TUFF Camp ค่ายมวยไทย ลุคอินเตอร์

เมื่อพูดถึงค่ายมวยไทย เรามักคุ้นชินกับภาพเวทีมวยไม่ได้ตกแต่งอะไร มีเพียงกระสอบทรายสีดำ และนวมที่ใช้งานมาแบบเต็มอัตราศึก แต่ “TUFF Camp” ค่ายมวยไทยสไตล์ใหม่ย่านเอกมัยแห่งนี้ กลับตกแต่งด้วยสไตล์ Graffiti ที่ดูทันสมัย เพื่อให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายคือคนทำงานรุ่นใหม่ ดีไซเนอร์ วงการแฟชั่น ดีเจ ผู้บริหารธุรกิจ ที่เลือกมวยไทยเป็นกีฬาสุดฮิตในการออกกำลังกาย 

วุฒินันท์ สังข์อ่อง หรือ โอ๊ค ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทัฟฟ์ คัมปานี จำกัด ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจออกแบบและจำหน่ายอุปกรณ์มวยไทยส่งออกต่างประเทศ ผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้แบรนด์ “TUFF” ต่อมาจึงได้เปิดเป็นค่ายมวยไทย TUFF Camp ขึ้นมา เพิ่งเริ่มต้นเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อหลังสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยการรวมตัวกับกลุ่มเพื่อนสนิทสมัยเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยอีก 4 คนคือ จิรพัฒน์ ดวงพัตรา, พ.ต.ท.จิรกฤต จารุนภัทร์, ดิเรก ตาครู และ นิรัช ตาครู ช่วยกันก่อตั้งและบริหาร TUFF Camp ซึ่งเดิมเป็นธุรกิจฟิตเนสของหนึ่งในหุ้นส่วนที่ตั้งอยู่ในเอกมัยซอย 2 และนำมารีโนเวตเป็นค่ายมวยไทย เพื่อรองรับคนทำงาน ที่เวลานี้หันมาสนใจเรียนมวยไทยมากขึ้น จะได้เดินทางมาเล่นกีฬาได้สะดวกยิ่งขึ้น เพราะอยู่ใจกลางเมืองที่มีรถไฟฟ้าผ่าน 

“ที่คนหันมาต่อยมวยมากขึ้นเพราะอยากออกกำลังกาย เมื่อก่อนจะเป็นยุคของการออกกำลังในฟิตเนสต่างๆ แต่ก็มีกลุ่มคนที่เบื่อการออกกำลังกับเครื่องจักร และหันมาออกกำลังกับกีฬาอย่างมวยไทยแทน” โอ๊คบอกถึงเหตุผลที่ทำให้ “มวยไทย” กลายเป็นกีฬายอดฮิตในหมู่คนเมืองตอนนี้ ซึ่งในสหรัฐอเมริกาให้ความสนใจกีฬามวยไทยมาหลายปีแล้ว โดยถูกเพิ่มเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาในฟิตเนส และเมื่อ 3 ปีก่อนมีนักธุรกิจชาวไทยในสิงคโปร์นำไอเดียนี้ไปเปิดธุรกิจค่ายมวยไทยที่นั่นจนได้รับความนิยมในหมู่คนทำงานระดับไฮเอนด์

เขาเล่าว่า TUFF Camp ก็ใช้กลยุทธ์เดียวกับค่ายมวยไทยในสิงคโปร์ ซึ่งมีคนทำงานมาใช้บริการค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้หญิงที่หันมาต่อยมวยมากขึ้น ซึ่งต่างจากการออกกำลังในฟิตเนสที่เน้นเฉพาะส่วนของร่างกาย แต่มวยไทยได้ใช้ทุกส่วน ทำให้รูปร่างเฟิร์ม กระชับ และดูสมส่วน มีกล้ามเนื้อที่ดูสวยงามกว่า อีกทั้งยังเป็นกีฬาที่ได้ปลดปล่อยอารมณ์จึงเป็นการพักผ่อนไปในตัว 

ในฐานะที่เป็นคนชอบเล่นกีฬาอยู่แล้ว โอ๊คบอกว่ากีฬาที่คนไทยส่วนใหญ่ชอบคือฟุตบอล แต่เป็นกีฬาที่ต้องมีการฝึกฝนตั้งแต่แรก ใช้ทักษะค่อนข้างมาก ที่สำคัญคือเล่นเป็นทีม ดังนั้นถ้าใครเล่นไม่ดีก็จะเป็นตัวถ่วง ขณะที่มวยไทยเป็นกีฬาที่ใช้เวลาฝึกฝนไม่นานก็สามารถเล่นเป็นได้แล้ว อีกทั้งยังเป็นกีฬาที่เล่นคนเดียวจึงไม่มีใครมากดดันนอกจากตัวเอง ซึ่งเขามองว่านี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คนไทยหันมาต่อยมวยไทยมากขึ้น 

ด้วยความที่โอ๊คเชี่ยวชาญด้านการทำตลาดออนไลน์ จึงนำกลยุทธ์ที่เคยใช้กับ TUFF มาใช้กับค่ายมวยเช่นกัน โดยใช้ช่องทางผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คอย่างเฟซบุ๊ก ยูทูบ เว็บไซต์ Tuffcamp.in.th รวมทั้งเคยทำการตลาดผ่านดีลออนไลน์กับเอ็นโซโก้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา 

“ตอนนั้นเราขายดีลได้มากพอสมควร อยู่ในระดับหลักร้อย แต่คนกลับมาเล่นไม่ถึงเพราะติดปัญหาเรื่องน้ำท่วม” โอ๊คบอก ซึ่งตอนนั้นเขาใช้พื้นที่ย่านหลักสี่ซึ่งเป็นออฟฟิศเป็นค่ายมวย ต่อมาจึงยุบแล้วมาเปิดที่เอกมัยแทนเพราะช่วยลดปัญหาเรื่องน้ำท่วมและสะดวกต่อการเดินทางสำหรับลูกค้าชาวไทย และเร็วๆ นี้อาจมีการทำตลาดผ่านดีลอีกครั้งเพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปมาทดลองต่อยมวยไทยที่สาขาเอกมัย ซึ่งนอกจากการทำตลาดผ่านออนไลน์แล้วเขายังใช้กลยุทธ์ทำตลาดแบบการบอกต่อมากกว่าการลงโฆษณากับสื่อต่างๆ 

เนื่องจากค่ายมวยที่เอกมัยนี้เพิ่งเปิดได้เพียงเดือนเดียวจำนวนลูกค้าจึงยังไม่มากนัก ผู้ที่มาเล่นส่วนใหญ่จึงมาจากการบอกต่อในกลุ่มเพื่อนแล้วมาทดลองเล่น และเป็นที่นิยมมากในหมู่ดีไซเนอร์และวงการแฟชั่น เช่น ดีไซเนอร์และพนักงานเสื้อผ้าแบรนด์ Kloset, Sleeping Pills, Milin, กองบรรณาธิการนิตยสาร Elle เป็นต้น รวมถึงดีเจคาร์ล่า ปอร์เทอร์ จากคลื่น Met 107 และ อริยะ พนมยงค์ ผู้จัดการกูเกิล ประเทศไทย ที่ให้ความสนใจมาต่อยมวยที่ TUFF Camp ด้วยเช่นกัน ซึ่งโอ๊คก็ไม่ได้ตั้งเป้าจำนวนสมาชิกคนไทยไว้มากนักเพราะมีพื้นที่จำกัด และต้องการความเป็นส่วนตัวจึงไม่อยากให้แออัดเหมือนการเล่นในฟิตเนส 

เมื่อถามถึงมูลค่าตลาดของธุรกิจค่ายมวยไทยในตอนนี้ เขามองว่ายังเป็นธุรกิจที่ใหม่มากเพราะเพิ่งได้รับความนิยมในหมู่คนทั่วไปได้เพียงปีเดียว จึงยากที่จะประเมิน และคนที่มาทำธุรกิจนี้จึงเพิ่งเริ่มด้วยกันทั้งหมด และยอมรับว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง สำหรับคู่แข่งทางตรงของ TUFF Camp คือผู้ที่เปิดค่ายมวยไทยเพื่อให้คนออกกำลังโดยเฉพาะ และเชนฟิตเนสจากต่างประเทศที่เปิดสอนกีฬามวยไทยเพิ่มขึ้นมา ส่วนเป้าความสำเร็จที่วางไว้คือทำที่สาขาเอกมัยให้อยู่ตัวก่อนแล้วค่อยขยายสาขา ซึ่งต้องดูเทรนด์ก่อนว่าเป็นอย่างไร 

ทั้งนี้อัตราค่าบริการของ TUFF Camp จะอยู่ที่ 1 ครั้ง 500 บาท, 3 เดือน 6,000 บาท, 6 เดือน 9,000 บาท และ 12 เดือน 15,000 บาท ซึ่งจัดว่าเป็น Positioning ที่อยู่ในระดับกลางถึงบน จึงเหมาะกับคนทำงานมากกว่านักศึกษาเพราะต้องมีรายได้พอสมควรจึงสามารถใช้บริการได้

นอกจากให้บริการสำหรับคนทั่วไปที่อยากออกกำลังกายแล้ว TUFF Camp ยังเปิดบริการให้ชาวต่างชาติที่สนใจมวยไทยด้วย โดยให้บริการต่างจากกลุ่มคนไทยโดยจัดเป็นแพ็กเกจที่พักอาศัยพร้อมตารางฝึกซ้อมเพื่อส่งไปแข่งขันตามเวทีต่างๆ โดยชาวต่างชาติที่ให้ความสนใจในส่วนนี้มาจากประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ บราซิล อเมริกา ซึ่งเขามองว่าส่วนนี้จะเป็นการช่วยสร้างแบรนด์ “TUFF” ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในกลุ่มชาวไทยและชาวต่างชาติซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักที่มีอยู่เดิม 

“เราจะทำให้ค่ายมวยกลายเป็น Flagship ของทัฟฟ์เพื่อทำให้แบรนด์จับต้องได้มากขึ้น เป็นการต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่อีกด้านหนึ่ง” โอ๊คกล่าว

ขณะเดียวกัน ดิเรก ตาครู หรือ แดนนี่ หนึ่งในหุ้นส่วนได้ให้ข้อมูลเสริมว่า นอกจากการทำธุรกิจในรูปแบบ B to C แล้ว TUFF Camp ยังเพิ่มในส่วนของ B to B โดยให้องค์กรหรือบริษัทต่างๆ จัดเอาต์ติ้งหรือเวิร์คช็อปต่อยมวยไทยเพื่อให้พนักงานออกกำลังกาย ซึ่งที่ผ่านมาเพิ่งจัดเวิร์คช็อปมวยไทยกับกลุ่มพนักงานกูเกิลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสิงคโปร์จำนวน 20 คนมาทดลองต่อยมวยไทย และให้ความรู้เรื่องที่มาของกีฬาประจำชาตินี้แก่กลุ่มพนักงานอีกด้วย ซึ่งต่อไปอาจจะจัดในส่วนของทัวร์ชาวต่างชาติที่อยากเรียนมวยไทยเพื่อสอนเรื่องวัฒนธรรมด้วย