Nio – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 19 Dec 2023 12:31:39 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Tesla มีหนาว! ‘Nio’ ได้เงินลงทุนอัดฉีดเพิ่มอีก 2.2 พันล้านเหรียญ จากกองทุน CYVN Holdings ของ UAE https://positioningmag.com/1456363 Tue, 19 Dec 2023 08:42:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1456363 การแข่งขันในตลาด รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี น่าจะยิ่งดุเดือดขึ้น เพราะล่าสุด Nio ค่ายรถอีวีที่มียอดขายติด Top 5 ของจีน ได้เงินทุนเพิ่มเติมจากกองทุนใน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเสริมสายป่านให้ยาวยิ่งขึ้น

Nio ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีน (EV) ได้รับเงินลงทุนเพิ่มอีก 2.2 พันล้านดอลลาร์ จาก CYVN Holdings กองทุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทมีสายป่านที่ยาวขึ้น เพื่อใช้ในการแข่งขันในตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ย้อนไปในไปในช่วงเดือนกรกฎาคม กลุ่มทุนดังกล่าวได้ลงทุนมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ใน Nio ทำให้ตอนนี้ CYVN Holdings บริษัทถือหุ้นจำนวน 20% ใน Nio ทำให้ CYVN จะสามารถเสนอชื่อกรรมการสองคนให้เป็นคณะกรรมการของ Nio ได้ 

“ด้วยงบลงทุนที่เราได้รับ จะยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งแบรนด์ เพิ่มความสามารถในการขายและการบริการ รวมถึงการลงทุนระยะยาวในเทคโนโลยีหลักต่อสู้กับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น” William Bin Li ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Nio กล่าว

Nio ก่อตั้งในปี 2014 โดยหลายคนมองว่าเป็นคู่แข่งของ BYD และ Tesla ในการแข่งขันแสนดุเดือดของจีน โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา Nio มียอดขายสูงเป็นอันดับ 5 ของตลาด แต่ในช่วงสงครามราคาปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มโดย Tesla ทำให้ Nio เองก็ต้องดัมพ์ราคาลงมาเพื่อแข่งขันเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่า Nio จะได้รับประโยชน์จากการลงทุนครั้งใหม่นี้ เนื่องจากที่ผ่านมา บริษัทค่อนข้างขยายตัวค่อนน้อย เพราะต้องทำหลายสิ่งหลายอย่างพร้อมกัน เช่น เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ขยายโครงสร้างพื้นฐานในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ และสร้างโชว์รูมทั่วประเทศจีน ยิ่งไปกว่านั้น Nio กำลังพยายามที่จะก้าวไปสู่ระดับโลก นั่นต้องใช้เงินทุนมากกว่ายอดขายที่จะสามารถรองรับได้

สำหรับสงครามราคา เริ่มต้นจาก Tesla ที่ลดราคารถในตลาดจีนครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2022 ซึ่งจีนถือเป็นตลาดอีวีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยหลังจากที่สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่งอย่าง BYD บริษัทได้ลดราคารถยนต์ที่ผลิตในจีนหลายครั้งในปีนี้ต่อเนื่อง 

จากการลดราคา ส่งผลให้ Tesla รายงานผลกำไรที่ลดลงในไตรมาสสาม ซึ่งนักวิเคราะห์อ้างว่าเป็นการลดราคาที่ส่งผลต่ออัตรากำไร แม้ว่าบริษัทจะยืนยันว่าประสบความสำเร็จในการลดต้นทุนของรถแต่ละคันแล้วก็ตาม

Source

]]>
1456363
“Nio” สตาร์ทอัพรถจีนเทียบเชิญ “Mercedes-Benz” ร่วมลงทุน เสนอแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี “รถอีวี” https://positioningmag.com/1446066 Thu, 28 Sep 2023 12:34:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1446066 ลือหึ่ง! “Nio” สตาร์ทอัพรถจีนกำลังเชิญชวนให้ “Mercedes-Benz” เข้ามาลงทุน เพื่อต่อสายป่านเงินทุน แลกกับการเปิดข้อมูลเทคโนโลยี “รถอีวี” แลกเปลี่ยนให้กับยักษ์รถยนต์เยอรมัน

Reuters รายงานข้อมูลจากแหล่งข่าววงในรายหนึ่งว่า William Li ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Nio ได้เข้าพบและพูดคุยกับ Ola Kaellenius ซีอีโอ Mercedes ถึงความเป็นไปได้ที่ Mercedes จะมาร่วมลงทุนกับ Nio โดยฝ่ายบริษัทจีนเสนอจะแบ่งปันข้อมูลการวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ากับทางค่ายเยอรมันเป็นการแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ แหล่งข่าวแจ้งว่าการเจรจายังไม่ถึงจุดที่ลงรายละเอียดการถ่ายโอนเทคโนโลยีและเม็ดเงินการลงทุนระหว่างกัน

แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งกล่าวว่า ฝ่าย Nio เป็นผู้ยื่นข้อเสนอให้กับ Mercedes เอง แต่ก็มีความกังวลอยู่ว่าทางฝั่งเยอรมันจะมีแรงต่อต้านจากภายในบริษัท เป็นไปได้ว่าฝั่งเยอรมันอาจจะไม่รับข้อเสนอ

ยังไม่แน่ชัดว่าการตัดสินใจของการร่วมทุนครั้งนี้จะสัมฤทธิ์ผลเมื่อใด

อย่างไรก็ตาม จากการติดต่ออย่างเป็นทางการโดย Reuters บริษัท Nio ปฏิเสธว่าไม่ได้มีการติดต่อเรื่องร่วมทุนกับ Mercedes แจ้งเพียงว่า “ไม่เป็นความจริง” ขณะที่ฝั่ง Mercedes ตอบกลับเช่นกันว่าไม่ได้มีแผนการร่วมงานกับ Nio ในตอนนี้

ข่าวเรื่องการเจรจาเพื่อหาทางร่วมทุนกันระหว่าง Nio กับ Mercedes ถือเป็นภาพหนึ่งในเทรนด์ปัจจุบันของวงการรถยนต์ โดยค่ายรถยนต์กลุ่มสตาร์ทอัพในฝั่งจีนจะพยายามหาการร่วมทุนจากค่ายรถยนต์ดั้งเดิม โดยยื่นข้อเสนอเรื่องนวัตกรรมที่พวกเขามี แลกกับเงินลงทุนเพื่อต่อสายป่านให้ยาวขึ้น ใช้ในการต่อสู้กับการแข่งขันในจีนที่สูงมาก รวมถึงค่ายรถจีนจะได้ประโยชน์ในการทะลวงกำแพงทางการค้าของฝั่งตะวันตกได้ง่ายขึ้นด้วย

ขณะที่ฝั่งค่ายรถดั้งเดิมก็ต้องหาทางตามให้ทันเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า เพราะต้องแข่งขันกับ Tesla ที่เป็นเจ้าตลาดฝี่งตะวันตก และกับแบรนด์รถอีวีจีนเองที่กำลังเร่งเข้าสู่ตลาดโลกอยู่ขณะนี้

ในเทรนด์การรวมตัวเพื่อต่อสู้ในลักษณะนี้ Volkswagen คือเจ้าแรกที่เริ่มเดินหน้าก่อน โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทเซ็นสัญญากับ Xpeng เพื่อร่วมพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่สำหรับตลาดจีนโดยเฉพาะ วางกรอบไว้ว่าจะเป็นการพัฒนารถอีวีขนาดกลาง 2 รุ่น ภายใต้แบรนด์ Volkswagen คาดจะออกจำหน่ายปี 2026

สำหรับ Nio บริษัทที่มียอดขายเป็นอันดับ 9 ในตลาดรถจีน เป็นสตาร์ทอัพที่มีแบ็กอัพนักลงทุนรายใหญ่คือ Tencent Holdings ยักษ์ไอทีจีน ปัจจุบันบริษัทนี้ยังไม่เคยมีดีลร่วมงานกับแบรนด์รถยนต์ดั้งเดิมเลย และพวกเขาเปิดเผยชัดเจนว่าต้องการจะมีดีลลักษณะนี้อย่างยิ่ง

“(แบรนด์รถยนต์ดั้งเดิม) พวกเขาประสบความสำเร็จมากเสียจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็วในโลกของการพัฒนารถอีวี นี่เป็นความท้าทายของซีอีโอคนใดก็ตามที่ต้องมาบริหารบริษัทซึ่งมีพนักงานหลายแสนคน” William Li ผู้ก่อตั้ง Nio กล่าวกับผู้สื่อข่าวในงานอีเวนต์หนึ่งในเดือนกันยายนนี้เอง ในงานนั้น Nio เข้าไปจัดแสดงเทคโนโลยีแบตเตอรี ชิปเซ็ต ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ และการผลิตอัจฉริยะที่บริษัทคิดค้นขึ้นเอง

“แทนที่จะลงทุนเงินและเวลาด้วยตนเอง ไม่ดีกว่าหรือถ้าจะมาพาร์ทเนอร์กับสตาร์ทอัพรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้เกิดประโยชน์แบบ วินวิน” Li กล่าว

Source

]]>
1446066
รถจีน “Nio” บุกตลาด “ยุโรป” ผ่านเครือข่าย “สถานีสลับแบตฯ” ที่ลงทุนร่วมกับ Shell https://positioningmag.com/1394543 Mon, 01 Aug 2022 09:31:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1394543 Nio (นิโอ) รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน เตรียมเปิดโรงงานในต่างประเทศเป็นแห่งแรก โดยโรงงานดังกล่าวไม่ได้ผลิตรถยนต์แต่ผลิต “สถานีสลับแบตฯ” เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ขายรถอีวีใน “ยุโรป” ผ่านการใช้แต้มต่อของเครือข่ายสถานีสลับแบตเตอรี่ที่ร่วมทุนกับ Shell

บริษัท Nio ประกาศความคืบหน้าการลงทุนใน “ยุโรป” จะเปิดเดินเครื่องโรงงานในฮังการีเดือนกันยายน 2022 โดยเป็นโรงงานผลิตสินค้ากลุ่มพลังงานเพื่อตลาดยุโรปโดยเฉพาะ และจะช่วยในการเร่งเครื่องการเติบโตต่างประเทศของบริษัท

สินค้ากลุ่มพลังงานที่จะผลิตในโรงงานแห่งนี้ อาทิ สถานีสลับแบตเตอรี่ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์การขายรถยนต์ไฟฟ้าในทวีปยุโรป หลังจากที่ Nio เริ่มบุกตลาดผ่านการนำเข้ารถยนต์มาตั้งแต่ปี 2021 มีประเทศสำคัญๆ ที่มุ่งเน้น เช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์

การขยายเครือข่ายสถานีสลับแบตเตอรี่นี้ Nio ไม่ได้ลุยด้วยตัวคนเดียว แต่มีการร่วมทุนกับ Shell ยักษ์ใหญ่ธุรกิจน้ำมัน และเป็นการร่วมทุนเพื่อขยายเครือข่ายไปทั่วโลก เบื้องต้นต้องการจะขยาย 4,000 แห่งโดยเริ่มจากประเทศจีนและทวีปยุโรปก่อน ทั้งนี้ บริษัทแบ่งสัดส่วนการเปิดสถานี 75% ในจีน 25% นอกประเทศจีน

การเข้าตลาดยุโรปของ Nio นั้นเริ่มจากการนำเข้ารถรุ่น ES8 เข้าประเทศนอร์เวย์เมื่อปีก่อน และเริ่มเปิดโชว์รูมรถยนต์ที่กรุงออสโล โดยแบรนด์นี้ต้องการทำการตลาดผ่านการสร้างจุดขายด้าน “บริการหลังการขาย” เป็นหลัก มีการเปิดโชว์รูมกลางใจเมืองที่เข้าถึงได้ง่าย และเครือข่ายบริการดูแลแบตเตอรี่ที่ครอบคลุม

บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่จีนที่เข้าสู่ตลาดโลกไม่ได้มีแค่ Nio แต่ยังมีรถอีวีเจ้าอื่นๆ อีกมากที่กำลังขอเข้าไปมีส่วนแบ่งกับตลาดที่กำลังเติบโตนี้

ตัวอย่างเช่น Gotion High Tech Co บริษัทผลิตแบตเตอรี่จีน มีการก่อสร้างโรงงานแบตฯ นอกประเทศไปแล้วที่เมืองกอทิงเกน เยอรมนี ซึ่งจะเริ่มผลิตจริงช่วงปลายปีนี้ พร้อมทั้งประกาศเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า บริษัทมีแผนจะลงทุนโรงงานแห่งที่ 3 นอกประเทศจีนภายในปี 2025 รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าจีนสารพัดยี่ห้อ เช่น BYD, Xpeng, GWM ต่างก็เริ่มส่งออกไปหลายประเทศแล้ว

Reuters

]]>
1394543
“William Li” เตรียมพา NIO บุกนอร์เวย์ พารถยนต์ไฟฟ้าจีนพรีเมียมแซง Tesla https://positioningmag.com/1337847 Sat, 19 Jun 2021 20:09:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1337847 “Li Bin” หรือที่โลกรู้จักกันในนามวิลเลียม ลี่” (William Li) นั้นเป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอของสตาร์ทอัพผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสัญชาติจีนชื่อ NIO ข่าวใหญ่ที่สุดในรอบปีที่ทำให้มหาเศรษฐีจีนรายนี้ถูกจับตามองคือราคาเฉลี่ยของรถยนต์ NIO นั้นแซงหน้าราคาเฉลี่ยของรถรุ่นพี่ทั้ง Tesla, BMW และ Audi ไปเรียบร้อย และสามารถนับเป็นแบรนด์รถยนต์ระดับไฮเอนด์ได้ในที่สุด

ลี่ประกาศเรื่องนี้บนเวทีการประชุมสุดยอดผู้ประกอบการดาวรุ่งจีนครั้งที่ 4 เมื่อปลายพฤษภาคม 64 โดยบอกว่า NIO วางจุดยืนเป็นผู้ผลิตรถยนต์ระดับพรีเมียม และโพสิชั่นตัวเองให้เป็นกลุ่มนิชในเซ็กเมนต์ EV สิ่งที่เกิดขึ้นคือ NIO สามารถส่งมอบรถยนต์จำนวน 102,803 คันในช่วงระยะเวลา 3 ปี ราคาขายเฉลี่ยของรถของบริษัทอยู่ที่ 434,700 หยวน หรือประมาณ 2.1 ล้านบาท

ราคานี้สูงกว่าราคาเฉลี่ยของผู้ผลิตรถยนต์หรูหราที่โลกคุ้นตา เช่น BMW และ Audi ขณะเดียวกันก็มีมูลค่ามากกว่าราคาเฉลี่ยของรถยนต์ Tesla นับแสนหยวน แถมลี่ยังชี้ให้เห็นถึงกลุ่มลูกค้าผู้ซื้อรถ NIO ที่มีอายุเฉลี่ย 37.2 ปี เป็นสัญญาณว่าแบรนด์สามารถเข้าถึงผู้ที่อายุน้อยกว่าแบรนด์อื่นที่อยู่ในระดับเดียวกัน

เหตุที่ทำให้ประเด็นนี้สำคัญ คือนักลงทุนมักจะสบายใจเมื่อได้เห็นบริษัทใดก็ตามมีพื้นที่ยืนอยู่ในระดับไฮเอนด์ สำหรับกรณีของ NIO บริษัทสามารถเรียกความเชื่อมั่นได้อีกครั้งหลังจากที่บริษัทเติบโต ดิ่งเหว แล้วกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยช่วงปี 62 ดาวรุ่งอย่าง NIO นั้นเกือบเข้าข่ายหมดเนื้อหมดตัว แต่วันนี้กลับมีมูลค่าตลาดสูงกว่ายักษ์ใหญ่เก่าแก่อย่าง General Motors ขณะเดียวกันก็สามารถรักษาช่องว่าง และส่วนต่างของราคาได้โดยที่จุดยืนพรีเมียมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อยอดขาย เห็นได้ชัดจากการเติบโตของการส่งมอบรถที่เพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลักเมื่อเทียบปีต่อปี

ขยายไปนอร์เวย์

ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ลี่ก้าวขึ้นไปบนเวทีงานใหญ่ที่เซี่ยงไฮ้ด้วยเสื้อยืดสีน้ำเงินเข้มที่พิมพ์คำ 2 คำ นั่นคือนอร์เวย์ 2021” งานวันนั้นเรียกความตื่นเต้นได้มากเพราะเป็นครั้งแรกที่ NIO จะให้รายละเอียดเรื่องแผนขยายอาณาจักรออกไปต่างประเทศ

เหตุที่ทุกอย่างมาลงตัวที่นอร์เวย์ คือนอร์เวย์เป็นประเทศแรกในโลกที่รถยนต์ไฟฟ้ามียอดขายแซงหน้ารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์แบบเดิม ทำสถิติ 77,000 คันโดยกินสัดส่วนเกือบ 55% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในปี 2563

การปักธงที่นอร์เวย์จะเป็นบันไดสู่การขยายตลาดยุโรป ซึ่งแซงหน้าจีนไปเมื่อปีที่แล้วในฐานะตลาด EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลังที่รัฐบาลจีนออกงบอุดหนุนเพื่อกระตุ้นการซื้อในช่วงการระบาดใหญ่ 

ผลคือตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นไป NIO เตรียมพร้อมจะเข้าสู่ตลาดยุโรปอีก 5 ประเทศหลังจากเริ่มส่งมอบรถยนต์ไปยังนอร์เวย์ในเดือนกันยายน 64 โดยวางแผนประเดิมตลาดด้วยรถเอสยูวี ES8 ในปีนี้ แล้วตามด้วยรถซีดาน ET7 ในปี 65 ก่อนจะเดินหน้าจัดตั้งระบบนิเวศที่สมบูรณ์ที่นอร์เวย์ ซึ่งจะครอบคลุมการพัฒนายานยนต์และการบริการเพื่อรวมแบรนด์เข้ากับไลฟ์สไตล์ชุมชน

ลี่วางหมากให้ NIO ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จ รวมถึงสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ 4 แห่งในนอร์เวย์ที่จะเชื่อมต่อ 5 เมืองใหญ่ภายในสิ้นปี 2565 จุดนี้ลี่ย้ำว่านอร์เวย์เป็นประเทศที่เป็นมิตรกับ EV มากที่สุด ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมเรื่องความรักในธรรมชาติและนวัตกรรมก็สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทในหลายด้าน การตัดสินใจให้นอร์เวย์เป็นจุดหมายปลายทางในต่างประเทศแห่งแรกของบริษัทจึงสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของบริษัท ขณะที่ฐานของผู้ซื้อในนอร์เวย์ค่อนข้างมั่งคั่ง และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก็จะยิ่งขับเคลื่อนการเติบโตของแบรนด์ขึ้นอีก

ลี่ยอมรับว่าตัวเองกำลังเผชิญกับความท้าทายในการขยายธุรกิจ แม้ว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่แล้วท่ามกลางการระบาดใหญ่ แต่แบรนด์ท้องถิ่นก็ยังมีภาษีมากกว่า ในไตรมาสแรก Volkswagen ของเยอรมนีเป็นแบรนด์ EV ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยคิดเป็น 21% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ายุโรป ขณะที่ Tesla ซึ่งเคยครองตลาด 1 ใน 3 ในปลายปี 2562 ก็สูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปเช่นกัน

แม้ว่าการเจาะตลาดใหม่ที่อยู่ไกลบ้านนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ซีอีโอคนเก่งแสดงความมั่นใจในแผนงานของบริษัทที่เติบโตได้ดี โดยระบุว่าจีนเป็นตลาด EV ที่มีการแข่งขันสูงที่สุดในโลกอยู่แล้ว ดังนั้นถ้า NIO สามารถทำได้ในประเทศจีน ก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่สามารถทำในพื้นที่อื่นได้

ลุกแล้วล้ม ล้มแล้วลุก

ความมั่นใจถือเป็นจุดเด่นมากในตัวลี่ ที่ผ่านมา ซีอีโอวัย 46 ปีรายนี้ได้รับฉายาว่าเป็นอีลอน มัสก์ (Elon Musk) แห่งประเทศจีน ตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา บริษัทของลี่ได้เปลี่ยนจากสตาร์ทอัปมาเป็นธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของจีน สถิติการส่งมอบรถที่เติบโตสามารถนำ NIO กลับมาจากการล้มละลายในช่วงปลายปี 62 ได้อย่างตื่นตา

เวลานั้น NIO พบปัญหาผู้บริหารลาออก ต้องเรียกคืนรถที่วางจำหน่ายไปแล้ว และการชะงักของเงินอุดหนุนจากรัฐบาลที่ล้วนทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งหมดนี้ลี่เรียกว่า สุดยอดบททดสอบความเครียดซึ่งเป็นวิกฤตที่ทำให้บริษัทมืดมนของจริง

ลี่เคยให้สัมภาษณ์ว่าปัญหาครั้งนั้นของบริษัทเริ่มต้นขึ้นตามสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีการขัดขวางไม่ให้การระดมทุนในตลาดหุ้นอเมริกันเป็นไปอย่างที่วางแผนไว้ หลังจากการเปิด IPO ครั้งแรกของ NIO ในปี 2018 ที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก บริษัทจึงระดมทุนได้เพียงครึ่งหนึ่งของงบใหญ่ 2 พันล้านดอลลาร์ที่คาดหวังไว้ในช่วงแรก ซึ่งทำให้แผนการเงินของบริษัทยุ่งเหยิง

การเรียกคืนแบตเตอรี่ที่มีต้นทุนสูง ยิ่งทำให้การเงินของ NIO ตึงเครียดยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการชะลอตัวของตลาดรถยนต์จีนในช่วงที่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าลดลง 4% ในปี 62 การโบกมือลาของผู้บริหารระดับสูงจึงตามมา ขณะที่ NIO ในเซี่ยงไฮ้ลดจำนวนพนักงานทั่วโลกลง 1 ใน 4 จนเหลือพนักงานน้อยกว่า 7,500 คน ซึ่งรวมถึงการยุบหน่วยงานที่สำนักงานในอเมริกา 

ช่วงที่ NIO กลับมาได้ คือปลายปี 62 จุดนี้ลี่ยอมรับว่า NIO มีข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งที่บริษัทสตาร์ทอัปรายอื่นไม่มี นั่นคือการขายรถยนต์นั้นทำให้มีกระแสเงินสดเติมเข้ามารวดเร็วมาก โดยมียอดส่งมอบรถยนต์ประมาณ 8,000 คันในไตรมาสที่ 4 ของปี 62 ทำให้กระแสเงินสดกว่า 400 ล้านดอลลาร์ไหลเข้ามาในบริษัท

นั่นเป็นส่วนสำคัญมากสำหรับเรา เพราะ จุดนั้น เราไม่มีช่องทางทางการเงินอื่น

ถึงวันนี้ NIO ส่งมอบรถยนต์ 20,060 คันในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากปีก่อนหน้าแม้ความต้องการในตลาดจะถูกระงับเพราะโควิด-19 ยอดขายของบริษัทเติบโตมากกว่า 490% ในช่วงเวลานั้น แตะระดับ 7.4 พันล้านหยวน และขาดทุนสุทธิลดลงเหลือ 451 ล้านหยวน

ทั้งหมดนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของชายหนุ่มที่ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัประดับโลกตั้งแต่เริ่มต้นด้วยการจ้างนักออกแบบและวิศวกรในลอนดอนและแคลิฟอร์เนียภายในหนึ่งปี จนกระทั่ง Tencent ยื่นมือเข้ามาเป็นเจ้าของหุ้น 10% ใน NIO ก่อนจะผ่านการเปลี่ยนแปลงและการระดมทุนหลายพันล้านดอลลาร์จากกลุ่มทุนของ Baillie Gifford, BlackRock, Sequoia China และ Temasek 

คาดกันว่า NIO จะขาดทุนติดตัวแดงนาน 3 ปีเท่านั้น ซึ่งลี่ย้ำว่าตั้งใจแน่วแน่ที่จะไล่ตามเส้นทางที่วางเอาไว้.

ที่มา

อ่านข่าวต่อเนื่อง >> https://positioningmag.com/1299306

]]>
1337847
“วิลเลี่ยม หลี่” เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า Nio มหาเศรษฐีฉายา “อีลอน มัสก์” สัญชาติจีน https://positioningmag.com/1299306 Fri, 02 Oct 2020 14:15:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1299306 เกิดในฟาร์มโคนม แต่โตมาเป็นซีอีโอของยนตรกรรมไฟฟ้าสุดล้ำ นิโอ (Nio) ก็ได้ด้วย ซึ่งจากผลงานความล้ำสมัยนี่เอง ทำให้ วิลเลี่ยม หลี่ หรือ หลี่ปิน มหาเศรษฐีชาวจีน คว้าฉายา “อีลอน มัสก์” สัญชาติจีนมาครอง

หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง หลี่ปิน ก็ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพด้านไอทีของตัวเองขึ้นมาตอนอายุ 21 เช่นเดียวกับ อีลอน มัสก์ นายใหญ่ Tesla ทำการลงทุนในธุรกิจไอที และรถยนต์ตั้งแต่เริ่มต้น

กว่าจะถึงปัจจุบันที่วัย 45 ปี หลี่ปิน ก็ลงทุนในอุตสาหกรรมไอที และรถยนต์ไปแล้วกว่า 40 บริษัท รวมทั้ง Nio โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

คาดว่า “อีลอน มัสก์” แห่งเซี่ยงไฮ้ ร่ำรวยราวๆ 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลำพังเฉพาะ Nio บริษัทเดียวก็สร้างรายได้มากกว่าครึ่ง

หลี่ปิน ก่อตั้งบริษัท Nio ขึ้นในปี 2014 ก่อนที่จะเปิดตัวรถ SUV ระบบไฟฟ้าให้สั่งจองได้เป็นคันแรกในปี 2017 ผ่านรูปแบบคราวด์ฟันดิ้ง ได้เงินทุนไปถึง 2,100 ล้านดอลลาร์ และสามารถเปิดตัวผลิตในระบบอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นทางการในปีต่อมา

ไม่แปลกเลยที่ Nio มักจะได้รับการขนานนามว่าเป็น เทสลาแห่งจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยยอดขายที่พุ่งพรวดอย่างรวดเร็ว โดยในเดือนสิงหาคม ปีที่ผ่านมา ทำลายสถิติการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าได้ถึง 3,965 คันในเดือนเดียว เมื่อรวมทั้งปีมีอัตราการขยายตัวของยอดขาย 104.1%

Photo : Shutterstock

ถึงจะเป็นลูกชายของเจ้าของฟาร์มเล็กๆ ในมณฑลอานฮุย แต่บิดาของหลี่ปินเป็นคนทันสมัย เขามองการณ์ไกลตั้งแต่แรก ด้วยการเก็บเงินสำหรับเป็นทุนการศึกษาของลูกชายตั้งแต่เด็ก ขณะที่หลี่ปินก็สนับสนุนปณิธานของผู้เป็นพ่อ ด้วยการเรียนไปทำงานไป จนในที่สุดก็จบการศึกษาเอกสังคมวิทยา โทกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง

หลี่ปินเปิดบริษัทสตาร์ทอัพด้านอินเทอร์เน็ตบริษัทแรกขึ้นในปี 1996 กระทั่งอีก 4 ปีต่อมา ก็เปิดบริษัททำเว็บข่าวการตลาดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ขึ้นมา

การได้คลุกคลีกับบริษัทรถยนต์ ได้สัมภาษณ์ผู้บริการระดับสูงของค่ายรถยนต์ชั้นนำ ทำให้เขาเข้าใจตลาดรถยนต์อย่างทะลุปรุโปร่ง เว็บของเขาได้การยอมรับอย่างกว้างขวาง จนทำให้หลี่ปินกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการรถยนต์ไปโดยปริยาย เขาทำเว็บไซต์นี้อยู่ 13 ปี ก่อนจะขายออกไปในปี 2013 แล้วเริ่มนำเงินไปลงทุนในอุตสาหกรรมรถจริงจัง โดยเริ่มจากการก่อตั้ง โมไบค์ ผู้บุกเบิกแพลตฟอร์มจักรยานสาธารณะ ก่อนจะเปิดบริษัท Nio ในปีต่อมา

หลี่ปิน บอกว่า แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ยนตรกรรมไฟฟ้า มาจากการเห็นความสำเร็จของ เสี่ยวหมี่ บริษัทไอทีของจีนที่ได้การยอมรับไปทั่วโลก โดยโมเดลแรกของ Nio เป็นรถยนต์สปอร์ต 2 ประตู Nio EP9 เปิดตัวที่ซาตชิ แกลเลอรี ในกรุงลอนดอน ปี 2016 ขายให้นักลงทุนกลุ่มแรก 6 คันมูลค่ารวม 3.2 ล้านดอลลาร์

Nio เพิ่งออกมาประกาศเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ว่าสามารถระดมทุน (Crowdfunding) ได้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ซึ่งช่วยลดค่าใช่จ่ายสำหรับแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้าของพวกเขาลงได้ถึง 25%

Source

]]>
1299306