KKP – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 11 Jun 2024 10:20:18 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 น่าเป็นห่วง! ‘โรงงาน’ ในไทย ‘ปิดตัว’ กว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงาน 42,000 ตำแหน่ง https://positioningmag.com/1477557 Tue, 11 Jun 2024 07:45:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1477557 ในช่วงเดือนที่ผ่านมา น่าจะเห็นข่าวคราวการปิดโรงงานผลิตรถยนต์ชื่อดัง ได้แก่ ซูบารุ และ ซูซูกิ แต่หากนับตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงไตรมาสแรกปี 2567 จะเห็นว่าปัญหาภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีจำนวนโรงงานที่ปิดตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่อัตราการเปิดโรงงานใหม่กลับต่ำลง

โรงงานปิดตัวกว่า 1,700 แห่ง

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ ซึ่งสะท้อนจากทั้งดัชนีการผลิตที่หดตัวลงติดต่อกันเกินกว่า 1 ปี ยอดปิดโรงงานที่เพิ่มขึ้น และหนี้เสียในภาคการผลิตที่กำลังเร่งตัว โดยจากการสำรวจผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยเผยแพร่โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่า มีการหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2565 จนถึงเดือน มี.ค. 2567 หรือต่อเนื่องกันกว่า 1 ปี 3 เดือน ซึ่งนับเป็นการ โตติดลบติดต่อกันที่ยาวนานมากที่สุด ครั้งหนึ่ง แม้ว่าวัฏจักรการค้าโลกจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2566 แล้วก็ตาม

ข้อมูลการ ปิดโรงงาน ในภาคอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นชัดเจนตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 โดยค่าเฉลี่ยการปิดโรงงานของไทยอยู่ที่ 57 โรงงานต่อเดือนในปี 2564 และ 83 โรงงานต่อเดือนในปี 2565 ในขณะที่พุ่งสูงขึ้นถึง 159 โรงงานต่อเดือน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ส่งผลให้หากนับรวมตั้งแต่ต้นปี 2566 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2567 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง

ยอดเปิดโรงงานใหม่ก็ลดลง

แม้ว่าในภาพรวมยอดเปิดโรงงานจะยังเยอะกว่ายอดปิดโรงงาน แต่ตัวเลขการ เปิดตัวโรงงานใหม่ที่ลดลงกว่าในอดีต ย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมไทยที่ไม่ดีนัก โดยยอดการเปิดโรงงานสุทธิ (จำนวนโรงงานเปิดหักลบด้วยโรงงานปิด) ในภาพรวมชะลอตัวลงอย่างมาก ลดลงเหลือเพียง 50 โรงงานต่อเดือน จากค่าเฉลี่ยที่เป็นบวกสุทธิประมาณ 150 โรงงานต่อเดือน

อุตสาหกรรมที่มีทิศทางน่ากังวลเนื่องจากมีการหดตัวของการผลิตและโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นมาก คือ กลุ่มการผลิตเครื่องหนัง การผลิตยาง อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมไม้ และการผลิตเครื่องจักร ในขณะที่โรงงานเปิดใหม่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก ส่วนการปิดตัวที่เกิดขึ้นจากโรงงานขนาดใหญ่เป็นหลักเป็นภาพสะท้อนว่าปัญหาการปิดตัวโรงงานเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในภาพใหญ่ที่กระทบกับอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรม

ข้อมูลอีกหนึ่งชุดที่ตอกย้ำความน่ากังวลของสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรม คือ การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในภาคการผลิต ที่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนและสะท้อนปัญหาที่รุนแรงในภาคอุตสาหกรรมไทย มากกว่าเป็นการชะลอตัวชั่วคราว ซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นต้องปิดโรงงานและกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

3 ปัจจัยลบน่ากังวล 

ข้อมูลการเปิด-ปิดโรงงานของอุตสาหกรรมไทยในมุมมองของ KKP Research นับเป็นภาพสะท้อนและผลลัพธ์ของการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่พึ่งพามูลค่าเพิ่มจากภาคอุตสาหกรรมกว่า 35% ของมูลค่าเศรษฐกิจ โดยตั้งแต่หลังช่วงโควิดมากลับกลายเป็นภาคบริการที่ขยายตัวได้ดี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าข้อมูลเดือนล่าสุดของการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยกลับมาเป็นบวกในรอบมากกว่า 1 ปี และหลายฝ่ายยังหวังว่าจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ปรับดีขึ้นจะกลับมาช่วยภาคอุตสาหกรรมไทยกลับมาขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม KKP Research กลับมีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมไทยในระยะยาว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  • การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในบางกลุ่มสินค้าหลัก เช่น การเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นรถยนต์ EV โดยในช่วงที่ผ่านมามีการส่งออกรถยนต์ EV ราคาถูกจากจีนมายังไทยและส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งยอดขายและราคารถยนต์ ICE ในไทย หรือ การเปลี่ยนจากการใช้ HDD เป็น SSD ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อราคา EV และ SSD มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้เข้ามาทดแทนเทคโนโลยีเก่าได้เร็วและกว้างขึ้น
  • การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีน โดยในปัจจุบันไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่เพียงแต่เฉพาะสินค้าในกลุ่มยานยนต์ที่เข้ามายังไทย แต่ไทยมีการนำเข้าจากจีนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายกลุ่มสินค้าเมื่อเทียบกับการนำเข้าทั้งหมด รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในไทย
  • มาตรการกีดกันการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งในกรณีที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง มีแนวโน้มที่จะมีมาตรการกีดกันทางการค้าจากจีนและโลกเพิ่มเติม ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้การค้าโลกในภาพรวมชะลอตัวลง และมีโอกาสที่สินค้าจากจีนจะทะลักมายัง ASEAN รวมถึงไทยเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการระบายสินค้าของจีนไปยังตลาดส่งออกอื่น

Source

]]>
1477557
Sandwich Generation ความเป็นเดอะแบกของคนหนุ่มสาว คนตรงกลาง แบกทั้งที่บ้านและเศรษฐกิจ https://positioningmag.com/1472737 Thu, 09 May 2024 04:17:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1472737 ใครที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว เรียกได้ว่าเป็นวัยที่ทำงานมาสักระยะหนึ่ง ไปจนถึงอายุกลางคน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคน Gen Y คนกลุ่มนี้ขึ้นชื่อว่ากำลัง “เดอะแบก” ของทุกสิ่ง แบกทั้งภาระครอบครัว รวมไปถึงแบกเศรษฐกิจของประเทศ จนเกิดเป็นคำจำกัดความว่า Sandwich Generation จากการที่ต้องแบกรับภาระไว้ทั้งสองทาง คล้ายกับลักษณะของแซนด์วิช

ใครที่อยู่ในช่วงวัยนี้จะมีความเข้าใจเป็นอย่างดี เพราะอยู่ในช่วงที่กำลังตั้งตัว สร้างครอบครัวเป็นของตัวเอง มีบ้านเป็นของตัวเอง แยกออกมาอยู่จากครอบครัวใหญ่ แต่ในขณะเดียวก็ยังต้องดูแลครอบครัวพ่อ แม่ ผู้สูงวัย เรียกว่ามีภาระที่ต้องดูแลคนรุ่นก่อน และคนรุ่นใหม่ที่เป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว

ปัญหาของคนกลุ่มนี้อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้กว่าที่คิด ภายในงาน KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ โดยความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กับ Thairath Money ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา จึงมีเวทีสนทนาที่เน้นถึงปัญหาและคำแนะนำให้กับ Sandwich Generation ผู้แบกภาระการดูแลทั้งคนรุ่นก่อนและรุ่นหลังไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไม่เกื้อหนุนให้พวกเขาแบกได้สบายขึ้น

หนึ่งในแขกที่ร่วมพูดคุยบนเวทีคือ ดร.ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Research ได้กล่าวถึงปัญหาของเดอะแบกที่ต้องรับภาระหนักหน่วงว่ามักเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยาก แต่ทางออกนั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนควบคุมได้ เพียงต้องเข้าใจถึงปัญหาด้านต่างๆ และวิธีรับมือ พร้อม ‘เริ่มต้น’ ให้เร็วที่สุด

เหตุใด ‘เดอะแบก’ ยุคปัจจุบันจึงดูเหนื่อยกว่ายุคก่อน?

ในยุคที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างเช่นปัจจุบัน การแบกภาระของครอบครัวก็ชวนรู้สึกเหนื่อยเป็นพิเศษ จนหลายคนอาจเคยสงสัยว่าเหตุใดการที่ทุ่มเททำงานอย่างหนักแล้วก็ยังไม่สามารถดูแลคนรอบข้างได้ดี แถมยังไม่มีเงินเหลือเก็บ

น่าเสียดายที่เรื่องโอกาสในการสร้างฐานะในยุคนี้เป็นเรื่องยากขึ้น จากการศึกษาในอเมริกาพบว่า โอกาสที่รุ่นลูกจะรวยกว่ารุ่นพ่อแม่ในปัจจุบันได้นั้นลดลงเรื่อยๆ และจากงานศึกษาหนึ่งของไทยก็พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โอกาสที่คนไทยจะสามารถเลื่อนขั้นรายได้หรือขยับสถานะทางสังคมเป็นไปได้ยากขึ้น โดยสถานะทางการเงินของคนรุ่นปัจจุบันขึ้นอยู่กับฐานะของทางครอบครัวค่อนข้างมาก แม้เราอาจได้ยินเรื่องราวของคนอายุน้อยที่ร่ำรวยขึ้นได้อย่างรวดเร็วอยู่บ่อยครั้ง แต่นั่นยังเป็นคนกลุ่มเล็กมากในสังคม

นอกจากโอกาสด้านการขยับฐานะที่ยากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียและการตลาดเชิงรุกในยุคใหม่ โดยเฉพาะการ ‘ใช้ก่อน จ่ายทีหลัง’ ได้กระตุ้นความอยากได้อยากมีสิ่งของที่ไม่จำเป็นจนเกิดเป็นหนี้สินจากการใช้จ่ายเกินตัวหรือไม่มีเงินเก็บออม ซึ่งอาจเป็นภาระต่อตัวเองในระยะยาว หรืออาจเพิ่มปัญหาให้ว่าที่ “เดอะแบก” ได้ด้วยเช่นกัน

Sandwich Generation คนตรงกลาง แบกทั้งที่บ้านและเศรษฐกิจ

จริงๆ แล้ว ไม่ว่าคนในวัยไหนก็เป็นอาจตกเป็นเดอะแบกได้จากสถานการณ์ของครอบครัวแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่มักอยู่ใน Sandwich Generation ซึ่งเป็นคนตรงกลางระหว่างการดูแลผู้ใหญ่และลูกหลาน เนื่องจากคนมีลูกกันช้าลง ในวันที่ลูกกำลังเริ่มเติบโต เดอะแบกมีหน้าที่การงานที่ก้าวหน้า แต่พ่อแม่ก็แก่ลงจนต้องแบ่งเวลาและเงินทองเพื่อดูแลเพิ่มขึ้น เดอะแบกจึงต้องรับทั้งภาระทางการเงินและยังต้องมอบเวลาให้คนรอบข้างขณะที่ต้องทำงานอย่างหนัก จนเกิดเป็นความเครียดสะสมอีกด้วย

ดร.ณชาได้กล่าวถึงปัญหาของประเทศไทยว่านอกจากเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำ ทำให้การหาเงินไม่ง่ายเหมือนในอดีต โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างเต็มรูปแบบ ไทยกลายเป็นประเทศที่มีคนสูงวัยมากที่สุดในอาเซียน ส่งผลให้รัฐมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสวัสดิการดังกล่าวสูงขึ้น

ในขณะที่ฐานคนเสียภาษีมีน้อยลง ส่งผลให้คนในระบบแบกภาระมากขึ้น โดยคนไทย 70 ล้านคน มีคนอยู่ในระบบงานราว 40 ล้านคน แต่อยู่ในระบบภาษีแค่ 10 ล้านคน และเหลือคนจ่ายภาษี (รายได้) จริงๆ เพียง 4 ล้านคนเท่านั้น

หากคนไทยยังขาดความรู้ทางการเงิน ภาระเดอะแบกจะยิ่งทับถมหนักขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาเพียงส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย เพราะพวกเขาก็เป็นเดอะแบกของเศรษฐกิจในขณะที่ยังมีเรี่ยวแรงทำงาน และรัฐต้องใช้เงินดูแลพวกเขาในยามเกษียณ

เพราะไม่มีลูก ภาระจึงลดลง…จริงหรือ?

จากภาระที่ต้องเลี้ยงดูผู้ใหญ่ และตัวเอง ซึ่งใช้ทั้งเงินและเวลามากมายอยู่แล้ว การมีลูกจึงไม่ใช่เป้าหมายหลักของชีวิตคนยุคใหม่อีกต่อไป เพราะการเลี้ยงลูกให้เติบใหญ่ในสังคมที่ดีนั้นก็ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย

จากผลสำรวจนิด้าโพล คนไทย 44% ไม่อยากมีลูกด้วยเหตุผลหลักๆ คือ ไม่ต้องการมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระ ผู้คนจึงเลือกวิถีชีวิตการครองตัวเป็นโสดหรือใช้ชีวิตคู่แบบไม่มีลูกมากขึ้น

โดยจากข้อมูลทางสถิติของ UN ESCAP พบว่า ปัจจุบันผู้หญิงไทยหนึ่งคนจะมีลูกเฉลี่ย 1.3 คนเท่านั้น

แต่การไม่มีลูกนั้นอาจไม่ได้แปลว่าจะสามารถจับจ่ายใช้สอยได้ตามใจโดยไม่ต้องคิดถึงอนาคต และการที่คนไทยมีลูกน้อยลงอาจส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจในอนาคตด้วยเช่นกัน ทั้งในแง่ขนาดเศรษฐกิจที่มีคนใช้จ่ายน้อยลง จำนวนแรงงานหนุ่มสาวที่จะไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจลดลง รวมถึงการที่จะมีคนจ่ายภาษีลดลงอีกด้วย

ในระดับบุคคล กลุ่มคนที่ไม่มีลูกจำเป็นต้องพร้อมดูแลตัวเองไปตลอดชีวิต และควรพึงรำลึกเสมอว่าวันหนึ่งเราอาจไม่มีรายได้ดังเดิม และสามารถเผชิญกับปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อน โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ นอกจากนี้ สวัสดิการจากทางรัฐฯ ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถช่วยดูแลได้ดีนัก

ดังนั้น ไม่ว่าจะมีแผนการมีทายาทสืบสกุลต่อหรือไม่ ก็ควรเพิ่มพูนความรู้ทางการเงินและวางแผนการเงินไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่เสียดายทีหลัง

ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งเจอ ‘ทางรอด’ เร็ว

การวางแผนทางการเงินไม่ใช่เรื่องของแค่คนที่อยากรวยระดับเศรษฐี แต่เป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตที่จะบรรเทาภาระและหยุดวงจรเดอะแบกได้  ดร.ณชาได้อธิบายถึงสถานการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยยังขาดความรู้ด้านการเงิน กับความสำคัญของการวางแผนการเงินว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจและภาระส่วนบุคคล การวางแผนทางการเงินมันสำคัญขึ้นมากๆ แต่คนไทยยังมีความรู้น้อย อย่างเรื่องหนี้ครัวเรือน เมื่อก่อนยังอยู่ที่ 40-50% ของจีดีพี แต่ตอนนี้กลายเป็น 90% แล้ว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับวิกฤตโควิด-19 ทั้งหมด เพราะก่อนโควิดก็สูงประมาณ 80% อยู่แล้ว โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ไปสำรวจเรื่องการเป็นหนี้ของคนไทยแล้วพบปัญหาสำคัญว่า คนเป็นหนี้กันเร็ว เป็นหนี้เกินตัวโดยไม่ได้ประเมินว่าแบกรับไหวหรือไม่ก่อนตัดสินใจสร้างหนี้ กับเป็นหนี้นาน หลายคนเกษียณก็ยังเป็นหนี้ แถมเฉลี่ยอยู่ที่ 400,000 บาทต่อคน

นอกจากนี้ จากผลสำรวจของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณเลย และ 60% มีเงินเก็บแต่ไม่ถึง 200,000 บาท ซึ่งชัดเจนว่าไม่พอใช้ ดังนั้น ไม่ว่าวางแผนจะมีลูกหรือไม่มีลูก เราก็ต้องดูแลตัวเองให้ได้ ความรู้ทางการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ

นอกจากวินัยทางการออมแล้ว การหาความรู้ให้เงินออมงอกเงยก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของเดอะแบกได้ แต่ต่างคนก็อาจต้องใช้เครื่องมือทางการเงินต่างกันตามความเหมาะสม สิ่งสำคัญคือพื้นฐานความรู้ทั้งเรื่องการเงินส่วนบุคคลอย่างเรื่องดอกเบี้ยต่างๆ, การวางแผนภาษี, ความรู้ด้านการลงทุนที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินเฉยๆ, การบริหารจัดการหนี้, การบริหารความเสี่ยง ทั้งจากการลงทุน ไปจนถึงบริหารความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เป็นภาระคนข้างหลัง และการป้องกันตัวเองจากภัยทางการเงิน ที่ไม่ว่าจะร่ำเรียนสูงแค่ไหนก็อาจตกเป็นเหยื่อได้เสมอ

แม้จะเป็นจำนวนเงินที่ไม่เยอะมาก แต่ต้องวัดที่อัตราการออมว่าเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ และไม่ว่าตัวเลขจะมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเริ่มออมอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายก็จะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน หรืออาจมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการลงทุนอีกด้วย เพราะ ‘พลังของดอกเบี้ยทบต้น’ คือพลังที่สำคัญมากในการสร้างความมั่งคั่ง ดังนั้น เวลาที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนคือตอนนี้ ยิ่งลังเลหรือรอให้พร้อมกว่านี้ยิ่งเสียโอกาส เป็นโอกาสเก็บประสบการณ์ ลองผิดลองถูก จนถึงวันหนึ่งเราก็จะตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น

การเก็บออมและการเพิ่มพูนความรู้ด้านการเงินก็เป็นสิ่งที่ทุกคนเริ่มทำได้ทันที เพื่อบรรเทาภาระที่ตัวเองต้องแบกในอนาคต และลดภาระให้เดอะแบกในรุ่นต่อไปด้วยเช่นกัน จะได้ไม่ต้องมองย้อนหลังแล้วเสียได้ว่ารู้งี้เริ่มเก็บออมและบริหารเงินตั้งแต่ตอนที่ยังมีเรี่ยวแรง

]]>
1472737
KKP ปรับแผนต่อยอดธุรกิจ Wealth เพิ่มรายได้ คาดยอดสินเชื่อเติบโตแค่ 3% หลังคุมเข้มปล่อยกู้ https://positioningmag.com/1461059 Wed, 31 Jan 2024 12:54:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1461059 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้ปรับแผนธุรกิจการดำเนินงานในปี 2024 โดยโฟกัสมายังธุรกิจ Wealth และตลาดทุน หลังจากในปี 2023 ที่ผ่านมามีกำไรที่ลดลง โดยธุรกิจเช่าซื้อของกลุ่มฯ รับผลกระทบจากราคารถมือสองที่ลดลง และยังรวมถึงปัญหารถถูกยึดที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะลดลงแล้วก็ตาม

KKP ได้เปิดแผนธุรกิจในปี 2024 โดยจะเน้นมายังธุรกิจธนาคาร ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน รวมถึงธุรกิจวาณิช  ธนกิจ ซึ่งจะช่วยทำให้รายได้ของทางกลุ่มนั้นมีส่วนของรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจเช่าซื้ออีกทางหนึ่ง

โดยผลประกอบการปี 2023 ของ KKP กำไรของกลุ่มธุรกิจฯ ปรับลดลงอยู่ที่ 5,443 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 7,602 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากจากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และสภาวะตลาดทุนที่ซบเซา

ฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงสาเหตุที่กำไรของ KKP ลดลงจากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและภาวะดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของราคารถยนต์ ซึ่งในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2023 นั้นมีรถยนต์ถูกยึดมากถึง 6,000 คัน

ในปี 2024 การดำเนินการของธนาคารเกียรตินาคินภัทรจึงโฟกัสไปที่การจัดการและบริหารคุณภาพสินทรัพย์ โดยหนึ่งในมาตรการคือการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ การช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าให้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ เขากล่าวว่าเป้าหมายหนึ่งในนั้นคือทำให้รถถูกยึดในปีนี้ลดลงเหลือประมาณ 3,500 คัน

ขณะเดียวกันในช่วงปลายไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมาเขาเริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถที่ถูกยึดน้อยลง NPL ปรับตัวลดลง

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KKP ได้กล่าวถึงภาพรวมของกลุ่มฯ​ ในปี 2023 ที่ผ่านมา โดยมองว่าปีที่แล้วธุรกิจของกลุ่มไม่ดีทั้งคู่ ทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนรวมถึงธุรกิจเช่าซื้อ เขามองว่าโมเดลธุรกิจของ KKP นั้นไม่ได้เสื่อมถอยแต่อย่างใด

ขณะที่แผนดำเนินธุรกิจในปี 2024 ในภาพใหญ่ เขาได้กล่าวถึงแนวโน้มทิศทางพัฒนาการตลาดเงินและตลาดทุนของโลกชี้ให้เห็นว่าธุรกิจในปัจจุบันได้ใช้ช่องทางที่หลากหลายในการระดมทรัพยากรมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงสินเชื่อของธนาคาร

ดังนั้น KKP จึงได้เพิ่มโฟกัสไปยัง ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล รวมถึงธุรกิจวาณิชธนกิจ เพื่อที่จะสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การปล่อยสินเชื่อของธนาคารให้กับลูกค้ารายใหญ่ รายได้ค่าธรรมเนียมในวาณิชธนกิจ ในส่วนของการควบรวมกิจการ (M&A) การเป็นผู้ประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ในส่วนของตราสารหนี้

นอกจากนี้ยังรวมถึงรายได้การบริหารความมั่งคั่ง รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริหารกองทุนรวม หรือแม้แต่รายได้จากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์จากนักลงทุนสถาบันในไทย ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KKP มองว่าเป็นจุดแข็งของกลุ่มมาโดยตลอด

สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจของ KKP ในปีนี้คือคาดยอดสินเชื่อเติบโตแค่ 3% ขณะที่ NPL คาดว่าจะลดลงจากปี 2023 ที่ผ่านมา รวมถึงอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROAE) กลับมาอยู่ที่เลข 2 หลัก หลังจากในปีนี้อยู่ที่ 9.2% เท่านั้น

]]>
1461059
KKP มองปี 66 ขยายธุรกิจอย่างระมัดระวัง ดันแพลตฟอร์มลงทุนออนไลน์เป็นแหล่งรายได้ใหม่ https://positioningmag.com/1417308 Tue, 31 Jan 2023 10:04:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1417308 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้เปิดเผยแผนธุรกิจในปี 2566 ว่าในปีนี้ขยายธุรกิจด้วยความระมัดระวังมากขึ้น ขณะเดียวกันแพลตฟอร์มลงทุนออนไลน์ หรือการเจาะลูกค้ากลุ่ม Mass นั้นมองว่าจะเป็นช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ หลังจากนี้

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวถึงปี 2565 ที่ผ่านมานั้นเติบโตได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นรายได้ กำไร และยังมีงบดุลที่ดี เป็นการโตต่อเนื่อง รวมถึงพยายามโตอย่างมีคุณภาพ

เขากล่าวว่า KKP ทำได้ตามที่คาด เป็นผลจาก 2 ปีที่ผ่านมามีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ KKP ต้องทำอะไรหลายอย่าง นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาได้ตั้งสำรองไว้เยอะหลายอัน ขณะที่ต้นทุนของเงินทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลของการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย 

ขณะเดียวกันเขายังกล่าวว่าปีที่ผ่านมาในส่วนของธุรกิจใหม่ๆ นั้นทาง KKP ได้ลองผิดลองถูก เขากล่าวว่าอาจกระทบค่าใช้จ่ายบ้างแต่หลังจากนี้เขามองว่าจะให้รายได้ที่เพิ่มมากขึ้น

เน้นลูกค้ากลุ่ม Mass มากขึ้น

ฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ได้ให้รายละเอียดในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ว่า ปี 2565 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ธนาคารมีผลประกอบการดีเป็นประวัติการณ์ โดยสินเชื่อมีการขยายตัวได้ดีถึง 21.4% ส่งผลให้มีการเติบโตของทั้งรายได้จากดอกเบี้ย และจากค่าธรรมเนียม

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยง แนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2566 จึงยังคงเป็นการเติบโตแบบมีกลยุทธ์ (Smart Growth) หรือการเลือกขยายสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพและสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน

นอกจากนี้ธนาคารฯ ยังเตรียมเจาะตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ในชื่อที่เรียกว่า รถเรียกเงิน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากช่องทางดิจิทัลของธนาคารมากขึ้น ไม่ว่าแอป KKP Mobile หรือแอปของบริษัทในกลุ่มอย่าง Edge เพื่อเชื่อมโยงบริการของธนาคารเข้ากับบริการด้านการลงทุนที่เป็นความชำนาญของกลุ่มธุรกิจฯ

เขายังชี้ว่าการปล่อยสินเชื่อนั้นต้องไม่ทำร้ายลูกค้า เนื่องจากหนี้ในครัวเรือนของไทยที่สูง เพราะไม่งั้นเรื่องดังกล่าวจะย้อนกลับมาทำร้ายองค์กรได้ ขณะเดียวกันทางธนาคารก็ได้ลงทุนด้านดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจโตมากขึ้น เน้นขยายกลุ่มลูกค้าแบบ Mass มากขึ้น ไม่ใช่แค่ธุรกิจลงทุนอย่างเดียว เนื่องจากลูกค้าไม่ได้ต้องการผลิตภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ลงทุน ประกันฯ อย่างเดียว แต่สินเชื่อก็สำคัญ

ยังมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามา

ปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวข้อมูลทางการเงินของผลการดำเนินงานปี 2565 ว่า กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 7,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 และมีกำไรเบ็ดเสร็จ 10,120 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.2 จากปี 2564 โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 758 ล้านบาทและเป็นกำไรเบ็ดเสร็จของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 1,077 ล้านบาท

เขาชี้ว่าในเรื่องธุรกิจตลาดทุนถ้าหากไม่นับเรื่อง MORE คือธุรกิจดีต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจ Wealth Management ยังเม็ดเงินใหม่ๆ ยังไหลเข้ามา แม้ว่ารายได้จริงๆ จะลดลง เนื่องจากความไม่แน่นอนของตลาด ทำให้ลูกค้าไปลงทุนในเงินฝากหรือกองทุนตลาดเงิน ทำให้รายได้ไม่เท่าเดิมก็ตาม

เป้าหมายในปี 2566

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ KKP กล่าวถึงเป้าหมายธุรกิจในปี 2566 นี้ว่าต้องการเบาคันเร่งธุรกิจลง เน้นกิจการเติบโตให้มีคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่สดใส โดยเขาให้เป้าหมาย Loan Growth เติบโตปีนี้ 13% และมองสัญญาณ NPL ในปีนี้น่าจะดีขึ้นคาดว่าจะอยู่ราวๆ 3.1%

อภินันท์ชี้ว่าถ้าหากเศรษฐกิจดีขึ้น ตลาดทุนน่าจะกลับมา ซึ่งส่งผลต่อค่าธรรมเนียมนั้นเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การใช้ระบบ Digital และ Automation ก็มีแต่ไม่เยอะมาก และจะไปเน้นเรื่องแพลตฟอร์มการลงทุนผ่านช่องทางดิจิทัลอย่าง Dime หรือ Digital Edge ซึ่งเน้นกลุ่มลูกค้า Mass ถือเป็นรายได้ใหม่ๆ ต่อยอดจากเครื่องมือที่ลงทุนไปก่อนหน้า

สำหรับมุมมองเรื่อง Virtual Banking เขาชี้ว่าปัจจุบันว่าเงินทุนนั้นใช้มาก 5,000-10,000 ล้านบาท และมีข้อจำกัดที่มากขึ้น และยังต้องมาเริ่มต้นใหม่ ซึ่งเขามองว่าจะใช้ประโยชน์ได้ยังไง ยกเว้นในกรณีที่ไปหาพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ แต่ก็ต้องมาเทียบว่าการทำงานกับพาร์ตเนอร์นั้นดีหรือเปล่า คุ้มหรือไม่ แต่เขาชี้ว่าหลังจากนี้ก็อาจเปลี่ยนใจได้

นอกจากนี้เขายังชี้ถึงสินเชื่อกลุ่มอสังหาฯ ไม่เติบโตเลยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา สวนทางกับสินเชื่อบริษัทรายใหญ่ที่เติบโตมาก เนื่องจากสถานการณ์ตลาดพันธบัตรไม่ได้ดีมากเท่าไหร่ในช่วงที่ผ่านมา และยังต่อยอดจากธุรกิจวาณิชธนกิจ (ซึ่งเป็นข้อดีหลังจากควบรวมกิจการ) อย่างไรก็ดีเขาชี้ว่าสินเชื่อบริษัทนั้นเติบโตแต่ก็ต้องดูเรื่องต้นทุนของบริษัทด้วย

เขายังชี้ว่าการเติบโตของธุรกิจอย่างหลากหลายทำให้ความเสี่ยลดลง และยืนยันว่าจะไม่ไปดำเนินธุรกิจในสิ่งที่ไม่ถนัด รวมถึงทำตัวให้ยืดหยุ่น

]]>
1417308
KKP เปิดตัว Dime แอปการเงินและลงทุน จับลูกค้าทั่วไป มีเงินน้อยก็ลงทุนได้ https://positioningmag.com/1399005 Tue, 06 Sep 2022 10:31:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1399005 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้เปิดตัว Dime! แอปพลิเคชันที่เป็นทั้งด้านการเงิน รวมถึงการลงทุน โดยเน้นการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งผู้ที่มีเงินจำนวนไม่มากก็สามารถลงทุนได้ โดยเริ่มต้นที่ 50 บาท

บริษัท หลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ จำกัด (KKP Dime) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้เปิดตัว Dime! (ไดม์) โดยเน้นไปที่กลุ่มคนทั่วไปให้เข้าถึงบริการด้านการเงินและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในต่างประเทศ ที่แต่เดิมนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความมั่งคั่งในระดับนึงเท่านั้น

กัมพล จันทวิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ จำกัด ได้กล่าวถึง ปัญหาของคนไทยในการเข้าถึงบริการทางการเงินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินฝากยังน้อยมาก แม้ว่าคนไทยมากกว่า 50 ล้านคนที่มีบัญชีเงินฝาก จากประชากร 70 ล้านคน ซึ่งอาจดูเหมือนสูงก็ตาม

เขายังชี้ว่าการเปิดตัว Dime! นั้นเหมือนเป็นการปิดช่องว่างด้านรายได้หรือแม้แต่ความมั่งคั่ง เนื่องจากไม่ว่าใครก็สามารถที่จะลงทุนได้ ไม่ว่าจะมีเงินมากหรือเงินน้อย

ทางด้านของ ฉัตริน ลักษณบุญส่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านผลิตภัณฑ์ ได้กล่าวว่า บริการของ Dime! พยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องการลงทุนของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้ความรู้ในการลงทุน หรือการเปิดบัญชีที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วมากกว่าเดิม โดยถ้าหากเปิดบัญชีแล้วก็จะสามารถใช้บริการ 3 บริการได้ทันที ได้แก่

  1. บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ Dime! Save บัญชีเงินฝากซึ่ง Dime! ร่วมมือกับธนาคารเกียรตินาคินภัทร ไม่มีจำนวนขั้นต่ำในการเปิดบัญชี โดยลูกค้าสามารถฝากเงินหรือโอนเงินได้โดยยืดหยุ่น และไม่มีเงื่อนไขมากเหมือนบัญชีฝากประจำ
  2. บัญชีหลักทรัพย์ต่างประเทศ บัญชีนี้ทำให้การลงทุนในหุ้นต่างประเทศทำได้อย่างง่ายดาย โดยใช้เงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 50 บาทก็สามารถเป็นเจ้าของหุ้นชื่อดังในต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ยังอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม เช่น ซื้อหุ้นต่างประเทศด้วยเงินบาทได้ หรือถ้าลูกค้าอยากแลกเงินบาทเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐก็สามารถแลกให้ทันที ไม่ต้องรอถึง 2 วันทำการ ขณะเดียวกันผู้ลงทุนยังได้รับสิทธิพิเศษยกเว้นค่าคอมมิชชันเดือนละ 1 ครั้งสำหรับการซื้อหรือขายครั้งแรกของทุกเดือน สำหรับรายการซื้อขายต่อไปคิดที่ 0.15% ของมูลค่าซื้อหรือขาย  นอกจากนี้ทาง Dime! ยังชี้แจงว่าบริษัทพยายามที่จะไม่ให้มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมแอบแฝง เช่น ค่าธรรมเนียมโอนเงิน แลกเงิน หรือค่าธรรมเนียมยื่นแบบภาษี W-8BEN
  3. บัญชีกองทุนรวม ซื้อขายกองทุนรวมได้ทุก บลจ. บัญชีกองทุนรวมของ Dime! สามารถลงทุนได้ทุกที่แบบไม่จำกัดค่าย โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวได้รวบรวมกองทุนรวมในไทยมากกว่า 1,700 กองทุน จาก 21 บลจ. ภายในปี 2565 ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการกระจายการลงทุน แต่ไม่มีเวลาติดตามหุ้นรายตัว และผู้ที่ต้องการซื้อกองทุนรวมเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี (เช่น SSF และ RMF)

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านผลิตภัณฑ์ของ KKP Dime ได้กล่าวว่าอยากจะให้ Dime นั้นเป็นบริการ 4F ได้แก่ Free คือสามารถเข้าถึงข้อมูลการลงทุนได้ฟรีผ่านแอป Fast คือบริการรวดเร็ว เปิดบัญชีได้ไว Frictionless คือไม่มีขั้นต่ำ ไม่มีค่าใช้จ่ายแอบแฝง และ Fun ทำให้การลงทุนเป็นเรื่องสนุก

เฉลิมวุฒิ ชมะนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยี ได้กล่าวว่า จุดแข็งของ Dime! อีกเรื่องคือ แม้บริษัทฯ จะเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการเงิน แต่ก็มีวัฒนธรรมองค์กรและกระบวนการทำงานแบบบริษัทเทคฯ สตาร์ทอัพ และยังมีการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากทั้งในและนอกวงการการเงิน มาร่วมกันออกแบบโครงสร้างเทคโนโลยี โดยใช้สถาปัตยกรรมที่ทันสมัยและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน และวางโครงสร้างทีมให้ทำงานได้อย่างคล่องตัว ทำให้สามารถออกแบบ สร้าง และเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างต่อเนื่อง

ผู้บริหารของ KKP Dime กล่าวว่าบริษัทฯ ได้วางตำแหน่งของแอปนี้ไม่ได้ผูกติดกับบริการทางการเงินของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรแต่เพียงอย่างเดียว โดยบริการของ Dime! นั้นสถาบันการเงินอื่นๆ นั้นสามารถที่จะมาหาลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้ ซึ่งล่าสุดทางบริษัทฯ กำลังมีการเจรจากับธนาคารหลายแห่งที่จะนำบริการเงินฝากของธนาคารต่างๆ มาอยู่บน Dime! ได้ รวมถึงหลังจากนี้อาจนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าทั่วไปเหล่านี้ เช่น ประกันชีวิต เนื่องจากกลุ่มคนทั่วไปอาจเสียโอกาสหรือรายได้ถ้าหากเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา เป็นต้น

KKP Dime วางเป้าว่าจะมีผู้ใช้งาน Dime! ถึง 1 ล้านคนภายในปี 2025 

]]>
1399005
KKP มองเป้าสินเชื่อโตปีนี้ถึง 16% เตรียมเปิดตัวบริการในรูปแบบ Digital หลังจากนี้ https://positioningmag.com/1394813 Wed, 03 Aug 2022 09:40:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1394813 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองธุรกิจในครึ่งปีหลัง เน้นเติบโตแบบมีกลยุทธ์ ลงทุนในเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น พร้อมเปิดตัวบริการในรูปแบบ Digital เร็วๆ นี้ ขณะเดียวกันยังมองว่ามองเศรษฐกิจยังผันผวน ยังต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่าผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 อยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจสินเชื่อธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยสินเชื่อรวมในครึ่งปีแรกนั้นเติบโตถึง 10% มากกว่าที่คาดไว้

ทางด้านธุรกิจตลาดทุนนั้น ในครึ่งปีแรกธุรกิจนายหน้ายังคงครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ของตลาด โดยมีส่วนแบ่ง 18.18% และธุรกิจการลงทุนเติบโตดีจากฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ด้านวานิชธนกิจมีจำนวนธุรกรรมลดลงในช่วงต้นปี ในขณะที่ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคลมีปริมาณทรัพย์สินภายใต้คำแนะนำอยู่กว่า 7 แสนล้านบาท

สำหรับแผนธุรกิจในครึ่งปีหลังนั้น ฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในครึ่งปีหลัง ธนาคารได้ปรับพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร รวมถึงปรับปรุงระบบและกระบวนการภายในเพื่อการพิจารณาสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงลงทุนในด้านดิจิทัลเพื่อที่จะลดต้นทุนของธนาคาร

ไม่เพียงเท่านี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ยังกล่าวเสริมในเรื่องลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาที่ยังต้องได้รับการดูแลนั้นยังมีอยู่ แต่จำนวนลดลงเรื่อยๆ โดยผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ หรือลดดอกเบี้ยลง เป็นต้น

ขณะที่มุมมองธุรกิจครึ่งปีหลังของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร อภินันท์ คาดว่าธุรกิจสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะเติบโตได้ราวๆ 16% โดยอภินันท์มองว่าอัตราส่วน NPL อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่อยู่ในความสามารถที่จัดการได้ ขณะเดียวกันธุรกิจวานิชธนกิจก็มีรายได้ในครึ่งปีหลังที่เพิ่มขึ้น

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ยังเปิดเผยถึงธุรกิจที่ธนาคารเตรียมเปิดเผยบริการที่เตรียมเปิดตัวในช่วงหลังจากนี้ นั่นก็คือบริการที่ชื่อ Dime เริ่มต้นจะมีบริการซื้อขายหุ้นต่างประเทศและบริการเงินฝาก โดยจะจดทะเบียนเป็นบริษัทหลักทรัพย์รายใหม่ โดยมองว่าแพลตฟอร์มรายนี้เหมาะกับลูกค้าที่ชื่นชอบการซื้อขายด้วยตัวเอง และแพลตฟอร์ม Dime นี้จะเน้นเจาะลูกค้าได้มากขึ้นหลักจากนี้

นอกจากนี้อภินันท์ยังชี้ว่าอาจได้เห็นเรื่อง Digital Transformation ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรหลังจากนี้อีกมากในหลังจากนี้

]]>
1394813
COVID-19 ทุบเศรษฐกิจไทย คนว่างงานอาจพุ่ง 5 ล้านคน KKP ปรับลดจีดีพีปีนี้ ดิ่งลึก -6.8% https://positioningmag.com/1271841 Sun, 05 Apr 2020 10:18:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1271841 KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปรับลดคาดการณ์อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ปี 2020 ลงอีกครั้งจากเดิม -2.4% เป็น -6.8% คนว่างงานอาจพุ่งถึง 5 ล้านคน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้น และมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้หดตัวลึกและยาวนานยิ่งขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ โดย KKP สรุปปัจจัยสำคัญที่ฉุดเศรษฐกิจไทย ไว้ 3 ด้าน ดังนี้

1. เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ จากตัวเลขผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้างมากขึ้น ทำให้หลายประเทศมีการประกาศมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อพยายามควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Bank of America ล่าสุดปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศหลักลงอย่างหนัก โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะติดลบถึง 6% สหภาพยุโรปติดลบที่ 7.6% และเศรษฐกิจจีนคาดจะขยายตัวได้เพียง 1.2% ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะหดตัวถึง 2.7% จากการประมาณการครั้งก่อนที่คาดขยายตัว 0.3% ซึ่งจะเป็นการหดตัวที่รุนแรงยิ่งกว่าในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2009

2. มาตรการปิดเมืองและ social distancing ที่เข้มข้นขึ้น รัฐบาลไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมกับเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ มีการประกาศปิดร้านค้า ร้านอาหาร และสถานที่ต่างๆ เป็นวงกว้าง รวมถึงล่าสุดมีการประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศมากกว่าที่เคยประเมินไว้

3. การประกาศปิดการเข้าออกระหว่างประเทศ รวมทั้งการประกาศปิดเมืองในหลายจังหวั เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดข้ามจังหวัด จะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและภายในประเทศได้รับผลกระทบหนักขึ้นไปอีกจากที่เคยคาดไว้ในการประเมินครั้งก่อน

เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก COVID-19 นี้จะทำให้เกิดภาวะการว่างงานเป็นวงกว้าง โดยภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ โรงแรมและร้านอาหาร ภาคการค้า และภาคการขนส่ง มีการจ้างงานรวมถึง 10.1 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ และในจำนวนนี้เป็นการจ้างงานนอกระบบถึง 5.6 ล้านคน หรือ 55%

ดังนั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อธุรกิจเหล่านี้จะส่งผลให้แรงงานจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้างหรือถูกขอให้หยุดงานชั่วคราว นอกจากนี้ ภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น ภาคการผลิต ภาคการก่อสร้าง และบริการอื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลงด้วยเช่นกัน

“อาจมีการว่างงานสูงถึง 5 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 13% ในช่วงกลางปีนี้ ก่อนที่สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี” KKP Research ระบุ

แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐได้มีมาตรการด้านโยบายการคลังและการเงินออกมาเพื่อตอบสนองกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ KKP Research มองว่ายังมีความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนใน 3 ด้านใหญ่ ได้เเก่

1. ทบทวนและจัดสรรงบประมาณอย่างเร่งด่วนให้กับงานด้านสาธารณสุข เพื่อสร้างความสามารถในการตรวจ สอบสวนความเชื่อมโยง คัดแยก และรักษาผู้ติดเชื้อ และจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมและมีคุณภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้การควบคุมการระบาดของโรคทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. มีมาตรการทางการคลังระยะสั้นเพื่อเยียวยา และลดภาระของผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ของรัฐ รวมไปถึงเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรองรับแรงงานในระยะต่อไป

3.จัดเตรียมมาตรการด้านการเงินเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในระบบการเงิน เช่น เตรียมมาตรการรองรับปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน มาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการผลักดันสภาพคล่องในระบบการเงินช่วยเหลือธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้

]]>
1271841