2 ต้นตำรับมาแรง หมดยุคฟิวชั่นฟู้ด

“ผมยืนอยู่ริมหน้าตาบนชั้น 14 ของโรงแรมใจกลางกรุงเทพฯ มองลงมาถ้าไม่เห็นป้ายร้านอาหารภาษาไทยคงนึกว่าที่นี่ คือ เซาเปาโล” ริชาร์ด เวลซ์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์แนวโน้มการตลาด โลว์ เคาน์เซล เปรย เมื่อเอ่ยถึงผลวิจัย Food for Thought ซึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจคือ Search for Authenticity

“เพราะแต่ละเมืองไม่ได้แสดงถึงรากเหง้าที่แท้จริงของตัวเอง ซึ่งเป็นคุณค่าเฉพาะตนให้ชัดเจน เช่น อาหารที่เป็น Heritage & Traditional Foods”

ความเป็นต้นตำรับหรือ Authenticity จึงเป็นสิ่งที่คนยุคนี้โหยหา ท่ามกลางสารพัดสิ่งปรุงแต่ง สุดท้ายการ Back to basic กลับมีคุณค่ามากกว่า

“คนจะมองหา Healthy Ethnic Cuisine เช่น อาหารเมดิเตอร์เรเนียน อาหารเซี่ยงไฮ้ อาหารอินเดีย และอาหารไทยแท้ๆ รวมถึงอาหารชนเผ่าอื่นๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ซึ่งเป็นต้นตำรับหาทานได้ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องปรุงแต่งสวยงามมากมายอะไร เพราะอีกความต้องการหนึ่งของผู้บริโภคคือมองหาอะไรที่เรียบง่ายแต่มีคุณภาพ”

Authenticity คือตำนาน และประวัติศาสตร์ รากเหง้าหนึ่งของวัฒนธรรมที่หาได้ยากในสังคมเมืองปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงทุกวินาที

การขยายธุรกิจของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ไปสู่สิงคโปร์ก็ด้วยแนวคิดที่ต้องการนำเสนออาหารไทยแท้ๆ ในรสชาติแบบไทยๆ สู่ต่างชาติ ซึ่งเป็นจุดต่างที่เชื่อว่าสามารถขายได้ ท่ามกลางกระแสฟิวชั่นที่แม้ด้านหนึ่งจะแสดงถึงพัฒนาการของการรับประทานอาหารของคนยุคใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าฟิวชั่น…บั่นทอนคุณค่าที่แท้จริงของอาหารที่ควรจะเป็น

ริชาร์ดบอกว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ กระแส Think Earth ยังคงระอุอยู่ส่งผลต่อพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตของคนทั้งโลกรวมถึงคนไทยด้วย แม้คนรวยจะเคยมอบใจให้กับฟัวกราส์ชิ้นอวบอิ่ม แต่เมื่อกระแสต่อต้านการทำร้ายสัตว์อย่างโหดเหี้ยมถูกเผยแพร่รวดเร็วปานไวรัส ทำให้คนกลุ่มนี้หันไปแสวงหาอาหารหรูหราแบบอื่นแทน แต่ขณะเดียวกันความหรูหราของมื้ออาหารนั้นก็เกาะเกี่ยวไปกับเทรนด์สุขภาพด้วย

“คนไทยจะ Live to Eat ไม่ใช่ Eat to Live มากขึ้น” ริชาร์ด เวลซ์ บอกสั้นๆ แต่เห็นภาพชัดเจน

นั่นหมายความว่าไลฟ์สไตล์การกินอันรุ่มรวย การสรรหาอาหารรสเลิศ ในสถานที่ซึ่งมีบรรยากาศสุดบรรเจิด คือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการเกินขอบเขตของคำว่ากินเพื่ออยู่ไปมากโข

ขณะเดียวกันก็มีพฤติกรรมการทานอาหารแบบทำลายธรรมชาติน้อยลง ด้วยแนวคิดสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและโลก

การได้กินอาหารต้นตำรับแม้จะต้องดั้นด้น แต่ก็ไม่ท้อถอยขอให้ได้ลิ้มรสถึงรสชาติแก่นแท้ของอาหาร ส่งผลให้พฤติกรรมรีวิวกระทู้เกี่ยวกับร้านอาหารที่เป็นต้นตำรับทรงอิทธิพลมากขึ้น และนั่นคือเสน่ห์ของ Search for Authenticity

คำว่า “เจ้าเก่า” อาจไม่เพียงพอที่จะดึงดูดนักชิม คงต้องสรรหาก๊อปปี้เด็ดกว่านั้น บางทีคำว่า “เจ้าแรก”อาจถือว่าเป็นเพียงแค่มาตรฐานเท่านั้น

ทั้งนี้พฤติกรรมการมองหา Authenticity เป็นเสมือนหนึ่งในเครื่องมือแสดงตัวตน บ่งบอก Identity ของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ ว่าตนเองมีความสามารถในการเข้าถึงสิ่งที่คนอื่นโหยหาเช่นกัน

โอกาสของ OTOP

เสาวณีย์ นพปราชญ์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารองค์ความรู้-วางแผนเชิงกลยุทธ์ โลว์ ประเทศไทย บอกว่า นี่คือโอกาสอันสดใสของสินค้า OTOP ที่จะได้เวลาเกิดอย่างจริงจังเสียที เนื่องจากมีส่วนผสมที่ลงตัวของ Authenticity กับ Craftmanship

นอกจากนี้ พฤติกรรมนี้ยังรวมถึงการมองหาสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังบริสุทธิ์ หรือยังสดใหม่ มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ปรากฏการณ์ปายก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น แม้ปัจจุบันปายจะเป็น Commercial City ไปแล้วก็ตาม ขณะที่ปรากฎการณ์เชียงคาน คือความร้อนแรงใหม่ของนักท่องเที่ยวในเวลานี้

น่าเสียดายที่ Authenticity ของสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ รักษาไว้ได้ยากกว่าอาหารสูตรต้นตำรับ

กระนั้นในยุคเศรษฐกิจถดถอย ริชาร์ดบอกว่า คนนิวยอร์กทานอาหารนอกบ้านน้อยลง ส่งผลให้ร้านอาหารกว่า 1,000 แห่งจากทั้งหมดราว 20,000 แห่งปิดตัวลง ขณะที่อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญอันเป็นปัจจัยภายในที่ทำให้ร้านอาหารนับพันต้องพ่ายแพ้ล่าถอยไป คือ ขาดแก่นแท้ของความเป็น Authenticity

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเทรนด์และเป็นโจทย์สำคัญที่นักการตลาดจะต้องเข้าถึง Authentic Lifestyle ด้วยวิธีการละเมียด เพราะคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากผู้บริโภคทั่วไปคือ “พิถีพิถัน” เสาวณีย์ให้ข้อคิดทิ้งท้าย