Aliyun เดิมพันครั้งใหม่ ยุคคลาวด์คอมพิวติ้งของอลีบาบา

คนค่อนโลกรู้จัก อลีบาบา.คอม (alibaba.com) ในฐานะเว็บไซต์อันดับหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางการติดต่อระหว่างภาคธุรกิจจากทุกสารทิศทั่วโลก และผู้อ่านคอลัมน์นี้ประจำก็จะทราบดีว่า “ เถาเป่า.คอม (taobao.com)” คือหนึ่งใน 7 ของเว็บไซต์ในเครืออลีบาบา กรุ๊ปที่ได้เปลี่ยนจีนทั้งประเทศเข้าสู่ยุคอีคอมเมิร์ซอย่างเต็มตัว

แต่วันนี้เรามีเรื่องราวของบริษัทล่าสุดลำดับที่ 8 ของอลีบาบาชื่อว่า “อลีหยุน (Aliyun) หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Alicloud” ซึ่งเป็นการเดิมพันครั้งใหม่ในยุคที่โลกไอทีทั้งใบกำลังปรับสปีดเข้าและอ้าแขนรับกับเทคโนโลยีใหม่อย่าง “คลาวด์คอมพิวติ้ง”

คุณอ่านไม่ผิด…ใช่แล้ว “คลาวด์คอมพิวติ้ง” ศัพท์ที่พบเห็นบ่อยที่สุดในเว็บไซต์ไอที และสื่อสังคมตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา และเป็นคำเดียวกันกับที่ 98% ของคนทั่วไปไม่รู้ว่ามันคืออะไร? ส่วนกูรูก็มีข้อสันนิษฐานคล้ายๆ กัน 3 ประการ คือ

  1. ของเขาดีจริงหรือแค่แฟชั่น
  2. มันเป็นการสนับสนุนให้เกิดการผูกขาดจากบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ และ
  3. การเอาข้อมูลของทุกคนไปไว้รวมๆ กันมันดูไม่ปลอดภัยเอาเสียเลย

แต่ชั่วโมงนี้ บทบาทของอลีหยุนคือการพร้อมรุกและออกรบกับสมรภูมิคลาวด์คอมพิวติ้งอย่างเต็มตัว ด้วยการวางรากฐานไว้อย่างครอบคลุม ได้แก่

  1. การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้วยเซิร์ฟเวอร์นับหมื่นๆ เครื่อง
  2. สร้างระบบปฏิบัติการบนอุปกรณ์เคลื่อนที่
  3. สร้างซอฟต์แวร์ในรูปแบบของเว็บแวร์ใช้งานโดยไม่ต้องลงโปรแกรม เพื่อให้ทุกระบบทำงานอย่างเชื่อมโยงกันบนก้อนเมฆไอทีที่สุดล้ำ

หากคุณยังนึกไม่ออกว่าองคาพยพทั้งหมดมันทำงานอย่างไร? เราจะขอยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า อลีหยุนจะทำตัวเป็นทั้ง “Amazon Cloud และ Google Apps” ที่ให้เว็บไซต์ต่างๆ บริการเช่าพื้นที่โฮสเว็บ ทำตัวเป็น iOS, iTunes, iPhone, iPad และ iCloud ของแอปเปิลที่ให้บริการทั้งสร้างระบบปฏิบัติการ ขายมือถือและแถมพื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ที่ไม่ใช่แค่ 5 แต่สมนาคุณผู้ใช้แต่ละคนด้วยพื้นที่เก็บข้อมูล 100 กิกะไบต์! และเรียกมือถือเครื่องแรกของตัวเองว่า “Ali W700” ซึ่งถือเป็นมือถือคลาวด์คอมพิวติ้งเครื่องแรกในแผ่นดินจีน และในโลก

ระบบปฏิบัติการอลีหยุน จิ๊กซอว์ที่ถูกเติมเต็ม

ที่ผ่านมา “เถาเป่า” เปรียบเสมือนห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ที่เปิดตลอด 24/7 และทำให้การช้อปปิ้งออนไลน์ผสานเข้าไปในดีเอ็นเอของวัยทีนจีนได้สำเร็จในเวลาไม่ถึงทศวรรษ และถึงแม้โลกเรามีระบบปฏิบัติการมือถือนับสิบแล้ว แต่ตลาดจีนก็ใหญ่มากพอที่อลีบาบารู้ว่าจะลงทุนสร้าง “สิ่งใหม่” เพื่อ “ขายใคร”…(ประชากรเน็ตจีนในวันนี้มีทั้งหมด 485 ล้าน แต่ประชากรที่มีมือถือใช้ทะลุ 1 พันล้านคนแล้ว)

การเปลี่ยนจากบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ “Alisoft” ที่ไม่ทำเงิน เปลี่ยนมาเป็นทุ่มเวลาตลอด 3 ปีกับทีมโปรแกรมเมอร์อีก 1,200 คน และงบประมาณเต็มสูบอีก 300,000 ล้านบาท เพื่อทำ “ระบบปฏิบัติการมือถือ” ของตัวเอง ที่ใช้สารพัดเทคโนโลโยล่าสุดผสมกัน ไม่ว่าจะเป็น  คลาวด์คอมพิวติ้ง ลินุกซ์ HTML5 จนออกมาเป็น “อลีหยุน (Aliyun)” ระบบปฏิบัติการของมือถือ แท็บเล็ต พีซี และเบราว์เซอร์คอมพิวเตอร์ พีซี ที่ล้วนใช้ Open Source รวมถึงขายเครื่องมือถือเองด้วย ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ ไม่ผิดที่ฝรั่งจะมองว่า มันเป็นวิสัยทัศน์ของการ “ผูกขาด และกินรวบ” ของอลีบาบา ซึ่งไม่ต่างจากแอปเปิล และกูเกิลที่ทำเองตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ เพื่อการควบคุมดูแลทุกอย่างได้ดังใจ

หมดยุคการลงแอพฯ ในสมาร์ทโฟนแล้วหรือ?

ขณะที่คนทั่วโลกกำลังสนุกอยู่กับการดาวน์โหลดแอพฯ จากแอพสโตร์ลงมือถือสมาร์ทโฟน แต่มือถืออลีหยุนรุ่นแรกได้จ้างแบรนด์มือถือจีนอย่าง K-Touch ในการผลิตมือถือดูอัลคอร์ สเปกแรงๆที่มีจุดเด่นคือ ใช้งานเว็บไซต์ต่างๆ ได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดและลงแอพพลิเคชั่นใดๆ (แต่จะลงแอพฯ ก็ได้ โดยรองรับกับทุกแอพฯ ของแอนดรอยด์ด้วย) ไม่เปลืองเวลากดอัพเดต เพราะทุกอย่างระบบจะจัดการให้หมด ตราบใดที่เชื่อมต่อมือถือกับอินเทอร์เน็ต ทั้งยังมีพื้นที่เก็บข้อมูลที่ใหญ่กว่าฮาร์ดดิสก์ของเน็ตบุ๊กหลายๆ เครื่องนั่นก็คือ 100 กิกะไบต์ฟรีๆ เพียงพอกับการเก็บรูปได้ 1 แสนใบ เพลง 5 หมื่นเพลง รวมถึงเบอร์โทร SMS ปฏิทิน ฯลฯ

นอกจากนี้ มือถือเครื่องนี้ยังเข้าสู่โลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คจีนได้อย่างคล่องตัว เพราะมาพร้อมกับ เหรินเหริน (เฟซบุ๊กจีน) เวยป๋อ (ทวิตเตอร์จีน) ถูโต้ว (ยูทูบจีน) ให้เลือกเล่นจนหนำใจ และที่ขาดไปไม่ได้ก็คือ การผสานบริการทุกอย่างของเครืออลีบาบาทั้งหมดเข้าไปด้วย ได้แก่ ระบบอีเมล แผนที่ เบราว์เซอร์ ฯลฯ ซึ่งทุกอย่างล้วนทำให้เชื่อมต่อกับการช้อปปิ้งและจ่ายเงินออนไลน์ของเถาเป่าได้อย่างเนียนๆ เท่ากับว่ายุค Mobile Commerce ในจีนถูกเปิดฉากอย่างเป็นทางการแล้ว

วันที่ 28 กรกฎาคม เป็นวันที่เปิดตัวแพลตฟอร์มอลีหยุน และก็เป็นวันเดียวกับที่มือถือเครื่องนี้ได้วางขายผ่านเว็บเถาเป่าเอง ในราคาเครื่องละไม่ถึง 15,000 บาท ตัวเครื่องมี 10 เฉดสี (ถ้าเป็นลูกค้าเถาเป่ามา 7 ปีลดอีก 5,000 บาท) เมื่อเปิดตัววันแรกขายได้ 30,000 เครื่องจึงไม่ใช่ตัวเลขที่ต้องตกใจ

เส้นทางที่ “อลีหยุน” จะมุ่งไป ก็ไม่ต่างไปจาก “กูเกิล” ที่เริ่มต้นจากการบริษัทอินเทอร์เน็ตที่เมื่อแข็งด้านเว็บแล้วก็หันมาทำโปรเจกต์ที่ใหญ่ขึ้นอย่างทำระบบปฏิบัติการของตัวเอง แต่สิ่งที่เรายังบอกไม่หมดก็คือ อลีบาบายังเตรียมนำระบบปฏิบัตินี้แปลเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลกและท้าชนกับกูเกิลเสียเองในปลายปีนี้ด้วย!

ผู้เขียนมองว่า การรุกครั้งนี้ของอลีบาบา ไม่ใช่แค่ “การเลียนแบบ” หลายบริการจากตะวันตก แต่เป็นการสร้างกำแพงเมืองจีนครั้งใหม่ด้วยเทคโนโลยีของตัวเอง (ที่ถึงแม้จะมาจากการผสมของเทคโนโลยีจากหลายชาติตะวันตกก็ตาม) ซึ่งก็ไม่ต่างจากระบบ เครือข่าย 3G (TD-SCDMA) ระบบดิจิตอลทีวี (DTMB/TH และ CMMB) และระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่สุดในโลก ซึ่งล้วนมาจากการ Adopt และนำมา Adapt จนสำเร็จแล้วทั้งสิ้น

ถึงแม้ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านผู้เขียนจะติดตามเรื่องราวของการก้าวเข้าสู่โลกยุคหลังพีซี ที่มีคอนเซ็ปต์ว่า คนจะอยู่กับอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้น และใช้งานโปรแกรมต่างๆ ได้โดยไม่ต้องลงโปรแกรม แต่ก็ไม่คิดเลยว่าทั้งหมดนี้ จะมีบริษัทใดที่เตรียมพร้อม (หมดแล้ว) กับยุคไอทีในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ได้ “รวดเร็ว” เท่ากับอลีบาบาในวันนี้อีกแล้ว

จึงอาจกล่าวได้ว่า ปัจจัยที่จะทำให้ “จีน” กลายเป็นมหาอำนาจที่น่ากลัวในวันหน้า ไม่ใช่ที่ตัวเลขประชากรนับพันล้านอีกต่อไป แต่กลับเป็น “การสร้างเทคโนโลยีของตัวเอง” เพื่อขยายอาณานิคมใหม่ในโลกไซเบอร์ต่างหาก! และไม่ใช่แค่อลีบาบา เพราะอีก 2 บริษัทเน็ตยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง “ไป๋ตู้” (กูเกิลจีน) และเท็นเซ็นต์ (ผู้สร้างโปแกรมแชต QQ) ก็เตรียมหมัดเด็ดเอาไว้เขย่าโลกอีกเพียบ!

คลาวด์คอมพิวติ้ง คือ การผันให้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกทำงานเชื่อมโยงหากันและกัน เพื่อประมวลผลการทำงานได้ทันท่วงที ระบบนี้จะทำให้ 3 ผู้เล่นในโลกไอทีอย่าง ผู้ดูแลระบบฮาร์ดแวร์ ผู้สร้างสรรค์เว็บไซต์ และผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ ได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล ดังนี้

ผู้ดูแลระบบฮาร์ดแวร์ : ไม่จำเป็นจะต้องลงทุนเป็นแสนๆ เพื่อซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์ หรือคอมพิวเตอร์ที่มีความจุและหน่วยประมวลผลที่แรงกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านสำหรับเก็บข้อมูลต่างๆ แต่เปลี่ยนมาเป็นเช่าพื้นที่จากผู้ให้บริการระบบเครือข่ายคลาวด์ คอมพิวติ้ง ที่มีฟาร์มคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทั่วโลกแทน และเมื่อใดที่เกิดการใช้งาน จึงจะต้องเสียเงิน

ผู้สร้างสรรค์เว็บไซต์ : เว็บไซต์ในอนาคตต่อไป ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่สำหรับหาหรือแสดงข้อมูลเท่านั้น แต่อนาคตอันใกล้นี้ เว็บไซต์ (เว็บแอพพลิเคชั่น) ต่างหากกำลังจะมาแทนที่โปรแกรมต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา หรือแม้กระทั่งมาแทนระบบปฏิบัติการอย่าง วินโดว์ ที่เรารู้จักกันดี เท่ากับว่าเพียงต่ออินเทอร์เน็ต คุณก็สามารถเข้าถึงข้อมูลทุกอย่าง และใช้งานทุกโปรแกรม เพียงแค่คลิกที่โปรแกรมเปิดเว็บ หรือเบราว์เซอร์ แทนการเลือกเปิดโปรแกรมแต่ละโปรแกรม ซึ่งเกือบทุกเว็บจะให้บริการฟรี แต่ถ้าต้องการความสามารถที่เพิ่มขึ้นจะต้องจ่ายเงิน ซึ่งก็มีให้เลือกเป็นรายครั้งและรายเดือน

ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ : ไม่ว่าอุปกรณ์ไฮเทคใดๆ อาทิ มือถือ เน็ตบุ๊ก ฯลฯ ที่ติดตัวคุณอยู่ก็สามารถช่วยให้คุณเข้าถึงทุกข้อมูลที่คุณเก็บไว้ในอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังหมดปัญหาการซื้อและติดตั้งโปรแกรมต่างๆ ลงในเครื่องคอมฯ รวมถึงปัญหาที่แสนปวดหัวในการอัปเกรดโปรแกรมให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดก็จะหมดไปด้วย และข้อดีที่สุดคือ มันสามารถทำให้คุณและเพื่อนทำงานพร้อมๆ กัน ดู แก้ไข และเพิ่มเติมเนื้อหาได้เหมือนนั่งกุมเม้าส์ตัวเดียวกัน ทั้งๆ ที่แต่ละคนอยู่คนละซีกโลก นั่นก็เพราะทุกคนอยู่ภายใต้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเหมือนๆ กันนั่นเอง!