ระเบิดศึกธุรกิจขนส่ง 1.4 หมื่นล้าน รับอีคอมเมิร์ซบูม

ผลพวงจากการตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยที่กำลังเติบโต ส่งผลให้กับ “ธุรกิจบริการขนส่ง” ร้อนแรงตามไปด้วย จากการที่มีผู้เล่นรายเล็กและใหญ่ ทั้งของไทยและต่างประเทศ ร่วมวงชิงเค้กตลาด ที่คาดกันว่าจะถึง 1.4 หมื่นล้านในอีก 3 ปีข้างหน้า   

ตัวเลือกในเวลานี้ จึงไม่ได้มีแค่ “ไปรษณีย์ไทย” ที่คุ้นเคยเท่านั้น เอ่ยชื่อมาเวลานี้ มีทั้งของไทยและประเทศในแถบนี้ เกาหลี ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น เคอรี่ เอ็กซ์เพรส, ลาล่ามูฟ, Grab, Skootar, Deliveree นิ่มซี่เส็ง ทำตลาดหนักมากขึ้น

ส่วนรายใหญ่อย่าง ดีเอชแอล นำบริษัทในเครือ ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ เข้าสู่ตลาดในไทยเต็มรูปแบบ รวมถึงรายใหญ่อย่าง SCG ที่จับมือกับแมวดำจากประเทศญี่ปุ่นหรือ บริษัท ยามาโตะ เอเชีย จำกัด เปิดตัวธุรกิจใหม่ เอสซีจี เอ็กซ์เพรส เพื่อธุรกิจส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วน

ดีเอชแอลจัดหนัก

ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ มองเห็นโอกาสมากมายจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ซึ่ง มัลคอล์ม มอนเตโร ประธานกรรมการบริหาร DHL eCommerce เอเชียแปซิฟิก และ เกียรติชัย พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการ DHL eCommerce ประเทศไทย ได้ร่วมกันประเมินตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย (ตัวเลขจากยูโรมันนี่) ว่ามีอัตราเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 22% ต่อปี  เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย

คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า คือภายในปี 2563 จะโตไปถึง 3 เท่า หรือมีมูลค่า 140,000 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนยอดขายผ่านอีคอมเมิร์ซ  1.7-2% ของยอดค้าปลีกทั้งหมด หากนำไปเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว มีสัดส่วนมากกว่า 10%  สะท้อนว่าอีคอมเมิร์ซในโตได้อีก 5-6 เท่า

ปัจจัยที่เป็นแรงหนุน มาจากผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ผู้ประกอบการ SME ซึ่งถือเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดเอสเอ็มอี  โดยมีทั้งหมด 2.7 ล้านราย หันมาค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซ 3 หมื่น –  4 หมื่นราย และด้วยนโยบายดิจิตอลไทยแลนด์ของรัฐบาล ผลักดันให้เอสเอ็มอีหันมาค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 3 หมื่นราย

เมื่อตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโต ส่งผลให้ “ธุรกิจขนส่ง” เติบโตตามไปด้วย ขณะเดียวกันธุรกิจอีคอมเมิร์ซเองก็ต้องพึ่งพาบริการขนส่งสินค้าจากมืออาชีพ เพราะลูกค้ามักจะเปลี่ยนใจได้เสมอหากได้สินค้าไม่ตรงกับความต้องการ

จากการประเมินของดีเอชแอลพบว่า ธุรกิจขนส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซทั่วโลก จะมีสัดส่วน 10% เช่นเดียวกับไทย เมื่อดูจากตลาดอีคอมเมิร์ซจะพุ่งไปถึง 140,000 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า ตลาดขนส่งจะมีมูลค่าสูงถึง 14,000 ล้านบาท

ดีเอชแอลเอง หลังจากที่เข้ามาปักธงธุรกิจขนส่งอีคอมเมิร์ซเมื่อปีที่แล้ว ลงทุนวางระบบและคน เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าได้ 15 ล้านแพ็กเกจต่อปี มีพนักงาน 500 คน ศูนย์กระจายอีก 40 กว่าแห่ง ได้ผลตอบรับดีเกินคาด จึงต่อยอดสเต็ปสอง ขยายเครือข่ายจุดรับสินค้ากระจายสินค้าไปในต่างจังหวัด ซึ่งคาดว่าเติบโตสูงถึง 30-35% คู่แข่งมีน้อย ดีเอชแอลจึงใช้จุดขายเรื่องความเร็วในการจัดส่ง หรือ next day (ส่งวันนี้พรุ่งนี้ได้) มาเป็นยุทธศาสตร์ในการเจาะลูกค้า

ส่วนลูกค้ากรุงเทพฯ เพิ่มบริการรถมารับสินค้าที่บ้าน หรือออฟฟิศ มีข้อแม้ว่าต้องส่ง 10 ชิ้นขึ้นไป รวมทั้งบริการขนส่งไปต่างประเทศ จากเดิมที่ให้บริการแก่ลูกค้า “B 2 B” จะขยายฐานมาที่ลูกค้ารายย่อยหรือ “C 2 C” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในตลาดสำคัญ

รวมทั้งการเพิ่มบริการส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ ที่ถือเป็นอีกหนึ่งจุดขาย ที่มาตอบโจทย์เอสเอ็มอี ที่มักจะมีการส่งออกไปขายต่างประเทศ

ผู้บริหารของดีเอชแอล มองว่า การแข่งขันในตลาดขนส่งอีคอมเมิร์ซกำลังแข่งขันกันเข้มข้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เวลานี้ ผู้เล่นมีทั้งรายเล็กและรายใหญ่มากกว่า 20 ราย แต่ที่มีบทบาทในตลาดมีไม่เกิน 10 ราย โดยราคาเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการแข่งขัน แต่ก็ต้องมาพร้อมบริการ เพราะลูกค้าบางรายยอมจ่ายราคาแพงขึ้นแลกกับบริการ ถ้าได้ของไม่ใช่ เขาจะย้ายร้านทันที

กลยุทธ์ในการแข่งขันของดีเอชแอล จึงตั้งธงไว้เลยว่า ทำอย่างไรให้ลูกค้าเลือกใช้สม่ำเสมอ จึงต้องมีทีมงาน มีบริการดี ส่งได้รวดเร็ว ใช้เทคโนโลยีมาช่วย และต้องปรับตัวให้เร็ว รวมทั้งประสบการณ์ที่อยู่ในตลาดมายาวนาน เครือข่ายสาขา 220 แห่งทั่วโลก โดยเป้าหมายของรายนี้ต้องเป็นอันดับ 1 ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

ส่วนพฤติกรรมความต้องการของลูกค้าคนไทย ก็ไม่ต่างจากทั่วโลก “ลูกค้าต้องการการจัดส่งแบบตามใจฉัน” ต่อไปต้องส่งสินค้าถึงรถ หรือเฉพาะเวลาที่กำหนด ลูกค้ามีความต้องการเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และจะเป็นแนวนี้เรื่อยๆ

“ลูกค้าคนไทย ให้ความสำคัญกับราคา เพราะจะรู้ราคา ค่าจัดส่งเท่าไหร่ จึงเป็นความท้าทายของผู้ขายและผู้ให้บริการจัดส่ง ที่จะตอบสนองความต้องการเหล่านี้

ลาล่ามูฟขอเล่นตลาดขนส่งภายในวันเดียว

ลาล่ามูฟเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยได้ 2 ปีกว่าแล้ว โดยวางจุดยืนเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าแบบออนดีมานด์ตลอด 24 ชั่วโมง ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน มีโมเดลทางธุรกิจแบบ Sharing Economy คือเป็นการหาพาร์ตเนอร์คนขับรถในแต่ละท้องถิ่น แล้วทำการแบ่งรายได้กัน โดยที่ไม่ต้องลงทุนในการหารถ และคนขับเป็นของบริษัทเอง ซึ่งอูเบอร์ และแกร็บก็ใช้โมเดลธุรกิจนี้เช่นกัน

หลักการทำงานของลาล่ามูฟก็คือขนส่งสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เป็นลักษณะคล้ายๆ กับแมสเซนเจอร์ มีรถให้บริการ 3 รูปแบบ มอเตอร์ไซค์ รถกระบะ และรถยนต์ 5 ประตู ค่าบริการของมอเตอร์ไซค์ราคาเริ่มต้น 48 บาท จากนั้นคิดค่าบริการตามระยะทางที่กิโลเมตรละ 7.2 บาท ไม่จำกัดจำนวนชิ้น แต่จำกัดเรื่องขนาดและน้ำหนัก สามารถส่งสินค้าถึงมือผู้รับได้ภายใน 1 ชั่วโมง

กลุ่มผู้ใช้บริการจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน ก็คือ กลุ่มลูกค้าธุรกิจ SME หรือขายของออนไลน์ มีสัดส่วน 60% และลูกค้าทั่วไปที่ใช้บริการรับส่งสินค้า หรือฝากซื้อของ สัดส่วน 40%

แต่ด้วยบริการนี้ค่อนข้างจะเป็นเฉพาะกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจอาหาร หรือธุรกิจที่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา และด้วยราคาขนส่งที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการขนส่งแบบธรรมดา ทำให้ลาล่ามูฟมีแผนที่จะบุกตลาดขนส่งสินค้าภายในวันเดียว ซึ่งยังมีโอกาสในตลาดอยู่

สันทิต จีรวงศ์ไกรสร ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค ฝ่ายดำเนินงาน ลาล่ามูฟ กล่าวว่า

ตลาดการส่งสินค้าแบบออนดีมานด์ถือว่าเป็น Niche Market มากๆ เหมาะกับธุรกิจที่ต้องใช้เวลาเร่งด่วนอย่างอาหาร หรือต้องการสินค้าเร่งด่วนจริงๆ ตลาดตรงนี้ก็เล็กอยู่ คิดเป็น 5% ของตลาดขนส่ง แต่ยังเห็นการเติบโตอยู่ ลาล่ามูฟจึงต้องขยายไปยังตลาดขนส่งทั่วไป แต่ทำจุดเด่นให้เป็น่สงภายในวันเดียว ในตลาดยังมีน้อยส่วนใหญ่ยังมีราคาแพง

ตลาดขนส่งสินค้ามีแบรนด์ใหญ่ๆ ก็คือไปรษณีย์ไทย และเคอรี่ โดยที่เทรนด์ของอีคอมเมิร์ซมีการเติบโต ทำให้การใช้บริการของเคอรี่เพิ่มมากขึ้นเพราะสามารถส่งสินค้าภายในวันถัดไป คิดค่าบริการตามขนาดกล่องและน้ำหนัก ถ้าต้องการส่งภายในวันนั้นเลยจะคิดค่าบริการเพิ่มเติม

ลาล่ามูฟจึงมองเห็นช่องว่างในการส่งสินค้าภายในวันเดียว แต่ทำให้ราคาถูกกว่า เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าอีคอมเมิร์ซมากขึ้น รวมถึงแบรนด์อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ด้วยเช่นกัน

เทรนด์ของผู้บริโภคในตอนนี้ในการส่งสินค้า หรือแม้แต่สั่งสินค้าออนไลน์ก็คืออยากได้ของเร็วในราคาถูก จึงต้องพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบความต้องการตรงนี้ โดยที่ไม่มีแผนทำโกดังเก็บสินค้าด้วย เพราะต้องการส่งสินค้าภายในวันเดียวจบ และต้องการสร้างความแตกต่างในตลาด บริการนี้คาดจะได้เห็นช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี

ปัจจุบันลาล่ามูฟมีผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน 210,000 ราย เป็นการเติบโต 600% และมีมูลค่าการใช้บิรการ หรือรายได้ 120 ล้านบาท (ยังไม่หักส่วนแบ่งของคนขับ) และมีคนขับจำนวน 17,000 คน แบ่งเป็นมอเตอร์ไซค์ 90% รถกระบะ 5% และรถยนต์ 5 ประตู 5%

เอสซีจี ผนึก ยามาโตะ เอเชีย รุกตลาดบริการส่งด่วน

เอสซีจีที่เป็นแบรนด์ใหญ่ในตลาดธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ที่ลงมาแจมกับตลาดขนส่งด้วยเช่นกัน ด้วยงบ 633 ล้านบาท ผนึกพันธมิตร ยามาโตะ เอเชีย เปิดตัวธุรกิจขนส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วน “เอสซีจี เอ็กซ์เพรส” ทั้งสองแบรนด์ได้ร่วมกันวิจัยตลาดและศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศไทยกว่า 2 ปี ก่อนที่จะเปิดให้บริการ

โดยที่ประเดิมให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อนเป็นลำดับแรก และเปิดศูนย์บริการเอสซีจี เอ็กซ์เพรสแห่งแรกที่บางซื่อ ตั้งเป้าเปิดจุดให้บริการรับส่งพัสดุ เพิ่มเป็น 110 สาขา ภายในปี 60 ทั้งในรูปแบบศูนย์บริการเอสซีจี เอ็กซ์เพรส และตัวแทนรับพัสดุเอสซีจี เอ็กซ์เพรส

เอสซีจี เอ็กซ์เพรสมาพร้อม 4 รูปแบบบริการ ได้แก่ 1. บริการขนส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วนถึงบ้าน หรือ ทัค-คิว-บิง 2. บริการส่งเอกสารหรือพัสดุภัณฑ์ด่วนระหว่างบริษัทถึงบริษัท 3. บริการเก็บเงินปลายทาง และ 4. ขนส่งพัสดุแบบควบคุมอุณหภูมิ มี 2 รูปแบบบริการ คือ สินค้าแบบแช่เย็น รักษาความเย็นได้ 0-8 องศาเซลเซียส และสินค้าแช่แข็ง ระบบควบคุมอุณหภูมิที่รักษาความเย็นได้ต่ำกว่า -15 องศาองศาเซลเซียส สำหรับส่งสินค้าประเภทอาหารได้ โดยที่ไม่ต้องมีข้อจำกัดเรื่องเวลา

การร่วมมือกันในครั้งนี้ เป็นการใช้จุดแข็งของทั้งสองแบรนด์ เอสซีจีมีความแข็งแกร่งในเรื่องของนวัตกรรม และเข้าใจตลาด ผู้บริโภคในประเทศไทย ส่วนยามาโตะ เอเชียเชี่ยวชาญด้านขนส่งพัสดุ

ค่าบริการคิดตามขนาด และน้ำหนักของพัสดุ กว้าง+ยาว+สูง ขนาดไม่เกิน 160 เซนติเมตร น้ำหนักสูงสุดไม่เกิน 25 กิโลกรัม และราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 40 บาท เป็นต้นไป

เจาะพฤติกรรมนักช้อปคนไทย อยากได้สินค้ารวดเร็ว

ผลวิจัยของแมนฮัตตัน แอสโซซิเอส ได้ร่วมมือกับโลจิเซียล (จีโอ พาร์ตเนอร์ ในประเทศไทย) บอกว่าผู้บริโภคออนไลน์ในประเทศไทยจะผิดหวังมากที่สุด 55% กับการส่งมอบสินค้าที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้ตามที่คาดหวัง ในขณะที่ 48% จะผิดหวังกับการส่งมอบสินค้าล่าช้า ความผิดหวังของนักชอปออนไลน์อันดับที่สามคือ ไม่สามารถคืนสินค้าได้โดยง่าย

การศึกษาพบว่านักชอปจำนวน 88% ต้องการได้รับบริการจัดส่งสินค้าภายในวันเดียวกันกับการสั่งซื้อ โดยที่ในส่วนนี้ร้านค้าปลีกต่างๆ ก็พยายามพัฒนาบริการในส่วนนี้เช่นกัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค 60% บอกวาต้องการได้รับสินค้าภายใน 2 ชั่วโมงที่จุดหมายปลายทาง และ 34% ต้องการสามารถรับสินค้าในจุดที่กำหนด เช่นรับที่ร้านค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ต

นักชอปชาวไทยจัดอันดับให้ “ความรวดเร็ว/ความสะดวกสบายในการสั่งซื้อ” และ “โปรโมชันที่บ่อยครั้ง” คือปัจจัยที่สำคัญที่จะโน้มน้าวให้พวกเขาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น และ 77% ของผลการสำรวจระบุว่าความน่าเชื่อถือในการจัดส่งสินค้าจะทำให้ผู้บริโภคมีความจงรักภักดีในแบรนด์อีกด้วย