เมื่อบล็อกเกอร์เจองานเข้า รีวิวตามจริงแล้วถูกฟ้อง แล้วอะไรคือทางออกของการใช้ “อินฟลูเอนเซอร์”

เมื่อบล็อกเกอร์งานเข้า ถ้าไม่รับตังค์มาโปรโมต รีวิวจริงแล้วถูกฟ้อง ต่อจากนี้ต้องอ่านแต่รีวิว อวยสินค้าอย่างเดียวหรือไม่ อะไรคือทางออกของปัญหา ระหว่างเจ้าของสินค้าและบล็อกเกอร์ ?

เป็นประเด็นร้อนฉ่าบนออนไลน์ จากกรณีบล็อกเกอร์สาว “อาชิ-อาชิตา” เจ้าของเพจ Achita Station รีวิวเครื่องสำอางแบรนด์หนึ่งตามความรู้สึกจริงๆ แต่กลับโดนเจ้าของแบรนด์สินค้าขู่ฟ้อง ต่อมาแบรนด์ Cho ของ “เนย-โชติกา” ได้ออกมาชี้แจงและขอโทษบล็อกเกอร์แล้ว



แต่ดูเหมือนว่า กระแสบนโลกออนไลน์ยังไม่จบ แถมยังตีกลับไปยังแบรนด์เครื่องสำอางแบรนด์นั้นว่าใจแคบ เพราะเป็นปกติของการทำงานของบล็อกเกอร์ที่ต้องบรรยายตามความรู้สึกส่วนตัวจริงๆ พร้อมกับจะไม่สนับสนุนแบรนด์ต้องสงสัยแบรนด์นั้นอีกด้วย พร้อมกับให้กำลังใจบล็อกเกอร์สาว

เชื่อว่า นี่อาจไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้น ในเมื่อเป็นยุคที่แบรนด์นิยมใช้คนดังในโลกออนไลน์รีวิวสินค้า นับวันก็ยิ่งเป็นที่นิยมของแบรนด์ และเอเจนซีโฆษณา เพราะมีการยืนยันชัดเจนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทยเวลานี้ มักจะหาข้อมูลก่อนตัดสินซื้อสินค้า และเชื่อการบอกต่อและรีวิวสินค้า จากคนดัง และบล็อกเกอร์ มากกว่าเชื่อโฆษณาจากแบนด์โดยตรง ส่งผลให้การใช้อินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์ เป็นกระบอกเสียงช่วยโฆษณาสินค้ายิ่งได้รับความนิยม

มาฟังความเห็นของ พงษ์ศักดิ์ เจริญกุล ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทจับของร้อน จำกัด ดิจิตอล เอเจนซี ที่มีอินฟลูเอนเซอร์ทั้งเน็ตไอดอลและบล็อกเกอร์ ในสังกัด ราว 18 คน เช่น หญิงแย้-นนทพร, ทรายหมูน้อย facebook.com/mhunoiiifanpage, นุ่นสแตนนาร์ด www.facebook.com/NunStyleBlog ส้มณัฐกานต์ www.facebook.com/BeautyByOrangina มองว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างบล็อกเกอร์และเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอาง ส่งผลให้แวดวงบล็อกเกอร์จะกลับมาตื่นตัวขึ้นอีกครั้ง

โดยเฉพาะกับบรรดาบล็อกเกอร์หน้าใหม่ จะได้มีความมั่นใจและกล้าที่จะแสดงความรู้สึกจริงๆ ของตัวเองออกมาในการรีวิวสินค้ามากขึ้น และเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้การรีวิวสินค้ากลับมาเหมือนในยุคก่อนที่บล็อกเกอร์มักจะซื้อสินค้ามาทดลองใช้เอง และรีวิวในฐานะConsumer จริงๆ บางคนเสียเงินเป็นหมื่น เพราะเขามี Passion จริงๆ เวลาเขียนรีวิวจะมีอินเนอร์ คนก็อยากทดลองตามจริงๆ แต่หลังจากนั้นในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เมื่อกระแสบล็อกเกอร์บูมมากๆ ทำให้บล็อกเกอร์มากกว่า 70% ถูกจ้างเพื่ออวยให้กับแบรนด์สินค้าโดยจะบอกว่าดีเกือบหมดทุกอย่าง จนบางคนก็มองว่าอยากได้ของฟรีจากแบรนด์

“หลังจากนี้บล็อกเกอร์รุ่นใหม่จะมีความกล้าที่จะรีวิวถึงข้อดีและข้อเสียของสินค้าตามความรู้สึกที่ใช้เองจริงๆ มากขึ้น เพราะจากกรณีของแบรนด์ Cho กับ อาชินั้น กลายเป็นว่าเมื่อบล็อกเกอร์รีวิวตามความรู้สึกจริงทำให้ได้ใจผู้บริโภคไป แถมตอนนี้ยังมีงานเข้าจนล้นมือ ในขณะแบรนด์ Cho กลายเป็นแบรนด์มีภาพลักษณ์ที่ดูแรง พลังมวลชนในโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลมาก ถ้าแบรนด์เกิดทำอะไรไปให้เกิดผลเสียต่อแบรนด์ผมว่าแบรนด์รับไปเต็มๆ

ถามว่าแบรนด์สามารถฟ้องร้องคนที่รีวิวสินค้าของตัวเองได้มั้ย ฟ้องร้องได้ ถ้ามีการเขียนถูกบิดเบือน หรือไม่ได้เอาข้อเท็จจริงมาพูด เช่น มีลูกค้าเอาครีมไปแล้วเกิดอาการแพ้แล้ว แล้วไปเขียนว่าครีมตัวนี้มีสารตัวนี้แน่ๆ จึงทำให้เขาแพ้ แต่ในความเป็นจริงครีมไม่ได้ผสมสารตัวนี้ แบรนด์สามารถฟ้องร้องได้

แบรนด์ควรใช้บล็อกเกอร์อย่างไร

พงษ์ศักดิ์ แนะนำว่า แบรนด์ควรจะต้องมีการคุยกับบล็อกเกอร์ก่อน อย่างบริษัทจับของร้อนเอง ในฐานะเอเจนซี เมื่อแบรนด์มาติดต่อให้บล็อกเกอร์รีวิวสินค้า ก็จะนำสินค้าไปให้บล็อกเกอร์ทดลองใช้ก่อน ว่าพอใจมากแค่ไหน หากไม่พอใจก็สามารถปฏิเสธไม่รับงานได้ โดยจะฟีดแบ็กให้แบรนด์อีกที หากแบรนด์ใจกว้างรับได้ทั้งข้อดีและข้อเสีย ก็จะต้องมีการคุยรายละเอียดกันต่อ ถึงขอบเขตการรีวิว เพื่อไม่ให้กระทบต่อแบรนด์มากนัก ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับแบรนด์กับบล็อกเกอร์ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับทั้งสองฝ่ายในภายหลัง

ส่วนตัวของเขามองว่า ถ้าแบรนด์เปิดให้บล็อกเกอร์พูดได้ทั้งข้อดีและข้อเสีย จะทำให้แบรนด์ดูน่าสนใจ และบล็อกเกอร์ก็ดูน่าเชื่อถือ

ยอดไลก์ไม่เท่ากับยอด Engage

แนวโน้มการใช้อินฟลูเอนเซอร์ยังเป็นที่นิยมสำหรับเจ้าของแบรนด์สินค้า แต่จะเน้นในเรื่องการวัดผลมากขึ้นว่าได้ผลตอบรับแค่ไหน ซึ่งการวัดผลขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแต่ละแคมเปญ เช่น ถ้าแบรนด์ต้องการ awareness ต้องวัดยอดวิว ยอดreach หรือ engagement , ถ้าต้องการวัดเกี่ยวกับยอดขาย ก็ต้องมี digital tool มาใช้ เช่น blogger code เอามาใช้กรอกในเว็บเพื่อดูว่ามาจากอินฟลูเอนเซอร์เท่าไหร่

เวลานี้ การใช้ อินฟลูเอนเซอร์ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนดัง หรือคนที่มียอดติดตามสูงเท่านั้น บางคนมีคนติดตามไม่กี่พันแต่มี engagement สูง พูดอะไรมาแล้วมีคนสนใจ จะเป็นที่ได้รับความสนใจจากแบรนด์มากกว่าคนที่มียอดไลก์มากๆ แต่ไม่มี engagement

คนทำแฟนเพจเวลานี้ก็เหนื่อยหน่อย เพราะบางคนมีแฟนเพจเป็นแสนเป็นล้าน แต่โพสต์อะไรไปกลับไม่มีปฎิสัมพันธ์มีแต่ยอดไลก์อย่างเดียว ไม่มีการคุยกับลูกเพจเลย ก็ไม่น่าสนใจเท่ากับบางเพจที่มีการพูดคุยกับลูกเพจตลอดเวลา

ส่วนธุรกิจที่ใช้อินฟลูเอนเซอร์มากๆ หนีไม่พ้นธุรกิจความงามและแฟชั่น นิยมใช้อินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งมากที่สุดถึง 80% ทำให้บิวตี้บล็อกเกอร์จึงเป็นที่นิยม บางบริษัทถึงกับก่อตั้งแผนกดิจิตอลมีเดียแอนด์อินฟลูเอนเซอร์ขึ้นมา เพื่อดูแลและค้นหาอินฟลูเอนเซอร์โดยเฉพาะ เพราะแนวโน้มกลุ่มธุรกิจที่หันมาทุ่มงบให้กับการทำอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งเพิ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์และร้านอาหาร ก็ใช้มากขึ้น

ด้วยความที่แบรนด์นิยมใช้อินฟลูเอนเซอร์ ทำให้คนรุ่นใหม่อยากยึดอาชีพบล็อกเกอร์มากขึ้น และกลายเป็นอีกหนึ่งในอาชีพของคนรุ่นใหม่ ที่ทำเป็นทั้งอาชีพเสริมและอาชีพหลัก เพราะการเป็นบล็อกเกอร์ไม่ใช่แค่การรีวิวสินค้าอย่างเดียว แต่ถ้าคนไหนมีผลงานเข้าตาแบรนด์ ก็สามารถต่อยอดไปสู่การทำแคมเปญมาร์เก็ตติ้ง ออกอีเวนต์ หรือเป็นเซเลบริตี้

ส่วนบทบาทของเอเจนซีดูแลอินฟลูเอนเซอร์ จะเติบโตตามไปด้วย โดยจะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการรับงานและสื่อสารแบรนด์ และอินฟลูเอ็นเซอร์ เวลาไปถ่ายทอดเขาจะเข้าใจง่าย และดูเรื่องระบบหลังบ้าน เช่น การวางบิลรับเงิน ซึ่งบริษัทจะได้หัก 20-30% จากค่าจ้างที่แบรนด์จ่ายให้กับ KOL หรืออินฟลูเอนเซอร์

พงษ์ศักดิ์ มองว่า “อนาคตจะมีเอเยนชีที่เข้ามาทำธุรกิจปั้นอินฟลูเอนเซอร์เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่ 3-4 ราย เพราะตลาดนี้ยังสามารถโตขึ้นได้อีกแน่นอน”