อุ่นใจ + ปลอดภัย

หาใช่ประเด็นของการกีดกัน กลั่นแกล้ง หรือเลยเถิดไปถึงชาตินิยมแต่อย่างใด หากด้วยข้อเท็จจริงใน ห้วงเวลาปัจจุบัน (ซึ่งขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ) ไม่ต่างอะไรไปจากเวอร์ชั่นอัพเกรดของยุค “ฉลาดซื้อและซื้ออย่างฉลาด” ที่จำต้องพ่วง “ซื้ออย่างเฉลียว” เข้าไปด้วย

เพราะสินค้าที่ถูกเรียกเก็บคืนจากอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่นนั้นเชื่อมั่นว่าไม่สูญหายไปไหนแต่เปลี่ยนทิศ แทรกซึมสู่ช่องทางที่ไม่ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดซึ่งประเทศไทยมีความน่าจะเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของสินค้าดังกล่าว

คนไทยอาจกลายเป็นดั่งแมงเม่านักช้อปติดกับดักในกองสินค้า “ราคาถูกเป็นพิเศษ” ที่แฝงอันตรายตั้งแต่ระดับความรุนแรงต่ำจนถึงอาการปางตายหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต

ทุกวันนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคในญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนไปสินค้าราคาถูกไม่ได้ต้องใจเหมือนก่อนแต่ในทางกลับกันยิ่งชวนให้เฉลียวใจคิดว่าเหตุใดจึงมีราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น

หากไม่แน่ใจก็สามารถตรวจสอบข้อมูลรวมทั้งร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข และหรือองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคได้โดยตรงนอกจากนี้ยังมีสื่อสารมวลชนทำหน้าที่ช่วยปกป้องสิทธิผู้บริโภคอีกแรงหนึ่ง

แนวโน้มในภาคธุรกิจนั้นผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่ยังมีจรรยาบรรณจำนวนไม่น้อยปรับกลยุทธ์หันมาแสดงความชัดเจนของที่มาสินค้าซึ่งนอกจากจะทำให้ยอดขายดีขึ้นแล้วยังช่วยให้ผู้บริโภคเลือกซื้อได้อย่างอุ่นใจและปลอดภัย (ดูบางตัวอย่างในภาพ)

ช่วยกันบอกต่อ เตือนสติตนเอง และคนรอบข้าง รวมทั้งเฝ้าระวังภัยใกล้ตัว และสร้าง Social Awareness ให้กับสังคมไทยซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข่าวที่ปรากฏในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องนั้นคงจะไม่เกิดกับประชาชนคนไทย