“Influencer” ขาดไม่ได้ในโลกสมาร์ทโฟน

ทุกแบรนด์สมาร์ทโฟนต้องพึ่งพวกเขา คือกลุ่ม Influencer ในโลกออนไลน์ ที่มีทั้งบล็อกเกอร์ ดาวเด่นใน Social Media ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ก เว็บมาสเตอร์ที่เข้าถึงวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ เพราะคนที่ซื้อสมาร์ทโฟนเกือบครึ่งจะหาข้อมูลจากเว็บไซต์ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะสมาร์ทโฟนต้องรู้เรื่องบ้างถึงจะใช้งานได้ ใช้เป็น และคุ้มค่า

พลังของผู้ทรงอิทธิพลเหล่านี้ ทำให้กลยุทธ์การบอกปากต่อปากหรือ Viral Marketing ได้ผลอย่างยิ่งเมื่อบวกกับการบอกจากผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือ เรื่องนั้นจะน่าสนใจยิ่งขึ้น

หลายแบรนด์ที่เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ นอกจากการจัดเปิดตัวกับนักข่าวสายไอที สายการตลาดแล้ว ต้องจัดช่วงเวลาพิเศษสำหรับกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์ด้วยอีกต่างหาก จาก 4-5 คน เมื่อหลายปีก่อน ในปัจจุบันขั้นต่ำอย่าง 20 คนที่ต้องพบกับผู้บริหารของแบรนด์สมาร์ทโฟนนั้นๆ

ไม่ว่าจะเป็นไอโฟน เอชทีซี โนเกีย ซัมซุงต่างใช้กลยุทธ์นี้

กระแสแรงนี้พิสูจน์ได้ชัด จากกลยุทธ์ของโนเกีย N900 ที่เวิร์คช็อปให้กลุ่มนี้ไปแล้วเพียงประมาณ 1 เดือนเริ่มมีบล็อกเกอร์เขียนถึง N900 แล้ว

ไม่เว้นแม้ในตลาดระดับกลางอย่างซัมซุงและเอชทีซี ที่พยายามเข้าถึงกลุ่ม Geek และแฟนคลับตามชุมชุนบนเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อเป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูลผลิตภัณฑ์สู่ผู้บริโภคได้อย่างดีเยี่ยม

“กลุ่ม Geek ถือเป็น Opinion Leader ของเรา เพราะเป็นคนที่สามารถบอกได้ว่าผู้บริโภคจะมีความโน้มเอียงไปด้านไหนและมีความเชี่ยวชาญในเรื่องแอพพลิเคชั่น ถ้ากลุ่มนี้บอกว่ารุ่นไหนดีก็มีโอกาสเกินครึ่งที่รุ่นนั้นจะประสบความสำเร็จ” สิทธิโชค จากซัมซุง บอกกับ POSITIONING ถึงการเลือกคุยกับกลุ่ม Geek โดยให้สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่กำลังจะออกมาทำตลาดไปทดลองใช้ ซึ่งตอนนี้มีกลุ่ม Geek ที่คุยเป็นประจำมากกว่า 10 คนแล้ว รวมทั้งยังมีแผนให้พัฒนาแอพพลิเคชั่นบนแพลตฟอร์มบาดาด้วยเช่นกัน

ส่วนกลุ่มแฟนคลับของซัมซุงที่อยู่บนเว็บไซต์เอ็มเอ็กซ์โฟนมักติดตามมือถือรุ่นใหม่ของซัมซุงเป็นประจำ ซึ่งเขามีการติดต่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องมือถือในกลุ่มฟีเจอร์โฟน

ขณะที่เอชทีซีซึ่งเป็นผู้นำแพลตฟอร์มแอนดรอยด์จากกูเกิลมาทำตลาดในไทยเป็นรายแรกก็มีความสัมพันธ์เหนี่ยวแน่นกับกลุ่ม Geek และขยายเครือข่ายอย่างรวดเร็วจากแรกเริ่มที่มีเพียง 15 คน และเพิ่มเป็นกว่าร้อยคนแล้วในปัจจุบัน และนอกจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่ม Geek แล้ว กลุ่มแฟนคลับที่ตั้งเป็นคอมมูนิตี้ในเว็บไซต์ต่างๆ ก็มีอิทธิพลได้ไม่แพ้กัน

“เราอยากคุยกับคนที่มีไอเดียว่าต้องการให้แอพพิเคชั่นสามารถทำอะไรได้บ้าง” ณัฐวัชร์ จากเอชทีซีบอก และเขาคาดว่ากลุ่มแฟนคลับแอนดรอยด์ของเอชทีซีที่ตั้งเป็นคอมมูนิตี้ในเว็บไซต์ดังๆ อย่าง สยามโฟน มิสเตอร์ปาล์ม และดรอยแซนดอทคอม จะเป็นผู้ช่วยสร้างสรรค์ไอเดียในส่วนนี้ได้