Fat Festival รวมพลเด็กแนว

ถ้าถามเด็กวัยรุ่นแถวสยามว่าเคยไปงาน “แฟต เฟสติวัล”ไหม? คำตอบร้อยละ 90 ตอบว่าเคย เพราะนี่เป็นงานเทศกาลดนตรีที่สามารถรวมพล “วัยรุ่นเมืองกรุงได้มากที่สุด” ทุกแนว ซึ่งงานนี้ถูกจัดมาอย่างต่อเนื่องโดยบริษัท Click Radio และครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 แต่อยู่ภายใต้บริษัท Fat Degree ที่ “ดีแทค” เข้ามาเทกโอเวอร์เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเมื่อ “ดีแทค” เข้ามามีบทบาทในคลื่นแฟตเรดิโอ คือเริ่มจัดงานแฟต เฟสติวัล ที่เชียงใหม่และขอนแก่น เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายนอกเหนือจากวัยรุ่นเมืองกรุง พร้อมกับสร้างการรับรู้ของแบรนด์เพื่อสนองความต้องการของวัยรุ่นต่างจังหวัดที่เป็นแฟนคลับของแฟต เฟสติวัล

“แต่ในเรื่องของคอนเทนต์ของงานแฟตไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ดีแทคเข้ามาในฐานะผู้ถือหุ้นร่วมกับคลิก แล้วเปลี่ยนเป็นบริษัทใหม่คือ แฟต ดีกรี การเข้ามาถือหุ้นครั้งนี้เพราะความชอบในตัวแฟต จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องมาเปลี่ยนแปลงในตัวแฟต” พงศ์นรินทร์ อุลิศ Head Coach ของบริษัท แฟต ดีกรี บอก

“ขอให้ช่วยเป็นตัวเอง ไม่ต้องเป็นอย่างอื่น” คือสิ่งที่ดีแทคบอกแฟตแต่แรก

งานในปีนี้ยังคงความเป็นแฟธ เน้นสร้างบรรยากาศในงานเหมือนศูนย์รวมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ศิลปะ ความสนุกสนาน และความสดชื่น ซึ่งเป็น positioning ของงาน โดย Fat Degree และ โค้ก เป็นผู้กำหนดร่วมกัน จึงทำให้ “Coke Fat Festival 8 Plaza” เป็นชื่อของงานในครั้งนี้

ด้วยความขลังของงาน ที่สามารถเรียกวัยรุ่นนับแสน ให้มารวมตัวตั้งแต่เที่ยงวันถึงเที่ยงคืน จึงเพิ่มกิจกรรมให้แตกต่างจากงานของคลื่นวิทยุอื่นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายเพลงจากผู้ผลิตโดยตรง

รวมถึงการแสดงดนตรีสดจากศิลปินนับร้อย ก็สามารถดึงดูดให้วัยรุ่นเข้างานได้เช่นกัน ซึ่งยังใช้วงที่เป็น Idol ของกลุ่มวัยรุ่น เช่น Scrubb, Flur, Modern Dog และอพาร์ทเม้นท์คุณป้า รวมทั้งมีพื้นที่ให้โชว์ศิลปะจากศิลปินหน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสาขาทัศนศิลป์ ออกแบบ ภาพยนตร์ และวรรณกรรม มากกว่า 200 บูท

ส่วนรายได้นอกจากจะมาจากการขายบัตร สปอนเซอร์ และการออกบูทขายของที่ระลึกแล้ว บูทน้องใหม่อย่าง “ไม่รู้จักกู๋ ไม่รู้จักเฮีย” เป็น Content Provider ให้บริการโหลดเพลง ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่อาจจะสร้างรายได้แม้ไม่ถึงกับมากนัก แต่ก็เป็นผลจากการแนวคิดการต่อยอดธุรกิจของแฟต ดีกรี

โดยโอเปอเรเตอร์มือถือมีส่วนแบ่งเพียง 20% อีก 80% เป็นส่วนของศิลปินหรือค่ายเพลง ในขณะที่ปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ห้าสิบห้า
“คอนเทนต์ โพรไวเดอร์ เป็นสิ่งใหม่ของแฟต ถึงเวลาที่ต้องทำอะไรมากกว่าการเปิดเพลง ต่อยอดธุรกิจกลุ่มแฟนคลับที่สามารถฟ้องได้จากผู้ร่วมงานนับแสนคน”พงศ์นรินทร์ ย้ำ

และถือเป็นครั้งแรกของ “โค้ก” ที่เป็นสปอนเซอร์หลักของงานนี้ หลังจากที่เฝ้ารอคอยต่อจากไฮเนเก้น แต่ก็พยายามทำกิจกรรมร่วมกับบริษัทแฟต ดีกรีมาถึงสองปี ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลเสื้อยืด และงาน Fat Film ที่ผ่านมา ล่าสุดกับการงานแฟตที่เชียงใหม่และขอนแก่น
โดยโค้กพยายามตอกย้ำการวางโพซิชันนิ่งให้เชื่อมโยงกับดนตรี ศิลปะและความสนุกสนานสดชื่นผ่านธีมของงาน นอกจากการแจกสินค้าแล้ว กิจกรรมต่างๆ ของโค้กต้องสอดคล้องกับคอนเทนต์งานอย่างไม่ขัดขืน ทำให้โค้กหวังว่าการอยู่กับกลุ่มเป้าหมายเป็นเวลาสองวัน จะทำให้ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์กับวัยหนุ่มสาวนี้ ถึงแม้จะเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยจงรักภักดีแต่แบรนด์ก็ตาม

Did U know?

งานแฟต เฟสติวัลครั้งที่ 1 ถือเป็นที่เปิดตัวครั้งแรกของนิตยสารอะเดย์
และเป็นเวทีแจ้งเกิดให้กับ อาร์มแชร์, ดาจิม และ กรู๊ฟไรเดอร์ส
งานแฟต เฟสติวัลครั้งที่ 7 ที่ผ่านมา มีเงินสะพัดถึง 10 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วใช้จ่ายคนละ 100 -200 บาท คนร่วมงานหนึ่งแสนคน

“Fat Festival”
ครั้งที่/สปอนเซอร์หลัก/สถานที่/ค่าใช้จ่าย
ครั้งที่ 1-2/ไฮเนเก้น/โรงงานยาสูบ/ไม่มีค่าใช้จ่าย
ครั้งที่ 2-3/ไฮเนเก้น/อิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว/ไม่มีค่าใช้จ่าย
ครั้งที่ 4/ไฮเนเก้น/สนามม้านางเลิ้ง/ไม่มีค่าใช้จ่าย
ครั้งที่ 5/ไฮเนเก้น/แดนเนรมิต/ค่าบัตร 200 บาท
ครั้งที่ 6/สมาร์ทเพิร์ส/เมืองทองธานี/ค่าบัตร 300 บาท
ครั้งที่ 7/บี-อิ้ง และดีแทค/เมืองทองธานี/ค่าบัตร 300 บาท
ครั้งที่ 8/โค้ก/เมืองทองธานี/ค่าบัตร 300 บาท