“ซัพไพรม์นรก” ถล่มประกันชีวิต

ตกตะลึง!!! … ช็อกกันไปทั้งโลก เมื่อเศรษฐกิจอเมริกาดำดิ่งยิ่งกว่า “ตกนรก” เพราะการแผลงฤทธิ์เดชแบบไม่มีวันจบลงง่ายๆ ของ “ซัพไพรม์” การโหมปล่อยกู้จำนองแก่ผู้กู้ความน่าเชื่อถือต่ำในสหรัฐฯ จนสถานบันการเงิน แม่แบบเจ้าของนวัตกรรมซับซ้อน แต่ให้ผลตอบแทนยั่วยวนใจ ต้อง “ล้มทั้งยืน” กรณี “เลแมน บราเดอร์ส” อดีตวาณิชธนกิจ เบอร์ 4 จุดชนวน “ปรากฏการณ์โดมิโน” กลายมาเป็น “ฝันร้าย” ตามหลอกหลอนธุรกิจที่เกี่ยวข้องโยงใยไปทุกมุมโลก โดยเฉพาะ “เอไอจี” ยักษ์ใหญ่ธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัทแม่ “เอไอเอ” รวมถึง “แบงก์ ฟอร์ติส” ผู้ถือหุ้น “กลุ่มเมืองไทย” จนเชื้อร้ายลุกลามถึงภาพรวมอุตสาหกรรมประกันชีวิต เกิดอาการ “แพนิค” ราวกับจะบอกว่า ความเชื่อมั่นของเจ้าของกรมธรรม์เริ่มจะมลายหายไป ถ้าไม่เร่งรีบหาทางเยียวยา…

วิกฤติซัพไพรม์ ที่ส่งผลให้ สถาบันการเงินต้องล้มทั้งยืนทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา ลุกลามไปถึงยุโรป ยังไม่มีรายใดส่งผลต่อความรู้สึก และเขย่าอารมณ์ลูกค้ารายย่อยทั่วโลก โดยเฉพาะคนเอเชียได้เท่ากับรายของ “เอไอจี” หรืออเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์ อเมริกา และฟอร์ติส ธนาคารสายเลือดยุโรป จากเนเธอร์แลนด์ ที่เสียหายจากการนำเงินไปลงทุนค้ำประกันธุรกิจจำนองเป็นมูลค่ามหาศาล

“เอไอจี” จึงหนีไม่รอด ถูกสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ปรับลดอันดับเครดิต “ตราสารหนี้” ของ “เอไอจี” ลงฮวบฮาบ ในที่สุดหุ้นเอไอจีในตลาดหุ้นนิวยอร์กก็ควงสว่าน ดิ่งนรก ตามดัชนีดาวโจนส์ จนมูลค่าหุ้นหายวับไปกับตา

ขณะที่ “ธนาคารฟอร์ติส” ที่มีบริษัทลูกถือหุ้นในกลุ่มเมืองไทย อันประกอบด้วย เมืองไทยประกันชีวิต และบมจ.เมืองไทยประกันภัย ก็ต้องยอมรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลุ่มเบเนลักซ์ ด้วยความเต็มใจเช่นกัน…

หลังเจรจา 48 ชั่วโมงกับเฟด ยุติลง ท้ายที่สุดก็ได้รับเงินกู้จากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ มาช่วยต่อลมหายให้กับเอไอจี ซึ่งจะมี“เฟด” มาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกือบ 80% พร้อมเปลี่ยนตัวซีอีโอใหม่…

ในที่สุด เอไอจี ต้องเร่ขายทรัพย์สิน ตัดขายหุ้น บริษัทใน “เครือ AIG” รวมถึง “สาขาAIA” เกือบครึ่งค่อนโลก หั่นทิ้งสายธุรกิจ “คอนซูเมอร์ ไฟแนนซ์ กรุ๊ป หรือ CFG” ใน 11 ประเทศทั่วโลก

แต่ที่ไม่เปลี่ยนเลยก็คือ อาการแพนิคของนักลงทุน ผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตของเอไอเอ บริษัทลูกที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก ยังคงทนรอยืนต่อแถวเพื่อขอยกเลิกกรมธรรม์ แทบไม่เว้นแต่ละวัน โดยไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ จากบรรดาตัวแทนบริษัท…

ส่วนใหญ่กลัวว่า หากวันใดบริษัทแม่ต้องการสภาพคล่อง อาจถึงคราวต้องเรียกคืนผลกำไร ประกาศขายทรัพย์สิน หรือขายกิจการ บริษัทลูก หลาน นอกอเมริกา เงินที่เก็บออมไว้ในรูปเบี้ยประกันชีวิตก็อาจจะหายต๋อม !! เรียกคืนกลับมาไม่ได้…

ความตื่นกลัว เขย่าให้ “อาการแพนิค” จากอเมริกา ข้ามมาที่ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี เพียงชั่วไม่ทันข้ามคืน “คลื่นแพนิค” ก็ซัดเข้าฝั่ง เอไอเอ สาขาประเทศไทย แบบยังไม่ทันได้ตั้งตัว…

ไม่ใช่แค่ “เอไอเอ” เท่านั้นที่ถูกท้าทายจากวิกฤตความเชื่อมั่น แต่ธุรกิจในเครือเอไอจี ทุกแห่งในประเทศไทย ก็ต้องออกมาแสดงตัว…

ทั้งที่บางบริษัทเช่น นิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ หรือแม้แต่ เอไอจี ประกันวินาศภัย (ประเทศไทย) รวมถึงธนาคารเอไอจีเพื่อรายย่อย แทบไม่เคยปรากฏโฉมหน้าต่อสาธารณะมาก่อน ก็ต้องออกมาร่ายยาวถึงความมั่นคงทางการเงิน และสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทแบบงง งวย ตลอดสัปดาห์ที่เอไอจีทำท่าเกือบจะล้มคว่ำ แต่ก็รอดมาได้แบบหวุดหวิด…

ลูกค้าเอไอเอขอยกเลิกกรรมธรรม์ประกันชีวิต ลูกค้าธนาคารเอไอจีฯ ก็มีบางส่วนถอนเงินฝากออกไป ส่วนกรมธรรม์ประกันวินาศภัยในรายงานบอกว่า มีเพียงรายเดียวที่ขอยกเลิก…

ผู้รู้ในแวดวงการเงินถึงกับวิเคราะห์แฝงอารมณ์ขบขันว่า… “ถ้ารัฐบาลวอชิงตันปล่อยให้เอไอจีล้ม ก็เท่ากับกรณีล้มละลายของเลแมนฯ จะกลายเป็นเรื่องของเด็กอนุบาลไปเลยทีเดียว” …

แค่นี้ก็พอจะเดาได้ถึงความยิ่งใหญ่ของเอไอจี ที่มีขนาดทรัพย์สินสูงระดับ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ที่จะปล่อยให้ล้มไม่ได้ เพราะจะกระเทือนยิ่งกว่า “เฮอร์ริเคนถล่มโลก”…

อย่างไรก็ตาม นับจากวันที่ 15 ก.ย. เป็นต้นมา เป็นเวลาสองสัปดาห์ ลูกค้าเอไอเอก็ยังคงทยอยเข้ามาขอยกเลิกกรมธรรม์จนมูลค่าสูงถึง 20 ล้านบาท โดยไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าจะทุเลาลงได้เมื่อไร…

ทั้งที่เอไอเอมีขนาดทรัพย์สินสูงถึง 383,000 ล้านบาท เงินสำรองประกันภัย 286,000 ล้านบาท มีเงินกองทุน 69,000 ล้านบาท อัตราความมั่นคงทางการเงินสูงถึง 1,107% จากทางการกำหนดเพียง 150%

มีกำไรสะสมร่วม 79,000 ล้านบาท มีพอร์ตลงทุนระดับมากกว่า 2 แสนล้านบาท สูงใกล้เคียงกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ด้วยซ้ำ แต่ “วิกฤตความเชื่อมั่น” ก็ยังต้องใช้เวลาเยียวยาอีกนาน…

“เรากล้าพูดได้ว่า ไม่มีบริษัทไหนในไทยที่จะสามารถเปรียบเทียบกับเราได้ในแง่ของความมั่นคง”

โทมัส เจมส์ ไวท์ รองประธานบริหารระดับสูงและผู้จัดการทั่วไป เอไอเอ สาขาประเทศไทย ปลุกปลอบขวัญเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา ระหว่างงานแถลงข่าว หลังเฟดเข้าโอบอุ้ม… และแม้กระทั่งกรณีที่บริษัทเอไอจี ประกาศขายทิ้งกิจการไปหลายส่วน

ทีมบริหารพอร์ตลงทุนของเอไอเอถึงกับบอกว่า ปัญหาของเอไอเอไม่ได้อยู่ที่ความมั่นคง ตรงกันข้าม เอไอเอมั่นคงจนมีปัญหาหนึ่งเดียวเวลานี้คือ เบี้ยและเงินที่หลั่งไหลเข้ามามาก จนไม่รู้จะนำไปลงทุนอะไรดี เพราะมีเงินลงทุนมาก แต่ช่องทางลงทุนก็จำกัด…

ขณะเดียวกัน เงินกำไรสะสมที่พอกพูนขึ้นทุกปี ก็จะส่งกลับเป็นเงินปันผลผู้ถือหุ้นได้สูงสุดเพียง 2 งวดใน 1 ปี คิดเป็นงวดละ 1,000 ล้านบาท

แต่ปี 2550ล่าสุด ได้ยื่นขอส่งเงินปันผลกลับบริษัทแม่อเมริกา เป็นเงินกว่า 10,000 ล้านบาท ที่ขอไปเป็นเวลา 2 ปีแล้ว แต่ทางการยังไม่อนุมัติ ก็เป็นว่าต้องยุติเรื่องนี้ลง อันเป็นผลจากวิกฤตความเชื่อมั่น ที่เอไอเอจะต้องจัดการก่อนเป็นอันดับแรก…

รับรู้กันว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ยังเกรงว่าจะไม่ได้รับเงินคืน จากบรรยากาศรายรอบที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลยในแต่ละวัน จึงมีการเข้ามาทยอยขอเวนคืนกรมธรรม์อยู่เป็นระยะๆ จนแทบทั้งอุตสาหกรรมประกันชีวิตต้องออกอาการปั่นป่วนไปกับวิกฤตคราวนี้ด้วย

สมาคมประกันชีวิตไทย ศูนย์รวมธุรกิจประกันชีวิต เป็นด่านที่สอง ที่นัดรวมพลออกมากู้หน้า กู้ชื่อเสียงให้กับประกันชีวิต หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยหรือ (คปภ.) แสดงตัวเป็นหน่วยกู้ภัยให้กับ เอไอเอ เป็นด่านแรก ก่อนหน้านั้นแล้ว…

ตัวเลข สถิติร้อนๆ ล่าสุดที่เคยเก็บไว้ใต้ลิ้นชัก ไม่เคยได้นำมาเปิดเผย ก็ถูกนำมาเปิดเผยในคราวนี้…

สาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย สร้างความมั่นใจว่า ไม่มีบริษัทประกันชีวิตแม้แต่รายเดียวลงทุนอะไรไว้กับเลแมนฯ ซึ่งเป็นข้อดีจากระบบควบคุมดูแลทางการที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม ถึงแม้จะถูกล้อเลียนว่าล้าหลังเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็ตาม

ธุรกิจประกันชีวิตทั้ง 24 แห่ง มีสินทรัพย์รวมกัน 815,000 ล้านบาท มีเงินลงทุน 666,245 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนในตราสารหนี้ 82.30% ในรูปพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 61.23% หุ้นกู้ เอกชน 10.20% เงินฝากและตั๋วเงิน 10.87% อีก 9% เป็นเงินให้กู้ยืม และลงทุนในตราสารทุนรวมหุ้นสามัญและหน่วยลงทุน 8.71% โดยมีการลงทุนในต่างประเทศเพียง 2.86%

แต่ดูเหมือนยิ่งพยายามกอบกู้เอาศักดิ์ศรีอุตสาหกรรมประกันชีวิตกลับคืนมามากเท่าไร ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการขอยกเลิกกรมธรรม์ของผู้ถือครองกรมธรรม์ได้ในเร็ววัน…

บรรยากาศที่เกิดกับเอไอเอ จึงไม่ต่างจากความพยายามเรียกความเชื่อมั่นคืนกลับมาอย่างถึงที่สุดในรอบกว่า 70 ปีนับจากตั้งสาขาในประเทศไทย

แม้แต่ศัตรูคู่อริในธุรกิจประกันชีวิต ก็ยอมรับแต่โดยดีว่า เอไอเอ สาขาประเทศไทย ไม่มีรอยด่างพร้อยในแง่ของความมั่นคงและสถานะทางการเงิน แต่ก็นั่นแหละ พิษสงของ “ซัพไพรม์” ทำให้ใครต่อใครก็ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย…

“เอไอเอ ไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่คนตกใจเรื่องความมั่นคงที่เกิดกับบริษัทแม่ เอไอจีในต่างประเทศ ทั้งที่กว่าจะเชื่อมมาถึงเอไอเอ ประเทศไทย ก็ต้องผ่านอีกหลายด่าน เพราะเอไอเอถือหุ้นยาวต่อกันมาเป็นทอดๆ จนแตกเป็นบริษัทลูก หลาน เหลน หล่อน” คู่แข่งอีกบริษัทวิเคราะห์…

แทบทุกบริษัทประกันชีวิต ในช่วงนี้ต้องจัดสรรทีมงานและงบประมาณเพื่ออธิบายข้อมูลกับลูกค้า ไม่ให้ยกเลิกกรมธรรม์ เพราะการเวนคืนหรือยกเลิกจะทำให้เสียสิทธิ์การออมเงิน ยิ่งถ้ารายใดยกเลิกและกลับมาซื้อใหม่ ก็จะคิดเบี้ยในราคาใหม่ เพราะอายุสูงขึ้น การคิดเบี้ยก็จะแพงกว่าเดิม

ว่ากันว่า ถ้าต้องการรู้ว่าอาการแพนิคจะทุเลาเบาบางลงเมื่อไร ให้รอดูสถานการณ์ในระยะ 2-3 เดือนต่อจากนี้ โดยดูจากตัวเลขเบี้ยปีต่ออายุของแต่ละบริษัทว่าจะลดน้อยลงมากแค่ไหน หรือจะให้ชัดกว่านี้ ก็ให้สังเกตเบี้ยปีต่ออายุของทั้งอุตสาหกรรมประกันชีวิตให้ดี…

เพราะนั่นจะอธิบายได้ถึง “ดัชนีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันชีวิต” ของผู้ถือกรมธรรม์ที่มีอยู่ประมาณ 22% ของประชากรทั้งประเทศ เป็นอย่างดี

“การยกเลิกกรมธรรม์มูลค่า 20 ล้านบาท ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ถือเป็นภาวะปรกติ เพราะต้องมีคนเวนคืนกรมธรรม์ทุกวันอยู่แล้ว คนที่จำเป็นอยากใช้เงินก็มายกเลิก เพราะเอไอเอมีผู้ถือกรมธรรม์ถึง 5 ล้านฉบับ”

สุทธิ รจิตรังสรรค์ รองประธานอาวุโสฝ่ายบริหาร เอไอเอ สาขาประเทศไทย ตอบคำถามคาใจผู้คนทั่วไปที่ยังมีความรู้สึกสับสน…

โดยเฉพาะความคลางแคลงใจเกี่ยวกับสถานภาพของเอไอเอ สาขาประเทศไทยในอนาคต จะออกหัวหรือก้อย บริษัทแม่จะแก้ปัญหาสภาพคล่องได้เร็วแค่ไหน ภาพรวมอุตสาหกรรมประกันชีวิตที่เพิ่งจะถูกมองในด้านบวก ในชั่วเวลาคนหลายเจเนอเรชั่น จะพลิกฟื้นกลับมาได้รวดเร็วเพียงใด…

ในคืน “ฝันร้าย” ของ “เอไอเอ” หรืออีกนัยหนึ่ง “เอไอจี” จึงไม่ได้ มีอาการไข้ขึ้นจนถึงขั้นโคม่าอยู่ฝ่ายเดียว…

ตราบใดที่เอไอเอยังยืนหยัดอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง ทั่วทั้งอุตสาหกรรมประกันชีวิตก็จะหายใจหายคอได้คล่องตัวขึ้น เหมือนยกภูเขาออกจากอก…

แต่ถ้าเป็นตรงกันข้าม ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ในเร็ววัน

เพราะ “เชื้อร้ายซัพไพรม์” ที่แพร่ขยายอย่างรวดเร็วทั่วโลก ยังไม่มี “ยาวิเศษ” ขนานใดสามารถรักษาอาการซมพิษไข้จนถึงขั้นโคม่า หายขาดได้ภายใน 1-2 ปีนี้…