CEO Branding ละครชีวีต “วิกรม กรมดิษฐ์”

จากกลุ่มที่อ่านหนังสือตั้งแต่ “ผมจะเป็นคนดี” เล่มแรก จนถึง “มองซีอีโอโลก” ทำให้ “วิกรม กรมดิษฐ์” ซีอีโอ ของอมตะ คอร์ปอเรชั่น เข้าไปอยู่ในใจของคนจำนวนมาก ที่ตัวเขาเองคำนวณว่าจากยอดพิมพ์ประมาณ 1 ล้านเล่ม โดยนับการยืมกันอ่าน 1 เล่มต่อ 5 คน ทำให้อย่างน้อย 5 ล้านคนได้รู้จักเรื่องราวของเขา ซึ่งนั่นคือใช้เวลานานราว 7 ปี ความดังของ “วิกรม” น่าจะอยู่แค่นั้น แต่เป็นเพราะล่าสุดเขากลายเป็นซีอีโอที่มีละครออนแอร์ชีวิตตัวเองผ่านฟรีทีวี จากที่ไม่เคยมีซีอีโอคนไหนได้ทำมาก่อน แม้ว่าครั้งหนึ่งอดีตซีอีโอ และนายกรัฐมนตรีอย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” เคยพยายามแต่ก็ไม่สำเร็จ ละครว่าด้วยเรื่องของ “วิกรม” จึงสร้างกระแส และรักษาระดับความดังของแบรนด์บุคคลอย่าง “วิกรม” ให้ยังอยู่

ความกล้าเล่าเรื่องด้านมืดของตัวเองในประเด็นแรงเกือบจะฆ่าพ่อของตัวเอง กลายเป็นแสงเปิดทางให้ ”วิกรม” ได้เข้าถึงกลุ่มคนมากขึ้น จากหนังสือพ็อกเกตบุ๊กมาถึงผู้ฟังวิทยุบ่อยครึ่ง ได้แสดงวิสัยทัศน์ในด้านต่างๆ ได้ออกรายการทอล์กโชว์ วาไรตี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในประเด็นตั้งแต่ชีวิตดราม่าตั้งแต่วัยเด็ก วิสัยทัศน์นักธุรกิจ อยู่อย่างพอเพียง แต่มีที่ดินทำเลงามในเขาใหญ่ กับรถสปอร์ตหรูมูลค่านับร้อยล้านบาท

เรื่องราวน่าจะจบลงแค่นั้น “วิกรม” น่าจะอยู่เงียบๆ ที่เขาใหญ่ แต่ ”ผมจะเป็นคนดี” กลับมามีชีวิตชีวา Refresh Brand ให้ “วิกรม” อีกครั้งเมื่อกลายเป็นละคร ”ไฟอมตะ” ที่ฉายให้ผู้ชมทั่วประเทศดู ในช่วงไพรม์ไทม์ 2 ทุ่มครึ่ง แม้จะเบียดกับละครของช่อง 3 และช่อง 7 แต่ ”ไฟอมตะ” ก็หาเซ็กเมนต์ใหม่จากฐานผู้ชมช่อง 9 ได้ที่ส่วนใหญ่คือคนเมือง และเบื่อหน่ายกับแนวละครเดิม เรตติ้ง 1-2 (1.42 ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม) ในช่วงไพรม์ไทม์ที่ผู้คนส่วนใหญ่อยู่เฝ้าอยู่หน้าทีวี คือจำนวนกว่า 2 ล้านคน จึงเป็นผลวัดความสำเร็จได้ระดับหนึ่งว่าเพียงเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง ในเวลาเกือบ 3 เดือนคนนับล้านได้รู้จัก ”วิกรม” มากยิ่งขึ้น ภายใต้ตัวละครที่ชื่อ ”อาทิตย์” ชื่อที่เป็นความหมายของคำว่า ”วิกรม” นั่นเอง

เทคแรก ทรัพย์สินฯ เจเอสแอล จุดประกาย

“จำนรรค์ ศิริตัน” ซีอีโอ ของเจเอสแอล ในฐานะผู้ผลิตละครเรื่องนี้ บอกว่า ที่มาของ ”ไฟอมตะ” คือความลงตัวระหว่างคำแนะนำของผู้ใหญ่ในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่เห็นว่า ”วิกรม” เป็นตัวอย่างของนักธุรกิจในคอนเซ็ปต์พอเพียง จากก่อนหน้านี้มีโปรเจกต์ พ.ศ.พอเพียง ที่ให้เจเอสแอลผลิตสำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว เมื่อรวมกับความชื่นชมที่เธอมีต่อ ”วิกรม” จากการอ่านหนังสือ ”ผมจะเป็นคนดี” ด้วยตัวเอง จึงทำให้โปรเจกต์นี้เริ่มได้ทันที

ยิ่งไปกว่านั้น ”จำนรรค์” ก็ยังมีความเชื่อมั่น แม้รู้ว่าอาจจะเสี่ยงในการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชีวประวัติของคน ซึ่งกรณีของ ”วิกรม” หลายคนยังสงสัยอยู่ว่าเขาดังแล้วต่อไปจะเล่นการเมืองหรือไม่ สิ่งที่ ”จำนรรค์” บอกคือ เชื่อมั่นในสิ่งที่เขาบอก ณ วันนี้ว่าไม่มีทางที่จะเล่นการเมือง เพราะถึงอย่างไรคนเราต้องมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจ ถึงจะเป็นสังคมที่ดีอยู่ร่วมกันได้

สำหรับในมุมของธุรกิจบันเทิงนั้น เจเอสแอลยังมองว่าชีวิตของ ”วิกรม” น่าจะได้รับการตอบรับจากผู้ชม เพราะไม่ใช่แค่นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างเดียว แต่มีความยากลำบาก และปมขัดแย้งกับพ่อ รวมไปถึงความขัดแย้งในตัวเองที่ใช้ชีวิตพอเพียง แต่ก็มีรถหรู ถามว่าคนรับได้ไหม ตอนแรกก็ยังไม่แน่ใจนักสำหรับ ”จำนรรค์” เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเริ่มเทคแรกกับละครนี้ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นแบบโฟกัสกรุ๊ปกลุ่มคนจำนวนหนึ่งว่า ภาพความขัดแย้งแบบนี้ การใช้ชีวิต เช่น การแต่งกายกับรถหรูนั้น รับได้ไหม คำตอบคือส่วนใหญ่รับได้ เพราะนี่คือตัวตนของเขา และความพอเพียง ก็มิได้หมายถึงการห้ามใช้รถหรูหรา ในเมื่อเขาไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

เปลี่ยน “ผมจะเป็นคนดี” เป็น “ไฟอมตะ”

ในช่วงแรกเจแอสแอลเสนอชื่อละคร ตรงกับชื่อหนังสือคือ ”ผมจะเป็นคนดี” แต่ ”เขมทัตต์ พลเดช” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท หารือกับเจเอสแอลและเห็นว่าควรเลี่ยงชื่อที่ตรงกัน เพราะระบุถึงความเป็นตัวบุคคลมากเกินไป ซึ่งความเป็นบุคคลมีทั้งคนรักและคนเกลียด โดยเฉพาะเมื่อนำเสนอเป็นละครผ่านทีวี นั่นหมายถึงเข้าถึงกลุ่ม Mass เจเอสแอลจึงเสนอเป็นชื่อ ”ไฟอมตะ” ซึ่งถือว่าเป็นกลาง แต่ยังคงแก่นของเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ

โมเดิร์นไนน์ไม่อาจปฏิเสธความดังของ ”วิกรม” ที่ ”เขมทัตต์” บอกว่าการสร้างแบรนด์บุคคลเป็นกระแสที่มา แรงในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่านักการเมือง นักธุรกิจต่างอยากให้ตัวเองเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียง และสำหรับ ”วิกรม” ก็มีองค์ประกอบพร้อมที่ทำให้คนส่วนใหญ่สนใจ ได้ตั้งแต่ปัจจัยพื้นฐาน ครอบครัว การศึกษา การสร้างผลงานที่จับต้องได้ มีชีวิตด้านมืดและสว่าง ละครไฟอมตะ จึงได้เวลาออนแอร์ที่โมเดิร์นไนน์ทีวีไม่ยาก ด้วยยอดขายโฆษณาที่ไม่น้อยหน้า คือนาทีละประมาณ 3 แสนบาท และเรตติ้ง 1-2 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่มีกำลังซื้อ

ทุ่มทุน HD แตกโปรดักต์ไลน์ ส่งออก

“ไฟอมตะ” เป็นละครทีวีเรื่องที่ 3 ที่เจเอสแอลนำเสนอเรื่องบุคคล จากก่อนหน้านี้เคยสร้างเรื่อง พุ่มพวง ดวงจันทร์ และไชยา มิตรชัย และล่าสุด ”ไฟอมตะ” เป็นเรื่องเกี่ยวกับซีอีโอ หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 40-50 ล้านบาท สำหรับการถ่ายทำและเช่าเวลาสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ส่วนรายได้จากสปอนเซอร์ประมาณ 10 ราย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงบของสำนักงานทรัพย์สินฯ หรือแม้แต่งบจาก ”วิกรม”

เป็นละครที่ลงทุนสูง เพราะทั้ง ”วิกรม” และเจแอสแอล ต่างเห็นตรงกันว่าควรผลิตให้ได้มาตรฐานสากล อย่างที่ ”วิกรม” บอกว่าเหมือนของเกาหลีที่สามารถส่งออกได้อย่าง ”แดจังกึม” หรือที่หลายคนบอกว่าเหมือนโอชิน โมเดล  ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ จากโอชินโมเดลสู่ไฟอมตะ

“จำนรรค์” บอกว่าหนึ่งในคุณภาพของละครในยุคนี้ทั่วโลกคือการถ่ายทำด้วยภาพความละเอียดสูง (HD) สำหรับเรื่องนี้จึงลงทุนซึ้อกล้องสำหรับการถ่ายทำ HD 2 ตัว มูลค่ารวม 10 ล้านบาท เพราะเจเอสแอลและวิกรมเองก็ไม่ได้หวังแค่ว่าเมื่อไฟอมตะที่ออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์จบบริบูรณ์ไปแล้ว จะหายวับไปในอากาศ แต่แผนต่อไปคือการตัดให้เหลือประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่งบันทึกลงบนแผ่นดีวีดี เพื่อจำหน่าย และส่งออก

อมตะSMS-อีเมลช่วยโปรโมต

แม้เจเอสแอลมีการโปรโมต ”ไฟอมตะ” กับสื่อสายบันเทิงอยู่แล้ว รวมไปถึงการให้ ”วิกรม” ไปออกอากาศในรายการวาไรตี้บันเทิงต่างๆ ตั้งแต่โมเดิร์นไนน์ทีวี ไปจนถึงตีท้ายครัว แต่ก็ยังมีบางกลุ่มไม่รู้จัก ”ไฟอมตะ” จึงเป็นภาระหน้าที่ของทีมงาน ”วิกรม” ที่ได้ยินมาว่าช่วงเริ่มออกอากาศไปสักพักหนึ่ง เพื่อนๆ ของ ”วิกรม” และลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะยังไม่ทราบว่ามีละครไฟอมตะทางช่อง 9 และละครนั้นสร้างมาจากชีวิตจริงของ ”วิกรม” ฝ่ายเลขาของ ”วิกรม” จึงได้ปฎิบัติการประชาสัมพันธ์ในนามบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น ตั้งแต่ส่ง SMS อีเมลจนถึงสิ่งพิมพ์

ส่วนแรกคือรวบรวมรายชื่อติดต่อจากของ ”วิกรม” ประมาณ 800 เบอร์ และเพื่อนของน้องๆ “วิกรม” เช่น วิบูลย์ สมหะทัย และเบอร์ลูกค้าชาวไทยในนิคมฯ รวมประมาณเกือบ 2000 เบอร์ แล้วส่ง SMS เป็นระยะๆ ว่ามีไฮไลต์อะไรบ้างในสัปดาห์นั้นๆ

อีกส่วนหนึ่งคือส่งอีเมลประชาสัมพันธ์ละครให้พนักงานในอมตะช่วยกัน Forward ต่อๆ กัน เพื่อเรียกน้ำจิ้มเป็นระยะๆ เช่น การเปิดละครตัวอย่างให้พนักงานดูเวลามีการประชุมพนักงานประจำเดือน เพื่อให้เกิดความตื่นเต้นและบอกต่อๆ กันไป นอกจากนี้ยังมีบริษัทลูกเช่น Amata Water นำขึ้น Website และการลงบทความเรื่องละครและลงปก ในวารสาร @Amata ซึ่งเป็นวารสารที่บริษัทจัดทำแจกลูกค้าในนิคมราย 3 เดือน

จากจุดเริ่มต้นที่ ”วิกรม” ตั้งใจไว้ว่าจะไม่เป็นลูกจ้างใคร และจะเป็นเจ้าของกิจการ นั่นคือฝันสูงสุดในวัยเด็ก วันนี้เขาจึงมาไกลเกินกว่าที่เขาเคยฝัน ด้วยความมีชื่อเสียงที่อยู่ตรงหน้า ด้วยเรื่องราวที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ มากมาย เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากกว่านักการเมือง หรือรัฐมนตรีบางคนเสียอีก ทั้งหมด เป็นสิ่งที่เขาบอกว่าไม่ได้มีแผน และไม่เคยวางแผนที่จะดัง แต่ทั้งหมดเกิดจากสิ่งที่ทำและอยากทำ ที่ยังมีต่ออีกไม่รู้จบ

Timeline
จากวิทยุ พ็อกเกตบุ๊ก ละคร และสารคดีท่องเที่ยว
ปี 2544 จัดรายการกับ ”สุภาพ คลี่ขจาย” คลื่น 97
ปี 2547 พ็อกเกตบุ๊กเล่มแรก ”ผมจะเป็นคนดี”
จัดรายการวิทยุ 96.5 คลื่นความคิด
ปี 2551 รายการหมุนตามโลกกับวิกรม ช่อง 5
ปี 2553 – ละครไฟอมตะ
– พ็อกเกตบุ๊กมองซีอีโอโลกเล่ม 7
– “ “ กินอยู่อย่างวิกรม
ปี 2554 – เดินทางท่องเที่ยวมองโกเลีย 6 เดือน ถ่ายทำสารคดี เตรียมเสนอช่องสารคดีต่างประเทศ
– คาดจะเปิดตัวพ็อกเกตบุ๊ก My Lady