560 ทำให้ผู้บริโภคยิ่งสะดวกในการหาซื้อสินค้าไอทีทุกอย่างผ่านช่องทางออนไลน์แทนการเดินห้าง หนำซ้ำห้างยังเผชิญโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 เป็นคลื่นลูกใหญ่ที่กระหน่ำจนต้อง “ฉีก” แนวไปโดยสิ้นเชิง

ปลายปี 2563 มีการประกาศที่ปิดตำนาน “พันธุทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ” ไปโดยสิ้นเชิง เพราะห้างถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “AEC Trade Center Pantip Pratunam” เลิกเป็นห้างไอที และหันมาเป็นศูนย์ค้าส่งสารพัดสินค้าแทน

เปลี่ยนรอบล่าสุดเป็น AEC Food Wholesale Pratunam

อย่างไรก็ตาม ด้วยโควิด-19 ที่ไม่จบลงง่ายๆ และคอนเซ็ปต์ที่อาจจะยัง “ไม่โดน” ทำให้ในปี 2566 มีการปรับคอนเซ็ปต์อีกครั้งเป็น “AEC Food Wholesale Pratunam” เพื่อจะโฟกัสไปที่การค้าส่งวัตถุดิบอาหารโดยเฉพาะ หมายมั่นจะเป็นแหล่งรวมอาหารจากทั่วโลก เพื่อจับคู่กับผู้ซื้อกลุ่มโรงแรม-ร้านอาหารในอาเซียน

 

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่

ห้างไอทีที่บุกโซนภาคเหนือ เผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับที่ประตูน้ำเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วประเทศไม่ต่างกัน ที่สาขาเชียงใหม่เคยรับโมเดลธุรกิจแบบเดียวกันมาใช้คือ เสริมฟังก์ชัน “Pantip e-Sport Arena” สาขา 2 เข้าไป แต่ก็ไม่เวิร์กเช่นกัน

จุดดึงดูดของพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่ในระยะหลังกลับกลายเป็น บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต และโรงเรียนสอนพิเศษแทน นั่นทำให้แผนปี 2566 พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่จะถูกปรับเป็น “The Pantip Lifestyle Hub”

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า
พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ รีโนเวตเป็น The Pantip Lifestyle Hub

สาขานี้ยังเก็บชื่อเก่าเอาไว้แต่คอนเซ็ปต์ใหม่ทั้งหมด จะมีการรีโนเวตทั้งห้างให้กลายเป็นศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์ เน้นสัดส่วนหลักคือ แหล่งกิจกรรมเยาวชน เช่น โรงเรียนสอนพิเศษ ศูนย์การเรียนรู้ สนามเด็กเล่นในร่ม , ศูนย์รวมร้านอาหารชั้นนำ และตลาดนัดไลฟ์สไตล์ ขายสินค้าที่เข้ากับความเป็นเชียงใหม่ เช่น งานศิลปะ สินค้าทำมือ

 

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วาน

ใน 4 สาขาของพันธุทิพย์ พลาซ่า ปัจจุบันสาขางามวงศ์วานน่าจะเป็นสาขาที่ “อยู่รอด” ได้มากที่สุด เพราะก่อนหน้านี้ที่เคยเป็นห้างไอที มีส่วนหนึ่งของห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วานที่มีผู้เช่าเป็นกลุ่ม “ศูนย์พระ” อยู่แล้ว

ดังนั้น เมื่อฝั่งไอทีเริ่มนิยมลดลง ในปี 2562 ทีซีซีจึงเลือกดันส่วนศูนย์พระให้ขยายใหญ่ขึ้น โดยปัจจุบันมีเนื้อที่ 2 ชั้นเต็มๆ ในห้างแห่งนี้ที่กลายเป็นแหล่งรวมวัตถุมงคลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพระเครื่อง เครื่องราง ของขลัง ดึงดูดเหล่าเซียนพระให้มาเดินเลือกชม

พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน

พร้อมกับการดันสนามพระให้ขยายตัว สาขางามวงศ์วานยังปั้น “ตลาดนัดติดแอร์” เฉพาะวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ขึ้นด้วย ซึ่งมีจุดเด่นที่การขายของมือสอง

 

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า บางกะปิ

ปัจจุบันมีการปรับตัวที่คล้ายกับสาขางามวงศ์วาน คือดึงกลุ่มสนามพระเข้ามาเปิดกิจการ และมีการดึงหน่วยงานภาครัฐเข้ามา เช่น สำนักงานประกันสังคม สำนักงานจัดหางาน ศูนย์ฝึกวิชาชีพ

*สาขานี้ยังเปิดให้บริการ แต่ไม่อยู่ในพอร์ตของ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น (AWC)

ต้องรอชมทั้งสาขาประตูน้ำและเชียงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงคอนเซ็ปต์ศูนย์การค้าไปอย่างชัดเจนว่า จะสามารถปั้นให้(อดีต)พันธุ์ทิพย์ พลาซ่ากลายเป็นห้างแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ได้หรือไม่

]]>
1428066
“พันธุ์ทิพย์” ปรับอีกรอบเป็น “AEC Food Wholesale” ศูนย์ค้าส่งวัตถุดิบ “อาหาร” จากทั่วโลก https://positioningmag.com/1427862 Wed, 19 Apr 2023 08:53:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1427862 จาก “พันธุ์ทิพย์” ห้างฯ ไอทีในตำนานย่านประตูน้ำ สู่ยุค “AEC Trade Center” ค้าส่งสารพัดสินค้า ล่าสุดเจ้าของโครงการเปลี่ยนอีกรอบเป็น “AEC Food Wholesale” คอนเซ็ปต์ศูนย์ค้าส่งวัตถุดิบ “อาหาร” จากทั่วโลก จับคู่ลูกค้าโรงแรมร้านอาหารในอาเซียน

บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC เจ้าของโครงการ “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” เคยประกาศปรับเปลี่ยนศูนย์การค้าอดีตแหล่งรวมสินค้าไอทีแห่งนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนตุลาคม 2563 บริษัทเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ศูนย์ฯ นี้ใหม่เป็น AEC Trade Center – Pantip Wholesale Destination หมายให้เป็นศูนย์กลางการค้าส่งของภูมิภาค จัดจำหน่ายสินค้าสารพัดประเภท เช่น อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ของเล่น ของชำร่วย เครื่องเขียน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคอนเซ็ปต์นี้ยังไม่ได้ผล ไม่สามารถดึงผู้เช่าเข้ามาได้อย่างที่หวัง ล่าสุด “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC จึงบิดคอนเซ็ปต์ ไม่ขายสินค้าครอบจักรวาลแต่ปรับโฟกัสให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยจะเปลี่ยนมาเน้นค้าส่งเฉพาะกลุ่มวัตถุดิบ “อาหาร” เท่านั้น และเปลี่ยนชื่อศูนย์การค้าแห่งนี้ใหม่เป็น “AEC Food Wholesale Pratunam”

AWC
วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC

แม่ทัพหญิงของ AWC จับจุดมาเลือกค้าส่งวัตถุดิบอาหารเพราะเห็นว่า การจัดหาวัตถุดิบ (sourcing) ของบรรดา “เชฟ” โรงแรมและร้านอาหาร เป็นเรื่องที่ยากลำบาก มี ‘pain point’ ที่ศูนย์กลางการค้าส่งจะตอบโจทย์ได้

“เราเห็นจากตัวเราเองก็บริหารโรงแรมหลายแห่ง จัดซื้อวัตถุดิบอาหารปีละกว่า 3,000 ล้านบาท” วัลลภากล่าว “เวลาเชฟจะจัดหาวัตถุดิบ เขาต้องไปเสาะหาผู้ผลิตในอินเทอร์เน็ต ติดต่อขอเรียกตัวอย่างวัตถุดิบ (sample) มาทดลองใช้ทีละเจ้าๆ บางครั้งก็ต้องรอนานกว่าวัตถุดิบจะมา กระบวนการจึงไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ”

รวมถึงมีตัวเลขสนับสนุนเพราะมูลค่ารายได้จากวัตถุดิบอาหารในภูมิภาคอาเซียนปี 2566 นั้นคาดว่าจะไปแตะ 25 ล้านล้านบาท เฉพาะในไทยคาดมีมูลค่า 2 ล้านล้านบาท และยังมีแนวโน้มจะโตเฉลี่ย 6.9% ต่อปี ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ทำให้ธุรกิจอาหารเป็นตลาดที่น่าสนใจ

จึงเป็นไอเดียในการจับเฉพาะตลาดอาหาร รวมศูนย์สินค้าทั้งในไทยและจากทั่วโลก เพื่อให้เชฟหรือฝ่ายจัดซื้อเข้ามาชมและทดลองใช้วัตถุดิบในครัวกลางของศูนย์ แบบจบภายในจุดเดียว

 

ศูนย์ค้าส่ง “อาหาร” ครบวงจร

“AEC Food Wholesale Pratunam” จะใช้พื้นที่อาคารทั้งหมด 67,000 ตร.ม. 6 ชั้น และที่ดินด้านหลังอาคารมาบริหารการค้าส่ง โดยมีส่วนสำคัญๆ ภายในอาคาร ได้แก่ พื้นที่ร้านค้าทั้งหมด 600 ร้าน (แยกตามแบรนด์/บริษัท), พื้นที่ร้านค้าส่วนกลางสำหรับรายกลาง-รายย่อย (shared shop), ฮอลล์จัดโปรโมชัน/อีเวนต์พิเศษ, ครัวกลางในการทดสอบชิมวัตถุดิบ (Taste Kitchen), ศูนย์เจรจาทางธุรกิจและอำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออก, คลังสินค้า และพื้นที่ขนถ่ายสินค้า

การแบ่งพื้นที่ทั้ง 6 ชั้นใน AEC Food Wholesale Pratunam

ฟังก์ชันในศูนย์ฯ จะเห็นได้ว่า ลูกค้าสามารถมาจัดหาวัตถุดิบ เจรจาต่อรอง สั่งซื้อ ชำระเงิน และขนส่งสินค้า จบครบวงจรในที่เดียว

นอกจากนี้ บริษัทจะเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ “PhenixBox” มาเสริมในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ได้ด้วย โดยจะเน้นเฉพาะตลาด B2B ที่ซื้อเป็นลอตใหญ่ และมีระบบ Group Buyers รวมกันซื้อของผู้ซื้อรายกลางถึงรายย่อย เพื่อให้ได้ราคาส่ง

 

จีบพันธมิตรลงทุนทั้งในไทย-ต่างประเทศ

วัลลภากล่าวต่อถึงประเภทสินค้าที่เน้น แบ่งเป็น 8 ประเภทใหญ่ ได้แก่ อาหารแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์นม เครื่องเทศและเครื่องปรุง ข้าว อุปกรณ์ครัว ขนมขบเคี้ยว ชา-กาแฟ และเครื่องดื่ม

AEC Food Wholesale Pratunam
8 ประเภทสินค้าที่จะจำหน่าย

โดยในงานวันเปิดตัวคอนเซ็ปต์ AWC มีการเชิญชวนพันธมิตร ทั้งภาครัฐ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และพันธมิตรธุรกิจอาหารสัญชาติไทยร่วมรับฟังโมเดลธุรกิจ ได้แก่ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์, ซีพีเอฟ โกลบอล ฟู้ด โซลูชั่น, ไทยเบฟเวอเรจ, ไทยยูเนี่ยน, เบทาโกร, พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น, ทิปโก้ฟูดส์, เคซีจี คอร์ปอเรชั่น

รวมถึงเชิญพันธมิตรต่างประเทศ เช่น อี้อู (Yiwu) ผู้บริหารตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ในจีน, หอการค้าไทย-จีน, สภาหอการค้าอังกฤษแห่งประเทศไทย, หอการค้าสวิส-ไทย, สมาคมหอการค้าไทย-สเปน, หอการค้าออสเตรเลีย-ไทย, หอการค้าไทย-นิวซีแลนด์, หอการค้าไทย-แคนาดา

ส่วนฝั่งผู้ซื้อนั้น วัลลภาคาดหวังถึงเครือข่ายโรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล ฯลฯ ในภูมิภาคอาเซียนที่ต้องจัดซื้อวัตถุดิบอาหารจำนวนมาก ซึ่ง AWC จะส่งเทียบเชิญมาร่วมชมสินค้าหลังจากศูนย์ฯ เปิดดำเนินการ

ปัจจุบันภายในศูนย์ฯ ยังมีร้านไอทีที่ยังไม่หมดสัญญาเช่าอยู่บางส่วน ทำให้ AWC จะจัดดิจิทัล โซนไว้ให้ผู้เช่ากลุ่มนี้ ขณะที่พื้นที่เช่าใหม่สำหรับค้าส่งอาหาร คาดว่าจะเริ่มทยอยให้บริการได้ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2566

ความหวังของ “AEC Food Wholesale Pratunam” นั้นคือการปล่อยเช่าพื้นที่เช่าให้เต็ม โดยจะไม่มีการคิดค่าคอมมิชชั่นจากยอดขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพราะต้องการจะดึงดูดผู้เช่ามาสร้างระบบนิเวศให้เป็นศูนย์ค้าส่งอาหารของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง

]]>
1427862