เมื่อต้นทุนการใช้ “เงินสด” เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับประเทศไทยเองก็ต้องใช้ประโยชน์จากโลก “ดิจิทัล” มากขึ้น
สมาคมธนาคารไทยโดยธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง และ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ 4 แห่ง ประกาศความพร้อมให้ประชาชนลงทะเบียน “บริการพร้อมเพย์” อย่างเป็นทางการพร้อมกันทั่วประเทศ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า บริการพร้อมเพย์ (PromptPay) เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ของรัฐบาล ที่จะลดการใช้เงินสดในสังคมไทยซึ่งมีต้นทุนสูง เพื่อจะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระยะยาว
โอนเงินผ่านเลขบัตรประชาชน/เบอร์มือถือ
เป็นบริการรับโอนเงินแบบใหม่ ที่มีการผูกบัญชีของผู้รับเงินโอนกับเลขที่บัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้โอนสามารถโอนเงินให้ผู้รับโดยไม่ต้องระบุธนาคารและเลขที่บัญชีของผู้รับโอน เพียงระบุเลขประจำตัวประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือของผู้รับโอนที่ผูกไว้ก็สามารถทำธุรกรรมได้
บริการนี้จะเพิ่มความสะดวกในการโอนเงิน เนื่องจากผู้โอนไม่ต้องจำเลขที่บัญชี และผู้รับโอนไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลบัญชีของตน ลดความเสี่ยงจากการพกพาเงินสดอีกด้วย
ธนาคารพาณิชย์ในไทยทั้ง 15 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ร่วมกันพัฒนาบริการพร้อมเพย์ โดยประชาชนลงทะเบียนเพื่อใช้บริการ โดยมีขั้นตอนการตรวจสอบตัวตนและความเป็นเจ้าของบัญชีของผู้ลงทะเบียน รวมทั้งตรวจสอบความเป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์มือถือ ในกรณีการลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วย
บัญชีผูกกับมือถือได้ 4 เบอร์
สำหรับคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ ต้องเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากและเจ้าของเบอร์ โทรศัพท์มือถือที่จะลงทะเบียน เลือกบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีกระแสรายวัน เป็นบัญชีเดี่ยว (ไม่ใช่บัญชีร่วม) ที่จะใช้เป็นบัญชีหลักในการทำธุรกรรมโอนและรับโอน เพื่อนำมาผูกกับเลขประจำตัวประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือภายใต้บริการพร้อมเพย์ โดยบัญชีธนาคารที่นำมาลงทะเบียน 1 บัญชี จะมีหมายเลข หรือ ID เพื่อการผูกบัญชีได้สูงสุด 4 เบอร์ ได้แก่ เลขประจำตัวประชาชน 1 เบอร์ และหมายเลขโทรศัพท์มือถืออีกไม่เกิน 3 เบอร์ ทั้งนี้ หมายเลข หรือ ID ที่นำมาผูกนั้นจะต้องไม่เคยผูกกับบัญชีใดมาก่อน
ธนาคารจะเปิดรับลงทะเบียนผ่านช่องทางต่าง ๆ ตามความพร้อมของแต่ละธนาคาร อาทิ ช่องทางเอทีเอ็ม ธนาคารทางอินเทอร์เน็ต ธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ และสาขา โดยทุกธนาคารจะเปิดรับลงทะเบียนบริการพร้อมเพย์อย่างเป็นทางการ พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป โดยไม่มีกำหนดสิ้นสุดการรับลงทะเบียน
กรณีที่ผู้ลงทะเบียนมีความประสงค์จะเปลี่ยนธนาคารที่ผูก ID ไว้ ก็สามารถยกเลิกการลงทะเบียนกับธนาคารเดิมที่ใช้บริการอยู่และไปลงทะเบียนกับธนาคารใหม่ หรือในกรณีที่ผู้ใช้บริการพร้อมเพย์ต้องการเปลี่ยนแปลงหมายเลขบัญชีหรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ก็สามารถทำได้เช่นกัน
ค่าธรรมเนียม
การคิดค่าธรรมเนียมของพร้อมเพย์ จะแตกต่างค่าบริการโอนเงินในปัจจุบัน โดยจะ ไม่มีการแยกรายการเป็นแบบในเขต ข้ามเขต หรือรายการในธนาคารเดียวกันหรือต่างธนาคาร แต่จะคิดจากวงเงินในการโอนแต่ละครั้งเป็นหลัก
วงเงินไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ ฟรีค่าธรรมเนียมทุกรายการ
วงเงินมากกว่า 5,000 – 30,000 บาท คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2 บาทต่อรายการ
วงเงินมากกว่า 30,000 – 100,000 บาท คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 5 บาทต่อรายการ
วงเงินมากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ
ทั้งนี้ บริการพร้อมเพย์จะถือเป็นทางเลือกในการโอนเงินระหว่างบุคคลรูปแบบหนึ่ง ลูกค้ายังคงสามารถเลือกทำธุรกรรมโอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์ หรือเลือกทำผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ตามปกติเช่นเดิม
เตรียมเปิดบริการจ่ายบิลเพิ่ม
การให้บริการพร้อมเพย์ จะเริ่มให้บริการรับโอนเงินระหว่างประชาชนได้ ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2559 จากนั้นจะขยายไปสู่บริการธุรกรรมอื่น อาทิ การจ่ายบิลต่าง ๆ