High Net Worth Individuals – HNWIs – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 16 Jun 2023 13:34:05 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 คาด “เศรษฐี” 13,500 คนอพยพออกจาก “จีน” ขณะที่ “ออสเตรเลีย” รับอานิสงส์เป็นถิ่นตั้งรกรากใหม่ https://positioningmag.com/1434436 Fri, 16 Jun 2023 10:07:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1434436 งานวิจัยพบเมื่อปี 2022 มี “เศรษฐี” 10,800 คนอพยพออกจากประเทศ “จีน” และคาดว่าปี 2023 จะมีการอพยพออกเพิ่มอีก 13,500 คน ถือเป็นเทรนด์ที่เติบโตต่อเนื่องมาตลอด 10 ปี ฟากประเทศที่จะได้ต้อนรับกลุ่มเศรษฐีในปีนี้คาดว่า “ออสเตรเลีย” จะมาแรงเป็นอันดับ 1 แทนที่ “UAE”

Henley & Partners ที่ปรึกษาด้านการลงทุนเพื่อย้ายถิ่นฐาน เปิดเผยรายงานที่พบว่า ปีนี้ “จีน” จะยังคงเป็นประเทศที่มีเศรษฐีย้ายออกนอกประเทศมากที่สุดในโลก

โดยในปี 2022 ผู้มีความมั่งคั่งสูง (High Net-Worth Individual: HNWI) อพยพออกจากจีนไป 10,800 คน และคาดว่าปี 2023 น่าจะย้ายออกอีก 13,500 คน

การย้ายถิ่นฐานของเศรษฐีในจีนไม่ได้มีผลโดยตรงจากโรคระบาดโควิด-19 แต่เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานาน 10 ปี

“การย้ายออกในช่วงหลังนี้อาจจะเป็นผลเสียกับจีนมากกว่าปกติ โดยระหว่างปี 2000-2017 เศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างแข็งแรง แต่ความมั่งคั่งและเศรษฐีในประเทศมีเพิ่มขึ้นน้อยมากในช่วงเดียวกัน” Andrew Amoils หัวหน้าฝ่ายวิจัย New World Wealth ผู้ช่วยศึกษาวิจัยรายงานฉบับนี้กล่าว

 

เศรษฐีย้ายออกจากอินเดีย-อังกฤษสูงเช่นกัน

อันดับ 2 ประเทศที่เศรษฐีเลือกย้ายออกมากที่สุดในปี 2023 คือ “อินเดีย” ซึ่งคาดว่าผู้มีความมั่งคั่งจะย้ายถิ่นฐานถึง 6,500 คน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ลดลงจากปี 2022 ไปประมาณ 1,000 คน

อินเดียมีอุปสรรคสำคัญต่อกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งคือเรื่องภาษี และกฎเกณฑ์การนำเงินโยกย้ายออกนอกประเทศที่สามารถตีความได้ตามวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตาม Amoils ชี้ให้เห็นว่ากรณีของอินเดียอาจไม่น่าเป็นห่วงมากนักเพราะในแต่ละปีก็จะมีเศรษฐีใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากเช่นกัน

ภาพจาก Shutterstock

ขณะที่อันดับ 3 ในปีนี้ตกเป็นของ “อังกฤษ” ซึ่งคาดว่าจะมีเศรษฐีย้ายถิ่นฐานออก 3,200 คน เพิ่มขึ้นสูงมากจากปีก่อนที่มีเศรษฐีย้ายออก 1,600 คน เป็นผลโดยตรงจาก Brexit ที่ทำให้การอยู่อาศัยในอังกฤษเกิดความยุ่งยากเมื่อจะเดินทางเข้าออกสหภาพยุโรป (EU) ประเด็นนี้ทำให้ประเทศใหญ่ใน EU คือ เยอรมนี และ ฝรั่งเศส ได้อานิสงส์ เป็นประเทศต้อนรับเศรษฐีที่ต้องการเดินทางสะดวกในทวีปนี้

ส่วนอันดับที่ 4 คือ “รัสเซีย” คาดจะมีเศรษฐีย้ายออกนอกประเทศ 3,000 คน ถือว่าตัวเลขลดลงแรงจากปีก่อนที่มีเศรษฐีย้ายออกจากรัสเซียไปแล้วถึง 8,500 คน เห็นได้ว่าปัจจัยความไม่มั่นคงทางการเมืองและสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน น่าจะส่งผลต่อผู้มีความมั่งคั่งสูงไปมากแล้ว และเริ่มจะคลายตัวลง

ประเทศในทวีปเอเชียอื่นๆ ที่เป็นแหล่งผู้มีความมั่งคั่งสูงหลายประเทศก็เริ่มเห็นเทรนด์การย้ายออกของเศรษฐีเช่นกัน เช่น เขตปกครองพิเศษฮ่องกง คาดจะมีเศรษฐีอพยพออก 1,000 คนในปีนี้ ขณะที่เกาหลีใต้น่าจะอพยพไป 800 คน ตามด้วยญี่ปุ่นที่คาดจะย้ายออก 300 คน

โดยในกรณีของฮ่องกง ค่อนข้างชัดเจนว่าผู้มีความมั่งคั่งสูงรู้สึกไม่มั่นใจกับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับโควิด-19 และวัตรปฏิบัติด้านประชาธิปไตยที่เริ่มเปลี่ยนไป

 

“ออสเตรเลีย” มีสิทธิ์แซง UAE ในฐานะถิ่นฐานใหม่ของเศรษฐี

ปี 2023 นี้ ผลวิจัยมองว่า “ออสเตรเลีย” น่าจะได้ต้อนรับการอพยพของผู้มีความมั่งคั่งสูงประมาณ 5,200 คน ขณะที่ “UAE” น่าจะมีเศรษฐีอพยพเข้าไปราว 4,500 คน ตามด้วย “สิงคโปร์” เป็นอันดับ 3 ที่น่าจะมีเศรษฐีตั้งถิ่นฐานประมาณ 3,200 คน

ออสเตรเลีย
(Photo : Shutterstock)

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองภาพรวมแล้ว แนวโน้มการอพยพของเศรษฐีมักจะมีปลายทางมุ่งเป้าไปตั้งถิ่นฐานในประเทศตะวันตกมากที่สุด โดยในสหรัฐฯ คาดจะได้ต้อนรับเศรษฐีอพยพ 2,100 คน สวิตเซอร์แลนด์อีก 1,800 คน และแคนาดาประมาณ 1,600 คน

“ในภาพรวมแล้ว เศรษฐีมีการย้ายถิ่นฐานสูงขึ้นเรื่อยๆ ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา โดยปี 2023 นี้คาดว่าจะมีการย้ายถิ่น 122,000 คน และปี 2024 ย้ายถิ่นอีก 128,000 คน” Juerg Steffen ซีอีโอ  Henley & Partners กล่าว

Source

]]>
1434436
นิยามความหรูแบบ “ไรมอน แลนด์” ปรับแบรนด์อสังหาฯ ให้โดนใจกลุ่ม “New Wealth” https://positioningmag.com/1424277 Tue, 21 Mar 2023 12:47:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1424277 ยุคเปลี่ยนผ่าน “ไรมอน แลนด์” หลัง KPN เข้าซื้อกิจการ ปี 2566 นี้จะนับเป็นก้าวแรกที่ผู้บริโภคได้เห็นผลลัพธ์ของการปรับ “Luxury Reimagined” ของบริษัท ทั้งโครงการโฉมใหม่ และทิศทางสร้างแบรนด์ที่ต้องการให้โดนใจกลุ่ม “New Wealth” มากยิ่งขึ้น

บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML เข้าสู่ยุคของ “กรณ์ ณรงค์เดช” ซีอีโอคนใหม่ได้ 2 ปี กรณ์ทำการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงบริษัทด้วยเป้าหมายเพื่อให้ไรมอน แลนด์ทำกำไรอย่างสม่ำเสมอ โดยมีเรื่องใหญ่ๆ ที่ลงมือแล้ว คือการจับโฟกัสบริษัทว่าไรมอน แลนด์จะพัฒนา “เฉพาะอสังหาฯ ระดับซูเปอร์ลักชัวรีเท่านั้น” ทำให้ธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (non-core business) ถูกตัดขายออกไป และแบรนด์ที่ไม่ถึงระดับซูเปอร์ลักชัวรีจะไม่พัฒนาต่อ

รวมถึงวางโมเดลธุรกิจใหม่ให้ไรมอน แลนด์หลายกลยุทธ์ เช่น เพิ่มพอร์ตโครงการแนวราบให้มากขึ้น, โครงการใหม่จะเป็น Branded Residences เท่านั้น, เปิดโมเดลลงทุนโครงการร่วมกับเจ้าของที่ดิน, ลงทุนธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ เช่น ดาต้า เซ็นเตอร์, ขยายฐานลูกค้ากลุ่มคนรวยใหม่ หรือ New Wealth

 

3 โครงการยุคใหม่ไรมอน แลนด์

Positioning มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษกรณ์ ณรงค์เดช เพื่ออัปเดตแผนกลยุทธ์ต่างๆ พร้อมเจาะลึกถึงตลาดซูเปอร์ลักชัวรีที่มีความเคลื่อนไหวใหม่หลังผ่านยุคโควิด-19

“โครงการที่จะเปิดใหม่ในปีนี้ จะสื่อถึงนิยาม ‘Luxury Reimagined’ ของเราจริงๆ” กรณ์กล่าว โดยขยายความว่าเป็นเพราะปี 2566 จะเป็นปีแรกที่ไรมอน แลนด์ภายใต้ยุคของกรณ์ได้เปิดโครงการใหม่ และเริ่มรีเฟรชแบรนด์

โครงการเก่าที่ถือติดมือมาของไรมอน แลนด์กำลังจะขายหมด โดย Tait 12 (เทต ทเวลฟ์ สาทร 12) มียอดขายแล้ว 90% ส่วน The Estelle พร้อมพงษ์ มียอดขายแล้ว 80% (ชมรีวิวโครงการผ่าน TikTok@positioningonline ได้ที่นี่)

อาคารสำนักงาน One City Centre

ขณะที่โครงการอาคารสำนักงาน One City Centre ก่อสร้างใกล้เสร็จสมบูรณ์ มีกำหนดเปิดตึกในไตรมาส 2 นี้ โดยมีอัตราการเช่าแล้ว 50% ทำราคาเช่าแตะ 1,500 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือน

แผนปี 2566 กรณ์ระบุว่าไรมอน แลนด์จะเปิดโครงการใหม่ 3 โครงการ มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท ได้แก่ Rosewood Residences Kamala Phuket วิลล่าหรู ณ หาดกมลา จ.ภูเก็ต มูลค่าโครงการ 7,500 ล้านบาท มีเพียง 12-14 หลัง เตรียมเปิดขายไตรมาส 3 และอีก 2 โครงการเป็นคอนโดมิเนียมทำเล ถ. สุขุมวิท และจะเป็น Branded Residences ทั้งคู่แน่นอน ตามกลยุทธ์ของบริษัท

กรณ์ ณรงค์เดช ไรมอน แลนด์
Rosewood Residences Kamala Phuket

กรณ์กล่าวว่า คอนโดฯ ที่จะเปิดใหม่ปีนี้ บริษัทจะออกแบบตามความต้องการของผู้บริโภคยุคหลังโควิด-19 ด้วย โดยจะเน้นห้องยูนิตใหญ่พื้นที่ใช้สอย 200 ตารางเมตรขึ้นไป พร้อมลิฟต์ส่วนตัว เพราะยุคนี้คนต้องการคอนโดฯ ที่อยู่ได้จริงทั้งครอบครัว และมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

ทำให้สัดส่วนห้องเล็กแบบ 1 ห้องนอนจะลดเหลือเพียง 10% ของตึกสำหรับทำราคา entry-level ต่างจากยุคก่อนที่คอนโดฯ หรูมักจะมียูนิตแบบ 1 ห้องนอนกว่าครึ่งหนึ่งของโครงการ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นไทป์ห้องที่ ‘ขายยาก’ ไปแล้ว

 

เข้าใจเป้าหมายใหม่กลุ่ม “New Wealth”

อีกภารกิจหนึ่งที่น่าสนใจคือไรมอน แลนด์ต้องการจะเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ให้ได้มากกว่านี้ โดยฐานลูกค้าเดิมของบริษัทนั้นแข็งแกร่งในตลาดคนวัย 45 ปีขึ้นไป และกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่แทบจะซื้อเต็มโควตา 49% ทุกโครงการ

แต่ปัจจุบันลูกค้ากลุ่มเศรษฐีใหม่หรือ “New Wealth” ก็มาแรงไม่แพ้กัน เพราะในยุคนี้คนรุ่นใหม่สร้างตัวได้เร็วขึ้น ใช้เวลาแค่ 4-5 ปีก็ขึ้นมาเป็นผู้มีสินทรัพย์สูงได้ ทำให้ไรมอน แลนด์ต้องการจะจับตลาดนี้ให้ได้ด้วย

“ทุกแบรนด์ของเราจะต้องเด็กลง โดยเราจะมีการคอลแลปกับแบรนด์อื่นๆ เพื่อให้ความรู้สึกที่ทันสมัยขึ้น มีความจับต้องได้มากขึ้น แต่ยังเป็นโครงการที่หรูหราอยู่” กรณ์กล่าว

ไรมอน แลนด์
The Art of Living ตัวอย่างงานอีเวนต์สร้างแบรนด์ให้สอดคล้องกับกลุ่มคนรุ่นใหม่

โดยกลุ่ม New Wealth นั้นการทำการตลาดจะต่างจากเดิม เพราะ ‘วิธีคิด’ ที่ต่างกัน ในขณะที่เศรษฐีเก่าต้องใช้เวลาสั่งสมความมั่งคั่งมา ทำให้การตัดสินใจซื้อค่อนข้างยาก จะมองเรื่องความคุ้มค่าเพื่อส่งต่อเป็นมรดกเป็นสำคัญ และมักจะต้องใช้คอนเน็กชันเพื่อเข้าถึงลูกค้า แต่เศรษฐีใหม่จะกล้าเสี่ยงมากกว่า ซื้อด้วยอารมณ์ความรู้สึก (emotional) เป็นหลัก

“New Wealth จะคิดเร็วมาก แค่เห็นครั้งแรกถ้าชอบก็ซื้อเลย” กรณ์กล่าว “ช่องทางออนไลน์สำคัญมากกับกลุ่มนี้ เพราะเขาเห็นในภาพแล้วชอบ เขาจะต้องการข้อมูลทันที ถ้าทักมาตอน 5 ทุ่ม ไม่มีคนตอบ พอถึงเช้าพรุ่งนี้เขาอาจจะไม่อยากได้แล้วก็ได้ ทำให้เราต้องจัดทีมออนไลน์ที่ตอบกลับให้ได้ภายใน 20 นาที”

ไรมอน แลนด์
บัญชี Instagram ของไรมอน แลนด์ ในยุคที่การขายอสังหาฯ หรูผ่านออนไลน์มีความสำคัญมากขึ้น

โซเชียลมีเดียเองมีบทบาทกับความต้องการอสังหาฯ ระดับหรูของกลุ่มเศรษฐีใหม่มากเช่นกัน เพราะยุคนี้ “ที่อยู่อาศัย” สามารถเป็นเครื่องแสดงฐานะและรสนิยมได้ง่ายขึ้นผ่านการถ่ายทอดในโซเชียลมีเดีย ทำให้ดีมานด์ต่ออสังหาฯ สุดหรูยิ่งมีมากขึ้น

ด้วยความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่ม New Wealth ทำให้ปีนี้ไรมอน แลนด์จะมีการสร้าง “คอมมูนิตี้” ให้กับกลุ่ม Top Spenders ของบริษัท เป็นคลับที่เชิญเฉพาะบุคคลให้เข้าร่วมอีเวนต์เอ็กซ์คลูซีฟต่างๆ จุดประสงค์เพื่อให้กลุ่มคนระดับท็อปได้พบปะสังสรรค์กัน ซึ่งน่าจะดึงดูดกลุ่ม New Wealth ได้มากเพราะกลุ่มนี้ต้องการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ในแวดวง ปัจจุบันกลุ่มที่นับเป็น Top Spenders ของไรมอน แลนด์มีประมาณ 300 คน รวมทั้งคนไทยและ expat ในประเทศ

ทุกแบรนด์ของเราจะต้องเด็กลง โดยเราจะมีการคอลแลปกับแบรนด์อื่นๆ เพื่อให้ความรู้สึกที่ทันสมัยขึ้น มีความจับต้องได้มากขึ้น แต่ยังเป็นโครงการที่หรูหราอยู่

สิ่งนี้กรณ์เชื่อว่าจะ “สร้างความต่าง” ระหว่างไรมอน แลนด์กับแบรนด์อื่นๆ ได้ชัดเจนที่สุด เพราะมีมูลค่าที่ได้มากกว่าเฉพาะตัวสินทรัพย์

“เปรียบเทียบสินค้าต่อสินค้าอาจจะดูใกล้เคียงกันในตลาด แต่สิ่งที่จะเป็นจุดต่างของเราคือบริการในโครงการแบบ Branded Residences และประสบการณ์ที่ให้หลังการขายเหล่านี้ เป็นนิยามความลักชัวรีใหม่ของไรมอน แลนด์” กรณ์กล่าวปิดท้าย

]]>
1424277
เปิดบ้าน SCB Julius Baer เรื่องน่ารู้ธุรกิจดูแลพอร์ตลงทุน “เศรษฐีไทย” เข้าได้ต้องมี 100 ล้าน https://positioningmag.com/1294675 Mon, 31 Aug 2020 14:17:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1294675 ในช่วงวิกฤต COVID-19 จะเจอมรสุมเศรษฐกิจหนักหนาสาหัส เเต่ตลาดกลุ่มลูกค้ามั่งคั่งยังเนื้อหอมเสมอ

ภาพรวมธุรกิจบริหารความมั่งคั่งของไทย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีสินทรัพย์เกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป มีการเติบโตในอัตราสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากรายงานปี 2019 มูลค่าความมั่งคั่งของกลุ่มนี้มีถึง 10 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 9.9% จึงเป็นโอกาสของธุรกิจ Wealth Management หรือ Private Banking จะเข้ามาเจาะใจลูกค้ากระเป๋าหนัก ที่กำลังมองหาโอกาสการลงทุนในตลาดต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้ได้ผลตอบเเทนมากกว่าในไทย

ล่าสุดกับการจับมือของ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และ จูเลียส แบร์ (Julius Baer) กลุ่มธุรกิจบริการ Private Banking รายใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์ ที่ดำเนินธุรกิจใน 20 ประเทศทั่วโลก เปิดตัว บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด (SCB Julius Baer) ด้วยทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท โดย SCB ถือหุ้นใหญ่ 60% ส่วนจูเลียส แบร์ ถือหุ้น 40% ได้รับใบอนุญาตจาก ก...ในการประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล มาตั้งเเต่ช่วงกลางปี 2019 เพื่อดูเเลการลงทุนของเหล่าเศรษฐีเมืองไทย

ส่วนตอนนี้หากใครเเวะเวียนไปเเถวถนนสุขุมวิท ก็จะได้เห็นอาคารที่ตกเเต่งด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัย สไตล์ยูเรเชียตั้งอยู่โดดเด่น ซึ่งคือสำนักงานแห่งแรกในเมืองไทยของ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ หรือ SCB Julius Baer นั่นเอง โดยเปิดให้บริการลูกค้าเป็นที่เรียบร้อยเเล้ว หลังต้องชะลอการเปิดไปเมื่อช่วงต้นปี เพราะสถานการณ์ COVID-19

วันนี้เราจะมารู้จัก SCB Julius Baer ให้มากขึ้นกับ ลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด ทั้งเรื่องกลยุทธ์เจาะลูกค้ามั่งคั่งระดับไฮเอนด์และแผนธุรกิจต่อไป รวมถึงพาชมบรรยากาศภายในเเบบเอ็กซ์คลูซีฟ

เจาะเศรษฐีไทย สินทรัพย์เริ่มต้น 100 ล้าน

เราจะเห็นว่าคนรวยในโลกเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ คนรวยจะลดลงราว 6-8% แต่ก็จะเห็นว่ามีคนบางกลุ่มที่รวยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะฝั่งเอเชียที่แนวโน้มจะมีกลุ่มลูกค้าความมั่งคั่งระดับสูงจะเพิ่มมากขึ้นซีอีโอ SCB Julius Baer กล่าว

ท่ามกลางสภาวะการลงทุนที่ยังมีความผันผวน เเต่ด้วยความหลากหลายที่มีอยู่ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะนักลงทุนที่มีความมั่งคั่งระดับสูงของเมืองไทย หรือที่เรียกว่ากลุ่ม Ultra High Net Worth Individuals – UHNWIs / High Net Worth Individuals – HNWIs

สำหรับผู้มีความมั่งคั่งตามนิยามของ SCB Julius Baer ที่จะมาเป็นลูกค้าได้นั้นจะต้องมีสินทรัพย์เพื่อการลงทุน (ไม่รวมบัญชีเงินฝากและที่อยู่อาศัยประจำ) เริ่มต้นที่ 100 ล้านบาท หรือราว 3 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป นับว่าเป็นขยายต่อยอดมาจากฐานลูกค้าของ SCB Private Banking ที่เป็นกลุ่มที่มีสินทรัพย์เพื่อการลงทุน 50 ล้านบาทขึ้นไป เเต่ SCB Julius Baer จะเน้นไปที่การลงทุนในต่างประเทศเพื่อไม่ให้มีการบริการทับซ้อนกัน

จากรายงานของ Wealth Report Thailand 2019 เปิดเผยภาพรวมตตลาด HNWIs และ UHNWIs ในเมืองไทย มีราย 13,000 – 14,000 ครอบครัว ถือครองสินทรัพย์รวมกว่า 10 ล้านล้านบาท 

ลลิตภัทร ธรณวิกรัย – ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด

ลงทุนต่างประเทศ 100% มุ่งเเนว Next Generation

SCB Julius Baer จะให้บริการบริหารพอร์ตการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนต่างประเทศ 100% รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ ไม่จำกัดเฉพาะการลงทุนผ่านกองทุนรวม หรือผลิตภัณฑ์การลงทุนจากสถาบันใดสถาบันหนึ่ง

มุมมองการลงทุน ซีอีโอ SCB Julius Baer ชี้ว่า หุ้นยังให้ผลตอบแทนที่ดีโดยเน้นไปที่ สหรัฐฯ กับจีน เป็นหลักซึ่งการลงทุนในจีนเหมือนเป็นการบาลานซ์พอร์ตการลงทุน อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นไปตามต้องการของลูกค้าว่าจะเลือกตลาดไหน

โดยสัดส่วนการลงทุนที่แนะนำ คือ หุ้น 51% พันธบัตร 40% ตลาดเงิน 5% และการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ น้ำมัน 4%  

สำหรับการลงทุนในช่วงนี้ SCB Julius Baer เเนะนำว่าควรจะมุ่งเน้นไปในเเนว Next Generation จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เดลิเวอรี่ ความบันเทิงบนเเพลตฟอร์มออนไลน์ ส่วนภาคธุรกิจที่ควรหลีกเลี่ยง คือการท่องเที่ยว โรงเเรมเเละการบิน เพราะจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

สำหรับธุรกิจการลงทุน Wealth Management นั้นตอนนี้มีการเเข่งขันสูงมาก เพราะแต่ละปีจะมีปีที่ดีและไม่ดี ถ้าหากจะดูการบริหาร จะดูที่ค่ากลาง 5-7 ปี หรือ 10 ปีดูพอร์ตการลงทุนลูกค้าระยะยาว

ขณะที่ภาพรวมการลงทุนและเศรษฐกิจโลกในปี 2020 ยังคงเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายสำหรับนักลงทุน เเต่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจในไตรมาส และคาดว่า GDP โลกในปี 2021 จะฟื้นตัวขึ้นได้ที่ระดับ 6.5% จากเดิมที่น่าจะติดลบประมาณ 3% ในปีนี้

“เรามองว่าตลาดตราสารทุนมีความน่าสนใจมากกว่าตลาดสินทรัพย์ปลอดภัย โดยภูมิภาคที่เราเน้นการลงทุน คือ สหรัฐฯ และจีน”

ยึด 3 กลยุทธ์ลุย Wealth Management

กลยุทธ์การดูแลลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงของไทยนั้น SCB Julius Baer ชู 3 ข้อหลักๆ ได้แก่

  • Expert Advisory การมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่มีความรู้ เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ รวมถึงบริการอันหลากหลายและความสามารถด้านการบริหารความมั่งคั่งที่ได้มาตรฐานของจูเลียส แบร์
  • Personal Touch บริการที่เข้าใจกลุ่มลูกค้าคนไทยอย่างแท้จริง ด้วย ผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์  Relationship Manager (RM) คนไทยที่มีความรู้ ความเข้าใจตลาดเมืองไทย เข้าใจความต้องการของลูกค้าทั้งในเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิตและแนวคิดของคนไทยด้วยกัน พร้อมที่จะให้บริการได้ทันทีเนื่องจากประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ในประเทศไทย
  • Seamless Access การให้บริการผ่าน Open Product Platform ที่มาพร้อมผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุด เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถลงทุนได้ทั่วโลกอย่างอิสระ และสามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่สร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด ตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย

ปั้น RM เสริมทัพใหม่ ดูเเลลูกค้าวีไอพี 

ทีม Relationship Manager ที่จะมาดูแลพอร์ตการลงทุนของลูกค้าของ SCB Julius Baer จะต้องมีประสบการณ์เเละผ่านการเทรนนิ่งมาอย่างน้อย 6-12 เดือน ทำหน้าที่ให้ความรู้ ความเข้าใจ และแนะนำการลงทุนที่เหมาะสม โดยดูจากความต้องการผลตอบแทนการลงทุนของลูกค้า ซึ่งในช่วงปีแรกบริษัทมี RM ราว 10 คน เเละปีนี้จะขยายทีมเพิ่มเป็น 30 คน โดย 1 คนจะดูแลลูกค้า 30 คน

นอกจากนี้ SCB Julius Baer มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดูแลลูกค้าแบบใหม่ที่เรียกว่า New Operating Rhythm – Single Relationship Manager แม้ว่า SCB Julius Baer จะเน้นการลงทุนต่างประเทศให้ลูกค้า แต่ถ้าลูกค้ามีความต้องการที่จะลงทุนในประเทศไทยด้วยทาง Relationship Manager ก็สามารถดูแลลูกค้าได้

ตั้งเป้า 5 ปีมีสินทรัพย์ดูแล 1 ล้านล้านบาท

สำหรับแผนธุรกิจ 5 ปี (2020-2024) ของ SCB Julius Baer วางเป้าหมายว่า จะมีฐานมีลูกค้า 1,000 ครอบครัว บริหารพอร์ตสินทรัพย์ลงทุน 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10% ของกลุ่มบุคคลผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงของประเทศไทย โดยถึงสิ้นปีนี้คาดว่าจะทำได้ราว 20,000-24,000 ล้านบาท

โดยกลุ่มลูกค้ามั่งคั่งคนไทย ปกติจะมีการลงทุนที่หลากหลายทั้งในไทยเเละต่างชาติ ขึ้นอยู่ว่าจะเลือกใช้บริการกับเจ้าใดในด้านไหน ซึ่งซีอีโอ SCB Julius Baer บอกว่า จุดเด่นที่จะทำให้ดึงดูดให้ลูกค้าไว้วางใจที่นี่ ก็คือมาตรฐานการทำงาน ความน่าเชื่อถือของเเบรนด์ เเละผลตอบเเทนที่คุ้มค่า

“SCB Julius Baer ยังมีจุดเด่นด้านการให้คำแนะนำการวางแผนจัดการลงทุนสินทรัพย์ และแผนการส่งต่อของครอบครัวไปยังทายาท ซึ่งคาดว่าจะตอบโจทย์ความต้องการของเศรษฐีเมืองไทยได้เป็นอย่างดี

เปิดบ้าน : สำนักงานเเห่งแรกในไทย คอนเซ็ปต์ Private Luxx

ด้านบรรยากาศภายในของสำนักงานแห่งแรกในเมืองไทย SCB Julius Baer ที่เพิ่งเปิดไปหมาดๆ ใจกลางถนนสุขุมวิท นับเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกในประเทศไทยที่ตัวอาคารก่อสร้าง ด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัยสไตล์ยูเรเชีย จากเดิมเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ได้รับการออกแบบและก่อสร้างใหม่ ผสมผสานความโดดเด่นของ ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาตลาดน้อย และสำนักงานจูเลียส แบร์ ณ เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เข้าไว้ด้วยกัน 

จุดเด่นอยู่ที่ความหรูหราเเละเป็นส่วนตัว ภายใต้คอนเซ็ปต์ Private Luxx” มีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยให้มีลักษณะกึ่งเรสซิเดนท์ เเละตั้งชื่อห้องประชุมตามเมืองที่เป็นสาขาของจูเลียส แบร์ทั่วโลก ซึ่งจะมีการตกเเต่งที่เเตกต่างกันไปตามสถานที่นั้นๆ โดยลูกค้าสามารถเข้ามาใช้บริการเพื่อพูดคุยธุรกิจ หรือเเวะมาพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย 

สำนักงานของ SCB Julius Baer เเห่งนี้ จะไม่มีประตูทางเข้าด้านหน้าเหมือนสาขาทั่วไป เเต่จะมีประตูเเละลิฟต์พิเศษเพื่อบริการลูกค้าโดยเฉพาะ เเละต้องทำการนัดหมายก่อน โดยจะมี RM เป็นผู้ดูแล ซึ่งเเน่นอนไม่ใช่ใครจะเข้ามาก็ได้ เเต่ต้องลูกค้าวีไอพี ผู้มีความมั่งคั่งถือสินทรัพย์ระดับ 100 ล้านบาทขึ้นไปนั่นเอง

]]>
1294675