ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตสนับสนุนของธนาคารออมสินที่ ‘2’

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสนับสนุนของธนาคารออมสิน (“GSB”) ซึ่งเป็นธนาคารซึ่งดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ที่ ‘2’ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำการควบคุมการบริหารงานของ GSB โดยตรง ภายใต้พระราชบัญญัติธนาคารออมสิน ซึ่งกำกับการดำเนินงานต่างๆของธนาคาร รัฐบาลจะทำการค้ำประกันเงินฝากและภาระทางการเงินอื่นๆของธนาคาร เมื่อพิจารณาถึงการที่ GSB เป็นธนาคารที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด และได้คำนึงถึงบทบาทการดำเนินธุรกิจโดยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เครือข่ายเงินฝากที่แข็งแกร่ง และการค้ำประกันของรัฐบาลแล้ว ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหากต้องการความช่วยเหลือ

นับตั้งแต่วิกฤติการณ์ทางการเงินของประเทศไทยในปี 2540 GSB ได้ขยายธุรกิจของธนาคารไปสู่การปล่อยสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อย อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย และการพาณิชย์และสาธารณูปโภคพื้นฐาน สินเชื่อในสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารเป็นการปล่อยสินเชื่อให้ผู้บริโภคและบริษัทต่างๆในภาคเอกชน ในขณะที่สินเชื่ออีกครึ่งหนึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อให้หน่วยงานต่างๆของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนแก่โครงการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและเพื่อสวัสดิภาพทางสังคมต่างๆของรัฐบาล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยคิดเป็นสัดส่วน 30% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารในปี 2548 (เพิ่มขึ้นจาก 17% ในปี 2543) สินเชื่อเพื่อชุมชนท้องถิ่นคิดเป็นสัดส่วน 28% ในปี 2548 GSB ได้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้า ซึ่งมุ่งหวังที่จะลดความยากจนและสร้างโอกาสต่างๆที่มากขึ้นสำหรับประชาชนที่มีรายได้ต่ำ

ผลการดำเนินงานของธนาคารปรับตัวดีขึ้นในปี 2548 โดยผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 12.3 พันล้านบาท จาก 11.9 พันล้านบาท ในปี 2547 โดยมีสาเหตุหลักจากการเติบโตของสินเชื่อและต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่ต่ำลง อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิก็เพิ่มขึ้นเป็น 3.3% จาก 3.1% ในปี 2547 เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ดีขึ้น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานที่ลดลง และการที่ไม่มีผลขาดทุนจากการลงทุนจำนวนมากดังเช่นในปี 2547 อัตราต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของ GSB ปรับตัวดีขึ้นเป็น 38.1% ในปี 2548 จาก 47% ในปี 2547 อัตราส่วนดังกล่าวต่ำกว่าธนาคารไทยอื่นๆหลายธนาคาร โดยมีสาเหตุหลักจากการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีที่จำกัดของ GSB

GSB ได้วางแผนที่จะขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ธนาคารยังอยู่ในกระบวนการปรับโครงสร้างและพัฒนาบุคลากรของธนาคารผ่านโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดเป็นระยะๆ การจัดจ้างบุคลากรใหม่ และหลักสูตรการอบรมที่เข้มข้นต่างๆ คณะผู้บริหารของธนาคารได้วางแผนระยะยาวที่จะขยายธุรกรรมต่างๆของ GSB ที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียม เพื่อที่จะเพิ่มสัดส่วนของรายได้จากค่าธรรมเนียมเป็นประมาณ 20% จาก 4.5% ในปี 2548

ณ สิ้นปี 2548 ระดับสำรองหนี้สูญที่ระดับ 11.6 พันล้านบาท หรือ 81.2% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ได้รายงานไว้ ซึ่งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ดังกล่าว เพิ่มขึ้นเป็น 14.3 พันล้านบาท หรือเทียบเท่ากับ 3.8% ของสินเชื่อทั้งหมด ในขณะที่อัตราส่วนสำรองหนี้สูญอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง การสนับสนุนนโยบายต่างๆของรัฐบาลและการขยายธุรกรรมทางด้านการปล่อยสินเชื่อที่นอกเหนือไปจากขอบเขตการปล่อยสินเชื่อที่ถูกจำกัดไว้ก่อนหน้านี้ อาจจะนำไปสู่การถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์ในระยะปานกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง

อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งหมดของ GSB ที่ 25.5% ของสินทรัพย์เสี่ยง ณ สิ้นปี 2548 เป็นระดับที่แข็งแกร่งมาก ส่วนของผู้ถือหุ้นของธนาคาร ซึ่งมีมูลค่าทั้งสิ้น 79.3 พันล้านบาท ก็จัดว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ประมาณ 11.7% ของสินทรัพย์รวม ตราสารหนี้รัฐบาลถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนที่สูงธนาคาร

GSB ได้จัดตั้งขึ้นเป็นคลังออมสิน ในสังกัดกรมพระคลังมหาสมบัติ ในปี 2456 และเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารออมสิน ในปี 2489 วัตถุประสงค์หลักของธนาคารเพื่อระดมเงินฝากและส่งเสริมการออม ช่วยให้ผู้กู้ที่มีรายได้ต่ำมีโอกาสกู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ช่วยให้บริษัทขนาดเล็กในประเทศไทยมีโอกาสกู้ยืมเงินเพื่อการดำเนินธุรกิจ และสนับสนุนโครงการเพื่อการพัฒนาต่างๆของรัฐบาล
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963

หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้

คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน