10 Digital Trends A Must Marketing

ในปี 2554 ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งมาแรง และประเมินกันว่างบโฆษณาที่จะไหลเข้ามาในสื่อนี้จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยเฉพาะ Social Media อย่าง Facebook ที่เป็นพื้นที่สำคัญของแบรนด์ เพราะไม่เพียงแบรนด์ที่เคยใช้จะทุ่มเงินเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีแบรนด์ใหม่ๆ กำลังอยากลงเงินเต็มที่ แต่โจทย์คือ ลงไปแล้วจะได้ผลอย่างที่ต้องการหรือไม่

มีคำตอบจากเทรนด์ดิจิตอลที่มาแรงในปี 2554 จาก 3 เอเยนซี่ คือ “จิณณ์ เผ่าประไพ” กรรมการผู้จัดการ MRM Worldwide ประเทศไทย อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ผู้ก่อตั้ง ธอมัสไอเดีย และจากแบรนด์ เบคเกอร์ โดย นิวัฒน์ ชาตะวิทยากูล และ สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล

1.Budget for Facebook

พีแอนด์จีโยกงบ 10% ใช้โซเชี่ยลมีเดีย
เมื่อผู้ผลิตคอนซูเมอร์โปรดักต์รายใหญ่อย่าง “พีแอนด์จี” บอกชัดเจนถึงการจัดสรรงบซื้อสื่อในปี 2554 ใหม่ เพราะการขยายตัวของเฟซบุ๊กที่มียอดผู้ใช้เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี จากเดิมที่เคยใช้งบ 80% ไปกับสื่อ TVC และ In store media 20% โดยในปี 2554 งบจากสื่อ TVC จะถูกโยกไปใช้กับสื่อ Social Media ถึง 10% งบ TVC จะเหลือ 70% ส่วนสื่อIn store ใช้เท่าเดิม

การออกมาเคลื่อนไหวของพีแอนด์จีครั้งนี้ย่อมไม่ธรรมดา เพราะการจัดสรรงบถึง 10% ของบริษัทพีแอนด์จีครั้งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คที่เข้าถึงพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเมธี จารุมณีโรจน์ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารผลิตภัณฑ์ดูแลภาพลักษณ์บุรุษ ประจำภูมิภาคเอเชีย พีแอนด์จี บอกว่า งบที่ใช้กับสื่อ Social Media จะถูกจัดสรร ใช้ในกิจกรรมการตลาดบนเฟซบุ๊กมากที่สุด รองลงมาคือ บล็อกเกอร์

เอ็มเคก็เอาด้วย
ส่วนเอ็มเคสุกี้ ก็กระโดดเข้าสู่โลกของโซเชี่ยลมีเดียอย่างเต็มตัว ฤทธิ์ ธีระโกเมนทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็มเค สุกี้ บอกว่า เฟซบุ๊กจะเป็นเครื่องมือการตลาดสำคัญในปี 2554 โดยล่าสุดเอ็มเคสุกี้ใช้โอกาสครบรอบ 25 ปี เปิดตัว “เอ็มเค เฟซบุ๊ก” เริ่มกิจกรรมแรกด้วยการให้ลูกค้า ส่งเมนูที่ชื่นชอบมาร่วมแชร์กันในเฟซบุ๊ก

เมื่อพฤติกรรมสำคัญของคอมมูนิตี้บนบนเฟซบุ๊กคือการแบ่งปันข้อมูล นิยมแชร์รูปภาพ เวลาทำกิจกรรมร่วมกันกลุ่มเพื่อน ไปร้านอาหาร และเมนูที่กินประจำ และวิธีการของเอ็มเค เป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างเนื้อหาที่ลูกค้าทำขึ้นเอง ไม่ได้เกิดจากแบรนด์ ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีกับแบรนด์ ไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียด และข้อมูลเหล่านี้ในที่สุด ย่อมไปกระตุ้นให้เกิดความต้องการไปกินในร้าน แทนที่จะนานๆ กินที ก็กินถี่ขึ้น เพราะมีเมนูใหม่ๆ ที่อยากไปลอง

สิ่งที่เอ็มเคจะได้รับจากเครื่องมืออย่างเฟซบุ๊ก นอกจากจะทำให้แบรนด์ได้สื่อสารกับผู้บริโภคได้โดยตรงแบบไม่ตกยุค กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนทำงานที่เป็นฐานลูกค้าสำคัญของเอ็มเคแล้ว ข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าบนเฟซบุ๊กยังเป็น “ฐานข้อมูล” สำคัญที่แบรนด์ได้จากผู้บริโภคโดยตรง โดยไม่ต้องพึ่งคนกลาง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ต่อเนื่อง ทำให้เท่าทันกับความต้องการลูกค้าได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการคิดเมนูใหม่ๆ ที่มาจากความชอบของลูกค้า และนำไปสู่การปรับปรุงบริการหรือสินค้า

แคนนอน
เฟซบุ๊กเป็นอีกหนึ่งมีเดียที่เราจะเข้าไปทำตลาดอย่างชัดเจน เพราะโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คมาแรงต้องยอมรับ เวลานี้แคนนอนมี Fanpageรวมอยู่ 24,000 ราย เป็นกล้องอิกซัส9,000 กว่าราย แบ่งเป็นอิกซัสโซไซตี้ 7,500 และมีวิดีโอ เข้ามาพูดคุย 8,600 กว่าราย

“โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คปีหน้าจะมีอะไรมันส์ๆ อีก ทีมงานกำลังเตรียม Launch เข้าสู่ตลาดในเร็วๆ นี้ มีการซ้อมทำการบ้านค่อนข้างเยอะทีเดียว” วรินทร์ ตันติพงศ์พาณิช ผู้อำนวยการอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป ส่วนงานคอนซูเมอร์อิมเมจจิ้ง แอนด์ อินฟอร์เมชั่น บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด

แรงได้อีก
ด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่มีกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก จึงทำให้เฟซบุ๊กกลายเป็นแหล่งข้อมูลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการทำตลาดออนไลน์ ที่บรรดานักการตลาดและแบรนด์ต่างๆ ต้องการใช้เพื่อสร้างกลยุทธ์สานสัมพันธ์กับลูกค้า

เฟซบุ๊กก็ไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เช่น Facebook Place ที่มาต่อยอดเรื่อง Location Base Service (LBS) ให้ใช้ง่ายและสะดวกขึ้น, Facebook Message ที่รวมระบบข้อความของเฟซบุ๊ก อีเมล SMS และแชตไว้ด้วยกัน แบรนด์จึงสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ทุกทาง โดยผูกกับอีเมลแอดเดรส @facebook.com, Facebook Shop ระบบอีคอมเมิร์ซบนเฟซบุ๊กที่ช่วยให้แบรนด์สามารถซื้อขายกับลูกค้าผ่านช่องทางนี้ได้เลย ซึ่งแอพพลิเคชั่นทั้งหมดนี้ออกแบบมาเพื่อช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างแบรนด์และกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น รวมทั้งลดความเป็นทางการลง และยังสามารถนำมาใช้ต่อยอดให้เกิด Brand Loyalty ได้ค่อนข้างสูง

“เฟซบุ๊กเป็นช่องทางที่ให้ธุรกิจแทรกเข้ามาพูดคุยกับกลุ่มคนได้มากขึ้น เพราะเป็นตัวเลขที่นับได้จากจำนวนแฟน” อุไรพร จากธอมัสไอเดียเผย แต่การวัดจากจำนวนอย่างเดียวไม่พอ ทุกวันนี้นักการตลาดเริ่มดูคุณภาพของแฟนมากขึ้น เช่น การติดตาม News Feed ของแบรนด์ที่แสดงถึงความสนใจของลูกค้า

คาด 10 ล้านคนไทยใช้เฟซบุ๊ก
โดยคาดว่าตัวเลขนี้จะเกิดขึ้นราวกลางปีหน้า ปัจจุบันมีคนไทยใช้เฟซบุ๊ก 6,579,700 คน เป็นอันดับ 21 ของโลก แบ่งเป็นผู้ชาย 45% ผู้หญิง 55% กลุ่มที่ใช้มากที่สุดคืออายุ 18-24 ปี รองลงมาคืออายุ 25-34 ปี

    Social Network

  • ในปี 2009 61% ของผู้บริโภคอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปมีโพรไฟล์ใน Social Network ขณะที่ในปี 2008 มีเพียง 41%
  • 50,000,000 คือจำนวนที่มีการทวีตต่อวัน เท่ากับว่ามี 600 ทวีตต่อวินาที
  • ผู้ใช้งาน Social Media มีเพื่อน 195คนโดยเฉลี่ย
  • 2,500,000,000 คือจำนวนภาพใหม่ที่ถูกอัพโหลดขึ้นบน Facebook ในแต่ละเดือน
  • ทุกๆ วินาที จะมีภาพถูกอัพโหลดจำนวน 964 ภาพ
  • มีมากกว่า 45,000,000 คลิปที่ถูกอัพโหลดบน Facebook
  • มากกว่า 120,000,000 คือจำนวนของวิดีโอบน YouTube ทั้งหมด
  • จำนวนวิดีโอที่อัพโหลดบน YouTube ในแต่ละวันอยู่ที่ประมาณ 200,000

2.Location Base Service (LBS)

เริ่มทำเงิน
แม้ว่าที่ผ่านมาบริการ Location Base Service (LBS) จะไม่เห็นภาพชัดเจนมากนักในเชิงการตลาด แต่เมื่อเร็วๆ นี้ดีแทคจับมือกับโนเกียนำบริการ Four Square มาสร้าง Value Added ให้กับแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกจับต้องได้ โดยร่วมมือกับร้านค้าชื่อดังที่อยู่ในกระแส เช่น After you, Sweet Hound, Iberry ให้ลูกค้าเช็กอินเพื่อรับเมนูพิเศษ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่แบรนด์ใหญ่หันมาใช้ Four Square อย่างเต็มตัว หลังจากที่ผู้ประกอบการรายเล็กใช้ทำการตลาดมาก่อนหน้านี้สักระยะแล้ว

โดยปีต่อไปจะมีบริการ LBS ใหม่ๆ ออกมามากขึ้น เช่น Facebook Place ที่มีข้อได้เปรียบกว่า Foursquare ตรงที่จำนวนผู้ใช้งานมากกว่าถึง 500 ล้านคนทั่วโลก ขณะที่ Foursquare มีเพียง 4 ล้านคนทั่วโลกเท่านั้น โดยคนไทยที่ใช้ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟน เพราะการใช้งานผ่านมือถือทั่วไปค่อนข้างยุ่งยากจึงเป็นอุปสรรคในการใช้งาน นอกจากนี้ Facebook Place ยังเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ อุปกรณ์ต่างๆ และสังคมออนไลน์อื่นๆ ได้มากกว่า

นิวัฒน์ให้ความเห็นว่า Facebook Place จะช่วยผลักดันเรื่องการทำตลาดของร้านอาหารและค้าปลีกได้มาก เพราะสามารถใช้งานได้บนมือถือผ่านแอพพลิเคชั่น และมีเมนูที่สามารถเช็กอินได้และทำให้รู้ว่าร้านนั้นมีดีลอะไรอยู่บ้าง และต้องทำยังไงถึงจะได้โปรโมชั่นนี้

3.VDO Content

สัมผัสกับแบรนด์
ช่วงนี้เรามักจะสังเกตเห็นว่าแบรนด์ต่างๆ เริ่มนำวิดีโอคลิปมาสร้างแคมเปญที่เกี่ยวกับแบรนด์มากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมคนส่วนใหญ่ที่ชอบดู ชอบฟัง มากกว่าอ่าน รวมทั้งมีปัจจัยอื่นๆ เสริม เช่น การใช้งานที่สะดวกขึ้นสามารถถ่ายแล้วอัพโหลดขึ้นยูทูบหรือเฟซบุ๊กได้ทันที มีอุปกรณ์ที่รองรับวิดีโอให้เลือกหลากหลาย รวมทั้งความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่ไวขึ้น จึงช่วยผลัดกันให้แบรนด์ต่างๆ หันมาใช้วิดีโอเผยแพร่บนสื่ออนไลน์แทนการโฆษณาผ่านสื่อทีวีที่ต้องใช้งบประมาณสูงมาก

“การที่ Property Perfect ทำวิดีโอแคมเปญขึ้นมาชื่อ ห้องตรงข้ามหัวใจตรงกัน เป็นการนำเสนอรูปแบบใหม่ เพราะกลุ่มเป้าหมายอยู่บนออนไลน์ทั้งหมดจึงไม่มีโฆษณาที่เป็นทีวีซีออกมา และทำเป็นเรื่องราวเพื่อให้คนอยากติดตามโดยแทรกสินค้าเข้าไป ทำให้คนดูรู้สึกดีกับแบรนด์มากกว่าการขายโปรโมชั่นตรงๆ เนื้อหาในวิดีโอก็สามารถสื่อถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่า และมีทัชพอยต์มากกว่า ทำให้คนรู้สึกยินดีเปิดรับโฆษณาที่เป็นหนังมากกว่าการโฆษณาทั่วไป” นิวัฒน์มองว่าการสร้างเรื่องราวให้มีความบันเทิงจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกดีและอยากเปิดรับสิ่งที่แบรนด์ต้องการสื่อ และเปิดรับมากกว่าโฆษณาบนทีวีซีทั่วไปเป็นการขายของ

ขณะเดียวกัน อุไรพร จากธอมัส ไอเดีย ให้ความเห็นว่า การสร้างวิดีโอแคมเปญบนเฟซบุ๊กและสื่อออนไลน์อื่นๆ นี้เป็นการสร้าง Brand Engagement เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายจดจำแบรนด์ได้ รู้สึกรักแบรนด์ เกิดการบอกต่อในด้านดี และส่งผลให้มีการซื้อสินค้า ดังนั้นวิธีนี้จึงเป็นการสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ทางหนึ่ง

ปรากฏการณ์ ”จิณณ์“ จาก MRMบอกว่ามาจากความพร้อมของเทคโนโลยีที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และราคาถูกลง ทำให้ดาวน์โหลดวิดีโอเร็ว และสะดวกขึ้น ต่อไปจะเห็น Smart TV ที่จะดูวิดีโอออนไลน์ได้หลายช่องทาง ทั้งคอมพิวเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอแพด แท็บเล็ต

Content Marketing
จะเป็นเครื่องมือบนออนไลน์ที่มีบทบาทมากขึ้น รูปแบบโฆษณาบนแบนเนอร์เปลี่ยนแปลง จะมีการใส่วิดีโอ ภาพ ข้อความ บล็อก เกม เพื่อดึงดูดความสนใจของคนดูมากขึ้น สามารถ Engage ให้ผู้ชมใช้เวลาอยู่กับแบรนด์มากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ การรับรู้เกี่ยวกับ Message ที่แบรนด์ต้องการสื่อสาร และหาก Content มีเรื่องราวถูกใจ ก็จะส่งต่อกลายเกิดเป็นกระแส Buzz

4.Branded Channel

บน YouTube
และการที่แบรนด์ต่างๆ หันมาใช้วิดีโอมากขึ้น ก็ส่งผลให้ยูทูบมีจำนวนผู้ใช้งานมากขึ้นตามไปด้วย โดยสุรศักดิ์จากแบรนด์เบคเกอร์ เผยว่า ตอนนี้ยูทูบกำลังจับตาดูคนที่ทำคอนเทนต์วิดีโอของตัวเองแล้วมีผู้ชมหลักแสนคนต่อวัน และมีแผนนำคนเหล่านี้มาเป็นคู่ค้าของตัวเองเพื่อหาโฆษณาให้ เหมือนเป็นดาราในสังกัด เพราะยูทูบเริ่มเห็นโอกาสของการทำโฆษณาในส่วนนี้นอกจากการให้แบนเนอร์ติดต่อเข้ามา ดังนั้นต่อไปจะเห็นแบรนด์ต่างๆ วิ่งเข้าหาดาราบนยูทูบมากขึ้น

“การที่แบรนด์ต่างๆ เริ่มเข้ามาที่ยูทูบก็จะเริ่มสร้าง Branded Channel ขึ้นมาเพื่อให้ปรับแต่งได้ตามแบรนด์หรือตามแคมเปญนั้นๆ” เขาเสริม ซึ่งก่อนหน้านี้มีคนดังที่เกิดบนยูทูบเป็นจำนวนมาก แต่คนเหล่านี้ก็มักจะถูกค่ายเพลงหรือค่ายหนังดึงไปพอสมควร ดังนั้นยูทูบจึงมองว่าถ้านำคนเหล่านี้มาปั้นเองเพื่อช่วยหารายได้ก็คงดี เพราะเป็นสเปซที่คนสามารถสร้างแบรนด์ของตัวเองได้มากพอสมควร

ขณะเดียวกันเขาก็มองว่าการที่แบรนด์ไทยจะสร้าง Branded Channel บนยูทูบอาจเป็นไปได้ยาก เพราะต้องมีการติดต่อกับยูทูบโดยตรง และจำเป็นต้องมีงบประมาณมากพอสมควร

5.Branded Application

สร้างแบรนด์ผ่านแอพฯ
แม้วันนี้จะมีระบบปฏิบัติการมาให้เลือกมากมาย แต่แอพพลิเคชั่นที่คนให้ความสนใจมักจะอยู่บน iTunes หรือ Apple Store มากที่สุด ซึ่งทุกครั้งที่แอปเปิลเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ก็จะได้รับการตอบรับดีจากผู้บริโภคเสมอ ไม่ว่าจะเป็น ไอโฟน ไอพอดทัช ไอแพด หรือล่าสุดไอโฟน4 ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องมีรายได้มากพอสมควรเพราะเป็นสินค้าราคาแพง จึงเป็นโอกาสดีสำหรับแบรนด์ที่ในการทำแอพพลิเคชั่นออกมาเพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจแมสเสจของแบรนด์

โดยสุรศักดิ์ยกตัวอย่าง “Zippo” แบรนด์ไฟแช็กชื่อดังจากอเมริกาที่ทำแอพพลิเคชั่นบนไอแพดขึ้นมาและมีลูกเล่นต่างๆ ที่แฝงการสื่อแมสเสจของแบรนด์ลงไปให้กับผู้เล่น เช่น สามารถเลือกลายไฟแช็กได้ มีเสียงเปิด สามารถเป่าได้จริงโดยที่ไฟไม่ดับ และลูกเล่นอื่นๆ อีกมาก ซึ่งแอพพลิเคชั่นนี้มียอดคนดาวน์โหลดถึง 10 ล้านคนทั่วโลก ดังนั้นการทำแอพพลิเคชั่นออกมาเพียงครั้งเดียวแต่สามารถทำให้คนจำนวนมากเห็นได้ และทำให้ผู้ดูรู้สึกสนุกกับสิ่งที่ได้รับและไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดแมสเสจนี้ด้วย

เช่นเดียวกับความเห็นของอุไรพร ที่มองว่าปีต่อไปแบรนด์ต่างๆ จะพากันเทงบเพื่อสร้างสรรค์แอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์ใหม่ๆ มากขึ้น โดยมีรูปแบบของแอพพลิเคชั่นที่ต่างกัน เช่น Commercial App ทำหน้าที่อัพเดตข้อมูลด้วยการ Push Update และเชื่อมผู้บริโภคไปสู่ข้อมูลบนเว็บไซต์ e-Magazine และ e-Catalog ที่ใช้เรื่องอินเตอร์แอคทีฟเพื่อให้มีเนื้อหาที่สนุกสนานและประทับใจ Shopping App และ Geo-Location App ที่กระตุ้นการซื้อขายบออนไลน์ได้ตรงจุด และ Social Mobile Game App ที่ใช้ความบันเทิงมาเป็นจุดแข็งและสามารถเข้าได้กับทุกกลุ่ม

6.Social Commerce & e-Commerce

ช้อปกระจาย
ทั้ง MRM ธอมัสไอเดียและแบรนด์เบคเกอร์ลงมติเป็นเสียงเดียวกันว่า “เทรนด์” ที่ชัดเจนที่สุดในปีหน้าคือเรื่องของการช้อปปิ้งออนไลน์ เพราะคนเริ่มกล้าซื้อของออนไลน์มากขึ้น รวมถึงห้างค้าปลีกชั้นนำก็เริ่มให้บริการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น เช่น เซ็นทรัล บิ๊กซี และเดอะมอลล์ ซึ่งมีภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่น่าเชื่อถือทำให้ผู้บริโภคมั่นใจและกล้าจ่ายเงินมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

“จิณณ์” ยังบอกว่า ในที่สุด e-Commerce ก็เกิดขึ้น เพราะแบรนด์ใหญ่กระโดดมาเต็มตัว กระแสนี้ยังทำให้เอสเอ็มอีและคนทั่วไปสนใจขายสินค้ามากขึ้น โดยผ่านเฟซบุ๊ก และในตลาดออนไลน์อย่าง tarad.com และ WeLoveShopping.com

ขณะที่กระแส Social Commerce ก็มีแนวโน้มาแรงในปีหน้า ด้วยการรวมตัวกันซื้อเพื่อให้ได้ส่วนลดที่ต้องการโดยใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เป็นเครื่องมือในการบอกต่อเพื่อเรียกคนที่สนใจมารวมกลุ่มกันซื้อดีลที่ต้องการ จึงเป็นการสร้างความต้องการจาก 1 คนแล้วกระจายออกไปอย่างรวดเร็ว เป็นวิธีที่จะทำให้ผู้บริโภครู้ว่าแบรนด์นี้มีโปรโมชั่นพิเศษอะไรบ้าง และที่สำคัญคือเร็วกว่าการยิงโฆษณาบนสื่อเดิมที่ต้องใช้งบลงทุนมาก

7.Influencer Marketing

ถึงเวลาเซเลบ บล็อกเกอร์เต็มเวลา
ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มักฟังเสียงคนรอบตัวและผู้เชี่ยวชาญมากกว่าการเชื่อข้อมูลที่สื่อจากแบรนด์โดยตรง จึงทำให้แบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าไอที เครื่องสำอาง หันมาใช้บล็อกเกอร์ช่วยทำการตลาดมากขึ้น
“ในอเมริกา แต่ละเอเยนซี่จะมีบล็อกเกอร์ในสังกัดตัวเอง ซึ่งตอนนี้เอเยนซี่ในไทยก็พยายามสร้างเน็ตเวิร์คบล็อกเกอร์ของตัวเอง เพื่อให้แบรนด์รู้ว่าถ้ามาติดต่อเขาจะได้บล็อกเกอร์คนไหนบ้าง ซึ่งอาจจะไม่บอกว่าเป็นใคร แต่จะบอกว่าโปรดักต์แบบนี้ก็จะมีบล็อกเกอร์กลุ่มหนึ่งที่ถนัดด้านนี้” สุรศักดิ์บอก และยอมรับว่าแบรนด์เบคเกอร์ก็มีการหาบล็อกเกอร์ให้เมื่อลูกค้าต้องการเช่นกัน

การให้ผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้พูดถึงแบรนด์จะเป็น User Opinion เหมือนกับการที่ค้นหาข้อมูลเพื่อซื้อของแล้วดูว่าคนอื่นมีความคิดเห็นอย่างไรกับแบรนด์ และเป็นสิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจอย่างมาก เพราะเวลาที่ผู้บริโภคจะหาข้อมูลซื้อสินค้าจะค้นหาข้อมูลโดย 1.ค้นในกูเกิล 2.โพสต์ถามบนเฟซบุ๊ก 3.โพสต์ถามบนทวิตเตอร์ ดังนั้นแบรนด์จึงต้องการใช้ผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคหันมาตัดสินใจซื้อแบรนด์มากขึ้น

Influencer ในออนไลน์ที่จะมาแรงและมีผลต่อกลุ่มเป้าหมายได้ดีนั้น ”จิณณ์” มองว่ามีกลุ่มเซเลบริตี้ที่หากสามารถใช้เครื่องมือออนไลน์ในการปฎิสัมพันธ์ เปิดตัวเอง พูดคุยกับแฟนๆ ของตัวเองได้ ก็จะส่งผลดีต่อแบรนด์ที่มาใช้ เปลี่ยนสถานะจากแค่เป็นพรีเซ็นเตอร์มาเป็น Influencer ได้ง่ายๆ อย่างกรณีของโดม ปกรณ์ลัม ที่เปิดตัวเองในโลกออนไลน์ด้วยคลิปอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังจะมีบล็อกเกอร์ที่ทำเป็นอาชีพกลายเป็น Influencer เต็มตัว ที่สามารถให้คำตอบที่ผู้บริโภคต้องการค้นหาได้

8.More Device & Internet Everywhere

ทุกวันนี้อุปกรณ์พกพาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มือถือ สมาร์ทโฟน ไอแพด แท็บเล็ต ล้วนเป็นอุปกรณ์สื่อสารแบบ On-the-Go Device ทำให้คนออนไลน์มากขึ้น มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้งานและการรับรู้ข้อมูลของผู้บริโภคอย่างคาดเดาได้ยาก ดังนั้นนักการตลาดจึงต้องเข้าใจและเลือกใช้เทคนิคการสื่อสารและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ให้เหมาะสม เพื่อทำการตลาดได้อย่างถึงตัวผู้บริโภค

9.QR Code that makes sense

ปี 2553 ได้เห็นหลายแบรนด์ใช้ QR Code แต่ยังไม่ได้ผลกันมากนัก เพราะบางแบรนด์ก็แค่เชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์องค์กร ซึ่งยังไม่เห็นธุรกิจค้าปลีกมาใช้เป็นคูปองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำมาเป็นส่วนลด “จิณณ์” มองว่า ถ้าค้าปลีกลงมาเล่นมากขึ้น และมีการเชื่อมต่อกับโมบายเว็บที่ออกแบบมาให้ใช้ได้ดีกับมือถือ ก็จะเห็นการใช้ QR Code มากกว่าเดิม
การพัฒนาของเว็บบนมือถือจะพัฒนามากกว่าเดิม เช่น ก่อนหน้านี้ QR code ที่แบรนด์ส่วนใหญ่ใช้โยงเข้าเว็บองค์กรที่มักมีภาพเคลื่อนไหวแบบ Flash Animation ที่ไม่สามารถเห็นได้ในมือถือ โดยเฉพาะจอเล็กหรือในไอโฟน ที่ไม่รับ Flash ในปีหน้าแบรนด์ที่หวังสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายผ่านมือถือจะมีการสร้างเว็บเฉพาะบนมือถือ เพื่อให้ใช้และเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

10.Google-Apple-Facebook

จากการวิเคราะห์ของอุไรพร มองว่า ทั้ง 3 แบรนด์นี้จะเป็น Online Advertising & Marketing Platform ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภค ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์มาตอบสนองความต้องการที่ไร้ขีดจำกัดของผู้ใช้งานบนโลกออนไลน์ได้อย่างดี ดังนั้นการวางแผนสื่อจะต้องเปลี่ยนรูปแบบวิธีการจากเดิมให้เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งการอัพเดตความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีและการจับตาดูพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเป็นสิ่งท้าทายนักการตลาดอย่างมาก

เนื่องจากกูเกิลมีโปรดักต์ในมือเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น AdWords, AdSense ที่ทำรายได้ให้เป็นจำนวนมากที่สุด รวมถึงกูเกิลทีวีที่รวมทีวีทั่วไปอย่างโซนี่ ซัมซุง ให้สามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ ดังนั้นอนาคตกูเกิลก็สามารถดึงโฆษณาบนอินเทอร์เน็ตมาไว้บนทีวีได้เช่นกัน ส่วนแอปเปิลก็มีโปรดักต์ที่เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแอปเปิลทีวีซึ่งเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กสำหรับเชื่อมต่อระหว่างทีวีทั่วไปกับอินเทอร์เน็ตเพื่อให้รับชมความบันเทิงจาก iTunes ได้ ขณะที่เฟซบุ๊กก็เชื่อมต่อกับมายสเปซได้แล้ว จึงสามารถแบ่งปันเนื้อหา เพลง รูปภาพ วิดีโอ เกม และลิงค์ต่างๆ ระหว่างกันได้ และเพื่อป้องกันไม่ให้ iTunes เข้ามามีบทบาท

สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล
“ในอเมริกา แต่ละเอเยนซี่จะมีบล็อกเกอร์ในสังกัดตัวเอง ซึ่งตอนนี้เอเยนซี่ในไทยก็พยายามสร้างเน็ตเวิร์คบล็อกเกอร์ของตัวเอง เพื่อให้แบรนด์รู้ว่าถ้ามาติดต่อเขาจะได้บล็อกเกอร์คนไหนบ้าง”

นิวัฒน์ ชาตะวิทยากูล
“กระแส Social Commerce ก็มีแนวโน้มาแรงในปีหน้า ด้วยการรวมตัวกันซื้อเพื่อให้ได้ส่วนลดที่ต้องการโดยใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เป็นเครื่องมือในการบอกต่อเพื่อเรียกคนที่สนใจมารวมกลุ่มกันซื้อดีลที่ต้องการ”

อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล
“การสร้างวิดีโอแคมเปญบนเฟซบุ๊กและสื่อออนไลน์อื่นๆ นี้ เป็นการสร้าง Brand Engagement เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายจดจำแบรนด์ได้ รู้สึกรักแบรนด์ เกิดการบอกต่อในด้านดี และส่งผลให้มีการซื้อสินค้า”

“จิณณ์ เผ่าประไพ”
“ในที่สุด e-Commerce ก็เกิดขึ้น เพราะแบรนด์ใหญ่กระโดดมาเต็มตัว กระแสนี้ยังทำให้เอสเอ็มอีและคนทั่วไปสนใจขายสินค้ามากขึ้น โดยผ่านเฟซบุ๊ก และในตลาดออนไลน์”