NEW S Curve – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 16 Dec 2021 10:51:37 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘กสิกรไทย’ กับกลยุทธ์การเติบโต ฉบับ ‘THE METAMORPHOSIS’ พัฒนาเทคโนโลยี จับโอกาสตลาดอาเซียน https://positioningmag.com/1367289 Fri, 17 Dec 2021 04:00:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1367289

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการปรับตัวที่โดดเด่นเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแตกต่างของ ‘ธนาคารกสิกรไทย’ (KBank) ที่สร้างปรากฏการณ์มาหลายครั้ง

ความเคลื่อนไหวล่าสุดกับการประกาศยกทัพบุกตลาดภูมิภาค ด้วยแนวคิด “THE METAMORPHOSIS” กลายร่างธนาคาร ให้เติบโตมากกว่าเดิมแบบ “ไร้ขีดจำกัด ไร้รอยต่อ และไร้ขอบเขต” น่าสนใจยิ่ง เพราะสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายที่ชัดเจนในการ บุกทำตลาดต่างประเทศ เพื่อให้ทุกคน ‘เข้าถึง’ การเงินบนโลกดิจิทัล

โอกาสนี้ เห็นได้จากทิศทางการเติบโตของธุรกิจธนาคารในระดับภูมิภาคของ KBank ที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ท่ามกลางความโกลาหลของเศรษฐกิจโลกในช่วงวิกฤตโควิด-19

โดยในปี 2564 มีการเติบโตมากกว่าปีก่อนหน้าถึง 34% ซึ่งธนาคารได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2566 จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจในต่างประเทศเป็น 5% ของรายได้สุทธิธนาคารทั้งหมด (Net Total Income-NTI) หรือมีรายได้เติบโตถึง 5 เท่า  พร้อมขยายฐานลูกค้าดิจิทัลเป็น 6.5 ล้านราย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.6 ล้านราย และเพิ่มเป็น 10 ล้านรายภายในปี 2567

เส้นทางสู่เป้าหมาย เต็มไปด้วยความท้าทายมากมายรออยู่ ทั้งเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน วางเเผนกลยุทธ์รองรับทุกการเปลี่ยนเเปลง การสร้างสรรค์เทคโนโลยีเเละพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการบริหารจัดการองค์กรให้เป็น ‘หนึ่งเดียวกัน’ ผสมผสานความหลากหลายของเชื้อชาติเเละวัฒนธรรม ดึงดูด Top Talent จากทั่วโลก


เติบโตไร้ขีดจำกัด ฉบับ THE METAMORPHOSIS

ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก เเละมีเเนวโน้มจะเติบโตได้ต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า เเละเส้นทางนี้ก็เหมือนการ ‘วิ่งมาราธอน’ ที่ต้องใช้ความพยายาม อดทนเเละต้องคว้าโอกาสสำคัญให้ได้ พร้อมการวางเเผนกลยุทธ์ที่ดี การเติบโตของ KBank จึงเปรียบเสมือน ‘Metamorphosis’ วิวัฒนาการเชิงความคิด การเติบโตผ่านการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างรวดเร็วตามเป้าธุรกิจที่ท้าทาย

เปลี่ยนปรัชญาทางธุรกิจไปสู่การให้บริการที่เหนือกว่าธุรกิจธนาคาร ผ่านการสร้างโซลูชันและยกระดับการให้บริการเพื่อมอบชีวิตที่ดีให้ลูกค้า ตาม 3 วิสัยทัศน์หลัก คือ

Limitless Opportunity ธนาคารกสิกรไทยจะไม่ติดกรอบอยู่แค่การทำธุรกิจในประเทศไทย การเติบโตของธนาคารสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกภูมิภาคอย่างไร้ขีดจำกัด

Seamless Connectivity ด้วยการสนับสนุนทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยจาก KASIKORN BUSINESS-TECHNOLOGY GROUP (KBTG) ทำให้สามารถจัดสรรทรัพยากรทั้งการลงทุน ผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ได้อย่างไร้รอยต่อ

Borderless Growth สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ศักยภาพ (Capabilities) ทุก ๆ ด้านของคนกสิกรไทยที่จะต้องเติบโตได้อย่างไร้ขอบเขต


โอกาสอยู่ในทุกๆ การเปลี่ยนเเปลง

ด้าน พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ชี้ว่า โลกยุคใหม่หลังโควิด-19 เปลี่ยนเเปลงไปอย่างมาก มีทั้งความซับซ้อนเเละท้าทาย เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาดิสรัปเร็วกว่าเดิม 4-10 ปี ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ สำหรับธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็ว (Morph) และเปิดรับทักษะสมัยใหม่ โดยสามารถเเบ่งเป็น 4 ธีมการเปลี่ยนเเปลงของโลกในระยะต่อไป ได้เเก่

DECOUPLING สำนักวิจัยหลายแห่งคาดว่าภายในปี 2573 เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ช่วงเวลานี้ เกิดการประลองกันของมหาอำนาจโลก มีการกีดกันทางการค้าและเเข่งขันกันด้านเทคโนโลยี เหล่านี้เป็นโอกาสที่ไทยเเละ ‘อาเซียน’ จะสามารถเชื่อมต่อกับสองห่วงโซ่ทั้งจีน และสหรัฐฯ จากการเปิดกว้างต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับทั้งสองขั้วอำนาจ ซึ่งต้องมองเรื่องนี้ให้เป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค

ในประเด็นต่อมาคือ REGIONALIZATION 2.0 การปรับภาพลักษณ์ใหม่ของจีน ที่จะผันตัวเองจากแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกไปเป็นประเทศ ที่เน้นการส่งออกสินค้าไฮเทคและนวัตกรรม

“ธุรกิจของจีนจะทยอยย้ายฐานการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งมีศักยภาพสูง ในการเป็นห่วงโซ่อุปทานของจีน เพื่อรองรับตลาดผู้บริโภคชนชั้นกลางจำนวนมาก รวมถึงมีความได้เปรียบทั้งเรื่องความสัมพันธ์ วิถีชีวิต มีศักยภาพสูงในการลงทุนทั้งเรื่องของค่าแรง กฎระเบียบต่างๆ”

สำหรับโอกาสของ NEXT-GEN DIGITALIZATION เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยขับเคลื่อนและสร้างโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้นเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตอบรับการเปลี่ยนผ่านสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

ส่วนอีกกระแสสำคัญของปัจจุบัน คือ DECARBONIZATION ที่นานาประเทศเริ่มมุ่งไปสู่ ‘สังคมไร้คาร์บอน’ ซึ่งการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย

โดยทางจีนที่เป็นผู้ปล่อยคาร์บอนสูงที่สุด ก็มีการประกาศเป้าหมายนี้มาเเล้ว เชื่อว่าต่อไปจะได้เห็นความร่วมมือกันของหลายประเทศ ทั้งภาครัฐเเละเอกชนในด้านต่างๆ อย่างพลังงานลมและโซลาร์เซลล์ เเละรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ

“นี่เป็นโอกาสของการทำธุรกิจในการสร้างห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) ของไทยเเละอาเซียน ยกระดับเศรษฐกิจเก่าไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างอุตสาหกรรมใหม่สู่ New S-Curve ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคบนเส้นทางการเติบโตยั่งยืนในอนาคตข้างหน้า”

ด้านความเห็นต่อกระเเส Crypto Economy ผู้บริหารกสิกรไทยมองว่า ต่อไปจะเป็นการรวมกันระหว่างตลาดการเงิน สินทรัพย์ดิจิทัลเเละภาคธุรกิจต่างๆ เช่นการนำ  Metaverse มาปรับใช้ จะช่วยสร้างผลิตภาพที่สูงขึ้น การซื้อขายผ่านเงินสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) หรือซื้อขายผ่าน NFT (Non-Fungible Token) สถาบันการเงินจึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมรับทุกบริการเพื่อธุรกิจยุคใหม่

 ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา KBTG เพิ่งส่งบริษัทลูกในเครืออย่าง KASIKORN X หรือ KX เดินเกมสร้างธุรกิจใหม่บนโลกของ DeFi เปิดตัว ‘Coral’  มาร์เก็ตเพลส NFT ที่ซื้อขายง่ายด้วยสกุลเงินทั่วไป สร้างโอกาสศิลปินไทยสู่ระดับสากล (คลิกอ่าน ที่นี่)

 โดยโจทย์หลักของ KBank คือ การมุ่งสู่โลกการเงินแห่งอนาคต ยกระดับความสามารถความรู้ให้ทั้งบุคลากรของธนาคาร และลูกค้าเพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างยั่งยืน และเรื่อง ESG ที่การเติบโตของธุรกิจไม่ได้ดูแค่ผลกำไรเท่านั้น เเต่จะต้องสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย


เทคโนโลยีคือจุดเชื่อมโยง ต่อยอดฟินเทคจีน-อาเซียน

เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG (Group Chairman-KASIKORN BUSINESS-TECHNOLOGY GROUP) กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนในของ ‘ตลาดจีน’ ว่ามี FinTech Landscape ที่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น จากจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 1,412 ล้านคน เเละมีการใช้โทรศัพท์มือถือสูงมากๆ ใช้จ่ายด้านออนไลน์สูง เเละเป็นตลาดที่มีการเเข่งขันสูง เป็นโอกาสของกสิกรไทยที่จะเข้าไปเจาะตลาดเเละเรียนรู้ได้

ในปี 2563 ที่ผ่านมา KBTG ได้มีการจัดตั้งบริษัท ไคไท่ เทคโนโลยี จำกัด (KAITAI Technology Company Limited : KTECH) ที่เซินเจิ้น ซึ่งภารกิจหลักๆ  คือการ ‘หาบุคลากร’ จีนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีมาร่วมทีมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร เเลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญ พร้อมทั้งต่อยอดโอกาสทางธุรกิจจากฟินเทคในจีนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไปสู่ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน

โดยเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในจีน ก็คือ คลาวด์คอมพิวติ้ง นาโนไฟเเนนซ์ ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน 5G เเละความปลอกภัยไซเบอร์

ความสำเร็จในก้าวปีแรกของ KBTG คือ การมีส่วนร่วมใน 14 โครงการสำคัญ ครอบคลุมในทุกประสบการณ์ทางการเงิน ทั้งด้านการปล่อยกู้ เงินฝาก การชำระเงิน รวมทั้งข้อมูลและการวิเคราะห์กับ 7 พันธมิตรสำคัญในประเทศจีน  และมีแผนเพิ่มทีมงานให้ใหญ่ขึ้นถึง 12 เท่า ภายในปี 2569  “การทำงานของเราจะเป็นไปในรูปแบบ Fast-Fun-Flow-Feedback ทำอย่างรวดเร็วด้วยความสนุก”

ส่วนเป้าหมายจำนวนผู้ใช้ K PLUS ทั้งในไทยและต่างประเทศนั้น ตั้งเป้าหมายไว้ที่ระดับ 50 ล้านผู้ใช้ในอีก 5  ปีข้างหน้า ซึ่งตอนนี้จำนวนผู้ใช้ในปัจจุบันก็ใกล้เเตะ 20 ล้านรายแล้ว


World Business Group : ก้าวต่อไป KBank ธนาคารเเห่งภูมิภาค

ภัทรพงศ์ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับศักยภาพของกลุ่ม World Business Group (WBG) ที่ได้สร้างการเปลี่ยนสู่ธุรกิจ ธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค ว่า ด้วยความที่ KBank นิยามตัวเองว่าเป็นเทคสตาร์ทอัพที่มี banking license จึงเข้าไปทำตลาดใหม่ๆ ได้อย่าง ‘ตัวเบา’ โดยการเดินหน้าธุรกิจตามโมเดล Kasikorn China ในจีนนั้นจะใช้บนปรัชญา “Better Me” ที่มุ่งให้การสนับสนุนลูกค้าที่มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน และมุ่งมั่นนำพาตัวเองสู่อิสรภาพทางการเงินสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบยั่งยืนพร้อมจะนำแนวคิดธุรกิจนี้ขยายไปต่อยัง ‘เวียดนาม’ ที่ได้เดินหน้าด้วยดิจิทัล แบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบ

ได้แก่ KBank Biz Loan สินเชื่อดิจิทัลที่ช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในการขออนุมัติวงเงินและ K PLUS Vietnam โมบาย แบงกิ้งที่ต่อยอดจากต้นแบบ K PLUS ในประเทศไทย

“ในอนาคตจะมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่บนโมเดล Banking-as-a Service (BaaS) ในการให้บริการมากกว่าธุรกิจการเงินที่จะเริ่มที่เวียดนามเป็นแห่งแรก เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกที่มากกว่าในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ช่วยให้ฟินเทครายย่อยมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกันและเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น”

สำหรับในตลาดกัมพูชา KBank พร้อมเปิดตัว Payroll Lending ที่ทำให้ลูกค้าได้รับสินเชื่ออย่างง่ายดาย ผ่านแอปพลิเคชันของพันธมิตร ส่วนในฝั่ง สปป.ลาวจะยังคงเดินหน้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานบริการ QR KBank จากปัจจุบันที่มี 1.3 แสนรายอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขยายการใช้งานให้ครอบคลุมทุกธุรกรรมการเงินของลูกค้า

เป้าหมายถัดไปของธนาคารกสิกรไทย คือ การเชื่อมต่อกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่สุดและมีประชากรจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค โดยปัจจุบันธนาคารได้เร่งสร้างพันธมิตรธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อขยายโอกาสในการทำธุรกิจและส่งมอบบริการทางการเงินให้กับลูกค้าในอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ยังมีแผนในการจัดตั้งบริษัท K VISION FINANCIAL (KVF) เพื่อขยายการลงทุนด้านดิจิทัลในธุรกิจต่าง ๆ ด้วยเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มจำนวนพันธมิตรทางธุรกิจ สู่การเป็น Ecosystem ทางการเงินในระดับภูมิภาค พร้อมชูแผนการสร้าง บริการทางการเงินเพื่อรองรับตลาด Digital Asset ที่จะเติบโตในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะในประเทศจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม

เปิดพื้นที่เเชร์ไอเดีย เป็นองค์กรสำหรับ Talent ทั่วโลก

จากเป้าหมายและพันธกิจที่ใหญ่ขึ้น  WBG ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 1,037 คนในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นถึง 52% จากปี 2563 เพื่อขยายศักยภาพของทีมให้ไปสู่ความสำเร็จได้ และด้วยความตั้งใจที่จะเป็นองค์กรสำหรับ Talent ทั่วโลก

ธนาคารได้เสนอแนวคิด “World of Borderless Growth” เพื่อสื่อสารให้คนรุ่นใหม่เห็นโอกาสในการเติบโตอย่างไร้ขอบเขตทุกมิติ อย่าง

Personal Growth การเติบโตผ่านประสบการณ์ทำงานจริงที่ท้าทาย

Growth of Team การเติบโตร่วมกับทีมที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน

Growth of Partners การเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตรทั้ง Tech Company และ Startup ระดับโลก

Growth of Community การเติบโตเคียงข้างกับสังคมผ่านทุกภารกิจ (Mission) ของ WBG ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

“เราจะได้สร้างสิ่งใหม่ๆ เรื่องใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เเค่พนักงานไม่เคยทำ เเต่ KBank เองก็ยังไม่เคยทำ เป็นประสบการณ์ใหม่ของทีมงานที่จะได้ไปเจอ ให้โอกาสในการเเสดงศักยภาพ เเชร์ไอเดียทำงาน เราต้องการคนรุ่นใหม่ที่ใจกล้า มีความอยากเรียนรู้เข้ามาช่วยเราทำงาน เเละเติบโตไปด้วยกัน”  ชัช เหลืองอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าว

โดยสิ่งที่ธนาคารกสิกรไทยอยากจะเป็นจริงๆ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า คือการเป็นธนาคารที่ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือลูกค้า เเละ ‘เป็นที่รัก’ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนๆ เเละก็เชื่อว่าทีมงานของเราทุกคนมีความเชื่อเเละปรัชญานี้เหมือนกัน ที่จะมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งที่มีความหมายต่อชีวิต พัฒนาสิ่งที่ดีกว่าให้กับโลก

 

]]>
1367289
รู้จัก EVme แพลตฟอร์ม ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ครบวงจร เปิดโอกาสให้ได้ลอง พลังงานเเห่งอนาคตที่เข้าถึงได้ https://positioningmag.com/1366942 Thu, 16 Dec 2021 04:00:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1366942

การมาของ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เมื่อเทรนด์โลกกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต หรือ Future Energy  ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสิ่งเเวดล้อมมากขึ้น บริษัทต่างๆ เริ่มคำนึงถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน รัฐบาลของหลายประเทศตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในประเทศไทย ก็มีการตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น เห็นได้ชัดจากช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ที่มีจำนวนผู้จดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) คันใหม่ เพิ่มขึ้นถึง 72% ค่ายรถยนต์พาเหรดทำการตลาด ภาครัฐออกนโยบายดึงดูดผู้ใช้ เหล่าธุรกิจพลังงานเดินหน้าขยายสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโต

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวที่น่าตื่นเต้นนี้ เราได้เห็นเเววรุ่งของเเพลตฟอร์มน้องใหม่อย่าง EVme’ (อีวี มี) ที่เปิดตัวด้วยการเป็นผู้ให้บริการรถยนต์ไฟฟ้าเเบบ ครบวงจรรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ณ ขณะนี้

ความน่าสนใจของ EVme จุดเด่นของบริการ กลยุทธ์ที่จะมาเจาะตลาด เเละทิศทางของธุรกิจจะเป็นอย่างไร วันนี้เราจะมารู้จัก  EVme ให้มากขึ้นกัน


เป้าหมาย ‘พลังงานเเห่งอนาคต’ ที่เข้าถึงทุกคน

หลังจากโลดเเล่นในวงการเทคโนโลยีระดับโลกมายาวนาน ‘ทอม- สุวิชชา สุดใจ คว้าโอกาสท้าทายตัวเองอีกครั้ง ด้วยการมาทำหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVME PLUS) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

จากประสบการณ์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกเเบบโครงสร้าง วางเเผนกลยุทธ์เเละบริหารจัดการผลิตภัณฑ์กับ Accenture เเละ IBM ในหลายประเทศทั้งในสหรัฐฯ เเละเอเชียเเปซิฟิก ขยับมาสายการเงินเป็นผู้บริหารระดับสูงในธนาคารอย่าง SCB เเละ KTB อยู่ในวงการฟินเทคเเละบล็อกเชน เเละก้าวสำคัญสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า

เขายอมรับว่า งานนี้ ‘ไม่ง่าย’ มีความท้าทายสูง เเต่ก็มีความสนุกเเละเเรงผลักดันของการเป็นผู้บุกเบิกตลาด โดยทุกธุรกิจที่ได้ทำมาหลายอย่างนั้น สามารถนำมาต่อยอดเเละเชื่อมโยงกันได้เสมอ

“ผมหลงรักในโลกเทคโนโลยี เเละอยากพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในเมืองไทย ให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายขึ้น”

ความตั้งใจนี้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกลุ่ม ปตท. ที่มีการปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยการเดินหน้าพัฒนาธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต และ New S-curve

หนึ่งในพลังงานเเห่งอนาคตที่ กลุ่ม ปตท. เร่งดำเนินการ คือ การเดินหน้าลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าตลอดทั้ง Value Chain ทั้งการผลิตเเบตเตอรี่ ประกอบยานยนต์ ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า-สลับเเบตเตอรี่ เเละบริการด้านยานยนต์ไฟฟ้าเเบบครบวงจรอย่าง  EVme

กลุ่ม ปตท. มองว่า การเข้ามาต่อยอดธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้านั้น จะช่วยส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ ให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เเละจะส่งผลที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมของโลกมากขึ้น


EVme เปิดโอกาส ‘ให้ได้ลอง’ 

EVme  ดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านการให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เช่น บริการให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบ B2B และ B2C บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้าและสถานีซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้าผ่านเเอปพลิเคชัน EVme พร้อมๆ กับการหาโอกาสในผลิตภัณฑ์และบริการใหม่

“EVme วางโพสิชันเป็นเพื่อนคู่คิด เป็นที่ปรึกษาด้าน EV ทั้งเรื่องตัวรถ การชาร์จเเละการดูแลรักษา ให้กับผู้บริโภค เราเป็น Multi-brand platform ที่จะให้ข้อมูลอย่างเป็นกลางและเป็นธรรม ให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการรถ EV หลากหลายรุ่นตามความชื่นชอบ รวมทั้งสามารถซื้อได้ในราคาพิเศษ ทําให้คุณเป็นเจ้าของรถ EV ได้ง่าย และตรงใจมากยิ่งขึ้น”

คุณสุวิชชา มองว่า เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า จะเข้ามาเปลี่ยนลักษณะการเดินทางเเละพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภค

โดยสิ่งที่จะช่วยทำให้ผู้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น นอกจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกในการใช้งานเเล้ว  ขั้นเเรกที่ต้องก้าวผ่านคือ ความกลัว‘  ซึ่ง EVme จะเข้ามาช่วยสร้างประสบการณ์ในจุดนี้ โดยการเปิดโอกาส ให้ได้เห็น ได้ใช้ ได้ลองขับก่อน

“เราเชื่อว่าตลาดจะโตมากขึ้น เมื่อคนไทยได้ลองใช้รถยนต์ไฟฟ้าจริงๆ เราต้องการเป็นเเพลตฟอร์ม EV Lifestyle ที่ทุกคนคิดถึง สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชาร์จ ได้ลองขับรถหลายรุ่น จากที่บ้านไปที่ทำงาน หรือขับไปเที่ยวต่างจังหวัด ซึ่งหากใครกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า อยากศึกษา อยากรู้จักอยากทดลอง แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี  อยากให้ลองมาทําความรู้จักกับ EVme ซึ่งจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ในช่วงต้นปี 2565 นี้”


ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ทำให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นเรื่องง่าย

ปัจจุบัน EVme นำร่องให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน ดาวน์โหลดได้ทันทีทาง AppStore และ Google Play โดยบนเเพลตฟอร์มจะมีรายละเอียดรถ EV หลากหลายค่าย หลากหลายรุ่นทั้ง sedan, hatchback, SUV จากฝั่งจีน ญีปุ่น เกาหลี หรือโซนยุโรปเเละอเมริกา เพื่อตอบโจทย์ทุกการใช้งานของลูกค้า เหมาะสําหรับทุกโอกาส ไม่ว่าจะเป็นนั่งคนเดียว ออกทริป รถครอบครัว หรือรถหรูในโอกาสพิเศษ

สำหรับระยะเวลาการเช่าใช้งาน จะเริ่มต้นตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป หรือถ้าใครอยากใช้ยาวๆ เป็นรถคู่ใจประจําบ้านก็สามารถเลือกโปรเเกรม subscribe เป็นรายปีได้ด้วยเช่นกัน ในราคาเริ่มต้นไม่ถึง 4,000 บาท ซึ่งราคานี้จะรวมพรบ. ประกันภัยชั้น 1 ค่าซ่อมบํารุง พร้อม call center 24 ชม. คอยให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนน เเละรถยก รถแบตเตอรี่ที่พร้อมให้บริการทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมเชื่อมต่อเเละสามารถค้นหาจุดชาร์จตามสถานที่ต่างๆ บนเเอปพลิเคชัน

EVme กำลังเดินหน้าหารือกับพาร์ทเนอร์ในหลายธุรกิจ เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบริการต่างๆ ของ Ecosystem ไม่ว่าจะเป็นการซื้อประกันรถยนต์ไฟฟ้า หรือการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า เช่นการขอสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

“การเเข่งขันในตลาดจะมักมุ่งไปที่วิธีการให้เช่า เเต่เราต้องการนำเสนอสิ่งที่เเตกต่างจากรถยนต์สันดาปด้วย ตอนนี้เราเป็นเจ้าเดียวที่มุ่งเน้นการให้พลังงานสะอาดอย่างเเท้จริง โดยจะให้บริการ Carbon credit ทำให้ลูกค้าเห็นได้ว่าสิ่งที่เขาใช้ สิ่งที่เขาชาร์จนั้นเป็นมิตรกับสิ่งเเวดล้อม ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีบริการในลักษณะนี้อย่างเต็มรูปแบบเหมือน EVme”


ขับเคลื่อนประเทศสู่  Low Carbon Society

เมื่อถามถึงเเนวทางการบริหารงานของ EVme  คุณสุวิชชาบอกว่า หัวใจสำคัญคือ ‘ Agile’ การทำงานที่รวดเร็ว ตอบสนองกับลูกค้าได้ดี นำความเห็นจากลูกค้ามาปรับเปลี่ยนเเละปรับปรุงเพื่อนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ตอบโจทย์การให้บริการที่เข้าถึงได้มากขึ้น สร้างสรรค์ฟีเจอร์ใหม่ๆ อยู่เสมอ

เเม้จะเริ่มจากทีมเล็กๆ ตามสไตล์สตาร์ทอัพ เเต่ด้วยความที่มีองค์กรใหญ่อย่าง ปตท. ให้การสนับสนุนก็มีส่วนช่วยให้ทีมสามารถดึงคนเก่งๆ ที่มีความสามารถมาร่วมงานได้อย่างต่อเนื่อง จากความน่าเชื่อถือเเละความมั่นคงด้านเงินทุน บวกกับการที่ยังเป็น business model ที่ใหม่มากในตลาดไทย

” EVme จะทําให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ Low Carbon Society ทําให้ทุกคนเป็นเจ้าของรถได้ง่ายขึ้น รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นเรื่องทีทุกคนเข้าถึงได้ในชีวิตประจําวันเเละจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป”

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ evme.io  เเละ  Facebook : EVme

]]>
1366942
ส่องบทบาท VISTEC มหาวิทยาลัยแนวหน้าแห่งวงการนวัตกรรมไทย ส่งนักวิทย์คว้ารางวัลระดับประเทศ https://positioningmag.com/1356107 Tue, 12 Oct 2021 10:00:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1356107

6 ปีหลัง “สถาบันวิทยสิริเมธี” หรือ VISTEC ก่อตั้งขึ้น จากการมุ่งเป้าเป็นมหาวิทยาลัยแนวหน้าของไทยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม วันนี้ผลงานของสถาบันฯ ผลิดอกออกผล “ศ.ดร.วินิช พรมอารักษ์” บุคลากรของสถาบันได้ “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2564” ด้วยผลงานการคิดค้นเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่และนวัตกรรมไฟส่องสว่างอนาคตเพื่อการปฏิรูปพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน (New Solar Cell and Innovative Lighting Technology for Renewable Energy Transformation) โดยสถาบันฯ ยังมีผลงานวิจัยอีกมากที่จะพลิกวงการวิทยาศาสตร์ไทย เช่น แบตเตอรีลิเธียมไอออน หุ่นยนต์ เศรษฐกิจหมุนเวียนจากขยะอินทรีย์

คำกล่าวที่ว่า “ประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยน้อยเกินไป” ไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงเลย วัดได้จากข้อมูลของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่ทำวิจัยเทียบเท่าเต็มเวลาอยู่เพียง 20 คนต่อประชากร 10,000 คน และถ้าคิดสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยต่อจีดีพีประเทศ จะคิดเป็นเพียง 1.11% เท่านั้น

จากความขาดแคลนนักวิจัยดังนี้ กลุ่ม ปตท. และผู้ร่วมสนับสนุน จึงจัดตั้ง “สถาบันวิทยสิริเมธี” หรือ VISTEC ขึ้นเมื่อปี 2558 ตั้งอยู่ในวังจันทร์ วัลเลย์ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) จ.ระยอง เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนเฉพาะระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และสนับสนุนนักวิจัยเป็นรายโครงการ เรียกได้ว่าพุ่งเป้าไปที่การศึกษาขั้นสูงและการวิจัย ตรงจุดความต้องการของประเทศ


สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)

นักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่กำลังหาสถานที่เรียนต่อหรือทำวิจัย VISTEC จึงเป็นหนึ่งสถาบันการศึกษาที่น่าสนใจ ที่นี่จะมี 4 สาขาวิชาให้เลือก คือ 1) สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (School of Molecular Science and Engineering: MSE) 2) สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (School of Energy Science and Engineering: ESE) 3) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (School of Biomolecular Science and Engineering: BSE) และ 4) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (School of Information Science and Technology: IST) ซึ่งตามการคาดการณ์ของ OECD Megatrends ความรู้ทางด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ไบโอเทค วัสดุขั้นสูง และดิจิทัล จะเป็นวิทยาการสำคัญของโลก!


ตัวอย่างการวิจัยภายในสาขาต่างๆ ที่เปิดสอน

เป้าหมายระยะยาวของ VISTEC ต้องการเป็นผู้นำการสร้างองค์ความรู้และนักวิทยาศาสตร์นักวิจัยรุ่นใหม่ในด้านต่างๆ ให้กับประเทศ มีความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของไทย ทำให้งานของนักวิจัยจะถูกนำไปใช้กับภาคอุตสาหกรรมจริง เกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาไปสู่การเป็นประเทศผู้พัฒนานวัตกรรมได้

ผลงานด้านวิชาการของ VISTEC ยังได้รับการยอมรับ โดย Nature Index เมื่อปี 2563 จัดอันดับให้สถาบันวิทยสิริเมธีเป็นอันดับ 1 ของไทยและอันดับ 3 ของอาเซียนในด้านสาขาเคมี เป็นอันดับ 2 ของไทยในภาพรวมทุกสาขาวิชา ปัจจุบัน พฤษภาคม 2564 เป็นอันดับหนึ่งของไทยในทุกสาขาวิชา และถือเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 12 ของโลกในหมวดมหาวิทยาลัยที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี

ล่าสุด อีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่า VISTEC ได้สนับสนุนสร้างผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อชาติ คือการที่คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประกาศให้ “ศ.ดร. วินิช พรมอารักษ์” นักวิจัยวัสดุนาโน สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (School of Molecular Science and Engineering) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ผู้คิดค้น “เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่และนวัตกรรมไฟส่องสว่างอนาคตเพื่อการปฏิรูปพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน” (New Solar Cell and Innovative Lighting Technology for Renewable Energy Transformation) ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2564 และได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 400,000 บาท


“ศ.ดร. วินิช พรมอารักษ์” นักวิจัยวัสดุนาโนสำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)

ศ.ดร.วินิช อธิบายว่า “เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่และนวัตกรรมไฟส่องสว่างอนาคตเพื่อการปฏิรูปพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน” เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัสดุกึ่งตัวนำอินทรีย์แบบใหม่ วัสดุกึ่งตัวนำอินทรีย์นี้เป็นสารประกอบของคาร์บอน นำมาออกแบบใหม่ในระดับโมเลกุลให้มีคุณสมบัติเปล่งแสงได้ดี ดูดกลืนแสงได้ดี หรือนำไฟฟ้าได้ดี เป้าหมายคือนำมาใช้แทนวัสดุกึ่งตัวนำซิลิคอนที่ใช้กันในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบัน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมวัสดุใหม่ที่นำไปใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น หน้าจอ OLED, เซลล์แสงอาทิตย์, วัสดุอิเล็กทรอนิกส์ยืดหยุ่นพับงอได้ (แบบที่ใช้ในหน้าจอสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ) การวิจัยครั้งนี้ต้องใช้ความรู้ทั้งด้านเคมี วัสดุศาสตร์ ฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่จะต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์


ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เยี่ยมชมบูธนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น

งานวิจัยของ ศ.ดร.วินิช ไม่ใช่หัวข้อเดียวที่เกิดขึ้นในสถาบันวิทยสิริเมธี ทั้งนักศึกษาและนักวิจัยใน VISTEC ต่างเลือกหัวข้อวิจัยที่จะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ยกตัวอย่างหัวข้องานวิจัยปี 2564 ด้านพลังงานมีการวิจัยเรื่อง “เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไฟฟ้า” พัฒนาแบตเตอรีลิเธียมไอออนให้เก็บพลังงานได้มากขึ้น อายุใช้งานนานขึ้น ซึ่งสำคัญมากในยุคนี้ที่ความต้องการใช้แบตเตอรีเติบโตสูง หรือด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ มีการวิจัย “ระบบอัจฉริยะของโครงกระดูกรยางค์ล่างภายนอก” สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยที่ต้องฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวตัวช่วงล่าง

ด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมก็น่าสนใจเช่นกัน เพราะมี “โครงการขยะเพิ่มทรัพย์ C-ROS” เข้าเทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นงานวิจัยที่รวมความรู้แบบสหวิทยาการ ต้องการเปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและผลิตภัณฑ์ไบโอเทคได้แบบมีประสิทธิภาพ ซึ่งถ้าทำสำเร็จ ประเทศไทยเราก็จะเป็น “สังคมไร้ขยะ” ได้จริง

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับดิจิทัล หุ่นยนต์ ไบโอเทค ฯลฯ คือความหวังการสร้างเศรษฐกิจ “New S-Curve” ในประเทศไทย และนักศึกษา-นักวิจัยใน VISTEC ทั้งที่จบการศึกษาแล้วหลายรุ่น รวมถึงที่ยังศึกษาอยู่กว่า 300 คนขณะนี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวงการนวัตกรรมแห่งอนาคต!

]]>
1356107
กางเเผน ‘เอ็กซ์สปริง’ ขอลุย ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ รับตลาดโตเร็ว เปิดลงทุนเเบบ One Stop Service https://positioningmag.com/1347432 Wed, 18 Aug 2021 11:58:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1347432 เปิดเเผนธุรกิจ ‘เอ็กซ์สปริง‘ หลังมีเงินทุนหมื่นล้าน ขอลุย ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ เต็มสูบ ปั้นเป็น New S-curve รับตลาดโลกขยายตัว พัฒนาแพลตฟอร์มให้ลงทุนเเบบ One Stop Service ได้เเทบทุกผลิตภัณฑ์ ประเดิมขายโทเคนดิจิทัล ‘สิริฮับ’ ก.ย.นี้

เอ็กซ์สปริงขยับมูฟใหม่อีกครั้งในปีนี้ หลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG เเละระดมทุนได้ 7,111 ล้านบาท รวมถึงการจับมือร่วมลงทุนกับพันธมิตรยักษ์ใหญ่ฝั่งอสังหาฯอย่างแสนสิริ

ปัจจุบัน เอ็กซ์สปริงประกอบด้วย 5 กลุ่มธุรกิจการเงิน เเบ่งเป็น 1) ธุรกิจหลักทรัพย์ โดยบริษัท หลักทรัพย์กรุงไทยซีมิโก้ จำกัด 2) ธุรกิจจัดการกองทุน โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็กซ์สปริงจำกัด 3) ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ โดยบริษัท บริหารสินทรัพย์เอ็กซ์สปริงเอเอ็มซี จำกัด 4) ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยบริษัท เอ็กซ์สปริงดิจิทัล จำกัดเเละ 5) ธุรกิจจัดการเงินลงทุน

ระเฑียร ศรีมงคล ประธานกรรมการ บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเพิ่มทุนครั้งนี้ ทำให้เอ็กซ์สปริงมีสภาพคล่องทางการเงินสูง ด้วยเงินทุนจากสัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิม 3,094 ล้านบาท บวกสัดส่วนการเพิ่มทุนอีก 7,111 ล้านบาท รวมกันเเล้วเอ็กซ์สปริงมีเงินทุนในมือกว่า 10,000 ล้านบาท

ความเคลื่อนไหวสำคัญที่ต้องจับตามองคือ บริษัทกำลังเดินหน้าขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจเพิ่มอีก 4 ใบอนุญาต ได้แก่ นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Private fund Management) และใบอนุญาตในการเป็นตัวแทนขายกองทุนรวม (LBDU)

เราจะสร้างระบบนิเวศการลงทุนของบริษัทให้สมบูรณ์มากที่สุด เพื่อเป็น One Stop Service ให้ลูกค้า โดยคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตภายในสิ้นปีนี้ หรือย่างช้าในต้นปี 2565″ 

วาง ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ เป็น New S-curve

สำหรับเงินทุนก้อนใหญ่ที่ได้มานั้น บริษัทชี้เเจงว่า จะนำไปพัฒนาธุรกิจในส่วน ธุรกิจดิจิทัล เพื่อมุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มการลงทุนรูปแบบดิจิทัล และสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจสำหรับบริการด้านการเงิน 

อีกส่วนคือ ธุรกิจปัจจุบัน เพื่อขยายธุรกิจหลักทรัพย์และให้บริการโซลูชันทางการเงินแบบครบวงจรแก่ลูกค้า การสนับสนุนการลงทุนนอกตลาดหลักทรัพย์ (Private Equity) ขยายธุรกิจบริหารจัดการกองทุนและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงและความสามารถด้านเทคโนโลยี ส่วนที่เหลือจะนำไปชำระคืนเงินกู้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

“ปีนี้เราวางแผนรุกธุรกิจครั้งใหญ่สู่การเป็น Digital Financial Service เปลี่ยนธุรกิจการเงินเดิมๆ สู่นวัตกรรมการเงิน โดยตั้งเป้าหมายว่า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็น New S-curve ที่ช่วยสร้างการเติบโตใหม่ของบริษัท เสริมกับธุรกิจดั้งเดิม” 

ระเฑียร สรุปจุดแข็งของบริษัท เมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด คือ  “พันธมิตร- เงินทุนที่แข็งแกร่ง และการมี 17 Licenses ในมือ” โดยเป็นพาร์ตเนอร์ที่มีความชำนาญในอุตฯ ของตัวเอง อย่างในวงการอสังหาริมทรัพย์คือ บมจ.แสนสิริ (SIRI) วงการประกันภัยคือ บมจ.วิริยะประกันภัย และ เอเลเวตเท็ด รีเทิร์นส์ (Elevated Returns) ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารหลักทรัพย์ วางโครงสร้างทางการเงิน และควบรวมกิจการ

“เราจะเติบโตด้วยบทบาทของการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางธุรกิจของเอ็กซ์สปริง เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทหลักทรัพย์ มุ่งเน้นหุ้นขนาดกลาง (Mid-cap) เป็นหลัก การบริการครบวงจรสำหรับตลาดทุนและโซลูชันในการขายโทเคนดิจิทัล (ICO) สร้างความแข็งแกร่งให้กับทุนมนุษย์ (Human Capital)”

นอกจากนี้ จะต่อยอดพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์ (AM) และการลงทุนในบริษัทที่อยู่นอกตลาด (PE) เพื่อดึงดูดกลุ่มมั่งคั่งที่มีจำนวนมากขึ้น ตลอดจนลงทุนในแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบใหม่อีกด้วย

เตรียมเปิดลงทุนเงินดิจิทัลครบวงจร นำร่องด้วย ‘สิริฮับ’

สำหรับเทรนด์การเติบโตของ ธุรกิจการเงินดิจิทัล ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ล่าสุดมีมูลค่าถึง 40 ล้านล้านบาท หรือราว 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ 

ด้วยโอกาสนี้ เอ็กซ์สปริง จึงวางเเผนการเติบโตไปพร้อมตลาดโลกผ่านสินทรัพย์ที่จะมาแทนที่เงินสกุลต่างๆ เช่น คริปโทเคอเรนซี่ และการซื้อขายทองคำผ่านระบบดิจิทัล

โดยที่ผ่านมา ตลาดบิตคอยน์เติบโตกว่า 24 ล้านล้านบาท (8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ) รวมทั้งตลาดแพลตฟอร์มสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) และ Decentralized Finance ที่มีขนาดกว่า 11.7 ล้านล้านบาท (3.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) และ 1.35 ล้านล้านบาท (45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตามลำดับ ส่วน Utility Token และ Security Token ก็ยังเป็นการเงินดิจิทัลที่มีการเติบโตสูงเช่นกัน ด้วยขนาดตลาดในปัจจุบันที่สูงถึง 1.95 ล้านล้านบาท (64,000 ล้านเหรียญสหรัฐ)

ทั่วโลกยังนำโทเคนดิจิทัลและระบบบล็อคเชนมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม อย่างโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงกับสินทรัพย์ดั้งเดิม เช่น ทอง ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

“เมื่อเราได้ไลเซ่นส์ครบ ลูกค้าจะสามารถเลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ได้เเทบทุกอย่างในที่เดียว ไม่ใช่เฉพาะหุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ คริปโตเคอเรนซี่ หรือโทเคน เท่านั้น โดยเอ็กซ์สปริงจะทำแพลตฟอร์มในรูปแบบ Open Architecture” 

บริษัทกำลังเตรียมเสนอขายผลิตภัณฑ์สินทรัพย์ดิจิทัลผลิตภัณฑ์แรก คือ โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ‘สิริฮับ’ (SiriHub Investment Token) คาดจะเปิดขายในเดือนก.ย. นี้  ต่อมาจะเปิดนักลงทุนสามารถซื้อขายโทเคนดิจิทัลของ บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด (ERX) ซึ่งเป็นพันธมิตรของบริษัท โดยใช้เงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 10 บาทต่อเหรียญ

สำหรับผลประกอบการของ ‘เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล’ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีรายได้รวม ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลงทุนแล้ว 167 ล้านบาท สูงกว่ารายได้รวมส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลงทุนของทั้งปี 2563 ที่มีจำนวนรวม 141 ล้านบาท กำไรสุทธิฯ อยู่ที่ 65 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 791% โดยทางผู้บริหาร คาดว่าบางธุรกิจมีรายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ได้ในช่วงกลางปีหน้า

 

]]>
1347432
คุยกับ “วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต” CTO แห่ง ปตท. ภารกิจปั้น “วังจันทร์วัลเลย์” บุกเบิก 5G x UAV SANDBOX ในไทย https://positioningmag.com/1304782 Mon, 02 Nov 2020 04:00:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1304782

โลกเรากำลังจะก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี 5G อย่างเต็มรูปแบบในเร็วๆ นี้ ว่ากันว่าด้วยความเร็วของ 5G นั้น จะเข้ามาเปลี่ยนเเปลงไลฟ์สไตล์และการเป็นอยู่ของเราอย่างมาก ดังนั้นการสร้างรากฐานที่มั่นคงเเละพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับ “สิ่งใหม่” จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

อีกความเคลื่อนไหวสำคัญในเเวดวง 5G ไทยช่วงนี้ คงหนีไม่พ้น การเปิดตัว โครงการ 5G x UAV SANDBOX WANGCHAN VALLEY ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพันธมิตร นำเสนอมิติใหม่แห่งเทคโนโลยี 5G มาเพิ่มขีดความสามารถการใช้งาน “โดรน”  เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เปิดโอกาสให้ผู้สนใจร่วมทดสอบเพื่อการวิจัยเป็นแห่งแรกของไทย พร้อมรับสิทธิพิเศษในการพัฒนาธุรกิจระยะยาว…เหล่านี้ ดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศไม่น้อย

วันนี้เราจะมารู้จัก “วังจันทร์วัลเลย์” ภารกิจพัฒนาเมืองนวัตกรรม Smart City  กับการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม นำไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

ผ่านมุมมองของ “เเม่ทัพ Innovation” ของ ปตท. อย่าง “วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต” ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ถึงความท้าทาย เป้าหมายเเละก้าวต่อไปของ “วังจันทร์วัลเลย์” ที่กำลังจะก้าวสู่การเป็น Smart City ของไทยเเบบ 100%

@รู้จัก “วังจันทร์วัลเลย์” 

 “ผมคิดว่า…ทุกประเทศสามารถมี Smart City ได้”

วิทวัส เล่าย้อนไปถึงการบุกเบิก “วังจันทร์วัลเลย์” สู่การเป็น Smart City ให้ฟังว่า แต่เดิมพื้นที่ตรงนั้นเป็นที่ดินของ IRPC หรือบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมาทาง IRPC ดำเนินการขายพื้นที่แปลงนี้ให้กับ ปตท. จนกลายมาเป็น VISTEC (สถาบันวิทยสิริเมธี), KVIS (โรงเรียนกำเนิดวิทย์) และมีสถาบันปลูกป่าเกิดขึ้น โดยใช้เนื้อที่ไปประมาณ 900 ไร่

เเต่ด้วยความกว้างใหญ่ของพื้นที่ที่มีอยู่ถึง 3,500 ไร่ ณ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง จึงเกิดคำถามว่า…ส่วนที่เหลือจะทำอะไรต่อดี ?

จากความเห็นของ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการบริษัท ปตท. ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มองว่า “ควรจะมีพื้นที่สำหรับพัฒนานวัตกรรมให้กับประเทศ”  ประกอบกับช่วงนั้นรัฐบาลประกาศ EEC (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) พอดี เป็นโอกาสที่จะผลักดัน Smart City

จากนั้น จึงได้มีการเริ่มคุยกับทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม) และ สวทช.ว่าควรจะทำพื้นที่ดังกล่าวให้กลายเป็นพื้นที่ทำนวัตกรรมของ EEC จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อว่า EECi (Eastern Economic Corridor of Innovation)  “มุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ให้เป็นเหมือนกับซิลิคอนวัลเลย์ของอเมริกา”

หลังจากเริ่มบุกเบิกมาตั้งเเต่ปี 2559 ตอนนี้ ต้องบอกว่า “วังจันทร์วัลเลย์” เข้าใกล้ความเป็น Smart City อย่างเต็มรูปแบบ โดย Smart City มีทั้งหมด 7 ด้าน ตอนนี้ปตท.ทำได้ 6 ด้านแล้ว ส่วนอีกหนึ่งด้านกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

วิทวัส อธิบายต่อว่า ถ้าพูดถึงความเป็น Smart City ของพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ถือว่า “งานเราสำเร็จแล้ว” แต่ก็ยังต้องทำเพิ่มไปเรื่อยๆ เพราะยุคนี้เทคโนโลยีเดินหน้าอยู่ตลอดเวลาและเปลี่ยนแปลงเร็ว จึงต้องมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

 “อะไรที่มันล้าหลังแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่ ดังนั้นเมื่อถามถึงความเป็น Smart City จึงไม่ใช่ว่าพอทำได้สำเร็จ เสร็จสิ้นแล้วจะหยุดอยู่แค่นั้น แต่เราต้องเดินหน้าต่อ ตามต่อ และต้องคงความเป็น Smart City ไว้ตลอดเวลา”

@บิ๊กมูฟ 5G x UAV SANDBOX เเห่งเเรกในไทย

ในระยะแรก EECi จะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคุณภาพ เช่น เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ทดสอบแบตเตอรีประสิทธิภาพสูง ทั้งขนาดที่ไม่ใหญ่นักสำหรับการใช้งานใน AGV UAV/Drone แบตเตอรีขนาดกลาง สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถรางไฟฟ้า ไปจนกระทั่งระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่

ขณะที่โรงงานต้นแบบในการผลิตแบตเตอรีและการพัฒนาการใช้งานแบตเตอรีในรูปแบบใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้งานเพื่อการป้องการประเทศ (Dual use) รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและระบบการควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ก็จะมีการดำเนินการในพื้นที่ EECi ด้วย

ดังนั้น เพื่อเป็นการ “สานต่อ” พัฒนาธุรกิจให้สอดรับกับการเทคโนโลยีที่ทำมาเเล้วมากมาย นำมาสู่โครงการ 5G x UAV SANDBOX WANGCHAN VALLEY พัฒนาที่ดินบางส่วนของวังจันทร์วัลเลย์ให้เป็น “พื้นที่ต้นแบบ” เพื่อการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ (UAV Regulatory Sandbox) โดยใช้ประสิทธิภาพของสัญญาณ 5G

ปตท. ไม่ได้ฉายเดี่ยวเพราะ “บิ๊กมูฟ” การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน อย่าง CAAT (สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย) ซึ่งสนับสนุนให้พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์สามารถบินโดรนเพื่อการทดลองและทดสอบได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และช่วยให้การอนุญาตปฏิบัติแตกต่างจากเงื่อนไขที่กำหนด

ด้าน กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ได้เข้ามาช่วยบริหารและจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สนับสนุนการทดสอบ 5G ในพื้นที่ เพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์

ขณะที่ สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะผู้บริหารจัดการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ก็ให้การสนับสนุนด้านการดำเนินการ UAV Sandbox ได้อย่างสะดวกและประสบความสำเร็จ ขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี ทักษะ ความรู้ด้านการบินโดรนแก่กลุ่มเป้าหมายที่สนใจ

อีกทั้งยังมี บรรดาบริษัทเครือข่ายสัญญาณเจ้าใหญ่ของไทย อย่าง “AIS” ที่ทำงานร่วมกับ VISTEC ในการทดสอบและพัฒนาโดรนวิศวกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการบำรุงรักษาสินทรัพย์

ขณะที่ “True”  ได้เข้ามาช่วยในด้านการทดสอบและพัฒนาโดรนลาดตระเวนติดกล้องที่ควบคุมและเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ ผ่านเครือข่ายอัจฉริยะ True5G เพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยของพื้นที่

ส่วน “DTAC” ร่วมพัฒนาการทดสอบสู่กล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ 5G สำหรับควบคุมจากทางไกลและถ่ายทอดข้อมูลความละเอียดสูง ให้การสั่งการรวดเร็วและภาพที่คมชัดเเบบเรียลไทม์

“ยิ่งมี 5G ที่พร้อมมากเท่าไหร่ ยิ่งช่วยให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยลดการดีเลย์ รวมถึงบริษัทต่างประเทศที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศเรา ในพื้นที่ EECi หากเขาเห็นว่าเรามี 5G นั่นหมายความว่าเราทันสมัย นวัตกรรมเเละเครื่องมื่อต่างๆ ที่เขานำเข้ามาก็จะช่วยต่อยอดเทคโนโลยีไทย ผู้ที่สนใจอยากเข้ามาลงทุนจะเชื่อมั่นว่า เมื่อมาร่วมลงทุนแล้ว ไทยจะมีพื้นที่ที่มีเทคโนโลยีรองรับ ซึ่งที่วังจันทร์วัลเลย์เราได้เตรียมความพร้อมในด้านนี้ไว้อย่างครบครันและดีที่สุดแล้ว”

 อย่างไรก็ตาม เขามองว่าเรื่องของ 5G SANDBOX มันเป็นแค่ “เรื่องวันนี้” เพราะเป้าหมายต่อไปคือการพัฒนาพื้นที่ “วังจันทร์วัลเลย์” ให้เป็น SANDBOX ในทุกๆ อย่าง เป็นไปได้ในทุกๆ เรื่อง

“ผมว่าโครงการ 5G x UAV SANDBOX WANGCHAN VALLEY มันมีพลังในการเชื้อเชิญนักลงทุนในตัวเองอยู่แล้ว เพราะเป็นพื้นที่เดียวที่ทั้ง สวทช., กสทช. และ CAAT มารวมอยู่ในที่แห่งนี้ เมื่อนักลงทุนได้เห็น ก็ต้องมีความสนใจแน่นอน”

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิพิเศษจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในการพัฒนาธุรกิจใน ระยะยาว ได้แก่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี, ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ, ภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ร้อยละ 17 ซึ่งต่ำที่สุดในเอเชีย, สมาร์ทวีซ่าสำหรับผู้เชี่ยวชาญและครอบครัว, พื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบในการทำนวัตกรรม (Regulatory Sandbox) และศูนย์บริการด้านการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน

@จงไปต่อ…กับการสร้าง New S-Curve ใหม่

 ความท้าทายของการสร้าง “New S-Curve” ใหม่ จากเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป เป็นความท้าทายขององค์กรเก่าเเก่ที่ประสบความสำเร็จเเล้วอย่าง “ปตท.” ไม่น้อย จากบริษัทที่ทำ Oil & Gas มาโดยตลอดหลายทศวรรษ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปเป็นยุค 5G มีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า การถูก “Disrupt” ครั้งนี้ ก่อให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ออกมา

วิทวัส อธิบายว่า S-Curve กับ New S-Curve มีความหมายต่างกัน ที่ผ่านมาปตท.มีการทำ S-Curve ใหม่อยู่เสมอ เช่น การออกน้ำมันชนิดใหม่ขึ้นมา นั้นคือการต่อยอดของ S-Curve เดิม เเต่การทำ New S-Curve คือการพลิกไปทำธุรกิจอื่นไปเลย

“นี่เป็นที่มาของการตั้งตำแหน่ง CTO (Chief Technology Officer) ขึ้นมา เพื่อที่จะหา New S-Curve ใหม่ให้องค์กรเป็นหลัก ผมพูดได้เลยว่าหายากมาก แต่ผมก็ไม่หยุด และมีอะไรหลายๆ อย่างที่พอจะเริ่มเห็นแสงบ้างแล้ว” นับเป็นภารกิจที่มี “ความท้าทายสูงมาก” CTO ของปตท. บอกถึงความมุ่งมั่นว่า “การพูดถึงสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จักให้คนเข้าใจ ต้องใช้ความอดทนสูง ต้องมีเเรงบันดาลใจที่จะทำ บางทีสิ่งที่เสนอไปอาจจะไม่ได้รับการยอมรับในครั้งเเรก เเต่จงทำต่อไป และต้องไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค”

ด้านการทำงานในองค์กรที่มีการผสม “หลายเจเนอเรชั่น” เขามองว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ “การเปิดใจ” โดยฝั่งผู้ใหญ่ต้องรับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ ไม่ทำให้พวกเขาเสียกำลังใจตั้งเเต่ยังไม่เริ่ม ให้คนรุ่นใหม่ได้มีทิศทางพัฒนาความคิดของตนเองต่อไป ส่วนคนรุ่นใหม่เองก็ต้องมีความตั้งใจจริง เลือกที่จะทำอะไรก็ต้องทำต่อไปให้ถึงที่สุด “ล้มเเล้วลุกให้ได้”

]]>
1304782