“กีฬา” เกมเดือดดิจิตอลทีวี ซดกันสนั่นจอ

กีฬาท่วมจอ ! รายการถ่ายทอดสดกีฬาสารพัด ทั้งฟุตบอล มวย วอลเลย์บอล กำลังกลายเป็นคอนเทนต์ที่ดิจิตอลทีวีซื้อลิขสิทธิ์มาออกอากาศ หวังให้เป็น “ทางด่วน” ปั๊มเรตติ้ง สร้างฐานคนดูในเวลาอันรวดเร็ว 

รายการกีฬาที่ช่องต่างๆ นำมาถ่ายทอดสดในช่วงค่ำของวันอาทิตย์ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งฟุตบอลไทยคิงส์คัพ นัดชิงชนะเลิศ ไทย-จอร์แดน ช่องไทยรัฐทีวี, วอลเลย์บอล มองเทรอซ์ มาสเตอร์ นัดชิงไทย-จีน ช่องทรูฟอร์ยู, ฟุตบอล Nation’s Cup รอบชิงชนะเลิศไทย-มาเลเซีย ช่องทีเอ็นเอ็น, ซูเปอร์มวยไทย คุนหลุน ไฟท์ บัวขาว VS หวังเว่ยเฮา ทางช่องเวิร์คพอยท์

กำลังเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่สะท้อนว่า ทีวีช่องต่างๆ ได้หันมาให้น้ำหนักกับรายการกีฬา เพราะมองว่านอกจากละคร ข่าวแล้ว ”กีฬา” ถือเป็น “คอนเทนต์” ระดับแม่เหล็ก ช่วยสร้างเรตติ้งและขยายฐานผู้ชมได้ในเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลให้ผังรายการของทีวีช่องต่างๆ ในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3 ช่อง 7 ทรูฟอร์ยู พีพีทีวี ไทยรัฐทีวี จึงบรรจุรายการกีฬาทั้งในและต่างประเทศเข้าไปแบบเต็มพิกัด

2_sport

ช่อง 3 นั้น ทุ่มซื้อลิขสิทธิ์กีฬา 2 รายการใหญ่ ฟุตบอลยูโร 2016 ถ่ายทอดสดแบบครบ 51 แมตช์ ออกอากาศทั้ง3 ช่องในมือ 33 HD, ช่อง 28 SD และช่อง 13 Family และถ่ายทอดสดการแข่งขันวอลเลย์บอล FIVB World Grand Prix Final Bangkok 2016  รอบชิงชนะเลิศ

ส่วนพีพีทีวีนั้น ใส่เกียร์เดินหน้า ทุ่มทุนซื้อลิขสิทธิ์รายการกีฬามาบรรจุรายการ “กีฬา” ไว้เต็มพิกัด ภายใต้สโลแกน “PPTV Premium Sport” หวังว่าจะฉุดเรตติ้งให้เพิ่มขึ้น

นอกจากซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ 3 ฤดูกาล ปี 2016-2019 จำนวน 26 แมตช์ จากบีอินสปอร์ตแล้ว พีพีทีวียังกวาดลิขสิทธิ์อีก 5 รายการฟุตบอล บุนเดสลีกา เยอรมัน, ลาลีกา สเปน, กัลโช่ เซเรียอา อิตาลี และยังยูฟ่า แชมเปี้ยนลีก และยูฟ่า ยูโรป้า ลีก รวมกับลิขสิทธิ์เดิม คือ ฟุตบอลสโมสรโลก FIFA Club World Cup และ ICC ทำให้พีพีทีวีมีรายการถ่ายทอดสดฟุตบอลทั้งหมดไว้ในมือถึง 4 ฟุตบอลลีก และ 4 ฟุตบอลถ้วยระดับโลก 8 รายการ รวมกว่า 200 แมตช์ต่อฤดูกาล

3_sport

ในขณะที่เวิร์คพอยท์เองก็ชิมลางด้วย “วอลเลย์บอล” มาช่วยให้เรตติ้งวิ่งแซงหน้าละครมาแล้ว

ส่วนค่ายทรูนั้น การมีทั้งเพย์ทีวี และฟรีทีวี ก็ทำให้ช่องทรูฟอร์ยูสามารถจัดหนักใช้กลยุทธ์ “ซินเนอยี” มาใช้ในการกว้านซื้อลิขสิทธิ์กีฬามาออกอากาศได้ต่อเนื่อง 

ทรูชี้ ค่าคอนเทนต์กีฬาพุ่ง 30%

พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าสายงานคอนเทนต์ และมีเดีย (มหาชน) และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด มองว่า นอกจากรายการ ละคร เกมโชว์ และรายการกีฬา เป็นเพียง 3 คอนเทนต์หลักของทีวี ที่สามารถดึงดูดผู้ชมได้สม่ำเสมอ และนั่นคือสาเหตุที่ทรูมุ่งมั่นในการนำลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาทั้งในและต่างประเทศหลายประเภท วอลเลย์บอล แบดมินตัน และฟุตบอล มาออกอากาศต่อเนื่อง

4_sport

เขายกตัวอย่าง ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก ที่ทรูคว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมาออกอากาศก็สามารถดึงดูดผู้ชมในช่องทรูฟอร์ยูได้สม่ำเสมอ และสามารถ “การันตี” จำนวนคนดูได้ด้วย เพราะมีแฟนติดตามดูประจำ และการที่ทรูมีทั้งเพย์ทีวี และฟรีทีวี ถือเป็นข้อได้เปรียบ ที่ทำให้ทรูมีโอกาสในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬามาออกอากาศได้มากกว่าช่องคู่แข่ง

“ช่องคู่แข่งขัน อาจจะซื้อลิขสิทธิ์มาได้ แต่ก็เป็นลักษณะอีเวนต์ชั่วคราวเท่านั้น เพราะการถ่ายทอดสดรายการกีฬา มวย ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก หรือฟุตบอลอิงลิชพรีเมียร์ลีก หรือ EPL ต้องมีจำนวนช่องมากพอถึงจะถ่ายทอดสดได้ และนั่นคือข้อดีของการที่ทรูมีซินเนอยีระหว่างเพย์ทีวี และฟรีทีวี”

แต่ด้วยการที่ช่องต่างๆ หันมาให้ความสนใจกับรายการกีฬา มีการแข่งขันแย่งชิงซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอด ส่งผลให้ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาในปี 2015 แพงขึ้นถึง 30%

สำหรับการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลอังกฤษ จากทางบีอินสปอร์ต ยังอยู่ระหว่างเจรจา เนื่องจากบีอินสปอร์ตได้ไปกว้านซื้อลิขสิทธิ์รายการฟุตบอลจากหลายประเทศในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นสเปน อิตาลี ฝรั่งเศส ยกเว้นเยอรมนี จึงต้องขายลิขสิทธิ์ แบบ “เหมารวม” และกลายเป็นดีลใหญ่รายละเอียดเยอะมากขึ้น ทรูเองจึงต้องพิจารณาอย่างหนัก ต้องคำนึงถึงเงินลงทุนกับรายได้ และผลตอบแทนที่ได้รับ รวมทั้งจุดยืนของช่อง มาประกอบการตัดสินใจ

พีรธน ยังบอกด้วยว่า ทรูได้ซื้อรายการกีฬาของปี 2017 2018 และปี 2020 ไว้แล้ว ต้องวางแผนล่วงหน้ากันหลายปี เพราะการซื้อลิขสิทธิ์รายการกีฬาไม่ใช่เรื่องของ “งบประมาณ” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องอาศัยทักษะในการเลือกซื้อ มีการประเมินกระแสความนิยม และนำมาออกอากาศในจังหวะที่เหมาะสม

เอเจนซีชี้สร้างเรตติ้งได้ชั่วคราว

กอบกาญจน์ ประจงแสงศรี กรรมการผู้จัดการ Invesment & Knowledge บริษัท ไอพีจี มีเดียแบรนด์ มองว่า การที่ทีวีหันมาถ่ายทอดสดรายการกีฬาเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นรายการที่ต้องดูถ่ายทอดสด จึงเพิ่มเรตติ้งและขยายฐานคนดูให้กับช่องได้ในเวลาอันรวดเร็ว

แต่ก็ต้องเป็นรายการกีฬาที่ได้รับความนิยมในหมู่คนดูจำนวนมาก เช่น ฟุตบอลโลก หรือวอลเลย์บอล ซึ่งช่องเวิร์คพอยท์ได้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก ส่งผลให้เรตติ้งเพิ่มสูงขึ้นแซงหน้ารายการละครมาแล้ว จึงทำให้ทีวีช่องต่างๆ หันมานำรายการกีฬามาออกอากาศเพิ่มขึ้น

ถึงแม้จะช่วย “เรตติ้ง” คนดูได้อย่างรวดเร็ว แต่เป็นแค่ระยะสั้นๆ หากช่องนั้นไม่มีกีฬาดังที่อยู่ในกระแสมาออกอากาศได้ต่อเนื่องได้ และก็เป็นเรื่องยากที่มีกีฬาดังๆ ที่นิยมในระดับแมส มาออกอากาศได้ทุกซีซั่น ส่วนใหญ่คนดูจะเฉพาะกลุ่ม และความนิยมก็ไม่ถาวร

“แม้ว่ารายการกีฬาจะช่วยเพิ่มเรตติ้ง ช่วยให้เรตติ้งเพิ่มสูงขึ้นก็จริง แต่ไม่ได้ส่งผลในระยะยาว ซึ่งหากเทียบกับละคร ก็ยังเป็นตัวยืนที่ดึงดูดคนดูในระยะยาวได้มากกว่า ส่วนกีฬากระแสได้เป็นพักๆ หรือรายการวาไรตี้ ก็ต้องดูกันเป็น “ซีซั่น” แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นรายการประเภทไหน ก็ต้องขึ้นอยู่กับ “เนื้อหา” เป็นหลักอยู่ดี”

1_sport

ต้องสร้างคอนเทนต์ระยะยาว

ทางด้าน พเยาว์ ธรรมธีรสุนทร หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์สื่อทีวี บริษัท มายด์แชร์ (ประเทศไทย) มองว่า การที่ทีวีหลายช่องหันมาให้น้ำหนักกับกีฬา เพราะเป็นจังหวะที่กีฬาหลายประเภทมีการแข่งขัน และกีฬาก็ถือเป็นคอนเทนต์ที่กำลังได้รับความนิยมจากคนดู

เธอยกตัวอย่างกรณีที่ช่อง 3 ยอมทุ่มงบซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2016 โดยนำออกอากาศทั้งใน 3 ช่อง คือ ช่อง 33 HD ช่อง 28 SD และช่อง 13 Family เพื่อต้องการให้คนรู้จักช่องมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม พเยาว์มองว่า การได้เรตติ้งของรายการกีฬานั้นไม่ถาวร เพิ่มได้เฉพาะในช่วงที่มีการถ่ายทอดสดเท่านั้น ดังนั้นยังต้องขึ้นอยู่กับภาพรวมในการสร้าง “คอนเทนต์” ของช่อง จึงจะสร้างเรตติ้งและฐานคนดูในระยะยาวได้

  ส่วนการหาสปอนเซอร์โฆษณาในรายการกีฬาด้วยแพ็กเกจใหญ่ รายละ 30-50 ล้านบาท ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทางช่องจึงต้องจัดสรรเป็นแพ็กเล็กลง ในการนำเสนอขายในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองลูกค้าให้ได้มากขึ้น