AR สัมผัสอีกมิติของแบรนด์

“อภิชัย เรืองศิริปิยะกุล” เจ้าของบริษัท Think Technology นักพัฒนา AR ที่ติดอยู่ในรายชื่อนักพัฒนา Layar คนแรกของไทย บอกว่านาทีนี้คือเวลาของ AR ซึ่งจากประสบการณ์ที่พัฒนา AR ให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ พบว่า AR ถูกใช้แล้วในหลายวงการ ดังนี้

1. วงการศึกษา การเรียนรู้ ที่หนังสือนิทานสามารถออกจากหนังสือกลายเป็น Animation บนหน้าจอให้เด็กได้เพลิดเพลินมากขึ้น
2. ใช้สำหรับการสาธิต หรือการเทรนนิ่ง เช่น รถยนต์บีเอ็มดับบลิวใช้ฝึกอบรมพนักงาน ใส่แว่นโดยมีจอมอนิเตอร์อยู่ให้เห็นภาพ ฝึกได้แม้กระทั่งการขันน็อต
3. การช่วยส่งเสริมการขาย เช่น ตัวต่อของ Lego ที่ลูกค้าสามารถดูได้ก่อนว่าตัวต่อในกล่องนี้จะทำอะไรได้บ้าง หรือการตกแต่งบ้าน ที่ผู้ขายมีเพียงห้องโล่งๆ แต่ให้ลูกค้าสามารถเลือกสินค้าจากภาพ AR ที่สร้างไว้ แล้วลองติดตั้ง เพื่อได้ตามที่ต้องการแล้ว ก็สามารถดูสินค้า หรือสั่งซื้อจริง หรือกรณีของโฟล์คสวาเก้น ที่เห็นโมเดลรถได้ชัดในมุมต่างๆ
4. การทำอีคอมเมิร์ซ เช่น การให้กล้องเว็บแคมฯ ตรวจจับใบหน้า แล้วลองทดสอบลองแว่นตาให้เข้ากับใบหน้า จากนั้นก็เกิดการสั่งซื้อสินค้า
5. การใช้เพื่อบอกข้อมูลมากขึ้น จากนามบัตร ซึ่งเดิมบนนามบัตรจะพิมพ์ข้อมูลจำนวนมาก เมื่อใส่ภาพที่เชื่อมโยงกับรหัสที่เขียนในเว็บไซต์ของตัวเอง ก็สามารถส่องจากเว็บแคมฯแล้วสามารถเห็นข้อมูลอื่นมากขึ้น หรือแม้กระทั่งเห็นเจ้าของนามบัตรออกมาพูดแนะนำตัวเอง
6. สามารถนำมาใช้กับธุรกิจท่องเที่ยว เช่น การส่องไปยังสถานที่โบราณสถาน แล้วสามารถเห็นภาพในมิติที่อาจเป็นสถานที่ในสภาพสมบูรณ์ในอดีต

หรือแม้แต่ในธุรกิจสิ่งพิมพ์อย่างนิตยสาร Esquire ที่เพียงแค่ส่องสัญลักษณ์ที่พิมพ์ไว้หน้าปกกับเว็บแคมฯ ก็สามารถเห็นภาพเคลื่อนไหว และสัมผัสประสบการณ์ AR ได้อย่างสมบูรณ์แบบ และนิตยสาร Esquire ก็ถูกพูดถึง หลายคนพิมพ์ปกเป็นกระดาษ A4 จากหน้าจอแล้วออกมาเล่นกับเว็บของ Esquire กันอย่างสนุกสนาน

นอกจากนี้ยังมีคอนโดมิเนียมบางแห่งที่สร้างภาพให้เห็นรายละเอียดของแต่ละชั้น ร้านค้าบางแห่งที่สร้างสัญลักษณ์ของร้านให้เห็นมากกว่าโลโก้ของร้าน หรือแม้แต่การลองนาฬิกา ที่มีแบรนด์ Tissot ทำแล้ว ให้ลูกค้าสามารถลองได้ 28 รุ่นโดยไม่ต้องไปที่ร้าน

“อภิชัย” สรุปว่าผลจากที่ลูกค้าใช้ AR ต่อแบรนด์มีอย่างน้อย 6 ข้อ คือ
1. การสร้างการจดจำตัวสินค้า เพราะประสบการณ์ที่ผู้ใช้จะมีต่อตัวสินค้ามีมากขึ้น แม้จะเป็นเพียงการยกภาพสัญลักษณ์ส่องเพื่อดูภาพ AR ก็ตาม
2. สะดุดตาเมื่อพบเห็น เพราะเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับลูกค้า
3. ให้ความทันสมัย ตอกย้ำความเป็นผู้นำ เพราะในช่วงนั้นคือช่วงเริ่มต้น
4. ก้าวไกลในเทคโนโลยี
5. ต้นทุนถูก ในราคาหลักหมื่นก็สามารถสร้างสื่อนี้ด้วย AR เมื่อเทียบกับการทำสื่อสิ่งพิมพ์ หรือทีวีซีสักเรื่อง
6. ทั้งหมดนำมาสู่การบอกต่อๆ กัน ถึงแบรนด์ (Buzz Marketing)

ในต่างประเทศนั้น “อภิชัย” มีลูกค้าที่ต้องการทำ AR บน Layar แล้วหลายราย โดยเฉพาะร้านอาหาร และในเมืองไทยเริ่มมีแบรนด์ต่างๆ ติดต่อเข้ามามากขึ้น ผ่านเอเยนซี่ หรือติดต่อโดยตรงบ้าง เช่นมีกรณีของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่นอกจาก AR จะสามารถทำให้เห็นจุดจำหน่ายได้แล้ว ยังสามารถสร้างรูป 3มิติ เห็นแก้ว หรือเห็นเป็นพนักงานลอยเด่นเป็นสัญลักษณ์ได้อีกด้วย

นอกจากThink Technology แล้ว ในวงการนี้ยังมีบริษัท LarnGear Technology ที่ “วิศิษฎ์ คุณาฤทธิพล” ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ ที่บอกว่ามีลูกค้ามากขึ้นที่ต้องการใช้ AR คือ บริษัทวังทองกรุ๊ป ทำไปแล้ว 2 เฟส ใช้แสดงโมเดลบ้าน จากเดิมที่ขนย้ายโมเดลไม่แสดงตามที่ต่างๆ มีกลุ่มทรูฯ ที่ใช้เป็นสื่อเทรนนิ่งภายในองค์กร และทำสื่อการสอนร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) เกี่ยวกับโครงสร้างโมเลกุลเคมี ประมาณ 1 พันชุด สำหรับ 1 พันโรงเรียน

AR ในวันนี้จึงไม่เพียงแค่เทคโนโลยีเท่านั้น แต่เสมือนการขยายขอบเขตจินตนาการของผู้คนให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ด้วยภาพที่เห็นเป็น 3 มิติ โดยเฉพาะนักพัฒนาแอพพลิเคชั่น และซอฟต์แวร์ ที่ AR ดึงให้พวกเขาสามารถเข้ามาสู่โลกของการตลาด สร้างแบรนด์และขายสินค้าได้เต็มที่ เป็นจริง และจับต้องได้มากกว่าเดิม