แบงก์ไทย กับการขึ้นดอกเบี้ย

นับตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา กระแสอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยที่เริ่มต้นจากการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ประมาณ 0.25-0.75% ของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็กหลายแห่ง เริ่มมีความเด่นชัดมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะเมื่อธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งมีการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเคหะ (ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยคงที่) ประมาณ 0.25-0.50% ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ตามมาด้วย การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินจากแบบผ่อนคลายมาเป็นตึงตัวมากขึ้นของทางการไทย ผ่านการปรับอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรประเภท 14 วัน เพิ่มขึ้น 0.25% จากระดับ 1.25% มาเป็น 1.50% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee: MPC) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ซึ่งได้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็น อัตราดอกเบี้ยของการกู้ยืมเงินระหว่างสถาบันการเงิน (Interbank rates) และอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรประเภท 1 วัน เพิ่มขึ้นทันทีประมาณ 0.3% ในขณะที่ แม้ว่าเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield curve) จะตอบสนองโดยมีความชันที่ลดลงเล็กน้อย แต่ก็น่าจะเป็นเพราะตลาดได้รับรู้ความเป็นไปได้ดังกล่าว และได้มีการปรับอัตราผลตอบแทนขึ้นไปรอล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมแล้ว

ทั้งนี้ กระแสอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดเพียงแค่นั้น ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายน ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางแห่งหนึ่งได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 6 เดือน และ 1 ปี อีก 0.25% ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมีระดับสูงกว่าเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในประเภทเดียวกันของธนาคารพาณิชย์อื่นอยู่ประมาณ 0.25-0.50%

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน น่าจะเป็นเพียงการดำเนินการเพื่อปรับสมดุลโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินของแต่ละธนาคาร ตามสภาวะแวดล้อมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งน่าจะยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลัก (ในที่นี้หมายถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ และประจำ 3 เดือน) ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบ โดยเงื่อนเวลาของการปรับขึ้น รวมทั้งปัจจัยที่คาดว่าจะมีผลต่อทิศทางขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยหลักของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ตลอดจน ผลกระทบเบื้องต้นในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักดังกล่าว นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อคิดเห็นดังต่อไปนี้ :-

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Yield curve)

 ฐานะสภาพคล่องของแต่ละธนาคาร … ตัวแปรสำคัญของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับฐานะสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวม และแยกเป็นรายกลุ่มธนาคาร ดังนี้

 สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย น่าจะมีแนวโน้มที่ลดลงในช่วงที่เหลือของปี โดย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2547 ที่ผ่านมา แม้ว่าสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ไทย จะยังไม่แสดงถึงภาวะสภาพคล่องที่ลดลงอย่างเด่นชัดนัก โดยมีระดับ 84.2% เทียบกับ 84.7% ณ สิ้นปี 2546 แต่สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนั้น คาดว่าสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากยังน่าจะปรับตัวไปในทิศทางที่สูงขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากความคืบหน้าในการขยายสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจน การลดลงของยอดคงค้างของเงินฝาก อันเป็นผลส่วนใหญ่จากการออกพันธบัตรออมทรัพย์ของทางการในไตรมาสสามของปี 2547 ที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย คงจะปรับตัวสูงขึ้นไปที่ระดับประมาณ 86.5-87.0% ในช่วงสิ้นปี 2547 เทียบกับระดับ 84.7% ในช่วงปลายปี 2546

 อย่างไรก็ตาม การกระจายตัวของฐานะสภาพคล่องที่ไม่เท่ากันระหว่างธนาคารพาณิชย์ คงจะทำให้เงื่อนเวลาหรือความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักมีความแตกต่างกัน จากการพิจารณายอดคงค้างของสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง (Highly Liquid Assets) รายกลุ่มธนาคาร ชี้ว่า การเคลื่อนไหวของสภาพคล่องของแต่ละกลุ่มธนาคารไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ แม้ว่าปริมาณสภาพคล่องส่วนใหญ่ จะยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ แต่การกระจายของสภาพคล่องภายในกลุ่มเอง ก็ยังมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยมีสัดส่วนต่อสินทรัพย์รวมต่ำสุดที่ 3.7% และสัดส่วนสูงสุดที่ 13.7% ดังนั้น การกระจายตัวของฐานะสภาพคล่องที่ไม่เท่ากันดังกล่าว อาจมีผลต่อเงื่อนเวลาหรือความจำเป็นในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักของแต่ละธนาคารให้แตกต่างกันด้วย

 นโยบายของทางการ เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กำหนดจังหวะเวลาของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักของธนาคารพาณิชย์

 แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรประเภท 14 วัน หลังจากที่ธปท.ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 0.25% เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ในการประชุม MPC วันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การพิจารณาปรับเพิ่มระดับความเข้มงวดของการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธปท.ในระยะต่อไป เพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อ และสมดุลในฐานะดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของประเทศ คาดว่าจะส่งผลกดดันให้ระบบธนาคารพาณิชย์ต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักของตนตามในที่สุด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธปท.อาจจะตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในการประชุม MPC 2 รอบที่เหลือของปีนี้ (วันที่ 20 ตุลาคม และ 15 ธันวาคม)

 ความต่อเนื่องของนโยบายการบริหารสภาพคล่องโดยธปท. เมื่อพิจารณาการดำเนินการเพื่อบริหารสภาพคล่องโดยธปท. ผ่าน 3 เครื่องมือหลัก ได้แก่ (1) การลงทุนในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (2) การประกอบธุรกรรม swap เงินตราต่างประเทศ และ (3) การออกพันธบัตร ธปท. จะพบว่า ท่ามกลางสถานการณ์สภาพคล่องระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา ธปท.มีการดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบสุทธิ โดย ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2547 ธปท.เป็นผู้กู้ยืมสุทธิในตลาดซื้อคืนพันธบัตรประมาณ 141 พันล้านบาท และมีฐานะเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Net Forward Position) เป็นภาระซื้อสุทธิประมาณ 4.5 พันล้านดอลลาร์ฯ ในขณะที่ ยอดคงค้างพันธบัตร ธปท.อยู่ที่ประมาณ 266 พันล้านบาท ทั้งนี้ นอกเหนือจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว ความต่อเนื่องของการบริหารสภาพคล่องโดยธปท. ซึ่งเป็นการดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบธนาคารสุทธิ น่าจะช่วยให้สภาพคล่องที่ระบบธนาคารมีเหลืออยู่ทยอยปรับลดลง และอาจเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักของตนในจังหวะเวลาที่เร็วขึ้น

 อัตราดอกเบี้ยหลักของธนาคารขนาดใหญ่ อาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งปลายปี

แนวโน้มสภาพคล่องที่คาดว่าจะทยอยปรับลดลง ตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจากนโยบายการบริหารสภาพคล่องโดยธปท. คาดว่าจะทำให้ในที่สุดแล้วธนาคารพาณิชย์คงจะจำเป็นต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักของตนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ แต่สถานะสภาพคล่องที่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มธนาคาร อาจทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักดังกล่าวเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่ไม่พร้อมกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะใกล้นี้ อาจจะมีการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบางประเภท (โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาว) จากธนาคารพาณิชย์ที่มีสภาพคล่องค่อนข้างตึงตัวบางธนาคาร ในขณะที่ คาดว่า จังหวะเวลาของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักของกลุ่มธนาคารเอกชนขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องเหลือค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น น่าจะยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่มีความเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงนโยบายการบริหารสภาพคล่องของธปท. ผ่าน 3 เครื่องมือหลัก ยังมีบทบาทอย่างมากต่อจังหวะเวลาของการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลักของระบบธนาคารให้เลื่อนเข้ามาเร็วขึ้น หรือยืดระยะเวลาออกไปจากการคาดการณ์ข้างต้นด้วยเช่นกัน

 ผลกระทบเบื้องต้นในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25-0.50%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินถึงรายได้-ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเบื้องต้น ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ไทยและธปท.เลือกปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25-0.50% โดยคำนวณจากฐานสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2547

ผลสรุป คือ มีความเป็นไปได้ที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย อาจต้องบันทึกรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงประมาณ 1.47-2.95 พันล้านบาท ในกรณีที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินระยะสั้น และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินให้กู้ยืมที่ธนาคารพาณิชย์ไปจากเดิมอีก 0.25-0.50% ทั้งนี้ แม้ว่าการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรประเภท 14 วันของธปท. ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินระยะสั้นปรับขึ้นตามไปด้วยนั้น จะทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีรายได้ดอกเบี้ยรับจากการลงทุนในตลาดเงินระยะสั้นและตลาดซื้อคืนพันธบัตรเพิ่มขึ้นประมาณ 0.9-1.7 พันล้านบาท จากเดิม แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมเฉลี่ยในอัตราที่เท่ากันนั้น อาจกดดันฐานะรายได้ดอกเบี้ยสุทธิให้ลดลงประมาณ 2.1-4.2 พันล้านบาท ซึ่งมากกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยรับจากการลงทุนในตลาดเงินดังกล่าว

นอกจากนี้ เม็ดเงินจากรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์นั้น อาจไม่ปรับขึ้น หากไม่มีการขยายขนาดการลงทุนในตราสารหนี้ หรือแทนที่ตราสารหนี้บางส่วนด้วยตราสารหนี้ใหม่ที่ให้อัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยในประเทศ ขณะเดียวกันการที่ปริมาณอุปทานตราสารหนี้จากภาครัฐในอนาคต อาจมีจำนวนลดลง เพราะรัฐบาลได้วางแผนจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในปี 2548 ประกอบกับแนวทางการออกพันธบัตร ธปท.ในระยะต่อไปยังขาดความชัดเจน ดังนั้น ในภาพรวมแล้ว คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะได้รับผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้เฉพาะพอร์ตเงินลงทุนในตั๋วเงินคลัง ซึ่งมียอดคงค้างประมาณ 4-5% ของพอร์ตเงินลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งหมดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิดังกล่าว คงจะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดในคราวเดียวกันทันที โดยผลกระทบส่วนใหญ่น่าจะไปตกอยู่ในปี 2548 โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี หลังธนาคารพาณิชย์เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และประจำ 3 เดือนในช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้ การประเมินผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังอาจปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการข้างต้นได้ ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์มีการขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น เอ็นพีแอลลดจำนวนลง เงินฝากหดลง และ/หรือ มีจำนวนอุปทานตราสารหนี้ (ที่อยู่ในความสนใจของธนาคารพาณิชย์ เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตร ธปท. และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน) ในตลาดแรกเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของฐานเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของระบบธนาคารพาณิชย์

บทสรุป

นับตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา กระแสอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยเริ่มต้นจากการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาวบางประเภทของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็กหลายแห่ง ตามมาด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเคหะในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรประเภท 14 วันของทางการไทยจากระดับ 1.25% มาเป็น 1.50% ในวันที่ 25 สิงหาคม จนล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายน ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 6 เดือน และ 1 ปี อีก 0.25%

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า สัญญาณต่างๆ ดังกล่าวน่าจะยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลัก ซึ่งได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ และประจำ 3 เดือน ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบ

ทั้งนี้ แม้ในช่วงที่เหลือของปี แนวโน้มสภาพคล่องของระบบจะทยอยปรับลดลง ตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจากนโยบายการบริหารสภาพคล่องโดยธปท. ซึ่งอาจทำให้ในที่สุดแล้วธนาคารพาณิชย์คงจะจำเป็นต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักของตนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ แต่สถานะสภาพคล่องที่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มธนาคาร อาจทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักดังกล่าวเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่ไม่พร้อมกัน

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะใกล้นี้ เราอาจจะยังเห็นการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบางประเภท (โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาว) จากธนาคารพาณิชย์ที่มีสภาพคล่องค่อนข้างตึงตัวบางธนาคาร ในขณะที่ คาดว่า จังหวะเวลาของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักของกลุ่มธนาคารเอกชนขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องเหลือค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น น่าจะยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่มีความเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงนโยบายการบริหารสภาพคล่องของธปท. ผ่าน 3 เครื่องมือหลัก ยังมีบทบาทอย่างมากต่อจังหวะเวลาของการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลักของระบบธนาคารให้เลื่อนเข้ามาเร็วขึ้น หรือยืดระยะเวลาออกไปจากการคาดการณ์ข้างต้นด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด ผลกระทบที่อาจจะตามมา คือโอกาสที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคารไทยอาจลดลงในช่วงประมาณ 1.47-2.95 พันล้านบาท ในกรณีที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินระยะสั้น และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินให้กู้ยืมที่ธนาคารพาณิชย์ไปจากเดิมอีก 0.25-0.50% อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิดังกล่าว คงจะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดในคราวเดียวกันทันที โดยผลกระทบส่วนใหญ่น่าจะไปตกอยู่ในปี 2548 โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี หลังธนาคารพาณิชย์เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และประจำ 3 เดือนในช่วงปลายปีนี้ แต่ทั้งนี้ ระหว่างนี้ ธนาคารพาณิชย์ควรเร่งขยายฐานสินเชื่อดี ลดต้นทุนต่างๆ ตลอดจนติดตามและตรวจสอบคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่จะกำลังจะมาเยือนในอนาคตอันใกล้