The Rising Star ผ่าสูตรปั้น “กิเลนผยอง”

“เมืองทอง ยูไนเต็ด” ทีมฟุตบอลที่แรงครบสูตร ด้วย “พลัง” หนุนที่เหนือคู่แข่งในทุกด้าน ตั้งแต่เงินทุนจากนักการเมือง สื่อที่ดันทีมให้ขึ้นมาอยู่ในสปอตไลต์ การตลาดครบวงจร จนได้แฟนคลับส่งเสียงเชียร์ดังสนั่นทั่วสนาม ผลงานนักเตะท็อปฟอร์มคว้าแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีก 2552 “กิเลน” ตัวนี้จึงผยอง กลายเป็นทีมที่ทรงอิทธิพลในวงการลูกหนังไปแล้ว

“เมืองทอง ยูไนเต็ด” เข้ามาด้วยสถิติ “3-3-3” คือก่อตั้งมาเพียง 3 ปี คว้า 3 แชมป์ คือดิวิชั่น2 ดิวิชั่น1 ต่อด้วยไทยพรีเมียร์ลีก ขยับขึ้นชั้นมา 3 ขั้นต่อเนื่องกันจากปี 2550 ถึง 2552 และยังทำยอดผู้ชมเฉลี่ยในสนามเพิ่มขึ้นพุ่งพรวดถึง 5 เท่าในปีนี้ปีเดียว แม้จะเป็นชื่อใหม่ในวงการ แต่ทีมาของสโมสรนี้ก็แข็งแกร่งด้วยคอนเนกเชั่น

สโมสรฟุตบอล “เมืองทองยูไนเต็ด” มาจากสโมสรหนองจอกพิทยานุสรณ์ ที่ก่อตั้งโดย วรวีร์ มะกูร์ดี ที่ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมฟุตบอลไทย จากนั้นก็เปลี่ยนมือไปยัง วีระ มุสิกพงศ์ ก่อนจะถูก ระวิ โหลทอง เจ้าพ่อสื่อกีฬา “สยามกีฬา” แห่งสยามสปอร์ตลงทุนเทกโอเวอร์มาเมื่อปี พ.ศ. 2549 แล้วย้ายมาที่สนามธันเดอร์โดม เมืองทองธานี และเปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองทอง ยูไนเต็ด” ใช้สัญลักษณ์ “กิเลน” คู่ไปกับฉายา “กิเลนผยอง” พ้องกับชื่อบริษัทรับจ้างพิมพ์ของเครือนี้ที่ชื่อ “กิเลนการพิมพ์”

ไม่ต้องเฉลยก็ชัดเจนว่า “ผู้ทรงอิทธิพล” ในแวดวงสื่อกีฬา อย่าง “ระวิ โหลทอง” ให้ความสนใจกับ “เมืองทอง ยูไนเต็ด” มากแค่ไหน

แม้จะอยู่เพียงระดับดิวิชั่น 2 ในปีนั้น แต่เมืองทอง ยูไนเต็ดถูกวางระบบให้บริหารแบบฟุตบอลอาชีพขนานแท้ “รณฤทธิ์ ซื่อวาจา” ผู้บริหารใหญ่แห่ง Cournot & Nash บริษัทที่ทำธุรกิจ Sport Marketing ในเครือสยามกีฬา ถูกวางให้มาเป็นผู้จัดการทั่วไป ดูแลเรื่องธุรกิจและการตลาดทั้งหมด พร้อมกับดึง Robert Porcurure นักธุรกิจและอดีตนักฟุตบอลอาชีพชาวเบลเยียมมาร่วมทุน และเป็นผู้จัดการทีมที่รับผิดชอบเรื่องกีฬาทั้งหมด

เพราะวางรากฐานตามแนวต่างประเทศไว้แต่แรก เมื่อ AFC ประกาศกฎข้อบังคับ Vision Asia ออกมาปีที่แล้ว ทางเมืองทอง ยูไนเต็ดจึงปรับตัวและขยายงานให้เข้าเกณฑ์ได้ไม่ยากนัก

เมืองทอง ยูไนเต็ด ยังเตรียมความพร้อมไปยาวถึงอนาคตและแตกไลน์ธุรกิจไปร่วมมือกับสถาบันสอนฟุตบอล JMG Academy จากประเทศ Ivory Coast ที่ปั้นนักฟุตบอลแอฟริกาจำนวนมากให้เก่งกาจโด่งดังมาแล้ว เช่น ดิดิเยร์ ดร๊อกบา ของเชลซี และนี่ก็คือที่มาของซูเปอร์สตาร์ของเมืองทอง ยูไนเต็ดคนปัจจุบัน คือ Sumahoro Yaya และนักเตะแอฟริกันอีกหลายคน

“รณฤทธิ์” เล่าย้อนให้ POSITIONING ฟังว่า สิ่งแรกๆ ที่สโมสรทำในช่วงนั้นก็คือ “ผ่าตัดใหญ่” ทีม โดยลงทุนซื้อนักฟุตบอลชั้นแนวหน้าเข้ามาหลายคน แล้ววางระบบค่าตอบแทนทั้งเงินเดือนประจำ เบี้ยซ้อม เบี้ยลงแข่ง เบี้ยชนะ ฯลฯ ให้สูงกว่าที่อื่น จนเมืองทอง ยูไนเต็ดเป็นอีกที่หนึ่งซึ่งนักฟุตบอลไทยปรารถนาจะมาค้าแข้งด้วย จากนั้นก็วางกฎไว้ว่า จากต้อง “เล่นเพื่อชนะ” แล้ว ยังต้อง “เล่นเพื่อ Entertain แฟนบอล” อีกด้วย ซึ่งรณฤทธิ์อธิบายว่าหมายถึงการทำเกมบุกสม่ำเสมอตลอดทั้งเกม

“บุกเข้าไป” ด้วย “แฟนคลับ”

เมื่อปัจจัยในสนามพร้อมทุกอย่างแล้ว สิ่งสำคัญต่อไปก็คือ “คนดู” ซึ่งทีมงานของเมืองทอง ยูไนเต็ดทุกคนยกให้เป็น “ผู้เล่นคนที่ 12” ที่สามารถสร้างบรรยากาศเพื่อกดดันคู่แข่งที่มาเยือนและเป็นพลังขับเคลื่อนให้นักเตะเมืองทองทุ่มเทมากขึ้นได้ด้วยเสียงปรบมือให้กำลังใจทุกครั้งที่ทำดีหรือทำพลาด และเสียงเร่งเร้า “บุกเข้าไป ! บุกเข้าไป !” เพื่อปลุกแรงฮึดจากนักฟุตบอลออกมาให้มากที่สุด

และไม่เพียงเท่านั้น บรรยากาศในสนามยังเป็นสีสันสำคัญ เป็น PR ชั้นดีที่ช่วยดึงแฟนบอล และเป็นแม่เหล็กดึงดูดสื่อมวลชนให้สนใจมาทำข่าว

จากสภาพเดิมของฟุตบอลไทยที่คนดูมาแบบตัวใครตัวมัน แต่งตัวกันหลากสีตามสบาย จะต้องถูกเปลี่ยนไปให้เป็นแนวเดียวกับสโมสรในต่างประเทศที่จะมีแฟนบอลกลุ่มใหญ่ใส่เสื้อทีมมานั่งด้วยกัน ร้องเพลงเชียร์ด้วยกัน ชูผ้าพันคออย่างพร้อมเพรียง

รณฤทธิ์เองและทีมงานจึงเข้าหาทำความรู้จักกับแฟนบอลรุ่นแรกของทีมซึ่งเป็นชาวเมืองทองธานีกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความทุ่มเทและจริงจังในการเชียร์ที่สุด พวกเขาเรียกตัวเองว่า “อุลตร้าเมืองทอง”

กองเชียร์ชุดแรกนี้ถูกดึงเข้ามาเป็น VIP ของสโมสรแบบที่ไม่มีการจ้างวานแต่อย่างใด แต่ให้ทุกคนมาเป็นส่วนหนึ่งของสโมสร ช่วยกันคิดเพลงเชียร์ รูปแบบการเชียร์ ได้สังสรรค์ใกล้ชิดกับนักฟุตบอล และมีอุปกรณ์เชียร์ให้ฟรีๆ ซึ่งได้รับจากสปอนเซอร์คือบริษัท “Kool” ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬา

“สโมสรรับฟังพวกเขาทุกอย่าง ติดต่อเจ้าหน้าที่ของเราได้ตลอดเวลา อยากขออะไรบอกมาได้หมด เช่นได้สิทธิซื้อตั๋วปีมีส่วนลดล่วงหน้าก่อนใคร ได้พบปะกินข้าวกับนักฟุตบอล ได้ร่วมเตะบอลนัดพิเศษในสนาม ถ้าไปเชียร์เวลาเราเป็นทีมเยือนที่สนามอื่น สโมสรก็จัดรถบัสให้ แต่มีค่าบริการ เพราะเราเห็นตรงกันว่าไม่อยากให้เป็นการจ้างวาน อยากให้การทำด้วยใจ ไปพร้อมๆ กับเป็นธุรกิจเต็มตัว”

จากนั้นชาว “อุลตร้าเมืองทอง” จึงพร้อมใจกันเป็นอาสาสมัคร กระจายกันไปยืนทั่วทุกโซนอัฒจันทร์เพื่อนำเชียร์ นำร้องเพลง กำหนดจังหวะแต่ละโซนสลับกันไปเพื่อให้บรรยากาศคึกคักได้ทั้งเกมโดยไม่เหนื่อย

“เราใช้วัฒธรรมการเชียร์ฟุตบอล J League ของญี่ปุ่นมาเป็นต้นแบบ เพราะคนญี่ปุ่นคล้ายคนไทย เขินๆ ไม่ค่อยกล้าแสดงออกถ้าไม่มีผู้นำ กองเชียร์อุลตร้าเมืองทองเลยต้องกระจายไปทั่วสนาม ยกเว้นก็แต่โซนที่จัดไว้ให้กองเชียร์ทีมเยือนนั่ง” รณฤทธิ์เปรียบเทียบให้ POSITIONING ฟัง

Know-how ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่บุคลากรของสยามปอร์ตมีกันอยู่แล้ว เช่นรณฤทธิ์เองก็เคยเป็นนักข่าวของสยามกีฬาที่ถูกส่งไปประจำในอังกฤษ ฉะนั้นระบบกลไกต่างๆ ของฟุตบอลอาชีพในยุโรปจึงซึมซับกันมานาน

สยามสปอร์ตนั้นลงทุนซื้อ “ห้อง VIP” ไว้ในสนามของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดและอีกหลายทีม เมื่อมาทำสโมสรฟุตบอลบ้าง จึงสร้างห้องวีไอพี 25 ห้องไว้ในสนามธันเดอร์โดมด้วย ขายในราคาห้องละ 7 หมื่นบาทตลอดชีพ ซึ่งรณฤทธิ์เผยว่าขายเกือบหมดแล้วโดยผู้ซื้อเป็นสปอนเซอร์และบริษัทต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าหรือผู้บริหารมาเข้าชม

ผนึกก๊วนการเมืองลงขันสปอนเซอร์

แม้จะมีแหล่งเงินทุนหนาอย่างค่ายสยามกีฬามาเป็นเจ้าของแล้ว แต่รายได้จากสปอนเซอร์ก็เป็นสิ่งสำคัญตามกฎของ AFC ซึ่งเมืองทองยูไนเต็ดก็มี Yamaha และ Nescafe มาเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่รายสำคัญตั้งแต่แรก โดย Yamaha เป็นสปอนเซอร์หลักได้โชว์ที่อกเสื้อชุดแข่งและเสื้อกองเชียร์ นอกจากนี้ก็ยังได้พื้นที่โฆษณาเป็นป้ายในสนาม และสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่นเดียวกับเนสกาแฟ ซึ่งรายนี้ “กึ้ง” เฉลิมชัย มหากิจศิริ” ครอบครัวนายทุนนักการเมือง กลุ่ม “ทักษิณ ชินวัตร” และพรรคเพื่อไทย เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าตัวเองเป็นนายทุนให้ทีม ซึ่งไม่แปลกที่ “กึ้ง” ถึงกับใส่เสื้อแข่งมานั่งกับสตาฟฟ์โค้ชและผู้จัดการทีมข้างสนามทุกแมตช์ จนเป็นส่วนหนึ่งของทีมไปแล้ว

ถัดจากอกเสื้อลงไป ไหล่เสื้อเป็นพื้นที่ของกระทิงแดง ของเศรษฐีระดับโลกอย่าง “เฉลียว อยู่วิทยา” ส่วน i-mobile ของกลุ่ม “สามารถ คอร์ปอเรชั่น” ที่มี “วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” ที่คอนเนกชั่นหนาแน่น ทั้งกับ “สยามกีฬา” เพราะทำธุรกิจคอนเทนต์ด้วยกัน และยังสัมพันธ์แน่นกับทุกพรรคการเมืองในปัจจุบันก็ได้พื้นที่แขน และยังมี เนสกาแฟ กับโค้กที่เน้นพื้นที่ในสนามมากกว่า นอกจากสปอนเซอร์แล้วยังมี Partner ที่ไม่มีเม็ดเงินให้ แต่ใช้การแลกเปลี่ยน “Barter” ป้ายโฆษณากับสินค้าหรือบริการ ได้แก่โรงพยาบาลพญาไทที่จัดรถพยาบาลและทีมแพทย์มาในสนาม, ธนาคาร LH Bank ที่เป็นแหล่งเงินกู้ของสโมสร และบริษัทขายอุปกรณ์กีฬา “Kool” ที่ผลิตอุปกรณ์ประกอบการเชียร์ให้ฟรีๆ

ไม่ใช่แค่ป้ายและหน้าโฆษณาเท่านั้น สปอนเซอร์ยังได้พื้นที่กิจกรรมอีเวนต์ต่างๆ เช่น บูธชิงโชคทุกนัดที่แข่งในธันเดอร์โดม, คลินิกฟุตบอลสอนเด็ก และได้เป็นรางวัลให้นักฟุตบอลยอดเยี่ยมและแฟนบอลผู้โชคดี

ปิดฤดูกาลไปแล้วด้วยแชมป์สำหรับ “เมืองทอง ยูไนเต็ด” แต่เส้นทางยังไม่สิ้นสุด เพราะการแข่งขันในสนามนี้เพิ่งเริ่มต้น Active และ Dynamic คือ 2 คำที่ยังดังก้องให้ทีมงานทุกคนทั้งในสนามและนอกสนามของเมืองทอง ยูไนเต็ดเป็นหลักคิดกับทุกงานที่ทำ นั่นคือความไม่หยุดนิ่งที่ต้องเติบโตอยู่เสมอ พร้อมจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สะท้อนผ่านการเปลี่ยนแปลงนักฟุตบอลตลอดเส้นทาง 3 ปีที่ผ่านมา บรรยากาศที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในการเชียร์ และทุกองค์ประกอบที่ยังต้องเดินหน้าต่อไปแบบธุรกิจใหม่ที่กำลังเร่งขยายกิจการอย่างสุดฝีเท้า

ขุมกำลัง

ชื่อทีม เมืองทอง ยูไนเต็ด
บริษัท เมืองทอง ยูไนเต็ด จำกัด
ประธานสโมสร ระวิ โหลทอง ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท สยามปอร์ต ซินดิเคต
ผู้จัดการทั่วไป รณฤทธิ์ ซื่อวาจา กรรมการผู้จัดการบริษัท Cournot & Nash และผู้จัดการฝ่ายการตลาดบริษัท Inspire
ผู้จัดการทีม โรเบิร์ต โปร์คูเรอร์ นักธุรกิจเบลเยียม อดีตนักฟุตบอลอาชีพ เป็นหุ้นส่วนของสโมสรด้วย ดูแลงานด้านกีฬาทั้งหมดของสโมสร
โค้ช อรรถพล บุษปาคม หรือ “โค้ชแต๊ก” อดีตนักเตะทีมชาติไทย
จำนวนนักเตะ 27 คน (ชุดไทยฯลีก) ต่างชาติ 5 คน
แฟนคลับ 3,000 คน ส่วนใหญ่พักอาศัยในเมืองทองธานี และย่านใกล้เคียง
คนดูเฉลี่ยต่อนัด เลกแรก 2,891 คน เลกสอง 8,000 คน
สปอนเซอร์หลัก “Yamaha”
กลุ่มนายทุน บริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคต
พื้นที่กลุ่มเป้าหมาย : นนทบุรี ปากเกร็ด งามวงศ์วาน สะพานใหม่ ดอนเมือง ไปจนถึงปทุมธานี
สื่อ : หนังสือพิมพ์สยามกีฬา, นิตยสารฟุตบอลสยาม, หนังสือ Guidebook, วิทยุ FM96, เคเบิล “สยามกีฬาทีวี”, เว็บไซต์ Siamsport.co.th, รายการของสยามกีฬาหลายรายการในช่อง 7 สี
เว็บไซต์ MtUtd.com

สัดส่วนรายได้

รายได้จากสปอนเซอร์นั้นเป็นรายได้ก้อนใหญ่ที่สุดของสโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด
ซึ่งยอดของปี 2552 คือ 15 ล้านบาท

รายได้จากค่าตั๋วจากสิบห้านัดในบ้านนั้นอยู่ที่ราว 7 ล้านบาท

รายได้อีกก้อนหนึ่งที่มาจากการขายของที่ระลึกและหนังสือ Guidebook ทุกนัด ราว 7 ล้านบาท

รวมรายได้ทั้งหมดของปี 2552 แล้วอยู่ที่ราว 30 ล้านบาท

สนาม ThunderDome
สนามธันเดอร์โดมที่เมืองทองธานีแห่งนี้ เดิมเกิดจากข้อตกลงสมัยเอเชี่ยนเกมส์ที่บริษัทบางกอกแลนด์สร้างแล้วให้การกีฬาแห่งประเทศไทยเช่าระยะยาว 30 ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ฉะนั้นเมื่อสยามสปอร์ตเช่าระยะยาวมาจากการกีฬาแห่งประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2548 จึงเหลือสัญญาอีก22 ปี

ความจุผู้ชม 17,000 คน (ขยายต่อเติมอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้วจุเพียง 7 พันคน)

ห้อง VIP 25 ห้อง ขายห้องละ 7 หมื่นบาท พร้อมอาหารเครื่องดื่มและบริกรระหว่างแมตช์

ห้องขายของที่ระลึก

ห้องสื่อมวลชน

แผนการขยายในอนาคต

Food Center

Spa

ร้านค้าให้เช่า

สนามฟุตบอลหญ้าเทียมให้เช่า