Forbes เปิดโผ “มหาเศรษฐี” ที่รวยที่สุด 10 อันดับแรกของไทยประจำปี 2563 พร้อมบทวิเคราะห์ภาพรวมความมั่งคั่งของเศรษฐีไทยปีนี้ มีเศรษฐี 38 คนจาก 50 คนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 และทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง
10 อันดับ “มหาเศรษฐี” ไทย ปี 2563 โดย Forbes
อันดับ 1 พี่น้องเจียรวนนท์ (อันดับคงที่)
แหล่งที่มา: เครือเจริญโภคภัณฑ์
มูลค่าทรัพย์สิน: 2.73 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าทรัพย์สินลดลง)
อันดับ 2 เฉลิม อยู่วิทยา (ขึ้นจากอันดับ 3)
แหล่งที่มา: กระทิงแดง
มูลค่าทรัพย์สิน: 2.02 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น)
อันดับ 3 เจริญ สิริวัฒนภักดี (ขึ้นจากอันดับ 4)
แหล่งที่มา: ไทยเบฟเวอเรจ
มูลค่าทรัพย์สิน: 1.05 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าทรัพย์สินลดลง)
อันดับ 4 ตระกูลจิราธิวัฒน์ (ลงจากอันดับ 2)
แหล่งที่มา: กลุ่มเซ็นทรัล
มูลค่าทรัพย์สิน: 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าทรัพย์สินลดลง)
อันดับ 5 สารัชถ์ รัตนาวะดี (อันดับคงที่)
แหล่งที่มา: กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์
มูลค่าทรัพย์สิน: 6.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น)
อันดับ 6 อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา (อันดับคงที่)
แหล่งที่มา: คิง เพาเวอร์
มูลค่าทรัพย์สิน: 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าทรัพย์สินลดลง)
อันดับ 7 ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ (ขึ้นจากอันดับ 15)
แหล่งที่มา: TOA
มูลค่าทรัพย์สิน: 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น)
อันดับ 8 ตระกูลโอสถานุเคราะห์ (อันดับคงที่)
แหล่งที่มา: โอสถสภา
มูลค่าทรัพย์สิน: 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าทรัพย์สินคงที่)
อันดับ 9 วานิช ไชยวรรณ (อันดับคงที่)
แหล่งที่มา: ไทยประกันชีวิต
มูลค่าทรัพย์สิน: 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าทรัพย์สินลดลง)
อันดับ 10 ชูชาติ เพ็ชรอำไพ-ดาวนภา เพชรอำไพ (ขึ้นจากอันดับ 11)
แหล่งที่มา: เมืองไทย ลิสซิ่ง
มูลค่าทรัพย์สิน: 2.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น)
ทั้งนี้ มีเศรษฐีสองรายที่หลุดจาก 10 อันดับแรกไปในปีนี้คือ “นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” มูลค่าทรัพย์สินลดลงเหลือ 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้อยู่ในอันดับ 11 และ “สมโภชน์ อาหุนัย” มูลค่าทรัพย์สินลดลงเหลือ 1.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ อยู่ในอันดับ 18
เศรษฐีทรัพย์สินหดระนาวหลังตลาดหุ้นร่วง
ปี 2563 นี้ บุคคลร่ำรวยที่สุด 50 อันดับของไทยมีทรัพย์สินรวมกันลดลงถึง 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการลดลงถึงร้อยละ 18 เหลือเพียง 1.32 แสนล้านเหรียญ
สาเหจุเกิดจากเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว ชะลอตัวจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ตั้งแต่ปีก่อน เมื่อเผชิญโรคระบาดไวรัส COVID-19 ทำให้ปัญหาหนักหนาขึ้นอีก และเป็นปัจจัยลบส่งให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยทรุดหนัก ลดลงไปแล้วเกือบ 1 ใน 3 เทียบกับเดือนเมษายน 2562 มหาเศรษฐี 38 คนจาก 50 คนแรกจึงมีทรัพย์สินสุทธิลดลง โดยในจำนวนนี้มี 6 คนที่ความมั่งคั่งลดลงกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ด้านความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในหมู่เศรษฐีไทย พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังครองตำแหน่งอันดับหนึ่ง แม้ว่าทรัพย์สินของพวกเขาจะลดลง 2.2 พันล้านเหรียญ ไปอยู่ที่ 2.73 หมื่นล้านเหรียญ และเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้เข้าซื้อกิจการของเทสโก้ในไทยและมาเลเซียมูลค่า 1.06 หมื่นล้านเหรียญได้สำเร็จ
เฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลัง Red Bull ร่วมกับตระกูลของเขา มาในอันดับที่ 2 เขาเป็นหนึ่งในแปดผู้มีรายชื่อในทำเนียบที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นสวนทางเศรษฐกิจ โดยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.99 หมื่นล้านเหรียญเมื่อปีก่อน เป็น 2.02 หมื่นล้านเหรียญในปีนี้
เจริญ สิริวัฒนภักดี จากเครือไทยเบฟเวอเรจ ขยับขึ้นมาในอันดับที่ 3 ด้วยทรัพย์สิน 1.05 หมื่นล้านเหรียญ อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินสุทธิของเขาลดลงจาก 1.62 หมื่นล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา
ตระกูลจิราธิวัฒน์ หล่นจากอันดับ 2 มาอยู่ในอันดับ 4 ในปีนี้ ด้วยความมั่งคั่งที่ลดลงกว่าครึ่งไปอยู่ที่ 9.5 พันล้านเหรียญ พวกเขาเพิ่งนำบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยนับเป็นการเสนอขายหุ้นไอพีโอครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวและนักช้อปที่ลดลงอย่างมาก ทำให้ราคาหุ้นของเซ็นทรัล รีเทล ต่ำกว่าราคาไอพีโอถึงร้อยละ 27 โดยตกลงต่อเนื่องตั้งแต่เข้าการซื้อขาย
ผู้ที่มีทรัพย์สินลดฮวบอีกคนคือ อาลก โลเฮีย (อันดับ 26) มหาเศรษฐีชาวอินเดียโดยกำเนิด เจ้าพ่อธุรกิจปิโตรเคมีผู้ที่ง่วนอยู่กับการเข้าซื้อกิจการมากมาย ทรัพย์สินสุทธิของเขาลดลงจาก 2.52 พันล้านเหรียญในปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 1.09 พันล้านเหรียญ เมื่อราคาหุ้นบริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส ของเขาดิ่งลงถึงร้อยละ 57 ในช่วง 11 เดือนผ่านมา
นักธุรกิจภาคพลังงานไทยยังแข็งแกร่ง
แม้ว่าราคาพลังงานทั่วโลกจะประสบภาวะตกต่ำครั้งรุนแรง มหาเศรษฐีจากวงการพลังงานของไทย 3 ใน 4 คนกลับมีทรัพย์สินงอกเงย ทั้งนี้เป็นผลจากการที่พวกเขาพุ่งความสนใจไปที่ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทน
ในจำนวนนี้ มีสารัชถ์ รัตนาวะดี ผู้ที่ทำเงินเพิ่มขึ้นมากที่สุด ด้วยทรัพย์สินสุทธิ 6.8 พันล้านเหรียญพุ่งขึ้น 1.6 พันล้านเหรียญ ขณะที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ของเขาเปิดโรงพลังงานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มเติม ตลอดจนเข้าดำเนินการโครงการใหม่ ๆ อาทิ ท่าเรือและถนน
ฮาราลด์ ลิงค์ (อันดับที่ 12 ทรัพย์สิน 2.3 พันล้านเหรียญ) หัวเรือใหญ่รุ่นที่สามของบี.กริม มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ขณะที่บี.กริม เพาเวอร์เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีกร้อยละ 40 และกำไรของบริษัทกระโดดขึ้นร้อยละ 34 ในปีที่ผ่านมา
ภาคพลังงานที่คึกคักได้พา วิระชัย ทรงเมตตา (อันดับ 40 ทรัพย์สิน 585 ล้านเหรียญ) เข้าทำเนียบเศรษฐีเป็นครั้งแรกหลังจาก บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ ผู้ผลิตพลังไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
นายแพทย์กำพล พลัสสินทร์ (อันดับ 38 ทรัพย์สิน 610 ล้านเหรียญ) ผู้ก่อตั้งเครือโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ที่เป็นบริษัทมหาชน กลับเข้าสู่ทำเนียบหลังจากห่างหายไปสามปี อันเป็นผลจากการที่บริษัทเปิดโรงพยาบาลใหม่อีกสองแห่ง ช่วยหนุนราคาหุ้นบริษัทให้ทะยานขึ้น
ปีนี้ Forbes กำหนดทรัพย์สินสุทธิขั้นต่ำสำหรับผู้ที่จะมีรายชื่ออยู่ในทำเนียบที่ 460 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจาก 565 ล้านเหรียญ ในปี 2019