ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการปรับตัวที่โดดเด่นเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแตกต่างของ ‘ธนาคารกสิกรไทย’ (KBank) ที่สร้างปรากฏการณ์มาหลายครั้ง
ความเคลื่อนไหวล่าสุดกับการประกาศยกทัพบุกตลาดภูมิภาค ด้วยแนวคิด “THE METAMORPHOSIS” กลายร่างธนาคาร ให้เติบโตมากกว่าเดิมแบบ “ไร้ขีดจำกัด ไร้รอยต่อ และไร้ขอบเขต” น่าสนใจยิ่ง เพราะสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายที่ชัดเจนในการ บุกทำตลาดต่างประเทศ เพื่อให้ทุกคน ‘เข้าถึง’ การเงินบนโลกดิจิทัล
โอกาสนี้ เห็นได้จากทิศทางการเติบโตของธุรกิจธนาคารในระดับภูมิภาคของ KBank ที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ท่ามกลางความโกลาหลของเศรษฐกิจโลกในช่วงวิกฤตโควิด-19
โดยในปี 2564 มีการเติบโตมากกว่าปีก่อนหน้าถึง 34% ซึ่งธนาคารได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2566 จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจในต่างประเทศเป็น 5% ของรายได้สุทธิธนาคารทั้งหมด (Net Total Income-NTI) หรือมีรายได้เติบโตถึง 5 เท่า พร้อมขยายฐานลูกค้าดิจิทัลเป็น 6.5 ล้านราย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.6 ล้านราย และเพิ่มเป็น 10 ล้านรายภายในปี 2567
เส้นทางสู่เป้าหมาย เต็มไปด้วยความท้าทายมากมายรออยู่ ทั้งเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน วางเเผนกลยุทธ์รองรับทุกการเปลี่ยนเเปลง การสร้างสรรค์เทคโนโลยีเเละพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการบริหารจัดการองค์กรให้เป็น ‘หนึ่งเดียวกัน’ ผสมผสานความหลากหลายของเชื้อชาติเเละวัฒนธรรม ดึงดูด Top Talent จากทั่วโลก
ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก เเละมีเเนวโน้มจะเติบโตได้ต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า เเละเส้นทางนี้ก็เหมือนการ ‘วิ่งมาราธอน’ ที่ต้องใช้ความพยายาม อดทนเเละต้องคว้าโอกาสสำคัญให้ได้ พร้อมการวางเเผนกลยุทธ์ที่ดี การเติบโตของ KBank จึงเปรียบเสมือน ‘Metamorphosis’ วิวัฒนาการเชิงความคิด การเติบโตผ่านการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างรวดเร็วตามเป้าธุรกิจที่ท้าทาย
เปลี่ยนปรัชญาทางธุรกิจไปสู่การให้บริการที่เหนือกว่าธุรกิจธนาคาร ผ่านการสร้างโซลูชันและยกระดับการให้บริการเพื่อมอบชีวิตที่ดีให้ลูกค้า ตาม 3 วิสัยทัศน์หลัก คือ
Limitless Opportunity ธนาคารกสิกรไทยจะไม่ติดกรอบอยู่แค่การทำธุรกิจในประเทศไทย การเติบโตของธนาคารสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกภูมิภาคอย่างไร้ขีดจำกัด
Seamless Connectivity ด้วยการสนับสนุนทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยจาก KASIKORN BUSINESS-TECHNOLOGY GROUP (KBTG) ทำให้สามารถจัดสรรทรัพยากรทั้งการลงทุน ผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ได้อย่างไร้รอยต่อ
Borderless Growth สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ศักยภาพ (Capabilities) ทุก ๆ ด้านของคนกสิกรไทยที่จะต้องเติบโตได้อย่างไร้ขอบเขต
ด้าน พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ชี้ว่า โลกยุคใหม่หลังโควิด-19 เปลี่ยนเเปลงไปอย่างมาก มีทั้งความซับซ้อนเเละท้าทาย เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาดิสรัปเร็วกว่าเดิม 4-10 ปี ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ สำหรับธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็ว (Morph) และเปิดรับทักษะสมัยใหม่ โดยสามารถเเบ่งเป็น 4 ธีมการเปลี่ยนเเปลงของโลกในระยะต่อไป ได้เเก่
DECOUPLING สำนักวิจัยหลายแห่งคาดว่าภายในปี 2573 เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ช่วงเวลานี้ เกิดการประลองกันของมหาอำนาจโลก มีการกีดกันทางการค้าและเเข่งขันกันด้านเทคโนโลยี เหล่านี้เป็นโอกาสที่ไทยเเละ ‘อาเซียน’ จะสามารถเชื่อมต่อกับสองห่วงโซ่ทั้งจีน และสหรัฐฯ จากการเปิดกว้างต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับทั้งสองขั้วอำนาจ ซึ่งต้องมองเรื่องนี้ให้เป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค
ในประเด็นต่อมาคือ REGIONALIZATION 2.0 การปรับภาพลักษณ์ใหม่ของจีน ที่จะผันตัวเองจากแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกไปเป็นประเทศ ที่เน้นการส่งออกสินค้าไฮเทคและนวัตกรรม
“ธุรกิจของจีนจะทยอยย้ายฐานการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งมีศักยภาพสูง ในการเป็นห่วงโซ่อุปทานของจีน เพื่อรองรับตลาดผู้บริโภคชนชั้นกลางจำนวนมาก รวมถึงมีความได้เปรียบทั้งเรื่องความสัมพันธ์ วิถีชีวิต มีศักยภาพสูงในการลงทุนทั้งเรื่องของค่าแรง กฎระเบียบต่างๆ”
สำหรับโอกาสของ NEXT-GEN DIGITALIZATION เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยขับเคลื่อนและสร้างโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้นเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตอบรับการเปลี่ยนผ่านสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
ส่วนอีกกระแสสำคัญของปัจจุบัน คือ DECARBONIZATION ที่นานาประเทศเริ่มมุ่งไปสู่ ‘สังคมไร้คาร์บอน’ ซึ่งการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย
โดยทางจีนที่เป็นผู้ปล่อยคาร์บอนสูงที่สุด ก็มีการประกาศเป้าหมายนี้มาเเล้ว เชื่อว่าต่อไปจะได้เห็นความร่วมมือกันของหลายประเทศ ทั้งภาครัฐเเละเอกชนในด้านต่างๆ อย่างพลังงานลมและโซลาร์เซลล์ เเละรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ
“นี่เป็นโอกาสของการทำธุรกิจในการสร้างห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) ของไทยเเละอาเซียน ยกระดับเศรษฐกิจเก่าไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างอุตสาหกรรมใหม่สู่ New S-Curve ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคบนเส้นทางการเติบโตยั่งยืนในอนาคตข้างหน้า”
ด้านความเห็นต่อกระเเส Crypto Economy ผู้บริหารกสิกรไทยมองว่า ต่อไปจะเป็นการรวมกันระหว่างตลาดการเงิน สินทรัพย์ดิจิทัลเเละภาคธุรกิจต่างๆ เช่นการนำ Metaverse มาปรับใช้ จะช่วยสร้างผลิตภาพที่สูงขึ้น การซื้อขายผ่านเงินสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) หรือซื้อขายผ่าน NFT (Non-Fungible Token) สถาบันการเงินจึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมรับทุกบริการเพื่อธุรกิจยุคใหม่
ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา KBTG เพิ่งส่งบริษัทลูกในเครืออย่าง KASIKORN X หรือ KX เดินเกมสร้างธุรกิจใหม่บนโลกของ DeFi เปิดตัว ‘Coral’ มาร์เก็ตเพลส NFT ที่ซื้อขายง่ายด้วยสกุลเงินทั่วไป สร้างโอกาสศิลปินไทยสู่ระดับสากล (คลิกอ่าน ที่นี่)
โดยโจทย์หลักของ KBank คือ การมุ่งสู่โลกการเงินแห่งอนาคต ยกระดับความสามารถความรู้ให้ทั้งบุคลากรของธนาคาร และลูกค้าเพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างยั่งยืน และเรื่อง ESG ที่การเติบโตของธุรกิจไม่ได้ดูแค่ผลกำไรเท่านั้น เเต่จะต้องสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG (Group Chairman-KASIKORN BUSINESS-TECHNOLOGY GROUP) กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนในของ ‘ตลาดจีน’ ว่ามี FinTech Landscape ที่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น จากจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 1,412 ล้านคน เเละมีการใช้โทรศัพท์มือถือสูงมากๆ ใช้จ่ายด้านออนไลน์สูง เเละเป็นตลาดที่มีการเเข่งขันสูง เป็นโอกาสของกสิกรไทยที่จะเข้าไปเจาะตลาดเเละเรียนรู้ได้
ในปี 2563 ที่ผ่านมา KBTG ได้มีการจัดตั้งบริษัท ไคไท่ เทคโนโลยี จำกัด (KAITAI Technology Company Limited : KTECH) ที่เซินเจิ้น ซึ่งภารกิจหลักๆ คือการ ‘หาบุคลากร’ จีนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีมาร่วมทีมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร เเลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญ พร้อมทั้งต่อยอดโอกาสทางธุรกิจจากฟินเทคในจีนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไปสู่ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน
โดยเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในจีน ก็คือ คลาวด์คอมพิวติ้ง นาโนไฟเเนนซ์ ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน 5G เเละความปลอกภัยไซเบอร์
ความสำเร็จในก้าวปีแรกของ KBTG คือ การมีส่วนร่วมใน 14 โครงการสำคัญ ครอบคลุมในทุกประสบการณ์ทางการเงิน ทั้งด้านการปล่อยกู้ เงินฝาก การชำระเงิน รวมทั้งข้อมูลและการวิเคราะห์กับ 7 พันธมิตรสำคัญในประเทศจีน และมีแผนเพิ่มทีมงานให้ใหญ่ขึ้นถึง 12 เท่า ภายในปี 2569 “การทำงานของเราจะเป็นไปในรูปแบบ Fast-Fun-Flow-Feedback ทำอย่างรวดเร็วด้วยความสนุก”
ส่วนเป้าหมายจำนวนผู้ใช้ K PLUS ทั้งในไทยและต่างประเทศนั้น ตั้งเป้าหมายไว้ที่ระดับ 50 ล้านผู้ใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งตอนนี้จำนวนผู้ใช้ในปัจจุบันก็ใกล้เเตะ 20 ล้านรายแล้ว
ภัทรพงศ์ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับศักยภาพของกลุ่ม World Business Group (WBG) ที่ได้สร้างการเปลี่ยนสู่ธุรกิจ ธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค ว่า ด้วยความที่ KBank นิยามตัวเองว่าเป็นเทคสตาร์ทอัพที่มี banking license จึงเข้าไปทำตลาดใหม่ๆ ได้อย่าง ‘ตัวเบา’ โดยการเดินหน้าธุรกิจตามโมเดล Kasikorn China ในจีนนั้นจะใช้บนปรัชญา “Better Me” ที่มุ่งให้การสนับสนุนลูกค้าที่มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน และมุ่งมั่นนำพาตัวเองสู่อิสรภาพทางการเงินสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบยั่งยืนพร้อมจะนำแนวคิดธุรกิจนี้ขยายไปต่อยัง ‘เวียดนาม’ ที่ได้เดินหน้าด้วยดิจิทัล แบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบ
ได้แก่ KBank Biz Loan สินเชื่อดิจิทัลที่ช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในการขออนุมัติวงเงินและ K PLUS Vietnam โมบาย แบงกิ้งที่ต่อยอดจากต้นแบบ K PLUS ในประเทศไทย
“ในอนาคตจะมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่บนโมเดล Banking-as-a Service (BaaS) ในการให้บริการมากกว่าธุรกิจการเงินที่จะเริ่มที่เวียดนามเป็นแห่งแรก เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกที่มากกว่าในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ช่วยให้ฟินเทครายย่อยมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกันและเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น”
สำหรับในตลาดกัมพูชา KBank พร้อมเปิดตัว Payroll Lending ที่ทำให้ลูกค้าได้รับสินเชื่ออย่างง่ายดาย ผ่านแอปพลิเคชันของพันธมิตร ส่วนในฝั่ง สปป.ลาวจะยังคงเดินหน้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานบริการ QR KBank จากปัจจุบันที่มี 1.3 แสนรายอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขยายการใช้งานให้ครอบคลุมทุกธุรกรรมการเงินของลูกค้า
เป้าหมายถัดไปของธนาคารกสิกรไทย คือ การเชื่อมต่อกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่สุดและมีประชากรจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค โดยปัจจุบันธนาคารได้เร่งสร้างพันธมิตรธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อขยายโอกาสในการทำธุรกิจและส่งมอบบริการทางการเงินให้กับลูกค้าในอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ ยังมีแผนในการจัดตั้งบริษัท K VISION FINANCIAL (KVF) เพื่อขยายการลงทุนด้านดิจิทัลในธุรกิจต่าง ๆ ด้วยเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มจำนวนพันธมิตรทางธุรกิจ สู่การเป็น Ecosystem ทางการเงินในระดับภูมิภาค พร้อมชูแผนการสร้าง บริการทางการเงินเพื่อรองรับตลาด Digital Asset ที่จะเติบโตในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะในประเทศจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม
จากเป้าหมายและพันธกิจที่ใหญ่ขึ้น WBG ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 1,037 คนในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นถึง 52% จากปี 2563 เพื่อขยายศักยภาพของทีมให้ไปสู่ความสำเร็จได้ และด้วยความตั้งใจที่จะเป็นองค์กรสำหรับ Talent ทั่วโลก
ธนาคารได้เสนอแนวคิด “World of Borderless Growth” เพื่อสื่อสารให้คนรุ่นใหม่เห็นโอกาสในการเติบโตอย่างไร้ขอบเขตทุกมิติ อย่าง
Personal Growth การเติบโตผ่านประสบการณ์ทำงานจริงที่ท้าทาย
Growth of Team การเติบโตร่วมกับทีมที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน
Growth of Partners การเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตรทั้ง Tech Company และ Startup ระดับโลก
Growth of Community การเติบโตเคียงข้างกับสังคมผ่านทุกภารกิจ (Mission) ของ WBG ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
“เราจะได้สร้างสิ่งใหม่ๆ เรื่องใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เเค่พนักงานไม่เคยทำ เเต่ KBank เองก็ยังไม่เคยทำ เป็นประสบการณ์ใหม่ของทีมงานที่จะได้ไปเจอ ให้โอกาสในการเเสดงศักยภาพ เเชร์ไอเดียทำงาน เราต้องการคนรุ่นใหม่ที่ใจกล้า มีความอยากเรียนรู้เข้ามาช่วยเราทำงาน เเละเติบโตไปด้วยกัน” ชัช เหลืองอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าว
โดยสิ่งที่ธนาคารกสิกรไทยอยากจะเป็นจริงๆ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า คือการเป็นธนาคารที่ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือลูกค้า เเละ ‘เป็นที่รัก’ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนๆ เเละก็เชื่อว่าทีมงานของเราทุกคนมีความเชื่อเเละปรัชญานี้เหมือนกัน ที่จะมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งที่มีความหมายต่อชีวิต พัฒนาสิ่งที่ดีกว่าให้กับโลก
]]>
ว่ากันว่า…เบื้องหลังการสร้างเทคโนโลยีสุดล้ำ ล้วนมาจากการมี ‘ทีมงาน’ ที่มีประสิทธิภาพ
การอำนวยความสะดวกให้เหล่าคนทำงานได้ ‘เฉิดฉาย’ ความสามารถอย่างเต็มที่ มีองค์ความรู้ให้ค้นคว้า ลดเวลาการทำงานซ้ำซ้อน ให้พวกเขาได้โฟกัสไปที่การมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ จึงเป็นอีกหนึ่งบันไดความสำเร็จที่จะนำพาองค์กรขยับไปสู่ระดับโลก
ล่าสุด KBTG ผู้นำด้านเทคโนโลยีของไทย เปิดตัวแผนกใหม่ ‘Software Development Excellence’ ประเดิมปั้นทีม ‘DevX’ มาช่วยให้นักพัฒนาให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน เสริมทัพด้าน Digital Services ในระดับภูมิภาค ตามยุทธศาสตร์ของ KBTG สู่การเป็น ‘บริษัทเทคแห่งอาเซียน’ รวมถึงการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระดับโลก ให้ได้ภายในปี 2025
วันนี้เราจะมารู้จักกับเเผนก Software Development Excellence เเละการทำงานของทีม ‘DevX’ ให้มากขึ้นกัน
ธนาคารใหญ่ในไทย กำลังหาขุมทรัพย์เเห่งใหม่ ด้วยการเข้าไปเจาะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่มีตลาดเติบโตสูงเป็นโอกาสทองในการปูทางสร้างรากฐาน ‘Digital Banking’ ให้เข้าถึงประชากรจำนวนมาก ในยามที่คู่เเข่งยังมีไม่เยอะ
กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ในเครือของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ถือว่าเป็น ‘หัวหอก’ ผู้นำที่บุกเบิกด้านดิจิทัลในภูมิภาคนี้ ในปีที่ผ่านมา เราได้เห็น KBTG เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเขย่าวงการ ไม่ว่าจะเป็น ขุนทอง chatbot, Eatable, Contactless Technology และ MAKE by KBank
จากยุทธศาสตร์ใหญ่ของ ‘กสิกรไทย’ ที่กำลังเข้าไปทำธุรกิจในกลุ่มประเทศ AEC+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) โดยการขยายธุรกิจเข้าไปในจีน , สปป.ลาว เมียนมา , อินโดนีเซีย , กัมพูชาและเวียดนาม ในรูปแบบที่เป็นธนาคารท้องถิ่น ธนาคารร่วมลงทุน และสาขาของธนาคาร
ด้วยกลยุทธ์การขยายธุรกิจแบบ ‘Asset Light’ สร้างความสะดวกในการใช้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล เน้นการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายยิ่งขึ้น
ถึงแม้ว่าตอนนี้ ยังมีจำนวนสาขาที่จำกัดในแต่ละประเทศ เเต่ KBank ก็ยังสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างครอบคลุม ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้บริการแก่ลูกค้า อาทิ Digital Lending, Mobile Banking, ระบบชำระเงิน (Payment) และการโอนเงิน
การพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งเหล่านี้ ทำให้ KBTG ต้องมีทีมบริหารและทีมเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาบริการที่สามารถแข่งขันได้ในทุกตลาดอย่าง ‘ทันเวลา’ และ ‘ทันสมัย’ ที่สุด
นี่จึงเป็นที่มาของการตั้งเเผนก ‘Software Development Excellence’ ขึ้นมา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อเป็น ‘หน่วยงานกลาง’ ประกอบด้วย 4 ทีม ได้แก่ Agile, DevOps, Software Development Methodology และ DevX
โดยจะมุ่งศึกษาปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Development) และพัฒนา ‘Automate Tools’ เพื่อให้การพัฒนาซอฟต์แวร์มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด คอยปิดช่องว่างในกระบวนการทำงาน รวมไปถึงการกำหนดมาตรฐานที่ดี
ประเดิมตั้งทีม ‘DevX’ ขึ้นมาก่อน ซึ่งถือเป็นทีมแรกที่เกิดจาก KBTG Transformation Program มีภารกิจหลักๆ คือการ ‘เสริมพลังการทำงาน’ ให้องค์กรประสบความสำเร็จ บุคลากรได้เเสดงความสามารถอย่างเต็มที่เเละ ‘มีความสุข’ กับงานที่ทำ
จิรัฎฐ์ ศรีสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการแผนก Software Development Excellence ของ KBTG เล่าให้ฟังว่า เป้าหมายของทีม DevX คือการสร้าง ‘Enterprise Common Library’ เพื่อลดเวลาในการทำงานซ้ำซ้อน และ Align กันระหว่างภาษาได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมี Knowledge Management Framework ด้วยการจัดตั้ง New Practice พร้อมค้นคว้าองค์ความรู้ในเชิงลึก วิเคราะห์จุดที่เป็นช่องว่างของบริษัท รวมถึงสามารถผลิตซอฟต์แวร์ หรือนำเครื่องมือใหม่ ๆ มาใช้เพื่อปิดช่องว่างให้องค์กร และยกระดับนักพัฒนาให้ก้าวไปสู่ระดับภูมิภาค
โดยการทำงานของทีม DevX จะต้องเพิ่มความสามารถในการติดตามและตรวจสอบประสิทธิภาพของแอปพลิเคชันตั้งแต่ต้นจนจบ หรือที่เรียกว่า Application Observability ทั้งในส่วนของ Logging, Metrics, และ Tracing โดยประสานงานกับทีม Infrastructure ในการวางมาตรฐาน และพัฒนา Common Library เพื่อส่งต่อให้กับทีมแอปพลิเคชัน
รวมทั้งการสร้าง Developer Utility Platform เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการพัฒนาด้วย Automation รวมแอปพลิเคชันทั้งบริษัทให้มาอยู่ในที่เดียวกันเพื่อความสะดวกในการจัดการ
“บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Google , Apple , Facebook , Uber หรือบริษัทเทคอื่นๆ ในซิลิคอนวัลเลย์ ล้วนมีแผนกลักษณะนี้อยู่ เเต่มีชื่อทีมที่แตกต่างกันไป เพื่อมาสนับสนุนให้พนักงานทำงานง่ายขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาไปกับงานที่ซ้ำซ้อน ทุกคนสามารถเเชร์ไอเดียได้รวดเร็ว ไม่ต้องมาคุยกันหลายรอบ มีฐานข้อมูลให้ค้นคว้าได้ทันที เป็นการ ‘เพิ่มเวลา’ ให้กับการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น”
สำหรับความท้าทายของ DevX อันดับเเรกคือต้องทำให้คนกว่า ‘ร้อยคน’ สามารถทำงานที่ไม่ซ้ำกัน ด้วยการสร้าง Common Library และเทคโนโลยีแพลตฟอร์มกลางให้ทุกคนมาแชร์กันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตามมาด้วย การตามหาคนที่จะมาร่วมทีม DevX เพราะจะต้องเป็นผู้ที่มีทักษะความรู้ไม่ต่างจากวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineer) ทั่วไป เเต่ต้องมี Soft Skills การสร้างความสัมพันธ์ในการทำงาน
คิดโซลูชั่นตอบโจทย์ทุกฝ่าย หาทางว่าจะทำอย่างไรให้คนทำงานทำงานได้ดี เเละรู้สึก ‘เเฮปปี้’ ด้วย
โดยทีม DevX จะต้องมองเห็น Pain Point ในการทำงานเเล้วคิดว่าจะเเก้ไขอย่างไร จึงต้องมีทักษะการเข้าสังคมเเละเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งคนที่มีทั้ง Hard Skills เเละ Soft Skills รวมกันนั้นหาได้ไม่ง่ายมากนักในวงการนี้
นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายด้านการนำวิธีการต่างๆ ที่มักจะเห็นในบริษัทเทคในต่างประเทศ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก มา ‘ปรับใช้’ ให้เข้ากับคนทำงานในอาเซียนเเละคนไทย โดยจะต้องทำ Research ไปพร้อมกับการนำใช้ได้จริง
“ทีม DevX ไม่ได้ทำซอฟต์แวร์เพื่อธนาคารหรือลูกค้า เเต่จะทำเพื่อช่วยเพื่อนนักพัฒนาด้วยกัน โดยมุ่งไปที่ผลลัพธ์ที่ต้องการ ดังนั้นสมาชิกในทีม จึงจำเป็นต้องเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ พร้อมเป็นกระบอกเสียง และช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างเต็มที่”
หากเเผนก Software Development Excellence ของ KBTG ประสบความสำเร็จ สามารถตอบโจทย์การทำงาน เพื่อพัฒนานวัตกรรมบริการด้านดิจิทัลในภูมิภาค ทั้งในจีน สปป.ลาว เมียนมา อินโดนีเซีย กัมพูชาและเวียดนาม ได้เเล้ว
โจทย์ต่อไปคือการ ‘เผยเเพร่’ ระบบการทำงานให้นักพัฒนาคนไทยได้รับรู้ เป็นการเปิด Open Source มาเเชร์กันในองค์กรต่างๆ ซึ่งที่จะนำไปสู่การยกระดับวงการเทคโนโลยีของประเทศ เป็นอีก ‘ความใฝ่ฝัน’ ที่ทีมงาน KBTG หวังอยากจะทำให้ได้ในอนาคต ไปพร้อมๆ กับการเป็น Best Tech Company in Southeast Asia ให้ได้ภายใน 4 ปีนี้
ปัจจุบัน DevX มีพนักงานทั้งหมดราว 40-50 คน เเละกำลังจะขยายทีมอีกจำนวนมาก โดย KBTG ตั้งเป้าที่จะมีพนักงานในแผนก Software Development Excellence ประจำอยู่ทั้งในไทย จีน และเวียดนาม
สำหรับผู้ที่มุ่งมั่นจะสร้างนวัตกรรมใหม่ไปด้วยกัน สนใจอยากจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแผนกสามารถส่ง CV มาสมัครได้ที่ [email protected]