“Meta” อัปเดตนโยบายคอนเทนต์รอบใหม่ โดยจะเริ่มบังคับให้ติดป้ายเตือนว่าเป็น “คอนเทนต์ที่สร้างโดย AI” ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ บังคับใช้ทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในเครือ ได้แก่ Facebook, Instagram และ Threads
สืบเนื่องจากข้อแนะนำจาก “Oversight Board” หรือคณะกรรมการอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนโยบายด้านเนื้อหาบนแพลตฟอร์มของ Meta แจ้งว่า โซเชียลมีเดียของบริษัทมีนโยบายเกี่ยวกับคอนแทนต์ AI ที่ ‘แคบเกินไป’ ทำให้ Meta จะเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้
โดยคอนเทนต์ที่เป็นภาพ เสียง และวิดีโอทั้งหมดที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเครื่องมือ AI จะต้องมีป้ายเตือนกำกับไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเองโดยสมัครใจของผู้โพสต์ หรือเมื่อเครื่องมือ AI ของ Meta เองสามารถตรวจจับได้ว่า คอนเทนต์นั้นๆ ถูกสร้างขึ้นโดย AI อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้ข้อมูลรายละเอียดว่าจะมีการตรวจจับด้วยระบบไหน
ก่อนหน้านี้ นโยบายเกี่ยวกับคอนเทนต์ AI ของ Meta มีอยู่ข้อเดียวเท่านั้น คือ ห้ามลงโพสต์วิดีโอที่ปรากฏภาพเคลื่อนไหวของบุคคลที่พูดอะไรออกมาโดยที่เขาหรือเธอไม่ได้พูดจริงๆ แต่เป็นการสร้างขึ้นของ AI (Deepfake) นั่นทำให้นโยบายนี้ไม่ครอบคลุมมากพอไปถึงคอนเทนต์สร้างโดย AI อื่นๆ ที่กำลังท่วมท้นอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตขณะนี้
“ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงปีที่แล้วเพียงปีเดียว มีการพัฒนาเครื่องมือ AI ที่สร้างคอนเทนต์รูปภาพหรือเสียงได้เสมือนจริงมากขึ้น และเทคโนโลยีพวกนี้ก็กำลังพัฒนายิ่งขึ้น” Meta ระบุในบล็อกโพสต์แถลงเกี่ยวกับนโยบายนี้ “ตามที่ Oversight Board แจ้งมา การติดป้ายเตือนว่าเป็นคอนเทนต์ที่ AI สร้างขึ้นนั้นสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านโยบายห้ามโพสต์วิดีโอที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลหนึ่งกำลังพูดหรือทำอะไรที่เขาหรือเธอไม่ได้ทำจริง”
Meta ย้ำว่าสำหรับคอนเทนต์ที่สร้างโดย AI แต่สื่อสารสิ่งที่ผิดกฎร้ายแรงของแพลตฟอร์ม เช่น การรังแก ชักนำการเลือกตั้ง การคุกคามทางเพศ เหล่านี้จะถูกแบนออกจากระบบตามปกติแม้จะเป็นภาพหรือเสียงที่ทำขึ้นจาก AI ก็ตาม
- Google กำลังพิจารณาเก็บเงินค่าใช้ AI แบบพรีเมียมในบริการค้นหาข้อมูล มองเป็นแหล่งทำรายได้ใหม่ของบริษัท
- “DAPPER” เปิดคอลเล็กชันแรกที่ใช้ “AI” ช่วยออกแบบ กลยุทธ์ใหม่ใช้ “เทคฯ” เป็นเบื้องหลังธุรกิจเสื้อผ้า
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของ Meta หากสามารถทำได้จริงน่าจะช่วยให้ชุมชนผู้ใช้โซเชียลมีเดียใช้วิจารณญาณได้ดีขึ้นมาก Positioning พบว่าโลกอินเทอร์เน็ตปัจจุบันมีภาพที่ผลิตจากเครื่องมือ AI จำนวนมากที่เหมือนจริงอย่างมาก และถูกผู้โพสต์พิมพ์ข้อความประกอบเพื่อชี้นำว่าเป็นภาพที่เกิดขึ้นจริงอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาจจะนำไปสู่ข่าวปลอม (Fake News) ความเข้าใจที่ผิดในสังคม หรือการหลอกลวงต่อไปในอนาคตได้