สมรภูมิ EV ใครดีใครได้

ลูกค้ามากมายเคยอิดออดกับรถไฟฟ้า ค่าที่ราคาแพงแถมระยะทางใช้งานยังจำกัด จนกระทั่งเทสลาเปิดตัวโมเดล S เมื่อ 5 ปีที่แล้วที่วิ่งได้ไกลถึง 322 กิโลเมตรจากการชาร์จครั้งเดียว และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ประกอบกับการตื่นตัวทั่วโลกเพื่อจัดการกับปัญหามลพิษที่ถูกกระตุ้นจากกรณีโกงไอเสียเครื่องยนต์ดีเซลสุดอื้อฉาวของโฟล์คสวาเกน ช่วยกันทำให้ดีมานด์รถไฟฟ้าแก่กล้าขึ้นอย่างชัดเจน และกดดันให้บริษัทรถหันมาเร่งรัดพัฒนายานยนต์ปลอดไอเสียกันอย่างกระฉับกระเฉง

โดยรวมแล้ว สาเหตุที่ก่อนหน้านี้บริษัทรถกระแสหลักยังไม่กล้าลงมาเล่นในตลาดรถไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) เต็มตัวเพราะยังไม่เห็นแววทำกำไร โดยตัวการใหญ่ คือ ต้นทุนแบตเตอรี่ที่สูงถึง 30 – 50% ของการผลิตรถไฟฟ้า

ตัวอย่างเช่น ชุดแบตเตอรี่ขนาด 60 กิโลวัตต์-ชั่วโมงที่ทำให้รถวิ่งได้ระยะทาง 500 กิโลเมตรนั้นราคาสูงถึง 14,000 ดอลลาร์ เทียบกับเครื่องยนต์เบนซินที่ราคาแค่ 5,000 ดอลลาร์ ยิ่งถ้ารวมค่ามอเตอร์ไฟฟ้าและอินเวอร์เตอร์อีก 2,000 ดอลลาร์ ยิ่งทำให้รถไฟฟ้าแพงกว่ารถปกติมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ของบาร์เคลย์เชื่อว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ขณะนี้อาจทำให้ราคารถไฟฟ้าลดลงจนถึงจุดพลิกผันคือมีราคาสูสีกับรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ในช่วงระหว่างปี 2020-2030

ทางด้านนักวิเคราะห์ของ ING มองว่า การที่หลายประเทศขู่แบนรถใช้น้ำมันหรือรีดภาษีรถที่ใช้น้ำมันดีเซล ล่าสุดและเซอร์ไพรส์มาก คือ จีนประกาศเมื่อวันเสาร์ (9 กันยายน) ว่า กำลังพิจารณาแบนรถเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซินนั้น อาจส่งผลทางอ้อมให้ต้นทุนการเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าลดลงต่ำกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน และยุโรปจะเป็นตลาดรถไฟฟ้าสมบูรณ์แบบ 100% ภายในปี 2035

BMW เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีแผนการเชิงรุกในตลาด EV โดยหลังจากเปิดตัวรถไฟฟ้า i3 ไปเมื่อปี 2013 ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ค่ายรถเยอรมนีแห่งนี้ประกาศว่า นับจากปี 2020 รถทุกรุ่นของบริษัทจะมีเวอร์ชันไฟฟ้าหรือไฮบริดด้วย

ฮารัลด์ ครูเกอร์ ประธานบริหาร BMW แถลงข่าวในมิวนิกว่า เมื่อถึงปี 2025 บริษัทจะออกรถไฟฟ้ารวมแล้ว 25 รุ่น โดย 12 รุ่นในจำนวนนี้จะเป็นรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบ และรถทั้งหมดจะวิ่งได้ระยะทาง 700 กิโลเมตรจากการชาร์จครั้งเดียว

BMW นั้นเตรียมใช้งานแฟรงค์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ที่มีกำหนดเริ่มต้นกลางเดือนนี้ เป็นเวทีเปิดตัวรถไฟฟ้า 4 ประตูรุ่นใหม่ที่วางตำแหน่งระหว่างซิตี้คาร์ i3 กับสปอร์ตคาร์ไฮบริด i8

ครูเกอร์สำทับว่า BMW จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดรถไฟฟ้าจากทุกรุ่นและทุกแบรนด์ ซึ่งแน่นอนว่า รวมถึงโรลส์รอยซ์และ BMW M และอีก 2 ปี จะส่งมินิไฟฟ้ารุ่นแรกลงตลาด

BMW บริษัทรถกระแสหลักที่ทำยอดขายถึง 2.34 ล้านคันเมื่อปีที่แล้ว ประกาศข่าวนี้ในวันเดียวกับที่จากัวร์ แลนด์โรเวอร์ (JLR) บริษัทรถใหญ่ที่สุดของอังกฤษที่ปัจจุบันอยู่ในเครือทาทา มอเตอร์จากอินเดีย แถลงว่า นับจากปี 2020 รถทุกรุ่นของบริษัทจะมีเวอร์ชันระบบไฟฟ้าหรือไฮบริดให้เลือกด้วยเช่นกัน นำร่องด้วยจากัวร์ ไอ-เพลซในปีหน้า

นอกจากมีแผนผลิตรถไฟฟ้าหรือไฮบริดสำหรับรถทุกรุ่นในปี 2020 แล้ว JLR ที่เผยโฉมรถไฟฟ้าครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาจากัวร์ อี-ไทป์ ซีโร่ หรือการนำรถรุ่นคลาสสิกมาใส่ระบบไฟฟ้า แต่จะเป็นแค่รถต้นแบบเท่านั้น ไม่มีแผนทำออกมาขายแต่อย่างใด

และก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน นิสสัน มอเตอร์จากญี่ปุ่น เปิดตัวรถไฟฟ้า “ลีฟ” เวอร์ชันล่าสุด ซึ่งเป็นความพยายามล่าสุดในการท้าทายเทสลา โมเดล 3 ของบริษัทรถไฟฟ้าของอีลอน มัสก์ที่เฉพาะปีที่แล้วเพียงปีเดียวกวาดยอดขายไปกว่า 80,000 คัน

ก่อนสิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มาสด้า มอเตอร์จากญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน แถลงไขในงานโกลบัล เทค ฟอรัมที่แฟรงค์เฟิร์ต เมื่อวันศุกร์ (8 กันยายน) ว่า นับจากปี 2035 รถทุกรุ่นของบริษัทจะมีเวอร์ชันไฟฟ้าหรือไฮบริด โดยจะเริ่มจากระบบไมด์ ไฮบริดสำหรับรุ่นหลัก เช่น มาสด้า 3 และ CX-3 ในปี 2019 ส่วนเวอร์ชันไฟฟ้าเต็มรูปแบบจะออกมาในปีถัดไป ตามด้วยปลั๊ก-อิน ไฮบริดรุ่นแรกในปี 2021

มาสด้าแจงว่า ที่สวนกระแสออกรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบก่อนปลั๊ก-อิน ไฮบริด เนื่องจากตลาดหลักของบริษัทให้การสนับสนุนรถไฟฟ้ามากกว่า ดังนั้น วิธีการนี้จึงน่าจะช่วยดึงดูดให้ลูกค้าหันมาหารถไฟฟ้ามาสด้ามากกว่าค่ายอื่นๆ นอกจากนี้มาสด้ายังกำลังหาสมดุลระหว่างสมรรถนะ ระยะทางที่วิ่งได้ และราคา เพื่อให้รถไฟฟ้าของบริษัทเป็นผู้นำในเซ็กเมนต์นี้

งานนี้มาสด้าไม่ได้มาเดี่ยวแต่เกี่ยวโตโยต้า มอเตอร์ พี่ใหญ่ของญี่ปุ่นมาด้วย เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ทั้งคู่เพิ่งต่อสัญญาเป็นพันธมิตรกันซึ่งครอบคลุมการร่วมพัฒนารถไฟฟ้าด้วย

ถัดมาอีกสามวัน (11 กันยายน) เดมเลอร์ บริษัทรถหรูใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศกับนักลงทุน ว่า นับจากปี 2022 เป็นต้นไป รถทั้งหมดกว่า 50 รุ่นในตระกูลเมอร์เซเดส-เบนซ์จะมีเวอร์ชันไฟฟ้าหรือไฮบริดเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า

ดีเธอร์ เซ็ทเช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ของเดมเลอร์ ยังคาดหมายว่า ภายในปี 2025 ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่และต้นทุนที่ลดลงอาจทำให้ราคาระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าใกล้เคียงกับระบบขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน

ล่าสุดแต่คงไม่ใช่ค่ายรถแห่งสุดท้ายที่ออกมาประกาศโรดแมปรถไฟฟ้า คือ โฟล์คสวาเกนที่แถลงในงานแฟรงค์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์เมื่อวันอังคาร (12 กันยายน) ว่า ภายในปี 2030 รถทั้ง 300 รุ่นของบริษัทจะมีเวอร์ชันไฟฟ้า รวมทั้งยังประกาศลงทุนเพิ่มในโครงการพัฒนารถปลอดไอเสียอีกเท่าตัวเป็น 24,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นอาจเป็นความพยายามเพื่อลบล้างภาพลักษณ์จากกรณีดีเซลเกต

โฟล์คสวาเกน เจ้าของ 12 แบรนด์ดัง อาทิ ออดี้ เบนท์ลีย์ และลัมโบร์กินี ปิดท้ายว่า ภายในปี 2025 จะเปิดตัวรถไฟฟ้าใหม่รวม 80 รุ่น


ที่มา : mgronline.com/motoring/detail/9600000094372