ตลาดน้ำอัดลม : แนวโน้มไม่สดใส…หลากปัจจัยลบรุมล้อม

ตลาดน้ำอัดลมในปี 2548 มีทิศทางที่ไม่สดใสนัก ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ต้องเผชิญทั้งปัญหาทางด้านต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการรวมทั้งลูกจ้างทั่วไป นอกจากนี้ยังมีต้นทุนบรรจุภัณฑ์รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นภายหลังจากภาครัฐมีการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลในช่วงต้นปี 2548 ก็นับเป็นภาระที่ค่อนข้างหนักสำหรับผู้ผลิตน้ำอัดลม สำหรับในส่วนของปัญหาทางด้านการตลาดนั้นก็ถูกกระทบจากปัญหากำลังซื้อของประชาชนที่ปรับตัวลดลงตามภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวอยู่ในระดับสูงส่งผลให้ประชาชนต้องประหยัดค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆที่จำเป็นน้อยกว่า รวมไปถึงปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ก็ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายน้ำอัดลมตามสถานที่ท่องเที่ยวรวมทั้งร้านอาหารและฟาสต์ฟูดส์เช่นกัน

ตลาดน้ำอัดลมในช่วง 8 เดือนแรกปี 2547 มีปริมาณการจำหน่ายทั้งสิ้นประมาณ 1,501.4 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้เป็นผลจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวกว่าปี 2546 ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณและความถี่ในการบริโภคน้ำอัดลมมีเพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการน้ำอัดลมมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปเป็นปัจจัยช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคสนใจดื่มน้ำอัดลมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าสถานการณ์ตลาดน้ำอัดลมในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปีหน้าไม่ค่อยสดใสมากนักภายหลังจากที่ราคาจำหน่ายน้ำมันเบนซินได้มีการขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยจากเดิมที่ภาครัฐมีการตรึงราคาน้ำมันตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 อยู่ที่ระดับ 16.99 บาทต่อลิตรก่อนที่จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 17.59 บาทต่อลิตรในวันที่ 7 พฤษภาคม และ 21.79 บาทต่อลิตรเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2547 และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2547 รัฐบาลก็ได้ประกาศลอยตัวน้ำมันเบนซินทำให้ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ได้ปรับขึ้นอีก 60 สตางค์มาอยู่ที่ระดับ 22.39 บาทต่อลิตร ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนับว่ามีผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนในประเทศค่อนข้างมาก ทั้งนี้แม้ว่าสินค้าประเภทน้ำอัดลมจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชากรกลุ่มวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางด้านกำลังซื้อก็มีส่วนในการกำหนดว่าผู้บริโภคจะมีความต้องการดื่มน้ำอัดลมมากน้อยเพียงใดเช่นกัน

และนอกเหนือจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันแล้วยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่ธุรกิจน้ำอัดลมต้องเผชิญในระยะต่อไปซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.ปัจจัยเสี่ยงทางด้านการผลิต

1.1ต้นทุนค่าขนส่ง ภาครัฐมีนโยบายที่จะปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซลให้เป็นไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงปี 2548 ภายหลังจากที่ได้มีการตรึงราคาจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 14.59 บาทต่อลิตรมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2547 ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวมีผลกระทบต่อสินค้าน้ำอัดลมในส่วนของต้นทุนค่าขนส่งของธุรกิจน้ำอัดลมซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องพึ่งพาการกระจายสินค้าจากคลังสินค้าผ่านรถบรรทุกไปยังร้านค้าต่างๆทั่วประเทศ

1.2ต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงาน จากการที่ภาวะเงินเฟ้อในปี 2548 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะราคาสินค้าที่ปรับขึ้นตามต้นทุนราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2548 ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับปัจจัยดังกล่าวซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเครื่องดื่มน้ำอัดลม

1.3ต้นทุนบรรจุภัณฑ์ ต้นทุนการผลิตบรรจุภัณฑ์มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2547 ต่อเนื่องถึงปี 2548 ตามราคาวัตถุดิบทั้งในส่วนของบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว บรรจุภัณฑ์พลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์โลหะ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกนั้นราคาเม็ดพลาสติกประเภทPET ที่นำไปใช้ผลิตขวดบรรจุน้ำอัดลมมีการปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยราคาเม็ดพลาสติกประเภทPET ในช่วงปลายปี 2546 เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 38 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ล่าสุดราคาจำหน่ายเม็ดพลาสติกประเภท PET ได้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 57 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน หรือคิดเป็นราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 52.6 และคาดว่าราคาจะยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อไปตามปัจจัยทางด้านราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันผู้บริโภคได้ให้ความนิยมน้ำอัดลมประเภทที่ไม่ต้องคืนขวดมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำอัดลมประเภทขวดพลาสติกPET จะได้รับความนิยมสำหรับกลุ่มที่ซื้อตามห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต และร้านสะดวกซื้อต่างๆเพื่อนำไปดื่มที่บ้านเป็นอย่างมาก ฉะนั้นเมื่อต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีการปรับสูงขึ้นก็ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเช่นเดียวกัน

2.ปัจจัยเสี่ยงด้านการตลาด

จากปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งในส่วนของน้ำมันเบนซินที่จะยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องไปถึงปี 2548 ในขณะที่การปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซลที่จะมีขึ้นในปี 2548 จะปัจจัยส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าต่างๆทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคโดยทั่วไปซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อติดตามมา ทำให้ประชาชนจำเป็นต้องประหยัดค่าใช้จ่ายด้านอื่นที่จำเป็นน้อยกว่า ทำให้ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายน้ำอัดลมที่ดื่มตามสถานที่พักอาศัยรวมทั้งช่องทางการจำหน่ายน้ำอัดลมผ่านสถานบันเทิงต่างๆรวมทั้งโรงภาพยนตร์ ในขณะเดียวกันหากปัญหาไข้หวัดนกรวมทั้งปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ยังคงไม่สามารถจัดการให้เสร็จสิ้นได้ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้านท่องเที่ยวทั้งในส่วนของร้านค้า ร้านอาหาร และฟาสต์ฟูดส์ซึ่งถือเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่สำคัญของน้ำอัดลมเช่นเดียวกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดน้ำอัดลมในช่วงปี 2548 นอกจากจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่เข้ามากระทบแล้ว ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาทางด้านปัจจัยที่ส่งเสริมตลาดพบว่า ตลาดน้ำอัดลมก็มีปัจจัยหนุนทางด้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรช่วงต้นปี 2548 รวมทั้งการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจรวมทั้งภาคเอกชนที่ส่งผลต่อการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนุนดังกล่าวคาดว่าจะยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบต่อตลาดน้ำอัดลมได้ โดยเฉพาะปัญหาทางด้านต้นทุนการผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามปัญหาราคาน้ำมันรวมทั้งค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ภาพรวมของตลาดนั้นก็ต้องเผชิญปัญหาทางด้านความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งปัญหาทางด้านภาวะเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นในปี 2548 หลังจากภาครัฐได้ประกาศลอยตัวน้ำมันเบนซินตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2547 และจะมีการขยับเพดานราคาน้ำมันดีเซลในช่วงต้นปี 2548 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนมีผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนทั้งสิ้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว ตลาดน้ำอัดลมในปี 2548 ไม่สู้สดใสมากนัก อันเป็นผลจากการที่ตลาดน้ำอัดลมกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งปัญหาทางด้านการผลิตและการตลาด โดยเฉพาะปัญหาทางด้านกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงตามปัจจัยทางด้านภาวะราคาน้ำมัน ดังนั้นผู้ประกอบการน้ำอัดลมจึงจำเป็นต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นตลาดรวมทั้งช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง ซึ่งจะส่งผลทำให้การแข่งขันในตลาดน้ำอัดลมกลับมารุนแรงอีกครั้งภายหลังจากที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการน้ำอัดลมได้ลดระดับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดน้ำอัดลมลงมา โดยคาดว่าผู้ประกอบการน้ำอัดลมคงจะมีการงัดกลยุทธ์การตลาดออกมาต่อสู้กันอย่างดุเดือด ทั้งทางด้านการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์และรสชาติของสินค้า การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย ตลอดจนถึงกลยุทธ์การตลาดที่อิงกับดนตรีและกีฬาหรือมิวสิคและสปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง ทั้งนี้เพื่อจุดมุ่งหมายการเพิ่มส่วนแบ่งตลาด หรือรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเองไว้ รวมทั้งชะลอการเติบโตของคู่แข่งไม่ให้เพิ่มขึ้น