ดิจิตอลแมกกาซีน นี่ซิ…นิวมีเดียของจริง

ถึงยุคเปลี่ยนผ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์เข้าสู่ดิจิตอล ทำให้ค่ายสิ่งพิมพ์เลือกปรับตัวรองรับวัฏจักรการเปลี่ยนแปลง ด้วยการออกเวอร์ชั่น ดิจิตอลแมกกาซีน บางรายก็เลือกทำบนเวอร์ชั่น อีบุ๊ก แต่ยังมีคนอีกไม่น้อยที่อาจยังไม่รู้ถึงความแตกต่างระหว่าง “ดิจิตอลแมกกาซีน” และ “อีบุ๊ก” หรือ อีแมกกาซีน  

สุปรีย์ ทองเพชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท คัลเลอร์ดอกเตอร์ จำกัด ที่ปรึกษาด้านดิจิทัล มีเดีย ให้กับค่ายสิ่งพิมพ์ทั้งในไทยและในต่างประเทศ และตัวแทนขายระบบวูดวิง มองว่า คนส่วนใหญ่ยังแยกไม่ออกถึงความแตกต่างระหว่าง “ดิจิตอลแมกกาซีน“ และ “อีบุ๊ก” ซึ่งมีรูปแบบและวิธีการนำเสนอที่ต่างกัน 

อีบุ๊ก หรือบางคนเรียก อีแมกกาซีน เป็นเพียงการนำไฟล์พีดีเอฟที่มีรูปแบบการจัดวางเนื้อหาเดิมๆ มาโหลดใส่ในมีเดียใหม่เท่านั้น ไม่ได้ดึงความสามารถแท็บเล็ตมาใช้อย่างแท้จริง  ทำให้การนำเสนอบนอีบุ๊กไม่แตกต่างจากแมกกาซีนจึงไปกินตลาดแมกกาซีน และยังเป็นตัวเร่งให้แมกกาซีนซึ่งอยู่ในช่วงขาลงอยู่แล้ว ตกลงรวดเร็วขึ้น และยังปิดกั้นโอกาสในการหาโฆษณารูปแบบใหม่ๆ ที่ควรจะมีเพิ่มขึ้นจากดิจิตอลแมกกาซีน

 “เรากำลังบอกว่า ทำนิวมีเดียแต่กลับใช้กระบวนการแบบเดิม ใช้เนื้อหาและการนำเสนอแบบเดิมๆ เท่ากับว่าเราไม่มีวันได้นิวมีเดียจริงๆ คนที่ซื้อแท็บเล็ตเขาคาดหวังว่าจะดูรูป จะดูวิดีโอ เล่นอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ วิธีคิดในการนำเสนอต้องเปลี่ยน แต่ทุกวันนี้ยังใช้แบบเดิม ประเทศเกาหลีเจอปัญหาเดียวกับเรา เป็นยุคเปลี่ยนผ่าน ทุกคนทำเหมือนกันหมดเลย เอาเนื้อหาเดิมมายัดใส่มีเดียใหม่ และบอกว่านี่คือ ดิจิตอลแมกกาซีน”

ดิจิตอลแมกาซีน คือ ผลิตภัณฑ์ใหม่ของสื่อดิจิตอล เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอด้วยเนื้อหาจะสั้นลง ใช้ภาพ เสียง หรือวิดีโอ แทนการเล่าเรื่องแทนตัวอักษร และยังเชื่อมโยงไปยังโซเชี่ยลมีเดียและเว็บไซต์ เมื่อคนอ่านสนุกมากขึ้น ใช้เวลาอ่านมากขึ้น ทำให้เกิดต่อยอดโปรดักต์ที่สร้างประสบการณ์ใหม่ผู้อ่าน และสร้างโอกาสขยายสู่ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ และยังก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมของสิ่งพิมพ์ไปสู่วิธีการหารายได้จากโฆษณาใหม่ๆ 

ในแง่ของโฆษณาเองจะได้รับประโยชน์จากดิจิตอลแมกกาซีนโดยตรง สามารถนำเสนอภาพเคลื่อนไหว ดึงดูดคนอ่านมีปฏิสัมพันธ์กับโฆษณาได้มากขึ้น และยังเก็บข้อมูลได้ ทำให้เจ้าของสินค้าหรือเอเยนซี่สามารถรู้ข้อมูลได้เลยว่ามีคนเปิดโฆษณาชิ้นนี้กี่ครั้ง แต่ละครั้งนานแค่ไหน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นำไปใช้ประโยชน์วางแผนตลาดได้ตรงกับพฤติกรรมลูกค้า เป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดของโฆษณาบนสิ่งพิมพ์แบบเดิมไปสู่วิธีการใหม่ๆ 

“โฆษณาในยุคดิจิตอลจะมีพัฒนาการมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพนิ่ง หรือต้องลงโฆษณาเหมือนกันทุกเล่ม อย่างค่ายรถยนต์เขาสามารถทำโฆษณา มีปุ่ม Hot spot ให้คนอ่านแตะเปลี่ยนสีรถได้ ค่ายรถจะรู้ได้เลยว่า คนเลือกแตะสีไหนมากที่สุด และใช้เวลานานแค่ไหน ข้อมูลเหล่านี้ไปใช้เรื่องการตลาดได้ ซึ่งโฆษณาสิ่งพิมพ์แบบเดิมทำไม่ได้”

สุปรีย์ ยังเชื่ออีกว่า ด้วยคุณสมบัติของที่ปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่านได้โดยตรง จะก่อให้เกิดแพลตฟอร์มการตลาดรูปแบบใหม่ตามมา เช่น เมื่อออกสินค้าใหม่ เจ้าของหรือเอเยนซี่โฆษณาสามารถร่วมมือกับแมกกาซีน ร่วมกันออกแบบเนื้อหา สำรวจความเห็นลูกค้าได้ทันที เพื่อให้เจ้าของสินค้านำไปปรับปรุงก่อนนำสินค้าวางตลาดได้  

“ตอนแรกอีบุ๊กออกมาก่อน ค่ายสิ่งพิมพ์เลือกทำอีบุ๊กเพราะมันง่ายไม่ต้องลงทุนมาก ตอนหลังพอมีดิจิตอลแมกกาซีน ก็เกิดสงครามการตลาด คนทำอีบุ๊กเขาก็ใส่คำว่าแมกกาซีน ห้อยท้าย และบอกนี่คือ ดิจิตอลบุ๊ก ทำให้ทุกคนไม่สามารถแยกแยะ ผมเลยตั้งชื่อใหม่ อินเทอร์แอคทีฟ แอปพลิเคชั่น ตามพฤติกรรมคนอ่านที่มีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหา และยังรองรับการเปลี่ยนแปลงอีก 3 ปีข้างหน้า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิตอลทั้งหมด อนาล็อกจะไม่มีแล้ว คำว่าดิจิตอลก็ยิ่งแยกแยะได้ยากมากขึ้น” 

สุปรีย์ มองว่า ดิจิตอลแมกกาซีนของเมืองไทยอยู่ในช่วงกำลังเติบโต ถึงแม้ที่ผ่านมาค่ายสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่เลือกทำเป็นเวอร์ชั่น อีบุ๊ก ซึ่งมีถึง 80% ของตลาด แต่ช่วงหลังดิจิตอลแมกกาซีน มีเพิ่มขึ้นในตลาด โดยนิตยสารมาร์สเป็นเล่มแรก ที่เป็นอินเตอร์แอคทีฟ แอปพลิเคชั่นที่มีลูกเล่นเต็มตัว และประสบความสำเร็จจากยอดดาวน์โหลดและยอดโฆษณา เวลานี้สิ่งพิมพ์หลายแห่งมองเห็นความแตกต่าง ได้เริ่มเปลี่ยนจาก อีบุ๊ก หันมาทำเป็นอินเทอร์แอคทีฟ แอปพลิเคชั่นเต็มรูปแบบ ในขณะที่บางรายก็เลือกทำเฉพาะเวอร์ชั่น อินเทอร์แอคทีฟ แอปพลิเคชั่น โดยไม่มีเวอร์ชั่นสิ่งพิมพ์ 

ส่วนเอเยนซี่โฆษณาและเจ้าของแบรนด์สินค้า ก็เริ่มมองเห็นประโยชน์ของดิจิตอล แมกกาซีน หรืออินเตอร์แอคทีฟ แอปพลิเคชั่น จะเริ่มหันมาใช้งบโฆษณากับสื่อนี้มากขึ้น 

“โฆษณาเองเมื่อมาอยู่บนแท็บเล็ต จะเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการนำเสนอ และยังสามารถโต้ตอบกับผู้อ่าน จะทำเป็นเกมบนโฆษณาได้ สามารถเช็กได้ว่าคนเข้าไปดูกี่ครั้ง ผมเชื่อว่าไม่เกินสิ้นปี มูลค่าของแอดโฆษณาบนดิจิตล หรืออินเตอร์แอคทีฟจะมีมูลค่าสูงกว่าบนสิ่งพิมพ์”

 

8 ปี ธุรกิจที่ปรึกษาสิ่งพิมพ์

8 ปีในธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งพิมพ์ ทำให้สุปรีย์มองเห็นการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งพิมพ์ไปสู่การ “ดิจิตอลแมกกาซีน” ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว หลังจากเริ่มต้นธุรกิจให้คำปรึกษาวางมาตรฐานการใช้สี ให้กับธุรกิจสิ่งพิมพ์มาก่อนหน้านี้ 

ธุรกิจของสุปรีย์ เริ่มมาจากความสงสัยที่ว่า ทำไมสีโฆษณาบนสิ่งพิมพ์จึงไม่เหมือนกันสักฉบับ ทำให้เขาเข้ามาสู่การเป็นที่ปรึกษาวางมาตรฐานสี ให้กับสิ่งพิมพ์ ซึ่งต้องเข้าไปดูแลกระบวนการผลิต ตั้งแต่กองบรรณาธิการ ฝ่ายศิลป์ ไปจนถึงขั้นตอนของโรงพิมพ์   

สุปรีย์รู้จักโปรแกรมวู้ดวิง (Wood Wings) เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นโปรแกรมทำหน้าที่ควบคุมเซิฟเวอร์ หรือแม่ข่าย ในการต่อยอดสิ่งพิมพ์มาสู่การทำดิจิตอลแมกกาซีน บนแท็บเล็ต บนระบบปฏิบัติการของแอปเปิล ซึ่งปัจจุบันระบบวู้ดวิงได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอะโดบีไปเรียบร้อยแล้ว 

ทุกวันนี้ นอกจากการให้คำปรึกษากับสิ่งพิมพ์ในไทย อย่างบริษัท ดิจิทอล ในการพัฒนาระบบอินเตอร์แอคทีฟ แอปพลิเคชั่น ยังมีค่ายสิ่งพิมพ์อีก 4 ราย รวมถึงการให้คำปรึกษากับค่ายสิ่งพิมพ์ในเกาหลี จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ค่าบริการคอนซัลสิ่งพิมพ์ต่างประเทศ คิดค่าแรงวันละ 1,000 ยูโร 

 

อะไรคือ อุ๊กบี 

อีกค่ายที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนผ่านของสิ่งพิมพ์ไปสู่ดิจิตอล คือ ค่าย “อุ๊กบี” (ookbee) ซึ่งเป็นชื่อโปรแกรมที่บริษัทไอที เวิร์คส์ จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตพัฒนาขึ้น เพื่อให้ล้อกับคำว่า “อีบุ๊ก” พวกเขาจึงเริ่มพัฒนาโปรแกรมให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ต้องการก้าวเข้าสู่นิวมีเดีย ในการนำไฟล์พีดีเอฟมาโหลดใส่มีเดียใหม่ ไปสู่การเป็น “อีบุ๊ก” 

สูตรธุรกิจของไอที เวิร์คส์ นอกจากให้สำนักพิมพ์นำ Content มาให้ไอที เวิร์คส์ แปลงไฟล์ให้อยู่ในรูปของอีบุ๊กได้ฟรี ยังจัดหาช่องทางจำหน่ายให้ด้วย โดยการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีเครือข่ายและฐานลูกค้าขนาดใหญ่อย่างเอไอเอส และร้านบีทูเอส เพราะความง่ายไม่ต้องลงทุน ทำให้สิ่งพิมพ์หลายค่ายเลือกนำพีดีเอฟมาแปลงไฟล์ขายในช่องทางนี้